fbpx
Plastic Hero คนเล็กเปลี่ยนโลก

Plastic Hero คนเล็กเปลี่ยนโลก

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ตอนที่เด็กหญิงเอว่าอายุ 5 ขวบเขียนจดหมายสั้นๆ ขอร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Pizza Express เลิกใช้หลอดพลาสติก เธอและครอบครัวของเธอคงไม่คาดคิดว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงนโยบายของบริษัทฟาสต์ฟู้ดขนาดใหญ่ยักษ์ได้ แต่ก็เป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว

วิกฤตขยะพลาสติกล้นโลกโดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) กลายเป็นวาระสำคัญร่วมกันของนานาชาติ เพราะมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าขยะพลาสติกไม่เพียงส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสัตว์ทะเลและมหาสมุทร แต่ยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในเชิงเศรษฐกิจและสังคม จากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ สุขอนามัยและภาระในการจัดการกำจัด

น่าสนใจที่กลุ่มคนที่อาสาลุกขึ้นมาเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้มีคุณสมบัติร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นคนรุ่นใหม่ไปจนถึงรุ่นจิ๋ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณสำคัญราวกับจะบอกว่า ผู้รับมรดกโลกใบนี้ตัวจริงเสียงจริงกำลังขอทวงสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรของโลก และเตือนสติบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ให้ดูแลบ้านหลังนี้ให้ดี ก่อนจะส่งต่อให้กับพวกเขา ลองไปรู้จักฮีโร่ตัวน้อยจนถึงตัวใหญ่จากรอบโลก

เด็กหญิงเอว่า ผู้เปลี่ยน Pizza Express

ถ้าคุณเป็นเจ้าของ Pizza Express ร้านพิซซ่าที่มีสาขากว่า 470 แห่งในอังกฤษและอีกหลายประเทศ คุณจะทำอย่างไรเมื่อได้รับจดหมายแผ่นน้อยเขียนด้วยลายมือขยุกขยิกฉบับนี้

เอว่า, Pizza Express

ถึง Pizza Express

หนูชื่อเอว่าค่ะ หนูเขียนมาเพราะหนูและน้องชายมากินที่ Pizza Express บ่อยมากๆ แต่เครื่องดื่มของหนูมักจะมาพร้อมหลอดพลาสติกตลอดเลย หนูเขียนมาเพื่อขอร้องให้คุณหยุดแจกหลอดพลาสติกได้ไหมคะ เพราะมันแย่มากๆ เลยสำหรับสัตว์ บางทีก็เข้าไปอุดจมูก อุดปาก คุณช่วยให้หลอดเฉพาะตอนที่มีคนขอได้ไหมคะ เพราะหนูไม่อยากให้สัตว์ต้องเจ็บป่วยเพราะหลอดเลย

ขอบคุณค่ะ

เอว่า 5 ขวบ

เอว่า
เอว่า 5 ขวบ

ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานบริษัท Pizza Express ก็ออกมาประกาศว่า ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทในการรับฟังความเห็นของลูกค้าเสมอ เมื่อหนูเอว่า 5 ขวบ แสดงความเห็นอย่างจริงใจ และขอร้องให้ร้านเลิกใช้หลอดพลาสติก เพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์ ทางร้านได้พิจารณาแล้วเห็นคล้อยตาม จึงขอประกาศว่าบริษัทจะทยอยเลิกแจกหลอดพลาสติกในร้านพิซซ่าทุกสาขาทั้งหมด 470 สาขาภายในฤดูร้อนปีนี้ (2018) และเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษที่ย่อยสลายได้แทน  ปัจจุบันเฉพาะสาขาในลอนดอนมีการใช้หลอดพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านหลอดในแต่ละปี

แอนดรีย เจมส์ (Andrea James) คุณแม่ของหนูน้อยเอว่า เจมส์ เล่าว่า “เธอปลาบปลื้มสุดๆ กับลูกสาวตัวน้อย… เอว่าเห็นวิดีโอที่นักวิจัยช่วยเอาหลอดที่ปักคาจมูกเต่าแล้วถามว่า เราจะช่วยอะไรได้บ้าง ฉันจึงเชียร์ให้เธอลองเขียนจดหมายดูสิ เพราะร้าน Pizza Express ก็เป็นร้านประจำของครอบครัวเราอยู่แล้ว”

“เราไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ทางบริษัทตอบกลับตอนที่ได้รับจดหมาย แล้วหลังจากนั้นอาทิตย์เดียวก็ติดต่อเรากลับมา เพื่อแจ้งข่าวที่ทุกคนได้ทราบกันแล้ว”​

“เอว่าตื่นเต้นและดีใจมากๆ ที่รู้ว่าทางร้านจะไม่ใช้หลอดพลาสติกอีกแล้ว แต่ฉันไม่คิดว่าเธอเข้าใจว่าสิ่งที่เธอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นยิ่งใหญ่ขนาดไหน”

“ตอนนี้เราอยู่ที่นิวซีแลนด์ และเธอก็กลายเป็นหนูน้อยนักอนุรักษ์ไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ทุกครั้งที่ไปเดินเล่นชายหาดเธอจะวิ่งไล่เก็บขยะพลาสติกทุกชิ้นจนหาดสะอาดเลย” แอนเดรีย กล่าวอย่างภูมิใจ

ถ้าเราคิดว่าลำพังเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ อยากให้ลองอ่านจดหมายน้อยฉบับนี้อีกครั้ง และนึกถึงน้อง Ava อายุ 5 ขวบ

เมลาติกับอิสซาเบล สองพี่น้องผู้ขับเคลื่อนให้บาหลีปลอดพลาสติก

เมลาติกับอิสซาเบล
เมลาติกับอิสซาเบล

เมลาติ (Melati) กับอิสซาเบล ไวจ์เซ่น (Isabel Wijsen) เป็นสองพี่น้องลูกครึ่งอินโดนีเซีย-ดัตช์ ทั้งคู่เกิดและเติบโตที่บาหลี และคุ้นเคยกับขยะพลาสติกเป็นอย่างดี “คุณไม่มีทางเลี่ยงมันได้หรอกค่ะ พลาสติกมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราก็คิดนะว่าใครกันนะจะแก้ปัญหานี้สักที”

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่เพียงจีน เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าจะลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อลดขยะพลาสติกลงให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2025 แต่ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับประเทศที่มีเกาะทั้งหมดกว่า 17,000 เกาะ รวมทั้งเกาะบาหลี

ความที่บาหลีเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ยิ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีขยะเกิดขึ้นมากตามไปด้วย และทุกปีเมื่อฤดูฝนมาถึง คลื่นลมเปลี่ยนทิศ ชายฝั่งรอบเกาะบาหลีจึงเต็มไปด้วยขยะมากมาย จนเรียกกันว่าเป็น ‘ฤดูแห่งขยะ’

จนวันหนึ่งสองพี่น้องซึ่งเรียนอยู่ที่ Green School โรงเรียนทางเลือกอันโด่งดังของบาหลี ได้เรียนเกี่ยวกับชีวิตผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น เนลสัน เมลเดลา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เจ้าหญิงไดอานา สองพี่น้องซึ่งในเวลานั้นอายุ 10 กับ 12 เกิดแรงบันดาลใจว่าทุกคนต่างก็มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งคู่ไม่อยากรอจนโตและคิดว่าจึงอยากลงมือทำอะไรบางอย่างบ้าง เรื่องหนึ่งที่ทั้งคู่คิดว่าใกล้ตัวเธอที่สุดและพวกเธอน่าจะมีส่วนช่วยได้ก็คือปัญหาขยะพลาสติก

“เราคิดว่าถ้าทุกคนปฏิเสธที่จะใช้ถุงพลาสติก ร้านค้าต่างๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะแจกมันอีกต่อไป นั่นจึงเป็นที่มาของการทำโครงการ Bye Bye Plastic Bags ซึ่งตั้งเป้าให้บาหลีเป็นเมืองที่ปลอดถุงพลาสติกให้ได้

ทั้งคู่เริ่มต้นด้วยการรณรงค์ในโรงเรียนตัวเอง และขยายไปยังกลุ่มเยาวชนของโรงเรียนอื่นๆ เพื่ออธิบายให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาและตระหนักว่าทุกคนสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ พวกเธอบอกว่าถุงพลาสติกราว 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิลในบาหลี ในขณะที่มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นวันละ 680 ตัน ทุกๆ วัน

สาวน้อยทั้งคู่คงไม่คิดว่าการรณรงค์ดังกล่าวจะกลายเป็นการขับเคลื่อนขบวนการสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของบาหลี และนำพาให้เธอทั้งคู่ได้ไปพูด TED Talk ที่กรุงลอนดอน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยมหาสมุทร (UN Ocean Conference) จัดโดยสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก

แม้การรณรงค์ให้คนงดใช้ถุงพลาสติกในบาหลีจะได้รับการตอบรับอย่างดี แต่รัฐบาลท้องถิ่นยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก ทั้งคู่จึงตัดสินใจล่ารายชื่อผู้สนับสนุนที่ต้องการให้บาหลีเป็นเมืองปลอดถุงพลาสติก ซึ่งพวกเธอและเพื่อนๆ สามารถรวบรวมได้มากกว่า 1  แสนรายชื่อ ผ่านเว็บรณรงค์ออนไลน์ Avaaz และการออกล่ารายชื่อด้วยตัวเองที่สนามบินนานาชาติ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึง 1 ปีครึ่ง นายมังกู ปัสติกา (Mangku Pastika) ผู้ว่าราชการบาหลีก็ยังหลบเลี่ยงที่จะให้พี่น้องสองคนเข้าพบเพื่อรับฟังข้อเรียกร้อง ทั้งคู่จึงตัดสินใจยกระดับการต่อสู้ด้วยการอดอาหารประท้วง หลังจากได้มีโอกาสศึกษาเรื่องการต่อสู้แบบอหิงสาของมหาตมะคานธีที่อินเดีย ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะไม่ถึง 24 ชั่วโมง ผู้ว่าราชการก็ยอมให้สองพี่น้องเข้าพบ และยอมเซ็นบันทึกความเข้าใจในการผลักดันบาหลีปลอดจากการใช้ถุงพลาสติกภายในปี 2018

ตอนนี้ Bye Bye Plastic Bags ได้กลายเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงของบาหลี และมีสาขาอยู่ในประเทศต่างๆ ถึง 25 แห่ง ขณะเดียวกันก็ยังพยายามผลักดันให้มีการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ในบาหลีตามที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ เพราะเชื่อว่าวิธีนั้นจะเป็นทางเดียวที่ทำให้ลดการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างจริงจัง และจากการที่ได้ทำรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทั้งคู่คิดว่าทุกภาคส่วนพร้อมแล้วกับการเปลี่ยนแปลง

พวกเธอเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์ของเธอได้รับการตอบรับอย่างดีเพราะกลุ่มของเธอเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ หลายคนมองว่าพวกเธอคือความหวัง แต่ทั้งคู่บอกว่าสิ่งที่พวกเธอทำไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่แรงบันดาลใจหรือการจุดประกายเท่านั้น เพราะเยาวชนอย่างพวกเธอและคนรุ่นใหม่หลายคนมีความคิดสร้างสรรค์และมีคำตอบให้กับปัญหาต่างๆ ที่ท้าทายที่สุดของคนในยุคนี้

“เราคือตัวแทนของอนาคตก็จริง แต่เราก็อยู่ตรงนี้แล้วด้วย เรารับรู้ปัญหาและพร้อมแล้วที่จะมีส่วนร่วมลงมือแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องการให้คนรุ่นใหม่ออกมามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหามากกว่านี้ เราพิสูจน์แล้วว่าเราทำได้” เมลาติและอิสซาเบล กล่าวด้วยแววตาสดใสและมุ่งมั่น

สาวน้อยมอลลี่ผู้อยากให้โลกนี้เลิกใช้หลอดพลาสติก

มอลลี่ สเตียร์
มอลลี่ สเตียร์

 

หนูมอลลี่ สเตียร์ (Molly Steer) อายุ 9 ขวบเท่านั้นตอนที่เธอตัดสินใจว่าเธอต้องทำอะไรบางอย่างกับปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากหลอดที่ทุกคนใช้ เธอได้แรงบันดาลใจหลังจากชมสารคดีเรื่อง A Plastic Ocean ซึ่งฉายให้เห็นภาพความทรมานของสัตว์ในธรรมชาติที่ต้องเผชิญกับขยะพลาสติกในทะเล

มอลลี่อาศัยอยู่ที่เมืองแคนส์ (Cairns) รัฐควีนส์แลนด์​ ประเทศออสเตรเลียซึ่งอยู่ติดกับแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) อันมีชื่อเสียง ประเด็นเรื่องขยะทะเลจึงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเธออย่างมาก ยิ่งพอเธอรู้ว่านกทะเลกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีขยะอยู่ในท้อง เต่าทะเลทุกชนิดกำลังถูกคุกคามด้วยพลาสติกในทะเล นั่นทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยสัตว์ทะเลที่เธอรัก

เธอเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับคุณครู และขอร้องครูใหญ่ว่าให้โรงอาหารและร้านค้าต่างๆ ที่โรงเรียนเลิกใช้หลอดพลาสติกได้ไหม โดยอธิบายถึงข้อเสียต่างๆ ที่เกิดจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหยิบยกสถิติที่แสดงให้เห็นว่า ทุกๆ วันเราใช้หลอดพลาสติกกันมากถึง 500 ล้านหลอดเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเอามาวางเรียงกันจะพันรอบโลกได้ถึง 4 รอบ แถมหลอดพลาสติกเหล่านี้ก็ไม่หายไปไหน สุดท้ายก็อาจจะย้อนมาทำร้ายเราเองในรูปแบบของไมโครพลาสติกในอาหารทะเล

ครูใหญ่เมื่อได้ฟังเหตุผลก็เห็นคล้อยและตัดสินใจยกเลิกการใช้หลอดภายในโรงเรียนทั้งหมด กลายเป็นข่าวใหญ่และเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนในละแวกนั้นเดินตามรอย เธอเริ่มออกสื่อ พูดคุยกับหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์​ เพื่อทำการรณรงค์เรื่องหลอดพลาสติกอย่างจริงจัง

เมื่อเห็นว่าความพยายามของเธอเกิดผลสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากโรงเรียนอื่นๆในรัฐควีนส์แลนด์ รวมทั้งได้รับการติดต่อจากโรงเรียนที่นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เธอจึงตั้งโครงการ Straw No More ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักเรียน โรงเรียน ภาคธุรกิจและราชการ ลงนามแสดงเจตนารมณ์เลิกใช้หลอดพลาสติกและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบของขยะพลาสติก

เครือข่าย Straw No More ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และในเวลาไม่นานเธอก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นเยาวชนที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เธอได้รับรางวัลเยาวชนหญิงดีเด่นประจำปีเนื่องในงานวันสตรีสากลโดยสภาเมืองแคนส์

ในงานรับรางวัลเธอได้ใช้โอกาสที่กล่าวคำขอบคุณ หยั่งเสียงนายกเมืองแคนส์ ว่า จะเป็นไปได้ไหมที่แคนส์จะกลายเป็นเมืองแรกในออสเตรเลียที่ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก ถ้าทำได้น่าจะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากๆ เลย ปรากฏว่า นายกเมืองแคนส์ รับคำท้าและนำไปผลักดันต่อจริงๆ

ภายในเวลาไม่นานสภาเมืองแคนส์ก็เห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์ในการวางแผนยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกรวมไปถึงพลาสติกใช้แล้วทิ้งแบบอื่นๆ และผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ หลังจากที่แคนส์ ประกาศนโยบายออกมาไม่นาน มอร์ตัน เบย์ (Moreton Bay) ซึ่งเป็นเขตปกครองท้องถิ่นที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศออสเตรเลีย อยู่ทางตอนเหนือของนครบริสเบน (Brisbane) ก็ผ่านมติเลิกใช้หลอดพลาสติกในงานประชุมและกิจกรรมของเมืองทั้งหมด สภาเมืองมอร์ตันเบย์กล่าวว่าต้องขอบคุณความมุ่งมั่นและตั้งใจของหนูน้อยมอลลี่ที่ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรารู้สึกว่าต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

มอลลี่ได้รับเชิญไปพูดที่งาน TEDxJCUCairns จัดโดยมหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊ก (James Cook) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านการสอนและงานวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล หลังจากนั้นไม่นานมหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊กก็เข้าร่วมโครงการ Straw No More และประกาศเลิกใช้หลอดพลาสติกในมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขต

ตอนนี้มอลลี่อายุ 10 ­ขวบ ยังคงมุ่งหน้ารณรงค์ให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วออสเตรเลียยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก รวมไปถึงหน่วยงานราชการและเทศบาลต่างๆ เธอหวังว่าสักวันโรงเรียนทุกแห่งในออสเตรเลียหรือแม้แต่ทั้งโลกอาจจำกัดการใช้หลอดสำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น หรือหันมาใช้หลอดที่ใช้ซ้ำได้ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายแบบ

สำหรับมอลลี่หลอดพลาสติกกลายเป็นตัวแทนปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตของคนส่วนใหญ่ แต่รายรอบตัวเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง เธอคิดว่าถ้ายังแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าพวกเราทุกคนไม่ได้ เราจะแก้ปัญหาที่ใหญ่โตกว่านี้ได้อย่างไร

โบยัน สลัต กับความฝันที่ใกล้เป็นจริงในการทำความสะอาดทะเล  

โบยัน สลัต
โบยัน สลัต

 

โบยัน สลัต เป็นหนุ่มนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เขาเป็นเจ้าของรางวัลสิ่งแวดล้อม Champion of the Earth จากสหประชาชาติที่อายุน้อยที่สุด นวัตกรรมเครื่องกำจัดขยะทะเลของเขาเป็นหนึ่งในความหวังสำคัญเก็บขยะในมหาสมุทรที่ลอยอยู่กว่า 5 ล้านล้านชิ้น น้ำหนักรวมกันกว่า 2 แสนตัน ยังไม่นับว่ามีขยะหลุดรอดลงสู่ทะเลเพิ่มขึ้นอีกถึงปีละ 8 ล้านตันโดยเฉลี่ย

โบยันรักการประดิษฐ์มาตั้งแต่จำความได้ เขาชอบงานช่าง รักเทคโนโลยี ตอนอายุ 14 เขาได้มีชื่อบันทึกลงกินเนสบุ๊คว่าเป็นผู้ปล่อยจรวดแรงดันน้ำพร้อมกันมากที่สุดในโลกเป็นจำนวนถึง 213 ลำ โบยันมีประสบการณ์ตรงกับปัญหาขยะทะเลครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 16 (2011) เมื่อเขาไปเที่ยวดำน้ำที่กรีซแล้วพบว่ามีขยะมากมายในทะเล มากกว่าปลาเสียอีก

ตั้งแต่นั้นเขาจึงสนใจศึกษาปัญหามลภาวะที่เกิดจากพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง และสงสัยว่าทำไมคนจึงคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บขยะเหล่านั้นให้หมด ทั้งโลกมีแพขยะขนาดใหญ่อยู่ 5 แห่ง แหล่งที่ใหญ่ที่สุดคือแพขยะมหึมาแห่งแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) แพขยะเหล่านี้เกิดจากกระแสน้ำที่พัดวนเป็นวงรอบ (Gyre) ทำให้ขยะทะเลซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกถูกพัดพามาสะสมรวมกันจนมีขนาดใหญ่มาก แพขยะแปซิฟิกตั้งอยู่ระหว่างฮาวายกับแคลิฟอร์เนียและมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทย แพขยะเหล่านี้แม้จะมีขนาดใหญ่แต่สังเกตเห็นได้ไม่ง่ายนัก เพราะขยะเกือบทั้งหมดลอยอยู่ใต้น้ำหรือใกล้ผิวน้ำ

โบยันเมื่อสนใจอะไรแล้วก็สนใจจริงๆ จึงเริ่มหาความรู้ด้านสมุทรศาสตร์ และค้นคิดกลไกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เขาได้ความคิดว่าน่าจะใช้พลังคลื่นลมเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งเท่ากับว่าสร้างนวัตกรรมให้มหาสมุทรทำความสะอาดตัวเอง แทนที่จะใช้วิธีการแบบเดิม นั่นคือการใช้เรือและอวนไปลากเก็บขยะซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก และมีการประมาณว่าต้องใช้เวลานับพันปีในการเก็บขยะเหล่านั้นขึ้นมาได้ทั้งหมด

เขาทดลองร่างแบบทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีทั้งส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำไว้ดักขยะขนาดใหญ่ และส่วนที่เป็นแถบจมลงใต้น้ำไว้ดักขยะขนาดเล็กรวมทั้งไมโครพลาสติก ทุ่นลอยขนาดยาว 600-1,000 เมตรจะเคลื่อนที่โดยอาศัยคลื่นลมและกระแสน้ำให้พัดพาขยะเข้ามาติดที่ดักโดยและแรงดันน้ำที่เกิดขึ้นจะทำให้สิ่งมีชีวิตว่ายลอดไปได้ง่ายๆ และเมื่อรวบรวมขยะได้จนเต็มแล้วก็จะส่งสัญญาณให้เรือขนขยะเข้าฝั่งนำมารีไซเคิลแปลงรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้อีกครั้ง เขาตั้งเป้าว่าถ้าวิธีนี้ได้ผลเขาน่าจะกำจัดขยะในมหาสมุทรได้เกือบครึ่งหนึ่งภายใน 5-10 ปี

เขาตัดสินใจลาออกจากการเรียนวิศวกรรมอวกาศแล้วมาก่อตั้งองค์กร Ocean Cleanup ขึ้นในปี 2013 และลงมือพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ที่เขาคิดไว้อย่างจริงจัง โบยันยังมีความสามารถพิเศษในการสื่อสารชนิดหาตัวจับยาก TEDx Talk ที่บ้านเกิดของเขาได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทำให้เป็นช่องทางในการระดมทุน แบบ Crowding มาได้ 2 ล้านกว่าบาทในปีแรก และกว่า 70 ล้านบาทในปีที่สอง โดยมีผู้บริจาคเงินให้เขา 38,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก!!

น่าสนใจตรงที่ว่าเขาตั้งคำถามตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือที่เขาพัฒนาขึ้นมานั้นจะประสบความสำเร็จจริงๆ คำถามสำคัญที่เขาอยากรู้คือตกลงแล้วมีขยะมากขนาดไหนในแพขยะเหล่านี้ เมื่อไม่มีใครให้คำตอบได้เขาจึงทำโครงการสำรวจที่เรียกว่า Mega Expediton ส่งเรือ 30 ลำออกไปเดินเรือเก็บข้อมูลพร้อมๆ กันในแพขยะ เป็นเวลา 3 อาทิตย์​ ซึ่งเทียบเท่ากับการเก็บข้อมูลแบบปกติ 40 ปี การเก็บสำรวจดังกล่าวได้ข้อมูลที่ละเอียดมากๆ ครั้งแรกของแพขยะและเก็บขยะมาได้กว่า 1.5 ล้านชิ้น และพบว่ามีขยะมากกว่าที่คนเคยประเมินไว้มาก และขยะส่วนใหญ่ยังเป็นขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ๆ

หลังจากปรับปรุง Prototype และทดลองในสถานการณ์ต่างๆ อยู่ร่วม 4 ปีในที่สุด อุปกรณ์ Ocean Cleanup ชุดแรกของโบยันก็ได้ออกเดินทางจากอ่าวซานฟรานซิสโกมุ่งหน้าไปทำหน้าที่ดักเก็บขยะตามความฝันของเขาแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสักขีพยานจากทั่วโลก

สำหรับโบยันเขาเชื่อว่าปัญหาสำคัญๆ ของโลกหลายอย่างจำเป็นต้องแก้ด้วยเทคโนโลยี เขาเคยให้ความเห็นว่า “เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีพลังที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะมันขยายขอบเขตความสามารถของมนุษย์ ในขณะที่การสร้างความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อาศัยการสลับสับเปลี่ยนองค์ประกอบของสังคมที่มีอยู่แล้ว แต่นวัตกรรมเทคโนโลยีช่วยสร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหาชุดใหม่ขึ้นมา”

จากหนูน้อยเอว่า สองพี่น้องเมลาติ-อิสซาเบล เด็กหญิงมอลลี่ มาจนถึงหนุ่มนักประดิษฐ์โบยัน คนรุ่นใหม่เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีปัญหาอะไรใหญ่เกินไป ยากเกินไป และเราไม่จำเป็นต้องทนกับปัญหาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพากันบอกว่าแก้ไม่ได้ หรือไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save