fbpx

คิดแบบไหน ก็ได้แบบนั้น : เอาตัวรอดด้วยหลักจิตวิทยา

ปกติคนทั่วไปมักเชื่อในประสาทสัมผัสและวิธีคิดของตน ว่าเชื่อถือได้และถูกต้องเสมอ แต่อันที่จริงแล้วสมองของเรามี ‘วงจรการทำงาน’ ที่ยังบกพร่องอยู่มาก แม้ว่าสมองจะเป็นวัตถุที่วิเศษมากอย่างที่หลายคนบอกว่าเป็นสิ่งที่ ‘ซับซ้อนที่สุดในเอกภพ’ ก็ตาม แต่เราก็พบเห็นได้บ่อยครั้งว่าเราตัดสินใจผิดไปหลายเรื่อง เมื่อมองย้อนกลับไปพินิจพิจารณาด้วยหลักเหตุผลแล้ว เราเองก็แทบไม่เชื่อว่าทำไปได้อย่างไร!

บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติหลายอย่างของสมองเรา ซึ่งหากเราตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ขึ้นมาได้ทันการณ์ ก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบมากขึ้น ผมจะขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มของอคติในรูปแบบต่างๆ และกลุ่มของความบกพร่องหรือจุดอ่อนของสมองที่แก้ได้ยาก ซึ่งครอบคลุมไปถึงปัจจัยสำคัญต่อการคิด ตัดสินใจ และอารมณ์ต่างๆ [1]

มาดูกันที่อคติแบบต่างๆ กันก่อน เริ่มจากอคติที่ใกล้ตัวและแสดงออกบ่อยเหลือเกิน บางคนก็มีอคติทำนองนี้สูงทะลุฟ้าเลย นั่นก็คือ ‘อคติเชื่อมั่นในตัวเองจนเกินจริง’ (overconfidence bias) อคติแบบนี้จะทำให้เราประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินจริง จึงกล้าเสี่ยงตัดสินใจและทำเรื่องต่างๆ โดยบางครั้งก็ไตร่ตรองอย่างไม่รอบคอบ

มีงานวิจัยที่พบว่าวิศวกร 37% ระบุว่าตัวเองน่าจะเก่งติดอันดับท็อป 5% แรก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย!

อย่างไรก็ตาม อคติแบบนี้หากใช้ให้เป็น ก็อาจทำให้เราได้ท้าทายความสามารถและดึงศักยภาพในตัวออกมาได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นเช่นนั้น อคติแบบนี้มักจะโดนอคติอีกแบบมาเสริม คือ ‘อคติแบบยืนยันความเชื่อ’ (confirmation bias) ซึ่งทำให้เรามองหาหลักฐานหรือตีความหลักฐานที่ไม่ได้สนับสนุนอะไรกับความเชื่อของเราเลย ให้กลายเป็นสนับสนุนความเชื่อของเราได้ นี่เป็นความสามารถพิเศษของสมองจริงๆ!

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีอคติอีกแบบหนึ่งคือ ‘อคติการหักห้ามใจ’ (restraint bias) ที่คอยบอกกับตัวเราเองว่า เรานั้นมีความสามารถหรือมีความต้านทานต่อการยั่วยุหรือยั่วยวนได้มากเกินกว่าคนทั่วไป สุดท้ายวัยรุ่นที่เสพยาเสพติดประเภทต่างๆ ก็มีจำนวนมากที่คิดว่า “แค่ครั้งเดียวหรือ 2-3 ครั้งเราคงไม่ติดมั้ง” หรือผีพนันที่มั่นใจว่า “แค่เล่นเพียงตาสองตาคงไม่เป็นไร”

แต่เพียงครั้งสองครั้งเท่านี้แหละครับ ก็พอแล้วที่จะเปิดประตูสู่นรกของชีวิตได้!

เรื่องการประเมินตัวเองผิดพลาดยังเกิดเพราะเรามีอคติอีกหลายรูปแบบ เช่น เวลาเราเห็นร้านค้าออนไลน์ผุดขึ้นจำนวนมาก ก็จะเผลอคิดว่าคงทำกันง่ายๆ มีกำไรดี เพราะมองไม่เห็นความพยายามที่ล้มเหลวซึ่งมีมากกว่านั้นหลายสิบหลายร้อยเท่า จึงอาจทำให้เราควักเงินเพื่อลงทุนขายสินค้าออนไลน์แล้วขาดทุนได้ง่ายๆ

อคติแบบนี้เรียกว่า ‘อคติจากการมองเห็นผู้รอด’ (survivorship bias) แต่กลับจินตนาการไม่ออกว่ามีผู้ไม่รอดมากมายเพียงใด มองเห็นเรื่องบางเรื่องง่ายเกินกว่าจริง อีกตัวอย่างหนึ่งที่ส่งผลรุนแรงมากกว่า คือการเห็นข่าวคนถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 ซึ่งสื่อหลายสำนักก็ขยันหาข่าวมาลงได้ทุกงวดจริงๆ  

อคติอีกชุดหนึ่งที่มีผลต่อความคิด-ความเห็นของเรามาก ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับมุมมองทางการเมือง ประกอบไปด้วย ‘อคติอยากคงสถานะเดิม’ (status quo bias) การยึดติดแบบนี้ทำให้เราสั่งอาหารเมนูเดิมๆ ไปร้านอาหารเดิมๆ ซื้อของจากร้านเดิมๆ หรือคนที่ปักใจเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างหมดจิตหมดใจ อาจแปลงกายเป็น ‘นายแบก’ หรือ ‘นางแบก’ โดยมองไม่เห็นความไร้เหตุผลของการกระทำของตัวเองได้เลย

เมื่อประกอบกับอคติอีกแบบคือ ‘อคติแบบยึดติด’ (anchoring bias) ซึ่งทำให้เรายึดติดกับข้อมูลหรือความรู้แรกสุดที่ได้พบเจอ ในทางการเมืองแล้วก็มักจะมาจากพรรคการเมืองหรือจากพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ชื่นชอบพรรคการเมืองเดียวกัน จึงยากที่จะถูกโน้มน้าวใจจากข้อมูลชุดอื่นหรือจากคนที่เชื่อต่างกัน ที่จะมาหักล้างความเชื่อชุดเดิมที่ฝังอยู่ในความคิดไปแล้ว

อคติแบบนี้ยังแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย คือ ของลดราคาในห้างร้านต่างๆ เพื่อจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการโน้มน้าวใจลูกค้า ห้างร้านเหล่านี้จะต้องแสดงราคาเดิมประกอบไว้ด้วยเสมอ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบและทำให้อคติแบบนี้ ‘ออกฤทธิ์’ ได้อย่างสูงสุด

เมื่อตอกฝาโลงความเชื่อด้วย ‘อคติความคิดแบบอนุรักษนิยม’ (conservatism bias) และการใส่ใจแบบเลือกเฉพาะอย่าง (selection attention) เข้าไปด้วยแล้ว สมองเราก็มีแนวโน้มจะไม่ยอมเปลี่ยนมุมมองได้ง่ายๆ แม้เจอหลักฐานใหม่ๆ ที่ชัดเจนและขัดแย้งกับความเชื่อที่เรามีอยู่ อันที่จริงเราจะเจอข้อมูลที่ขัดแย้งน้อยมาก เพราะสมองพยายามจะเลือกและ ‘มองข้าม’ ข้อมูลที่ขัดแย้งไปจนเหลือน้อยที่สุดอีกต่างหาก  

ยกตัวอย่าง บุคคลที่เราให้ความเคารพรักเป็นอย่างยิ่งถูกจับได้ว่าคอร์รัปชัน หรือพระชื่อดัง ที่อาจทำผิดศีลถึงขั้นปาราชิก คนที่ให้ความเคารพหรือเป็นศิษย์ก็อาจยอมรับข่าวเช่นนี้กันไม่ได้ง่ายๆ และหลอกตัวเองต่อไปว่า “ไม่จริงหรอก ต้องโดนใส่ร้ายแน่นอน เพราะฝ่ายตรงข้ามจ้องปล่อยข่าวโจมตีอยู่”

อคติอีก 3 แบบที่พบได้บ่อยและก่อความเสียหายกับชีวิตผู้คนอยู่ตลอดเวลาได้แก่ ‘อคติมองโลกแง่ลบ’ (negative bias) โดยอคติแบบนี้เกิดจากการที่ไปเจอเหตุการณ์ร้ายๆ มา พอเจอตัวเลือกใหม่ๆ แทนที่จะมองเห็นโอกาส ก็กลับกลัวจนมองเห็นแต่ความเสี่ยงแทน จนไม่กล้ารับโอกาสนั้นไว้  

อคติอีกแบบก็คือ แนวโน้มที่จะชอบรางวัลระยะสั้นเฉพาะหน้ามากกว่ารางวัลใหญ่กว่า ซึ่งแบบหลังนี้กว่าจะได้รับต้องรอคอยในระยะยาว เรียกว่านานจนอาจลืมไปแล้ว ผลกระทบแบบนี้กว้างขวางมาก ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการโดนตกง่ายๆ ด้วยคลิปสั้นๆ ของแมวหมาหรือสาวๆ เต้น หนุ่มอวดซิกซ์แพ็ก จนอาจทำให้เสียเวลาไม่เป็นอันทำงานทำการอะไร หรือทำแบบขอไปทีจนทำให้คุณภาพงานไม่ดี

ตัวอย่างที่หนักหนากว่านั้นก็เช่น การใช้เงินเที่ยวหาความสุขความสำราญจนไม่เหลือเงินเก็บเพื่ออนาคตบ้างเลย หรือการสูบบุหรี่-กินเหล้าเป็นประจำ เพราะอยากได้ความรู้สึกสบาย หรือสนุกเล็กๆ น้อยๆ จนสิ้นเปลืองทั้งเงินทองและสุขภาพ แน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าจะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้เลย แต่กับคนที่บังคับตัวเองไม่ได้ ต้องทำสิ่งเหล่านี้มากๆ และบ่อยๆ ก็เริ่มมาจากอคติที่เรียกรวมๆ ว่าเป็น ‘อคติแบบผัดวันประกันพรุ่ง’ (procrastination bias) ที่แฝงอยู่ในคำพูด เช่น “นิดเดียวเอง” “ไม่เป็นไรหรอก” นี่เอง

อคติแบบสุดท้ายที่อยากนำมาฝากกันก็คือ ‘อคติแบบต่อต้าน’ (reactance bias) อคติแบบนี้สรุปได้ง่ายๆ ก็คือ “การยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ” นั่นเอง จิตใต้สำนึกจะพยายามผลักดันให้เราทำทุกอย่างสวนทางกับที่โดนห้าม เพื่อพิสูจน์ถึงอิสรภาพของเรา ตั้งแต่เดินลัดสนามหญ้าไปจนถึงเอามือไปแตะภาพวาดราคาแพง

มีช่องโหว่ของระบบการคิดและทำความเข้าใจของเราอีกหลายเรื่อง เช่น เมื่อเรียนรู้เรื่องอะไรใหม่ เช่น หัวข้อใหม่ๆ หรือเรียนภาษาใหม่ๆ ความสนใจของเราก็จะทำให้เราพบเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ บ่อยมากขึ้นเรียกว่าเกิดเป็นภาพลวงตาของความถี่ (frequency Illusion) ขึ้น คือเรารู้สึกว่าพบได้บ่อยขึ้น ทั้งๆ ที่เดิมก็พบเห็นอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแค่เราไม่สังเกตเท่านั้น

จุดอ่อนของสมองและกระบวนการคิดกลุ่มสุดท้ายมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มักเป็นจุดอ่อนที่เป็นผลมาจากแรงกดดันทางสังคมรอบตัว ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ตามแห่ (bandwagon effect) ที่เรามักจะทำตามคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เราเชื่อถือหรือคนส่วนใหญ่ โดยไม่ฉุกใจคิดว่าการกระทำแบบนั้นเหมาะสมหรือสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด

แรงกดดันจากเพื่อนๆ หรือเพื่อนร่วมงานมีผลต่อการตัดสินใจเป็นอย่างมาก จนแม้บางครั้งเราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมอนุโลมทำตาม ดังเช่นกรณีการกลั่นแกล้งหรือรุมทำร้ายเพื่อนในห้องเรียน หลายครั้งคนที่ร่วมทำด้วยก็ทำไปเพียงเพราะกลัวว่าหากตัวเองไม่ทำ เหยื่อคนต่อไปก็อาจเป็นตัวเองได้

ในวงการหุ้นหรือในตลาดหลักทรัพย์ การแห่จองหรือซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งตามข่าวที่ว่าดี (ซึ่งบางทีก็ปั่นเอาเพราะไม่จริง) พบเห็นได้บ่อยครั้งทีเดียว จนได้รับฉายาว่าเป็นพวก ‘แมลงเม่า’ 

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยเช่นกันก็คือ ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศเอาหัวมุดรู (ostrich effect) เพราะมักเล่ากันว่านกกระจอกเทศที่จวนตัว หนีสัตว์ผู้ล่าไม่ทันเสียแล้ว ก็อาจเอาหัวมุดลงดิน เพราะทำตามสัญชาตญาณด้วยคิดว่าจะทำให้สัตว์ผู้ล่าไม่เห็นตัวเอง

แม้ว่าเรื่องเล่านี้อาจจะไม่จริงก็ตาม แต่คนจำนวนหนึ่งก็ทำเช่นนี้ เพราะเมื่อเผชิญกับภัยใหญ่กลับทำอะไรไม่ถูก และด้วยความกลัวก็จะจงใจละเลยเรื่องร้ายๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ก็ทำตัวเสมือนว่าไม่มีเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นอยู่เลยเสียดีกว่า การทำแบบนี้ไม่อาจคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีได้เลย เพราะเป็นการหลอกตัวเองล้วนๆ  

วิธีการที่ถูกต้องมากกว่า คือการเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการขบคิดหาทางออกที่ดีที่สุดตามหลักเหตุและผล ซึ่งจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและตรงกับเหตุของปัญหามากกว่า  

เรื่องสุดท้ายที่ขอนำมาฝากคือสิ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์กาลาเทีย (Galatea effect) คำว่า ‘กาลาเทีย’ (Galatea) เป็นชื่อของรูปปั้นที่สลักเสลาขึ้นจากงาช้าง โดยกษัตริย์พิกแมเลียนแห่งไซปรัส (Pygmalion of Cyprus) ซึ่งต่อมาได้ตกหลุมรักรูปปั้นนี้เสียเอง แต่ก็โชคดีที่ได้รับพรจากเทพีอะโฟรไดต์ (Aphrodite) ของกรีกที่เป็นองค์เดียวกับ ‘วีนัส’ ของโรมัน ช่วยเสกให้กลายเป็นหญิงสาวขึ้นมาจริงๆ

ในทางจิตวิทยานำเรื่องเล่านี้มาตั้งเป็นชื่อเป็น ‘ปรากฏการณ์กาลาเทีย’ ในความหมายที่ว่า หากเราเชื่อมั่นว่าจะทำสิ่งใดได้สำเร็จ ก็มีแนวโน้มจะสำเร็จ และในทางกลับกัน หากเชื่อว่าเราจะทำไม่ได้ ก็จะทำไม่ได้จริงๆ การจะทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ยิ่งใหญ่หรือยากลำบาก ในเบื้องต้นเราจึงจำเป็นต้องบอกตัวเองเสมอๆ ว่า “เราทำได้!” แล้วฝันนั้นก็จะมีโอกาสเป็นจริงขึ้นมาได้เอง

ทั้งหมดนี้คือความรู้ที่ได้จากการศึกษาจิตวิทยาและสมอง ซึ่งจะช่วยให้ดำรงชีวิตได้อย่างสุขสบายมากขึ้น และรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ถ้าเราสามารถเข้าใจการทำงานของสมองหรือจิตใจของเราเอง จนปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม

ฉะนั้นจึงควรเตือนสติและถามตัวเองอยู่เสมอๆ ว่า เรากำลังมีอคติ หรือกำลังตกหลุมพรางความคิดบางอย่างอยู่หรือไม่ ก่อนตัดสินใจทำเรื่องสำคัญๆ

References
1 Edoardo Albert. Psychology Now, Volume 2, 2022, pp.115-119.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save