fbpx
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ บนเส้นทางแห่งความหวังและความล้มเหลว

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ บนเส้นทางแห่งความหวังและความล้มเหลว

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เรียนรู้พิเคราะห์ หรือ learning analytics ที่ว่าจะเป็นเครื่องมือใหม่ในการพัฒนาการศึกษาที่ถักทอเฉพาะแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ด้วยความช่วยเหลือของปัญญาประดิษฐ์ในการรวบรวมข้อมูลและวินิจฉัยผู้เรียนให้เข้ากันได้กับสถานที่เรียนหรือหลักสูตรการเรียนโดยทำนายผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อาจจะเป็นนวัตกรรมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบ้านเรา

ด้วยเหตุที่เราไม่กระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น ไม่เฉพาะอำนาจบริหารการศึกษาแต่เป็นอำนาจทั้งระบบรวมทั้งงบประมาณ รวมทั้งเรื่องที่เราปล่อยให้อนาคตเก่านั่งเก้าอี้ปฏิรูปการศึกษานานเกินไปแล้ว

เด็กๆ ที่เกาะมุกจะยังอยู่ที่เกาะมุกในลักษณะเดิม เด็กๆ ผาฮี้จะยังคงล่องลอยอยู่บนผาฮี้ในรูปแบบเดิม ทั้งที่มีไวไฟครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ แต่ปัญญาประดิษฐ์อาจจะไม่สามารถทำอะไรระบบราชการไทยอันแข็งแกร่งได้เลย

นานเกินไปแล้วนานเท่าใด หากนับเฉพาะที่ตนเองได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานปฏิรูปการศึกษา หลักฐานที่ยังอยู่ชิ้นหนึ่งคือหนังสือพิมพ์สานปฏิรูป ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2541 ราคา 20 บาท ซึ่งตีพิมพ์โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยโครงการศึกษาไทยในยุคโลกภิวัตน์ เราโลกาภิวัตน์มาครบ 22 ปีแล้วในเดือนนี้ มีนาคม พ.ศ. 2563

เด็กที่เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2541 จบปริญญาตรีในวันนี้ พ.ศ. 2563

 

 

“พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ บนเส้นทางแห่งความหวัง” คือพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์เพื่อปฏิรูปการศึกษาฉบับปฐมฤกษ์นี้   ภายในมีบทความและคอลัมน์มากมายหลากหลายเกี่ยวกับการศึกษา  โดยที่มีบทความหนึ่งซึ่งผมตัดเก็บไว้จนทุกวันนี้เพื่อใช้อ่านเตือนสติตนเองเมื่อโซซัดโซเซออกนอกทาง แล้ววันนี้ที่อนาคตดับวูบคือวันที่คนจำนวนหนึ่งจะได้โซซัดโซเซกันอีกครั้งหนึ่ง ได้แต่หวังว่าบทความนี้จะช่วยได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน ‘ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา’ ในหน้า 5 ความสำคัญมีดังนี้

อาจารย์นิธิขึ้นย่อหน้าแรกว่า “ปฏิรูปการศึกษาไม่อาจจะเรียกว่าปฏิรูปการศึกษาได้หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อเป้าหมายการศึกษา กระบวนการศึกษา และส่วนที่สามคือโอกาสที่คนกลุ่มใดจะได้รับการรับรองการศึกษาของตนถึงระดับใด”

หลายปีที่ผ่านมา เป้าหมายการศึกษาไม่เคยมี กระบวนการศึกษาไม่เคยเปลี่ยน และเชื่อได้ว่าน้อยคนที่จะเข้าใจความหมายของส่วนที่สาม คือ “โอกาสที่คนกลุ่มใดจะได้รับการรับรองการศึกษาของตนถึงระดับใด”

ดูเรื่องเป้าหมายการศึกษาก่อน  อาจารย์เขียนว่า “การศึกษาถูกวางเป้าหมายให้รับใช้สิ่งอื่น ที่มิใช่ชีวิตของผู้เรียน” ตามด้วย “…การศึกษาไทยกลายเป็นการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปอันเป็นฐานของทักษะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นที่ต้องการแก่ราชการ ชาติ นายจ้าง หรือตลาด เมื่อเป็นความรู้แบบสำเร็จรูปก็ทำให้มีมาตรฐานที่ตายตัว และใช้ทั่วไปหมดแก่ทุกคนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมีปูมหลังที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม”

จะเข้าใจประโยคนี้ได้เมื่อได้เห็นความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนบนเกาะสักเกาะ ดอยสักดอย หรือที่บ้านป่าบง แม้แต่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ไม่มีทางเลยที่เด็กไทยจะไปไหนได้ในการศึกษาไทย โลกทั้งใบมีทั้งไวไฟ และดิสรัปชัน (disruption) ได้เริ่มต้นแล้ว แต่เด็กไทยทุกคนในราชอาณาจักรยังคงเรียน ท่อง จำ ติว สอบ ด้วยหลักสูตรที่ตายตัวและข้อสอบที่ตายตัวยิ่งกว่าเหมือนเดิม

 

ปฏิรูปการศึกษา หนังสือพิมพ์ ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา

 

อาจารย์นิธิเขียนเรื่อง ‘เรียนรู้’ และ ‘แหล่งเรียนรู้’ มานานแล้ว ท่านเขียนว่า “ภาวะที่เลื่อนไหลได้ง่ายจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่นนี้บังคับให้ต้องใช้มาตรฐานการศึกษาที่ไม่ตายตัวเกินไป ความรู้สำเร็จรูปด้อยความสำคัญลง แต่การเรียนรู้กลับมีความสำคัญกว่า”

วันนี้ นักการศึกษาสมัยใหม่จำนวนหนึ่งรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างการเรียนหนังสือและการเรียนรู้แล้ว รู้ไปก็ทำอะไรไม่ได้ ด้วยข้อความดังต่อไปนี้ยังคงอยู่

“แต่เรื่องนี้สัมพันธ์กับโลกทัศน์ทางการเมืองที่ครอบงำสังคมไทยอยู่อย่างลึกซึ้ง …ดูเหมือนชาติเป็นอีกตัวตนหนึ่งที่แยกออกไปจากประชาชน(ที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่คนหลายๆ คน) …เหตุดังนั้นเป้าหมายของการศึกษาจึงเพื่อรับใช้ชาติ…ถ้าจะเปลี่ยนเป้าหมายให้มารับใช้ประชาชนซึ่งในทางรูปธรรมก็หนีไม่พ้นที่จะหมายถึงผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม ก็เท่ากับทำให้เป้าหมายของการศึกษาต่ำลงมาจากเดิมและรับไม่ได้ ตราบเท่าที่โลกทัศน์ทางการเมืองของไทยยังไม่ผนวกเอาชาติและประชาชนให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน(ดังเช่นรัฐประชาชาติอีกหลายแห่งบนโลก) ก็จะมีคนใช้ชาติเป็นเครื่องมือเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มคนในนามของชาติ และการปฏิรูปการศึกษาก็เกิดขึ้นไม่ได้”

ประชาชนซึ่งในทางรูปธรรมก็หนีไม่พ้นที่จะหมายถึงผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม ก็คือเด็กที่เกาะมุก ผาฮี้ บ้านป่าบง และใจกลางกรุงเทพมหานคร พูดง่ายๆ ว่า learning analytics มาเจอชาติของเราก็อาจจะใบ้กินเพราะชาติไม่เพียงแยกตัวออกจากประชาชน แต่ไม่เห็นหัวประชาชนในสายตาอีกด้วย

“เหตุดังนั้นตราบเท่าที่โครงสร้างสังคมไทยยังไม่เปลี่ยน ก็เป็นไปได้ยากที่ปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ (ไม่ว่าประเทศไทยจะย่างเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล และโลกาภิวัตน์มากน้อยแค่ไหนก็ตาม)”  ช่างเขียนหนังสือให้อ่านแล้วชวนสิ้นหวังเสียจริง

ชวนให้นึกถึงใบหน้าของอาจารย์บางท่าน บางคนที่เคยทำงานด้วยกัน นักวิชาการหนุ่มสาวด้านการศึกษาและ executive function สมัยใหม่หลายคน ที่กำลังพยายามผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ที่จะช่วยเหลือให้เด็กไทยไม่ถูกเร่งเรียนตั้งแต่วัยก่อนเด็กเล็กคือ 3 ขวบหรือต่ำกว่า กฎหมายนี้ถูกพิจารณาในรัฐบาลหลังการปฏิวัติโดยรับทุนดำเนินการมาจากองค์กร สสส. เพียงสองประการนี้โดยไม่นับเนื้อหาจากที่อาจารย์นิธิเขียนก็แทบจะบอกได้ว่าแม้กฎหมายจะผ่าน แต่งานที่ตั้งใจก็จะไม่สำเร็จโดยง่าย

ตอนท้ายของบทความ พูดถึงฐานความคิดทางญาณวิทยาของสังคมไทยที่ว่า “การมีความรู้คือการได้ครอบครองข้อมูลชุดหนึ่งๆ หรือหลายชุดไว้จำนวนมาก”

และปิดท้ายด้วยปฏิรูปการศึกษาไทยล้มเหลวเพราะการไม่ได้ทำให้สังคมพร้อมจะรับการปฏิรูปการศึกษา

น่าจะแปลว่าอะไรและเราควรเริ่มงานอย่างไร? เห็นหัวประชาชนกันก่อน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save