fbpx

เสียงจากแฟนคลับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ คนหนึ่ง ในฐานะ ‘เงาแค้น’ ของประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ขอส่งความรักให้แก่แฟนๆ ที่ประเทศไทยนะคะ ฉันเสียใจมากจริงๆ ที่คอนเสิร์ตต้องถูกยกเลิกไปเช่นนี้”

27 พฤษภาคม 2014 เทย์เลอร์ สวิฟต์ ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าคอนเสิร์ต The Red Tour ของเธอซึ่งควรจะเกิดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานีในวันที่ 9 มิถุนายนนั้น จำเป็นต้องยกเลิกกระทันหันอันเนื่องมาจากความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อก่อนหน้านั้นเพียงห้าวัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ไสรถถังออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความยินดีของคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าในที่สุดแล้ว ‘คนดี’ ก็เข้ามาทำให้การเมืองอัน ‘วุ่นวาย’ นั้นก็สงบลงได้เสียที (อ๋อเหรอ)

นอกเหนือจากความพินาศย่อยยับในแง่การเมืองและชีวิตผู้คนซึ่งกินเวลาต่อมาอีกหลายปี หนึ่งในสิ่งที่เป็นตราบาปครั้งนั้นคือการที่สวิฟต์ต้องประกาศยกเลิกการจัดแสดงคอนเสิร์ตที่ตั้งใจจะมาจัดที่ไทยเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้น เธอไม่หวนกลับมาที่นี่อีกเลย 

ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของสวิฟต์ นับตั้งแต่ Fearless Tour เรื่อยมาจนถึงทัวร์ครั้งล่าสุดคือ The Eras Tour เธอขึ้นแสดงไปกว่าห้าร้อยครั้งและไม่เคยมีสักครั้งที่จะยกเลิกคอนเสิร์ต -แน่นอนว่าหากไม่นับการระบาดใหญ่ในปี 2020 ที่ทำให้ศิลปินทั้งโลกต้องระงับการแสดงลง- ชนิดว่าเคยขึ้นแสดงกลางพายุฝนระดับที่เธอต้องวิดน้ำออกจากเปียโนก่อนแสดงมาแล้ว รอยด่างพร้อยเดียวในอาชีพการงานจนทำให้เธอ ‘คลีนชีต’ ไม่ได้ คือการต้องยกเลิกคอนเสิร์ตอันเนื่องมาจากเหตุรัฐประหารในไทยนี่เอง

ในฐานะคนที่ตื่นเช้าไปเข้าคิวซื้อบัตร -ซึ่งขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว- จนได้บัตรราคา 5,500 บาทมานอนกอดแค่ไม่กี่เดือน จึงบาดเลือดแค้นการกระทำของประยุทธ์รวมทั้งกองทัพ กองเชียร์ทั้งหลายนับตั้งแต่เวลา 16:30 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 เป็นต้นมา ยังไม่นับรวมอีกหลายคนที่ทุ่มทุกสรรพกำลังเพื่อให้ได้บัตรคอนเสิร์ตมาครอง รวมถึงการกินไอศกรีมเพื่อส่งฝาชิงโชคจนค่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าสติปัญญาของคณะรัฐประหาร การล้มกระดานทางการเมืองเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้และควรค่าแก่การแค้นฝังหุ่นมานับแต่นั้น

และล่าสุด สวิฟต์ประกาศทัวร์ที่ทวีปเอเชีย จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยเว็บไซต์ทางการของสิงคโปร์ประกาศว่า The Eras Tour ที่สิงคโปร์เป็นทัวร์แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนั่นเท่ากับว่า สิงคโปร์คือสมรภูมิขนาดย่อมของแฟนเพลงในภูมิภาคนี้ในการจะแย่งชิงบัตรเข้าคอนเสิร์ตซึ่งจัดขึ้นทั้งหมดหกวัน (จากเดิมมีสามวัน แล้วจึงประกาศเพิ่มรอบภายหลัง) 

นึกภาพสวิฟต์ช่วงที่เธอกำลังเปลี่ยนผ่านจากสาวคันทรี่ในอัลบั้ม RED (2012) ที่ตอนนั้นการจะได้บัตรมาก็แทบแลกวิญญาณ -และผู้เขียนก็เชื่อเป็นการส่วนตัวว่าใช้ ‘แต้มบุญ’ หมดไปกับบัตรราคา 5,500 ครั้งนั้นไปแล้ว- การมาถึงของ The Eras Tour และตัวเธอในฐานะป๊อปสตาร์ที่ดังที่สุดคนหนึ่งของโลกครั้งนี้ การแย่งชิงบัตรคงสูงลิ่วกว่าครั้งก่อนอย่างเทียบไม่ติด 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจคือ ดูเหมือนว่าสิงคโปร์ผลักดันตัวเองให้กลายเป็น ‘concert hub’ แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะเห็นได้จากภาครัฐที่พยายามดึงศิลปินอันดับต้นๆ ของโลกให้มาจัดแสดงคอนเสิร์ตในประเทศตัวเอง และสวิฟต์คือหนึ่งในนั้น การท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานรัฐ เป็นผู้สนับสนุนการจัดคอนเสิร์ต The Eras Tour ในสิงคโปร์ เช่นเดียวกันกับคอนเสิร์ตของ Coldplay วงดนตรีสัญชาติอังกฤษที่เพิ่งประกาศจะแสดงคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ทั้งสิ้นหกรอบด้วยกัน 

สวิฟต์จะขึ้นแสดงที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Stadium) ซึ่งจุดได้มากที่สุดถึง 55,000 ที่นั่ง หลายคนประมาณการกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ เดินทางมาเพื่อดูคอนเสิร์ตของสวิฟต์ไม่ต่ำกว่าสองแสนคน ตัวเลขนี้ย่อมสะท้อนรายได้มหาศาลที่มาพร้อมที่กินที่พักของเหล่านักเดินทาง บทความจากเว็บไซต์ The Straits Times -เว็บไซต์สื่อสัญชาติสิงคโปร์- สัมภาษณ์ชายชาวมาเลเซียวัย 42 ปีที่เคยเดินทางจากบ้านเกิดมาสิงคโปร์เพื่อดูคอนเสิร์ตวง Foo Fighters และ U2 เขาใช้จ่ายเงินอยู่ที่ราวๆ 22,600 บาทถึง 37,680 บาทในแต่ละทริป อโกด้า (Agoda) เว็บไซต์สำรองที่พักออนไลน์พบว่าหลัง Coldplay ประกาศขึ้นแสดงที่สิงคโปร์ในปี 2024 นี้ ยอดการค้นหาที่พักในสิงคโปร์ก็เพิ่มมากขึ้นถึง 8.7 เท่า 

โปสเตอร์ The Red Tour (ที่มาภาพ)

“ดนตรีนี่แหละเป็นแรงจูงใจชั้นดี และเป็นที่รู้กันดีว่าแฟนเพลงผู้ทุ่มเทพร้อมเดินทางไกลแสนไกลเพื่อมาดูการแสดงจากศิลปินที่พวกเขาโปรดปราน” เอ็นริก คาซาลส์ รองประธานอโกด้าสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว” และตัวเลขการจองห้องพักที่สูงขึ้นเช่นนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงแรงดึงดูดมหาศาลของงานแสดงดนตรี อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แฟนเพลงเหล่านี้ตัดสินใจออกเดินทางมา”

แอชลินน์ หลู ผู้อำนวยการด้านพัฒนาการท่องเที่ยวและความบันเทิงของการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ บอกว่ารัฐบาลเองก็ทำงานอย่างหนักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคลื่นผู้คนมหาศาลที่จะเดินทางมาดูคอนเสิร์ตนับจากนี้ไปจนถึงปีหน้า ด้วยการเสริมสร้างความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะจากแหล่งที่พักไปยังสนามกีฬา รวมทั้งสถานที่พักและบริการเสริมต่างๆ “สิงคโปร์ได้เปรียบในแง่ภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรายังมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพียบพร้อม เชื่อมโยงกับท้องถิ่น และมีวัฒนธรรมอันแสนมีชีวิตชีวา ตลอดจนประวัติการจัดงานใหญ่ๆ หลายต่อหลายครั้ง เราจึงเป็นเป้าหมายในอุดมคติของการจัดงานใดๆ” เธอบอก 

มารีน่าเบย์แซนด์ส (Marina Bay Sands -MBS) -รีสอร์ตครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์- ผู้ให้การสนับสนุนหลักแก่คอนเสิร์ตของสวิฟต์ ประกาศว่าพร้อมเปิดตัวแพ็กเกจท่องเที่ยวในสโลแกน “ครั้งหนึ่งของชีวิต กับการได้ชมคอนเสิร์ตพร้อมประสบการณ์ล้ำค่า (hospitality) ที่หาที่ไหนไม่ได้” โดยชั่วระยะสองปีที่ผ่านมา มารีน่าเบย์แซนด์สตะลุยเดินหน้ากลยุทธ์ด้านอุตสาหกรรมบันเทิงเต็มตัว อันจะเห็นได้จากโปรเจ็กต์ Sands Live concert ที่เชิญศิลปินชื่อดังทั้งจีนและเกาหลีใต้มาเปิดคอนเสิร์ตในสิงคโปร์ และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งประกาศจัดงานเทศกาลดนตรี Where Music Takes Over ที่มีศิลปินใหญ่ๆ อย่าง เอลลี โกลดิง นักดนตรีจากอังกฤษ, แรปเปอร์ชาวอเมริกัน A$AP Ferg, เจ บัลวิน นักร้องชาวโคลอมเบีย ฯลฯ

“ยุคหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เราสังเกตว่านักท่องเที่ยวใช้เวลาเที่ยวพักผ่อนนานขึ้น และใช้จ่ายไปกับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงงานบันเทิงต่างๆ ด้วย” โฆษกของมารีน่าเบย์แซนด์สกล่าว

สวิฟต์ขณะขึ้นแสดงคอนเสิร์ตที่รัฐแอริโซนา, สหรัฐอเมริกา Photo by KEVIN WINTER / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

ในทางกลับกัน ตำแหน่งแห่งที่ของสิงคโปร์ก็ถือเป็นชัยภูมิได้เปรียบในการเดินทาง เพราะแม้ผู้มาเยือน (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคาดการณ์กันว่าเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน) ปรารถนาเพียงแค่มาดูคอนเสิร์ตแล้วดิ่งตรงกลับประเทศบ้านเกิด การเดินทางก็ง่ายดายและใช้เวลาไม่นานนัก ลำพังการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ ก็กินเวลาเพียงสองชั่วโมงครึ่ง เท่ากับว่าดินแดนแห่งเมอร์ไลออนใช้ที่ตั้งของตัวเองคุ้มค่าหมดจด และพร้อมจะปักหมุดหมายให้ประเทศเป็นอีกหนึ่งปลายทางในทวีปเอเชียของเหล่าศิลปินจากทั่วโลก ซึ่งเดิมทีตำแหน่งนี้ยึดครองโดยประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นหลัก

สำหรับสวิฟต์ ครั้งล่าสุดที่เธอมาจัดคอนเสิร์ตที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเมื่อครั้งจัดคอนเสิร์ต The Red Tour เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2014 ซึ่งถือเป็นหลักชัยสุดท้ายของทัวร์ก่อนที่เธอจะประกาศปล่อยอัลบั้ม 1989 (2014) คอนเสิร์ตครั้งถัดมาของเธออย่าง The 1989 World Tour (2015) และ Reputation Stadium Tour (2018) ก็ปักหลักในแถบเอเชียที่ญี่ปุ่นกับจีนเท่านั้น การมาถึงของ The Eras Tour จึงเป็นการหวนกลับมาเยือนสิงคโปร์เป็นครั้งที่สองในรอบสิบปีพอดี

มองย้อนกลับมายังประเทศไทย เราเสียโอกาสไปมากมายมหาศาลเหลือเกินจากการรัฐประหาร การอดดูคอนเสิร์ตของศิลปินเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของความเสียหายที่กินวงกว้างกว่านั้น ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมทางการเมืองอันบิดเบี้ยว ไปจนถึงโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หลุดมือไปแล้วหลายต่อหลายครั้งจากทัศนวิสัยย่ำแย่ของคนถือหางเสือให้ประเทศในนามของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับตัวผู้เขียนเอง การผลาญแต้มบุญหมดไปตั้งแต่กดซื้อบัตร The Red Tour ได้ที่นั่งใกล้ชิดติดขอบเวที ก็แทบไม่เหลือความหวังว่าจะกดบัตรรอบนี้ทัน หรือแม้ว่าหากพระเจ้ายังเห็นใจ ทรงโปรดให้ไปดูคอนเสิร์ตได้จริงๆ ก็จะยังคงสมาทานทุกสรรพกำลัง อุทิศตัวเป็นเงาแค้น ไล่สาปแช่งคณะรัฐประหารเรื่อยไป ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสิ่งที่อัปยศที่สุดที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save