fbpx
ฝุ่นละออง PM 2.5 ข้ามชายแดนได้ แต่อย่าให้ความขัดแย้งข้ามชายแดนไปด้วย

ฝุ่นละออง PM 2.5 ข้ามชายแดนได้ แต่อย่าให้ความขัดแย้งข้ามชายแดนไปด้วย

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

แม้ว่าการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะจากยานยนต์ที่สัญจรบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร จะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ และสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์อย่างรุนแรงในระยะยาว แต่คำถามที่น่าสนใจอีกคำถามหนึ่งก็คือ แล้วทำไมในพื้นที่ที่การจราจรเบาบาง เช่น จังหวัดตราด กลับมีค่าดัชนี Air Quality Index (AQI) สูงถึง 161 มีฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 75.7 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร

หรือแม้แต่ในบริเวณที่มีป่าไม้สมบูรณ์เช่น ปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี ที่ๆ แม่น้ำแควใหญ่มาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อย ถึงมีค่าดัชนี AQI สูงถึง 180 และมีฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 111 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นค่าดัชนีที่แสดงให้เห็นว่าฝุ่น PM 2.5 ในอากาศมีปริมาณสูงถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ทั้งที่อยู่สุดเขตชายแดนประเทศไทยทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และก็ไม่น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรแออัดขนาดเมืองใหญ่

AQI PM 2.5

AQI PM 2.5

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาหมอกควัน (Haze) ที่มาจากการเผาไหม้ในพื้นที่เปิดโล่ง โดยเฉพาะการเผาเศษซากที่เหลือจากการทำการเกษตร เช่น การเผาตอซัง การเผาฟาง การเผาหญ้า หรือการเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยควันจากการเผาไหม้เหล่านี้ เมื่อผนวกเข้ากับสภาวะความกดอากาศในช่วงของการเปลี่ยนฤดูกาล และกระแสลมที่พัด ทำให้เกิดเป็นฝุ่นหมอกควันจากการเผา

ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้วย ที่ว่าในแต่ละปีๆ สาเหตุและปริมาณของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาจากอันดับที่ 1 คือ การเผาไหม้ในที่โล่ง ปล่อย PM 2.5 ปริมาณ 209,937 ตัน/ปี อันดับที่ 2 คือการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปล่อย PM 2.5 ปริมาณ 65,140 ตัน/ปี ในขณะที่การคมนาคมขนส่ง ปล่อย PM 2.5 ปริมาณ 50,240 ตัน/ปี เป็นสาเหตุอันดับที่ 3 ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าการเผาไหม้ในที่เปิดโล่งถึง 4 เท่า

นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ฝุ่นละอองหมอกควันจากการเผาในประเทศหนึ่ง ฟุ้งกระจายข้ามชายแดนเข้าไปในเขตพื้นที่ของอีกประเทศหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นและเข้าสู่สถานการณ์ขั้นเลวร้ายมากที่สุดมาตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษ 1990 โดยในคราวนั้น มีการเผาพื้นที่ป่าไม้บนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่มากกว่า 45,000 ตารางกิโลเมตร และหมอกควันซึ่งมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็ฟุ้งกระจายครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ ตั้งแต่เกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ (ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด) ฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของประเทศไทย ปกคลุมมาถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เมื่อเป็นปัญหาในระดับภูมิภาคเช่นนี้ อาเซียนจึงไม่อาจเพิกเฉย ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution (AATHP) จึงมีการเจรจาและลงนามในปี 2002 โดยประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เมียนมา และเวียดนาม ลงนามและมีผลบังคับใช้ AATHP ตั้งแต่ปี 2003 ตามมาด้วย สปป.ลาว และกัมพูชาในปี 2005 และ 2006

แต่วิกฤตหมอกควัน (Asian Haze Crisis) โดยเฉพาะในบริเวณอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร (Maritime ASEAN อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน) ก็ยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะครั้งที่รุนแรงที่สุดคือในปี 2013 ที่ทำให้สิงคโปร์ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นในระดับที่สูงกว่า 300 AQI ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน และนั่นทำให้เกิดการผลักดันอย่างจริงจัง จนในที่สุดข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ก็มีผลบังคับใช้ใน 10 ประเทศ ครอบคลุมทุกประเทศสมาชิกในเดือนกันยายน 2014

AATHP ประกอบด้วย 6 หลักการสำคัญคือ 1) การเฝ้าระวัง (Monitor and Assessment) 2) การป้องกัน (Prevention) 3) การเตรียมความพร้อม (Preparedness) 4) การสร้างกลไกรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค (National and Joint Emergency Response) 5) การอำนวยความสะดวกหากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของต่างๆ (รวมทั้งอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย) ระหว่างประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Procedures for Deployment of People, Materials and Equipment Across Borders)  6) การสร้างความร่วมมือด้านเทคนิคและการทำวิจัยในปัญหาหมอกควัน (Technical Cooperation and Scientific Research)

ภายหลังจากที่ข้อตกลงนี้มีการบังคับใช้ในระดับภูมิภาคในทุกประเทศสมาชิก สถานการณ์ฝุ่นหมอกควันในบริเวณอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทรก็บรรเทาเบาบางลง สถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2015 ก็มีความเลวร้ายต่ำกว่าระดับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2013 โดยผลสำเร็จนี้มาจากการป้องกันไม่ให้เกิดการเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ โดยอาเซียนเข้าไปอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการพื้นที่ทำการเกษตร และสร้างงานนอกภาคเกษตรให้กับประชาชนบนเกาะสุมาตรา

กลไกเฝ้าระวังทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลดาวเทียมจำนวนมาก ที่ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถมองเห็นได้ว่าจุดที่เกิดความร้อนสูง (Hot Spot) ที่น่าจะมีการเผาพื้นที่ หรือเผาซากพืชที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ไหนบ้างในอาเซียน โดยสามารถบอกได้ทั้งจำนวน และพิกัดของจุดที่มีการเผาไหม้ รวมทั้งยังสามารถวิเคราะห์ร่วมกับความเร็วและทิศทางของกระแสลม ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์ได้ต่อไปด้วยว่าหากเกิดการเผาขึ้นแล้ว พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากหมอกควันจะมีพื้นที่ใดบ้าง ด้วยความรุนแรงในระดับไหน โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลรายวันได้ที่ Website ของ ASEAN Specialised Meteorological Centre (ASMC)  ซึ่งข้อมูลดาวเทียมและการอัพเดตข้อมูลจะถูกจัดทำโดย Meteorological Service Singapore

ทิศทางกระแสลม

นอกจากข้อมูลแล้ว ASMC ยังมีการเตือนภัยที่เกิดขึ้นจากภาวะมลพิษที่เกิดขึ้นจากหมอกควันอีกด้วย โดยแบ่งระดับการเตือนภัยออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งการเตือนภัยเหล่านี้ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการวางแผนเพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์ถึงพื้นที่ที่อาจจะสุ่มเสื่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ป่าได้ด้วย

ระดับการเตือนภัยหมอกควัน

ณ ปัจจุบันพื้นที่ของอาเซียนภาคพื้นทวีป (Mainland ASEAN) กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีการประกาศสถานะการเตือนภัยอยู่ที่ระดับ 2 และมีการชี้ชัดลงมาด้วยว่า ผลของภาวะหมอกควันในขณะนี้ส่วนใหญ่มาจากการเผาหรือจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา และยังบ่งชี้ได้ด้วยว่าจุดที่เกิดการเผาอยู่ที่พิกัดภูมิศาสตร์ (เส้นรุ้ง เส้นแวง) ใดบ้าง นั่นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปกอบกู้สถานการณ์และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้

สถานะการเตือนภัยหมอกควัน

ผลของภาวะหมอกควัน

และเมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดเก็บอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับรายวัน รายเดือน และรายปี ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนและคาดการณ์อนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น หากพิจารณาข้อมูลรายเดือน เราจะพบว่าปัญหาหมอกควันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในบริเวณประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง และอาจจะเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้นหากเราใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบกับการทำงานอย่างจริงจังของประเทศสมาชิกอาเซียนในการให้ความรู้ ในการเฝ้าระวังการเผาป่า เผาไร่นา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ของประเทศกัมพูชา โดยใช้การขอความร่วมมือในระดับรัฐบาล หรือการส่งความช่วยเหลือจากไทยเข้าไปช่วยควบคุมดูแล และอบรมให้ความรู้กับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน การป้องกันภาวะหมอกฝุ่นควันในช่วงที่อาจจะเลวร้ายที่สุดของแต่ละปีก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แต่ขณะเดียวกันในประเทศไทยเราเอง ก็เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ในการให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องการไม่เผาพื้นที่ทำการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเปิดหน้าดินใหม่ ให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันตนเอง โดยไม่ตื่นตระหนกจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเมื่อเกิดฝุ่นละอองหมอกควัน และที่สำคัญที่สุด ต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ ความรู้เท่าทัน และทัศนคติที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการร่วมกันรับมือกับภัยฝุ่นละอองหมอกควันที่เกิดขึ้น

อย่าเอาแต่โทษประเทศเพื่อนบ้านว่า เธอคือตัวการที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะปัญหาฝุ่นหมอกควันเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ไม่มีสัญชาติ ทุกประเทศไม่สามารถควบคุมความกดอากาศได้ ไม่สามารถควบคุมกระแสลมได้ และไม่สามารถตั้งกำแพงหรือครอบแก้วมาครอบประเทศของตนเองให้พ้นจากฝุ่นควันได้ (ดีไม่ดี หากสร้างครอบแก้วคลุมประเทศจริงๆ ขึ้นมา เราอาจจะสำลักควันที่เราสร้างเองใต้ครอบแก้วของเราเองก็ได้)

มีหลายๆ วาระที่หมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาปกคลุมบ้านเรา และก็มีหลายๆ วาระเช่นกันที่หมอกควันหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จากบ้านเราเข้าไปทำร้ายประเทศเพื่อนบ้าน ลองนึกภาพนะครับ ว่าไทยเราอยู่เหนือน้ำของแม่น้ำโขง สิ่งปฏิกูล มลพิษ และการทำลายแม่น้ำของประเทศในตอนบนของแม่น้ำโขง (ไทย จีน สปป.ลาว เมียนมา) ก็ทำให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำ เช่น กัมพูชา และเวียดนาม เดือนร้อนมานักต่อนักแล้ว

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าหมอกควันมาจากอินโดนีเซีย แล้วทำให้คนสิงคโปร์เดือดร้อน แล้วคนสิงคโปร์เอาแต่โมโหโทโส พร้อมกับคิดเพียงแค่การไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ การไม่ออกจากบ้าน หรือออกจากบ้านพร้อมกับใส่หน้ากากที่ทำให้หายใจไม่สะดวก ปัญหาหมอกควันจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ แต่สิ่งที่สิงคโปร์และสมาชิกอาเซียนทำคือการใช้ระบบดาวเทียม การสร้างระบบการเตือนภัย และการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันให้ได้อย่างยั่งยืน

และในเมื่อย้ายประเทศหนีกันไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือการป้องกัน การให้ความรู้ประชาชน และการสร้างความร่วมมือเพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่เลวร้าย และป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอีกในปีหน้าและปีต่อๆ ไป นั่นคือทางออกอย่างยั่งยืน และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอีกด้วย ต้องอย่าลืมนะครับว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ข้ามชายแดนได้ แต่อย่าให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นข้ามชายแดนไปด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save