fbpx

เมื่อวิลเลียม เชคสเปียร์ ฉีดวัคซีนโควิด

วัคซีน mRNA ที่โด่งดังที่สุด น่าจะเป็นวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech)

แม้โรงงานผลิตวัคซีนของไฟเซอร์จะอยู่ในแมสซาชูเสตส์ แต่คนแรกในโลกที่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กลับเป็นคุณยายวัย 91 ปี ชาวอังกฤษ ที่มีชื่อว่า มาร์กาเร็ต คีแนน (Margaret Keenan)

เธอได้รับวัคซีนไฟเซอร์ก่อนจะถึงวันเกิดไม่กี่วัน และบอกว่านี่เป็น ‘ของขวัญวันเกิด’ ที่ดีที่สุดเลย

วัคซีนไฟเซอร์ชุดแรกที่ได้รับการฉีดมีด้วยกัน 800,000 โดส และในอังกฤษนั้นมีการ ‘บริหารจัดการ’ การฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ด้วยการให้ผู้อาวุโสที่ผ่านโลก ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน และเป็นกลุ่มที่ ‘เสี่ยง’ ที่สุด ได้รับวัคซีนก่อนคนวัยอื่นๆ

ถ้าการบริหารจัดการไม่ดีตั้งแต่ต้นทาง เราก็จะเห็นเลยว่าการจัดการฉีดวัคซีนมีลักษณะมั่ว ลักปิดลักเปิด ผลุบๆ โผล่ๆ มีบ้างไม่มีบ้าง และต่อให้คนทำงานมีความพร้อมมากเท่าไหร่ เมื่อไม่มีวัคซีน ก็ไม่สามารถจัดการให้เกิดการฉีดวัคซีนที่แพร่หลายทั่วไปได้

แต่นั่นไม่ใช่กับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร

ในวันฉีดวัคซีนวันแรก รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ แมตต์ แฮนค็อก (Matt Hancock) บอกว่านี่เป็นวัน V-Day หรือวันแห่งชัยชนะ แต่เขาไม่ได้ ‘ชูสองนิ้ว’ ขึ้นมาให้สื่อถ่ายรูป แต่กลับให้สัมภาษณ์ว่า วัน V-Day นี้ คือวันที่อุทิศให้กับความอุตสาหะทางวิทยาศาสตร์ (scientific endeavour) ปัญญาของมนุษย์ รวมถึงการทำงานหนักของคนมากมาย

8 ธันวาคม 2020 จึงเป็นวันที่ควรค่าแก่การรำลึกจดจำสำหรับชาวอังกฤษอย่างยิ่ง เพราะมันคือหมุดหมายการต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม คนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อย่างมาร์กาเร็ต คีแนน กลับไม่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากเท่าคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนที่สอง

เพราะคนคนนั้นคือ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)

ใช่แล้ว เขาคือเชคสเปียร์จริงๆ แต่ผู้คนเรียกเขาว่า ‘บิล’ (ซึ่งก็มาจากชื่อวิลเลียมนั่นแหละ) คนพูดถึงเขากันมาก ไม่ใช่เพราะเขาเป็นผู้ชายคนแรกที่ได้ฉีดวัคซีน แต่เพราะชื่อของเขานั่นเอง

ในวันฉีดวัคซีน เชคสเปียร์มีอายุอ่อนกว่าคีแนนสิบปี เขาอายุ ‘แค่’ 81 ปีเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม เชคสเปียร์ไม่ได้เป็นกวี เขาไม่ได้เป็นนักเขียน ไม่เคยเขียนบทละครใดๆ ทว่าเขาเกิดที่วอริกเชอร์ (Worwickshire) ซึ่งอยู่ในแคว้นเดียวกันกับที่มีเมืองสแตรทฟอร์-อพอน-เอวอน (Stratford-upon-Avon) อันเป็นบ้านเกิดของเชคสเปียร์ผู้เป็นนักเขียนและกวีอยู่ด้วย จึงเรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์กันระดับหนึ่ง

ความที่เชคสเปียร์สูงวัยแล้ว สุขภาพร่างกายของเขาจึงไม่ค่อยแข็งแรงนัก เขาจึงเป็นหนึ่งในคนไข้ในที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ โดยในวันฉีดวัคซีนนั้น เขาก็อยู่ในวอร์ดผู้สูงวัย (Fraility Ward) ของโรงพยาบาลนั่นเอง

แม้ไม่ได้เป็นกวี แต่เชคสเปียร์เคยเป็นช่างภาพที่มีฝีมือดีมาก่อน เขายังรักเสียงเพลงและดนตรีด้วย โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ซ เขาจึงนำสองเรื่องนี้มาผนวกกัน ด้วยการตระเวนไปตามอีเวนต์ดนตรีเพื่อถ่ายภาพนักดนตรีทั้งหลาย

เมื่อสูงวัยขึ้น เชคสเปียร์อุทิศตนให้กับชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง ทั้งยังทำงานอาสาสมัครให้กับโรงเรียนและร่วมเป็นสมาชิกสภาของโบสถ์ท้องถิ่นนานถึงสามสิบปีอีกด้วย

ในวันฉีดวัคซีน สื่อมารอทำข่าวเขามากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วสามารถเขียนข่าวถึงเขาได้เพียงชื่อ เพราะความที่สุขภาพของเขาไม่ค่อยดีนัก จึงให้สัมภาษณ์อะไรไม่ได้มาก แต่สื่อก็พยายามเล่นข่าวที่เกี่ยวข้องกับชื่ออันพ้องพานของเขา

สื่ออย่างนิวยอร์กไทม์ส พาดหัวว่า “Taming of the flu: First man to get COVID shot in UK is named William Shakespeare” และบรรยายถึงเรื่องน่าตื่นเต้น (ที่อาจฟังดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่) ว่าโรงพยายาลที่เชคสเปียร์ฉีดวัคซีนนั้น ตั้งอยู่ห่างจาก ‘บ้านเกิด’ ของเชคสเปียร์ (ผู้เป็นกวี) ไม่ถึง 20 ไมล์เท่านั้นเอง

ส่วนสื่ออย่าง BBC ก็เขียนข่าวโดยนำคำพูดของเชคสเปียร์ (ผู้เป็นกวี) มาใช้ประกอบ เช่นบอกว่าเหตุการณ์ฉีดวัคซีนในวันนั้น “All’s well that ends well” หรือบรรยายว่าเหตุการณ์ทั้งหมด “Much ado about nothing” ซึ่งเป็นคำพูดโด่งดังจากละครของเชคสเปียร์ แต่เนื้อหาข่าวก็ออกมาไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก

และไม่นานนัก ผู้คนก็ลืมเลือนการฉีดวัคซีนของวิลเลียม เชคสเปียร์ ไปจนหมดสิ้น

แต่เมื่อผ่านมาอีกราวครึ่งปี คือในเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา ชื่อของวิลเลียมหรือ ‘บิล’ เชคสเปียร์ ก็ปรากฏบนหน้าสื่ออีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้ไม่ใช่ข่าวดี ไม่ใช่เรื่องที่ “All’s well that ends well” เหมือนคราวแรก

นั่นเพราะเชคสเปียร์เสียชีวิต

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า เชคสเปียร์เสียชีวิตในโรงพยายาลเดียวกันกับที่เขาเข้ารับวัคซีน โรงพยาบาลที่อยู่ห่างจากสถานที่เกิดของเชคสเปียร์ (ผู้เป็นกวี) ไม่ถึง 20 ไมล์นั่นเอง

ในช่วงแรก มีข่าวแพร่สะพัดในเชิงตั้งคำถามว่า การเสียชีวิตของเชคสเปียร์เกี่ยวข้องอะไรกับการฉีดวัคซีนหรือเปล่า แต่ต่อมาหลายสื่อก็รายงานว่าไม่ใช่ เขาเสียชีวิตเพราะอาการเส้นเลือดในสมอง ซึ่งเป็นไปตามวัยและตามธรรมชาติต่างหาก

ที่จริงแล้ว ในวันที่เชคสเปียร์ฉีดวัคซีน เขาเคยตั้งคำถามเอาไว้ประโยคหนึ่ง มันเป็นประโยคสั้นๆ ที่อาจแสดงถึงความเข้าใจของผู้อาวุโสที่มีต่อความเป็นไปอันโกลาหลของโลกก็ได้ – นี่คือความเป็นไปที่แม้แต่ผู้อาวุโสอย่างเชคสเปียร์ก็อาจไม่เคยพบพาน         

เขาถามว่า – “It could make a difference to our lives from now on, couldn’t it?”

นับแต่นี้ไป – วัคซีนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแตกต่างให้กับชีวิตมนุษย์ใช่ไหม?

นี่คือคำถามที่ฟังดูเล็กจ้อย เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมันคือการ ‘ตระหนักรู้’ ใน ‘ความสำคัญ’ ของวัคซีน แม้ว่าจะเป็นความตระหนักรู้ของคนชราผู้หนึ่ง คนที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องข้องเกี่ยวกับกิจการในโลกอีกแล้วก็ได้ แต่กระนั้น เขาก็ยังหวัง ว่าสิ่งเล็กๆ ที่เขามีส่วนร่วมกระทำด้วยนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้กับโลก

ให้กับมนุษย์ทุกคน

ภรรยาวัย 53 ปีของเชคสเปียร์ ให้สัมภาษณ์หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วว่า เชคสเปียร์รู้สึกขอบคุณอย่างมาก ที่ได้รับ ‘โอกาส’ ให้เป็นหนึ่งในมนุษย์คนแรกของโลกที่จะได้รับวัคซีน

สำหรับเชคสเปียร์ นี่อาจเป็นเรื่องยิ่งใหญ่พอๆ กับที่นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน เหยียบดวงจันทร์ก็ได้ แน่นอน คีแนนย่อมคืออาร์มสตรอง และเขาคืออัลดริน

“นี่เป็นเรื่องที่เขาภาคภูมิใจใหญ่หลวงมาก” จอย เชคสเปียร์ ภรรยาของเขาเล่า เธอบอกว่าหลังฉีดวัคซีนแล้ว สิ่งที่เขาชอบทำก็คือการดูภาพข่าวต่างๆ ไม่ใช่ข่าวเกี่ยวกับตัวของเขาเอง แต่คือข่าวเกี่ยวกับ ‘วัคซีน’ ว่ามันได้ส่งผลในทางบวกให้กับมนุษยชาติมากแค่ไหน และสิ่งเล็กๆ ที่เขามีส่วนร่วมด้วยเป็นคนแรกๆ นั้น มันเกี่ยวพันกับการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์มากมายเพียงใด

เธอบอกด้วยว่า เขามักจะพูดคุยกับคนอื่นๆ เสมอ รวมทั้งให้กำลังใจและปลุกเร้าให้คนอื่นๆ ไปฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

เพื่อนของเชคสเปียร์คนหนึ่ง คือเจย์น อินเนส (Jayne Innes) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเมืองของโคเวนทรี บอกว่าสิ่งดีที่สุดที่เราจะมอบให้กับบิล (หรือเชคสเปียร์) ได้ – ก็คือการไปฉีดวัคซีน

มันคือน้ำใสใจจริงในอันที่จะมอบสิ่งดีงามให้กับมนุษยชาติ ในสภาวะที่โลกกำลังพบพานเรื่องทุกข์ยากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมกัน

เชคสเปียร์จากเราไป โดยคงไม่มีวันคาดคิดได้หรอกว่าจะมีใครที่ไหนฉวยใช้วัคซีนเพื่อการค้ากำไร คอร์รัปชั่น หรือใช้เพื่อสร้างชื่อเสียงและบุญคุณจนมีคนมากมายที่ต้องตาย

เพราะนั่นคือการกระทำที่ต่ำทรามเกินไปจริงๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save