fbpx

‘ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ’ กับสเตรตแจ็กเก็ตที่พันธนาการองคาพยพทางสังคม

ณ สเตรตแจ็กเก็ต ทุกอณูอากาศช่างร้อนอบอ้าว ท่ามกลางบรรยากาศที่มีแต่จะเติมเชื้อการรุดเร่งมัดรัดแขนขาชาวประชาให้มีอากัปกิริยาค้อมยอมก้มหัวอยู่ร่ำไป ในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ ยุคที่สยามถูกขนาบข้างด้วยยักษ์ตัวใหญ่ผิวขาวผมทองชาติตะวันตกนั้น สยามเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ตกอยู่ในภาวะที่หน้าสิ่วหน้าขวาน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก กล้ำกลืนฝืนทน ปฤษฎางค์เขาโลดแล่นอยู่ในยุคที่ร้อนอบอ้าวนั่น ในจุดที่บ้านเมืองเป็นเหมือน ‘สเตรตแจ็กเก็ต’ หรือเสื้อจับมัดสำหรับให้ผู้ป่วยทางจิตคลุ้มคลั่งสวมใส่

ประหนึ่งเป็นเสื้อคลุมที่ห่มเอาทุกองคาพยพความเป็นอยู่ทางสังคม การผูกมัดด้วยประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานจึงเหมือนว่า ผู้คนทั้งหลายถูกพันธนาการองคาพยพเอาไว้ และปฤษฎางค์ก็คงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อยู่ภายใต้สเตรตแจ็กเก็ตตัวโคร่งผืนนี้

หนังสือเรื่อง ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ: ชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่เขียนโดยทามารา ลูส และแปลโดยไอดา อรุณวงศ์ พาเราไปรู้จักเรื่องราวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชนชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ถือว่าเขาเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของพระองค์ ผู้มีชีวิตระหกระเหินจนยากจะคาดเดา

แล้วสเตรตแจ็กเก็ตตัวนี้ ทำไมถึงได้มัดทุกองคาพยพของสังคมไว้จนแน่นหนา แม้แต่ปฤษฎางค์เองก็ยังยากที่จะกระดิกกระเดี้ยเคลื่อนไหว หายใจได้อย่างสะดวกสบาย กระทั่งต้องคับข้องหมองใจไปทั้งชีวิต ซึ่งข้อชวนสงสัยนี้ ทามารา ลูสอธิบายไว้ดังนี้

…การรู้จักประพฤติตนตามจารีตคือคุณสมบัติอันเป็นที่ยกย่องในวัฒนธรรมไทยที่ชวนให้อุ่นใจได้ เราล้วนอยากรู้สึกว่าตัวเองเข้ากันได้กับสังคม เพียงแต่การมากำหนดกะเกณฑ์ในชีวิตประจำวันว่าอะไรคือพฤติกรรมที่เหมาะที่ควร… ทำให้กลายเป็นว่าประเทศนี้เหมือนมีสเตรทแจ็คเก็ตหรือเสื้อจับมัด ที่คอยรัดมือรัดแขนผู้คนให้แนบลำตัวเข้าไว้… การบังคับและกดดันให้เชื่อฟังตามบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องเพศสถานะ, เพศวิถี และช่วงชั้นสูงต่ำของสถานะ แท้จริงแล้วคือการกลบเกลื่อนให้อภิสิทธิ์ที่เอื้อประโยชน์ให้คนส่วนหนึ่ง กลายเป็นเรื่องปกติที่เหมาะที่ควร (คำนำผู้เขียน หน้า 12-13)

ในขณะนั้นสังคมของปฤษฎางค์เป็นอย่างไรบ้าง นอกจากจะมาพิจารณาที่โครงสร้างต่างๆ ที่ผูกรัดเอาไว้ เหมือนกับว่าร่างกายนั้นเป็นดังเช่นงานศึกษาของเฟลิซิตี ออลิโน ที่ระบุถึงบริบทรูปธรรมของปฏิบัติการในการแบ่งช่วงชั้นสูงต่ำในชีวิตประจำวันว่าร่างกายสามารถถูกหล่อหลอมในความหมายตามตัวอักษรด้วยระบบช่วงชั้นได้อย่างไร

“การจัดช่วงชั้นสูงต่ำทางสังคมในประเทศไทยนั้นฝังรากไว้อย่างลึกและหมายไว้อย่างแจ้งชัดโดยลักษณะทางกายภาพของการแสดงสัมมาคารวะ” อันหมายรวมถึง “การย่อตัวลงให้ต่ำกว่าคนซึ่งอยู่ในฐานะทางสังคมสูงกว่า, ระดับความสูงของมือที่พนมไหว้, การค้อมตัวลงเมื่อเข้าสู่พื้นที่พบปะที่เป็นทางการ และอาการอึดอัดไม่สบายใจเมื่อเห็นความขัดแย้ง ไม่สอดคล้อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณของแบบแผนที่รู้กัน และการปรับลักษณะทางร่างกายให้สอดคล้องกับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งให้เหมาะแก่บรรทัดฐานตามช่วงชั้นสูงต่ำด้วยนั้นด้วย ถูกบัญญัติไว้เพื่อความผาสุกของหมู่เหล่าโดยรวม และของส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นหมู่เหล่านั้น (คำนำผู้เขียน หน้า 17)

ทามารา ลูส ยังเขียนไว้ในคำนำผู้เขียนอีกว่า “องคาพยพทางสังคมที่ปฤษฎางค์นึกภาพว่าตนเข้าพวกอยู่ด้วยนั้นคือองคาพยพของชนชั้นนำทางการเมืองที่เป็นเจ้าในลำดับชั้นสูงสุด แต่แม้จะพยายามเพียงใด เขาก็ล้มเหลวในการแสดงความเข้าพวกผ่านมาตรวัดของความมีสัมมาคารวะที่เหมาะที่ควร… เขาต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางด้านในแง่สถาบันการเมืองเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เขาไม่ได้ชูธงให้เปลี่ยนแปลงเรื่องช่วงชั้นทางสังคมของสัมมาคารวะ”

โดยสังเขป พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย กำเนิดในปี 1852 (พ.ศ.2394) เสียชีวิตปี 1935 (พ.ศ.2477) ในช่วงยุคสมัยที่ดินแดนทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นสยามกำลังตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เขามีอายุยืนยาวด้วยวัยถึง 83 ปี สามปีหลังจากที่กลุ่มคณะราษฎรที่ประกอบด้วยทหารและพลเรือนได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาระบอบกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 1932 (พ.ศ.2475)  

ชีวิตของเขาอาจแบ่งออกเป็นสามช่วงดังนี้ คือเมื่อเกิดเป็นหม่อมเจ้า ช่วงวัยหนุ่มที่กษัตริย์ชุบเลี้ยงและส่งเขาไปต่างประเทศเพื่อศึกษาเล่าเรียนและทำงานการทูต และชีวิตที่ถูก ‘กระดูกแขวนคอ’

เกิดเป็นหม่อมเจ้า

ฐานันดรศักดิ์แต่กำเนิดของปฤษฎางค์คือ ‘หม่อมเจ้า’ ปฤษฎางค์เป็นบุตรชายของพระองค์เจ้าชุมสายผู้เป็นพระโอรสของรัชกาลที่ 3 โดยพระองค์เจ้าชุมสายเกิดปี 1817 (พ.ศ.2360) เป็นบุตรคนที่ 21 ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าจอมที่เป็นสามัญชน จากนั้นไม่กี่ปี กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3 ปกครองสยามตั้งแต่ปี 1824 (พ.ศ.2367) ถึง 1851 (พ.ศ.2394) นั่นหมายความว่าปฤษฎางค์มีศักดิ์เป็นหลานของรัชกาลที่ 3  

ทั้งนี้แม้ปฤษฎางค์จะมีคำว่า ‘เจ้าชาย’ นำหน้า แต่ก็เป็นเพียง ‘เจ้าชายชั้นสาม’ เท่านั้น เมื่อจัดตามฐานันดรศักดิ์ภายในราชวงศ์ โดยในฐานันดรศักดิ์ทั้งห้าประกอบด้วย 1.เจ้าฟ้า ลูกของกษัตริย์กับหนึ่งในราชินี 2. พระองค์เจ้า ลูกของกษัตริย์กับภรรยาชั้นรองลงมา 3.หม่อมเจ้า หลานของกษัตริย์  4.หม่อมราชวงศ์ เหลนของกษัตริย์ และ 5.หม่อมหลวง ลื่อของกษัตริย์ (ฐานันดรที่สี่และห้า จะไม่มีคำนำหน้าว่า ‘เจ้าชาย’ หรือ ‘เจ้าหญิง’)

ทามารา ลูสเขียนอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นว่า “…ในเมื่อกษัตริย์สยามมักมีภรรยาหลายสิบคนที่ให้กำเนิดบุตรชายอีกหลายสิบ ที่ก็จะไปแต่งงานกับหญิงสามัญชนอีกหลายเท่า จำนวนหม่อมเจ้าในแต่ละรุ่นจึงมิใช่น้อยๆ ปฤษฎางค์คือหนึ่งในนั้น”

ปฤษฎางค์มีชีวิตวัยเด็กอยู่ในช่วงเดียวกันกับกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ทั้งสองอายุห่างกัน 1 ปี 6 เดือน โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ถือเป็นเจ้านายชั้นสาม ขณะที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระโอรสของกษัตริย์มงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ด้วยฐานะที่แตกต่างกันนี้เอง ทั้งสองจึงเหมือนมีมหาสมุทรกั้น

แต่มีเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้เจ้าชายทั้งสองมีประสบการณ์ชีวิตใกล้เคียงกัน ทั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์และหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้ติดตามบิดาของตน ตามลำดับคือกษัตริย์มงกุฎ และพระองค์เจ้าชุมสายซึ่งมีกษัตริย์มงกุฎเป็นอาจากคนละย่า เดินทางไปยังชายหาดอันห่างไกลเพื่อดูสุริยุปราคาที่หว้ากอในปี 1868 (พ.ศ.2411) และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อกษัตริย์มงกุฎและพระองค์เจ้าชุมสายเสียชีวิตหลังเหตุการณ์นี้

“ทั้งสี่คนติดเชื้อไข้มาลาเรียและล้มป่วยเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ครั้นถึงกลางเดือนกันยายนพระองค์เจ้าชุมสายก็เสียชีวิต สองสัปดาห์หลังจากนั้นคือวันที่ 1 ตุลาคม กษัตริย์มงกุฎก็สิ้นใจ…เหล่าขุนนางและสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงสุดมาประชุมกันเพื่อแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียกษัตริย์และเพื่อตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้มาแทนบัลลังก์ ความเห็นที่มีน้ำหนักยิ่งนั้นเป็นของศรีสุริยวงศ์… เขาคือผู้ควบคุมบัญชาทหารส่วนใหญ่ทั้งเป็นผู้ดูแลการคลังของรัฐ เขายอมให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์คือตัวเลือกของกษัตริย์คนต่อไป แลกกับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการทนจนกว่ากษัตริย์จุฬาลงกรณ์จะบรรลุวุฒิภาวะในปี 1873 (พ.ศ.2416) ส่วนศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการจนถึงวาระสุดท้ายในปี 1883 (พ.ศ.2426)” (หน้า 30-31)

“เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วัย 15 กลายมาเป็นกษัตริย์ในเดือนตุลาคมปี 1868 (พ.ศ.2411) ในภาวะป่วยไข้และกำพร้า (หน้า 31) ในช่วงยุคสำเร็จราชการ (ปี 1868-1873 [พ.ศ.2411-2416]) กษัตริย์หนุ่มเริ่มสร้างฐานสนับสนุนในหมู่บุตรชายของคนชั้นสูงกับบรรดาเจ้าชายที่ได้ร่ำเรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการสมัยใหม่มาเพราะการจัดแจงของเขา ด้วยลักษณะเช่นนี้เองเขาจึงกลายมาเป็นผู้มีพระคุณของหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ กล่าวคือเขาส่งปฤษฎางค์ไปเรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์และตามด้วยวิชาวิศวกรรมประยุกต์ที่ลอนดอน” (หน้า 32)

กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ถือว่าเขาเป็นถึงกระดูกสันหลังของพระองค์ เนื่องจากในสมัยที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และกษัตริย์ยังเยาว์ กษัตริย์จุฬาลงกรณ์เคยเรียกปฤษฎางค์ว่าเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของตนเป็นการเล่นกับชื่อ ‘ปฤษฎางค์’ ที่แปลว่า ‘หลัง’ หรือ ‘ข้างหลัง’ ปฤษฎางค์นำฉายานี้มาใช้เมื่อลงนามในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า ‘ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลัง (ของกษัตริย์)’

พระองค์เจ้านักการทูต

แม้จะกำเนิดเป็นหม่อมเจ้า แต่ปฤษฎางค์ก็สามารถขึ้นมาเป็นพระองค์เจ้าได้ด้วยความสามารถ จนขึ้นมาโดดเด่นในสังคมชั้นสูงเมื่อภายหลัง

ก่อนพระองค์เจ้าชุมสายจะถึงแก่กรรม เขาได้นำปฤษฎางค์ไปฝากเข้าเป็นคนของกรมมหาดเล็ก ดังนั้นแล้ว ระบบนี้ไม่ได้อิงกับสถานะที่รับสืบทอดกันมาแต่ถ่ายเดียว แต่ยังอยู่บนฐานของความสามารถด้วย ดังนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในกรมมหาดเล็ก พวกเด็กหนุ่มต่างก็ต้องลับฝีไม้แสดงฝีมือให้เป็นที่สะดุดความสนใจของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์

เจ้าชายปฤษฎางค์ได้รับทุนให้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ ทามารา ลูสเขียนไว้ว่า “บันทึกการท่องต่างแดนฉบับทางการของกษัตริย์มิได้เอ่ยถึงชื่อปฤษฎางค์ แต่เขาย่อมเป็นหนึ่งในบรรดาหม่อมเจ้าไม่ทราบนามซึ่งกษัตริย์ส่งลงที่สิงคโปร์เพื่อเรียนภาษาอังกฤษที่สถาบันราฟเฟิลส์ สมัยนั้นหาครูสอนภาษาอังกฤษที่เหมาะในกรุงเทพฯ ไม่ได้ กษัตริย์จึงส่งสมาชิกราชวงศ์รุ่นเยาว์ราวยี่สิบคนไปเรียนที่สิงคโปร์ ซึ่งพวกเขาต้องพำนักอยู่ราวหกเดือน หม่อมเจ้าปฤษฎางค์จำได้ว่าเขาเพิ่งแต่งงานมาไม่ถึงเดือนก่อนเดินทางไปสิงคโปร์ ที่ซึ่งเขาน่าจะได้เรียนภาษาอังกฤษจากชาวบริตันนามว่า โรเบิร์ต โมรันต์ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบันทึกอื่นใด นอกจากภาพถ่ายของเขากับโมรันต์เมื่อปี 1871 (พ.ศ.2414) ที่เขาใส่ไว้ในภาคผนวกท้ายอัตชีวประวัติ ส่วนหม่อมสดับ ภรรยาของปฤษฎางค์นั้น แทบไม่พบข้อมูล” (หน้า 42)

ปฤษฎางค์ถูกเรียกตัวกลับจากสิงคโปร์ เมื่อกษัตริย์ก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแห่งหนึ่งขึ้นในกรุงเทพฯ แล้วจากนั้นจึงคัดเลือกผู้มีผลการเรียนเป็นเลิศสามคนไปศึกษาต่อยังลอนดอน ปฤษฎางค์คือหนึ่งในนั้น เขาประสบความสำเร็จในการเรียนที่อังกฤษอย่างมาก ดังความในหนังสือเล่าว่า

…ปฤษฎางค์เป็นอัจฉริยะ เขาผ่านหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอย่างรวดเร็วก่อนจะเข้าคิงส์คอลเลจ แล้วเรียนจบโดยคว้ารางวัลมาได้แทบทุกด้าน วิลเลียม อี.แกล็ดสโตน (William E. Gladstone) นายกรัฐมนตรีสี่สมัยของบริเตนที่ขณะนั้นเพิ่งหมดสมัยแรก คือประธานในพิธีมอบรางวัล ความสนใจที่เขาได้รับจากแกลดสโตนผู้มีชั้นเชิงวาทศิลป์เป็นที่เลื่องลือนั้น ตราตรึงใจหนุ่มน้อยปฤษฎางค์ที่หลังจากนั้นมาก็เชิดชูเขาจนตลอดชีวิต ในความทรงจำของปฤษฎางค์ แกล็ดสโตนหยอดมุขในสุนทรพจน์นั้นว่า ปฤษฎางค์กวาดรางวัลไปคนเดียวอย่างน่ากลัว “ข้าพเจ้าต้องยื่นมือส่งรางวัลข้ามโต๊ะไปให้บ่อยนัก” (หน้า 44)

หนังสือพิมพ์ไทส์ของลอนดอน ก็ได้รายงานเรื่องพิธีแจกรางวัลนักศึกษาที่คิงส์คอลเลจด้วยว่า “ชุมสาย ปฤษิฎางค์ (ตามต้นฉบับ) ชาวสยามคว้ารางวัลฟรีคสำหรับงานภาคปฏิบัติด้านวิศวกรรม, คว้าเหรียญเงินจากสมาคมเพื่อการส่งเสริมศิลปกรรม, ประกาศนียบัตรเกียรติยศชั้นพิเศษ, รางวัลชนะเลิศในศิลปะการก่อสร้าง, ในศิลปหัตถกรรมศาสตร์, การสำรวจและรังวัดที่ดิน, การวาดผัง, และประกาศนียบัตรสำหรับการวาดรูปทรงเรขาคณิต” (หน้า 44)

แต่ภาพความทรงจำที่ทำให้เกิดวิวาทะเกี่ยวกับปฤษฎางค์ ที่รวบรวมเอาไว้ในชีวิตของเขาทั้งหมดอยู่ในช่วงที่ปฤษฎางค์เดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสารพัดรางวัลทางวิชาการในปี 1876 (พ.ศ.2419) ในงานเลี้ยงเต้นรำฉลองปีใหม่ ปฤษฎางค์แต่งกายในลักษณะที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเลียนแบบเซอร์โทมัส จอร์จ น็อกซ์ กงสุลใหญ่ชาวบริติชประจำสยาม กับปราง ภรรยาชาวสยาม คอสตูมที่ปฤษฎางค์สวมนั้นเป็นการผ่าร่างของเขาเป็นสองซีกซีกขวาแต่งเป็นสตรีสยามทรงอาภรณ์แบบชนชั้นนำ ส่วนซีกซ้ายแต่งหนวดเครา ดาบพร้อมเครื่องแบบทหารบริติช   

ทามารา ลูส เขียนว่า “เครื่องแต่งกายนี้ไม่เพียงสรุปรวบยอดถึงแรงเครียดระหว่างทัศนะของปฤษฎางค์ที่มีต่ออดีตในแบบจารีตของสยาม กับอนาคตในแบบตะวันตกที่กำลังคืบคลานเข้ามาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวตนของเขาที่ชวนให้เกิดวิวาทะในกาลต่อมาด้วย” (หน้า 47)

ส่วนชะตาชีวิตที่ปฤษฎางค์ต้องเข้าสู่วงการทูต เริ่มต้นจากช่วงหนึ่งที่ปฤษฎางค์ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขวิกฤต เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากที่ปฤษฎางค์กลับสยามในปี 1876 (พ.ศ.2419) กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ทรงริเริ่มโครงการด้านโยธาโดยให้ปฤษฎางค์เป็นผู้ดูแล ขณะนั้นกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ได้ส่งปฤษฎางค์ไปตรวจการทำบ่อทองที่กบินทร์บุรีที่เป็นหนึ่งในโครงการของพระองค์ และที่นั่นเองที่ปฤษฎางค์ได้ไปสนิทสนมกับพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ผู้เป็นเจ้าของผูกขาดภาษีการทำเหมืองทองในเมืองกบินทร์บุรี ต่อมาพระปรีชากลการได้รู้จักกับโทมัส น็อกซ์ จนในที่สุดก็ได้สมรสกับธิดาของน็อกซ์ ที่เป็นลูกครึ่งสยาม ต่อมาปฤษฎางค์ต้องพบจุดพลิกผันให้ไปอยู่บนเวทีการทูต เมื่อพระปรีชาฯ เจ้าของเหมืองทองที่กบินทร์บุรีถูกจับกุม ข้อหายักยอกเงินหลวงและฆาตกรรม รวมทั้งถูกตั้งข้อหาว่าฝ่าฝืนกฎราชสำนักที่ว่าด้วยการสมรสระหว่างข้าราชการชั้นสูงกับผู้ที่ไม่ใช่ชาวสยาม

พระปรีชาถูกจำคุกพร้อมบิดาและญาติคนอื่นๆ ทหารเข้ายึดทรัพย์สินของเขาและของแฟนนี่ น็อกซ์ ผู้เป็นภรรยา ส่วนแฟนนี่ น็อกซ์ที่กำลังตั้งครรภ์ได้หนีไปสิงคโปร์ในปลายปี 1879 (พ.ศ.2422) พร้อมลูกสองคนของพระปรีชากลการที่เกิดจากภรรยาคนก่อนหน้า บิดาของหล่อนขู่ว่าหากลูกเขยของตนไม่ได้รับการปล่อยตัวก็จะส่งเรือรบบริติชล่องแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงพระบรมมหาราชวัง (หน้า 53-54)

ในหนังสือระบุว่านี่นับเป็นการแทรกแซงด้วยอำนาจจักรวรรดิโดยไม่คำนึงว่ามูลเหตุที่เป็นชนวนคือเรื่องอะไร

การประเมินพลาดทางการทูตอย่างไม่น่าให้อภัยของน็อกซ์เปิดเส้นทางอาชีพนักการทูตแก่หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ เพื่อจะดับชนวนความตึงเครียด กษัตริย์ส่งคณะทูตเล็กๆ ไปเจรจากับข้าหลวงอังกฤษโดยตรงถึงลอนดอนในปี 1879-1880 (พ.ศ.2422-2423) โดยสั่งให้ปฤษฎางค์พักการฝึกงานวิศวกรรมเพื่อมาเป็นล่ามให้คณะทูต

…การเจรจาของพวกเขานำไปสู่ความสำเร็จทางการทูตเกินความคาดหมายของฝ่ายสยามและปฤษฎางค์ คือแทนที่จะเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหาร ฝ่ายบริติชกลับเรียกตัวโทมัส น็อกซ์ กลับประเทศและปลดจากราชการ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นดาวรุ่งในวงการทูตของปฤษฎางค์โดยไม่คาดฝัน (หน้า 55)

เขาได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ โดยได้ตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษากับกษัตริย์เพื่อให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของบริเตนและฝรั่งเศส ด้วยความสามารถด้านการทูตนี้เองที่ทำให้ปฤษฎางค์ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า

จากความอุตสาหะ… กษัตริย์จุฬาลงกรณ์จึงตบรางวัลแก่ปฤษฎางค์ในเดือนสิงหาคม 1883 (พ.ศ.2426) หลังจากเขาดำรงตำแหน่งราชทูตผู้มีอำนาจเต็มมาได้เพียงสองปี “…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกความชอบถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นให้เป็นพระองค์เจ้า และเพิ่มชั้นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้” (หน้า 70)

กระดูกแขวนคอ

แล้วกระดูกเริ่มแขวนคอปฤษฎางค์ตอนไหน? อาจต้องเริ่มต้นจากตรงนี้

เจ้าชายปฤษฎางค์ถูกเพ่งเล็งเรื่องการสร้างหนี้สิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นิยมสินค้าเสื้อผ้าหรูหราราคาแพงลิบลิ่ว

ในจดหมายของปฤษฎางค์ระหว่างปี 1887-1890 (พ.ศ.2430-2433) ได้ระบุถึงสองเหตุการณ์ที่ปฤษฎางค์เคยคิดปลิดชีวิตตนเอง        

กรณีแรก เรื่องฝากงานหม่อมเจ้าปาน เพื่อทดแทนหนี้หม่อมเจ้าสาย ซึ่งเป็นภรรยาคนหนึ่งของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ซึ่งทำให้นายเก่าของหม่อมเจ้าปานคิดว่าเป็นคำสั่งของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ กษัตริย์จุฬาลงกรณ์มองว่าอาจเอื้อมเกินอภัย

เหตุการณ์หม่อมเจ้าปาน อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 1887 (พ.ศ.2430)  (หน้า 103) …คือปฤษฎางค์ เป็นหนี้หม่อมเจ้าสาย ผู้เป็นภรรยาคนหนึ่งของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ “แต่แทนที่ปฤษฎางค์จะจ่ายดอกเบี้ยหรือหลักประกันแก่เจ้าหนี้ เขาถูกกล่าวหาว่าได้พยายามจ่ายดอกเบี้ยด้วยการจ้างหม่อมเจ้าปานผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาของหม่อมเจ้าสายมาทำงาน ซึ่งในขณะนั้นหม่อมเจ้าปานทำงานอยู่กับพระองค์เจ้าสวัสดิฯ แล้ว”

ยิ่งกว่านั้น กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ยังคาดว่าปฤษฎางค์ทำเช่นนี้โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยการพยายามให้หม่อมเจ้าปานมาทำงานที่กรมโยธาฯ ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจไปว่ากษัตริย์ได้สั่งให้หม่อมเจ้าปานมาทำงานกับปฤษฎางค์ หากแผนการนี้สำเร็จ ปฤษฎางค์ก็จะได้ชิงหม่อมเจ้าปานจากพระองค์เจ้าสวัสดิฯ โดยอ้างว่าเป็นราชโองการที่ไม่อาจปฏิเสธที่จะเชื่อฟัง… การพยายามในการว่าจ้างหม่อมเจ้าปานเพื่อแลกกับการชดใช้ดอกเบี้ยหรือไม่ก็เงินกู้ทั้งหมด กษัตริย์จุฬาลงกรณ์เห็นว่านี่คืออุบายชักใยอย่างอวดดีและบังอาจ (หน้า 104)

เพื่อเป็นการลงโทษ กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ไม่เพียงสั่งให้กรมพระคลังตัดเงินสองชั่งที่เป็นเงินเดือนพิเศษ แต่ยังยกเลิกการมอบตึกภูมนิเทศให้ด้วย ความปักใจของกษัตริย์ที่ว่าปฤษฎางค์ได้ประพฤติมิชอบในหน้าที่ ทั้งมีอคติในทางร้ายต่อกษัตริย์ตลอดมาและพยายามปิดบังหนี้สินที่ตนมีกับหม่อมเจ้าสาย ทำให้กษัตริย์จุฬาลงกรณ์สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวปฤษฎางค์ (หน้า 105)

ส่วนกรณีปฤษฎางค์ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับคุณหญิงศรีภรรยาของพระยาสุนทรสงคราม (จัน แสง-ชูโต) ผู้เป็นพี่ชายของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (เจิม แสง-ชูโต) ณ ตอนนั้น คุณหญิงศรี หรือ ‘พี่ศรี’ เป็นพี่สะใภ้หม้ายของ ‘สุรศักดิ์’ สหายรักของเจ้าชายปฤษฎางค์ เหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน 1887 (พ.ศ.2430) กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ก็เคยส่งสุรศักดิ์ให้ไปช่วยพี่ชายในหน้าที่ราชการปกครองที่สุพรรณบุรี ก่อนที่ผู้เป็นพี่ชายจะถึงแก่กรรมในช่วงใดช่วงหนึ่งในระหว่างปี 1883 ถึง 1886 (พ.ศ.2426-9) ศรีมีลูกหนึ่งคนกับพระยาสุนทรสงคราม (หน้า 106-107)

ดิศ บุนนาค เป็นปู่ของศรีผู้ซึ่งช่วงหนึ่งเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 เคยเป็นข้าราชการที่ทรงอำนาจมากที่สุดคือเสนาบดีทั้งด้านกลาโหม การค้าและการต่างประเทศ ส่วนอดีตผู้สำเร็จราชการศรีสุริยวงศ์เป็นลุงของศรี และเป็นลูกของพระพรหมธิบาล (จอน หรือ จร บุนนาค) กับนวมผู้เป็นภรรยา ศรีก็คือหนึ่งในลูกหลานตระกูลบุนนาคที่ลำพังเฉพาะในรุ่นเดียวกันก็มีกันอยู่หลายร้อยคน (หน้า 107)

ในท่ามกลางข่าวลือต่างๆ เรื่องชู้สาว กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ก็มีคำสั่งให้ศรีย้ายเข้าไปอยู่ในวังหลวงทั้งนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเพื่อไปเป็นเมียหรือเพื่อกลับเข้าไปทำงานที่นั่น… แต่ศรีปฏิเสธคำสั่งของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ (หน้า 114) ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งเขาเขียนขณะลี้ภัย ปฤษฎางค์อธิบายว่า กษัตริย์จุฬาลงกรณ์กังวลว่าศรีผู้ซึ่งล่วงรู้อยู่มากเกี่ยวกับความเป็นไปของฝ่ายใน อาจนำข้อมูลที่เสียหายไปบอกแก่ปฤษฎางค์ ผู้ซึ่งกษัตริย์รู้อยู่ว่าได้วิพากษ์ประเพณีหลายเมีย…รวมถึงการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลืองที่หล่อเลี้ยงระบบนี้ (หน้า 123)

ส่วนปฤษฎางค์มีภรรยาชื่อหม่อมสดับ ซึ่งการแต่งงานนั้นเป็นพิธีที่บ่งอยู่โดยนัยว่ากษัตริย์จุฬาลงกรณ์มอบเธอมาให้เป็นภรรยา หม่อมสดับนั้นตรงข้ามกับศรีคือเธอแทบจะไม่ถูกกล่าวถึงเลย…ปฤษฎางค์แต่งงานกับหม่อมสดับราวปี 1870 (พ.ศ.2413) แต่ทั้งคู่ไม่เคยมีลูกด้วยกัน (หน้า 122)

จุดพลิกผันเริ่มจากที่ในปี 1890 (พ.ศ.2423) เจ้าชายปฤษฎางค์เดินทางไปญี่ปุ่นในภารกิจทางการทูตกับเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ที่ขณะเป็นเสนาบดีลาโหมพร้อมคณะ เจ้าภาณุรังษีฯ ขออนุญาตกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ให้ปฤษฎางค์ได้ร่วมขบวนในฐานะเลขานุการส่วนตัว…ปฤษฎางค์เขียนหนังสือลาออกจากราชการความยาวหลายสิบหน้าในระหว่างปฏิบัติภารกิจนี้ ตลอดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ปี 1890 (พ.ศ.2433) และตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปโกเบ ประเทศญี่ปุ่น จนถึงฮ่องกง ที่เขาได้อธิบายถึงสภาพการณ์อันนำไปสู่การลาออกของตน (หน้า 124)

เขาได้หลบหนีจากเรือเมื่อมาถึงฮ่องกง (ในขณะที่ศรีได้ขโมยเครื่องเพชรพลอยของครอบครัวหนีจากสยามและนั่งเรือมาที่ฮ่องกง ปฤษฎางค์รู้ข่าวนี้ตั้งแต่เขาอยู่ญี่ปุ่น ยิ่งทำให้เกิดคำครหาตามมาว่าปฤษฎางค์และศรีหนีไปตามกัน) คนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์หนีหนี้ที่ติดจากชาวสยามและต่างชาติ บ้างก็ว่าเขาทุจริตเงินในกรมไปรษณีย์ ภายหลังการหลบหนี เขาเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ นับตั้งแต่ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ไซ่ง่อน สิงคโปร์ ปีนัง เประ จนไปบวชอยู่ที่ บริติชซีลอน (ศรีลังกา)                                                                                                                                         

ช่วงแรกของการหลบหนี ปฤษฎางค์ไปหางานทำที่อินโดจีนของฝรั่งเศส เขาพยายามบวชแต่รู้สึกไม่ปลอดภัยจากรัฐบาลสยาม ช่วงที่ปฤษฎางค์ลี้ภัยทางการเมืองห้าปีแรก เขาไม่ได้บันทึกอะไรไว้เลย คงบันทึกไว้ในช่วง 15 ปีหลัง หลังจากที่ไปทำงานเป็นวิศวกรที่เกาะปีนัง และไปบวชที่ศรีลังกาเพราะป่วยหนัก ชีวิตช่วงบวชเจ้าชายพระเข้าไปเกี่ยวโยงกับกิจกรรมต่างๆ ทางพุทธศาสนามากมาย

ภิกษุณีธัมมลีลา (ศิริวรรณ คุณแสน) วัดป่าฝายพญานาค ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่นผู้เคยไปบวชเป็นภิกษุณีที่ Sakyadhita Meditation entre ประเทศศรีลังกา และเคยไปวัดที่ ‘เจ้าชายพระ’ หรือเจ้าชายปฤษฎางค์เคยไปบวชที่ศรีลังกา เล่าว่า “เจ้าชายพระหรือเจ้าชายปฤษฎางค์…ถ้าหากคนไทยไปศรีลังกาก็ต้องไปวัดที่ท่านอยู่ ที่ศรีลังกาท่านเป็นพระไทยที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้”

“อาตมาถูกคัดเลือกจากเมืองไทยหลังจากที่เป็นสิกขามณาสองปีที่ทิพยสถานธรรม เกาะยอ จังหวัดสงขลา ตอนแรกบวชโครงการสามเณรีหนึ่งเดือน ไปศรีลังกาปี 2565 ไปช่วงแรกยังไม่รู้จักเจ้าชายปฤษฎางค์ แต่มีพระสงฆ์ไทยเล่าให้ฟัง พระส่วนใหญ่ที่ศรีลังกาเป็นธรรมยุติ  …มีพระไทยไปศรีลังกาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตอนนั้นมีโจรไล่ฆ่าพระจนหมดเหลือเณรหนึ่งรูปที่ไปซ่อนตัวบนภูเขา ต่อมาเณรรูปนี้เป็นผู้ฟื้นฟูพุทธศาสนา…ตอนไปบวชมีคนกล่าวถึงเจ้าชายปฤษฎางค์ ท่านได้สร้างวัดไทย พระไทยในศรีลังกาก็รู้จักท่านเพราะเขาเรียนพุทธศาสนา” ภิกษุณีธัมมลีลาเล่า  

เรื่องที่โดดเด่นของปฤษฎางค์ในการบวชคือการที่เขาดำเนินการที่จะนำพระอัฐิของพระพุทธเจ้าไปสยาม กระทั่งนำมาซึ่งข้อวิจารณ์ต่างๆ ที่ค่อนข้างเป็นแง่ลบ

หลังจากที่กษัตริย์จุฬาลงกรณ์สวรรคต เมื่อเจ้าชายพระเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับความเหินห่างจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งบีบบังคับให้ปฤษฎางค์ลาสิกขา หากจะเข้าร่วมในพิธีฌาปนกิจอย่างเป็นทางการในกลางเดือนมีนาคม 1911 (พ.ศ.2454) ชีวิตของปฤษฎางค์ผ่านความยุ่งยากลำบากแสนอาภัพในสมัย รัชกาลที่ 6 และ สมัยรัชกาลที่ 7 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามชีวิตของปฤษฎางค์จะยังคงรุ่งโรจน์ต่อไป หากเขาไม่กระทำสิ่งเหล่านี้

หนึ่ง ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เขาอธิบายในบันทึกว่าเมื่อปี 1885 (พ.ศ.2428) เขาเสนอแนะให้กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ลดอาญาสิทธิ์โดยสมบูรณ์ของตนลง ซึ่งทำให้กษัตริย์บันดาลโทสะ ปฤษฎางค์ไม่ได้มองว่าเขามีความคิดเช่นนี้อยู่เพียงผู้เดียว หากแต่เป็นทรรศนะที่ยึดถือร่วมกันในหมู่เพื่อนอีกหลายคนอย่างพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และสุรศักดิ์ (กษัตริย์จุฬาลงกรณ์เขียนจดหมายขอคำปรึกษากับปฤษฎางค์เป็นการส่วนตัวแต่เขาได้นำไปปรึกษาผู้อื่นและขอความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว จนกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ต้องมีคำสั่งให้เดินทางกลับสยามซึ่งปฤษฎางค์อยู่ที่ยุโรปเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปีจากนั้นมาเขาไม่ได้กลับไปยุโรปอีกเลย)

สอง ข้อวิจารณ์ที่ลึกลงไปอีกของปฤษฎางค์ต่อช่วงชั้นทางสังคมการเมืองของสยาม พุ่งเป้าไปที่ประเพณีการมีหลายเมีย ซึ่งเขายังไม่กล้าใส่ลงไปในหนังสือข้อเสนอปี 1885 ด้วยเกรงจะกระทบแผนการเพราะจะทำให้กษัตริย์ขุ่นเคืองหากไปแตะต้องประเด็นดังกล่าว น่าสังเกตว่าทั้งเขาและเหล่าผู้ร่วมลงนามในหนังสือข้อเสนอ ต่างรู้สึกว่าการขอให้กษัตริย์เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญนั้นยังง่ายและปลอดภัยกว่าการจะขอให้กษัตริย์จำกัดหรือเลิกประเพณีหลายเมีย ผู้ร่วมลงนามในหนังสือข้อเสนออย่างปฤษฎางค์จึงหันไปประณามระบบหลายเมียไว้ในจดหมายไปรเวต ซึ่งต่อมาพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ก็นำไปเผยต่อกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ภายหลัง

ข้อวิจารณ์ของปฤษฎางค์ต่อการเมืองแบบสเตรตแจ็กเก็ต

ปฤษฎางค์เชื่อว่า ผู้คนพากันแพร่ข่าวลือเรื่องชู้สาวเพราะมันจะช่วยให้พวกเขาได้ไต่เต้าฐานะในลำดับชั้นทางสังคมและการเมืองด้วยการเหยียบเขาขึ้นไป “คิดแต่จะพูดให้ถูกอารมณ์แลประจบประจงไปตามกัน แหงนดูแต่ฟ้าตบันไปเท่านั้น ไม่เหลียวมาหาแผ่นดินบ้างเลย”

ครั้งหนึ่งปฤษฎางค์เคยให้ภาพในประเด็นนี้อย่างโจ่งแจ้งจนถึงกับทำให้เจ้าภาณุรังษี “ระเบิดเสียงหัวเราะ”และยังนำมาพูดต่ออีกหลายวัน “นิสัยและความคิดของชาวสยามที่เงยขึ้นมองคนที่อยู่สูงเหนือตน และไม่เคยก้มลงมองคนที่อยู่ต่ำกว่าตน คำอธิบายที่กระชับที่สุด ถึงแก่นที่สุด และครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับความเป็นชาวสยามนับแต่ผู้อยู่ในชนชั้นสูงสุด และตรงนี้ก็สามารถใช้ตากับก้นเป็นภาพแทนได้” (ตากับก้นดังที่ปฤษฎางค์เปรียบเปรยนั้นชวนให้คิดไปถึงความอิจฉาตาร้อนมองแต่คนที่มีอำนาจมากกว่า ส่วนก้นอาจหมายถึงเก้าอี้หรือตำแหน่ง กระทั่งอาจเลยไปถึงประเพณีผัวเดียวหลายเมียที่ทำให้เกิดวิวาทะที่เขาต้องประสบในกาลต่อมา) ดังนี้ (หน้า 121)

          ปฤษฎางค์ : มองแต่ฟ้าไม่ดูดินเล๊ยชาวสยาม, ชาวสยามนี้ขี้อิจฉา ใครได้ดีกว่าตัวไม่ได้

          ภาณุรังษี : ยังไงรึ?

          ปฤษฎางค์  : ใช้แต่ตากับก้น (ขี้อิจฉา บ้าลาภยศ เงินทอง และผู้หญิง)

          ภาณุรังษี : หัวเราะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ปฤษฎางค์เคยวิพากษ์ระบบช่วงชั้นไว้ว่า “หากผู้มีอำนาจเหนือกว่า เขาบอกว่าสิ่งหนึ่งเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ อย่างเป็นการจำเพาะในเรื่องดังกล่าวที่ว่านั้นผู้น้อยก็ไม่อาจโต้แย้งได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะรับรองและสนับสนุนคู่ขัดแย้งฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อจะได้เป็นที่โปรดปรานและเป็นการป้องกันมิให้ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่านั้นขุ่นเคือง หากว่าความเห็นนั้นมาจากกษัตริย์ การแบ่งฝักฝ่ายความเห็นก็จะไม่อาจเกิดขึ้นได้…ฉะนั้นบุคคลใดที่ถูกชี้ว่าได้ประพฤติหรือกระทำผิดต่อให้เป็นข้อกล่าวหาเท็จก็ตาม หากเป็นการชี้โดยกษัตริย์ แม้จะเป็นการภายในมันก็จะเป็นที่ยอมรับและจะไม่มีใครกล้าแก้ต่างให้ผู้ถูกกล่าวหา…” (บางส่วนจากหน้า 161-162)

‘สเตรตแจ็กเก็ต’ หรือ ‘เสื้อจับมัด’ ดั่งว่าบ้านเมืองมีแขนขา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ เมื่อปฤษฎางค์มีความขัดแย้งกับผู้ที่เหนือกว่าจึงกลายเป็นว่าเพื่อนรอบข้างห่างเหินตีจาก ในบ้านเมืองที่มีแขนขาและมีตาเหมือนสับปะรด ในความที่ดูเหมือนว่าเขาเป็นผู้ที่มาก่อนกาลมีความคิดก้าวหน้า แต่ก็ต้องมาประสบปัญหาในบ้านเมืองที่เป็นสเตรตแจ็กเก็ตที่คอยแต่จะมัดรัดให้ยอมก้มหัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางสิ่งที่เรียกว่าขนบประเพณีที่ฝังรากลึก ซึ่งแม้แต่เขาที่เคยเดินทางไปร่ำเรียนวิศวกรรมศาสตร์ประกอบการงาน ทำงานทูต มีหน้ามีตามาทั่วสากลก็ไม่อาจข้ามพ้น จนชีวิตต้องตกอับ ดิ่งเหวลึก


หนังสือและบทสัมภาษณ์ประกอบการเขียน

  1. ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ: ชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ทามารา ลูส  เขียน, ไอดา อรุณวงศ์  แปล,  สำนักพิมพ์อ่าน  พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2565  
  2. สัมภาษณ์ ภิกษุณีธัมมลีลา (ศิริวรรณ คุณแสน) วัดป่าฝายพญานาค ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น, เคยไปบวชเป็นภิกษุณีที่Sakyadhita Meditation entre ประเทศศรีลังกา และเคยไปที่วัดที่เจ้าชายพระหรือเจ้าชายปฤษฎางค์เคยไปบวช ที่ศรีลังกา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save