fbpx

เศรษฐศาสตร์การเมืองและการหยั่งรู้ฟ้าดินในชมพูทวีป

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ คณะผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ออกมาเตือนถึงปัญหาอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่มักเกิดขึ้นในรอบหลายปีคือ เอลนีโญ ที่สามารถนำไปสู่ภาวะภัยแล้งอย่างยาวนานและกว้างขวางในหลายพื้นที่

แต่การเตือนเกี่ยวกับการมาถึงของเอลนีโญ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ เพราะสังคมโลกมักได้รับคำเตือนถึงสภาวะอากาศเช่นนี้ในระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ความรู้ในสาขาวิชาและเทคโนโลยีเพื่อคำนวณความเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและน้ำที่เป็นต้นเหตุของสภาวะข้างต้น

กระนั้น การคาดการณ์ถึงเอลนีโญที่ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคสมัยใหม่ กลับกลายเป็นความมหัศจรรย์หรือความยากลำบากในยุคก่อนหน้า มิเช่นนั้นประวัติศาสตร์ยุคก่อนสมัยใหม่คงไม่ยกย่องคนอย่าง จูกัดเหลียง (ตัวละครจากเรื่องสามก๊ก) ผู้สามารถพยากรณ์ถึงลมบูรพาที่ช่วยให้ทัพจ๊กก๊กและง่อก๊กชนะในศึกยุทธนาวีกับวุยก๊กได้ หรือสังคมในหลายแห่งของโลกล้วนมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อทำการติดต่อกับเทพเจ้าเพื่อหยั่งรู้ถึงสภาวะอากาศในแต่ละปี เพราะในยุคก่อนการมาถึงของเทคโนโลยีชลประทานในระดับที่มีความแน่นอน สังคมแต่ละแห่งล้วนต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำอันเกิดจากสภาวะอากาศผันผวน มนุษย์จึงต้องเผชิญกับความเปราะบางจากการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงทางด้านอาหารที่สะท้อนจากการขยายตัวของปัญหาทุกขโภชนา 

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพอากาศ ผ่านความพยายามในการหยั่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมและฝนพร้อมไปกับการจัดการทรัพยากรเป็นประเด็นหลักของหนังสือ Unruly Waters: How Mountain Rivers and Monsoons Have Shaped South Asia’s History ของ Sunil Amrith ศาสตราจารย์ด้านเอเชียใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นความพยายามของมนุษย์ในพื้นที่อันถูกแปะป้ายว่าเอเชียใต้ หรือเรียกตามแบบวรณกรรมเรื่องไซอิ๋วว่า ชมพูทวีป ในการทำความพยายามศึกษารูปแบบและลักษณะของการเปลี่ยนแปลงลมมรสุมที่ผู้ผ่านการศึกษาในวิชาสังคมศึกษาของไทย (อย่างน้อยในพุทธทศวรรษ 2540 ที่ผู้เขียนเรียนในระดับมัธยมศึกษา) มักคุ้นเคยว่า ลมมรสุมมีสองรูปแบบ คือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ภาคพื้นทวีปเอเชีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดจากที่ราบในแถบเอเชียกลางเข้าสู่มหาสมุทร 

ข้อเสนอหลักของ Amrith คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และลมมรสุมในชมพูทวีปปรากฏในรูปแบบดังนี้ ด้านหนึ่ง ทิศทางของลมมรสุมคือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของการกำหนดรูปแบบ ชะตาชีวิตทางเศรษฐกิจ และการเมืองของมนุษย์ในอนุทวีปแห่งนี้ และในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ต่างวาระเวลาต่างมีวิธีการจัดการกับความแน่นอน และผันผวนอันเกิดการขยับของลมมรสุมและกระแสน้ำในทะเลด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่นการเกิดขึ้นของกลุ่มสถาบันที่เรียกว่ารัฐชาติ ทำให้การจัดการทรัพยากรน้ำผูกอยู่กับวิธีคิดเรื่องการจัดการอาณาเขตและพรมแดน

Amrith ได้เน้นย้ำถึงข้อเสนอที่มีแนวทางการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลมมรสุมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทวีปเอเชียจากงานศึกษาในอดีตที่มีอิทธิพลบางประการ เช่น งานของ Harry Oshima เรื่อง ‘Economic Growth in Monsoon Asia: A Comparative Survey’ (1987) ที่มีข้อเสนอว่า รูปแบบกิจกรรมทางพื้นที่เอเชียที่อยู่ภายใต้อิทธิพลมรสุมมีลักษณะเป็นฤดูกาล กล่าวคือ ผู้คนกระทำกิจกรรมการเกษตรในช่วงเวลาที่ลมมรสุมพัดผ่านนำพาฝนเข้าสู่พื้นที่ และในช่วงที่ฝนแล้งจากการหายไปของลมมรสุม ผู้คนเคลื่อนไปทำกิจกรรมนอกภาคเกษตร เช่น การเข้าไปรับจ้างในภาคอุตสาหกรรม หรืองานของ K. N. Chaudhuri เรื่อง ‘Trade and Civilisation in the Indian Ocean: An Economic History from the Rise of Islam to 1750’ (1985) ที่บรรยายว่า กิจกรรมการค้าขายในมหาสมุทรอินเดียในฐานะ ‘พื้นที่มนุษย์’ อยู่ภายใต้อิทธิพลของทิศทางการหมุนเวียนและหยุดนิ่งของลมมรสุมอย่างยิ่งยวด เพราะทิศทางเหล่านี้คือปัจจัยที่กำหนดว่า พื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งไหนสามารถผลิตและเผชิญกับความขาดแคลนสินค้าประเภทใดในช่วงเวลาใดของแต่ละปี หรือช่วงเวลาแห่งความคึกคักและซบเซาของเมืองท่าแต่ละแห่งอันเป็นทั้งแหล่งเปลี่ยนถ่ายสินค้าและหลบภัยธรรมชาติของผู้คน อย่างไรก็ตาม งานของ Amrith ต่อยอดจากงานศึกษาในอดีตเหล่านี้ด้วยการอธิบายถึงความพยายามของมนุษย์ในการเข้าไปจัดการกับสภาพภูมิอากาศและผลลัพธ์ของมัน โดยเฉพาะนับตั้งแต่ยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา

Amrith บรรยายว่า ความพยายามของผู้คนในการอธิบายและทำนายทิศทางของลมมรสุมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ เพราะผู้คนในชมพูทวีปนับตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในพื้นที่อันห่างไกลจากทะเล หรือชาวประมงหรือนักเดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย ล้วนเสาะหาคำตอบถึงทิศทางของลมมรสุมในแต่ละปี เพราะลมมรสุมเกี่ยวข้องกับชะตากรรมของพวกเขา/เธอ ทั้งในฐานะแหล่งที่มาของน้ำอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพาะปลูก โดยลมมรสุมเกี่ยวข้องกับความยาวนานและความถี่ของเมฆฝนและปริมาณน้ำในแม่น้ำอันเกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกเขา โดยเฉพาะหิมาลัย (Himalaya) ที่เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญทั้งในเอเชียใต้อย่าง คงคา (Ganges) สินธุ (Indus) และพรหมบุตร (Brahmaputra) รวมไปถึงแม่น้ำสายสำคัญในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง แม่โขง (Mekong) หรือสาละวิน (Salween) หรือลมมรสุมในฐานะตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในมหาสมุทรดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ในขณะเดียวกัน ความแน่นอนและผันผวนของลมมรสุมไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่กิจกรรมด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังไปมีผลต่อทิศทางทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์ความขัดแย้งอันเป็นผลจากความขาดแคลนหรือความอดอยาก ดังที่เราอาจเห็นตัวอย่างได้จากวรรณกรรมที่เป็นมรดกของอินเดียอย่าง มหาภารตะ ที่กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเมืองในการจำกัดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ

ความเกี่ยวพันระหว่างโชคชะตาทางเศรษฐกิจและการเมืองกับสภาพของลมมรสุมยังดำเนินมาถึงยุคสมัยใหม่ หากแต่ในยุคนี้ มนุษย์ได้เริ่มนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาอุตุนิยมวิทยา เข้ามาในการสร้างความเข้าใจและแนวทางการรับมือจากสภาพอากาศที่ถูกกำหนดจากความแปรปรวนของลมมรสุม ในช่วงเวลาที่ชมพูทวีปตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษอย่างเต็มตัวภายใต้ร่มของพื้นที่อาณานิคมที่เรียกว่าอินเดียของอังกฤษ (British India) ซึ่งหากเทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เขตอาณานิคมนี้ได้ควบรวมพื้นที่ของอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ และเมียนมาร์ 

ในช่วงศตวรรษที่ 19 รัฐบาลอาณานิคมได้เผชิญกับภาวะความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ของชมพูทวีป โดยความอดอยากได้ผลักให้รัฐบาลเผชิญกับทั้งความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจ (การขาดแคลนทรัพยากรและความอดอยาก) และทางการเมือง (ความไม่พอใจของผู้คนที่เผชิญกับปัญหาความแห้งแล้ง) ผู้ปกครองของรัฐบาลอาณานิคมจึงได้เริ่มต้นชุดโครงการสองประการไปในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ โครงการการจัดการด้านชลประทานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภูมิภาคที่มีความเปราะบางด้านการขาดแคลนน้ำ ผ่านการสร้างเขื่อนและการขุดคลอง พร้อมไปกับการตั้งหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบหลักในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อคาดการณ์ คำนวณทิศทาง และขนาดของความเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมที่มีนัยยะถึงปริมาณน้ำได้

ชุดโครงการทั้งสองนำโดยเหล่าชาวตะวันตกผิวขาวที่มาจากสหราชอาณาจักรเป็นหลัก โดยชุดโครงการเหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางการปกครองและความมั่นคงให้กับรัฐอาณานิคม แต่ไม่ว่าจะเป็นตามความตั้งใจหรือบังเอิญ ชุดโครงการดังกล่าวได้ปูทางให้ผู้คนในชมพูทวีปได้เตรียมพร้อมกับการจัดการและดูแลมาตุภูมิของตนเองหลังจากการปลดแอกจากการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ เพราะเหล่าผู้นำชุดโครงการล้วนต้องพึ่งพาการเข้ามามีส่วนร่วมจากทีมทำงานที่เป็นประชาชนในท้องถิ่น ผู้คนในชมพูทวีปได้ร่ำเรียนความรู้วิธีการจัดการด้านชลประทานและการคาดการณ์ด้านอุตุนิยมผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วม 

ในช่วงหลังการปลดแอก เหล่าผู้คนที่เคยทำงานเป็นทีมงานในโครงการเหล่านี้จึงได้กลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งและขับเคลื่อนกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการเคลื่อนตัวของลมมรสุม หากแต่เป้าหมายของพวกเขา/เธอที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานในรัฐอาณานิคมไม่ได้จำกัดเพียงแค่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองเหล่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายในการทำให้รัฐชาติที่กำเนิดขึ้นหลังจากการประกาศอิสรภาพมีความเป็นอิสระจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่โจมตีสังคมมนุษย์ในชมพูทวีปมาเป็นเวลานาน

แต่ภารกิจหลังรับมือจากความเปลี่ยนแปลงของมรสุมในยุคหลังการปลดแอกไม่ได้เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับรัฐใดรัฐหนึ่งอย่าง อินเดีย ปากีสถาน หรือบังคลาเทศ เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในด้านหนึ่ง นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรเพื่อสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับสร้างแบบจำลองพยากรณ์ทิศทางและขนาดของลมมรสุมในแต่ละช่วงเวลาได้ และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่หลายประเทศได้ทำการปลดแอกตัวเองจากจ้าวอาณานิคม ประชาคมวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ร่วมกันสำรวจทะเลครั้งใหญ่ เพื่อนำมาใช้การสร้างข้อมูลและตัวแบบในการคาดการณ์ความเปลี่ยนทางสภาวะภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นเอลนีโญที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิสูง หรือลานีญ่าที่มาพร้อมกับอุณหภูมิที่ต่ำลง 

ในขณะเดียวกันการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มาจากลมมรสุมก็สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้เช่นกัน ดังในกรณีของความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดียที่มีข้อพิพาทเรื่องการจัดการเขตแดนตามเขตแนวเทือกเขาหิมาลัย เพราะทั้งสองฝ่ายต่างพยายามเข้าไปจัดการแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลังคาโลกแห่งนี้ ผ่านการสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมปริมาณและกระแสการไหลของน้ำในแม่น้ำ แต่เผอิญแม่น้ำเหล่านี้ได้ครอบคลุมพื้นที่ของรัฐหลายแห่งพร้อมกัน ไม่ได้ไหลเพียงแค่ในขอบเขตของรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น 

ปรากฏการณ์ความร่วมมือและความขัดแย้งอันเกี่ยวข้องกับการจัดการกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอันเกิดจากมรสุมได้ยืนยันกับมนุษย์ว่า ถึงแม้รัฐบาลในฐานะผู้ครองอำนาจของรัฐชาติเป็นตัวละครในกิจการเหล่านี้ แต่ปัจจัยที่เป็นตัวกลางระหว่างสภาพอากาศและชีวิตของผู้คนอย่าง กระแสน้ำในมหาสมุทร แม่น้ำที่ตัดผ่านข้ามพรมแดนของรัฐชาติ หรือแม้แต่สภาพของชั้นบรรยากาศ ไม่สามารถจัดการภายใต้การนำและดูแลของรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น เพราะปัจจัยเหล่านี้ครอบคลุมอาณาเขตและส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของหลายรัฐ ทั้งผลกระทบทางตรงเช่น การเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ และผลกระทบสืบเนื่องเช่น การรับมือกับการอพยพของผู้คนที่ไม่สามารถรับมือกับสภาวะอากาศอันเลวร้ายในภูมิลำเนาของตนเองได้อีกต่อไป เพราะคนอพยพเหล่านั้นไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติในบ้านเกิดที่จากมาได้อีกต่อไป 

สำนึกการรับรู้เรื่องลักษณะการข้ามชาติของความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนยิ่งทวีความสำคัญขึ้นในปัจจุบัน ผู้คนในหลายพื้นที่ของโลก ทั้งริมชายฝั่งทะเล ริมตลิ่งแม่น้ำภายในแผ่นดิน หรือสถานที่อันแห้งแล้ง อย่างทุ่งหญ้าหรือทะเลทราย ล้วนเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อันเกิดจากความเสียหายของชั้นบรรยากาศจากก๊าซเรือนกระจกในหลายรูปแบบทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปริมาณที่ลดลงของน้ำจืดในการบริโภคและอุปโภค หรือภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นในบางพื้นที่จนทำให้กิจกรรมเกษตรที่กระทำมาอย่างยาวนานไม่สามารถดำเนินได้ต่อไป ดังนั้นแล้ว วาระเรื่องการรับมือกับสภาพอากาศจึงไม่ใช่เรื่องของผู้คนในทุกพื้นที่ เพราะการกระทำของมนุษย์ในพื้นที่หนึ่งส่งผลต่อเพื่อนมนุษย์ในพื้นที่อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการนี้ วิชาความรู้อุตุนิยมวิทยาจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดไปอีกในการฉายภาพให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องที่มีลักษณะข้ามพรมแดนในการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในท้ายที่สุด ประสบการณ์ของการจัดการและรับมือกับสภาพอากาศในชมพูทวีปให้บทเรียนแก่เราว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพอากาศจำเป็นที่ต้องพึ่งพาและยึดโยงกับสถาบันและเครื่องมือที่เกิดและบ่มเพาะจากองค์ความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาที่ครอบคลุมทั้ง กระแสน้ำ กระแสลม ความกดอากาศ หรือแม้กระทั้งข้อมูลค่าความชื้น แต่ในขณะเดียวกัน ปัจเจกควรตระหนักว่า สถาบันและเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้มีแค่มิติเชิงเทคนิค เพราะการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของโครงการเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์การเมืองของการรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เช่น การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่มีต้นตอจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวทางการจัดการทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะการชลประทาน ไปจนถึงการสร้างบุคลากรที่เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ หรือกล่าวโดยสรุปอีกนัยหนึ่งได้ว่า การรับมือกับสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของมัน แต่ลักษณะของการรับมือสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  


สำหรับอ่านเพิ่มเติม

Amrith, Sunil. 2018. Unruly Waters: How Mountain Rivers and Monsoons Have Shaped South Asia’s History. New York, N.Y.: Basic Books.

Chaudhuri, K. N. 1985. Trade and Civilisation in the Indian Ocean: An Economic History from the Rise of Islam to 1750. Cambridge: Cambridge University Press.

Oshima, Harry, T. 1987. Economic Growth in Monsoon Asia: Comparative Survey. Tokyo: University of Tokyo Press.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save