fbpx

การเรียนซ้ำไม่ใช่คำตอบของการศึกษาที่สูญหายในยุค COVID-19

สถานการณ์โรคระบาดสร้างความสามารถในการปรับตัวให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน ภาพของเด็กหลายคนหันมาเรียนผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นภาพที่เห็นได้จนชินตา สำหรับเด็กเล็ก แม้จะมีบางโรงเรียนในหลายประเทศออกแบบหลักสูตรลูกผสม ยืดหยุ่นให้เด็กเข้ามาเรียนกับคุณครูในโรงเรียนเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาแบบตัวต่อตัวและพัฒนาการเด็กปฐมวัย แต่ก็ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยมีครูและครอบครัวพยายามสนับสนุน ติดตามผลลัพธ์ทางการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด

จริงอยู่ที่การศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพยายามดำเนินไปด้วยความรัดกุมรอบคอบ แต่ต่อให้จัดการรัดกุมอย่างไร เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการที่โควิด-19 ปิดประตูโรงเรียนยาวนานหลายเดือนส่งผลกระทบต่อชีวิต พัฒนาการ ทักษะการเข้าสังคมของเด็กๆ พร้อมทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มองไม่เห็น

ที่สำคัญที่สุด คือการปิดโรงเรียนเท่ากับปิดโอกาสทางการศึกษาของเด็กหลายคน โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่ขาดทุนทรัพย์เข้าถึงการศึกษารูปแบบออนไลน์ ทรัพยากรทางการศึกษาไม่เพียงพอ รวมถึงขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียนต่อเอง

เดิมทีเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ประสบปัญหาเรื้อรังเรื่องโอกาสทางการศึกษาอยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 ช่องว่างทางการศึกษาจึงยิ่งถ่างออกไปอีก ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กลดน้อยถอยลงมากขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในทางออกยอดนิยมที่หลายประเทศพยายามผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการขาดเรียนและเติมเต็มความสามารถด้านการเรียนรู้ คือการเรียนชดเชยปีการศึกษาที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ฟังเผินๆ อาจเป็นวิธีแก้ไขที่ตรงจุด แต่การศึกษาจาก OECD กลับระบุว่าการเรียนซ้ำปีการศึกษาเพื่อทดแทนคาบเรียนที่หายไป ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาหรือทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เพราะนักเรียนในครอบครัวฐานะดี มีทางเลือกและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ทางเลือกดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ราว 25,000-35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนักเรียนหนึ่งคนหากพิจารณารวมถึงภาษีที่หายไป เพราะเข้าตลาดแรงงานช้าลง ดังนั้นการเลือกลงทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มนักเรียนที่ประสบปัญหาเข้าถึงการศึกษาในภาวะวิกฤต เพราะขาดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเรียนซ้ำทุกคน และ ท่ามกลางนักเรียนจำนวนมาก เราควรจัดลำดับความสำคัญให้แก่กลุ่มเด็กเล็กและนักเรียนกลุ่มเปราะบางก่อน โดยพยายามออกแบบการศึกษาแบบตัวต่อตัวให้แก่พวกเขา เพราะการจัดบริบททางสังคม บรรยากาศในการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำคัญต่อเด็กเหล่านี้ยิ่งกว่าการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือดิจิทัลเสียอีก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาจาก OECD พบว่าหลายประเทศพยายามปรับนโยบายเพื่อเข้าไปเยียวยานักเรียนกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษแล้ว ข้อมูลจาก Special Survey รายงานว่า 86% ของประเทศทั่วโลกบังคับใช้นโยบายบรรเทาความเหลื่อมล้ำในระดับประถมศึกษา 75% ใช้ในระดับมัธยมต้น และอีก 73% ใช้ในระดับมัธยมปลาย ขณะเดียวกัน ประเทศอีกกว่า 60% สร้างมาตรการเจาะจงเด็กที่ขาดโอกาสทางศึกษา และมี 40% ที่มีมาตรการช่วยเหลือ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ชาติพันธุ์ หรือชนพื้นเมืองโดยเฉพาะ

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่บังคับให้ปิดโรงเรียนและใช้การเรียนการสอนแบบลูกผสม การเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวในปีการศึกษาหนึ่งย่อมลดลงตามธรรรมชาติ หลายโรงเรียนจึงพยายามจัดสรรช่วงเวลาเรียนเสริมให้กับนักเรียนนอกเหนือไปชั่วโมงเรียนปกติ เช่น ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และเนเธอแลนด์เพิ่มตารางเรียนในช่วงวันหยุด แต่ในบางประเทศ เช่น สโลวีเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ยังคงเพิ่มคาบเรียนในวันที่มีการเรียนการสอนปกติ

ความท้าทายของการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องอาศัยการตรวจสอบทบทวน เพราะเมื่อคาบเรียนลดลงในช่วงโควิด-19 โรงเรียนจึงควรโฟกัสไปที่เนื้อหาใหม่มากกว่าการทบทวนบทเรียน และค้นหากลยุทธ์ทางการสอนใหม่ๆ สำหรับการศึกษาทางไกล เพื่อให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจในการเรียนและมีพัฒนาการด้านทักษะทางสังคมควบคู่กันไปด้วย

ในกรณีนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน จึงไม่ใช่แค่นักเรียนที่เสี่ยงต่อการเรียนซ้ำปีการศึกษาและนักเรียนกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ยังมีโรงเรียน ครู นักการศึกษา และครอบครัวซึ่งต้องต่อสู้กับภาระการจัดการ เปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาที่ดีด้วยเช่นกัน หลายประเทศจึงพยายามเชื่อมร้อยรอยต่อระหว่างโรงเรียน ครอบครัว นักเรียน ไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 

ตัวแปรสำคัญในสมการเชื่อมร้อยและประคับประคองระบบการศึกษาให้เคลื่อนต่อไปได้อย่างติดขัดน้อยที่สุด คือหน่วยงานในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นหน้าด่าน มีบทบาทด้านการปรับกฎเกณฑ์ความปลอดภัยและความมั่นคงทางสุขภาวะให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ มีอำนาจในการตัดสินใจว่าการเปิด-ปิด โรงเรียนสำคัญอย่างไร ควรปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างยาวนานแค่ไหน โดยต้องทำงานอย่างโปร่งใสและสื่อสารชัดเจนกับคนในพื้นที่

กล่าวได้ว่าภายใต้สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ แม้เราจะเห็นความมืดมนทอดยาวทาบทับสภาพเศรษฐกิจทั้งระดับบุคคลและระดับชาติ ผลกระทบจากภาวะโรคระบาดส่งผลให้เกิดมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงิน (financial austerity) เพิ่มขึ้นเพราะต้องจัดการต้นทุนด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่เราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการลงทุนเพื่ออนาคตทางการศึกษาของนักเรียน เพราะในระยะยาว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพอาจกลายเป็นแรงงานที่มีศักยภาพการทำงานต่ำ มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้น้อยลง ซึ่งจะเป็นปัญหารุนแรงถาวรต่อสภาพเศรษฐกิจในอนาคต หากไม่ยับยั้งและช่วยเหลืออนาคตของชาติเสียตั้งแต่วันนี้



ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save