fbpx

‘โลกผันผวน-สังคมซับซ้อน’ ตั้งหลักใหม่นโยบายสาธารณะ สร้างสังคมไทยมั่นคงในโลกเปลี่ยนแปลง

ดาวน์โหลดหนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ ได้ที่นี่

หลายขวบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญความผันผวนในหลายๆ แง่ ไม่ว่าจะด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ยังมิพักต้องพูดเรื่องการมาถึงของวิกฤตโควิด-19 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหลายมิติ และบีบให้เราต่างตระหนักได้ว่า วิธีคิดตลอดจนระบบระเบียบแบบเก่าที่เราคุ้นเคย อาจไม่ตอบโจทย์การเคลื่อนตัวเพื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับระเบียบโลกได้อีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่เราต้องการคืออะไร เป็นไปได้หรือไม่ว่าสังคมไทยอาจต้องการองค์ความรู้ ทักษะ ตลอดจนนโยบายสาธารณะในรูปแบบใหม่ เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยในทุกวันนี้ให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมโลกซึ่งรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วได้ 

101 ร่วมกับ แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 เปิดตัว ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ หนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์นักคิดกว่า 30 ชีวิต กล่าวนำโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0 และแนะนำหนังสือโดย สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world

จากนั้นมีเวทีเสวนาสาธารณะ ‘ตั้งหลักใหม่ นโยบายสาธารณะแห่งอนาคต’ ร่วมพูดคุยโดย รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา บรรณาธิการ The101.world

โดย 101 สรุปประเด็นสำคัญของการพูดคุยต่างๆ ไว้ในบทความนี้

 

11 ประเด็นจากแผนงานบูรณาการตามยุทธศาสตร์เตรียมพร้อมให้คนไทยเผชิญโลกผันผวนในอนาคต

ศ.เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มิ่งสรรพ์ ในฐานะประธานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0 กล่าวเริ่มต้นถึงคนไทย 4.0 ซึ่งหมายถึง คนไทยมีคุณธรรมและรู้ทันโลก โครงการนี้จึงมีงานศึกษาเจาะลึกพฤติกรรมคนไทย ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง อุดมการณ์ความคิด ไปจนถึงโครงสร้างทางสังคม และยังมีการมองภาพอนาคตที่มองตัวเลือกหลากหลายบนฐานข้อมูลเพื่อให้ได้นโยบายตามที่ต้องการ

เหตุผลที่มีโครงการตั้งหลักใหม่ประเทศไทย เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการรับฟังความคิดหลากหลาย เพราะสภาพสังคมไทยในตอนนี้มีหลายความเห็น แต่อยู่กันคนละมุม จึงเป็นการสานเสวนากันบนพื้นฐานของความรู้ และหานโยบายสาธารณะที่ดีจากกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย

จากการศึกษาแผนงานคนไทย 4.0 นี้ พบเรื่องน่าสนใจหลายประเด็น โดยมิ่งสรรพ์ยกตัวอย่างผลศึกษาบางประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องตั้งหลักใหม่ ดังนี้

1. คนไทยมีความสุขลดลง แม้ว่าในงานศึกษาของวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์จะพบว่า คนไทยค่อนข้างมีความสุข คือมีคะแนนความสุขในระดับ 7-8 โดย ‘ครอบครัวอบอุ่น’ ยังคงเป็นสถาบันที่ดีที่สุดที่ทำให้คนไทยมีความสุข รวมไปถึงทุนทางสังคมดีและไม่เจอกับความเสี่ยงภัยทางสังคมและภัยธรรมชาติก็เป็นอีกเหตุผลในคะแนนความสุขคนไทย แต่คนไทยไม่เชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐจะทำให้มีความสุข

“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ตามรายงาน World Happiness Report พบว่า คนไทยมีความสุขลดลงมา 1 อันดับมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ประชาชนจึงยังไม่ได้รับความสุขจากรัฐบาลตามนโยบาย ซึ่งการสำรวจของต่างประเทศพบว่าคอร์รัปชัน ทำให้ความพึงพอใจในชีวิตคนไทยลดลง” 

2. ความพอใจของรุ่น baby boommer และ Gen Z ต่างกัน โดย baby boommer ที่เกษียณอายุงานแล้วมีความพอใจในชีวิตมากที่สุด Gen Z มีความพอใจน้อยที่สุด โดย 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้เชื่อว่ามีเสรีภาพน้อย และขาดความเชื่อมั่นกับสถาบันต่างๆ ของรัฐ

3. สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยในอนาคต พบว่า สถานการณ์แก่เดียวดายจะเป็นปัญหาสาธารณะมากขึ้น เพราะคนไทยอยู่เป็นโสดมาก และอายุยืนขึ้น งานศึกษาของนพพล วิทย์วรพงศ์ (2564) ยังพบว่า คนไทยคาดการณ์อายุค่าเฉลี่ยน้อยไป 7-8 ปี ทำให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอ โดยคนวัยทำงานกว่า 43% ไม่ได้ออมเงิน และ 87% ไม่มีการลงทุน โดยสรุปคือการแก่ เจ็บ ตายจะกลายเป็นภาระการเสียภาษีของผู้คนโดยส่วนรวม

4. คนรุ่นใหม่ยึดในคุณค่าใหม่ที่เป็นสากล ซึ่งยึดกับหลักเหตุผลมากกว่าบอกตามกันมา เช่น อิสรภาพ เสรีภาพ มองหลักคุณธรรมเป็นเหตุเป็นผล ส่วนรัฐบาลส่งเสริมคุณธรรมที่เราเรียกว่าเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เป็นประชาชนที่ดี ดังนั้น ความเห็นจึงไม่ตรงกัน ยิ่งเป็นหน้าที่พลเมืองที่ดีที่ยัดเยียดโดยรัฐ คนรุ่นใหม่ยิ่งไม่สนใจ แต่ยอมรับในความหมายของการเปลี่ยนแปลงและไม่ทอดทิ้งใครไว้ภายหลัง อีกประเด็นที่น่าสนใจและอาจส่งผลต่อศาสนา คือ คนรุ่นใหม่สนใจช่วยเหลือคนในเชิงสาธารณะมากกว่าการทำบุญ

5. คนไทยมีความซื่อสัตย์อย่างหยวนๆ มิ่งสรรพ์กล่าวว่าประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่อาจพูดอย่างเข้าใจได้ว่าคนไทยมีความซื่อสัตย์แบบหยวนๆ ซึ่งถูกกล่าวหาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าคนไทยไม่ซื่อสัตย์ ในความเห็นของมิ่งสรรพ์มองว่าคนไทยเลือกจะซื่อสัตย์แล้วแต่สถานการณ์และบุคคล ส่วนอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (2565) พบว่า คนไทยบางส่วนไม่เชื่อมั่นในวาทกรรมสวยหรูของชนชั้นนำ และจุลนี เทียนไทย (2563) มองว่าคนรุ่นใหม่มองเรื่องสุจริตเป็นเรื่องต่อตนเองและวิชาชีพเป็นหลัก ในขณะที่งานศึกษาของภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย (2563) ให้คนรุ่นใหม่มาเล่นเกมและระบุว่าเงินที่ได้จะนำไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคม พวกเขาจึงหาวิธีโกงมากขึ้น จึงระบุได้ว่าคนรุ่นใหม่มองว่าการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ แต่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นในสังคมเป็นสิ่งที่กระทำได้

6. สังคมไทยกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น จากงานศึกษาของอภิวัฒน์ (2564) พบร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ และตู้เอทีเอ็มกระจายตัวทั่วประเทศในไทย และไม่ใช่ลักษณะที่คนชนบทเข้ามาในเมือง แต่เป็นเมืองกลืนกินชนบท

7. การบริโภคเป็นแบบเมืองไปหมดแล้ว เชื่อมโยงกับประเด็นที่แล้ว เมื่อกลายเป็นสังคมเมืองแล้ว การบริโภคจึงเป็นแบบเมือง แต่การผลิตยังล้าหลัง เนื่องจากเกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ย 58 ปี มีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่อยากลงทุนเทคโนโลยีใหม่ การออมมีไม่เพียงพอในวัยชรา และชนบทยังคงอาศัยเงินโอนจากรัฐ 

8. รัฐยังลงทุนด้านไอทีไม่เพียงพอสำหรับเศรษฐกิจฐานราก แม้ว่ารัฐจะลงทุนด้านไอทีไปถึงทุกตำบลแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าได้ขายของใน e-commerce และยังขาดแพลตฟอร์มที่สนับสนุนคนเหล่านี้ รวมถึงยังไม่มีการสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนสามารถนำไปวางขายในออนไลน์ได้ ในขณะที่คนในชนบทต่างเข้าไปซื้อของใน e-commerce กันอย่างกว้างขวาง

9. คนไทยไปร้านสะดวกซื้อมากกว่าวัด แม้ว่าสังคมไทยจะมีจำนวนวัดและโรงเรียนมากกว่าร้านสะดวกซื้อ แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยเข้าร้านสะดวกซื้อวันละ 11.8 ล้านคน เกือบเท่ากับจำนวนนักเรียนที่ไปโรงเรียนวันละ 12.6 ล้านคน ร้านสะดวกซื้อจึงอาจจะเป็นวิถีชีวิตใหม่และเป็นสถาบันใหม่ของสังคม

10. ซอฟต์พาวเวอร์มีวัตถุดิบ แต่ไม่มีเครื่องปรุง อุปกรณ์และเชฟ มิ่งสรรพ์กล่าวว่า เชฟอาจจะยังกำลังพยายามอยู่ แม้ศักยภาพจะยังไม่ถึงระดับโลก ในขณะที่งานศึกษาของกมล บุษบรรณ์ (2565) ระบุว่าความสำเร็จของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีมีการลงทุนมหาศาล ข้อสำคัญมาจากความร่วมมือและการประสานงานกันของรัฐและเอกชน

11. รัฐไทยกำกับโควิด-19 แบบ single command แต่ส่งสารไม่เป็น single message จึงเกิดความสับสนวุ่นวาย คนส่งสารและคนรับสารอยู่คนละแพลตฟอร์มกัน คนไทยเสพข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะที่รัฐสื่อสารผ่านทีวี การจัดการข่าวปลอมยังไม่มีประสิทธิภาพ ข่าวที่ได้รับการแก้ไขเร็วที่สุดคือ ข่าวที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อรัฐ ส่วนข้อมูลด้านสุขภาพให้ผู้เชี่ยวชาญแก้ไขอย่างเป็นปัจเจก ที่สำคัญ มาตรการบรรเทาการระบาดโควิด-19 ในไทยยังเป็นมาตรการของชนชั้นกลาง เช่น การทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ คนที่ถูกลงโทษคือคนที่ไม่มีรายได้ มาตรการในการจัดการโรคระบาดในอนาคตจึงต้องลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้ไทยต้องตั้งหลักใหม่ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าภาวะโรคระบาด สงคราม ข้าวยากหมากแพงยังไม่หายไปจากโลก ดังนั้น กลไกรัฐจึงต้องพร้อมรับกับโลกที่ VUCA มากขึ้น

ต่อเนื่องจากปรากฏการณ์โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง ยังจะทำให้เกิดบูรพาภิวัฒน์ โลก 2 ขั้วชัดเจนมากขึ้น เกิดทาง 2 แพร่ง ทั้งการค้าและการผลิต ซึ่งส่งผลกับห่วงโซ่การผลิต ความมั่นคง และเทคโนโลยี ทำให้เราต้องเลือกนโยบายสาธารณะอย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นโลกรวน ภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว และแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพที่อยู่ในเขตน้ำท่วม 10-15% ซึ่งมิ่งสรรพ์มองว่าแม้เราจะมีแผนงานแล้ว แต่การดำเนินงานของรัฐยังไม่จริงจังพอ

ส่วนประเด็นด้านวัฒนธรรมความคิดโลกมีความหมายและสุดโต่ง มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็หลอมรวมข้ามเผ่าพันธุ์มากขึ้น จึงมีเกิดโอกาสและวิกฤตเพิ่มมากขึ้นด้วย

ประเด็นสุดท้ายคือการถ่ายเททรัพยากรอย่างผันผวนระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนหรือ Metaverse ซึ่งอาจจะมีมากกว่าหนึ่งโลก ชีวิตคนไทยจึง VUCA มากขึ้น

“จากงานวิจัยทั้งหมดจึงมองว่า คนไทย 4.0 ไม่ใช่แค่มีคุณธรรมตามที่รัฐบาลต้องการอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งตนเองได้  เพราะโลกในอนาคตจะผันผวนมาก ต้องรู้จักช่วยคนอื่น สร้างเครือข่าย และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้” มิ่งสรรพ์กล่าวสรุป

‘ปีศาจอยู่ในรายละเอียด’ 5 ประเด็นชวนคิดจากหนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’

สมคิด พุทธศรี

ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ สมคิดกล่าวว่าที่ผ่านมาเมื่อพูดคำว่าประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะให้ภาพแห่งความรุ่งเรือง มีความหวังเพราะเป็นยุคที่เกิดโลกาภิวัฒน์ครั้งใหม่ แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยแผ่ขยายไปทั่วโลก ขณะที่เกิดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีครั้งใหญ่จนประเทศไทยดูเต็มไปด้วยความหวัง แม้จะต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เองก็ตาม แต่ในด้านการเมือง ไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เชื่อกันว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดในเวลานั้น 

อย่างไรก็ตาม สมคิดกล่าวว่าหากมองด้วยสายตาความเป็นจริง สองทศวรรษที่ผ่านมานับจากปี 2000 ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหามากมาย เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเก่าถึงทางตัน “ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราไม่เคยเติบโตได้เท่าปี 2540 เลย และเติบโตได้เพียง 4-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ในช่วงหลังๆ เราเติบโตได้แค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งเวลานี้เราต้องเจอกับปัญหาสังคมสูงวัย เจอกับดักรายได้ปานกลาง ผู้คนแก่ก่อนรวย รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งถ่างกว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะด้านทรัพย์สินที่เราจะพบว่าคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ในประเทศเป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ” สมคิดกล่าว ก่อนเสริมว่า ยิ่งในแง่ทางการเมืองนั้นน่าจะเห็นแผลชัดมากที่สุด เพราะนับจากปี 2000 ประเทศไทยมีรัฐประหารสองครั้ง มีรัฐธรรมนูญสี่ฉบับ ต้องเผชิญหน้ากับสถาบันทางการเมืองที่เสื่อมถอยลงทุกหน่วยจนไม่อาจสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชนได้ ตลอดจนเราต้องเจอกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งการบาดเจ็บและล้มตายอันประเมินค่าไม่ได้ 

“ดังนั้น ความเป็นจริงด้านสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 เราจึงเจอวิกฤตคุณภาพชีวิต ยิ่งกับช่วงโควิด-19 ที่สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนฐานรากของสังคมที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เนื่องจากมาตรการต่างๆ ของรัฐไม่เอื้อให้คนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ ตลอดจนด้านการศึกษาที่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านการศึกษาเยอะ รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาระดับโลก ไทยต้องเจอฝุ่น PM 2.5 กันทุกฤดูกาล หรือแม้แต่ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ” สมคิดกล่าว 

หนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ เป็นบทบันทึกการสนทนากับเหล่านักคิดร่วม 30 ชีวิต ซึ่งสมคิดชวนต่อยอดสิ่งที่ได้จากการเป็นบรรณาธิการหนังสือออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

1. ความเสี่ยงเชิงระบบ 

ความเสี่ยงเชิงระบบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ประชากร สิ่งแวดล้อม การเมืองและวัฒนธรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยเจอการเปลี่ยนแปลงแล้วปรับตัวไม่ได้ และเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก -ไม่ว่าจะปัญหาโลกรวนหรือการเข้ามาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนครั้งใหญ่- ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมบาดแผลที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไทยจึงอยู่กับความเสี่ยงเชิงระบบซึ่งเป็นความเสี่ยงที่หน่วยงานทางสังคมขนาดเล็ก เช่น ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนไม่อาจรับมือได้โดยลำพัง 

“ทั้งหมดนี้เราจึงต้องอาศัยรัฐ แม้ที่ผ่านมาผู้คนจะให้ความเชื่อถือในรัฐต่ำ แต่ถึงอย่างไรรัฐก็ต้องมีบทบาทในการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะนโยบายสาธารณะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้” สมคิดกล่าว 

2. ความสำคัญของความรู้ในการตั้งหลักใหม่ประเทศ 

สมคิดชี้ว่า หลายปีที่ผ่านมานั้นประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาใหม่ที่อ่อนไหวและแหลมคม ดังนั้น สิ่งสำคัญในการจะตั้งหลักประเทศได้คือความรู้ “หากเราไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มเผชิญหน้าปัญหาอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าการเริ่มต้นด้วยความรู้และหลักการจะทำให้เราเริ่มตั้งต้นบทสนทนาได้ ไม่ว่าจะบทสนทนาที่ว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพหรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เองก็ตาม ดังนั้น การใช้ความรู้เพื่อตั้งต้นพูดคุยกันจึงเป็นเรื่องสำคัญในการข้ามพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้” สมคิดว่า

3. ประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลกจริงหรือ 

ต่อมายาคติที่เราได้ยินมาเป็นเวลานานว่าไทยไม่เหมือนใครในโลกนั้น ทอม กินสเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก้ ซึ่งศึกษาประเทศไทยเชิงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ให้มุมมองที่ต่างออกไปว่า ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเขาซึ่งเฝ้าสังเกตในฐานะคนนอกก็มองว่าไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างสงบและมีเสถียรภาพ และต้องเจอกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจหรือการมาเยือนของเทคโนโลยีตลอดจนทักษะแรงงานไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ และความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายประเทศในโลกต้องเจอเช่นกัน 

ดังนั้น การที่เราคิดว่าประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก และจะอยู่แบบไม่เหมือนใครจึงเป็นมายาคติที่น่าสนใจ อันเป็นหนึ่งในสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ชวนหวนกลับมารื้อถอน

4. การเมืองเป็นจุดเปราะบางและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดอนาคตประเทศไทย 

จากการสัมภาษณ์นักวิชาการ 30 คน สมคิดระบุว่าทุกคนมีคำตอบที่ตรงกันอยู่คือการเมืองเป็นจุดเปราะบางของสังคมไทย และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดอนาคตประเทศไทยด้วย กล่าวคือหากเราแก้ปมการเมืองได้ ประเทศไทยก็ไปต่อได้ โดยหัวใจสำคัญคือไม่ว่าจะอย่างไรประเทศไทยก็ต้องอยู่บนเส้นทางของประชาธิปไตย ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ การจัดการสถาบันทางการเมืองให้อยู่ภายใต้ระบบประชาธิปไตยให้ได้เพราะประชาธิปไตยก็เป็นคำตอบทางการเมืองด้วยตัวมันเอง 

“นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังเป็นคำตอบทางเศรษฐกิจด้วย นักคิดหลายคนก็พูดเรื่องการกระจายอำนาจในฐานะทางออกของการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเพิ่มอำนาจต่อรองทางสังคมให้คนกลุ่มเปราะบาง กล่าวโดยสรุป ประชาธิปไตยจึงเป็นคำตอบทั้งในมิติของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ” สมคิดชี้ ก่อนจะปิดฉากด้วยประเด็นสุดท้ายที่ชวนคิดคือ

5. ปีศาจอยู่ในรายละเอียด 

“แน่นอนว่าเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ย่อมไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่สังคมไทยต้องการบทสนทนาสังคมสาธารณะต่อไป นั่นเป็นเพราะว่าสังคมต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวาระตั้งหลักประเทศไทย โดยที่มีฝ่ายวิชาการคอยให้การสนับสนุน และเราจะพบว่า นโยบายสาธารณะคือเครื่องมือสำคัญในการหาคำตอบ การจะเชื่อมระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแห่งความฝันที่สังคมอยากไปให้ถึงนั้น สิ่งที่จำเป็นก็คือนโยบายสาธารณะนี่เอง” สมคิดปิดท้าย

ในโลกเปลี่ยนแปลงและผันผวน
คนทำงานนโยบายต้องเป็นธรรมและน่าเชื่อถือ

ฉัตร คำแสง

ฉัตรเริ่มต้นด้วยการพูดถึงภาพรวมในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงปีหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ในมุมการเมืองมีความเปราะบาง ความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ อยู่ในช่วงเสื่อมถอย ยิ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา โลกเจอการระบาดของโควิด-19 ทุกอย่างหยุดชะงัก เมื่อผู้คนไม่รู้จะมองไปทางไหน จึงเริ่มหันมามองเทคโนแครต ในขณะเดียวกันเริ่มมีเทคโนแครตกลุ่มต่างๆ ถูกเอาไปเชื่อมโยงว่ามีผู้เกี่ยวข้องเบื้องหลัง หรือมี public agenda บางอย่างในการทำงาน แม้ว่าในมุมของเทคโนแครตจะหวังดี แต่ในการทำงานที่มักอยู่ในรูปแบบหลังบ้าน ขอทำอะไรเงียบๆ และคุยกันในมุมเทคนิคกับคนทำงาน ข้าราชการ หรือผู้ปฏิบัติงานต่างๆ เท่านั้น ทำให้การทำงานยากขึ้น

“สิ่งเหล่านี้นำไปสู่อะไร เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราเห็นในสังคมที่เปราะบาง เราต้องคิดให้เยอะขึ้นเรื่องการเข้าถึงหรือความชอบธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่การทำงานอย่างถูกต้อง แต่เรื่องที่มา การทำข้อมูล กระบวนการต่างๆ ต้องถูกต้อง และทำให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป” 

ฉัตรมองว่าในสังคมที่มีการตื่นตัวและตระหนักรู้ปัญหาในสังคมมากขึ้น การทำงานเชิงนโยบายจึงต้องระวัง และจะต้องทำให้เกิดความชอบธรรมและความถูกต้องในสังคม ดังนั้น การทำงานของเทคโนแครตจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป จากที่คุยกันแค่หลังบ้าน ซึ่งแม้ว่าจะทำงานได้เร็ว แต่สุดท้ายความเปลี่ยนแปลงไม่ยั่งยืน สิ่งจำเป็นคือต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลลัพธ์จริง และสังคมยอมรับไปด้วยกันได้ แต่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ฉัตรมองว่าต้องผ่านพื้นที่ปฏิรูปทั้งหมด 3A คือ

A – acceptance ความยอมรับ

A- authority การมีอำนาจในการทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นอำนาจที่มาด้วยทางกฎหมาย หรือมองในมุมกว้าง คืออำนาจรัฐบาล พรรคการเมือง อำนาจเหล่านี้มาจากการยอมรับและเป็นฉันทานุมัติของสังคมในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้

A-ability ซึ่งรวมทั้งคน ทรัพยากร เทคโนโลยี ฉัตรมองว่าประเทศไทยยังคงอ่อนแอในการนำสิ่งเหล่านี้มาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา

“ถ้าเกิดจะเติมอะไรในช่วงแรก เราต้องตระหนักในมุมเศรษฐกิจการเมืองหรือ political economy ในการทำนโยบายต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะในบริบทประเทศไทย แทบจะไม่เคยคิดเรื่องนี้เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือระดับนโยบายต่างๆ ก็บอกว่าไม่อยากยุ่งกับการเมือง พอไม่อยากยุ่งก็ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ว่าพอเป็นรัฐบาลพิเศษ รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร กลับไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นการเมือง แต่สามารถเข้าไปร่วมแบบนี้ได้”

“สุดท้ายแล้วก็จะทำให้ตัวตนหรือการเปลี่ยนแปลงเสียหลักการไป และเมื่อสังคมไม่เอาด้วย การยอมรับ (acceptance) หายไป สิ่งต่างๆ ก็จะทรุดตัวตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ (authority) หรือความสามารถและทรัพยากรต่างๆ (ability)”

ฉัตรเสริมอีกว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงมากๆ อย่าง VUCA เรามีคนเป็นกลุ่มก้อนพยายามจะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม แต่ในขณะเดียวกัน โลกก็เชื่อมโยงกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งก็ส่งผลถึงพื้นที่อื่นๆ คนทำงานนโยบายจึงทำงานยากขึ้น เพราะทำอย่างไรก็อาจจะคิดออกมาได้ไม่ครบหรือไม่รู้ว่าจะมีช่องทางที่ส่งผลลัพธ์นี้ได้อย่างไร และยิ่งเกิดความกำกวมและความขัดแย้งมากขึ้น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง และกำกวมนั้น ฉัตรยกตัวอย่างการทำงานนโยบายสาธารณะของ 101PUB ซึ่งมีฐานการทำงานอยู่ 3 ด้าน หนึ่งคืออิงหลักวิชาการ ทำงานแบบมืออาชีพ โดยหาระเบียบวิธีใหม่ๆ เข้ามาใส่พร้อมลงรายละเอียดเนื้อหานั้นๆ สองคือการพัฒนา 101PUB มองว่าการทำงานวิจัยกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว หรืออาจเกิด snowball effect ที่ทำให้เปิดประตูไปสู่การทำงานเรื่องต่างๆ ตามมา แม้บางเรื่องจะเป็นประเด็นระยะสั้นแต่การทำงานวิจัยก็จะมองในผลระยะยาวด้วย โดยมีฐานของขีดความสามารถประเทศ ความเท่าเทียม และความเป็นธรรมร่วมด้วย

“ฐานสุดท้าย คือ ประชาธิปไตย เรามองว่าประชาชนคือนายใหญ่ เราจะทำอย่างไรให้โอบรับคนได้มากที่สุด ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น ต้องมองผ่านฐานประชาธิปไตย คนมีอำนาจสูงสุด ทุกคนเท่ากัน และนำไปสู่หลักนิติธรรมหรือ rule of law เราไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำงานบนหลักการและมีหลักวิชาการรองรับ” 

การทำงานของ 101PUB ยังเน้นเรื่องการสื่อสารสู่สาธารณะ โดยพยายามทำงานวิจัยที่อ่านได้ง่าย มีอินโฟกราฟิกอธิบาย นำเสนอผ่านทุกแพลตฟอร์มไปกับ the101.world

“เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมถ้าเกิดจะได้ผลจริง สังคมต้องเอาด้วย เราไม่คาดการณ์ว่าทำไปก่อน แล้วสังคมค่อยตามมาทีหลัง แต่เราใช้วิธีคิดว่าสื่อสารไปหาสังคมก่อน แล้วชวนสังคมคุยกันเพื่อเอาสิ่งเหล่านี้ไปสู่วาระประเทศหรือวาระทางการเมือง”

ตัวอย่างงานจาก 101PUB ที่นำเสนอสู่สังคม คือ ประเด็นควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นควบรวมธุรกิจที่ทำให้สังคมไทยเผชิญกับปัญหา ยังคงมีวาทกรรมมากมายที่สนับสนุนว่าการเหลือผู้ประกอบการเพียงสองรายไม่ใช่เรื่องผิด งานวิจัยของ 101PUB จึงพยายามสะท้อนให้เห็นผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งเรื่องคุณภาพที่อาจจะลดลงและราคาที่เพิ่มขึ้น และมองถึงผลกระทบระยะยาว หากเทคโนโลยีคมนาคมเติบโตอย่างรวดเร็ว จะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการต่ำลง เมื่อมีการควบรวมแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะลดราคาให้เร็วตามต้นทุน เนื่องจากผู้ประกอบการเพียงสองราย สามารถแบ่งราคากันได้ เพราะขาดแรงจูงใจหรือแรงดึงดูดในการแย่งฐานลูกค้า นอกจากนี้ยังกระทบกับความสามารถของประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันน้อยลง

และบนโลกที่มีความกำกวมและขัดแย้งด้วยนี้ ทำให้ 101PUB ทำงานศึกษาที่ตรวจสอบว่ามีความพยายามในการเล่าเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทคอย่างไรในสังคมบ้าง โดยสำรวจทั้งงานวิชาการที่ดำเนินการโดยสถาบันต่างๆ มากางดูระเบียบวิธีวิจัยและข้อมูลต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบข่าวและบทวิเคราะห์ในหน้าสื่อต่างๆ ที่ไม่อิงฐานวิชาการและมีข้อมูลสนับสนุนรองรับ เพื่อสะท้อนให้เห็นวาทกรรมการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการเหลือผู้ประกอบการเพียงสองราย

ฉัตรชวนคิดว่า การทำนโยบายสาธารณะในโลกที่มีความซับซ้อนและความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่นนี้ บทบาทของรัฐจะเป็นอย่างไร “เพราะไม่ว่าเราจะเลือกอยู่ค่ายซ้ายหรือขวา เราก็ต้องการรัฐที่แข็งแรง และนำไปสู่คำถามที่ว่ารัฐทำอะไรได้บ้าง”

ฉัตรยกตัวอย่างบทบาทของรัฐใน 2 กรณี หนึ่ง-ในมุมกฎหมาย ประเทศไทยควรสร้างมาตรฐาน rule of law แต่เมื่อกฎหมายมารวมกับเทคโนโลยีแล้วจะเป็นอย่างไร รัฐจะรับบทบาทสอดส่องดูประชาชนทั้งหมดหรือไม่ อย่างที่จีนมีการจัดทำ social credit scoring ถ้าใครทำผิดระเบียบที่กำหนดไว้จะมีการหักคะแนน สุดท้ายรัฐไทยจะไปถึงตรงนั้นหรือไม่

สอง-ในมุมเศรษฐกิจ รัฐมีบทบาทมากน้อยขนาดไหน ควรเป็นผู้กำหนดโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมหรือไม่ แล้วให้เศรษฐกิจวิ่งไปกับศักยภาพของเอกชนหรือคนทำสตาร์ตอัพต่างๆ แต่มีอีกแนวความคิดเสนอว่า รัฐหลีกเลี่ยงที่จะกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะต้องการโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะ เช่น semiconductor หรือการผลิตชิปขนาดเล็ก 3 นาโนเมตร ซึ่งขณะนี้ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตที่เก่งที่สุด แต่ถ้าหากมีปัญหากับจีน โรงงานเหล่านี้จะไปตั้งที่ใด ถ้าหากนำมาตั้งที่ไทย เรามีโครงสร้างพื้นฐานรองรับได้หรือไม่ เพราะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใน 1 วันต้องใช้น้ำเทียบเท่ากับ 3 แสนครัวเรือน ถ้าหากเราไม่มีจุดเด่นตรงนี้ โรงงานเหล่านี้ก็จะเข้ามาไม่ได้  

“เพราะฉะนั้น รัฐจะต้องเลือกไหม แล้วถ้าเลือกบทบาทของรัฐจะไปไกลขนาดไหน จะทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดี หรือจะกลับมาใช้รูปแบบกำหนดแรงจูงใจให้ภาษี ให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจใหญ่อีกไหม”

ในข้อถกเถียงใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือขีดความสามารถของรัฐจะเกิดขึ้นด้วยอะไร เราควรจะมีขีดความสามารถของรัฐก่อนจะไปทำประเด็นต่างๆ หรือว่าควรจะเริ่มประเด็นต่างๆ ก่อนแล้วค่อยไปดูขีดความสามารถของรัฐ นอกจากนี้ ฉัตรยังชี้ให้เห็นว่าในขีดความสามารถของรัฐยังมีเรื่องความรับผิดชอบ แม้ว่าระบบการทำงานจะเป็นแบบราชการ ควบคุมและรับคำสั่งกันเป็นขั้นๆ เมื่อคนใดทำให้เสียหายก็ต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด แต่รัฐไทยยังคงมีปัญหาการคอร์รัปชัน การรั่วไหลของข้อมูล และปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินการอยู่

“ในโลก VUCA รัฐต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ทำลูปเดียวแล้วประเมินว่าสิ่งที่ทำลงไปได้ผลไหม ต้องกลับไปแก้ที่ตรงไหน แต่รัฐต้องรู้ด้วยว่า เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร (learning how to learn) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการเวลาและฉันทามติอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันเป็นแบบเดิมๆ ความสำเร็จบนหน้ากระดาษที่เห็นว่ารัฐเคยทำแล้ว มีอยู่แล้ว สามารถเขียนผลผลิต KPI ออกมาได้เยอะ แต่ก็เป็นเซฟโซนที่ราชการไม่กล้าปรับอะไรจากเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ทุกคนกำลังประสบความล้มเหลวกับรัฐเต็มไปหมด” ฉัตรกล่าว

นโยบายสาธารณะต้องทำให้คนมีภูมิคุ้มกันและยั่งยืน

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

โสมรัศมิ์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (PIER) กล่าวว่า งานวิจัยของ PIER พยายามผลิตงานวิจัยโดยใช้กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์ให้ตอบโจทย์ต่อนโยบายสาธารณะของประเทศ แม้ว่างานหลักของสถาบันฯ จะอยู่ในแบงก์ชาติก็ตาม โดยด้านหนึ่งคือการสร้างแลนด์สเคปของความรู้จากข้อมูลที่ PIER รวบรวมมาได้จากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งโสมรัศมิ์มองว่าข้อมูลและความรู้เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่จะออกแบบนโยบายและความรู้ที่ตรงจุด ระบุปัญหาและลำดับความสำคัญของปัญหาในประเทศ พร้อมทั้งหาวิธีแก้ปัญหาและสร้างผลกระทบได้

งานวิจัยหลายชิ้นยังสะท้อนให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลง มีเรื่องคุณค่า ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือมากขึ้น โสมรัศมิ์เล่าว่าบทเรียนที่ทำให้เรียนรู้โลก VUCA ได้มากขึ้น มาจากโควิด-19 เพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ยิ่งผลกระทบที่ประเทศไทยค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมีปัญหาสะสมมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ความเปราะบางของภาพใหญ่ในประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งทุนได้น้อย เมื่อเกิดโควิด-19 จึงทำให้ทุกอย่างรุนแรงขึ้น แม้ว่าเราจะเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิทัล แต่ก็ยังมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  

“คำถามคือ นโยบายต่อไปในอนาคตจะทำอย่างไร ถ้านโยบายเท่าทัน การเตรียมคนให้พร้อมก็จะสามารถใช้ประโยชน์ของโอกาสใหม่ๆ เข้ามาได้ แต่ถ้านโยบายไม่เท่าทัน ไม่สามารถทำให้คนปรับตัวได้ทัน ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่รุนแรง ยิ่งมองอนาคตต่อจากโควิด-19 จะเห็นโลก VUCA เรื่อยๆ แล้วกระบวนการทำนโยบายจะต้องคิดใหม่ทำใหม่อย่างไรบ้าง”

โสมรัศมิ์เสนอ 3 ประเด็น โดยมองบนฐานที่ว่าการทำนโยบายสาธารณะต้องทำให้ประเทศเติบโตและยั่งยืน คือ

เท่าทันกระแส

สร้างโมเดลสำหรับฉากทัศน์ในอนาคตเพื่อให้เท่าทันกระแสและสร้างการปรับตัวได้ โดยต้องมีข้อมูลพร้อมในการศึกษาหรือสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของหน่วยธุรกิจต่างๆ ในเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

ภูมิคุ้มกัน

จะทำอย่างไรให้ภูมิคุ้มกันในภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับเล็กและใหญ่ มีมากขึ้นได้ ซึ่งมองตั้งแต่ระดับใหญ่ว่าเราจะออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไรให้พึ่งพิงตัวเองได้มากขึ้นและกระจายการเติบโตไปสู่ภูมิภาค ในขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้ครัวเรือนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น การแก้ไขหนี้ครัวเรือน หรือจะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ภาคส่วนเศรษฐกิจยืดหยุ่นได้

ทำอย่างไรให้ภาคเศรษฐกิจสามารถปรับสภาพได้ในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป หากมองภาพใหญ่คือ ทำอย่างไรให้เราสามารถถ่ายโอนทรัพยากรข้ามเซกเตอร์ได้ ในอนาคตถ้าอุปสงค์และโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป แรงงานเรามีทักษะพอที่จะเปลี่ยนแปลงกับอาชีพที่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วหรือไม่ ภาคธุรกิจพร้อมปรับตัวหรือไม่หากอุปสงค์เปลี่ยนแปลงไป

ในขณะเดียวกันความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงของโลก VUCA ขัดกับนิสัยของคนเรา โดยเฉพาะสิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคต เช่น ปัญหา climate change ยิ่งมีความคลุมเครือ เรายิ่งมองว่ามันไกลตัว ทำให้แรงจูงใจเราไม่เกิด “สิ่งที่ยากที่สุดในตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนตระหนักได้ว่าตอนนี้เกิดปัญหา ต้องมีการปรับตัว ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องและยั่งยืน”

แต่ปัจจุบันนโยบายรัฐยังทำงานด้านแรงจูงใจไม่ยั่งยืนนัก ส่วนใหญ่เป็นนโยบายในระยะสั้น อย่างการให้เงินอุดหนุน (subsidy) ช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข เช่น อยากให้เกษตรกรปรับตัว ก็มีการจัดสินเชื่อให้ หรือนโยบายพักหนี้ที่ไม่ได้มีแรงจูงใจให้คนจ่ายหนี้คืน ดังนั้น เมื่อออกนโยบายไปแล้วแรงจูงใจอาจจะไม่ยั่งยืน แล้วจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนขึ้น

โสมรัศมิ์ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านการเกษตร ซึ่งร่วมกับดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบัน TDRI ด้วยโจทย์ที่ว่าทำไมเกษตรกรไม่อยากปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกจากการทำนาหว่านที่ต้องใช้ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์เยอะ มาเป็นการทำนาหยอดที่ประณีตขึ้น ใช้ปุ๋ยลดลง ต้นทุนลดลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเท่านั้น

“สุดท้ายคือแรงจูงใจอยู่ตรงไหน เราพบว่าเมล็ดพันธุ์ดีขึ้นจริง แต่สุดท้ายเอาไปโรงสี เขาก็ไม่ได้คัดเกรดให้ ขายได้ราคาเดิม ดังนั้น แรงจูงใจตรงนี้ไม่ปรับเปลี่ยน ถ้าอยากให้ยั่งยืนต้องสร้างแรงจูงใจให้ถูกต้องและยั่งยืน สุดท้ายต้องทำทั้งระบบ เช่น คนซื้อต้องให้คุณค่ากับสินค้าพรีเมียม การเข้าถึงตลาดพรีเมียมของเกษตรกรต้องทำให้เป็นระบบแม้ไม่มีรัฐอยู่”

อีกปัจจัยที่คนทำงานนโยบายสาธารณะต้องคิดคือการดำเนินงานตามนโยบาย เพราะยากกว่าการสร้างรูปแบบ หลายงานที่เซ็ตวาระไว้ดีมาก มีแนวโน้มจะสร้างแรงจูงใจได้ดี แต่เมื่อดำเนินการแล้วกลับไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในโลก VUCA กลับเรียกร้องการดำเนินการที่ทันการและตรงจุดอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันเราเห็นว่าภาครัฐยังทำได้ไม่ดีพอ เห็นได้จากตัวอย่างการลงทะเบียนคนจนที่มีข้อมูลเยอะ แต่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากพอ

เมื่อกำหนดรูปแบบและดำเนินนโยบายแล้ว การประเมินหรือวัดผลก็เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งโลกอนาคตที่มีความไม่แน่นอนและคลุมเครือจึงต้องมีการประเมินมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ต่างประเทศมีการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐมาช่วยจับให้ทันผลของนโยบายได้เลย ไม่ต้องทำแบบสำรวจตามหลัง  

หากพูดถึงประเด็นที่โลกนโยบายสาธารณะกำลังถกเถียงกันอยู่ โสมรัศมิ์มองว่าปัญหายังคงเป็นปัญหาเดิม แต่มีโจทย์ที่เป็นกระแสใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเดิม การทำนโยบายสาธารณะคือ การดูว่าปัญหาเชิงโครงสร้างคืออะไร แล้วกลับมาคิดว่า แม้กระแสใหม่เข้ามา โจทย์คืออะไร

“ดังนั้น ถ้าพูดถึงโจทย์ในทางเศรษฐศาสตร์ น่าจะมี 3 โจทย์หลัก คือ หนึ่ง-จะทำให้ทุกหน่วยในเศรษฐกิจโตขึ้นไปได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ทุกคนในภาคธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเติบโต สอง-มีกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามา เราจะเพิกเฉยไม่ได้ เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างไร และเปลี่ยนผ่านอย่างไรให้เศรษฐกิจโตและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนด้วย ส่วนสุดท้ายทำอย่างให้คนโตไปแล้วมีภูมิคุ้มกันเรื่อยๆ”

ถ้าจะต้องทำตามโจทย์เหล่านี้ อาจจะต้องดูเป็นลักษณะคน เช่น คนคนหนึ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อเติบโตได้อย่างไร และจะโตอย่างยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างไร เพราะถ้าคนหนึ่งทำไม่ครบองค์รวมก็จะไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ดังนั้น โจทย์ของคนทำนโยบายสาธารณะจึงต้องทำให้เชื่อมั่นได้ว่าคนจะได้รับการพัฒนาในสามโจทย์นี้

ตัวอย่างที่ PIER กำลังทำงานวิจัยอยู่ คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยเริ่มมองตั้งแต่ปัญหาภาพใหญ่ และมองจากโจทย์เก่าด้วยว่าถ้าเกษตรกรยังไม่พัฒนาจะสามารถเอาเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพบ้าง เพราะเกษตรกรมีปัญหาทุกมิติ PIER จึงพยายามที่จะหาวิธีการให้เกษตรการเพิ่มผลผลิตจากเทคโนโลยีได้ ทำให้เกษตรกรปรับตัวได้ และสร้างภูมิคุ้มกันจากปัญหาหนี้สินที่ยังคงเป็นวงจรของเกษตรกรอยู่

โดยสรุปคือ จากปัญหาเกษตรกร ทำให้คนทำนโยบายจะต้องจัดวางลำดับการแก้ปัญหาบนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของโลก VUCA เพื่อให้เกษตรกรยั่งยืนและมั่นคง จะทำอย่างไรให้เกษตรเติบโตได้ แก้ไขปัญหาหนี้สินไปพร้อมกับการสร้างรายได้อย่างไร วางแผนปรับโครงสร้างหนี้สินอย่างไร แก้ปัญหาความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไรให้เกษตรกรสร้างภูมิคุ้มกันได้

เมื่อประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐ

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

อภิวัฒน์กล่าวว่า ปัญหาหลักและเป็นความท้าทายของนโยบายสาธารณะในโลกปัจจุบัน คือความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนที่ทำนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เพราะความไว้ใจนั้นสำคัญมากในโลกของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ที่ผ่านมามีข้อมูลหลายอย่างที่ทำให้คนไม่สามารถเชื่อมั่นในสิ่งที่นักนโยบายสาธารณะทำออกมาได้ แม้ว่าหากจะกล่าวกันอย่างถึงที่สุด ที่ผ่านมานั้นหากพูดกันในเรื่องการพัฒนาเมือง การขนส่ง หากเทียบกับเมื่อก่อนแล้วส่วนตัวคิดว่ารัฐไทยไม่ได้ล้มเหลวหรือเลวร้ายมากมายนัก แต่สิ่งสำคัญคือความสามารถของรัฐที่มีในปัจจุบันไม่สามารถพัฒนาได้เร็วตามความคาดหมายและความคาดหวังของประชาชน และกลายเป็นช่องว่างที่สำคัญมาก กล่าวคือความคาดหวังของประชาชนสูงกว่าเดิม แต่ขีดความสามารถของรัฐและประสิทธิผลที่ทำออกมาได้นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของคน ยังผลให้กลายเป็นความไม่วางใจในที่สุด 

“ปัจจุบันนั้นเป็นยุคของข้อมูล เมื่อข้อมูลเยอะจึงมีทั้งเรื่องที่จริงและไม่จริงปะปนเต็มไปหมด ทำให้ความไว้ใจที่เรามีต่อรัฐในฐานะประชาชนลดลง ประชาชนคาดหวังมากขึ้นตามเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนไป แต่รัฐเปลี่ยนแปลงช้ากว่ามาก” อภิวัฒน์กล่าว และว่า “ยิ่งช่วงโควิดทำให้เห็นว่าารัฐไม่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังต่อประชาชนได้เลย ดังนั้น โจทย์สำคัญของนโยบายสาธารณะคือเราต้องถามว่า ตกลงจะทำอย่างไรให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในสิ่งที่เรียกว่า นโยบายสาธารณะ ได้ในที่สุด”

อภิวัฒน์อธิบายว่า เมื่อเราพูดถึงนโยบายสาธารณะ แน่นอนว่าจำเป็นจะต้องมีหลักการ เหตุผล ข้อมูลและหลักฐาน แต่ในความเป็นจริงนั้นเราต้องยอมรับว่าหนึ่งในสิ่งที่เป็นปกติของโลกคือข้อมูลกับองค์ความรู้นั้นไม่เคยตามทันความจริงได้ แต่หากข้อมูลไม่เพียงพอ นโยบายที่เราผลักดันออกมาก็อาจไม่ตอบโจทย์ได้ เพราะความจริงที่เกิดขึ้นนั้นมีมากกว่าองค์ความรู้ที่เรามี ขณะเดียวกัน เราไม่มีทางสร้างองค์ความรู้ได้เพียงพอและทันท่วงทีอย่างแน่นอน

“ดังนั้น ตรรกะการสร้างนโยบายสาธารณะต้องคิดไปไกลกว่านี้ เมื่อมีข้อมูลระดับหนึ่งที่พอจะสร้างนโยบายสาธารณะโดยไม่ต้องรอให้องค์ความรู้ครบถ้วนเพราะอาจล่าช้าเกินไป เมื่อเราทำวิจัยออกมาแล้วนั้น คนที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว ยิ่งโลกปัจจุบัน เราจะพบว่าการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นช้าเกินกว่าจะตอบโจทย์คนกลุ่มเป้าหมายได้” อภิวัฒน์กล่าว และว่า ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องใช้องค์ความรู้ที่พอมีอยู่มาสร้างนโยบายสาธารณะ คนที่เป็นนักวางแผนนโยบายสาธารณะนั้นจะเป็นแค่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าหลักการในเชิงศีลธรรม กล่าวคือแม้จะมีข้อมูลในมือที่จำกัด แต่ก็ต้องพยายามผลักดันนโยบายสาธารณะที่คิดว่าจำเป็นออกไป โดยต้องมีสำนึกทางศีลธรรมอยู่ด้วยเช่นกัน 

“สิ่งที่เรียกว่าเข็มทิศชี้นำในเชิงศีลธรรมจึงจำเป็นอย่างมาก เพราะการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และความเป็นศิลป์ก็มาจากสำนึกทางศีลธรรมเช่นนี้ แม้ถึงที่สุดมันจะเกิดความผิดพลาดหรือทำออกไปแล้วไม่ได้เกิดผลจริง แต่เมื่อผลักดันออกไปแล้วผู้คนไม่บาดเจ็บล้มตายก็นับเป็นเรื่องที่ได้ผล” อภิวัฒน์กล่าว

อภิวัฒน์ยกประเด็นเรื่องผังเมืองซึ่งเมื่อก่อนทฤษฎีวางอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล และกลับไม่ตอบโจทย์คนที่ได้รับผลกระทบจริง สะท้อนไปยังหลักคิดที่ว่าด้วยความเป็นธรรมเรื่องอรรถประโยชน์นิยม เพราะตามกฎหมายผังเมืองนั้นระบุชัดว่าให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลัก โดยที่ด้านหนึ่งนั้นมันได้ละเลยคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ อันนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจในรัฐของหลายๆ ประเทศ และถึงที่สุด ความไม่ไว้วางใจดังกล่าวจึงย้อนกลับมากระทบต่อคนกำหนดนโยบายสาธารณะเสียเองในเวลานี้

“ผมอาจไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาที่แน่นอนได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเปลี่ยนกระบวนคิด ส่วนตัวเชื่อว่าเราต่างต้องลดความเป็นเทคโนแครตลง เราต้องตอบให้ได้ว่าข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งสำเป็นในการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้น ต้องมีข้อมูลระดับไหนจึงจะพอ 

“ส่วนตัวมองว่าจุดพลิกผันในระยะยาวคือการลงทุนการขนส่งในที่สาธารณะ เพราะนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย เพราะจะทำให้รัฐระดับท้องถิ่นจัดการนโยบายให้ตรงตามความต้องการได้” อภิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ อภิวัฒน์ชี้ว่าสังคมกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ เช่นภาวะโลกรวน โรคระบาด การย้ายเข้าเมืองของประชากรและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โจทย์สำคัญคือเราจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และกระบวนการการออกแบบดำเนินการด้านนโยบายสาธารณะด้านเมืองอย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันได้ และหนึ่งในทางแก้ไขคือการเพิ่มขีดจำกัดของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่ได้หมายความถึงการส่งคนไปฝึกทักษะใดๆ เพราะปัญหาอยู่ที่ความสามารถในการจัดการกับผู้คนที่หลากหลายและมีพลวัตมากขึ้นของรัฐ ที่ผ่านมาจะพบว่า ความสามารถของรัฐในการจะป็นผู้ประสานประโยชน์ จัดการความขัดแย้งนั้นน้อยมาก

“นโยบายสาธารณะไม่ใช่แค่การหาคำตอบที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของสังคม เพราะหลักการและเหตุผลของการกำหนดนโยบายฯ มิได้ตั้งอยู่บนฐานว่าเรามีคำตอบหนึ่งเดียวที่ทุกคนจะยอมรับได้ หากแต่ผลลัพธ์ย่อมต้องมาจากการต่อรองกับคนในสังคม ซึ่งหนีไม่พ้นการออกแบบกระบวนการนโยบายสาธารณะใหม่ โดยที่ต้องคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล แต่ละพื้นที่ด้วย เราต้องลงลึกไปถึงขั้นที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนที่มีความแตกต่างทั้งทางด้านเงื่อนไข บริบท และความต้องการสามารถต่อรองกันได้” อภิวัฒน์กล่าว “แน่นอนว่าอาจไม่ใช่ฉันทามติในความหมายที่ว่าทุกคนเห็นตรงกันหมด แต่หมายถึงว่าเห็นด้วยในกระบวนการผลลัพธ์ซึ่งอาจยังไม่เท่าเทียมกันนัก หลักคิดเชิงศีลธรรม (moral guiding principles) ของเราจึงต้องชัดด้วย”

โดยอภิวัฒน์ปิดท้ายว่า เวลานี้สังคมเต็มไปด้วยความหลากหลายและแตกต่าง มีปัญหาเชิงระบบที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยนโยบายระดับชาติ สิ่งที่จำเป็นคือการแตกระบบออกเป็นเสี้ยวๆ ให้กลายเป็นเครือข่าย หรือก็คือการกระจายอำนาจให้ได้มากที่สุดนั่นเอง 

เพราะกฎหมายนั้นคือตัวประกอบร่างและคือส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย

อาร์ม ตั้งนิรันดร
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ด้าน อาร์ม ชี้ว่ามีสองประเด็นที่อยากชวนให้คิด ประเด็นแรกคือบทบาทของกฎหมายต่อการพัฒนา และประเด็นถัดมาคือกระแสโลกในการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับประเด็นแรกนั้น อาร์มขยายความว่า โลกในอดีตกับปัจจุบันคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับนโยบายสาธารณะต่างกันมาก ที่ผ่านมาเราเคยคิดว่ากฎหมายคือเรื่องของความสงบเรียบร้อย แต่มาวันนี้เรากลับพบว่ากฎหมายนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงต่อนโยบายสาธารณะเพราะทุกองค์ประกอบของนโยบายฯ นั้นก่อร่างด้วยกฎหมาย กล่าวได้ว่า โลกในอดีตคิดว่ากฎหมายเป็นตัวแก้ไขปัญหา แต่วันนี้ วงการนิติศาสตร์สากลคิดต่างไปจากเดิมในแง่ที่ว่า กฎหมายนั้นคือตัวประกอบร่างและคือส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย

“ยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อนหากเรานึกถึงนโยบายสาธารณะ เราจะพบว่าหากเจอปัญหาอะไรก็ออกกฎหมายมาแก้ไข เช่น สิ่งแวดล้อมไม่ดีก็ออกกฎหมายจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ามองด้วยโลกทัศน์ใหม่ จะพบว่ากฎหมายเป็นตัวที่ก่อร่างสร้างโครงสร้างทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และมีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไร ทั้งหมดนี้จะพบได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เองก็กำหนดไว้ชัดเจนว่าก่อนจะออกกฎหมายต้องคิดถึงต้นทุนของกฎหมาย เพราะกฎหมายนั้นย่อมมีต้นทุนในการบังคับใช้” อาร์มกล่าว 

นอกจากนี้ จากที่สังคมเคยคิดว่ากฎหมายย่อมเป็นเรื่องของนักกฎหมาย เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนตัวแล้วคิดว่าเวลานี้เป็นยุคที่กฎหมายขยายพรมแดนและเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าต้องท้าทายนักกฎหมายมากขึ้นเพราะเรียกร้องให้นักกฎหมายเข้าใจมากกว่าศาสตร์ของนิติศาสตร์ แต่ต้องเข้าใจสรรพศาสตร์และนโยบายสาธารณะมากขึ้น โดยพร้อมกันนี้ ก็ต้องตระหนักด้วยว่าศาสตร์อื่นก็เกี่ยวข้องกับกฎหมายไม่ต่างกัน เห็นได้จากหนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ ที่กล่าวถึงมิติของนโยบายสาธารณะที่โยงไปเรื่องกฎหมายด้วย

ประเด็นต่อมาคือเรื่องโลกภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ อาร์มชี้ว่า ปัญหาหลายอย่างที่ไทยเผชิญในวันนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่เพียงลำพัง แต่เป็นปัญหาที่หลายประเทศในโลกก็ต้องเผชิญร่วมกัน ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกาหรือจีน หลายกรณีก็มิใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวหรือลักษณะเฉพาะที่มีในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หากมองไปยังประเทศอังกฤษก็จะพบว่าเป็นสังคมที่ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับรากฐานและค่านิยมไม่ต่างกันจากของไทยนัก ซึ่งอาร์มคิดว่า การมองและพยายามทำความเข้าใจเชิงเปรียบเทียบว่าประเทศอื่นมีเครื่องมือนโยบายสาธารณะอย่างไรในการแก้ปัญหาคล้ายๆ กันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในปัจจุบัน 

“นอกจากนี้ โลกยังแบ่งออกเป็นสองขั้วซึ่งต่างจากอดีตมาก เมื่อก่อนเป็นยุคที่มีมหาอำนาจเดี่ยวและมีความเสถียร ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านนโยบายสาธารณะที่ค่อนข้างแน่ชัดในบริบทโลกและการเมือง แต่เวลานี้ที่โลกแบ่งออกเป็นสองขั้ว  ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การต่างประเทศในปัจจุบันจึงมีมิติผูกโยงกับนโยบายสาธารณะระดับโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเป็นนโยบายฯ ที่ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าแต่ละประเทศจะได้รับผลประโยชน์อะไร ต้องการอะไรเพื่อจะได้ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการให้ประเทศเราก้าวไปข้างหน้า” อาร์มกล่าว

โดยเขาระบุว่า หากต้องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นั้น จะพบว่าที่ผ่านมาประเทศไทยขาดอยู่สามองค์ประกอบ ได้แก่ จินตนาการ การลงมือปฏิบัติ และการรับฟัง

จินตนาการ

ในยุคที่ปัญหาเปลี่ยนเร็วทำให้ความรู้ตามไม่ทันปัญหา สถานการณ์หลายอย่างก็ไม่อาจใช้ความรู้เก่ามาแก้ปัญหาได้ โดยอาร์มชี้ว่าที่ผ่านมานั้นเรามักจะคิดว่าเทคโนแครตคือเรื่องของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ สิ่งที่เทคโนแครตต้องมีคือต้องมีศิลปะในการเข้าใจความเชื่อมโยง และต้องมีจินตนาการมากขึ้น เทคโนแครตไม่อาจคิดว่าคำตอบนั้นอยู่แต่ในตำราเสมอไป หรือเฝ้ามองหาคำตอบหนึ่งเดียวกันเป็นมาตรฐานได้อีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งนั้นไม่ตอบโจทย์โลกในปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องจินตนาการถึงเศรษฐกิจ สังคมใหม่ด้วย

การลงมือปฏิบัติ

“เราคิดอย่างเดียวไม่ได้ รู้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ อันที่จริงเราน่าจะเคยได้ยินการล้อกันเองในหมู่งานวิจัยที่ทำนั้นเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง” อาร์มกล่าว “ดังนั้นแล้ว การปฏิบัติมีความสำคัญในแง่ที่เราจะได้รู้ว่าข้อเสนอด้านนโยบายสาธารณะของเราใช้ได้ไหม เวลาปรับใช้ในโลกความจริงมีปัญหาอย่างไร บางอย่างเราคิดตามหลักวิชาการแต่เมื่อเอาไปใช้กับโลกความจริงก็ต้องมีปรับเพื่อความเหมาะสมด้วย”

การรับฟัง 

อาร์มตั้งประเด็นว่า หนึ่งในปัญหาของวงการนโยบายสาธารณะของไทยคือ มักมีการแปะป้ายว่าคนนั้นมาจากขั้วนั้น หรือคนนี้มาจากขั้วนี้ นำไปสู่การแบ่งข้างและไม่ยอมพูดคุยกันทั้งที่การแลกเปลี่ยนกันนี้เป็นสิ่งสำเป็นอย่างมาก ตัวหนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำคนจากหลากหลายศาสตร์มาแลกเปลี่ยนกัน เราจึงต้องรับฟังศาสตร์ให้หลายศาสตร์ หลายภาคส่วนอันเป็นธรรมชาติของการกำหนดนโยบายสาธารณะใหม่ที่ต้องเน้นการรับฟังมากขึ้น

ทั้งนี้ ทุกคนย่อมมีอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายสาธารณะก็คือการเมือง เพราะนโยบายสาธารณะคือการเลือก และเมื่อใดก็ตามที่เราต้องเลือกนั้นก็หมายความว่าเราหลีกเลี่ยงมิติทางเศรษฐกิจหรือทางการเมืองไม่ได้เลย คำถามคือจะทำอย่างไรจึงจะรับฟังกันได้โดยไม่ใช้เหตุผลเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่อาจแตกต่างกันจนเราไม่ยอมคุยกัน เพราะการแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะนั้นคือการต่อสู้แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองโดยไม่ให้เราติดอยู่ในสังคมที่มีแต่คนคิดแบบเดียวกันกับเราเท่านั้น 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save