fbpx
บาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

บาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อย่างที่เนลสัน เมลเดลา รัฐบุรุษคนดังเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ว่าเขื่อนคือสมรภูมิสำคัญในการผลักดันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะยังถกเถียงกันไม่จบว่าสุดท้ายแล้วคุณประโยชน์ของเขื่อนคุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่

ปัจจุบันเรามีเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกแล้วเกือบ 50,000 เขื่อน แต่หลายประเทศก็ยังคงเดินหน้าวางแผนและก่อสร้างเขื่อนอีกมากมายในนามของการพัฒนา แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ในประเทศไทยคำถามว่าจะสร้างเขื่อนดีหรือไม่สร้างดีมักจะวนเวียนกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมเป็นระยะๆ เมื่อเกิดข้อขัดแย้งเรื่องความเหมาะสมหรือมีการประท้วงของชุมชนในพื้นที่

ความจริงทั่วโลกมีองค์ความรู้และบทเรียนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนมากมาย มีการจัดตั้งคณะกรรมการเขื่อนโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 อันประกอบด้วยคณะกรรมการอิสระนานาชาติถึง 12 ชุดใช้เวลา 2 ปีครึ่งทำการประเมินผลดีผลเสียของเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกออกมาเป็นรายงานหนา 380 หน้า ผลสรุปที่ชัดเจนก็คือแม้เขื่อนจะมีประโยชน์หลายด้านแต่ผลกระทบอันเกิดขึ้นต่อชุมชนและระบบนิเวศนั้นก็มากมายเหลือคณานับ คณะกรรมการระหว่างประเทศจึงได้พยายามพัฒนาแนวทางในการประเมินความเหมาะสม รวมทั้งแนะนำกระบวนการตัดสินใจอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนและก่อสร้าง

ความจริงในปัจจุบัน หลายภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะอเมริกาและยุโรปได้เข้าสู่ยุครื้อเขื่อนกันแล้ว โดยมีแผนการรื้อเขื่อนเก่าๆ อย่างเป็นระบบ เกิดขบวนการเรียกร้องการคืนอิสรภาพให้สายน้ำ (Rewilding Rivers) ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศสายน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

อย่างไรก็ตามในประเทศกำลังพัฒนายังคงมีโครงการเขื่อนเกิดขึ้นมากมาย และที่สำคัญโครงการเขื่อนจำนวนมากยังคงดำเนินการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายโครงการดื้อดึงเดินหน้าโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ขาดมาตรการจัดการความเสี่ยง หรือการพิจารณาถึงระบบนิเวศอย่างถี่ถ้วน ไม่นับรวมผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านร้านถิ่นที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศ

เมื่อหลายปีมาแล้ว กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อบาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อน (Seven Sins of Dam Building) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่พบบ่อยและนำไปสู่ความล้มเหลวของการลงทุนในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่

ความผิดพลาดที่คณะผู้ศึกษาเรียกว่าเป็นบาปเจ็ดประการประกอบด้วย

  1. การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำผิดสาย
  2. การเพิกเฉยต่อระบบนิเวศของกระแสน้ำใต้เขื่อน
  3. การละเลยความหลากหลายทางชีวภาพ
  4. การตกหลุมพรางหลักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง
  5. การดำเนินการที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
  6. การจัดการความเสี่ยงและผลกระทบอย่างผิดพลาด
  7. การหลงเชื่อผลประโยชน์ของเขื่อนอย่างหน้ามืดตามัว

 

คนไทยได้ยินชื่อเขื่อนไซยะบุรีมานาน เพราะแม้จะเป็นโครงการเขื่อนในประเทศลาว แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากว่าเป็นเขื่อนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 1,285 เมกะวัตต์ เพื่อขายให้กับประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาของไทยคือ ช.การช่าง และได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินของประเทศไทย 6 แห่งได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ทิสโก้ และเอ็กซิมแบงค์ แม้จะมีความพยายามต่อสู้คัดค้านกันอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลลาว และบริษัทเอกชน รวมทั้งธนาคารของไทยก็ไม่สนใจ ดึงดันเดินหน้าก่อสร้างไปเรื่อยๆ จนโครงการเสร็จสิ้น

หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกถึงกังวลถึงผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาวโครงการนี้กันนักหนา ทั้งยังมีการยกให้กรณีเขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวอย่างของการแย่งชิงทรัพยากรข้ามชาติอย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ไร้พรมแดน และผลกระทบต่อผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรประมงจากแม่น้ำสายนี้

 

 

หากพิจารณาตามบาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนก็จะพบว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวแทนโครงการเขื่อนที่ทำบาปครบทุกข้อและไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะผิดพลาดตั้งแต่ข้อที่ 1 เรื่องตำแหน่งที่ตั้งไปถึงข้อที่ 7 คือการหลงเชื่อผลประโยชน์จากเขื่อนอย่างหน้ามืดตามัว

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเกือบ 5 พันกิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและมีผลผลิตทางประมงมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบผลผลิตกับขนาดของแม่น้ำ โดยพบปลาน้ำจืดมากกว่า 800 ชนิด เป็นรองก็เพียงแม่น้ำอเมซอน จุดที่มีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีนับเป็นจุดที่มีความเปราะบางที่สุดจุดหนึ่งของแม่น้ำโขง เพราะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำอู ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกรวดตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำโขง

พูดง่ายๆ ว่าเป็นจุดที่ไม่ควรให้มีการสร้างสิ่งกีดขวางใดๆ ทั้งสิ้น

ผลกระทบสำคัญประการแรก คือตะกอนและกรวดปริมาณมหาศาลจะถูกกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนความยาว 80 กิโลเมตร ต้องอย่าลืมว่าตะกอนที่ถูกสายน้ำนำพามาด้วยนั้นคือปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของแม่น้ำนั้นๆ ในทางกายภาพ การลดลงของปริมาณตะกอนจะส่งผลต่อเนื่องเรื่องการกัดเซาะตลิ่ง การสูญเสียพื้นกรวดที่เป็นแหล่งวางไข่สำคัญของปลาหลายชนิด และการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก ปริมาณตะกอนที่ลดลงยังหมายถึงการลดลงของสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำในโตนเลสาบของเขมรและการก่อเกิดดินอุดมปากแม่น้ำของเวียดนาม

ผู้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีอ้างว่าจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในรูปแบบของประตูระบายตะกอน หรือ Spillway ที่จะสามารถระบายตะกอนขนาดต่างๆ กันได้ แต่เทคโนโลยีที่ว่ายังแทบไม่เคยมีการทดลองใช้ที่ใดมาก่อน จึงน่าสงสัยว่าจะคุ้มกันหรือไม่ กับการนำมาทดลองใช้ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศขนาดนี้

ผลกระทบสำคัญประการที่สอง คือการขัดขวางการอพยพตามธรรมชาติของปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการคุกคามความอยู่รอดของพันธุ์ปลาที่มีการอพยพตามธรรมชาติกว่า 160 ชนิด และอาจหมายถึงจุดจบแห่งสายพันธุ์ของปลาบึกซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นแม่น้ำโขงที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในธรรมชาติ  ปลาที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการขวางกั้นลำน้ำเหล่านี้คิดเป็นปริมาณถึง 1 ใน 3 ของปลาที่จับได้ราว 900 ล้านตันต่อปี ปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบย่อมส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของชาวประมงหลายล้านครอบครัวริมฝั่งโขง

โครงการเขื่อนไซยะบุรีเพิ่งจะจัดทริปพาสื่อมวลชนไปดูโครงการ พร้อมกับอวด ‘ทางปลาผ่าน’ ที่อ้างว่าออกแบบมาสำหรับปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ มีทั้งการทำอุโมงค์ปลา (Fish Collecting Gallery) บันไดปลา (Fish Ladder) และช่องยกระดับให้ปลาเหมือนกับลิฟต์ โดยวิศวกรผู้ดูแลมั่นใจว่านี่คือระบบที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก แต่ก็อีกเช่นกันที่เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เคยมีการทดสอบมาก่อน และจากกรณีบันไดปลาโจนที่ถูกนำมาติดตั้งในเขื่อนปากมูล ก็เป็นบทเรียนสำคัญว่าเทคโนโลยีในต่างประเทศไม่สามารถนำมาใช้ได้กับปลาในแม่น้ำโขง คำถามสำคัญก็คือหากทางปลาที่เขื่อนไซยะบุรีติดตั้งไม่ได้ผล ทางโครงการมีแผนรองรับอย่างไร

ผลกระทบประการที่สาม คือการผันผวนของระดับน้ำที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเขื่อนจะส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำ 200 กิโลเมตรใต้เขื่อนและอีก 80 กิโลเมตรเหนือเขื่อน ซึ่งรวมทั้งชุมชนในเจ็ดจังหวัดริมแม่น้ำโขงของประเทศไทย กรณีนี้เป็นคำถามสำคัญที่ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด แม้ว่าผู้สร้างเขื่อนไซยะบุรีจะยืนยันว่า เขื่อนนี้มีรูปแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) หรือให้นึกภาพว่าเป็นฝายน้ำล้นขนาดใหญ่ โดยจะไม่มีการกักเก็บน้ำในปริมาณมากๆ เหมือนเขื่อนทั่วไป

แต่สถานการณ์ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศไทยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ที่แห้งขอดจนเป็นวิกฤตมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่เป็นฤดูฝน ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ผลสรุปเบื้องต้นระบุว่า 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤต คือ 1. ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน้อยลงอย่างผิดปกติ  2. เขื่อนจิงหง ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน ลดการระบายน้ำโดยอ้างว่าเพื่อซ่อมแซมระบบสายส่งไฟฟ้า และ 3. เขื่อนไซยะบุรี กำลังทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง

เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยแค่เพียง 195 กิโลเมตร คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยากว่ามีส่วนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติ ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงทดสอบระบบเท่านั้น เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ซึ่งตามกำหนดจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ คงจะเห็นความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากการระบายน้ำของเขื่อนอีกมาก ซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดผลกระทบในเชิงระบบนิเวศของสัตว์น้ำ เกาะแก่งและชายหาดในแม่น้ำโขงขนาดไหน

ความจริงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายใน พ.ศ. 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น

สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดในกรณีของเขื่อนไซยะบุรีก็คือเขื่อนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างเลย เพราะมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าในการแก้ปัญหาความยากจนของลาวและการตอบสนองความต้องการพลังงานของไทย การเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าความสำคัญของแม่น้ำโขง ไม่สนใจความมั่นคงทางอาหารที่ชุมชนนับล้านได้จากปลาน้ำจืด ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม เป็นบาปกรรมที่มีผลโดยตรงต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นบาปที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

เรามีทางเลือก แต่กลับเลือกเดินหน้าฆ่าแม่น้ำโขงด้วยความเขลาและความโลภ

อีกหลายปีจากนี้ เมื่อผลกระทบต่างๆ ปรากฏชัดจนเกินเยียวยา การรณรงค์ให้มีการรื้อเขื่อนในแม่น้ำโขง อาจเป็นภารกิจสำคัญของคนรุ่นต่อไปเพื่อฟื้นชีวิตของแม่น้ำโขงให้กลับคืนมา

 

ป.ล. บทความเดิมเคยตีพิมพ์ในนิตยสาร ฅ คน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2557

 

[box]

ข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลักของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สรุปได้ดังนี้

  • แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ จะทำให้ปริมาณของตะกอนที่ไหลไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงถึง 97% ตะกอนเหล่านี้ช่วยเพิ่มสารอาหารและช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศโดยรวม และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเกษตร การประมง และคุณภาพน้ำ ซึ่งย่อมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในลุ่มน้ำด้วย
  • แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก โดยจะทำให้ชีวมวลด้านประมงลดลง 35–40% ภายใน พ.ศ. 2563 และ 40–80% ภายใน พ.ศ. 2583 ทำให้ประเทศต่างๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำเป็นสัดส่วนดังนี้ ไทย 55% ลาว 50% กัมพูชา 35% และเวียดนาม 30%
  • แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจนถึง พ.ศ. 2583 จะทำให้พันธุ์ปลาอพยพในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขงสูญพันธุ์ไป พันธุ์ปลาอพยพในแม่น้ำโขงไม่สามารถดำรงชีวิตในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ซึ่งมีแผนก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2563 – 2583 ได้
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมทั้งการสูญเสียด้านประมง จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในชุมชนต่างๆ ของลาวและกัมพูชา
  • การลงทุนที่มากเกินไปในภาคเกษตรและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะส่งผลกระทบโดยรวม ปิดกั้นโอกาสที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะสามารถบรรลุหรือรักษาระดับการเป็นประเทศรายได้ระดับต่ำหรือปานกลางได้
  • กำไรส่วนใหญ่จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะตกเป็นของบริษัทและธนาคารต่างชาติ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง จะตกเป็นของประเทศผู้ลงทุน จากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ในขณะที่ต้นทุนจากโครงการเหล่านี้จะต้องถูกแบกรับโดยชุมชนชาวประมงและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามระเบียงแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่
[/box]

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save