มักสังเกตเห็นใครๆ แชร์กันผ่าน ‘ออนไลน์พิภพ’ ช่วงสามเดือนสุดท้ายปลายพุทธศักราช 2565 เกี่ยวกับวาระครบรอบ 100 ปีของการแปลงานวรรณกรรมเรื่อง ‘Romeo and Juliet’ ที่ประพันธ์โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) มหากวีชาวอังกฤษมาสู่ภาษาไทย ผมเองนั้นนอกจากจะมิยอมหลงเชื่อคล้อยตาม ก็ยังมองว่าน่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก
ที่คนในวงการหนังสือบ้านเราเหลียวหันมาสนใจงานเขียนของเชกสเปียร์อีกหน ก็คงเพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมปีกลายเพิ่งจะมีการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ‘แฮมเล็ต’ ซึ่ง ศวา เวฬุวิวัฒนา แปลมาจากบทละครโศกนาฏกรรมอันโดดเด่นของมหากวีคนดังกล่าว และถือว่านี่คือการแปล Hamlet มาเป็นภาษาไทยครั้งแรก ทั้งยังแว่วยินข่าวด้วยว่า ศวากำลังบรรจงแปลเรื่อง Romeo and Juliet มาสู่ภาษาไทยอีกสำนวนหนึ่ง นั่นทำให้นักอ่านหวนระลึกถึงผลงานของเชกสเปียร์เรื่องเดียวกันที่เป็นบทพระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อพุทธศักราช 2465 อันเป็นสำนวนที่ใครต่อใครเชื่อมั่นว่า นี่แหละคือการแปล Romeo and Juliet มาสู่ภาษาไทยและสายตาสังคมไทยครั้งแรกสุด ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง เคยมีผู้แปลวรรณกรรมเรื่องนี้มาก่อนในหลวงรัชกาลที่ 6
เหตุที่นักอ่านทั้งหลายจดจำว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นบุคคลแรกผู้แปล Romeo and Juliet น่าจะเพราะยึดตามที่พระองค์ทรงเขียนไว้ในคำนำของ ‘โรเมโอและจูเลียต’ โดยลงนาม ‘รามวชิราวุธ ปร’ ณ พระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 ดังปรากฏถ้อยความว่า
“เรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” ยังไม่เคยมีผู้ใดแปลเปนภาษาไทยเปนบทลครตามรูปเดิมของเชกส๎เปียร์เลย, เมื่อเปนเช่นนี้ ฃ้าพเจ้าก็ย่อมจะต้องรู้สึกอยู่ดีว่าได้ทนงทำการอันยากปานใด, เพราะการที่ทำอะไรที่ไม่มีใครได้เคยทำเปนการนำทางมาก่อนแล้วย่อมจะเปนการยากกว่าทำตามอย่างผู้อื่นเฃา. แต่อาศัยเหตุที่ได้ทราบว่านักเลงหนังสือ ได้มีความเมตตากล่าวแล้วว่า เรื่องลครของเชกส๎เปียร์ที่ฃ้าพเจ้าได้แปลไว้แล้วก่อนนี้สองเรื่องพอใช้ได้, ฃ้าพเจ้าจึ่งจับแปลเรื่องนี้อีก. แน่ทีเดียว ตัวฃ้าพเจ้าเองต้องเปนคนสุดท้ายที่จะหาญกล่าวว่าคำแปลนี้ถูกต้องหรือใกล้ฉบับเดิมมากที่สุด, แต่ฃ้าพเจ้ากล่าวได้ว่า ฃ้าพเจ้าได้ตั้งใจแปลให้ใกล้ฉบับเดิมมากที่สุดที่ภาษาและโวหารจะยอมให้แปลได้. อย่างไร ๆ ก็ดี, ถึงคำแปลนี้จะบกพร่องปานใด ก็คงจะยังดีกว่าที่จะไม่มีผู้พยายามแปลเสียเลย. เมื่อฃ้าพเจ้าได้แปลแล้วเช่นนี้, ผู้ใดเปนปริญญารอบรู้ในภาษาอังกฤษจริง ๆ แม้ได้อ่านคำแปลของฃ้าพเจ้าสอบกับฉบับภาษาอังกฤษ, ก็อาจที่จะแลเห็นได้ว่าแห่งใดบ้างยังบกพร่องอยู่, แล้วก็จะได้มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ศึกษาต่อไปฃ้างหน้า.
ในที่สุดฃ้าพเจ้าขอกล่าวไว้ว่า ในการประพนธ์คำกลอนภาษาไทยในเรื่องลครนี้ ฃ้าพเจ้าตั้งใจให้ใกล้สำนวนและโวหารเดิมของเชกส๎เปียร์ มากกว่าคำนึงถึงความไพเราะทางกาพย์ภาษาไทย, ฉนั้นถ้าท่านผู้ใดเปนจินตกวีในสยามภาษา, แต่มิได้รอบรู้ในภาษาอังกฤษโดยชำนิชำนาญพอที่จะอ่านภาษาอังกฤษเก่าอย่างที่ใช้ในหนังสือของเชกส๎เปียร์, ขอจงได้เมตตาอย่าแคะไค้ค่อนบทกลอนของฃ้าพเจ้า ก่อนที่ได้สอบสวนดูให้ทราบชัดว่าบทกลอนนั้น ๆ ใกล้หรือไกลกับความเดิมที่มีในบทลครของเชกส๎เปียร์ปานใด. ท่านผู้ใดที่ได้ตรวจสอบเทียบบทกลอนภาษาไทยของฃ้าพเจ้ากับบทภาษาอังกฤษเดิมของเชกส๎เปียร์แล้ว และกล่าวทักท้วงตรงที่ใด ๆ, ฃ้าพเจ้าจะยินดีรับคำทักท้วงเช่นนั้นด้วยความเคารพ, และขออภัยในส่วนความบกพร่องของฃ้าพเจ้าด้วย.”
หากนั่นมิได้หมายความว่า ในหลวงรัชกาลที่ 6 ไม่ทรงทราบถึงการเคยมีผู้แปล Romeo and Juliet มาเป็นภาษาไทยก่อนพระองค์ ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2459 ตอนทรงทดลองนำเอาบทละครของเชกสเปียร์มาแปล โดยเริ่มต้นจากเรื่อง The Merchant of Venice ที่ได้ถ่ายทอดมาเป็นพากย์ไทยในชื่อเพราะพริ้งอย่าง ‘เวนิสวานิช’ พระองค์ก็ทรงระบุชัดเจนว่าในเมืองไทยเคยมีคนแปลผลงานของเชกสเปียร์มาแล้ว แต่ยังแปลได้ไม่ตรงตามแบบต้นฉบับเดิมของมหากวี ดังถ้อยความตอนหนึ่งในคำนำของเวนิสวานิช
“เมื่อคำนึงดูว่า ในภาษายุโรปโดยมากมีคำแปลบทลครของเชกส๎เปียร์แล้ว, และในภาษาญี่ปุ่นก็มีแล้ว, ข้าพเจ้าก็ออกจะนึกละอายแก่ใจ ที่ในภาษาไทยเราไม่มีบ้างอย่างเขา. จริงอยู่ ข้าพเจ้าได้ทราบอยู่ว่า มีผู้ได้นิพนธ์เรื่องของเชกส๎เปียร์ขึ้นแล้ว ๓ ราย, คือพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรม หมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “โรเมโอและยูเลียต” เรื่อง ๑, กับได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “คอเมดี ออฟ เอร์เรอรส๎” (Comedy of Errors) ซึ่งทรงเรียกนามว่า .“หลงไหลได้ปลื้ม” อีกเรื่อง ๑, กับหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ได้แต่งเรื่อง “เวนิสวานิช” คำฉันท์อีกเรื่อง ๑. แต่ที่แต่งไว้แล้วทั้ง ๓ รายนี้ ไม่ตรงตามแบบเดิมของเชกส๎เปียร์สักรายเดียว; เพราะเรื่อง “โรเมโอ และ ยูเลียต” กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงไว้เปนอย่างนิทานร้อยแก้ว; เรื่อง “หลงไหลได้ปลื้ม” เปนคำพูดที่ไม่ได้แปลตรง, เปนแต่แต่ง “ตามเค้า”, และแปลงนามตัวลครเปนไทย; และเรื่อง “เวนิสวานิช” ของ หลวงธรรมาภิมณฑ์เปนคำฉันท์, ไม่ใช่เปนบทลคร.
ดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเรื่อง “เวนิสวานิช” มาแต่งเปนภาษาไทย, คงรูปให้เปนลครเจรจาโต้ตอบกันตามแบบของเชกส๎เปียร์เดิม, และถ้อยคำผูกเปนกลอนไทย เพื่อให้รูปคล้ายของเดิมที่สุดที่จะขยับขยายให้เปนไปได้.”
ผมยังตามสืบค้นไม่พบหลักฐานว่าจะเคยมีบุคคลใดเคยแปล Romeo and Juliet มาสู่พากย์ไทยก่อนกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้านายผู้ได้รับฉายา ‘บิดาแห่งละครร้อง’ อีกบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็แสดงว่าพระองค์นับเป็นบุคคลแรกสุดที่บุกเบิกแปลวรรณกรรมเรื่องนี้กระมัง

ควรกล่าวสมทบว่า กรมพระนราธิปฯ ได้นำเข้างานวรรณกรรมของต่างประเทศ โดยเฉพาะวรรณกรรมฝรั่งจำนวนมากมายมาสู่สายตาสังคมไทยนับแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการแปลมาแบบดัดแปลงหรือหยืบยืมพล็อตเรื่องมาแต่งขึ้นใหม่ เพื่อใช้งานในการจัดแสดงละครร้องหรือละครโอเปร่าเสียมากกว่า ผลงานอันลือเลื่องก็เฉกเช่นละครร้องสลับพูดเรื่อง ‘สาวเครือฟ้า’ ซึ่งพระองค์นำเค้าโครงมาจากเรื่อง Madama Butterfly หรือ Madame Butterfly ของนักเขียนบทละครชาวอิตาเลียนนาม จาโคโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) เป็นต้น ส่งผลให้งานวรรณกรรมฝรั่งที่กรมพระนราธิปฯ แปลมาจึงมีเนื้อหาไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงตามต้นฉบับเดิม
แท้จริง มีการแปล Romeo and Juliet มาสู่ภาษาไทยอีกสำนวนหนึ่งซึ่งถ่ายทอดในรูปแบบของบทร้อยกรอง หากมิค่อยเป็นที่รู้จักกว้างขวางสักเท่าใด ยิ่งยุคปัจจุบันเรียกว่าแทบจะไม่ค่อยมีใครได้อ่านเลยทีเดียว ผมเองสบโอกาสอ่านครั้งแรกโดยบังเอิญเมื่อช่วงพุทธศักราช 2558 มิหนำซ้ำ ตอนนั้นก็มิค่อยได้เอาใจใส่และเล็งเห็นความสลักสำคัญ
งานชิ้นนี้เป็นการแปลภายหลังจากสำนวนร้อยแก้วของกรมพระนราธิปฯ (และภายหลังในหลวงรัชกาลที่ 6 แปลเรื่อง เวนิสวานิช เมื่อพุทธศักราช 2459) ทว่าแปลขึ้นก่อนในหลวงรัชกาลที่ 6 จะแปลเป็นบทละครร้อยกรองเมื่อพุทธศักราช 2465 ผู้แปลคือ ‘รองอำมาตย์โท ขุนสุนทรภาษิต’ ซึ่งถ่ายทอดไว้ในชื่อ ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’ ลงพิมพ์เผยแพร่ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ติดต่อกันสามฉบับ ได้แก่ เล่ม 5 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 และตอนที่ 10 ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2464


ในหลวงรัชกาลที่ 6 จะทรงทราบถึงการมีอยู่ของ ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’ ด้วยหรือเปล่า ผมก็มิอาจคาดคะเน แต่ในปีนั้น พระองค์ทรงแปลบทละครสุขนาฏกรรมเรื่อง As You Like It ออกมาในชื่อ ‘ตามใจท่าน’
ขุนสุนทรภาษิต หรือ ถนอม เกยานนท์ เป็นคนหนุ่มที่สร้างสรรค์ผลงานโคลงฉันท์กาพย์กลอนเผยแพร่ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2450 เริ่มต้นได้ลงตีพิมพ์งานเขียนใน อุตริวิทยา ใช้นามปากกา ‘ทิดมุ่ย’ ต่อมาเมื่อทางการออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุลฉบับแรก ความที่เขาเป็นชาวริมคลองปากน้ำ ตำบลท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ จึงตัดสินใจเติมนามสกุลเพิ่มในนามปากกาเป็น ‘ทิดมุ่ย ปากน้ำ’
ถนอมมีฝีมือฉมังด้านการเขียนบทร้อยกรอง เคยแต่งโคลงกระทู้เข้าประกวดและลงตีพิมพ์ใน วิทยาจารย์ จนคว้ารางวัลชนะเลิศ เป็นที่ถูกใจเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ถนอมเรียนวิชาครูและรับราชการเป็นครู ช่วงปลายทศวรรษ 2450 เขารับตำแหน่งครูแผนกคุรุศึกษาประจำโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกาลต่อมา) เจริญก้าวหน้าจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรภาษิต แม้จะชื่นชอบเขียนโคลงฉันท์กาพย์กลอน แต่ท่านขุนเป็นคนมีหัวคิดสมัยใหม่และหมั่นศึกษางานวรรณกรรมต่างประเทศเนืองๆ ระหว่างปี 2461-2467 ท่านขุนเข้าเป็นครูสอนประจำโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ ก็ตอนอยู่ที่นี่เองได้สร้างผลงานเรื่อง ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’
ข้อน่าสะดุดตาคือ ผู้ที่แปลงานวรรณกรรมบทละครของเชกสเปียร์มาสู่ภาษาไทยก่อนหน้าในหลวงรัชกาลที่ 6 จะทรงพระราชนิพนธ์แปลนั้น ถ้าเป็นสามัญชน (แม้ต่อมาจะได้รับบรรดาศักดิ์) มักจะแปลถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของคำฉันท์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง The Merchant of Venice ที่ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) แปลมาในชื่อ ‘วินิศวานิชคำฉันท์’ และ Romeo and Juliet แปลมาในชื่อ ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’

ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ผู้สนใจงานวรรณกรรมของของเชกสเปียร์เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ในการแปลเรื่อง ‘เวนิสวานิช’ อย่างมาก ยกย่องว่าเป็น ‘เพชรยอดมงกุฎของการแปล’ เลย โดยเฉพาะการตั้งชื่อภาษาไทยที่ตรงความหมาย ทั้งยังเล่นคำเล่นเสียงอักษรได้สละสลวยฟังไพเราะเสนาะหู
ที่จริง หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ซึ่งแปลเรื่อง The Merchant of Venice ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 (น่าจะแปลก่อนพุทธศักราช 2453) ก็ถือว่าตั้งชื่อเรื่องโดยเล่นคำเล่นเสียงอักษรไว้อย่างมีชั้นเชิงคือ ‘วินิศวานิชคำฉันท์’ เพียงแต่การใช้คำและรูปแบบการประพันธ์อาจจะดูยากดูขรึมขลังเกินไป ครั้นล่วงผ่านมาอีกรัชสมัย เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงแปลเรื่องเดียวกันโดยตั้งชื่อเป็น ‘เวนิสวานิช’ และนำเสนอผ่านรูปแบบบทละครตรงตามต้นฉบับของเชกสเปียร์ จึงทำให้อ่านราบรื่นดูน่าตื่นตายิ่งกว่า

ผมใคร่ลองยกตัวอย่างมาเทียบเคียงให้คุณผู้อ่านพิจารณา แน่นอนครับ คนที่เคยอ่านเรื่องเวนิสวานิช ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงแปล ย่อมจะประทับใจฉากตอนที่นางปอร์เชีย ขวัญใจของบัสสานิโยปลอมตัวมาเป็นนักกฎหมายเนติบัณฑิตนามบัลตาซาร์ เพื่อช่วยแก้ต่างคดีความที่อันโตนิโยถูกฟ้องร้อง แล้วชาวยิวนามไชล็อกยืนยันจะเฉือนเนื้อของเขาแลกกับหนี้สินแทนเงินตราตามสัญญาที่ทำกันไว้ ครั้นไชล็อกถามนางปอร์เซียว่าจะบังคับตนอย่างไร เธอก็ตอบ
“อันว่าความกรุณาปราณี
จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”
คำกลอนนี้นับเป็นวรรคทองของในหลวงรัชกาลที่ 6 อันผู้อ่านตราตรึงจิตซาบซึ้งใจมาทุกยุคสมัย พระองค์ทรงแปลมาจากภาษาต้นฉบับคือ “ The quality of mercy is not strain’d, It droppeth as the gentle rain from heaven” ขณะฉากตอนเดียวกันที่ปรากฏใน ‘วินิศวานิชคำฉันท์’ นั้น หลวงธรรมาภิมณฑ์แปลสรุปรวบรัดมา มิได้ลงรายละเอียดคำพูดของตัวละครแบบบทละคร จึงเป็นดังนี้
๏ บัลทะสาฟังคำถามไช ล็อกแสร้งสาไถย
มายาไม่รับทรัพย์สิน
๏ อืดออดอิดเอื้อนเบือนผิน บ่ได้ยลยิน
จึ่งเยื้อนยุบลวาจา
๏ เงินให้ไป่อาจรับมา เพราะเกินเวลา
กำหนดประมาณนานกัน
๏ เราต้องการขอตามสัญ ญาเดิมต่อกัน
เชือดเนื้อหนักแปดตำลึง
ผมค่อนข้างคิดว่า บางที ผลงานเรื่อง ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’ อาจได้รับอิทธิพลมาจาก ‘วินิศวานิชคำฉันท์’ มามิใช่น้อยเช่นกัน
ขุนสุนทรภาษิต เริ่มเปิดเรื่อง ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’ ตามขนบการแต่งคำฉันท์แบบโบราณโดยมีบทไหว้พระรัตนตรัย ไหว้ทวยเทพ บูชาพระมหากษัตริย์ ระลึกถึงพระคุณบุพการีครูบาอาจารย์ ด้วยการแต่งเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ 11
๏ อัญขยมประนมน้อม กระพร้อมสุเบ็ญจางค์
เคารพพระไตรยางค์ รตะนาธิคุณไกรฯ
๏ นบเทพยะพรหมาน ณสถานสุราลัย
ล้วนทรงมหิทธิไช- ยะประสิทธิศักดิ์สรรฯ
๏ นบองค์พระรามา ธิบดีพระทรงธรรม์
จอมไทเถลิงถวัลย์ รฐะเสียมสราญการฯ
๏ นบบรรพะการี ปิตุมาตุอาจารย์
มีคุณกรุณมาน ชิวะจวบเจริญวัยฯ
๏ จักกล่าวนิทานภา- ษะยุโรปสแดงนัย
อ่านเล่นประเทิงใจ ขณะว่างธุราการฯ
๏ ต่างสนทนานำ บทะทำแถลงสาร
คำฉันท์ประพันธ์มาลย์ มธุรสวาทีฯ
ต่อจากนั้น จึงบอกเล่าเรื่องราวของสองตระกูลใหญ่แห่งเมืองเวโรนา คือตระกูลคาปุเล็ตและตระกูลมอนตาคิว ซึ่งไม่ถูกกันมีความเคืองแค้นและทะเลาะวิวาทกันมาช้านาน ดังตัวอย่างการใช้คำฉันท์ 16 (คล้ายๆ กาพย์ฉบัง 16 แต่เคร่งครัดคำครุ-ลหุ) บรรยายว่า
๏ ในเมืองวะโรนามี สองมหาเสรฐี
สมบูรณ์สมบัติโอฬารฯ
๏ สืบสกุลนับมาช้านาน ญาติมิตร์วงศ์วาร
แวดล้อมพร้อมหลากมากมายฯ
๏ หนึ่งนาม “กาปุเลต” ขยาย ยินชื่อลือชาย
หนึ่ง “มอนตาคู” ชูนามฯ
๏ ทั้งสองครองศฤงสารคาม มีสุขทุกยาม
จำเริญจำนงวงศ์สกุลฯ
๏ เสรฐีสองนี้มีมูล เหตุพิพาทพูล
พยาบาทอาฆาฏมาทกันฯ
๏ ต่างคิดเคืองแค้นคอยประจัน ด่าตีรีรัน
ทำร้ายหมายตอบนานาฯ
คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ชนวนทำให้เรื่อง Romeo and Juliet กลายเป็นวรรณกรรมโศกนาฏกรรมสลดใจ ก็เพราะเมื่อโรเมโอ คนหนุ่มแห่งตระกูลมอนตาคิวแอบเข้าไปร่วมงานเลี้ยงของตระกูลคาปุเล็ตแล้วได้พบกับหญิงสาวโฉมงามนามจูเลียต เพียงแค่สบตากันคนหนุ่มสาวก็ร่วงหล่นลงไปตกหลุมรัก ความรักครั้งนี้ย่อมมิแคล้วเผชิญอุปสรรค เพราะตระกูลของทั้งสองมีความบาดหมางมายาวนาน แต่จะมีอะไรเล่ามาขัดขวางความรักอันทวีความเข้มข้นรุนแรง คืนนั้น โรเมโอลักลอบเข้าไปบริเวณสวนในอาณาเขตคฤหาสน์ของตระกูลคาปุเล็ต ขณะเดียวกัน จูเลียตกำลังออกมาเพ้อรำพึงถึงโรเมโออยู่ริมระเบียงห้องนอนของเธอ แล้วหนุ่มสาวทั้งสองก็ได้พลอดพร่ำฝากถ้อยคำพันรักโต้ตอบกัน ฉากตอนนี้ย่อมประทับแนบแน่นในความรู้สึกและความทรงจำของนักอ่านผลงานของเชกสเปียร์ กระทั่งในเวลาต่อมา เมื่อมีการนำเรื่อง Romeo and Juliet มาสร้างเป็นละครเวทีและภาพยนตร์ก็เป็นที่ปลาบปลื้มของทั้งผู้รับชมละครและภาพยนตร์มิรู้วาย
ใน ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’ แสดงฉากในสวนของตระกูลคาปุเลตผ่านความเคลื่อนไหวของตัวละคร โรโม (ก็คือโรเมโอ) และยูเลียด (ก็คือจูเลียต) ไว้ชวนจับตา โดยเฉพาะตอนกล่าวสาบานรักที่ทั้งโรเมโอและจูเลียตยอมสละแม้ตระกูลของตนเอง
๏ โรโมสิท่านสกุละมอน- ตาคูคู่วิวาทา
หากรักสมัคนิยมะอา- ลยะแน่คำนึงไฉนฯ
๏ จงเปลี่ยนสกูลและกระนาม สละความระคายใจ
ไมตรีจะตรึงสุพิศมัย อภิรมยะสมสองฯ
๏ โรโมดรุณดำริหะนึก จะเสน่ห์จำนองปอง
ฤาลวงทำเล่หะกละตรอง ตริฉนี้จะแจ้งไฉนฯ
๏ ทันทีสำเนียงวจนะทัก อุระรักและอาลัย
โรโมจะเปลี่ยนสกุละไป กระนามะอื่นมีฯ
๏ เชิญแม่ยูเลียดจะตริตระหนัก ผิจะรักฤโฉมศรี
โรโมจะยอมนิยมะจี- ระสมัคสมานตามฯ
ผมจะขอยกฉากเดียวกันจากบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ‘โรเมโอและจูเลียต’ ของในหลวงรัชกาลที่ 6 มาเทียบเคียงให้คุณผู้อ่านสัมผัสอีกสำนวนหนึ่ง
จูเลียต. โอ้โรเมโอ! อ้า, เธอเปนโรเมโอใย ?
ตัดฃาดจากบิดา และแปลงนามเสียเปนไร;
หรือเธอยอมมิได้. ขอเพียงปฏิญญารัก,
แล้วฃ้าจะเลิกเปนคาปุเล็ตด้วยใจภักดิ์.
โรเมโอ. [ป้อง.] จะรอฟังนงลักษณ์, หรือเฉลยบัดนี้ดี ?
จูเลียต. นามเธอเท่านั้นหนอที่นับว่าเปนอรี;
เธอเปนตัวเธอนี่, มิใช่มอนตะคิวนา.
ใดเปนมอนตะคิว? ไม่ใช่หัดถ์หรือบาทา,
หรือแขน, หรือใบหน้า, หรืออวัยวะใด
ที่เปนของบุรุษ. เปนนามอื่นเถิดเปนไร!-
นามนั้นสำคัญไฉน ? ที่เราเรียกกุหลาบนั้น
แม้เรียกว่าอย่างอื่นก็หอมรื่นอยู่เหมือนกัน;
โรเมโอก็ฉันนั้น, แม้โรเมโอมิใช่นาม,
ก็คงจะยังพร้อมบริบูรณ์ด้วยสิ่งงาม
โดยไม่ต้องใช้นาม.-โรเมโอ, ทิ้งนามไกล.
และแทนนามที่ทิ้ง, ซึ่งมิใช่ส่วนกายไซร้,
รับฉันทั้งตัวไป.
โรเมโอ. ฉันขอรับตามวาที:
เรียกฉันแต่ว่ารัก, ฉันเปลี่ยนชื่อเปนไรมี,
ตั้งแต่เพลานี้ไม่เปนโรเมโอพาล.
จะเห็นเลยว่า การที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงแปลมาเป็นบทละครตามแบบต้นฉบับของเชกสเปียร์สามารถรักษารายละเอียดต่างๆ ของเนื้อหาไว้ค่อนข้างครบถ้วนและส่งทอดอรรถรสน่าดื่มด่ำยิ่งกว่า อีกทั้งพระองค์ทรงแปลมาโดยใช้ฉันทลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับของเดิมคือ ใช้กลอนเปล่าวรรคละ 10 คำ มีสัมผัสท้ายวรรคเป็นคู่ๆ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 ของวรรคถัดไป จึงอ่านแล้วรู้สึกว่าอวลกลิ่นอายงานวรรณกรรมแบบฝรั่งจริงๆ มิใช่การนำมาแปลแบบสรุปรวบรัดแล้วประพันธ์ขึ้นเป็นบทร้อยกรองฉันทลักษณ์เก่าแก่ของไทย ซึ่งบางทีก็ดูประดักประเดิดชอบกล
ในที่สุด โรเมโอกับจูเลียตลอบแต่งงานเป็นสามีภรรยากันอย่างลับๆต่อหน้าบาทหลวงลอเรนซ์ ตอนพิธีสมรสนี้ ขุนสุนทรภาษิต บรรยายด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19
๏ ครั้นถึงกาละมหาสุมงคละณะวัน-
จันทร์เข้าประชุมสรรพ์ พิธีฯ
๏ โรโมพายุพะนางยุเลียดก็จรลี
สู่โบสถ์วิวาห์ศรี สวัสดิ์ฯ
๏ ท่านลอเรนซะอำนวยสถาพรพิพัฒน์
แก่สองสถิตวัฒ- นะการฯ
อยู่มาวันหนึ่ง เมอร์คิวชิโอ เพื่อนรักของโรเมโอถูกญาติของจูเลียตฆ่าตายหลังทะเลาะวิวาทกัน โรเมโอโกรธหนักจนพลั้งมือฆ่าญาติของจูเลียตคนนั้นตายตกตามไป ผลก็คือโรเมโอได้รับคำตัดสินให้ถูกเนรเทศออกไปจากเมืองเวโรนาชั่วชีวิต ฝ่ายจูเลียตก็จะต้องเข้าพิธีแต่งงานกับปารีสคู่หมั้นคู่หมายซึ่งทางตระกูลคาปุเลตเห็นควรแม้หัวใจเธอมิปรารถนา หญิงสาวพยายามหาหนทางหลีกเลี่ยงการแต่งงาน เธอล่วงรู้เรื่องยาที่ทำให้สลบไสลเสมือนคนตายจากบาทหลวงลอเรนซ์ จูเลียตตัดสินใจดื่มยาขวดนั้น ท่านขุนให้รายละเอียดตอนนี้ด้วยคำฉันท์ 16
๏ บาทหลวงจึ่งหยิบขวดยา กินแล้วอาจสา-
มารถให้มึนซบสลบไปฯ
๏ ดุจผีที่ม้วยทันใด แต่ห่อนเปนไร
สองคืนจะฟื้นคืนชนม์ฯ
๏ คงพากันโศกกาหล นำศพจระดล
มาไว้ในกุฏิทันทีฯ
๏ กูจะส่งข่าวคดี โรโมสามี
ให้ลอบมาพาหนีไปฯ
๏ เองอย่าอาวรณ์ร้อนใจ เร่งกลับครรลัย
สู่เหย้าอย่าเศร้าโศกาฯ
๏ จงทำยินดีปรีดา ในการวิวาห์
อุบายจึงแนบแยบยลฯ
บาทหลวงลอเรนซ์รีบส่งม้าเร็วส่งสารถึงโรเมโอว่าทั้งหมดเป็นแผนการ แต่พอโรเมโอได้ข่าวว่าจูเลียตตายก็ครวญคร่ำและรีบเดินทางด่วนกลับมายังเมืองเวโรนา กลายเป็นว่าสวนทางกัน ดังปรากฏผ่านท่วงทำนองวสันตดิลกฉันท์ 14
๏ ข่าวโฉมยูเลียดมรณะลือ ก็ระบือขจรไป
ทราบทั่วประชานิกระใน ณะวิเทศแถลงถามฯ
๏ โรโมสดับยุบละสาร อุระลานวะวับวาม
แสนโศกวิโยคอดุระความ ทุขะร่ำพิไรครวญฯ
๏ โอ้โอ๋ยูเลียดวิลยะลัก- ษณะพักตระผ่องนวล
ถึงกาละม้วยมรณะควร กละหรือประการใดฯ
และ
๏ โฉมฉายมลายชิวะฉะนี้ ชีวะพี่จะอยู่ไย
ตายตามยุพาสมระไป ประโลกจะสุขสมฯ
พอโรเมโอมาเห็นร่างอันหลับใหลของจูเลียต ก็เข้าใจว่าหญิงสาวคนรักตายเสียแล้วจริงๆ ฝ่ายปารีสคู่หมั้นมาพบเห็นเข้าจึงท้าทายโรเมโอ จนทั้งสองต่อสู้ดวลดาบกันแล้วที่สุดปารีสพลาดท่าถูกฆ่าตาย โรเมโอโศกเศร้าแสนสาหัส จึงตัดสินใจดื่มยาพิษฆ่าตัวตายตามแม่สาวคนรัก
๏ ชักดาบปลาบจะมาฟัน โรโมป้องกัน
สองดาบสองจิ่มทิ่มแทงฯ
๏ เสียงดาบแสงวาบรับแรง ในกุฏิเปนแปลง
ครู่เดียวปารีสเสียทีฯ
๏ โรโมแทงซ้ำเร็วรี่ ถูกคอพอดี
ปารีสล้มพลันบรรลัยฯ
๏ โรโมครั้นว่ามีชัย ก็เข้าร่ำไร
กอดศพยูเลียดรำพรรณฯ
๏ เพรียกพร้องซร้องโศกแสนศัลย์ หยิบยาพิษอัน
ติดมากับตัวทันทีฯ
๏ จูบศพทบกายเร็วรี่ ว่าเรียมนี้มี
โทษฆ่าเขาตายหลายคนฯ
๏ ฆ่าใครก็ได้เหตุผล แต่ฆ่านฤมล
ห่อนหากเหตุให้นางตายฯ
๏ โทษเรียมเทียมถึงวางวาย ขอตายตามหมาย
พบแม่ในยมโลกสถานฯ
๏ แล้วกลืนยาพิษบนาน ฤทธิ์ยาซาบซ่าน
โรโมก็ม้วยมรณาฯ
ครู่เดียวจูเลียตพลันฟื้นคืนสติ แลเห็นโรเมโอหมดสิ้นลมหายใจก็ปะติดปะต่อเรื่องราวได้ทั้งหมดทั้งมวล เธอเปี่ยมล้นด้วยความอาดูรเสียใจจึงใช้มีดสั้นหรือกริชของโรเมโอแทงคอปลิดชีพตนเองอำลาโลกตามสามีไป ท่านขุนสุนทรภาษิตแสดงฉากนี้ด้วยกาพย์สุรางคนางค์ 28
๏ ดึกดื่นเดือนดาว เคลื่อนคล้อยพรอยพราว ถึงวารเวลา ยูเลียดสลบ สบส่างพิษยา ก็ฟื้นคืนมา รู้สมปฤาดีฯ
๏ รำลึกเหตุผล จำอาการตน ทำวายชีวี ทนทุกข์ทรมาน นานในกุฎี เพื่อคอยสามี จะมารับนางฯ
๏ ไม่เห็นผู้ใด ให้คิดสงสัย อนาถหวาดวาง เปล่าเปลี่ยวเสียวจิต เร่งคิดระคาง พอเหลือบแลพลาง พบโรโมตายฯ
๏ ผวาคว้ากอด ตลึงถอนทอด หวาดในใจหาย เห็นม้วยแน่จิต เร่งคิดวุ่นวาย อนาถมาทหมาย มาเปนฉันใดฯ
๏ บาทหลวงสัญญา นัดแนะให้มา ไยมาบรรลัย ไม่คอยรับเมีย เสียชีพเหตุไร กรรแสงสงสัย สอื้นรำพรรณฯ
๏ ฤาพ่อมารับ เห็นเมียสลบหลับ คิดว่าอาสัญ ไม่ฟื้นคืนกาย พ่อตายตามกัน โอ้เวรใดทัน ทำเหตุเวทนาฯ
๏ รักเมียตามตาย เมียรักจักวาย ตามพ่อมรณา บูชาความรัก สมัคเสน่หา ยิ่งพร่ำโศกา สิ้นสมปฤาดีฯ
๏ สร่างโศกสลดจิต พลางชักเอากฤช ที่ตัวสามี แขงใจจับแน่น แทงแล่นทันที ถูกคอพอดี ขาดใจทันใดฯ
ภายหลังความสูญเสีย ทั้งฝ่ายตระกูลมอนตาคิวและตระกูลคาปุเล็ตเห็นทายาทของพวกตนต้องมาสละชีวิตบูชาความรักก็ราวกับได้สติ จึงเลิกทะเลาะวิวาทหยุดเป็นอริต่อกันนับแต่นั้นมา
โรโมยูเลียดคำฉันท์ ปิดท้ายตอนจบเรื่องตามขนบคำฉันท์โบราณเช่นกัน ซึ่งจะต้องฝากนามผู้ประพันธ์และความคาดหวังต่อชิ้นงาน
๏ ยูเลียดคำฉันท์สรรสาร สิ้นบทพจน์มาน
สมมุติยุติข้อความฯ
๏ “ขุนสุนทรภาษิต” นาม เพียรพจน์พยายาม
จากเชกสเปียร์นิทานฯ
๏ เนื่อเรื่องเดิมสนิธพิสดาร ไพเราะสำนาน
สำเนาสำนวนยวนยินฯ
๏ จับใจให้อนาถหวาดถวิล ระเบียบระบิล
บรรเทิงบรรเทาเปล่าใจฯ
๏ ชาวชนนิยมแพร่ไป สรรเสริญทั่วใน
โลกล้วนควรโลมรมยาฯ
๏ จำลองลองเรียงรจนา ลอกเรื่องเอามา
แต่งทำคำฉันท์บรรจงฯ
๏ ฝึกหัดจัดคำจำนง บทะประสงค์
ส่วนพากย์ภาษาไทประพันธ์ฯ
๏ ไม่เพราะเหมาะเหมือนแบบบรรพ์ วัคถ้อยความอัน
อ่อนหัดไม่ชัดชำนาญฯ
๏ โปรดอภัยให้ทุกคำขาน ชั่วดีพจมาน
อย่าว่าจงไว้ไมตรีฯ
๏ สรวมสิ่งสุขเถิดประเสริฐศรี ข้าผู้หวังดี
แด่ท่านผู้อ่าน ตลอดเทอญ ๚ะ๛
ตามทัศนะของผม ที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงกล่าวว่า “เรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” ยังไม่เคยมีผู้ใดแปลเปนภาษาไทยเปนบทลครตามรูปเดิมของเชกส๎เปียร์เลย” นั้นย่อมถูกต้องแน่ เพราะพระองค์ถือเป็นบุคคลแรกที่แปลงานวรรณกรรมบทละครของเชกสเปียร์ออกมาในรูปแบบบทละครตามต้นฉบับอย่างเคร่งครัด แต่หากคนในวงการหนังสือบ้านเราจะนับเอาว่าการแปล Romeo and Juliet มาสู่ภาษาไทยเพิ่งจะครบรอบวาระ 100 ปีในพุทธศักราช 2565 ผมก็คงขออนุญาตไม่เห็นพ้อง เนื่องจากได้ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์แจ่มชัดถึงการเคยมีผู้แปลวรรณกรรมเรื่องนี้มาก่อนในหลวงรัชกาลที่ 6 แล้ว
ถัดต่อมาจากสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในสังคมไทยก็มีความตื่นตัวกับ Romeo and Juliet เรื่อยมา บ้างก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักคิดนักเขียนนำเอาไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์ของตน เช่น ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา นักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘ไม้เมืองเดิม’ ก็เขียนนวนิยายเรื่อง ‘แผลเก่า’ เมื่อปลายทศวรรษ 2470 โดยหยิบยืมพล็อตไปจากบทละครเรื่องนี้ ตัวละครอ้ายขวัญและอีเรียมจึงมีชะตาชีวิตคลับคล้ายคลับคลากับโรเมโอและจูเลียต หรือช่วงปีพุทธศักราช 2500 นิจ ทองโสภิต ได้แปล Romeo and Juliet ออกมาเป็นบทร้อยแก้วอีกครั้งในชื่อ ‘โรมิโอ-จูเลียต’ เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตำรวจโท หลวงวิทิตกลชัย (เนื่อง ทองโสภิต) ผู้เป็นบิดา และมีสำนวนร้อยแก้วเรื่อง ‘โรมิโอ-จูเลียต’ แปลโดย ป. อนุคระหานนท์ เมื่อปีพุทธศักราช 2514
ไม่เพียงเท่านั้น ในแวดวงหนังสือบ้านเรายังได้ปรากฏการแปลวรรณกรรมของเชกสเปียร์ชิ้นอื่นๆมาสู่ภาษาไทยจำนวนมาก เช่น ‘ราตรีที่สิบสอง (หรืออะไรก็ได้)’ ที่ รัตนาภรณ์ ไกรฤกษ์ ยูนิพันธุ์ แปลจาก The Twelfth Night ลงพิมพ์ติดต่อกันใน วารสารวัฒนาวิทยาลัย ช่วงปีพุทธศักราช 2500, ‘ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน’ ที่ ดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา แปลจาก A Midsummer Night’s Dream ช่วงปลายทศวรรษ 2500 และ ‘แมคเบธ’ ที่ นพมาส แววหงส์ แปลมาจาก The Tragedy of Macbeth ช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้น
Romeo and Juliet น่าจะเป็นผลงานวรรณกรรมของวิลเลียม เชกสเปียร์ มหากวีชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ช่วงคริสต์ศักราช 1564-1616 และครองชื่อเสียงเรืองโรจน์ในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งนักอ่านและนักชมภาพยนตร์ชาวไทยย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่สำหรับ ‘โรโมยูเลียดคำฉันท์’ ที่นำเสนอโดย ขุนสุนทรภาษิต นั้น แทบจะเป็นของแปลกในความรับรู้ของคนไทยยุคปัจจุบันนี้
ก็นั่นละ ผมจึงปรารถนาจะแนะนำให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้ลองทำความรู้จัก
เอกสารอ้างอิง
เชคสเปียร์, วิลเลียม. ตามใจท่าน. พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระ
นคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2508
เชคสเปียร์, วิลเลียม. ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน. แปลโดย ดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา. พระนคร:
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2511
เชคสเปียร์, วิลเลียม. แมคเบธ. แปลโดย นพมาส แววหงส์. กรุงเทพฯ:ศูนย์การแปล คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
เชคสเปียร์, วิลเลียม. ราตรีที่สิบสอง. แปลโดย รัตนาภรณ์ ไกรฤกษ์ ยูนิพันธุ์. ม.ป.ท.:ม.ป.พ., 2525
เชคสเปียร์, วิลเลียม. โรมิโอ-จูเลียต. แปลโดย นิจ ทองโสภิต. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพล
ตำรวจโท หลวงวิทิตกลชัย (เนื่อง ทองโสภิต) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
24 พฤศจิกายน 2500. พระนคร: โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์, 2500
เชคสเปียร์, วิลเลียม. โรมิโอ-จูเลียต. แปลโดย ป. อนุคระหานนท์. พระนคร: เกษมบรรณกิจ, 2514
เชคสเปียร์, วิลเลียม. เวนิสวาณิช. พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา
วชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.พิมพ์เผยแพร่ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงนำวรรณกรรมของวิลเลียม เชกสเปียร์ มาทรงแปล ครบ 100 ปี และครบ 400 ปี มรณกาล
วิลเลียม เชกสเปียร์ พุทธศักราช 2559. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์, ธนาคารออมสิน, 2558.
เชคสเปียร์, วิลเลียม. แฮมเล็ต. แปลโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา. กรุงเทพฯ: เม่นวรรณกรรม, 2565
ไชยันต์ รัชชกูล. น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก. กรุงเทพฯ: สมมติ,
2564
ธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก), หลวง. วินิศวานิชคำฉันท์. แจกในการพระกฐินพระราชทาน พระเจ้าบรม
วงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช ณ วัดสัมพันธวงศ์. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2470
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม. พิมพ์คร้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2518
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. โรเมโอและจูเลียต ของวิลเลียมส์ เชคส์เปียร์ สมเด็จพระ
รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงแปลและประพนธ์
เป็นภาษาไทย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระวรชายาในรัชกาลที่ 6 ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2
พฤศจิกายน พุทธศักราช 2519. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทเขษม, 2519.
สุนทรภาษิต, รองอำมาตยโท ขุน. “โรโมยูเลียดคำฉันท์.” เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์. เล่ม 5 ตอนที่
8 (สิงหาคม 2464). หน้า 804-817
สุนทรภาษิต, รองอำมาตยโท ขุน. “โรโมยูเลียดคำฉันท์.” เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์. เล่ม 5 ตอนที่
9 (กันยายน 2464). หน้า 930-942
สุนทรภาษิต, รองอำมาตยโท ขุน. “โรโมยูเลียดคำฉันท์.” เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์. เล่ม 5 ตอนที่
10 (ตุลาคม 2464). หน้า 1071-1083
เสนอสุนทรภาษิต. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) ณ เมรุวัด
มกุฏกษัตริยาราม วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2496. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2496