fbpx
เปลี่ยนเผด็จการผ่านสู่ประชาธิปไตย-ง่ายเสียที่ไหน!

เปลี่ยนเผด็จการผ่านสู่ประชาธิปไตย-ง่ายเสียที่ไหน!

ใครๆ (ใช่-ทุกคนนั่นแหละ) ก็บอกว่าอยากปกครองแบบประชาธิปไตย การได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น มันไม่ง่ายอย่างที่คิดนี่สิ

แต่ละสังคมมี ‘กระบวนท่า’ เปลี่ยนผ่านตัวเอง ในอันที่จะขยับตัวลุกจากการปกครองที่ ‘ไม่ประชาธิปไตย’ ไปสู่ระบอบการปกครองที่เป็นประธิปไตยมากขึ้น

ไปดูกันไหม ว่าการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยในแต่ละสังคมนั้น มันมี ‘ขั้นตอน’ อะไรบ้าง

 

ในบางสังคม รัฐบาลอำนาจนิยมเป็นผู้ยอมถ่ายโอนอำนาจให้แก่ประชาชนและค่อยๆ เปลี่ยนระเบียบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นผ่านการปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้มีความยุติธรรม ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ในยุคนี้ก็คือพม่า

แต่ในบางสังคม รัฐบาลไม่เคยรู้สึกรู้สาถึงความต้องการประชาธิปไตยของประชาชน สรุปก็คือประชาชนต้องรวมตัวก่อหวอดเป็นม็อบ ลุกขึ้นมาประท้วงยืดเยื้อเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งก็มักส่งผลให้ต้องเสียเลือดเสียเนื้อถึงจะได้เริ่มสร้างประชาธิปไตยกัน แล้วก็มักจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายที่ซับซ้อนตามมา ตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางในช่วงเหตุการณ์ Arab Spring

เรียกว่าจะเปลี่ยนผ่านกันสักที ก็ยังมีกระบวนท่าที่หลากหลาย!

อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 International Institute for Democracy and Electoral Assistance หรือ International IDEA องค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยและสนับสนุนการจัดเลือกตั้งในระดับนานาชาติ เคยเสนอไว้ว่า ถึงแม้ว่าลักษณะการเปลี่ยนผ่านจากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยของแต่ละสังคมจะแตกต่าง แต่ก็ยังมีจุดร่วมบางประการเป็นขั้นเป็นตอนที่สามารถสังเกตได้อยู่ 4 ขั้นด้วยกัน นั่นคือ

เริ่มจากการเตรียมพร้อม

เตรียมพร้อมยังไง?

ขั้นตอนนี้มักเริ่มจากกลุ่มคนในสังคมที่ต้องการโค่นล้มระบอบการปกครองอำนาจนิยม ต้องค่อยๆ สะสมแรงสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ จนเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสร้างความชอบธรรม พร้อมทั้งมีทรัพยากรเพื่อใช้ท้าทายความสามารถในการปกครองของระบอบเดิมมากพอ โดยมักจะเกิดจากความเพลี่ยงพล้ำหรือการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลอำนาจนิยม จนเกิดความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ต่อประชาชนในวงกว้าง

ในบางกรณี ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยก็หาทางกดดันหรือจับมือกับบุคคลที่มีอำนาจในรัฐบาลอำนาจนิยมเดิม เพื่อให้คนเหล่านี้เห็นข้อดีของประชาธิปไตย และสนับสนุนแนวทางเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้น พูดอีกอย่างก็คือ บางครั้งฝั่งประชาธิปไตยก็ต้องแสวงหาพันธมิตรจากนานาชาติเพื่อกดดันให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยขึ้นมาเหมือนกัน

IDEA บอกว่า หัวใจสำคัญก็คือการสร้างแนวร่วมหลากสีที่ไม่ยอมรับการปกครองแบบเผด็จการหรืออำนาจนิยม โดยฝั่งที่สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยจะต้องพยายามโน้มน้าวให้กลุ่มที่สนับสนุนอำนาจนิยมมาเข้ากับกลุ่มตนให้มากที่สุด และสร้างคุณค่าประชาธิปไตยร่วมกันให้ได้

พูดง่ายๆก็คือ-แสวงแนวร่วมโดยสงวนจุดต่างเอาไว้ก่อนนั่นแหละ

ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องที่พูดง่าย-แต่ทำยากชะมัด!

พยายามปิดฉากอำนาจนิยม

รัฐบาลอำนาจนิยมมักไม่ค่อยยินดีที่จะเปลี่ยนตัวเอง หากไม่มีปัจจัยใดมาบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าเริ่มมีคนประท้วงมากขึ้น รัฐบาลอำนาจนิยมก็อาจเริ่มเปลี่ยนตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะการสูญเสียฐานสนับสนุนของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการจลาจล การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในกองทัพ หรือความเสียหายทางเศรษฐกิจ

แต่แค่นี้ยังไม่พอจะเกิดประชาธิปไตยขึ้นได้ เพราะผู้มีอำนาจจะต้องเห็นพ้องด้วยว่า ประชาธิปไตยนั้นมีประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ และต้องมีท่าทีสนับสนุนอย่างจริงจังด้วย

สิ่งที่ฝ่ายประชาธิไตยต้องทำคือ สนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ดังว่าให้ได้ แต่ในหลายประเทศ ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสำเร็จ และบางครั้งก็แลกมาด้วยต้นทุนที่คาดไม่ถึง

เมื่อรัฐบาลอำนาจนิยมยอมถอยแล้ว โดยมาก ฝ่ายประชาธิปไตยมักจะให้หลักประกันว่าจะไม่มีการแก้แค้นหรือกลั่นแกล้งผู้นำในระบอบอำนาจเดิมที่เพิ่งลงจากเก้าอี้ไป แต่ต้องจัดการตามความผิดทางอาญาหรือกระบวนการศาลปกติ

เปลี่ยนถ่ายอำนาจ

หลังผ่านช่วงการโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมมาได้ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย) ช่วงเวลาหลังจากนั้นก็สำคัญมาก เพราะคือช่วยเปลี่ยนผ่านอำนาจ ซึ่งผู้นำการเปลี่ยนผ่านจะพบกับความท้าทายและความวุ่นวายมากมาย สิ่งที่ต้องทำมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า ต้องเร่งสร้างระเบียบให้ กำจัดหรือควบคุมกองกำลังติดอาวุธที่ยังฝักใฝ่อยู่กับระบอบเดิม เรียกความเชื่อมั่นด้วยการสร้างความชอบธรรมในการปกครองจากนานาชาติและการจัดเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเสมอภาคภายในประเทศ เตรียมความพร้อมด้านบุคคลและทรัพยากรสำหรับการบริหารประเทศทั้งในทางการเมืองและเทคนิค สร้างกองกำลังความมั่นคง โดยเฉพาะทหารและตำรวจที่มีค่านิยมรับใช้ประชาชน นำบุคคลไม่ว่าฝ่ายไหนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงเปลี่ยนผ่าน (รวมถึงในเวลาของช่วงระบอบเดิม) มาลงโทษ เพื่อเป็นการสร้างความรับผิดชอบ เร่งสร้างสถาบันตุลาการให้มีความมั่นคงและเป็นอิสระโดยเร็วเพื่อเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนในการคานอำนาจกับรัฐบาลในอนาคต รวมถึงรีบสร้างการเติบทางเศรษฐกิจ ขยายการจ้างงาน ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องสนับสนุนสวัสดิการด้านต่างๆ ของรัฐควบคู่ไปด้วย

ช่วงเปลี่ยนผ่านจึงเป็นช่วงที่เปราะบางและเต็มไปด้วย ‘กับระเบิด’ ที่อาจนำสังคมย้อนกลับไปสู่ความเป็นอำนาจนิยมได้อีก

สถาปนาให้ประชาธิปไตยฝังราก

ในหลายประเทศ ระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่มักจะล้มเหลว โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลใหม่ตอบสนองความคาดหวังทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ คนอาจจะมองว่า โหย! เป็นประชาธิปไตยแล้วไม่เห็นแก้ปัญหาปากท้องได้เลย หากรัฐบาลจัดการได้ไม่ดี ก็อาจเอื้อโอกาสให้เกิดการรัฐประหารโดยฝั่งอำนาจนิยมอีกครั้ง

IDEA พบว่า หัวใจสำคัญของการรักษาสถาบันและบรรยากาศประชาธิปไตยให้มั่นคงในหลายประเทศที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นประชาธิปไตยได้ ก็คือมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในฟากฝั่งทางการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐบาลใหม่ ฝ่ายค้าน (รวมถึงกลุ่มคนที่มาจากระบอบเดิม) และภาคประชาสังคมจะต้องให้ความสำคัญกับคุณค่าและกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เหมาะสม

IDEA บอกว่า การเกิดขึ้นของ 4 ขั้นตอนนี้ อาจจะไม่ได้เกิดแบบทีละขั้นทีละตอน แล้วแต่ละขั้นก็ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน สามารถเกิดขึ้นแบบไม่เรียงตามอันดับก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของสังคมนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันสลับซับซ้อนเสียจนบางคนก็ไม่รู้เอาจริงๆ ว่าที่ปากบอกว่าปฏิรูปๆ ปรองดองๆ กันอยู่นี่ มันเป็นขั้นตอนเดินหน้าสู่อะไร

ใช่ประชาธิปไตยหรือเปล่าก็ไม่รู้!

 

อ่านเพิ่มเติม

-From authoritarian rule rom authoritarian rule toward democratic oward democratic governance ของ Abraham F. Lowenthal และ Sergio Bitar จาก International Institute for Democracy and Electoral Assistance 2015

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save