fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ‘แด่ผู้แหลกสลาย’ เหตุผลของการดำรงอยู่อาจเป็นกาแฟยามเช้าสักแก้ว


“เรื่องแปลกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคือ แม้ว่าคุณจะมีความต้องการฆ่าตัวตายมากเพียงใด ความกลัวตายก็ไม่ได้ลดน้อยลง จะต่างออกไปก็เพียงความเจ็บปวดจากการมีชีวิตอยู่ซึ่งทบทวี”

พลันที่วางหนังสือเล่มนี้ลงเหมือนฉันเพิ่งท่องผ่านชีวิตของชายคนหนึ่งอย่างละเอียดลออ ผ่านด้านที่ซ่อนไว้ลึกที่สุด ผ่านสถานการณ์ที่เขาน่าจะอยากลืมมากที่สุด ผ่านจิตใจอันแหลกสลายที่เขาพยายามกอบกู้นำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องเล่า

ผ่านความเปราะบางที่สุดของความเป็นมนุษย์

Reasons to Stay Alive หรือ แด่ผู้แหลกสลาย เป็นงานเขียนของ แมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนชาวอังกฤษที่เล่าประสบการณ์การเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลของเขา

ฟังดูเป็นเรื่องง่ายในวันที่ใครๆ ก็พูดถึงโรคซึมเศร้า ไม่ยากที่จะหาอ่านเรื่องนี้ตามหน้าสื่อ ไม่แปลกที่คุณจะมีคนใกล้ตัวป่วยด้วยโรคนี้ แต่ที่น่าประหลาดคือการจะพยายามทำความเข้าใจโรคนี้จริงๆ เป็นเรื่องยากมาก เพราะมันก็เป็นปริศนากระทั่งสำหรับผู้ป่วยเอง

แมตต์ย้ำตั้งแต่เริ่มต้นว่า จิตใจของแต่ละคนมีเอกลักษณ์ ความผิดปกติของมันจึงไม่ซ้ำใคร แม้ประสบการณ์นั้นอาจทาบทับกันบ้าง แต่ประสบการณ์ของผู้ป่วยทุกคนไม่ได้เหมือนกันทุกประการ

เรื่องเล่าของเขาจึงอาจไม่สามารถใช้เป็นภาพแทนผู้ป่วยทั้งหมดได้ แต่นั่นก็มีค่ามากสำหรับการทำความเข้าใจผู้ป่วย โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้ชีวิตกับผู้ป่วย คนที่กำลังรับมือความป่วย คนที่กำลังตั้งข้อสงสัยต่อการป่วย หรือกระทั่งคนที่มี ‘เมฆฝน’ ก่อตัวอยู่บนท้องฟ้าของตัวเองโดยไม่รู้ตัว


“เราเป็นมนุษย์…เราอับอายเมื่อมีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเอง”

‘เมฆฝน’ ของแมตต์ก่อตัวเมื่อเขาอายุ 24 …ไม่สิ มันก่อตัวขึ้นก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่เขาเพิ่งเห็นมันตอนอายุ 24 ตอนนั้นคือปี 1999 ยุคสมัยที่คนเห็นผู้ป่วยซึมเศร้าแล้วบอกว่า “เขาดูสบายดีนี่” หรือ “ถ้าจิตใจเข้มแข็ง เดี๋ยวก็หาย” (แต่ผ่านมาสองทศวรรษ ฉันก็คิดว่ายังมีผู้ป่วยที่โดนคนรอบข้างพูดแบบนี้อยู่) หากใช้จินตนาการคงเป็นช่วงเวลาที่ยากมากในการใช้ชีวิตกับสังคมโดยมีโรคนี้แปะป้ายอยู่

การปรากฏตัวของอาการซึมเศร้าที่เกิดกับแมตต์ คล้ายว่าอยู่ๆ เขาก็สะดุดล้มแล้วลุกขึ้นมาไม่ได้อีกเลย พร้อมโดนคนรอบข้างตั้งคำถาม เพราะโรคซึมเศร้าไม่ได้ทำให้เขาต้องนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลพร้อมสายระโยงระยางเพื่อยืนยันกับคนที่มาเยี่ยมว่าเขาป่วยจริงๆ

หนังสือเล่มนี้พาเราท่องเข้าไปในสมองของเขา เริ่มรับรู้ความหดหู่ สิ้นหวัง มึนงง ทบทวนเรื่องการดำรงอยู่สลับกับเรื่องความตาย ค่อยๆ อธิบายว่าความทุกข์ทรมานนั้นเป็นอย่างไร เมื่อคุณกลัวตายจนหัวหด แต่ก็พบว่าการมีชีวิตอยู่นั้นเจ็บปวดเกินจะปล่อยให้มันดำเนินต่อไป

แมตต์เล่าเรื่องด้วยตอนสั้นๆ คล้ายบันทึกข้อความเมื่อเขานึกถึงเรื่องหนึ่งๆ ได้ มันไม่ใช่บทบันทึกความทุกข์ทนทรมานของผู้ป่วยที่จมอยู่กับความเศร้าและความตาย แต่เป็นการบันทึกขั้นตอนการพยายามทำความเข้าใจและการรับมือกับสิ่งที่มองไม่เห็น เขาเขียนมันขึ้นมาในวันที่เดินไปถึงปลายอุโมงค์และเห็นทิวทัศน์เต็มตา เขียนเพื่อย้อนกลับไปคุยกับตัวเองในวันที่นึกไม่ออกกระทั่งว่าอีกสิบนาทีข้างหน้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เขียนถึงตัวเองตอนอยู่ในก้นเหวอันมืดมิด เพื่อบอกว่าเขามีสิทธิจินตนาการถึงการใช้ชีวิตในอนาคตอันยาวไกล มีครอบครัวที่ดี ทำงานที่ชอบและได้รับการยอมรับจากสังคม

แต่แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย


“คุณต้องอึดอัดบ้าง เจ็บปวดบ้าง อย่างที่รูมี (Rumi) กวีชาวเปอร์เซียกล่าวไว้ในศตวรรษที่ 12 ว่า “บาดแผลเป็นช่องให้แสงส่องถึง””

ฉันค่อยๆ ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าผ่านเรื่องของแมตต์ และลองนึกเองบ้างว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นอย่างไร การต้องต่อสู้กับปีศาจที่มองไม่เห็น ไม่มีสูตรสำเร็จในการเอาชนะและดูเหมือนว่าจะไม่มีทางชนะได้เลย แต่มันคงน่ากลัวยิ่งกว่าหากคิดขึ้นมาว่าปีศาจนั้นอาจคือตัวเราเอง

แมตต์ค่อยๆ เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา คล้ายการจูงมือเราให้เดินผ่านประสบการณ์นั้นด้วยกันตั้งแต่การคิดเรื่องความตายอยู่เสมอ / กลัวการแยกจาก / มองไม่เห็นอนาคต / ร่างกายอ่อนแรง / เศร้าอย่างไร้สิ้นสุด / นอนไม่หลับ / กลัวจะเป็นบ้า / กลัวที่ชุมชน / พูดไม่ออกเป็นครั้งคราว / รู้สึกไม่มีค่า ฯลฯ

เขาพยายามข้ามพ้นความรู้สึกแย่ ด้วยการคิดว่าตัวเองเคยมีวันที่แย่กว่านั้นมาแล้ว กินยา ฝืนทำสิ่งที่กลัว อ่าน เขียน ท่องเที่ยว เล่นโยคะ วิ่ง ไม่มีใครบอกได้ว่าต้องทำสิ่งไหนแล้วอาการป่วยจะหายไป แมตต์ค่อยๆ สังเกตตัวเองว่าอะไรทำให้ตัวเองแย่ลงและอะไรทำให้ตัวเองดีขึ้น (แต่ไม่เสมอไป) คล้ายการค่อยๆ ทำความรู้จักตัวเองใหม่ผ่านการพยายามฟื้นฟูตัวเอง

แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่น่าจะส่งผลดีต่อแมตต์มากๆ คือการมีคนที่รักอยู่ข้างๆ คนนั้นคือ ‘แอนเดรีย’ แฟนสาวผู้กลายมาเป็นภรรยาในอนาคตของเขา แอนเดรียอยู่ข้างเขาตั้งแต่แรกที่รู้ตัวว่าป่วย พวกเขาค่อยๆ ทดลองหาวิธีต่อสู้กับโรคซึมเศร้า

นอกจากการเป็นคนรัก สิ่งสำคัญคือ ‘ความเป็นเพื่อน’ ชนิดที่ว่าเป็นคนที่พูดคุยด้วยได้ทุกเรื่อง คนที่เป็นเหมือนตัวเราเองอีกคน คนที่คอยบอกรักในความมืด คนที่อดทนเวลาคุณเอาแต่นอนและทิ้งความรับผิดชอบ และเป็นคนที่บอกว่า “เราจะช่วยให้เธอดีขึ้นเอง”

ผู้ป่วยต้องการคนอยู่ข้างๆ ต่อให้คนนั้นคิดว่าเขาทำอะไรไม่ได้เลย แต่แค่ ‘อยู่ข้างๆ’ ก็มีความหมายมากแล้ว

ฉันรับรู้เรื่องโรคซึมเศร้าหลากหลายรูปแบบจากคนป่วยรอบๆ ตัว ขณะเดียวกันฉันก็รู้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของคนที่อยู่ข้างผู้ป่วยซึมเศร้า เมื่ออะไรที่เคยทำก็ทำไม่ได้ อะไรที่เคยพูดก็พูดไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับอาการใหม่ๆ ไปพร้อมกันอย่างอดทน

มันยากมากๆ ใช่ ฉันรู้ เช่นเดียวกับที่ฉันอ่านเรื่องราวของแอนเดรียผ่านตัวหนังสือของแมตต์ เห็นความอดทนอันเปี่ยมล้นของเธอ (และสิ้นอดทนบ้างบางเวลา) แต่ความอดทนนั้นทำให้เขาผ่านมันมาได้

เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นและมองย้อนกลับไป แอนเดรียเป็นคนสำคัญของแมตต์ ไม่ใช่สำคัญเฉพาะในช่วงเวลานั้น แต่สำคัญต่อ ‘ชีวิต’ ของแมตต์


“ชีวิตเสนอเหตุผลของการดำรงอยู่เสมอถ้าเราตั้งใจฟัง”

บรรณาธิการในการตีพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามกับแมตต์ว่า นี่เป็นหนังสือบันทึกความทรงจำ หนังสือพัฒนาตัวเอง หรือหนังสือสรุปความหนังสือเล่มอื่นอีกที คำตอบก็คือมันเป็นทั้งหมดนั้นอย่างละนิดละหน่อย เป็นหนังสือประเภทก้ำกึ่งที่เขียนออกมาได้อย่างสวยงาม

ความเป็นนักอ่านตัวยงของแมตต์ ทำให้เรื่องเล่าของเขาชวนติดตาม เมื่อเราสามารถทำความเข้าใจความซึมเศร้าผ่านความคิดของนักเขียน ปราชญ์ กวี คนละเล็กละน้อยที่ถูกหยิบมาเล่าผ่านปากกาของเขา

แมตต์เขียนหนังสือเพื่อฟื้นฟูตัวเอง สิ่งที่ผู้ป่วยได้ยินเสมอคือ เขาทำโน่นนั่นนี่ได้ ‘แม้ว่า’ จะป่วย ที่จริงแล้วมันอาจไม่ใช่เรื่องขัดแย้งกัน แต่เป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น แมตต์เขียนหนังสือ ‘เพราะ’ เป็นโรคซึมเศร้า เช่นเดียวกับคนมีชื่อเสียงอีกจำนวนมากที่ป่วยโรคซึมเศร้าซึ่งแมตต์ยกขึ้นมาในหนังสือเล่มนี้ อย่าง ฟรานซ์ คาฟคา อับราฮัม ลินคอร์น วินสตัน เชอร์ชิลล์ ไม่มีหลักฐานว่าอาการซึมเศร้าผลักดันให้เกิดงานชิ้นเอก แต่น่าคิดว่าอาการซึมเศร้าจะมีผลให้ เอมิลี ดิกคินสัน เขียนกลอนท่อนที่ว่า “ฉันรู้สึกเหมือนมีงานศพในสมอง” หรือมีส่วนสำคัญที่ทำให้ ซิลเวีย แพลธ เขียน ‘ในกรงแก้ว’ (ซึ่งเป็นเล่มที่ฉันเองอยากแนะนำให้อ่าน)

เมื่อคุณอ่าน แด่ผู้แหลกสลาย ไปเรื่อยๆ จะคล้ายว่าแมตต์ค่อยๆ กลายมาเป็นเพื่อนที่คอยเล่าเรื่องความในใจถึงความคิดอันเปราะบางชนิดที่เราจะคิดวนเวียนอยู่ในหัวแต่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง แนะนำหนังสือดีๆ มากมายให้เราอ่าน ที่สำคัญคือเขาจะคอยย้ำเตือนเราเป็นระยะว่าให้เงี่ยหูฟังเสียงของชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะชีวิตจะคอยกระซิบบอกเราอยู่เสมอถึงเหตุผลของการดำรงอยู่ต่อไป มันอาจปรากฏในรูปของกาแฟรสชาติดียามเช้า กลิ่นผ้าซักใหม่ บางประโยคจากหนังที่ชอบ หรือภาพใบหน้าของใครสักคน

หากแมตต์มีแอนเดรียเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้าง การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตัวเองมีแมตต์อยู่เคียงข้างเช่นกัน เป็นเพื่อนที่จะพูดคุยกันถึงด้านละเอียดอ่อนโดยไม่ต้องกังวลที่จะถูกมองว่าไม่ใช่คนแข็งแกร่ง

“จงทำความเข้าใจ การมีความคิดเศร้าๆ หรือคิดถึงเรื่องเศร้าอย่างต่อเนื่องไม่เท่ากับเป็นคนเศร้า คุณเดินฝ่าพายุ สัมผัสได้ถึงสายลม แต่คุณไม่ใช่สายลม

“กับจิตใจของเราก็เช่นกัน เราต้องปล่อยใจให้รู้สึกถึงพายุและฝนห่าใหญ่ แต่ระลึกไว้เสมอว่าพายุและฝนเป็นหนึ่งในสภาพอากาศที่จำเป็นต่อเรา

“เมื่อผมเริ่มจมดิ่ง ซึ่งยังเป็นอยู่บ้างทั้งในเวลานี้และบางครั้งบางคราว ผมจะพยายามทำความเข้าใจว่ามีอีกส่วนหนึ่งของผมซึ่งแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่กว่าที่ยังไม่จมลง ทว่ายืนอยู่โดยไม่สะทกสะท้าน นั่นคือส่วนที่ผมอาจเรียกว่าจิตวิญญาณ”

อย่างที่แมตต์ย้ำว่าประสบการณ์เป็นโรคซึมเศร้าของแต่ละคนแตกต่างกัน หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่คัมภีร์ต่อสู้โรคซึมเศร้า แต่เป็นเพื่อนที่นั่งคุยกับคุณอย่างละเมียดละไม เหมือนบทสนทนายามเช้าอันแช่มช้าแต่ดิ่งเข้าไปในหัวใจ ไม่ว่าคุณจะแหลกสลายเพราะอะไรก็ตาม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save