พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง
เมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสอันดีเยี่ยมครั้งหนึ่งในชีวิต โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน global fellows จำนวน 25 คน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้เข้าร่วมโครงการของ Eisenhower Fellowships และได้เดินทางไปในเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาถึงเจ็ดสัปดาห์ เพื่อศึกษา แลกเปลี่ยน และทำความเข้าใจในประเด็นที่แต่ละคนสนใจ
Eisenhower Fellowships เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1953 จากเงินตั้งต้นของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่มอบให้เป็นของขวัญวันเกิดแก่ประธานาธิบดี Dwight Eisenhower อดีตนายพลกองทัพสหรัฐ ผู้เชื่อว่าการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระดับบุคคลจะช่วยให้โลกมีสันติภาพ เจริญรุ่งเรือง และมีความยุติธรรมมากขึ้นได้
Eisenhower Fellowships จะทำการค้นหาตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และมีความปรารถนาที่จะเห็นโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ให้มีโอกาสเดินทางไปในสหรัฐ พบกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำในด้านต่างๆ เพื่อศึกษา ทำความเข้าใจ และนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศของตน นอกจากนั้น โครงการยังคัดเลือกคนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อเดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ และเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจอีกด้วย
ผู้ได้รับคัดเลือกในโปรแกรมต่างๆ ที่มาจากทั่วโลกจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของผู้นำทั่วโลก ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ในประเทศไทยเอง มีผู้เคยผ่านโครงการของ Eisenhower Fellowships มากกว่า 50 คน

global fellow ที่ได้รับคัดเลือกแต่ละคน จะออกแบบโปรแกรมการเดินทางของตนเองไปยังเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ตามจุดประสงค์ของการเดินทางของแต่ละคน โดยรับการสนับสนุนจากทาง Eisenhower Fellowships โดยมี program officer ทำหน้าที่ช่วยแนะนำ และสนับสนุนการนัดหมาย ซึ่งต้องร่วมกันออกแบบโปรแกรมการเดินทาง ตั้งแต่ 3-4 เดือนก่อนเริ่มเดินทางจริง
โครงการเริ่มจากงานสัมมนาในสัปดาห์แรก ซึ่งรวมถึงการแนะนำตัวของเหล่าผู้เข้าร่วมโครงการ แค่ได้ฟังประวัติของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคน สิ่งที่กำลังทำ และเป้าหมายที่หลากหลาย ภายใต้เป้าหมายคล้ายๆ กัน คือการอยากเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวดีขึ้น ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และทำให้รู้สึกว่าตัวเราเล็กลงไปมากทีเดียว
ในรุ่นของผม มีทั้งนายกเทศมนตรีของเมืองเล็กๆ ในฟิลิปปินส์ที่ต้องการศึกษาการวางแผนเมืองในสหรัฐ เพื่อนำกลับไปพัฒนาเมืองของเขา นักการเมืองจากจาไมกาที่ต้องการศึกษาการพัฒนาเมืองที่เน้นการท่องเที่ยว ดนตรี และกีฬา นักเศรษฐศาสตร์จากไอร์แลนด์ที่ผันตัวมาทำงานในโรงเรียนแพทย์และต้องการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของแพทย์เพื่อสร้างแพทย์รุ่นใหม่ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากโรมาเนียที่ต้องการศึกษาโมเดลการพัฒนานวัตกรรมในระบบสาธารณสุข
นอกจากนั้น ยังมีนักธุรกิจจากไต้หวันที่ต้องการสนับสนุนการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน ทนายความจากสเปนที่ต้องการศึกษาประเด็นเรื่องอนาคตของกฎหมายภายใต้เทคโนโลยีใหม่ๆ เจ้าขององค์กรการกุศลในชิลีที่ใช้กีฬามาช่วยเด็กด้อยโอกาสให้ห่างไกลยาเสพติด ข้าราชการการเมืองจากอาร์เจนติน่าที่ต้องการเผยแพร่โมเดลสนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทนไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ผู้บริหารธนาคารในอียิปต์ที่ต้องการส่งเสริมสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็ก หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของกรมตำรวจในไอร์แลนด์เหนือที่ต้องการศึกษาการต่อต้านผู้ก่อการร้าย
หรือเจ้าของฟาร์มในแคลิฟอร์เนียที่ต้องการไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำและแรงงานในออสเตรเลียและชิลี แพทย์ที่อยากหาวิธีส่งต่อผู้ป่วยไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ต้องการส่งเสริมโอกาสให้กับผู้หญิง ผู้บริหารกองทุนที่ต้องการหาวิธีการจัดการแรงงานอพยพในเอเชีย ที่ปรึกษาด้านการศึกษาที่จะเดินทางไปฟินแลนด์และประเทศไทยเพื่อดูตัวอย่างการพัฒนาการศึกษา (เข้าใจว่าคงอยากดูทั้งตัวอย่างที่ดี และตัวอย่างที่ดีน้อยกว่านิดหนึ่ง) เป็นต้น
แค่ได้รู้จักและเรียนรู้จากคนเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีของชีวิต เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่สามารถต่อยอดและร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไปได้เป็นอย่างดี
ตัวผมเองมีเป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้อยู่สองอย่าง
หนึ่ง ผมต้องการศึกษาและเรียนรู้ว่า เราจะสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์ด้านนโยบายเศรษฐกิจสาธารณะและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในประเทศไทยได้อย่างไร และ สอง ผมต้องการเรียนรู้เรื่องแนวโน้มเทคโนโลยีด้านธุรกิจการเงินในสหรัฐ การปรับตัวของสถาบันการเงิน และวิธีส่งเสริมนวัตกรรมด้านธุรกิจการเงิน
ในประเด็นแรก ผมสนใจเรื่องนโยบายสาธารณะ และอยากสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์และถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะมากขึ้นในประเทศไทย
นโยบายสาธารณะมีลักษณะที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ ส่วนใหญ่มีลักษณะ ‘ได้อย่าง-เสียอย่าง’ (trade-off) นั่นคือ ภายใต้นโยบายแต่ละอย่างมักจะมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์อยู่เสมอ เช่น ถ้ามีการเสนอโครงการใหม่ขึ้นมาสักโครงการ โครงการนั้นก็ต้องมีการตั้งงบประมาณขึ้นมา และต้องหาทาง ‘จ่าย’ โดยการตัดงบประมาณจากโครงการอื่น หารายได้เพิ่ม (เช่น ขึ้นภาษี) หรือเก็บไว้เป็นภาระของรุ่นหลังโดยการกู้เงินเพิ่ม ดังนั้นทุกนโยบายจึงมีต้นทุนของนโยบายอยู่เสมอ
หรือนโยบายสาธารณะอื่นๆ เช่น นโยบายการเงิน นโยบายการค้า หรือนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ ก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน เราแทบจะหานโยบายที่มีแต่ประโยชน์โดยไม่มี ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ หรือไม่มีผู้เสียประโยชน์ไม่ได้เลย
หลายครั้งนโยบายเหล่านี้มีผลแบบ ‘ได้กระจุก เสียกระจาย’ คือ คนที่ได้ประโยชน์มีจำนวนน้อย แต่ได้รับประโยชน์มหาศาล ในขณะที่คนเสียประโยชน์มีจำนวนมาก แต่เสียคนละน้อยๆ คนที่ได้ประโยชน์จึงมักมีเสียงดังและมีทรัพยากรในการขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายมากกว่าผู้เสียประโยชน์
คำถามคือเมื่อมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ เราควรมีกระบวนการอย่างไรในการออกแบบและต่อรองผลประโยชน์จากนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากนโยบายสามารถมีส่วนร่วมหรือให้ความเห็นในการออกแบบนโยบายสาธารณะได้
ในสหรัฐอเมริกา การถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะทำกันเป็นปกติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง นอกจากจะเสนอว่า “โครงการอะไร” ก็ยังต้องตอบด้วยว่า “จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย” คำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง ‘ต้นทุน’ ของโครงการเหล่านั้น และหลายครั้งคำตอบว่า “จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย” ก็เป็นคำตอบที่ตัดสินผลของการเลือกตั้งได้เลย
ในสหรัฐอเมริกา เกือบทุกครั้งที่มีการนำเสนอนโยบายสาธารณะสำคัญๆ จะมีการวิเคราะห์ผลได้และต้นทุนของนโยบายสำหรับเป็นวัตถุดิบในการถกเถียงเรื่องนโยบายกันอยู่เสมอ เช่น ในช่วงที่มีคนเสนอให้ยกเลิกนโยบายสาธารณสุขของประธานาธิบดี Obama หรือตอนที่กำลังพิจารณาลดภาษี ก็มีหลายหน่วยงานที่ออกมาวิเคราะห์ถึงต้นทุนและผลกระทบของการยกเลิกนโยบายเหล่านั้น ทำให้มีการถกเถียงเรื่องทางเลือกนโยบายต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง
เห็นอย่างนี้แล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเมืองไทย ที่หลายนโยบายถูกกำหนดออกมาโดยขาดการวิเคราะห์จากฝ่ายต่างๆ ขาดการถกเถียงถึงเหตุผล ต้นทุน และผลกระทบ แทบไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลของนโยบาย แม้นโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก อีกทั้งประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมในการร่วมกำหนดนโยบายเหล่านั้น มิหนำซ้ำคนจำนวนมากยังคิดเสียอีกว่า นโยบายภาครัฐไม่มีต้นทุน เหมือนได้มาฟรีๆ จึงไม่รู้สึกอะไร
ลองนึกถึงนโยบายช็อปช่วยชาติเป็นตัวอย่าง เราทำมาหลายปีติดๆ กัน แต่ไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลของนโยบาย แทบไม่มีการถกเถียงอย่างใช้เหตุใช้ผลกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายที่ได้ผลหรือไม่ ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่วางแผนไว้หรือไม่ เสียเงินภาษีสุทธิไปเท่าไร คนส่วนใหญ่คิดว่าได้รับประโยชน์จากเงินภาษีที่จ่ายน้อยลง จึงแทบไม่มีใครคิดว่าตัวเองเสียประโยชน์ ทั้งๆ ที่เงินที่เสียไปนั้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกมาก นโยบายอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำนำข้าว การเจรจาการค้า แม้กระทั่งนโยบายการเงิน
เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการวิเคราะห์และถกเถียงเรื่องนโยบาย ผมจึงขอไปเจอผู้กำหนดนโยบาย ทั้งด้านนโยบายการคลัง ธนาคารกลางในเมืองต่างๆ นโยบายการจัดสรรคลื่น ไปเจอสถาบันวิจัยด้านนโยบายและอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ไปพบสมาชิกวุฒิสภาและทีมงาน ภาคประชาสังคมทั้งตัวแทนผู้บริโภค สื่อมวลชน และตัวแทนธุรกิจ เช่น หอการค้า
ในประเด็นที่สอง เรื่องเทคโนโลยีการเงิน ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีด้านการเงินพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนภูมิทัศน์การแข่งขันในธุรกิจด้านต่างๆ อย่างมหาศาล และในอนาคตก็ยังจะมีอะไรใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านต่างๆ อีก
ในฐานะที่ผมทำงานในสถาบันการเงิน จึงอยากศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีด้านการเงิน ทั้งพัฒนาการใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ระบบและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมด้านการเงินในสหรัฐ การกำกับและควบคุม ผลกระทบจากเทคโนโลยีด้านการเงินที่มีต่อสถาบันการเงิน วิธีที่สถาบันการเงินตอบสนองต่อเทคโนโลยีใหม่ และการส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการเงินจากมุมมองของสถาบันการเงิน
ผมไปเจอบริษัทสตาร์ทอัพด้านการเงิน บริษัทที่ลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน สถาบันการเงินที่มีโปรแกรมส่งเสริมนวัตกรรมด้านการเงิน รวมถึงผู้กำกับนโยบายด้านการเงิน
ตลอดเวลาเจ็ดสัปดาห์ ผมได้เดินทางไปทั้งหมด 12 เมืองในสหรัฐ มีการประชุมและพูดคุยผู้คนด้านต่างๆ มากกว่า 60 ครั้ง นับเป็นประสบการณ์ที่สนุก ได้เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และเปิดตัวเองกับประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างมากทีเดียว
ไว้คราวหน้าจะมาเล่าต่อว่าได้ไปเรียนรู้อะไรมาบ้างครับ