“การช่วยเหลือเด็กในสถานสงเคราะห์เอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสงครามนั้น กระทรวง พม. ได้ดำเนินการโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กต้องปลอดภัย และประชาชนต้องมั่นใจได้ว่าการดูแลเด็กที่มีอยู่ทั่วประเทศจะต้องได้มาตรฐาน และเด็กจะต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมนุษยธรรมด้วย”
โควตคำข้างต้นเป็นของจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกล่าวไว้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ภายหลังปรากฏข่าวการทารุณกรรมเด็กในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม หรือที่รู้จักในชื่อ ‘บ้านครูยุ่น’ คำกล่าวของรัฐมนตรีพยายามเรียกความมั่นใจกับสังคมไทยว่าปัญหาทารุณกรรมในสถานรองรับหรือเลี้ยงดูเด็กทดแทนจะไม่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็จะได้รับการป้องกันให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
แต่ยังไม่ทันครบขวบปี ความมั่นใจของสังคมก็พังครืนลงเมื่อหนังม้วนเดิมถูกฉายซ้ำอีกครั้งที่สถานรองรับเด็กในจังหวัดสระบุรี เพียงแต่หนนี้เปลี่ยนจากสถานรองรับเอกชนมาเป็นของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การกำกับของภาคส่วนไหน แต่การทุบตีและกังขังดังปรากฏในข่าวก็สะท้อนว่าทุกวันนี้เด็กไทยจำนวนหนึ่งยังไม่ปลอดภัย และไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพในความเป็นมนุษย์
คำถามสำคัญคือทำไม ‘สถานรองรับเด็กที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นวิมานแห่งการพัฒนาและช่วยเหลือเด็ก หลายครั้งจึงถูกทำให้เป็นนรกหรือโถงถ้ำแห่งความดิบเถื่อนทารุณไปได้’ มีอะไรผิดพลาดตรงไหน หรือแท้ที่จริงระบบสถานรองรับแบบไทยๆ[1] ไม่เคยตอบโจทย์การช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็กตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ผู้เขียนชวนหาคำตอบผ่านการสนทนากับ พัชชา เจิงกลิ่นจันทร์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ และ กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหนึ่งในคณะผู้วิจัยเรื่อง ‘เด็กโตนอกบ้าน…ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น’
โปรดโอบกอดเด็กไว้ในบ้าน ดินแดนที่เขาจะเติบโตได้งดงามที่สุด
ความจริงที่ไม่อาจหลับตาหรือแกล้งมองไม่เห็นคือ สังคมไทยมีปัญหาเรื่องความยากจน ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การสร้างหรือพยุงครอบครัวจำนวนมากให้คงอยู่ได้อย่างมั่นคง ผลลัพธ์จึงกลับกลายเป็นว่าเมื่อไม่อาจเลี้ยงดูปูเสื่อลูกเล็กเด็กแดงที่คลอดออกมาได้ สุดท้ายคนเป็นพ่อแม่ก็เลือกเปิดประตูพาลูกไปฝากฝังที่บ้านหลังใหญ่อย่างสถานรองรับเด็ก ซึ่งรวมเอาเด็กร้อยพ่อพันแม่มาดูแลไว้ด้วยกัน
วิถีการจัดการของครอบครัวที่มีปัญหาด้านสังคมหรือเศรษฐกิจเช่นนี้จึงดูเหมือนถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นสูตรสำเร็จสำหรับแก้โจทย์ชีวิตไปเสียอย่างนั้น ทั้งที่ตามหลักสากลในการช่วยเหลือเด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ ซึ่งระบุไว้ในแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติเน้นย้ำให้เด็กเติบโตกับพ่อแม่ในครอบครัวดั้งเดิมของตน หรือหากมีเหตุจำเป็นก็ให้อยู่อาศัยกับญาติพี่น้องให้ได้มากที่สุด ส่วนการส่งเด็กออกจากครอบครัวไปอยู่อาศัยในสถานรองรับควรเป็นวิธีสุดท้ายและควรใช้ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง แม้พยายามหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกับการเติบโตของเด็กแล้วแต่ไม่เป็นผล ที่สำคัญคือ ควรจะเป็นการไปอยู่ชั่วคราว เพื่อรอส่งเด็กกลับคืนสู่การเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมของครอบครัวอย่างถาวรและยั่งยืนต่อไปเพื่อไม่ให้เด็กต้องบอบช้ำ และรับผลกระทบทางลบที่หลีกเลี่ยงได้ยากของการอยู่อาศัยเป็นกลุ่มใหญ่ในสถานรองรับ
ทว่าสังคมไทยกำลังทำตรงกันข้ามกับหลักการดังกล่าว เพราะกว่า 60% ของเด็กไทยที่อยู่ในสถานรองรับมีพ่อและแม่หรือมีใครอย่างน้อยสักคนจากพ่อและแม่
พัชชา อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ ฉายภาพมุมกว้างเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นว่า “แนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า U.N. Guidelines for the Alternative Care of Children เน้นว่าเด็กควรเติบโตในลักษณะของการเป็นครอบครัว เพราะจะสร้างบรรยากาศในการเติบโตที่ดีที่สุดให้กับเด็กได้ และเป็นพื้นที่ที่เด็กจะมีปมด้อยน้อยที่สุด เพราะอย่างน้อยก็มีคนที่พยายามจะดูแลเขาอยู่ เช่นนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มเเข็งให้กับครอบครัว”
“เเต่ในกรณีที่เด็กไม่สามารถอยู่ในครอบครัวได้ เนื่องจากถูกใช้เเสวงหาผลประโยชน์ ถูกทำร้าย หรือถูกปล่อยปละละเลย ก็มีความจำเป็นต้องเข้าไปคุ้มครองเด็ก ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงถูกทำร้ายนี่นับว่าน้อยมาก และแทบไม่ใช่เด็กทั่วไปที่อยู่ในสถานรองรับปัจจุบันเท่านั้น เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานรองรับคือ เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้ หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้อยู่ในสภาวะยากลำบาก”
“สำหรับประเทศไทย เรามีการจัดการผ่านการสนับสนุนให้เด็กสามารถอยู่ในครอบครัวของตนเอง ซึ่งเป็นสวัสดิการโดยรัฐแต่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ตัวอย่างนโยบายรูปแบบนี้ เช่น การให้เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจนโดยให้การช่วยเหลือเป็นเงิน ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กหนึ่งคน และไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกินกว่าหนึ่งคน ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะมาก ครอบครัวที่ได้รับเงินมาก็ใช้สำหรับเหตุเฉพาะหน้ากันมากกว่า แต่ไม่ได้ช่วยให้ต่อเนื่อง บางครอบครัวที่มีปัญหาซ้ำซ้อนอาจยังไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤติได้ด้วยเงินจำนวนนี้ หรืออีกนโยบายคือโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด คนละ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะติดที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เลยไปจบที่ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติเลือกให้เฉพาะแค่เด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อยเท่านั้น”
ด้านกัณฐมณี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองในมุมการจัดการของภาครัฐต่อปัญหาเดียวกันว่า “ในความเป็นจริง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องระดมสรรพกำลังต่างๆ ลงไปช่วยครอบครัวที่ประสบปัญหาให้สามารถเลี้ยงดูลูกของเขาเองได้ ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้มากขึ้นก็จะลดภาระที่จะเอาเด็กออกจากครอบครัว อีกอย่างถ้าดูเรื่องงบประมาณ เราจะพบว่าการนำเด็กออกจากครอบครัวมักจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าการสนับสนุนให้ครอบครัวนั้นๆ เลี้ยงดูเด็กเองได้”
อย่างไรก็ดี กลไกการสร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวเพื่อให้เลี้ยงดูเด็กได้ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และค่านิยมแก้ปัญหาความไม่พร้อมเลี้ยงดูด้วยการส่งเด็กเข้าสถานสงเคราะห์จึงกลายเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ผลักเด็กไทยออกจากบ้านหลังเล็กๆ ไปสู่บ้านหลังใหญ่ที่ไม่คุ้นเคยกว่า 120,000 คน การพูดถึงสถานรองรับเด็กสำหรับประเทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญเกินกว่าจะเลี่ยงได้
‘สถานรองรับไม่ใช่คำตอบ’ เพราะอาจทำหลายสิ่งหล่นหายระหว่างทางที่เด็กเติบโต
นอกจากเหตุผลว่าบ้านที่มีครอบครัวเลี้ยงดูจะเป็นเหมือนดินดีที่ทำให้เด็กเติบโตอย่างงดงาม และมีภูมิคุ้นกันที่แข็งแกร่งกว่าแล้ว กัณฐมณียังระบุถึงความขาดพร่องอันน่ากังวลของสถานรองรับหรือสถานสงเคราะห์เด็ก ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคืออาจไม่ได้หนุนเสริมแก่การเติบโตของเด็กเท่าไรนัก
“การปล่อยให้เด็กผ่านประตูเข้าสู่สถานรองรับมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อสภาพจิตใจ ความปลอดภัย และทักษะของเด็กที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนหรือใช้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กไม่มีโอกาสได้คิดตัดสินใจว่าวันนี้จะกินเมนูอะไร เพราะอาหารแทบทุกมื้อถูกกำหนดมาหมดแล้ว หรือเรื่องกีฬา พวกเขาก็ไม่มีสิทธิตัดสินใจว่าวันนี้เขาอยากเล่นกีฬาอะไร เพราะสถานสงเคราะห์จะระบุให้เลยตามงบประมาณและทรัพยากรที่มี แม้ว่าเด็กจำนวนหนึ่งอยากเล่นแบดมินตันก็ไม่มีสิทธิ์ได้เล่น เด็กหลายคนไม่รู้จักวิธีจ่ายตลาด หรือบริหารการเงินของตัวเอง เหล่านี้สะท้อนว่ามีข้อจำกัดมากมายที่จะกระทบต่อกระบวนการคิดตัดสินใจของเด็ก”
“อีกความน่ากังวลในระยะยาวคือ สถานสงเคราะห์อาจทำให้เด็กลืมรากเหง้าของตัวเอง เพราะเด็กต้องห่างจากครอบครัวและชุมชนเดิมของพวกเขา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เด็กในสถานสงเคราะห์จำนวนหนึ่งที่เชียงใหม่ลืมภาษาชาติพันธุ์ ลืมวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อโตขึ้นพ้นวัยที่ต้องออกจากสถานสงเคราะห์กลับกลายเป็นว่าพวกเขาไม่อยากกลับบ้าน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่จากมา ไม่มีรากที่จะเชื่อมโยงตัวตนของเขากับชุมชนให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน”
ในขณะที่พัชชาตั้งคำถามว่า เราจะทำให้สถานสงเคราะห์เป็นเหมือนบ้านหรือมีบรรยากาศของครอบครัวได้อย่างไร เพราะเพียงจำนวนเด็กที่อาศัยอยู่ร่วมกันมากกว่า 10 คนขึ้นไปก็ทำให้แตกต่างจากบ้านที่เป็นครอบครัวทั่วไปแล้ว อีกทั้งผู้รับผิดชอบในสถานรับรองเด็กก็อาจจะดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึง และยังมีประเด็นขาดการเฝ้าระวังกัน เพราะรูปแบบส่วนใหญ่ของสถานสงเคราะห์มักแยกเด็กเล็กและเด็กโตออกจากกัน แม้จะเป็นพี่น้องกัน ยกตัวอย่างเช่น พี่อายุ 10 ขวบถูกแยกอยู่คนละที่กับน้องอายุ 4 ขวบ ส่งผลให้พี่ไม่สามารถช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลน้องไม่ได้ ในส่วนนี้เข้าใจว่าเรื่องการแยกเพื่อดูแลเด็กตามช่วงวัย แต่เป็นสิ่งที่ต่างจากครอบครัวอย่างชัดเจน”
‘ทารุณกรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก’ ภาพยอดภูเขาน้ำแข็งของสถานรองรับไทย
อีกปัญหาที่เกิดในสถานรองรับเด็ก และสังคมต้องหยิบยกมาถกคุยกันอย่างจริงจังคือ ‘การทารุณกรรมเด็กในสถานรองรับ’ หากมองอย่างผิวเผินจากหน้าข่าวคงพบว่าไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันและเมื่อหายจากหน้าข่าวแล้วคนก็ลืมไปชั่วขณะ แต่ในความเป็นจริงนี่คือปัญหาใหญ่ที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรม ถ้าไม่ปะทุเป็นข่าวอื้อฉาวก็ยากที่คนนอกรั้วสถานรองรับจะรับรู้ เพราะระบบและกลไกต่างๆ เอื้อให้ปัญหาถูกซุกมากกว่าจะแผ่เปิดเพื่อตรวจสอบและแก้ไข
“การมองภาพรวมสถานการณ์ทารุณกรรมเด็กในสถานรองรับ ว่ากันตามตรงไม่อยากให้ดูที่หน้าข่าวเป็นหลัก เพราะการทารุณเด็กกว่าจะเป็นข่าวเด็กคนนั้นมักผ่านกระบวนการถูกกระทำย่ำยีทั้งทางกายและทางใจรูปแบบอื่นมามากเเล้ว ที่ออกเป็นข่าวส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องใหญ่โตและเห็นได้ชัด เเต่ในลักษณะที่ไม่เป็นข่าวอาจจะยังมีอีกมาก โดยเฉพาะความรุนแรงทางด้านจิตใจที่ไม่สามารถเห็นร่องรอยได้” พัชชาระบุ ก่อนจะให้รายละเอียดของความรุนแรงในสถานรองรับว่า
“รูปเเบบการทารุณกรรมนั้นมีหลากหลาย การทารุณกรรมร่างกายมักเชื่อมโยงกับการทารุณกรรมจิตใจมาก่อนเสมอ อธิบายให้ชัดคือ ไม่ใช่ว่าเด็กเดินอยู่ดีๆ แล้วจะถูกทุบตีหรือเอาตัวไปขังได้เลย แต่ก่อนหน้าที่ขยับมาถึงจุดที่แตะเนื้อต้องตัว เด็กมักถูกกระทำด้วยการใช้วาจาทำร้ายจิตใจ เช่น การก่นด่าให้อึดอัดหรือข่มขู่ให้หวาดกลัว ซึ่งวิถีทางเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากฐานความคิดของสังคมไทยว่า การกำราบเด็กต้องใช้อำนาจข่มขู่หรือทุบตีให้เข็ดหลาบ โดยไม่สนใจว่าเหยื่อที่ถูกกระทำนั้นเป็นทรัพยากรของประเทศที่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขา โดยจะให้ใครทำร้ายไม่ได้”
ส่วนกัณฐมณีให้ความเห็นว่า มีผ้าคลุมอย่างน้อย 2 ผืนที่พยายามปิดปัญหาการทารุณกรรมเด็กไม่ให้เปิดเผยออกมา ผืนแรกคือเด็กในสถานรองรับบางแห่งยังคงไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร หรือต่อให้มีก็ไม่มีช่องทางติดต่อที่ไว้ใจได้เพื่อร้องเรียนกรณีที่ตนเองถูกทำร้ายโดยไม่กังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น อาจจะถูกให้ออกและทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือ
ผ้าคลุมอีกผืนคือ ความล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการเก็บรวบรวมสถิติหรือข้อมูลการทารุณกรรมเด็ก จึงดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีกรณีดังกล่าวในสถานรองรับ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเพราะไม่มีตัวเลขอ้างอิงที่ถูกต้องและไม่สามารถเก็บจำนวนกรณีได้ครบถ้วน อันที่จริงเรื่องนี้เราต่างรับรู้กันมาตลอด แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการตื่นตระหนกกันครั้งคราวโดยเฉพาะเมื่อมีข่าวที่เป็นที่สนใจของสังคม มากกว่าจะเป็นการตระหนักเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
นอกจากนี้กัณฐมณียังกล่าวถึงการทำร้ายจิตใจเด็กอีกรูปแบบที่แม้จะเรียกได้ไม่เต็มปากว่าเป็นการทารุณกรรมทางจิตใจ แต่ผลกระทบก็เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุ และทำให้เด็กแตกพังทางความคิดความรู้สึกเมื่อเติบโตขึ้น เพราะเป็นการทำให้เด็กเกิดอาการพร่องรักผ่านวิถีปฏิบัติแบบผิดๆ
“ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่ชอบทำให้สถานสงเคราะห์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทำทานโดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการเจริญเติบโตของเด็ก”
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด เช่น สถานสงเคราะห์แห่งหนึ่ง พี่เอมาทำบุญแจกขนมตอนเก้าโมงเช้า เด็กๆ ก็จะวิ่งกันมารับขนมด้วยความดีใจ โดยพี่เออาจมีโอบกอดหรือถ่ายรูปกับเด็กบ้าง จากนั้นพี่เอก็จากไป พอสักประมาณเที่ยงตรง พี่บีเอาของเล่นมาแจกอีกคน เด็กๆ ก็วิ่งมารับกันด้วยความดีใจ และมีกิจกรรมต่างๆ คล้าย ๆ กับที่พี่เอทำ แล้วสุดท้ายพี่บีก็จากไป สถานการณ์แบบนี้ถ้าเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็เสี่ยงทำให้เด็กเผชิญภาวะความผูกพันผิดปกติ เขาจะรู้สึกว่ากำลังถูกหลอกทางความสัมพันธ์ โลกนี้ไม่มีใครรักเขาจริง แต่ละคนที่มาหาเหมือนจะรักแต่ก็จากไป จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในสถานสงเคราะห์พบว่าเด็กๆ เหล่านี้แววตาของเขาจะเป็นประกายน้อยลง บางคนเมื่อต้องไปเจอคนแจกของ เขาอยากจะอาเจียน เพราะรู้สึกอิดเอียนและเหนื่อยหน่าย”
“ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ก็จะเผชิญผลกระทบอีกแบบหนึ่ง เด็กกลุ่มนี้จะถูกทำให้กลายเป็นเด็กที่ยากจะรู้สึก เพราะเขาไม่มีคนที่จะคอยเอาใจใส่ตลอดเวลาเหมือนที่แม่หรือพ่อทั่วไปทำให้ ยิ่งยามที่เขาร้องไห้แล้วไม่มีคนมาเปลี่ยนผ้าอ้อมในทันที ไม่มีคนคอยมาโอ๋มาโอบกอดหรือสัมผัสเขา พอนานๆ เข้า ร้องไห้ไปไม่มีใครได้ยินเด็กก็จะเงียบลง เช่นนั้นเด็กยิ่งเล็กยิ่งไม่อยากให้อยู่สถานรองรับเลย”
“ทั้งหมดทั้งมวลคือความอันตรายที่ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในยุคสังคมสูงวัยกำลังเผชิญอยู่ เราควรทำให้เด็กเรามีคุณภาพมากๆ แต่ปัจจุบันเราทำให้เด็กอย่างน้อยแสนกว่าคนต้องตกอยู่ในลักษณะคล้ายๆ กันนี้”
‘ระบบติดตามบกพร่อง-ทรัพยากรบุคคลไม่ถูกสนับสนุน’ สองก้อนน้ำแข็งที่ฐานล่าง
ปัญหาทารุณกรรมเด็กที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาการช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็ก แต่ฐานล่างยังมีก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมาอย่างน้อยสองก้อนที่เชื่อมติดกัน ก้อนแรกคือปัญหาเชิงระบบการติดตามและตรวจสอบสถานรองรับ อีกก้อนคือปัญหาทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็ก
สำหรับฐานน้ำแข็งก้อนแรก พัชชากล่าวว่า “ในทางหลักการ สถานรองรับเด็กทุกแห่งต้องขออนุญาตจดทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะมีกระบวนการพิจารณาและเสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวงฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนออกใบอนุญาต และติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงเฝ้าระวังเด็กหลังจากจดทะเบียนแล้ว โดยมีกรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นหลักในการประเมิน แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันมีสถานรองรับเด็กเอกชนจำนวนมากไม่ได้จดทะเบียน ตรงนี้กลายเป็นช่องโหว่สำหรับติดตามประเมินความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็ก”
“ในขณะเดียวกัน การประเมินสถานสงเคราะห์ที่จดทะเบียนก็มีจุดที่น่ากังวล เพราะลักษณะการประเมินอาจไม่สามารถลงลึกทุกมิติได้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและบุคลากร จึงคล้ายกับการไปเยี่ยมดู ตรวจตรา และประเมินผลจากสิ่งที่เห็น ณ เวลานั้น ตรงนี้ไม่ได้จะบอกว่าคนประเมินทำหน้าที่ของตนเองไม่ดี แต่แค่ชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงว่า ถึงที่สุดเมื่อคนประเมินมาแค่ชั่วคราว ไม่ได้ฝังตัวอยู่กับเด็กเท่าที่ควร ก็อาจตรวจสอบสิ่งที่เป็นอยู่ได้ไม่มาก ทางออกที่น่าจะทำได้ไวที่สุดคือการสร้างระบบการประเมินที่มีมาตรฐานและคำถามชัดเจน หรืออาจเป็นเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้เด็กกล้าพูดกล้าบอกเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยไม่ถูกควบคุมคำตอบจากเจ้าหน้าที่ของสถานรองรับ”
ความคิดเห็นของพัชชาสอดคล้องกับกัณฐมณีที่ระบุว่า “สถานรองรับเด็กเอกชนปัจจุบันมีอยู่ราว 679 แห่ง แต่กว่า 390 แห่ง ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบางที่อ้างว่าจดเป็นมูลนิธิแล้ว แต่ผลทางกฎหมายต่างกัน เพราะมูลนิธิจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ใบขออนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ขึ้นอยู่กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”
“หลายที่ที่ไม่จดในฐานะสถานสงเคราะห์ไม่ใช่เพราะเจ้าของเขาไม่รู้หลักกฎหมาย ส่วนมากรู้กันหมด แต่ยังคงไม่จดด้วยเหตุผลหลักสองประการ หนึ่ง–กฎหมายบังคับว่าแต่ละแห่งต้องมีเจ้าหน้าที่วิชาชีพ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา หรือถ้าดูแลเด็กพิการก็ต้องมีนักกายภาพบำบัด หรือพยาบาลด้วย แต่หลายที่จ้างไม่ไหว สอง–กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในสถานที่และอาคารที่จะขออนญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ แต่หลายที่ยังใช้ที่ดินเช่า หรือไม่ได้เป็นเจ้าของเอง”
ส่วนฐานน้ำแข็งก้อนที่สอง คือ ปัญหาภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กที่ไม่สอดคล้องกับสวัสดิการและค่าจ้าง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดูแลเด็กในสถานรองรับ
“คนทำงานดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ เช่น พี่เลี้ยงต้องแบกรับปัญหาหลายประการที่กดวางลงบนบ่า ประการแรกคือเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการที่สุดแสนจะน้อยนิด ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ยึดหลักการต้องให้คนทำงานดูแลเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจึงจะไปเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงดูเด็กให้ดีได้ แต่ประเทศไทยกลับให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย เฉพาะพี่เลี้ยงที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ต่างๆ พบว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เป็นเพียงพนักงานหรือลูกจ้างประจำ ทำให้ไม่สามารถการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิค่าเล่าเรียนบุตร พวกเขาทำงานหนักแต่กลับได้รับการตอนแทนหรือดูแลเพียงน้อยนิด หรือแม้ในวันที่รู้สึกหมดไฟ กลุ้มใจ เครียด คนกลุ่มนี้ก็แทบจะหาที่พึ่งพิงได้ยาก เพราะไม่มีพี่เลี้ยงที่จะคอยมาให้คำปรึกษาหรือสร้างเเรงจูงใจในการทำงานให้กับเขา” พัชชาให้ความเห็น
ในขณะที่กัณฐมณีมองว่าการที่พี่เลี้ยงได้สวัสดิการและค่าจ้างน้อย แต่งานหนักนั้น ทำให้เป็นสาเหตุของการทารุณกรรมได้ เนื่องจากพี่เลี้ยงมีภาวะหมดไฟ เครียด ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
“จริงอยู่ที่การเลี้ยงดูทุกประเภทมีความเสี่ยงทั้งหมด แต่เราเห็นว่าสถานสงเคราะห์มีความต่างทางอำนาจระหว่างผู้ดูแลกับเด็กสูงมาก ทำให้เกิดการบังคับและทำร้ายได้ นั่นเพราะส่วนหนึ่งผู้ทำหน้าที่ดูแลมีภาวะกระทบทางอารมณ์และไม่สามารถควบคุมจัดการได้ทั้งหมด”
“อีกปัญหาคือจำนวนผู้ดูแลเด็กไม่สอดคล้องกับจำนวนเด็ก ผู้ดูแล 1 คนต้องดูแลเด็กเฉลี่ย 30 คน เทียบกับภาวะข้อจำกัดของมนุษย์อย่างเราถือว่าคนทำงานด้านนี้รับงานหนัก เขาจึงพยายามมองหาวิธีการควบคุมเด็กจำนวนมากๆ ให้อยู่มือได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่การพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงแทบจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะเขาไม่มีเวลาพอที่จะไปร่วมอบรม แม้กระทั่งเรื่องพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเขาควรได้รับการอบรมอย่างการจัดการกับการตอบสนองทางอารมณ์ต่อเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ (trauma) เพื่อไม่ทำร้ายเด็กต่อ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรต้องลงทุนจัดอบรมกันแบบออนไซต์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรมในเชิงปฏิสัมพันธ์ โดยผลลัพธ์สำคัญคือทำให้เขารู้สึกถูกเยียวยาก่อนจะเยียวยาผู้อื่น”
มองทางออก รื้อฐานราก ยึดประโยชน์เด็กอย่างแท้จริง
เชื่อว่าหลายคนคงอยากทลายฐานน้ำแข็งทั้งสองก้อนให้พังครืน ปัญหาที่ส่วนยอดจะได้ละลายหายไปด้วย แต่ในทางปฏิบัติการรื้อฐานน้ำแข็งก้อนมหึมาที่ฝังตัวมาอย่างยาวนานนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ทันทีทันใด แต่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง โดยพัชชามองว่า กรมกิจการเด็กต้องเป็นตัวหลักในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกองคุ้มครองเด็กต้องผลักดันและตั้งต้นคิดว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ เช่น เพิ่มเงินสนับสนุนแก่สถานสงเคราะห์หรือสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการดูแล
“ส่วนการจัดการปัญหาสถานรองรับที่ไม่ได้จดทะเบียนขออนุญาตจัดตั้ง โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้สถานสงเคราะห์ทั้งหมดถูกกฎหมายและได้รับการประเมินอย่างถูกต้อง หรือถ้าไม่ถึงขั้นจดทะเบียน ก็ต้องมีกลไกหรือมาตรการบางอย่างที่จะสามารถเข้ามากำกับควบคุมได้ อาจมีแนวทางในการเสาะหา และสำรวจความพร้อมของสถานรองรับหรือเลี้ยงดูเด็กทดแทนที่มีอยู่ว่ามีศักยภาพและมีบุคลากรที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กหรือไม่ ถ้ามีก็อาจให้เข้ามาอยู่ในกำกับของรัฐเพื่อจะได้ประเมินได้อย่างต่อเนื่อง
“โดยหลักการแล้ว หากมีสถานรองรับที่ไม่พร้อมควรมีการสั่งปิด แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะถ้าปิดเด็กจะไปอยู่ไหนต่อ ตรงนี้กรมกิจการเด็กต้องวางเเผนเชิงระบบ เพราะถ้าหากต้องย้ายเด็กไปที่อื่นๆ อาจเสี่ยงที่เด็กจะเผชิญการปรับตัวที่ยากขึ้น ในขณะเดียวกัน การเปิดสถานรองรับเพิ่มนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นเช่นกัน ตามแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติ มีแนวโน้มให้ลดจำนวนสถานสงเคราะห์ลง และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวมากกว่า”
“ทางออกอีกทางที่คิดว่าทำได้คือ การสร้างกลไกในการเฝ้าระวัง มีระบบที่ดีพอจะปกป้องเด็กที่เป็นผู้ให้ข้อมูล รวมถึงอาสาสมัครที่เข้าไปดูแลเด็ก ซึ่งจริงๆ มีตัวอย่างที่ทำให้เห็นอย่างบ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด ที่ส่งอาสาสมัครไปสร้างความสัมพันธ์กับเด็กไม่ต่ำกว่า 3 วัน/สัปดาห์ ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพี่น้อง และพยายามตรวจตรา สอบถามถึงการดำเนินชีวิตเด็กอย่างครอบคลุมที่สุด เช่น สังเกตพัฒนาการต่างๆ ของเด็ก ซึ่งจะสะท้อนกลับให้กับสถานสงเคราะห์”
“อย่างไรก็ดีแนวทางนี้มีข้อควรระวังคือ ระบบคัดกรองอาสาสมัครที่มีศักยภาพทั้งในเชิงการทำงานและการปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เพราะหากไม่มีระบบชัดเจนอาจกลายเป็นว่าอาสาสมัครที่เข้าไปจะเป็นคนที่ละเมิดเด็กเอง หรืออาจเป็นการสร้างความผูกพันชั่วคราว ซึ่งส่งผลทางลบต่อความรู้สึกของเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิด จึงคิดว่าการเฝ้าระวังจากภายใน จากเด็กด้วยกันเองและจากบุคลากรในสถานรองรับน่าจะดีกว่า”
ต่อประเด็นการปิดสถานสงเคราะห์กัณฐมณีเห็นว่าอาจพิจารณาเป็นขั้นตอน โดยระบุว่า “ขั้นแรกควรทำสถานสงเคราะห์ให้เหมือนบ้านมากที่สุด คือมีขนาดเล็ก ไม่รวมเอาเด็กมาอยู่มากเกินไป”
“แต่หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้มีความใกล้เคียงกับบ้านได้ ส่วนตัวก็เห็นว่าประเทศไทยควรเลือกหยุดพึ่งพิงสถานรองรับ ควรปรับเปลี่ยนสถานสงเคราะห์ให้มีการทำงานกับครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก เพราะงานวิจัยและการศึกษามากมายล้วนยืนยันว่าสถานสงเคราะห์ขนาดใหญ่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการเลี้ยงดูเด็ก”
“สิ่งที่ควรทุ่มเทและทุ่มทุนสร้างคือบริการต่างๆ สำหรับเด็กและครอบครัวให้เพียงพอ เหมาะสม และหลากหลาย เพื่อจะสามารถหนุนเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลเด็กได้ ซึ่งหมายถึงครอบครัวทุกรูปแบบ ทั้งครอบครัวเครือญาติอุปถัมภ์ ที่เด็กๆ อยู่กับปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาด้วย เราเชื่อว่าถ้าครอบครัวเข้มแข็งจะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะมาก รวมถึงสนับสนุนให้มีบริการครอบครัว เช่น การอบรมทักษะในการเลี้ยงดูลูกแก่พ่อแม่ หรือการส่งเสริมให้เกิดครอบครัวอุปถัมภ์ (foster care) มากขึ้นเพราะเป็นครอบครัวทดแทนที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กและเอาใจใส่ความต้องการรายบุคคลของเด็กได้ใกล้ชิดและทั่วถึงกว่าสถานสงเคราะห์”
ต่อคำถามที่ว่าหากต้องปิดสถานสงเคราะห์แล้วเด็กที่เคยอยู่เดิมจะไปอยู่ไหน กัณฐมณีอธิบายเพิ่มเติมว่า “สถานสงเคราะห์แต่ละแห่ง ตอนที่รับเด็กเข้ามาดูแลนั้นจะต้องมีแผนการเลี้ยงดูรายบุคคลที่ชัดเจนว่า เด็กคนนี้จะอยู่ในสถานสงเคราะห์นานแค่ไหนและจะกลับคืนสู่ครอบครัวเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะโดยหลักการแล้วเด็กควรจะได้รับการเลี้ยงดูทดแทนครอบครัวเฉพาะเมื่อจำเป็น และควรอยู่ในการเลี้ยงดูทดแทนเป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่มีการทำงานกับครอบครัวเพื่อส่งเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว หรือวางแผนเพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวประเภทอื่นๆ เป็นการถาวร เพราะฉะนั้นการดำเนินการเพื่อให้เด็กอยู่ในสถานสงเคราะห์เพียงชั่วคราวคือ การพิจารณาแผนการเลี้ยงดูของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร อาจสร้างทางเลือกที่ค่อยเป็นค่อยไปให้เด็กได้สัมผัสและหวนกลับสัมพันธ์กับครอบครัว เช่น ให้เด็กกลับไปอยู่บ้านเดือนละหน หรือสัปดาห์ละหนก็ได้ โดยประเมินตามความพร้อมของแต่ละครอบครัว และมีกระบวนการทำงานทั้งกับเด็กและครอบครัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้การคืนเด็กสู่ครอบครัวสามารถทำได้อย่างยั่งยืน”
ในอนาคตที่สังคมไทยจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ กัณฐมณีจึงคาดหวังให้รัฐบาลใหม่ขยับขับเคลื่อนเกี่ยวกับการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กมากขึ้น
“ทุกวันนี้ภาครัฐมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ขาดคือ ‘เจตจำนงทางการเมือง’ ที่ต้องการแก้ปัญหาในเชิงระบบ และเข้าใจแก่นรากและความซับซ้อนของปัญหา พร้อมทั้งรู้ว่าควรใช้อำนาจทางการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างไรได้บ้าง เช่น การสนับสนุนให้เกิดครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนสถานสงเคราะห์ ต้องสร้างแรงจูงใจหรือส่งเสริมบางอย่าง มีส่วนลดหย่อนภาษีหรือมีมอบโล่เชิดชูให้กับคนที่เป็นครอบครัวอุปถัมภ์รับเด็กไปเลี้ยงดูเป็นเวลานาน เรื่องเหล่านี้อาจจะถูกมองว่าไม่สำคัญ แต่หากมีเจตจำนงที่ต้องการเห็นเด็กเติบโตอย่างเต็มศักยภาพจริงๆ ผู้กำหนดนโยบายก็จะเลือกดำเนินนโยบายที่แม้จะไม่ได้เสริมความนิยมของรัฐบาลโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่ช้าหรือเร็วก็ควรทำเพราะเห็นแก่ประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ”
ส่วนพัชชากล่าวว่า “กฎหมายในระดับสากลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ จึงอยากฝากรัฐบาลว่า ประเทศไทยให้สัตยาบันรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาตั้งเเต่ปี 2535 จึงควรดำเนินการตามอนุสัญญานั้น เป็นการเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีเเล้วทำให้ดีขึ้น และอยากให้ออกแบบนโยบายที่เน้นการป้องกันเป็นสำคัญ โดยตั้งต้นจากโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะลดจำนวนเด็กที่จะเข้าสู่สถานสงเคราะห์ ซึ่งถ้าดูจากนโยบายของพรรคที่ชนะเลือกตั้งอย่างพรรคก้าวไกลมีการชูนโยบายสิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ซึ่งจะช่วยครอบครัวได้ทำหน้าที่ต่อกันได้ดีและมีเวลาเลี้ยงดูลูกมากขึ้น”
“หรืออีกนโยบายซึ่งยังไม่มีพรรคใดเสนอว่าจะขับเคลื่อนโดยตรงคือ ‘นโยบายประเทศนี้ไม่ตีเด็ก’ ซึ่งไม่ได้จะให้เปลี่ยนแปลงทันที หรือเอาผิดผู้ปกครองที่ตีเด็กเพื่อสั่งสอน แต่การกล่าวถึงนโยบายนี้อาจทำให้เกิดการตระหนักมากขึ้นเมื่อจะลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง และเป็นการป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงโทษที่มักบานปลาย เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่หลายประเทศทั่วโลกรับไปปฏิบัติกันแล้ว รวมถึงประเทศเราก็รับหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเหมือนกัน เพียงแต่ว่าในเชิงปฏิบัติไม่มีการริเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ”
↑1 | บทความนี้เลือกใช้คำว่า “สถานรองรับ” เนื่องจากเป็นคำที่มีความหมายครอบคลุมสถานที่รับเด็กไว้เลี้ยงดูมากกว่า เช่นบ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำวัด ศาสนสถาน รวมถึงสถานสงเคราะห์ก็อยู่ภายใต้ความหมายของคำว่าสถานรองรับ |
---|