fbpx
ก่อร่างสร้างพันธมิตรใหม่ : รัสเซียกับประชานิยมขวาจัดในการเมืองยุโรป

ก่อร่างสร้างพันธมิตรใหม่ : รัสเซียกับประชานิยมขวาจัดในการเมืองยุโรป 

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้เดินทางไปร่วมงานแต่งงานของรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของออสเตรีย Karin Kneissl กับหนุ่มใหญ่นักธุรกิจ Wolfgang Meilinger ผู้มีความสนใจในกีฬายูโดเช่นเดียวกับปูติน ที่เมือง Gamlitz หมู่บ้านขนาดเล็กทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรีย ใกล้กับพรมแดนสโลวีเนีย โดยปูตินได้รับเชิญมาร่วมงานแต่งงานนี้เมื่อเขาเดินทางเยือนออสเตรียอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา

ในวันงาน ปูตินมอบช่อดอกไม้ให้แก่คู่บ่าวสาว และอวยพรทั้งสองด้วยภาษาเยอรมัน พร้อมทั้งส่งคณะนักร้อง Cossack มาบรรเลงเพลงต่างๆ ตลอดทั้งงาน ภาพการเต้นรำระหว่างปูตินกับเจ้าสาวได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ มากมาย และสร้างความฮือฮาแก่วงการการเมืองยุโรปในหลายด้านด้วยกัน

ประเด็นแรก รัฐมนตรีต่างประเทศ Karin Kneissl ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองฝ่ายค้านในออสเตรียว่า การเชิญประธานาธิบดีปูตินนั้นไม่เหมาะสม โดยกล่าวหาว่าเธอได้ทำลายสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของออสเตรีย และท้าทายนโยบายต่างประเทศของ EU ที่ยังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

สมาชิกของพรรคกรีนได้เรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่ง นักการเมืองบางคนยังวิจารณ์ถึงเรื่องการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้อย่างไม่เหมาะสม จากการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยและปิดถนนหนทางต่างๆ ในช่วงการเดินทางมาร่วมงานแต่งงานของปูติน

ประเด็นต่อมาคือเรื่องจังหวะเวลา ซึ่งนักการเมืองหลายคนในยุโรปวิตกกังวล นั่นคือ ปูตินแวะมาร่วมงานแต่งงานดังกล่าวก่อนที่จะเดินทางไปเยอรมนีและพบกับ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อหารือประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ เช่น กรณีซีเรีย ยูเครน และการส่งออกก๊าซธรรรมชาติของรัสเซียมายังยุโรป ซึ่งเยอรมนีกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้ยุติโครงการสร้างท่อก๊าซ Nord Stream 2

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่อาจยังไม่ค่อยได้รับสนใจมากนักคือ สายสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัสเซียภายใต้ปูติน กับพรรคการเมือง/นักการเมืองฝ่ายประชานิยมขวาจัดในยุโรป เช่น ในกรณีออสเตรีย

แม้ว่าดราม่าการเมืองครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ Kneissl เป็นสำคัญ ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่มาจากพรรคขวาจัดอย่าง Freedom Party of Austria (FPÖ) แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวยังมุ่งโจมตีรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Sebastian Kurz ผู้นำของพรรคการเมืองฝ่ายกลางขวาอย่าง Austrian People’s Party (ÖVP) ซึ่งจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค FPÖ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2017 เป็นต้นมา โดยรัฐบาลของออสเตรียในปัจจุบันมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ และส่งเสริมการปรับความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย

หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของออสเตรีย Kurz ได้เลือกรัสเซียเป็นประเทศแรกที่เขาเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ และเข้าพบประธานาธิบดีปูตินในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2018 ก่อนที่ปูตินจะเป็นฝ่ายเดินทางมาเยือนออสเตรียในเดือนมิถุนายน

Kurz กล่าวว่ารัสเซียนั้นเป็นประเทศ ‘อภิมหาอำนาจ’ (superpower) สำคัญของโลก โดยออสเตรียปรารถนาที่จะ “รักษาและเปิดช่องทางของการสื่อสารกับรัสเซียเอาไว้” ท่ามกลางบริบทที่รัสเซียกำลังถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกตะวันตก รวมทั้งยังมีกรณีอื้อฉาวของรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการวางยาพิษ Sergey Skripal อดีตสายลับรัสเซียในอังกฤษอีกด้วย

บทความนี้ลองสำรวจที่มาของการก่อร่างสร้างพันธมิตรใหม่ระหว่างรัสเซียกับประชานิยมฝ่ายขวาจัดในยุโรป ซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งนัยของความเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่มีต่อการเมืองยุโรป

 

รัสเซียกับฝ่ายขวาจัดในยุโรป

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายขวาจัดในยุโรปเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด?

ในช่วงสงครามเย็น สหภาพโซเวียตไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือใกล้ชิดกับพรรคการเมืองขวาจัดในยุโรป เนื่องจากความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองและปัจจัยทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่คอมมิวนิสต์รัสเซียต่อต้านฝ่ายขวาจัดอย่างเช่นพรรคนาซี กระนั้น หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงของสหภาพโซเวียต ก็พยายามผูกสัมพันธ์กับฝ่ายขวาจัดในยุโรปในปฏิบัติการจลากรรมข่าวกรอง และการสร้างสายลับจากกลุ่มนาซีใหม่ในยุโรป โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 ฝ่ายขวาจัดในยุโรปได้ติดต่อกับพวกชาตินิยมสุดขั้วในรัสเซีย โดยต่างฝ่ายต่างหวังว่าพันธมิตรดังกล่าวจะสามารถส่งอิทธิพลทางการเมืองและความคิดซึ่งกันและกัน หรือแม้กระทั่งผลักดันให้ฝ่ายขวาจัดเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม พลังฝ่ายอนุรักษนิยมสุดขั้วในรัสเซียในช่วงสมัยของประธานาธิบดี Boris Yeltsin ก็ยังมีบทบาทและอิทธิพลที่จำกัดอยู่เพียงแกนนำขวาจัดคนสำคัญ เช่น

  • Aleksandr Dugin นักคิดการเมืองฝ่ายขวาจัดและศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาประจำ Moscow State University (2008-2014) ซึ่งเป็นผู้ตั้งศูนย์วิจัยอนุรักษนิยม (Centre of Conservative Research) ขึ้นมาในฐานะเป็นสถาบันคลังปัญญา (think-tank) ที่ส่งเสริมระเบียบวาระของฝ่ายขวาใหม่
  • Vladimir Zhirinovsky หัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party of Russia
  • Sergey Glazyev สมาชิกสภาดูมา แกนนำของพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมสุดขั้ว Rodina (Motherland-National Patriotic Union) และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีปูติน

ผู้นำขวาจัดของรัสเซียอย่าง Zhirinovsky เคยกล่าวไว้ในปี 2003 ว่า รัฐบาลรัสเซียควรที่จะต้องมี “เครื่องมือต่อรองในการเมืองโลก” ผ่านการสร้างพันธมิตรกับพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในยุโรป แต่โดยรวมแล้ว รัฐบาลรัสเซียในสมัย Yeltsin ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรกับขวาจัดในยุโรปเท่าใด

แนวโน้มดังกล่าวดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงสมัยแรกของวลาดีมีร์ ปูติน (2000-2004) ซึ่งยังดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบมุ่งเน้นตะวันตกและเสรีนิยมในระดับหนึ่ง ปูตินเลือกที่จะสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับพรรคการเมืองกระแสหลักของยุโรป ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับผู้นำยุโรปหลายคน เช่น Gerhard Schröder นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี Silvio Berlusconi นายกรัฐมนตรีของอิตาลี และ Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เป็นต้น

 

องค์กรติดตามการเลือกตั้งในยูเรเชีย

 

สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในช่วงการปฏิวัติสี (colored revolutions) หรือการส่งออกประชาธิปไตยในบริเวณหลังบ้านของรัสเซีย เช่นในจอร์เจีย ยูเครน และคีร์กีซสถานในช่วงปี 2003-2005 ตามลำดับ ซึ่งรัสเซียมองว่าโลกตะวันตกและสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงเข้ามายังบริเวณ ‘หลังบ้าน’ ของตน และมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งรัสเซียเอง

แม้ว่ารัฐบาลรัสเซียยังไม่ได้พัฒนาระบบพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับฝ่ายขวาจัดในยุโรป แต่ในช่วงปี 2005 เป็นต้นมา เราเห็นการก่อตัวของโครงการทางการเมืองหนึ่งของรัสเซีย นั่นคือ การจัดตั้งองค์กรติดตามการเลือกตั้งในภูมิภาคยูเรเชีย ได้แก่ CIS-EMO (Commonwealth of the Independent States – Election Monitoring Organization) ซึ่งเชิญผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียและนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดในยุโรปที่นิยมรัสเซียเข้าไปเป็นกรรมการอิสระ ในปฏิบัติการระหว่างประเทศสำหรับการจับตาและติดตามกระบวนการเลือกตั้งในบริเวณอดีตสหภาพโซเวียต โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบการเมืองต่างๆ ที่มีลักษณะอำนาจนิยมในภูมิภาคนี้

ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา CIS-EMO ค่อยๆ หมดบทบาทลง และองค์กรติดตามการเลือกตั้งใหม่อย่าง Civic Control Association ซึ่งบริหารจัดการโดยตัวแสดงที่ใกล้ชิดกับสภาดูมาและสภาพลเมืองของสหพันธรัฐรัสเซีย (Civic Chamber of the Russian Federation) ได้เข้ามามีบทบาทนำแทน เราอาจเรียก Civic Control Association ว่าเป็น NGO ที่จัดตั้งโดยรัฐ (หรือ GONGO)

Civic Control Association มีบทบาทสำคัญในการส่งคณะติดตามการเลือกตั้ง ในการลงประชามติแยกไครเมียออกจากยูเครน เมื่อเดือนมีนาคม 2014 รวมถึงการเลือกตั้ง ‘รัฐสภา’ ใน Donetsk People’s Republic และ Luhansk People’s Republic ในเดือนพฤศจิกายน 2014 ซึ่งทั้งสองหน่วยทางการเมืองต่างเป็นบริเวณขัดแย้งสำคัญในยูเครนภาคตะวันออก

องค์กรติดตามการเลือกตั้งของรัสเซียยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรติดตามการเลือกตั้งจากกลุ่มฝ่ายขวาจัดในยุโรป เช่น สถาบันติดตามความเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในยูเรเชีย (Eurasian Observatory for Democracy and Elections: EODE) ในเบลเยียม และศูนย์ยุโรปเพื่อการวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ (European Centre for Geopolitical Analysis: ECGA) ในโปแลนด์ ซึ่งทั้งสององค์กรนี้ได้รับการก่อตั้งในปี 2007 โดย Luc Michel และ Mateusz Piskorski ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี รายงานขององค์กรเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรปและองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) โดยเฉพาะสำนักงานเพื่อสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Office for Democratic Institutions and Human Rights: ODIHR) ที่เป็นตัวแสดงหลักในการติดตามการเลือกตั้งในภูมิภาคยุโรป

 

แนวร่วมสื่อขวาจัด

 

หลังจาก ‘สงครามห้าวัน’ หรือสงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียเหนือบริเวณขัดแย้งอย่าง South Ossetia และ Abkhazia ในเดือนสิงหาคม 2008 รัสเซียเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อตะวันตกอย่างหนัก ความล้มเหลวของการใช้ ‘อำนาจแบบอ่อน’ (soft power) ของรัสเซียในโลกตะวันตก นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีของสื่อที่เป็นของรัฐรัสเซีย กล่าวคือ ก่อนปี 2008 สื่อโดยรัฐหรือสื่อที่นิยมรัสเซียนั้นนำเสนอเพียงแค่มุมมองเชิงบวกหรือเจตนาดีในนโยบายต่างๆ ของรัสเซีย แต่หลังปี 2008 สื่อดังกล่าวเริ่มที่จะเสนอเรื่องเล่าใหม่หรือชุดความจริงอีกชุดหนึ่งที่ให้ภาพความตกต่ำของโลกตะวันตกและลัทธิเสรีนิยม

สื่อของรัสเซีย เช่น RT (รีแบรนด์ใหม่เมื่อปี 2009 จากชื่อเดิมคือ Russia Today เพื่อพยายามลดทอนความเป็นช่องของรัสเซีย)  Voice of Russia (VoR) หรือ ITAR-TASS ได้เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ดำเนินรายการและนักวิจารณ์ข่าวฝ่ายขวาจัด รวมทั้งนักการเมืองจากพรรคฝ่ายขวาจัดทั่วยุโรป เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ยูโรโซน ปัญหาผู้อพยพ พหุวัฒนธรรมและการแต่งงานข้ามเพศ เป็นต้น

นักวิจารณ์ข่าวฝ่ายขวาจัดคนสำคัญ ได้แก่ Lyndon Larouche นักรณรงค์เคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดชาวอเมริกัน, Heinz-Christian Strache ผู้นำของพรรค Freedom Party of Austria (FPÖ) และในปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีออสเตรีย, Mateusz Piskorski นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ชาวโปแลนด์และผู้ก่อตั้งศูนย์ยุโรปเพื่อการวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ (ECGA) ในโปแลนด์ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ความร่วมมือโดยตรงระหว่างผู้นำของรัฐบาลรัสเซียกับผู้นำของพรรคการเมืองแนวประชานิยมขวาจัด ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้พัฒนาหรือยกระดับอย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการในช่วงปี 2011-2014 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การชุมนุมประท้วงต่อต้านปูตินในรัสเซียปี 2011-2012 มาจนกระทั่งวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในช่วงปลายปี 2013-2014 ที่มีผลให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยวจากโลกตะวันตกรวมถึงผู้นำพรรคการเมืองกระแสหลัก

เราจะเห็นทิศทางของการหันไปสู่การสร้างพันธมิตรใหม่ ระหว่างผู้นำระดับสูงของรัสเซียกับผู้นำพรรคการเมืองแนวประชานิยมฝ่ายขวาจัดในยุโรป เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา

 

แนวร่วมพรรคการเมืองขวาจัด

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดประการหนึ่งของระบอบปูตินคือ การสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองที่มีอิทธิพลในโลกตะวันตก

ในช่วงแรกของระบอบปูติน เขาพยายามสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำจากพรรคการเมืองกระแสหลักต่างๆ แต่พอถึงช่วงปี 2011-2014 เป็นต้นมา การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการโดดเดี่ยวจากพรรคการเมืองกระแสหลัก ทำให้รัสเซียไม่มีทางเลือกมากนัก และต้องหันมาสร้างสายสัมพันธ์กับผู้นำของพรรคการเมืองขวาจัด เช่น National Front (FN) ในฝรั่งเศส  Freedom Party of Austria (FPÖ) ในออสเตรีย  Northern League (LN) ในอิตาลี เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ของประธานาธิบดีปูตินในเดือนเมษายน 2014

ปูตินกล่าวว่า ชัยชนะของพรรค Fidesz ภายใต้การนำของ Viktor Orban ในการจัดตั้งรัฐบาลฮังการี และความสำเร็จในการเลือกตั้งของพรรค Jobbik ในฮังการี และ FN ในฝรั่งเศส ต่างแสดงให้เห็นถึง “การคิดใหม่ของระบบคุณค่าต่างๆ ในประเทศยุโรป” ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าที่รัสเซียส่งเสริมมาโดยตลอด นั่นคือคุณค่าแบบอนุรักษนิยม

ผู้นำระดับสูงของรัสเซียได้เริ่มพบปะหารือกับผู้นำของพรรคการเมืองขวาจัดมากขึ้น เช่น การพบปะหารือระหว่างปูตินกับ Matteo Salvini ผู้นำของพรรค LN ของอิตาลีในระหว่างการประชุม Asia-Europe Summit ที่มิลานในเดือนตุลาคม 2014 หรือการเข้าพบประธานาธิบดีปูตินของ Marine Le Pen ผู้นำของพรรค FN ที่กรุงมอสโกในเดือนมีนาคม 2017 เป็นต้น

นอกจากการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้นำแล้ว เรายังเห็นการสร้าง platform ใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า International Parliamentary Forum ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดย Sergey Naryshkin ประธานสภาดูมา (2011-2016) เพื่อเป็นเวทีและเครือข่ายของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในยุโรปที่มีแนวนโยบายที่นิยมรัสเซีย และส่งเสริมเรื่องเล่าหรือวาทกรรมของรัสเซีย เช่น 1) การปฏิวัติในยูเครนนั้นได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพื่อที่จะลดบทบาทของรัสเซียในยูเรเชีย  2) การลงประชามติในไครเมียนั้นมีความชอบธรรมระหว่างประเทศ  3) สหรัฐฯ และ NATO บีบบังคับให้สมาชิกสหภาพยุโรปคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย  4) ยุโรปควรที่จะขจัดอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ  5) ยุโรปและรัสเซียควรที่จะเสริมสร้างสถาปัตยกรรมภูมิรัฐศาสตร์ร่วมกันในภูมิภาคยูเรเชีย เป็นต้น

ในปัจจุบัน กลุ่มพรรคการเมืองประชานิยมแนวขวาจัด เริ่มที่จะแผ่อิทธิพลในการเมืองของรัฐสภายุโรป และได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับชาติเพิ่มขึ้น ในหลายกรณี พรรคการเมืองขวาจัดได้แสดงความนิยมชมชอบการเมืองแบบอำนาจนิยมตามระบอบปูตินอย่างชัดแจ้ง และส่งเสริมนโยบายต่างประเทศที่หันกลับไปหารัสเซียนั่นเอง

 

สรุป

 

กล่าวโดยสรุป การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประชานิยมขวาจัดในยุโรปนั้น เพิ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาไม่นานมานี้ โดยดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์สำคัญอย่างน้อยสามประการคือ 1) การจัดตั้งองค์กรติดตามกระบวนการเลือกตั้งในยูเรเชีย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบการเมืองอำนาจนิยมในยูเรเชีย รวมทั้งรัสเซีย  2) การสร้าง ‘ข่าวทางเลือก’ หรือ ‘ความจริง’ อีกชุดหนึ่งผ่านสื่อมวลชนที่นิยมรัสเซีย และ 3) การสร้างพันธมิตรทางตรงระหว่างผู้นำของรัสเซียกับพรรคการเมืองขวาจัดในยุโรป โดยที่ความเป็นอริระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การก่อตัวของพันธมิตรใหม่นี้เป็นไปได้

ระบบพันธมิตรใหม่นี้มีนัยสำคัญต่อการเมืองยุโรป นั่นคือ รัสเซียพยายามผลิตซ้ำเรื่องเล่าชุดใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การเมืองแบบอำนาจนิยมและนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของรัสเซีย และในเวลาเดียวกัน ก็อาศัยพลังทางสังคมฝ่ายขวาจัดในการสร้าง ‘อำนาจต่อรอง’ กับสหภาพยุโรป ในลักษณะที่บางคนอาจจะเรียกว่าเป็น ‘การแบ่งแยกและปกครอง’ เพื่อคาดหวังที่จะให้การดำเนินนโยบายร่วมของยุโรปแตกแยก ไม่มีเอกภาพ และปรับเปลี่ยนนโยบายจากศัตรูมาสู่การปรองดองกับรัสเซียอีกครั้ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save