fbpx
‘โรคระบาด ความเปราะบาง และภัยธรรมชาติ’ ถอดบทเรียนวิกฤตหลังม่านลูกกรง

‘โรคระบาด ความเปราะบาง และภัยธรรมชาติ’ ถอดบทเรียนวิกฤตหลังม่านลูกกรง

ทั้งกำแพงสูงหนา รั้วลวดหนาม ประกอบกับระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดในทุกส่วน ทำให้ภาพของ ‘เรือนจำ’ ทั่วโลกถูกสะท้อนออกมาในแง่สถานที่ที่ดูจะมีความปลอดภัย แน่นหนา และแข็งแรงมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่นั่นอาจเป็นเพียงภาพที่บุคคลภายนอกมองเห็น เพราะเมื่อมองลึกลงไปในเรือนจำทั่วโลกแล้ว เราจะเห็นความเปราะบางมากมายซุกซ่อนอยู่ ทั้งด้วยงบประมาณที่ต่ำ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่สวนทางกับจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้คือความเปราะบางในสถานที่ที่ดูจะแข็งแกร่งที่สุด ถูกซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิด และถูกเปิดเปลือยให้เห็นชัดเจนยามเกิดวิกฤต ดังเช่นที่วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราเห็นเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากภาพของความแข็งแรงและแน่นหนา (ซึ่งอาจไม่ตรงกับความจริงเท่าไรในภาวะวิกฤต) อีกภาพหนึ่งที่คนมักจดจำมาตลอดเมื่อพูดถึงเรือนจำคือ ภาพของความโดดเดี่ยว ตั้งอยู่แยกห่างจากสังคมโดยรวม สิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้ต้องขังในเรือนจำถูกลืม ละเลย หรือแม้กระทั่งถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด อีกทั้งยังพลอยทำให้สังคมส่วนใหญ่มองว่าผลกระทบใดที่เกิดขึ้นกับคนในเรือนจำเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะ เป็นผลที่เกิดขึ้นแบบส่วนบุคคล แต่แท้ที่จริงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นในเรือนจำอาจสร้างผลกระทบกับสังคมได้มากกว่าที่คิด และในขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำมักจะสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมในวงกว้างด้วยเช่นกัน

พูดให้ชัดขึ้น หากเราลองนึกภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ การที่พวกเขาถูกคุมขังหมายถึงการถูกลิดรอนอิสรภาพและการดำเนินชีวิตบางส่วนไป ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ต้องขังต้องพึ่งพาภาครัฐในการรับประกันเรื่องความปลอดภัย สุขภาพและความอยู่ดีกินดี รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน และอย่าลืมว่า เมื่อเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้น ผู้ต้องขังจะไม่สามารถหลบหนีหรือเคลื่อนย้ายไปไหนได้เลย ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเขามีทางเลือกน้อยเหลือเกินในการปกป้องตัวเอง

เท่ากับว่า เรื่องสุขภาพและความกินดีอยู่ดีของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำจะต้องเป็นความสำคัญลำดับแรก (priority) เช่นเดียวกับเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะต้องถูกคำนึงถึงเป็นส่วนแรกๆ ในแผนรับมือเหตุวิกฤตใดๆ ก็ตาม การวางแผนรับมือภัยพิบัติและการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องอาศัยแนวทางการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงความร่วมมือจากผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย

ที่ว่ามาทั้งหมดคือแนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น คำถามสำคัญคือ ที่ผ่านมาเรือนจำทั่วโลกได้พร้อมรับและเตรียมตัวรับมือเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ บางทีคำตอบอาจจะเป็นคำว่า ‘ไม่’ เพราะปัญหาสุขภาพในเรือนจำกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ และถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตโควิดที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาสุขภาพเดิมที่เรือนจำมีอยู่แล้ว ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้เรือนจำกลายเป็นสถานที่ที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในการระบาดครั้งนี้

ในยามวิกฤตที่ความอ่อนแอและปัญหาถูกเปิดเผยให้เห็นชัดเจน 101 ชวนสำรวจสถานการณ์ของเรือนจำในภาวะวิกฤต ผ่านรายงาน Global Prison Trend 2021 ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International: PRI) ไล่เรียงตั้งแต่การตอบสนองต่อวิกฤตต่างๆ ของผู้มีอำนาจ ผลกระทบของวิกฤตต่อผู้ต้องขังและคนในเรือนจำ รวมถึงมาตรการเพื่อตอบสนองและเตรียมพร้อมกับวิกฤต เพื่อฟื้นฟูเรือนจำ คนในเรือนจำ และสร้างอนาคตที่สดใสร่วมกันขึ้นมา

วิกฤตสุขภาพ

ตั้งแต่ก่อนที่โลกจะรู้จักโควิด เรือนจำเป็นสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูงอยู่แล้ว กล่าวคือโรคติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัณโรค อหิวาตกโรค หรืออีโบลา มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าในเรือนจำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แออัดและแนวทางการจัดการโรคระบาดในเรือนจำ ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์การจัดการโรคในระดับชาติไม่ได้คำนึงถึง หรืออาจถึงขั้นละเลย กลุ่มประชากรในเรือนจำด้วย ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพมากมายในเรือนจำ เช่น:

วัณโรค

วัณโรคถือเป็นปัญหาใหญ่ของเรือนจำทั่วโลก โดยเฉพาะวัณโรคชนิดที่ดื้อยา เนื่องจากในเรือนจำมีประชากรจำนวนมาก ผู้ป่วยจึงอาจจะได้รับการวินิจฉัยอาการที่ล่าช้า เมื่อพบว่าเป็นวัณโรคแล้วก็อาจจะเข้าถึงการรักษาไม่ได้มากเท่าที่ควร บวกกับระบบอากาศภายในที่ไม่ดี อีกทั้งผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะมาจากกลุ่มที่มีอัตราการติดและระบาดของวัณโรคสูงอยู่แล้ว โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า อัตราการติดเชื้อวัณโรคในเรือนจำสูงกว่า 11-81 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไป

อีโบลา

เมื่อครั้งที่อีโบลาระบาดขึ้นในแอฟริกาตะวันตกปี 2014-16 ปรากฏว่าเรือนจำสามารถตรวจจับโรคได้อย่างรวดเร็ว จึงนำมาสู่การตรวจโรคที่ไวตามไปด้วย เช่นในประเทศไลบีเรียมีมาตรการลดความแออัดของเรือนจำ ขณะที่ NGOs ก็เข้ามาร่วมสนับสนุนมาตรการด้านสุขอนามัย ทำให้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตในเรือนจำ เช่นเดียวกับประเทศเซียร์รา ลีโอน ที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในเรือนจำเช่นเดียวกัน เนื่องจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและหน่วยงานภายนอก มีการตั้งศูนย์เพื่อเฝ้าสังเกตและกักตัวผู้ต้องขังที่มาใหม่ เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกฝนให้ป้องกันการระบาดของอีโบลา และทุกคนในเรือนจำได้รับชุด PPE และน้ำยาล้างมือเพื่อป้องกันตนเอง

อหิวาตกโรค

อีกโรคที่มักพบได้ในเรือนจำคืออหิวาตกโรค เนื่องจากการขาดแคลนน้ำสะอาดและสาธารณูปโภคที่ถูกหลักอนามัย ตัวอย่างของประเทศที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโรคนี้ เช่น เฮติ ในปี 2010 ที่เจอกับการระบาดหนัก ทำให้ผู้ต้องขังอย่างน้อย 30 คนติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิต 13 คน

โควิด19

เมื่อมาถึงโรคระบาดล่าสุด เราอาจกล่าวได้ว่าโควิดคือโรคที่เปิดให้เห็นความอ่อนแอในระบบสุขภาพทั่วโลก และทำให้เราเห็นว่าเรือนจำทั่วโลกไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ หรือเตรียมกลไกในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพในระดับที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

อย่างไรก็ดี ยังมีเรือนจำหลายแห่งที่มีการจัดการและรับมือกับโควิดได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของเรือนจำที่สามารถรับมือกับโควิดได้อย่างดีเยี่ยมคือระบบเรือนจำในไอร์แลนด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้รับการฝึกฝนให้ใช้ชุด PPE รวมถึงมีการวางแผนและป้องกันที่รวดเร็ว ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างเรือนจำกับระบบสาธารณสุขด้วย

วิกฤตความเปราะบางและความขัดแย้ง

‘ความรุนแรง’ เป็นปัญหาสำคัญที่เริ่มทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงปี 2010 ที่เรียกได้ว่าทุกมุมโลกต้องประสบปัญหาความรุนแรงมากกว่าเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมาเสียอีก ในปี 2020 มีการประมาณว่า ประชากรโลก 23% ต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ ‘เปราะบาง’ และ ‘เปราะบางอย่างรุนแรง’ (อิงตามกรอบของ OECD) นั่นหมายถึงว่า ประชากรโลก 76.5% ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากจนอย่างรุนแรง และจากประชากรโลกทั้งหมดหลายพันล้านคน มี 13% ที่อยู่ในเรือนจำ หรือคิดเป็น 1.4 ล้านคน

สถานการณ์ความเปราะบางยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อผนวกรวมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงอื่น ๆ เช่นที่การระบาดของโควิดทำให้ประชากรมากกว่า 10 ล้านคนต้องถูกผลักไปอยู่ในสภาวะความยากจนอย่างรุนแรงในปี 2020 ทำให้เกิดการถดถอยด้านการพัฒนาและการลดความยากจน

เมื่อขยับมาดูในเรือนจำ สถานการณ์ความเปราะบางและความรุนแรงยิ่งทำให้ระบบความปลอดภัยในเรือนจำอ่อนแอลง ประกอบกับปัญหาเดิมที่เรารู้กันอยู่แล้วอย่างปัญหาเรือนจำแออัด ขาดสาธารณูปโภคที่จำเป็น และขาดผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ อีกทั้งผู้มีอำนาจก็ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยและความกินดีอยู่ดีให้ผู้ต้องขัง ซึ่งอาจนำไปสู่การหลบหนีหรือการประท้วงได้

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเราตั้งต้นที่ว่าเรือนจำเป็นสถานที่ควบคุมบุคคลที่เรามองว่า กระทำความผิด และต้องรับโทษโดยการจำกัดอิสรภาพนั้น ความไม่มั่นคงในเรือนจำจึงสามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความมั่นคงปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ในประเทศเยเมน เรือนจำที่ไม่มั่นคงหรือการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังสามารถนำไปสู่ปัญหาสังคมทั้งในระยะสั้น-ยาว หรือถึงขั้นจุดประกายความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ยังไม่นับว่าเรือนจำที่ไม่ปลอดภัยและการปกครองที่อ่อนแอสามารถก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อการร้ายหรือความรุนแรงได้

นอกจากนี้ ถ้ามองในภาพรวม เราจะเห็นว่าเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ใด สถานที่ต่างๆ หรือสาธารณูปโภคในบริเวณที่เกิดความขัดแย้งย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงอยู่แล้ว ทั้งจากการวางระเบิด ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล การเข้าถึงน้ำและไฟฟ้า หรือในบางครั้ง เรือนจำกลับกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีเสียเอง เช่น ในเดือนเมษายน 2020 เกิดการโจมตีในเรือนจำหญิงในเยเมนที่คร่าชีวิตผู้หญิง 5 คน และเด็กอีก 1 คน หรือในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง กองกำลังติดอาวุธโจมตีเรือนจำในคองโกทำให้ผู้ต้องขังกว่า 1,300 คนถูกปล่อยตัว

เมื่อมองในภาพใหญ่ ประเทศหรือภูมิภาคใดตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง ระบบยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล หรือเรือนจำ ต่างพังทลายไปพร้อมกับหน้าที่หลักของภาครัฐ และเมื่อไม่มีหลักการใดๆ ให้ยึดเหนี่ยว การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นในวงกว้าง ผู้ต้องขังไม่มีกลไกใดๆ เพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้ตนเอง เราอาจจะเห็นภาพที่ทหารหรือกลุ่มต่างๆ เข้าควบคุมเรือนจำ และมีการตั้งระบบยุติธรรมและสถานที่คุมขังของตัวเองขึ้นมาแบบไม่เป็นทางการ นั่นอาจเป็นภาพที่เรียกได้ว่า ระบบยุติธรรมและระบบศาลล่มสลายลงแล้วอย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศเยเมน ที่ระบบยุติธรรมทางอาญาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างยาวนาน ทำให้นอกจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำจะไม่ได้รับการฝึกฝน และไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนใดๆ ให้แล้ว เรือนจำยังต้องเจอกับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็มีจำกัดเกินกว่าจะคอยควบคุมหรือดูแลผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ซ้ำร้าย นอกจากเรือนจำในระบบที่อ่อนแอ เยเมนยังมีเรือนจำนอกจากการควบคุมของภาครัฐที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีการบังคับให้สูญหาย ทรมาน หรือการตาย เกิดขึ้นด้วย

วิกฤตสภาพอากาศและอันตรายจากธรรมชาติ

ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศเป็นเสมือนประเด็นปัญหาร่วมกันของทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำ อีกทั้งภัยธรรมชาติและสภาพอากาศยังทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็มีเพียงแค่ 93 ประเทศทั่วโลกที่มีแผนกลยุทธ์จัดการความเสี่ยงในระดับชาติ ทำให้จินตนาการต่อได้ไม่ยากว่า ประเทศรายได้ต่ำ (low-income) ย่อมได้รับผลกระทบทางลบมากกว่า และกระทบกับประชากรที่เปราะบางมากกว่าด้วย

กลุ่มประชากรในเรือนจำเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น พวกเขาจะไม่สามารถอพยพตัวเองไปยังพื้นที่ปลอดภัย กักตุนเสบียงหรือของจำเป็นเอาไว้ และยังไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกเรือนจำได้อย่างง่ายดายด้วย และถ้าเรามองว่าเรือนจำมีหน้าที่ต้องดูแลผู้ต้องขัง โชคร้ายเรือนจำหลายแห่งทั่วโลกไม่มีแผนอพยพหรือยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตใดๆ และมักล้มเหลวในการสร้างสมดุลระหว่างเรื่องความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชน กับเรื่องความปลอดภัยของสาธารณชนด้วย ส่วนมาตรการที่มีอยู่ก็มักจะเน้นไปที่การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และแทบไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ต้องขัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดสถานการณ์ใดๆ ขึ้น และไม่มีคำสั่งให้อพยพคนออกจากเรือนจำอย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังย่อมต้องเจอกับสภาพที่ไม่ถูกสุขอนามัย และบางครั้งอาจอันตรายถึงชีวิต หรือถ้าเป็นเรื่องสภาพความเป็นอยู่ ลองนึกภาพภัยธรรมชาติที่อาจทำให้ไฟฟ้าถูกตัด เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด และทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ แน่นอนว่ากลุ่มเปราะบางอย่างคนชรา ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนทุพพลภาพ และคนที่มีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและใจ ย่อมได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ

สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ย่ำแย่อยู่แล้วถูกซ้ำเติมให้แย่ขึ้นด้วยโรคระบาด ที่ผลักให้เรือนจำบางแห่งต้องรับมือกับภัยธรรมชาติและโควิดไปพร้อมกัน เช่น ในเดือนกันยายน 2020 เรือนจำ 4 แห่งในรัฐโอเรกอน สหรัฐฯ ต้องอพยพคนเนื่องจากเหตุการณ์ไฟป่า ทำให้เกิดความกังวลว่าจะยิ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดมากขึ้น ในสภาพที่คนในเรือนจำอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดอยู่แล้ว ขณะที่ผู้มีอำนาจก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แต่อย่างใด

ขยับมาที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างกัมพูชา ในเดือนตุลาคม 2020 เกิดน้ำท่วมเนื่องจากมรสุมประจำปี ทำให้เรือนจำในกรุงพนมเปญและจังหวัดบันเตียเมียนเจย (Banteay Meanchey) ต้องอพยพคนกว่า 3,000 คน ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาหารและน้ำ ความแออัดยัดเยียดและการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนก็ออกมาแสดงความกังวลถึงสภาวะด้านสุขภาพของผู้หญิงที่อาจเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ไม่มีเสื้อผ้าให้เปลี่ยน และต้องอยู่ในสภาวะที่แออัดยัดเยียด

นอกจากผลกระทบที่เกิดโดยตรง อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ อันตรายจากธรรมชาติเหล่านี้สามารถนำไปสู่ความไม่สงบในเรือนจำ หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับความแออัดหรือทรัพยากรในเรือนจำที่มีจำกัด เช่น ในอินโดนีเซียปี 2017 ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งหนีออกจากเรือนจำที่ต้องรับภาระความแออัดที่มากกว่าศักยภาพปกติถึง 3.5 เท่า และอีกไม่กี่เดือนต่อมา เรือนจำเดิมก็ต้องเจอปัญหาผู้ต้องขังหลบหนีอีกครั้ง เนื่องมาจากน้ำท่วมจนทำให้กำแพงถล่ม

เมื่อภัยธรรมชาติเกิดขึ้นและกระทบกับเรือนจำเช่นนี้ การจัดการเรือนจำจึงจำเป็นต้องถูกรวมในแผนฉุกเฉินระดับชาติเพื่อที่ผู้อำนาจจะได้ทำงานและสั่งการอย่างทันท่วงที รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ และถ้าอิงตามคำแนะนำของสำนักงานบริการโครงการแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Project Services: UNOPS) แล้ว ปัจจัยด้านภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวหรือน้ำท่วม ควรจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งเรือนจำด้วย

เมื่อ ‘ผู้ต้องขัง’ คือกุญแจสำคัญยามเกิดวิกฤต

อาจจะฟังดูแปลก แต่รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อวิกฤต และเมื่อเรือนจำเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบซึ่งจะช่วยในเรื่องการกลับคืนสู่สังคมด้วย แต่เราก็ไม่ต้องลืมว่า การให้ผู้ต้องขังมีบทบาทในการจัดการวิกฤตย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงอีกหลายประการเช่นกัน เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และคอยควบคุมไม่ให้เกิดการทำร้ายหรือเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น

ตัวอย่างของประเทศที่เปิดให้ผู้ต้องขังมีส่วนร่วม เช่น บราซิลและอีกหลาย ๆ ประเทศ ให้ผู้ต้องขังที่สมัครใจเข้ามาร่วมจัดการไฟป่า ส่วนในจอร์แดน Penal Reform International (PRI) ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการสร้างโปรแกรมการฝึกทักษะอาชีพในเรือนจำ เพื่อผลิตเครื่องสุขาภิบาลให้สถานีตำรวจทั่วประเทศ ขณะที่ในสหรัฐฯ ผู้ต้องขังสามารถช่วยทำความสะอาดหลังจากเกิดพายุได้ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ก็เกิดเป็นความริเริ่มให้ผู้ต้องขังเข้ามาช่วยรับมือวิกฤต เช่น ช่วยทำหน้ากากอนามัย หรือจับคู่กันให้การศึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับโควิด ความริเริ่มเหล่านี้ยังถือเป็นโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ในยามที่กิจกรรมทั้งหลายถูกยกเลิกไปหมดแล้วเพราะโรคระบาด ทำให้พวกเขารู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกลับคืนสู่สังคมหลังพ้นโทษ

ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า แรงงานผู้ต้องขังจำเป็นต้องได้รับความปลอดภัย สุขภาพแรงงาน มีชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ และได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียม ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และข้อกำหนดแมนเดลา น่าเสียดายที่หลายๆ ประเทศเหมือนจะยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ เช่น ในบังกลาเทศ มีรายงานว่าหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยผู้ต้องขังในเรือนจำถูกแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ผู้ต้องขังกลับต้องเสียเงินเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยเสียเอง หรือในฮ่องกง ผู้ต้องขังหญิงออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ค่าแรงที่ต่ำ และการถูกบังคับให้ทำงานตลอดเวลา เมื่อภาครัฐต้องการเพิ่มอัตรากำลังการผลิตหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลน

ห้วงเวลาหลังวิกฤต: ร่วมกันฟื้นฟู เยียวยา และมองไปยังอนาคตข้างหน้าร่วมกัน

แม้เรือนจำจะดูเป็นสถานที่ที่แข็งแรงและแน่นหนาเพียงใด แต่การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เราเห็นแล้วว่า เรือนจำมีความเปราะบางแค่ไหน และจำเป็นเพียงใดที่ผู้มีอำนาจในระดับชาติต้องเข้ามาร่วมมือกับเรือนจำในการจัดการกับวิกฤตและพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

แน่นอน โควิดย่อมไม่ใช่วิกฤตครั้งสุดท้าย แต่ยังมีวิกฤตสุขภาพอื่นๆ วิกฤตสิ่งแวดล้อม หรือวิกฤตความขัดแย้งรอวันปะทุขึ้นมาเสมอ นี่จึงเป็นเวลาที่เราจะต้องหันกลับมาพิจารณาระบบยุติธรรมทางอาญาอีกครั้ง ว่าระบบที่มีอยู่สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

หนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงหลังมานี้คือ การลดจำนวนประชากรในเรือนจำ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่ายิ่งเรือนจำมีคนน้อย การจัดสรรทรัพยากรก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ทว่าแนวคิดดังกล่าวอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว และไม่ได้ช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมเสมอไป จึงเริ่มมีการอภิปรายว่า การปล่อยตัวผู้ต้องขังอาจจะเน้นไปที่กลุ่มผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ ได้รับโทษน้อย กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ใกล้จะพ้นโทษแล้ว

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนคือ วิกฤตสามารถเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนเกี่ยวกับการจำคุกได้ การที่สื่อมวลชนฉายภาพประเด็นผลกระทบที่น่าเศร้าใจของโควิดต่อเรือนจำ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างดีเบตเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่ย่ำแย่ ความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ และผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อผู้ต้องขัง เพราะเมื่อผู้ต้องขังต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากคนภายนอกแล้ว สาธารณชนมักจะรับรู้และเห็นอกเห็นใจสถานการณ์ในเรือนจำมากกว่า แต่ก็ยังมีเสียงจากคนในสังคมส่วนหนึ่งที่สะท้อนความไม่พอใจเกี่ยวกับกลไกปล่อยตัวฉุกเฉินในช่วงโควิด ซึ่งสะท้อนว่ารัฐต้องหากลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต่อไป

แม้เรือนจำจะดูเป็นสถานที่ที่โดดเดี่ยวและแยกห่างออกจากสังคมมากเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งเรือนจำและผู้ต้องขังต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับทุกคนที่อยู่นอกกำแพงเรือนจำ ที่สำคัญคือผู้ต้องขังทุกคนถูกจำกัดอิสรภาพและไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ต้องขังเหล่านี้ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤตขึ้น

เพราะสิ่งที่เลวร้ายกว่าการเกิดวิกฤตในเรือนจำ อาจจะเป็นการที่วิกฤตเกิดขึ้น แต่ถูกลดทอนความรุนแรงด้วยกำแพงสูงหนาและอคติของสังคมบางส่วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน เป็นระบบ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังที่สูญเสียอิสรภาพบางส่วนแล้วถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤต และถูกโดดเดี่ยวไว้หลังกำแพงเรือนจำ


ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มเทรนด์ต่าง ๆ ในเรือนจำทั่วโลกได้ที่: Global Prison Trends 2021

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save