fbpx
ความเครียดสะสมระดับสูงของสังคม

ความเครียดสะสมระดับสูงของสังคม

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีครึ่งแล้วที่ผู้คนอยู่ภายใต้แรงกดดันที่มองไม่เห็น เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องการรักษาระยะห่างและปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องไปไหนๆ ต้องใส่หน้ากากและล้างมือเป็นเรื่องเล็ก

การรักษาระยะห่างก่อความเครียดได้มาก การยืนที่ระยะสองเมตร ไม่สามารถนั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกันได้โดยสะดวกใจ สองข้อนี้ทำให้การรวมญาติมิตรหรือแม้กระทั่งการกินข้าวในบ้านของตัวเองเริ่มมีกฎกติกา ตอนแรกให้ใช้ช้อนกลาง ต่อมาให้ใช้ช้อนตัว บ้านที่ควรจะเป็นสถานที่ผ่อนคลายกลายเป็นสถานที่มีกฎระเบียบ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ผู้คนแบกรับมาหนึ่งปีครึ่งแล้ว

หากทุกคนทำได้ก็เป็นความเครียดแบบหนึ่ง หากมีคนดื้อดึงกลายเป็นปากเสียงในบ้านจะกลายเป็นความเครียดอีกแบบหนึ่ง

สามีผิดใจกับภรรยา พ่อแม่ผิดใจกับลูก ลูกที่เป็นพ่อแม่แล้วผิดใจกับปู่ย่าตายาย

ในบ้านเดียวกัน คนทำงานนอกบ้านเข้าบ้านแล้วนอนไปทั่วโดยไม่อาบน้ำสร้างความหงุดหงิดให้แก่คนที่รักความสะอาดและมีบุคลิกย้ำคิดย้ำทำได้มาก

เด็กๆ ที่ปิดโรงเรียนบ่อย ปิดเทอมยาวนาน เรียนออนไลน์ไม่สนุก เหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้คุณพ่อคุณแม่ได้มาก เริ่มตั้งแต่ไม่มีเงินจ้างคนช่วยเลี้ยง งานของตัวเองก็ต้องทำ ออกบ้านก็เครียด เวิร์กฟรอมโฮมก็เครียด เครียดที่ต้องดูแลลูก 24 ชั่วโมงโดยมิได้เตรียมใจว่าจะต้องทำหรือทำได้ เครียดทั้งเรื่องต้องบังคับหรือนั่งเฝ้าเด็กเรียนออนไลน์  

เครียดที่เห็นลูกวัยรุ่นไม่เอาไหนเอาแต่นอน ขวางหูขวางตา

จะได้ฝึกวิชาสามเหลี่ยมครอบครัว พ่อแม่พูดตรงกันเสมอในการดูแลเด็กๆ ก็ครั้งนี้ ถ้าทำได้ก็โชคดีไป ถ้าทำไม่ได้อาการขวางหูขวางตาจะลามมาถึงเห็นคู่สมรสของตัวเหมือนกระโถนที่วางเกะกะไปทุกๆ ที่ บางทีก็อยากเตะขว้างไป

พวกคนแก่ชอบอ่านไลน์ส่งไลน์เป็นพวกรู้ตัวช้าสุดว่าโรคนี้มีจริงและทำคนถึงตายได้ถ้าโชคร้าย เราจึงเห็นคนแก่ไม่ใส่หน้ากากและออกนอกบ้านเสมอๆ ในช่วงแรก ก่อนที่จะดีขึ้นและดีเว่อร์ในช่วงหลัง ส่วนใหญ่ไม่ไปไหนอีกเลย เอาแต่อยู่บ้านเหมือนเตรียมนอนโลง สถานการณ์ตึงเครียดหนักขึ้นเมื่อลูกหลานนำเชื้อจากจังหวัดอื่นกลับมาบ้านแล้วติดต่ออุ้ยตายไป ถึงตอนนี้การกินข้าวรวมญาติมิตรไม่มีเหลืออีกเลย บ้านที่ทนได้ทนไป บ้านที่ทนไม่ได้พี่น้องออกตระเวนซื้ออาหารและผลไม้ไล่แจกพี่น้องหรือพ่อแม่ที่แก่เฒ่าแล้วถูกล็อกดาวน์เสมอๆ

ระเบียบปฏิบัติการกินข้าวลามมาที่ร้านอาหารซึ่งปิดตัวเป็นครึ่ง ร้านอาหารมีชื่อเสียงหลายร้านปิดตัวในโควิดยก 3 นี้ พวกเขายืนชกผ่านยก 1 และยก 2 มาได้ แต่พ่ายหมดรูปเมื่อถึงยก 3

ถนนหนทางเงียบเหงา หากเป็นเสาร์อาทิตย์เงียบสนิทเหมือนเมืองร้าง กลางคืนร้านรวงปิดมืดหาคนนั่งร้านอาหารไม่ได้ ร้านอาหารที่มีแอร์โชคร้ายกว่าเพื่อน เพราะคนส่วนใหญ่จะกลัว ยกเว้นพวกไม่รู้ดินฟ้าว่าระยะเวลาที่เรานั่งในห้องแอร์มีผล ร้านอาหารโอเพนแอร์ได้เปรียบมากกว่านิดหน่อยด้วยมีคนเข้ามานั่งอยู่บ้าง แต่โดยรวมๆ คือเจ๊ง   

รายได้ไม่พอเลี้ยงพนักงาน ไม่พอทะนุบำรุงร้าน และไม่พอซื้อวัตถุดิบเข้าครัว เมื่อพนักงานไม่พอ ร้านไม่สวย วัตถุดิบเน่าเสีย จำนวนลูกค้าจะลดลงไปอีก ใครสายป่านยาวกินของเก่า ใครสายป่านสั้นถึงเวลารัดเข็มขัดกันสุดฤทธิ์ เวลาหนึ่งปีครึ่งสำหรับกิจการหลายๆ อย่างมิใช่น้อยๆ

ร้านตัดผมทำผมกลายเป็นสถานที่ต้องห้าม

การไม่ได้เที่ยว รวมญาติมิตร ชุมนุมศิษย์เก่า หรือประชุมพัฒนาบ้าบออะไรเป็นเรื่องที่ก่อความเครียดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป การประชุมบ้านเราส่วนใหญ่ไม่มีความหมายอะไร ประชุมไปเล่นๆ เสียมาก แต่ก็ยอมรับว่าโรงแรมจำนวนมากซึ่งก็คืองานและปากท้องของพนักงานจำนวนมาก ฝากผีฝากไข้กับการประชุมร้อยพ่อพันแม่ชั่วนาตาปีของราชการ 

เมื่อโรงแรมปิดร้าง แมลงและตัวเรือดเข้าครอบครอง ถ้ามีแขกหลงเข้ามาแล้วเปิดให้นอนผิดห้องก็เป็นเรื่องอีก โรงแรมยิ่งเงียบยิ่งน่ากลัว ใครๆ ก็รู้สึก อย่ามองกระจกเงา อย่าส่องใต้เตียง

คนสมัยก่อนไม่ได้เที่ยวไหนไม่เห็นจะเครียดอะไร นี่ก็ประเภทเปรียบเทียบว่าคนรุ่นใหม่ใจเสาะ ก่อนโควิดระบาดโลกเปิดแล้ว คนรุ่นใหม่ท่องเที่ยวทั่วไทยและเที่ยวทั่วโลก ได้เห็นอาณาบริเวณนอกกะลาไปแล้วเรียบร้อย พวกเขารู้ว่ามีหลายประเทศบนโลกที่มิใช่เพียงแค่เหมาะแก่การเที่ยว

เหมาะแก่การย้ายประเทศด้วย

การถูกกักตัวในบ้านตัวเองเกือบหนึ่งปีครึ่ง และการไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนไกลๆ หรือสังสรรค์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไป เหตุผลคือคนเราเป็นนักล่า (hunters) นอนตื่นมาก็ต้องออกล่า เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือคนเราเป็นสัตว์สังคม แม้แต่บุคคลอินโทรเวิร์ต (introverts) ก็เป็นสัตว์สังคมด้วย สองประการนี้สะสมความเครียดสูงขึ้นเรื่อยๆ และสูงมากในวันนี้ มีหลักฐานว่าระดับความเครียดกำลังสูงถึงระดับที่สังคมอาจจะแบกรับไว้ไม่ได้ในเวลาไม่นาน

ข้อแรก คือผู้คนจำนวนมากอ่อนไหวต่อข่าวทุกชนิด (over-sensitive)

ข่าวเรื่องการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ข่าวเรื่องความตายรายวัน ข่าวเรื่องไม่มีวัคซีนจะฉีด รวมทั้งข่าวเรื่องฉีดวัคซีนแล้วตายได้ในวันสองวัน ข่าวเล็กๆ กลายเป็นข่าวลือรวดเร็วเหมือนติดไฟหมูกระทะแล้วลุกโชนไหม้หมด 

เหล่านี้สร้างความหงุดหงิด หวั่นไหว ไปจนถึงซึมเศร้าได้โดยไม่รู้ตัว 

โดยมิได้วิจัย ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการกำเริบบ่อยขึ้นและมากขึ้น เด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษาป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและกรีดข้อมือกันมากขึ้น คนวัยทำงานป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและมีข่าวฆ่าตัวตายให้ได้ยินเป็นระยะๆ

สถานการณ์วิกฤตใดๆ (crisis) มักทำให้คนเราสูญเสียการควบคุมชีวิตไปบางส่วนหรือทั้งหมด เมื่อชีวิตมิได้อยู่ในมือเราแต่ไปอยู่ในมือของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปอยู่ในมือของคนที่ไว้วางใจมิได้ ความเครียดจะสูงขึ้นมาก

ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดถึงคือผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่รับผิดชอบนโยบายการแก้ไขการระบาดในครั้งนี้มีความเครียดสูงมากและตัดสินใจผิดพลาดบ่อยมาก อาการกลับไปกลับมาของนโยบายรายวันเป็นหลักฐานหนึ่งว่าประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขากำลังอยู่ในวิกฤต

ข้อสอง คือคนส่วนใหญ่กำลังสูญเสียความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเองให้หลุดลอยไป (loss of life control)

เรากำลังขาดความไว้วางใจต่อผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายอย่างมากมาย ใครออกมาพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อหรือพร้อมจะทำตาม ผลที่เห็นคือคนจำนวนมากตัดสินใจที่จะเอาตัวรอดแบบที่เรียกว่าตัวใครตัวมันและมือใครยาวสาวได้สาวเอา

เมื่อระบบการจัดสรรวัคซีนที่ดีและเป็นธรรมล่มลง สังคมเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือตัวแทนประชาชนแต่ละกลุ่มแย่งชิงวัคซีนกันเอาเองทั้งด้วยเงินทองหรือด้วยการล็อบบี้ ความตึงเครียดว่าเราซึ่งเป็นคนธรรมดาจะแย่งใครไม่ทัน ไร้เส้นสาย แล้วตกขบวนก็จะทวีสูงขึ้นไปอีก

ดูเหมือนเราจะเข้าสู่วงจรร้าย (viscious cycle) ของความตึงเครียดระดับสังคมไปแล้ว

ความตึงเครียดระดับสังคมคือบรรยากาศรอบตัวที่กำลังบีบอัดเรา  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save