fbpx

ทำไมคนชอบโกหก?

บ้านเมืองเรายามนี้เหมือนจะอยู่ในสถานการณ์ที่นักการเมืองส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงคำพูดไปมาตลอดเวลา จนดูเหมือนจะโกหกพกลมกันเป็นว่าเล่น ไม่เห็นหัวประชาชนกันสักเท่าไรนัก โดยส่วนใหญ่ก็มักอ้างว่าสถานการณ์บางอย่างเปลี่ยนไปจึงต้องเปลี่ยนตาม  

นักวิทยาศาสตร์รู้อะไรเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกหกหลอกลวงของคนเราบ้าง? ทำไมดูเหมือนคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะทนยอมรับการโป้ปดของคนที่เราเลือกได้ไม่น้อย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และหากจำเป็นต้องจับผิดคนที่กำลังโกหกเราอยู่ จะมีวิธีการใดที่มีประสิทธิภาพดีๆ ให้เลือกทำได้บ้าง?

เรามาตั้งต้นกันด้วยคำถามที่ว่า คนเราโกหกกันด้วยความถี่มากน้อยเพียงใด? โกหกกันด้วยเหตุใด? และโกหกใครกันบ้าง?

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ลาครอส (University of Wisconsin-La Crosse) และมหาวิทยาลัยอลาบามาที่เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) ทำร่วมกันและตีพิมพ์ในวารสาร Communication Monographs ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้โกหกมากนัก โดยมีราว 75% ที่ไม่พูดปดเลยหรืออย่างมากก็หลอกลวงคนอื่นไม่เกิน 2 ครั้งต่อวันเท่านั้น แต่ก็มีคนจำนวนน้อยที่เราแทบไม่สามารถเชื่ออะไรที่คนเหล่านี้พูดได้เลย เพราะเฉลี่ยแล้วอาจโกหกมากถึง 17 ครั้งต่อวัน แต่กลุ่มหลังนี้มีแค่เพียง 1% ของคนทั้งหมดเท่านั้น[1]

ในงานศึกษาฉบับนี้ พวกเขาใช้อาสาสมัคร 632 คน โดยให้คนเหล่านี้จดบันทึกจำนวนครั้งของการโกหกของพวกตนไว้ติดต่อกันนานถึง 91 วัน ผลคือได้จำนวนโกหกรวมกันมากถึง 116,366 ครั้ง!

ข้อสรุปที่พบคือ การโกหกส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องและที่พบบ่อยก็เป็นการโกหกจำพวก ‘white lies’ คือ หลอกให้ดีใจ เช่น บอกว่าชอบของขวัญที่ได้รับมาก แม้ว่าความจริงคือไม่ชอบเลยก็ตาม แต่จำนวนการโกหกต่อวันมีความผันแปรอยู่บ้าง อาจมากน้อยแตกต่างกันไป และจำนวนก็แตกต่างกันเป็นอย่างมากในแต่ละคนด้วย    

ที่น่าสนใจคือ พวกที่โกหกเป็นไฟมีความผันแปรของจำนวนครั้งการโกหกต่อวันมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่ม 1% ที่เป็นคนขี้ปดที่สุด ทำสถิติโกหกไว้ที่ราว 17 ครั้งต่อวัน ตรงกันข้ามกับพวกที่ทำตัวราวกับเป็นนักบวชคือ พวก 1% ที่โกหกน้อยสุด ความผันแปรรายวันก็น้อยมากตามไปด้วย

จากการทดลองนี้ประมาณการว่ามีคำโกหกเจืออยู่ราว 7% ของการสื่อสารทั้งหมด แต่ยังดีอยู่นิดหน่อยตรงที่ 88.6% ของการโกหกเป็นแบบ white lies เพื่อรักษาสายสัมพันธ์กัน มีเพียง 11.4% เท่านั้นที่เป็น big lies หรือการแหกตากันจริงๆ เช่น การบอกรักใครสักคนโดยไม่ได้รักจริงๆ ก่อนหักอกคนๆ นั้น หรือการโกหกหวังผลอย่างอื่นต่างๆ นานา  

คราวนี้ลองมาดูสาเหตุที่คนโกหกกันครับ มีเหตุผลแตกต่างกันไปหลากหลายมาก แต่ค่าสูงสุด 2 อันดับคือ โกหกเพื่อหลบหลีกให้ไม่ต้องเจอกับบางคน (21%) และเป็นการล้อหรืออำกันเล่น (20%) ตามด้วยการโกหกเพื่อปกป้องตัวเอง (14%) เพื่อสร้างภาพหรือทำให้อีกฝ่ายประทับใจ (13%) และเพื่อป้องกันคนอื่นด้วยเหตุผลบางอย่าง (11%) จากนั้นจึงตามด้วยการโกหกเพื่อเหตุผลในทางลบ เช่น หาประโยชน์บางอย่างใส่ตัว (9%) หาประโยชน์ให้พรรคพวกคนอื่นๆ (5%) หรือเพื่อทำร้ายจิตใจกัน (2%) ส่วนที่เหลือ (5%) ก็เป็นเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่จำเพาะเจาจงนัก ไปจนถึงไม่มีเหตุผลอะไร โกหกเพราะอยากโกหกแค่นั้น!

ข้อสรุปที่น่าจะช็อกคนจำนวนมากก็คือ การโกหกส่วนใหญ่เป็นการทำต่อหน้า (79%) ที่เหลือจึงเป็นการโกหกผ่านตัวกลางหรือวิธีการอื่น ไม่ต้องมาเผชิญหน้ากันโดยตรง

คราวนี้มาดูคนที่เป็นเป้าหมายของการโกหกว่าเป็นใครบ้าง

ไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่า คนที่โดนหลอกส่วนใหญ่คือเพื่อนฝูง (51%) คนในครอบครัว (21%) และเพื่อนร่วมงานหรือคนที่โรงเรียน (11%) นั่นเอง ถัดจากคนใกล้ตัวจึงเป็นคิวของคนแปลกหน้า และคนรู้จักคุ้นเคยกันที่ต่างก็ได้ 8% กว่าๆ

อย่างที่สรุปไปข้างต้นว่า คนส่วนใหญ่ซื่อสัตย์และไม่ค่อยได้โกหกกันสักเท่าไหร่ แต่นานๆ ทีก็อาจพบคนที่โกหกได้เป็นวรรคเป็นเวร อย่างกรณีของนาย จอห์น ซี. บีล (John C. Beale) ที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาจ้างในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมภูมิอากาศ[2]

เขาโกหกจนสามารถหายหน้าหายตาไม่มาทำงานติดต่อกันถึง 18 เดือน เริ่มตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จากการสอบสวนพบว่าเขาไม่ได้ทำงานอะไรทั้งนั้น เขาอ้างเหตุผลที่บ้าบอคอแตกที่สุดกับหัวหน้าว่าที่ไม่มาทำงานนั้น เป็นเพราะเขาทำงานให้กับองค์กรข่าวกรองกลางของสหรัฐหรือ ‘ซีไอเอ’ ซึ่งต้องไปลงพื้นที่ที่ในประเทศปากีสถาน เพื่อทำภารกิจจารกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงบีลให้การยอมรับเมื่อถูกสอบสวนว่า เขาใช้เวลาออกกำลังอยู่ที่บ้าน เพราะรู้สึกขี้เกียจ ไม่อยากทำงานอย่างหนัก

เขายังโกหกสารพัด เช่น เพื่อที่จะได้ที่จอดรถที่สะดวกสบายเมื่อต้องไปออฟฟิศ เขาแจ้งข้อมูลเท็จว่าจำเป็นต้องใช้ที่จอดพิเศษเพราะเขาป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งติดมาขณะเป็นทหารไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศเวียดนาม แต่ความจริงคือเขาไม่เคยป่วยเป็นมาลาเรีย ไม่เคยไปเวียดนาม และไม่เคยแม้แต่รับราชการทหาร!

คนทั่วไปจับผิดคนโกหกได้ดีเพียงใด?

มีงานวิจัยที่แยกแยะเรื่องนี้และทำให้รู้ว่า คนส่วนใหญ่จับโกหกได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่เล็กน้อย (42%) ผ่านการรับฟังและสังเกตสังกา แสดงว่าเรามีโอกาสจับผิดได้สำเร็จน้อยกว่าล้มเหลวนิดหน่อย

โดยหลักแล้ว การโกหกต้องใช้ความจำเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างเรื่องราวให้สอดคล้องกันทุกอย่าง คำแนะนำเรื่องการจับผิดจึงอาศัยความจริงข้อนี้เป็นหลัก ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี วิธีแรกคือการให้ผู้ต้องสงสัยเล่าเรื่องแบบย้อนหลัง แทนที่จะเล่าแบบเส้นตรงตามไทม์ไลน์ โดยจะเพิ่มความถูกต้องในการจับผิดมากขึ้นเป็น 60%

เรื่องต่อไปคือหาทางบีบบังคับให้คนผู้นั้นต้องสบสายตาขณะพูด การจ้องตาจะดึงดูดความสนใจและทำให้การแต่งเรื่องเพื่อหลอกยากมากขึ้น และอีกทริกหนึ่งคือแทนที่จะให้ตอบคำถาม ให้ผู้ต้องสงสัยวาดรูปแทนคำตอบ คนที่โกหกมักจะวาดภาพออกมาเป็นแบบคร่าวๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด หากเทียบกับคนที่พูดความจริงที่ใส่รายละเอียดมากกว่า  

คราวนี้มาถึงคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ทำไมนักการเมืองบางคนถึงติดใจการโกหกผู้คนมาก?

การโกหกแล้วรอดตัวไปได้ทำให้เกิดอาการเสพติดได้ครับ ทุกครั้งที่โกหกแล้วไม่มีใครจับได้ ร่างกายจะหลั่งโดพามีน (dopamine) แบบเดียวกับที่เกิดกับเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน หรือเสพยาเสพติด ผลที่ตามมาคือสมองจะชินชาต่อวงจรการให้รางวัลแบบนี้และคนเหล่านี้ต้องโกหกมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองมีความสุขเท่าเดิม แบบเดียวกับคนติดสารเสพติดที่ต้องใช้โดสที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่าคนทั่วไปมักจะยอมรับการโกหกได้มากกว่าอาชญากรรมอื่นๆ อีกหลายแบบ ยิ่งเห็นคนอื่นทำตัวไม่เดือดไม่ร้อนและยอมรับได้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ จนนักการเมืองจำนวนมากนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในยุคที่ไม่มีดิจิทัลฟุตพรินต์ (digital footprint) บนอินเทอร์เน็ตให้จับผิดย้อนหลังได้ง่ายๆ

แต่การมีรอยเท้าบนโลกดิจิทัลในยุคปัจจุบัน จึงมักจะมีคนไปสืบเสาะหาคำพูดเดิมๆ ที่นักการเมืองเคยพูดไว้มาทำให้พวกมุสาเป็นอาชีพหน้าแหกได้เสมอๆ  

ความเป็นไปได้อีกอย่างคือ คนที่โกหกบ่อยๆ อาจเป็นคนมีปัญหาทางจิต เนื่องจากวงจรการให้รางวัลในสมองผิดปกติไป จึงทำให้ไม่เกิดความอึดอัดใจที่จะโกหก แต่ในทางกลับกัน ยิ่งโกหกก็ยิ่งติดใจ ยังไม่มีวิธีการง่ายๆ ที่จะบอกได้ว่าใครเป็นผู้ป่วยแบบนี้  

เราได้แต่เพียงคาดหวังว่าตัวแทนที่เราเลือกเข้าไปในสภาของเรา (หรือแค่ส่วนใหญ่) และรวมไปถึงคนที่เราไม่ได้เลือก แต่ก็เข้ามาอยู่ในสภาได้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมวิธีการอย่างอื่น จะไม่ใช่คนในกลุ่มสุดท้ายนี้ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่มีวิธีการรักษาดีๆ เลยครับ!

References
1 Kim B. Serota et al. Communication Monographs Volume 89, 2022 – Issue 3. https://doi.org/10.1080/03637751.2021.1985153
2 The EPA OIG’s Investigation of John C. Beale. Statement of Patrick Sullivan. Assistant Inspector General for Investigations Before the Committee on Oversight and Government Reform U.S. House of Representatives. October 1, 2013

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save