fbpx

โบสถ์บ้านคำเกิ้มและจักรวาลเวลาของนครพนมซันเดย์

1

ยังคิดไม่ตกว่าเรื่องนี้ควรเริ่มจากตรงไหน แม่น้ำโขงเรียบนิ่ง ลาบไก่งวง สนามหญ้าหน้าโบสถ์อายุร้อยปี หรือเบียร์ลาวที่ไม่มีขายในพื้นที่ชายแดนลาว-ไทย

ถ้าคุณเป็นพวกขี้เมาแล้วอยากดื่มเบียร์ IPA ลาวริมแม่น้ำโขงมากกว่าดื่มในร้านคราฟต์เบียร์ชิกๆ กลางกรุงเทพฯ คุณก็อาจเริ่มต้นเรื่องว่า ร้านอาหารริมแม่น้ำโขงทำไมขายแต่เบียร์จำพวกเสือ สิงห์ กระทิง ช้าง ฯลฯ โดยที่คุณอาจจะแวะไปแซะนายทุนสักหนึ่งประโยค ทั้งที่ไม่ว่าจะดื่มเบียร์ยี่ห้อไหนตอนนี้ ก็ล้วนแต่เป็นนายทุนผลิตมาสู่แก้วของคุณทั้งนั้น

“ก็เขาไม่ส่งมาขายน่ะค่ะ” พนักงานเสิร์ฟที่บ้านเกิดอยู่ร้อยเอ็ดตอบ ฟังจากปลายเสียง เธอคงไม่ได้รำคาญ แต่คงไม่รู้จะตอบอย่างไร ยิ่งกับไอ้พวกชอบซักชอบถามโต๊ะนี้ การตอบคำถามให้จบๆ ไป คงเป็นทางออกที่เธอเลือกแล้ว

คำว่า ‘เขา’ ที่พูดถึง ไม่ได้ระบุชัดว่าหมายถึงลาวที่อยู่อีกฝั่งโขง หรือหมายถึง ‘กรุงเทพกรุงไทย’ ที่อยู่ห่างออกไป 700 กิโลเมตร

นครพนมช่วงสุดสัปดาห์เงียบ แต่ดูเหมือนว่า ‘ท่าแขก’ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโขงจะเงียบกว่า หากมองจากฝั่งนครพนม ท่าแขกปรากฏตัวผ่านทิวเขาสลับป่าเขียว ตลิ่งยังเป็นแบบธรรมชาติ มีอาคารไม่กี่หลังโผล่มาทักทาย แต่ถ้ามองด้วยสายตาของคนฝั่งท่าแขก นครพนมเลือกปรากฏตัวผ่านทางเดินเลียบโขงสร้างใหม่ยาวหลายกิโลเมตร อาคารเรียงรายริมฝั่ง โดยเฉพาะโรงแรมสูงหลายตึก – ความต่างนี้มีแม่น้ำโขงบุคลิกสุขุมกั้นกลาง

ก่อนจะไปถึงเรื่องอื่น ขออนุญาตแนะนำตัวละครที่นั่งร่วมโต๊ะ คนหนึ่งเป็นช่างภาพหนุ่มน้ำเสียงนุ่มหู อ๊อฟ-ธีระพงษ์ ผู้ตั้งใจจะเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อ ‘คุยนั่นคุยนี่’ กับผู้คน และดูเหมือนว่าเขาจะเริ่มต้นความตั้งใจตั้งแต่วันนี้เลย อีกคนเป็นนักละคร อาย-ประภัสสร นักสังเกตชั้นเลิศและสามารถเลียนท่าทางของผู้คนได้เหมือนอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต – เราสามคนกลายเป็นคู่แข่งของเป๊ก อ๊อฟ ไอซ์ แต่มาด้วยชื่อที่คล้องจองกว่านั้นคือ อีฟ อ๊อฟ อาย

เรามาที่นี่ด้วยภารกิจบางอย่างร่วมกัน ที่แน่ๆ คือไม่ได้มาเที่ยว แต่เราก็พร้อมทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

หากเด็กสักคนจะเติบโตได้ เขาก็ควรจะถูกฝึกให้เดิน การทำความรู้จักนครพนมก็เช่นกัน เราเริ่มต้นจากร้านเช่ามอเตอร์ไซค์เพื่อติดอาวุธการเดินทางให้ตัวเอง และเติมพลังด้วยต้มยำปลากับลาบสักมื้อ

แม้ผืนน้ำโขงจะเรียบนิ่ง แต่เราคุยกันว่าใต้แผ่นน้ำใหญ่ผืนนี้มีอะไรมากเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ปลาและแก่งหินในจักรวาลเบื้องล่าง แต่ยังมีอาวุธ ยาเสพติด หรือของผิดกฎหมายจำนวนมากที่ถูกโยนลงไปในแม่น้ำนั้น – ไม่เว้นแม้แต่ศพ ถ้าพลิกมุมหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระยะทางกว่า 4,900 กิโลเมตรของแม่น้ำโขง คงมีเรื่องเล่าไม่มีวันจบสิ้น ทั้งโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม

ไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นช่วงที่เมืองยังไม่กลับมาเปิดจากโควิด หรือเพราะบ้านเมืองนครพนมเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว – ประตูบานเฟี้ยมปิดสนิทแทบทั้งเมือง ร้านอาหารเปิดอยู่น้อยนิด และส่วนมากก็เป็นร้านที่อยู่ริมโขงเท่านั้น หลังจากอิ่มหนำ เราขับรถไปที่ตลาดอินโดจีนนครพนม ที่ได้ยินกิตติศัพท์มาว่าเป็นฮับใหญ่ของคนในแถบนี้ทั้งจากฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แต่ภาพที่เห็นเป็นเพียงอาคารเปื้อนฝุ่น มีร้านเปิดอยู่ไม่กี่ร้าน ส่วนมากขายอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น ขาเซลฟี่ พัดลมน้อย มีดพับก่งก๊ง หรือปืนฉีดน้ำ ที่เราไม่รู้จะเอาไปทำอะไร

ไทม์แมชชีนทำงานอย่างไรไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ในตลาดอินโดจีนยังโอบอุ้มกาลเวลาเมื่อสัก 20 ปีก่อนไว้ด้วยสติกเกอร์และป้ายโฆษณา ตรงผนังเกรอะฝุ่นที่คงไม่มีใครไปยุ่มย่ามด้วยนานแล้ว มีสติกเกอร์สีขาวซีดที่ยังพออ่านออกว่า Nokia บริษัทผลิตโทรศัพท์ขนาดใหญ่ ที่ถ้าไปถามเด็กยุค 1990-2000 ไม่มีใครไม่เคยเล่นเกมงูในโนเกีย – ใครจะคิดว่าว่าวันนี้โนเกียกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว สติกเกอร์นี้ให้ความรู้สึกเหมือนยักษ์หลับ ใกล้ๆ กันยังมีป้ายโฆษณา WellcoM ที่มีโดม ปกรณ์ ลัม สมัยวัยรุ่นชูโทรศัพท์ใต้สโลแกนที่ว่า ‘มันส์สุดสุด ทั้งแสงและเสียง’

และที่ทำให้เราเห็นกาลเวลาชัดเจนขึ้น คือป้ายหาเสียงของ ส.จ. เขตอำเภอเมืองนครพนมที่มีตัวเลขปรากฏชัดว่าเป็นปี 2543 “ขอโอกาสได้รับใช้ท่านอีกครั้ง” เขียนแปะอยู่ใต้หมายเลขผู้สมัคร

ตรงข้ามไปไม่ไกลมีรถตู้โฟล์กสวาเกน เปิดท้ายขายกาแฟจอดอยู่ริมโขง ถ้าเพื่อนไม่สะกิดบอก คงคิดว่าตอนนี้เราอยู่ที่ฟลอริดา คนขายเป็นหนุ่มผมยาวสายตาทอดนิ่งไปที่แม่น้ำ เดาว่าคงอยู่ในภวังค์ด้วยฤทธิ์พืชพันธุ์ไม้บางชนิด

ตรงจุดหลักของเมืองมีรูปปั้นพญานาคหน้าแม่น้ำโขง ใกล้ๆ กัน มีรูปปั้นครอบครัวเสือตาใสแจ๋วอยู่ด้วย เจ้าตัวเล็กที่สุดของบ้านกวักมือเรียกให้เข้าไปหา แต่ดูไม่น่าไว้วางใจสักนิด

ที่เหลือ ในเมืองแทบไม่มีคนปรากฏ ทั้งบนท้องถนนและในร้านรวงต่างๆ เพราะอะไรแบบนี้ ฉันจึงรู้สึกเอาเองว่านครพนมเป็นเมืองที่แปลก – แปลกแต่น่ารัก สงสัยแค่อย่างเดียวว่าคนหายไปไหนกันหมด

2

เป้าหมายหลักจริงๆ ของเราไม่ได้อยู่ในตัวเมืองนครพนม แต่คือโบสถ์อายุกว่าร้อยปีในบ้านคำเกิ้ม หมู่บ้านที่อยู่ไกลตัวเมืองไปหลายกิโลฯ ฉันซ้อนท้ายมอ’ไซค์พี่อ๊อฟท้าแดดไป ใช้เวลาพอให้หัวร้อน (ที่ไม่ได้แปลว่าโมโห) เราก็ถึงที่หมาย

เช่นกัน – หากไม่มีใครบอกว่าเราไม่อยู่ในบ้านคำเกิ้มที่นครพนม ฉันคงนึกเอาเองว่าเราอยู่ในยุโรป โบสถ์สองหลังวางอยู่คู่กันบนสนามหญ้าสีเขียวสด หลังแรกใหม่เอี่ยม เป็นโบสถ์แบบที่เราจะเคยเห็นอยู่บ่อยๆ สีขาวนวลสะอาด มีรูปปั้นนูนนักบุญยอแซฟอุ้มพระบุตรอยู่ใต้จั่ว ถัดลงมาด้านล่างมีป้ายเขียนว่า ‘วัดนักบุญยอแซฟ’ ใต้ลงมากว่านั้น มีกระจกรูปไม้กางเขนโดดเด่นอยู่ตรงกลาง ประตูไม้ใบใหญ่สามบานปิดสนิท ทั้งหมดดูใหม่เหมือนเพิ่งสร้างเมื่อวาน

แต่หลังที่น่าตื่นตะลึงกว่านั้น คือโบสถ์หลังเก่าที่อยู่ข้างกัน อาคารปูนเปลือยสีเทาที่มีอิฐส้มแซมอยู่วางตัวสงบนิ่ง จั่วที่หักด้านบนและราที่เกาะตามระเบียงเป็นตัวแสดงอายุว่าโบสถ์หลังนี้ผ่านลมฝนมานานแค่ไหน ประตูปิดสนิท ทั่วบริเวณโบสถ์ร้างไร้ผู้คน มีเพียงหญ้าสีเขียวสดที่ได้รับการตัดแต่งอย่างดีเท่านั้นที่ทำให้รู้ว่าที่นี่มีคนดูแล

ฉันเดินวนไปดูประตูจนครบทุกบานของทุกโบสถ์ ก็ยังไม่เจอคน จนเดินมาเจอบ้านปูนสองชั้นตั้งอย่างเงียบเชียบอยู่หลังโบสถ์ – บ้านบาทหลวงไม่ผิดแน่ ฉันเดินเข้าไปใกล้ตัวบ้านมากขึ้น จนเจอคุณพ่อยืนมองอยู่หน้าบ้านประมาณว่า คนพวกนี้มาทำอะไรกัน

ฉันกล่าวแนะนำตัว และรู้ตอนนั้นว่าบาทหลวงชื่อมีคาแอล เฉลิมศิลป์ จันลา เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ

“เดี๋ยวพ่อพาเดิน” คุณพ่อกล่าวสั้นๆ แล้วเดินนำทางไปดูโบสถ์

“นี่โบสถ์หลังที่สี่แล้ว” คุณพ่อพูดระหว่างเปิดประตูพาเข้าไปในโบสถ์ใหม่

หากย้อนประวัติของหมู่บ้านไปตามคำบอกเล่า แต่เดิมบ้านคำเกิ้มเป็นหมู่บ้านห่างไกล มีชาวนาอยู่ไม่กี่ครัวเรือน จนเมื่อมีมิชชันนารีเดินทางมาสำรวจเส้นทางและเผยแผ่ศาสนา มาเจอกลุ่มคริสตชนชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ทางทิศเหนือของนครพนม ก่อนจะมีการหารือกันว่าอยากย้ายไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกว่า จนมาเจอบ้านคำเกิ้มที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครพนมประมาณ 3 กิโลเมตร ที่มีคนอยู่เพียง 3-4 ครัวเรือนซึ่งพร้อมรับเอาศาสนาคริสต์ หลังจากนั้นกลุ่มคริสตชนจึงเริ่มถางป่าและสร้างหมู่บ้านในปี 1885 ซึ่งโบสถ์หลังแรกก็สร้างในช่วงใกล้เคียงกัน เป็นวัดชั่วคราวใช้หลังคามุงหญ้าฝาขัดแตะ ปัจจุบันไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว

โบสถ์หลังที่สองสร้างขึ้นถาวรในปี 1904 ผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยไม้ แต่ใช้ไปได้เพียง 30 กว่าปีก็ถูกไฟไหม้ในปี 1940 ในป้ายประวัติเขียนไว้ว่าโบสถ์ถูกวางเพลิงเพราะ ‘กรณีพิพาทอินโดจีนและการเบียดเบียนศาสนา’

มีการสร้างโบสถ์ชั่วคราวหลังที่ 3 ในช่วง 1950 แล้วค่อยกลับมาบูรณะโบสถ์หลังที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งคือโบสถ์ปูนเปลือยที่ยังเหลืออยู่นี้ และสร้างโบสถ์หลังที่ 4 ในปี 1982 หลังจากนั้นพื้นที่วัดก็มีการบูรณะและปรับปรุงจนถึงปัจจุบัน

“เห็นกำแพงที่โผล่ขึ้นมาจากหญ้านั่นไหม” คุณพ่อเฉลิมศิลป์ชี้ให้พวกเราดูซากกำแพงสีดำที่อยู่ไม่ไกล “แต่ก่อนมันเคยสูงท่วมหัวเลยนะ แต่เวลาผ่านมานานดินก็สูงขึ้นเรื่อยๆ” คุณพ่อว่า

“สนามหญ้าตรงนี้ แต่ก่อนเคยมีม้า มิชชันนารีฝรั่งใช้ขี่ไปทำธุระที่ริมโขง บางทีจะข้ามเรือไปไหน เขาก็ใช้ม้าขี่ไปที่ท่าเรือ” คุณพ่อเล่าต่อ นาทีนั้นฉันนึกภาพตัวเองกำลังอยู่ในซีรีส์อังกฤษอย่าง Bridgerton

ปัจจุบันโบสถ์หลังที่ 4 ยังใช้เป็นที่สวดมนต์ในวันอาทิตย์ของคนในหมู่บ้าน หมู่บ้านคำเกิ้มมีคนอาศัยอยู่ประมาณกว่าร้อยครัวเรือน เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์ อาชีพหลักคือทำเกษตรกรรม และที่น่าสนใจกว่านั้นคือที่นี่มีฟาร์มไก่งวงและร้านอาหารที่มีลาบไก่งวงเป็นตัวชูโรง ในฐานะที่เกิดและเติบโตในภาคอีสาน นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเคยเห็นคำว่า ‘ลาบไก่งวง’ บนป้ายในหมู่บ้านห่างไกลเมือง

คุณพ่อเฉลิมศิลป์พาเดินวนจนรอบโบสถ์ แดดยังคงจ้าอยู่ แม้ว่านาฬิกาจะเข้าใกล้เลข 6 ไปเรื่อยๆ ฉันกล่าวขอบคุณที่คุณพ่อเสียเวลาพามนุษย์สองคนเดินชมโบสถ์จนทั่ว แถมยังเล่าประวัติให้ฟังไม่มีกั๊ก

“ว่างๆ ก็ค่อยมาใหม่” คุณพ่อกล่าว

เราขับรถจากบ้านคำเกิ้มมาเช่นนั้น โดยที่ยังไม่ได้ชิมลาบไก่งวง

3

คืนวันเสาร์ อีฟ อ๊อฟ อาย ไปนั่งบาร์ริมโขง และในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มนั่นเองที่เราเพิ่งเห็นว่านครพนมมีคน จากตอนกลางวันที่ร้างไร้เสียงสัญจร มาตอนนี้บาร์ริมโขงเต็มไปด้วยแขกเหรื่อ ผู้คนทั้งวัยรุ่นวัยทำงานนั่งเต็มทุกโต๊ะ จนอยากเดินไปถามว่า เมื่อตอนกลางวันไปไหนกันมา

ฉันเก็บความสงสัยนี้ไปถามคุณลุงขับสามล้อ แกตอบกลับมาด้วยเสียงเบื่อหน่ายว่า “วันหยุดเขาก็พักสิ”

อ่า ที่พูดมาก็มีเหตุผล

วันอาทิตย์ ก่อนกลับกรุงเทพฯ เราเอารถไปคืนร้านเช่ามอ’ไซค์ ขับไปดิบดี เติมน้ำมันเต็มถัง เพื่อพบว่าร้านปิด

โทรหาเจ้าของร้าน เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่า “ร้านปิดวันอาทิตย์ครับ” ทั้งที่ก็ตกลงกันไว้แล้วว่าจะคืนรถวันนี้ สุดท้ายกลายเป็นพี่แม่บ้านมารับรถให้

บนถนนก่อนไปถึงสนามบิน นครพนมเงียบเหมือนวันแรกที่มาถึง

ฉันย้อนคิดถึงคำของคุณลุงขับสามล้อ “วันหยุดเขาก็พักสิ”

นี่คือจักรวาลเวลาของนครพนมซันเดย์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save