fbpx

‘แผลเก่า’ แห่งทุ่งบางกะปิ ร่องรอยการชนกันของชนชั้น เมือง และชนบทหลังปฏิวัติ

ไม้ เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ฝากฝีมือไว้ในแผลเก่า เมื่อปี 2479 หลังปฏิวัติเพียง 4 ปี เช่นเดียวกับวรรณกรรมอื่นๆ ที่เกิดในช่วงใกล้เคียงกันอย่าง ข้างหลังภาพ (2480) หญิงคนชั่ว (2480) ฯลฯ  เหม เวชกร เคยเล่าย้อนไว้ว่า ก้านเกิดแรงบันดาลใจจากการเห็นกระต๊อบหลังหนึ่งแถบทุ่งบางกะปิ[1] ดังที่เขากล่าวกับเหมว่า “กูไม่อดตายแล้วมึงเอ๋ย กูพบทางแล้ว กูมองเห็นเป็นแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งจุดตะเกียงแล้วให้ลูกดูดนมคอยผัวอยู่ ไอ้ผัวคงจะไปเล่นเบี้ยเสียถั่ว

แต่ทุ่งบางกะปิสมัยนั้น หมายถึงแถบสถานีรถไฟมักกะสัน วัดบางกะปิ (ปัจจุบันคือวัดอุทัยธาราม) ซอย RCA เพียงแค่นั้น ก็ถือว่าบ้านนอกแล้วเมื่อเทียบกับ ‘พระนคร’ ดูแนวแล้ว ตามชื่อบ้านนามเมืองบางกะปิ บ้างว่ามาจาก ‘กะปิเยาะห์’ หมวกของชาวมุสลิม[2] สื่อให้เห็นความสัมพันธ์การตั้งถิ่นฐานของมุสลิมในแถบตะวันออกของพระนคร สอดคล้องข้อสันนิษฐานว่าแถบมักกะสันนั้นเป็นที่ลี้ภัยของชาวบูกิสจากกบฏมากัสซาร์ในปี 2448[3] เพียงแต่เราไม่พบการแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่าวเลยในแผลเก่า อย่างไรก็ตามในนิยายร่วมสมัยกันอย่าง ข้างหลังภาพ บ้านอันเป็นสถานที่บั้นปลายชีวิตของคุณหญิงกีรติก็ระบุว่าอยู่แถบบางกะปิเช่นกัน

เรื่องราวของสามัญชนได้รับความสำคัญมากขึ้นหลังปฏิวัติ เห็นได้จากศิลปะอย่างประติมากรรมที่เน้นเรือนร่างและสัดส่วนของสามัญชน และมัดกล้ามของชาวนาและผู้ใช้แรงงาน ในส่วนวรรณกรรมแล้ว แผลเก่า ของ ไม้ เมืองเดิม ได้เป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมแนวสามัญชน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ทุ่งบางกะปินั้นเอง

ผู้เขียนได้วางพื้นที่ชนบทและเมืองให้เป็นคู่ขัดแย้งกันในเชิงภูมิศาสตร์ บ้านนอกอย่างทุ่งบางกะปิ ถูกสร้างให้เป็นฉากเอกของเรื่อง เป็นที่แห่งความหลัง เป็นจุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมด ขณะที่พื้นที่เมืองอย่าง ‘พระนคร’ กลับไม่ถูกระบุอย่างชัดเจน แต่กลายเป็นฉากของความทันสมัย ที่อยู่ของชนชั้นสูง หรือผู้มีอันจะกิน

การเปิดเรื่องให้ครอบครัว ‘ไอ้ขวัญ’ กับ ‘อีเรียม’ เป็นศัตรูกัน ทำท่าจะคล้ายกับโรมิโอ-จูเลียต ผิดแต่ว่าทั้งสองเป็นตระกูลชาวนา ฝ่ายผู้ใหญ่เขียนไอ้ขวัญให้พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน นั่นหมายถึง มีเส้นสายอยู่ในฝ่ายอำนาจรัฐพอตัว ส่วนตาเรือง พ่ออีเรียมไม่ได้บอกสถานะชัดเจนว่าร่ำรวยมั่งคั่งเพียงไร แต่ตามตัวบทบอกไว้ว่ามีความขัดแย้งเรื่องรุกที่ดินกับพ่อไอ้ขวัญมาก่อน แล้วแพ้ความจนผูกเป็นรอยแค้นเวรกรรมต่อกัน

สิ่งนี้อาจนับเป็น ‘แผล’ ประเภทหนึ่งได้หรือไม่ เพราะไม่แน่นักว่าการแพ้ความที่ว่านั้นเกี่ยวพันอะไรกับความที่ผู้ใหญ่เขียนมีคนหนุนหลังที่ทรงอำนาจอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ในฐานะที่ตนเป็นมือไม้ของรัฐ ผู้ใหญ่เขียนคือตัวแทนของรัฐระดับหมู่บ้านในระบอบใหม่ที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ไอ้ขวัญจึงมิใช่ไอ้หนุ่มลูกทุ่งที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน แต่เป็นชนชั้นนำในระดับหมู่บ้านเลยทีเดียว ตอนที่ไอ้ขวัญ นักเลงใหญ่แห่งทุ่งบางกะปิลอบฟันเพื่อนไอ้เริญแถบท้ายป่าช้าเพื่อแก้แค้น แต่สามารถหลุดรอดจากความผิดได้ ก็เป็นไปได้ว่าได้รับความช่วยเหลือเพราะเป็นลูกผู้ใหญ่

ส่วนตาเรืองอาจเป็นภาพสะท้อนของสามัญชนที่เข้าไม่ถึงอำนาจรัฐและอำนาจทุน ส่งผลให้ลูกชาย คือ ไอ้เริญต้องหาสมัครพรรคพวกไว้ และค่อยเป็นปฏิปักษ์กับไอ้ขวัญ คนในวัยไล่เลี่ยกัน ไอ้เริญ ไอ้จ้อยที่ถูกไอ้ขวัญเอาคืนกลับไม่มีโอกาสจะเอาผิดมันได้ทางกฎหมายบ้านเมือง

ยิ่งเมื่อลูกของทั้งสองครอบครัวมีความสัมพันธ์ต่อกัน ความรักนั้นก็กลายเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ทั้งคู่จะไม่ได้มีป้ายติดตัวว่า ‘ลูกศัตรู’ ก็ตาม เพราะครอบครัวไอ้ขวัญเองก็ไม่ได้ตั้งแง่อะไรกับอีเรียมนักหนา มีแต่เพียงตาเรืองและไอ้เริญเท่านั้นที่ไม่ยอมให้ลูกสาวไปเกี่ยวข้องด้วย วันหนึ่งไอ้ขวัญ อีเรียมถูกพบว่าอยู่ด้วยกัน ไอ้ขวัญออกหน้าขอขมาตาเรือง กราบไปที่ตีนแต่ก็ถูกไอ้จ้อยถีบซอกคอจนหลาย ส่วนไอ้เริญที่คอยอยู่ก็ดักฟันแม้จะโดนถากๆ ก็ถูกปลายดาบจนเลือดไหลโกรก นั่นคือแผลกายที่ไอ้ขวัญได้รับหลังจากนั้น อีเรียมก็ถูกจับมัดอยู่ใต้ถุนบ้าน

ไฉนบ้านตาเรืองถึงกีดกันเช่นนั้น แน่นอนว่าความเกลียดชังและการปั่นหัวของพวกไอ้เริญกับไอ้จ้อยก็เรื่องหนึ่ง แต่เราอาจเข้าใจได้มากขึ้น เมื่อตาเรืองตัดสินใจขายลูกสาวไปให้กับผู้ดีในพระนครด้วยเงินเพียง 100 บาท อีเรียมกลายเป็นสินค้าซื้อขายในฐานะสมบัติของบ้าน วิธีอาจดีกว่าการที่ต้องไปดองกับศัตรูที่มีปัญหากันมาก่อน ความขัดแย้งที่สะบั้นความสัมพันธ์คงจะรุนแรงพอสมควร เช่นเดียวกับการขายลูกสาวออกจากเรือนไปอยู่กับผู้มีอันจะกิน ไม่ได้หมายถึงการตัดขาดจากครอบครัว ลูกสาวยังคงมีสายใยความผูกพันกับครอบครัวอยู่ที่พอจะกลับมาช่วยบ้านในยามลำบากได้ ดังที่เห็นได้จากการที่เรียมยังคงกลับมาเยี่ยมแม่เมื่อป่วย และการมีเงินทำศพแม่ของเธออย่างฟุ่มเฟือยเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวได้ถึง 3 วัน 3 คืน

หากคิดบนฐานปัจจุบันของปี 2479 การขายลูกสาวอาจเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เราจะมองประเด็นนี้อย่างไร เรามาดูคำพูดของเรียม

เรียมไม่บังอาจถึงเพียงนั้นหรอกค่ะคุณโฉมเปนบุตร์ของแม่นายแท้ๆ แต่ ‘แล้วเธอก็มองดูตัวเธอเอง’ แต่เรียมเปนชาวนา เรียมเปนทาษน้ำเงินซึ่งแม่นายซื้อไว้ เท่าที่ท่านเอ็นดูและรักใคร่ให้ความศุขมีหน้ามีตาเท่านี้ก็เปนวาสนาอยู่แล้ว[4]

เพราะว่า แผลเก่า คือ นิยายย้อนประวัติศาสตร์ไปช่วงก่อนเลิกทาส หรือเป็นเพียงเรื่องชนบทร่วมสมัยของไม้ เมืองเดิม กันแน่? หากเทียบจากค่าเงินแล้ว ไอ้ขวัญสามารถทำงานเก็บเงินได้ 200 บาท เป็นเงินมากน้อยเพียงใด มีข้อมูลว่า เงินเดือนของคนจบโรงเรียนช่างทางในปี 2480 อยู่ที่ 50 บาท[5] ค่าเงินดังกล่าวจึงน่าจะเป็นช่วงร่วมสมัยกับงานเขียนมากกว่าจะเป็นการย้อนอดีตไปจนถึงก่อนเลิกทาส การขายลูกสาวของตาเรืองจึงอาจเป็นภาพสะท้อนของปัญหาสังคมที่ยังคงสำแดงอยู่

ชีวิตเรียมต่างจากรื่น ใน หญิงคนชั่ว ที่มาจากบ้านนอกแล้วมามีชีวิตตกต่ำในเมือง อีเรียมไปอยู่บ้านผู้มีอันจะกินและมีสถานภาพทางสังคม ในบ้านตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วกลายเป็นคนโปรด และเป็น ‘คุณเรียม’ ในเวลาต่อมา

จุดเปลี่ยนที่ทำให้อีเรียมต้องพรากจากทุ่งบางกะปิไป ก็คือ ไอ้ขวัญเคยลอบมาหาวันก่อน และได้นัดแนะกันไว้ว่าจะพากันหนีไป แต่กลายเป็นว่าไอ้ขวัญไปก่อเรื่องฟันพรรคพวกไอ้เริญ จนต้องแสร้งเป็นไข้เจ็บอยู่ที่บ้านเพื่อให้รอดพ้นจากข้อสงสัยว่าเป็นผู้ลงมือ ทำให้วันเวลาที่นัดไว้ ไม่ได้ไปตามนัด รอยต่อเพียงไม่กี่วัน ทำให้เรียมถูกขายไปให้คุณนายทองคำและพรากจากขวัญไปเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งคู่เคยสาบานกันที่หน้าศาลเจ้าพ่อไทร เพราะว่าอีเรียมเองที่ไม่ไว้ใจไอ้ขวัญ เกรงว่ามันได้แล้วจะมีใหม่ แต่กลายเป็นว่าอีเรียมเองที่เปลี่ยนไป การเข้ากรุงของอีเรียมนั้น มิได้ทำให้อีเรียมเป็นคนกรุงตามที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนเรือนร่าง วิธีคิดและคำพูดคำจาไปเสียสิ้น

‘นายขวัญ’ เป็นสิ่งที่เรียมใช้เรียก แทน ‘พี่ขวัญ’ คำว่า ‘นาย’ ได้ถ่างให้เกิดช่องว่างความสัมพันธ์ทั้งสองอย่างที่ไอ้ขวัญก็ประหลาดใจ แม้เรือนร่างจะอยู่ในรูปคนกรุง เช่น ทรงผม เสื้อผ้าที่ต่างไปจากเดิม แต่ก็ไม่เหินห่างเท่าคำพูดคำจาที่กำหนดระยะห่างได้อย่างสะท้านเข้าไปถึงข้างใน การจากไอ้ขวัญไป 3 ปี ยังถือว่าเป็นภาวะจำยอม แต่หลังจากมาเยี่ยมแม่ที่ป่วยแล้ว อีเรียมได้หลอกไอ้ขวัญให้รอ ก่อนจะหนีกลับไปกรุงเทพฯ แต่จะด้วยแรงจากคำสาบานใดก็ไม่ทราบ ในที่สุดก็ได้ดลใจให้อีเรียมกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้ เรียมค่อยๆ เปลี่ยนกลับมาเป็นอีเรียมคนเดิมอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ การเรียก ‘พี่ขวัญ’ อย่างเต็มปากเต็มคำ

ความตายของแม่อีเรียม เป็นสิ่งที่คาดหมายกันได้ แต่ก่อนหน้านั้นที่แม่เจ็บออดแอด ก็อดคิดไม่ได้ว่า เป็นเพราะอีเรียมผิดคำสาบานหรือเปล่า จึงไม่แน่ใจว่าเหมือนกันว่า การกลับมาหาไอ้ขวัญนั้น คือความต้องการของอีเรียมแต่ใช้คำสาบานเป็นข้ออ้าง หรือเป็นฤทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

กระนั้น สิ่งที่แทรกขึ้นมาคือตัวละครที่ชื่อว่า สมชาย หรือ ‘คุณสม’ ผู้มีเชื้อสายผู้มีตระกูล ทั้งยังเป็นหลานอาคุณนายทองคำ สมชายมาติดพันเรียมตั้งแต่สมัยอยู่ในพระนคร ตอนท้ายเรื่องได้ตามมารับเรียมกลับพระนคร เมื่อไอ้ขวัญรู้ก็หมายใจไว้ว่าเป็นตายร้ายดีก็จะไม่ยอมให้พรากตัวเรียมกลับไปเด็ดขาด แม้จะแลกด้วยชีวิต ขณะที่เรียมเองก็สองจิตสองใจ ไม่สามารถปฏิเสธสมชายได้อย่างเด็ดขาด

และในที่สุดก็เป็นลูกปืนของสมชายที่ฆ่าไอ้ขวัญให้ตายลงในท้องน้ำทุ่งบางกะปิ ฆาตกรที่ฆ่าไอ้ขวัญอย่างสมชายมีฐานะเป็นตัวแทนของคนกรุงและความเจริญ กระทำต่อไอ้ขวัญที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ชนบท ความลังเลของอีเรียมเองก็อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งทางอ้อม เช่นเดียวกับจิตใจที่แน่วแน่ของนักเลงแห่งทุ่งบางกะปิอย่างไอ้ขวัญที่ยอมที่จะแลกชีวิตกับวิถีทางที่เขาลิขิตด้วยตนเอง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง อีเรียมที่เห็นไอ้ขวัญถูกยิงต่อหน้าก็ไม่ยอมมีชีวิตอยู่ กระโดดน้ำลงไปให้ใบมีดเสียบคอเกือบมิดใบมีด แม้จะจบลงอย่างโศกนาฏกรรม แต่ผู้เขียนก็ทิ้งท้ายไว้ว่า “วิญญาณรักทั้งสองดวงของแม่เรียมและนายขวัญคงขึ้นล่องและดำผุดดำว่ายอยู่ทุกฤดูน้ำหลากกันอย่างแสนสำราญ สถิตย์เสถียรเปนเจ้าแม่แห่งความรัก เจ้าพ่อแห่งลำน้ำทุ่งท่าบางกะปิอยู่ตลอดกาลนาน

ความนิยมของแผลเก่า นอกจากจะสร้างชื่อให้กับ ไม้ เมืองเดิมแล้ว ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง ที่น่าสนใจคือฉบับภาพยนตร์โดย เชิด ทรงศรีที่ฉายเมื่อ 24 ธันวาคม 2520 กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินที่ทำลายสถิติสูงที่สุดในขณะนั้น[6] ว่ากันว่า แผลเก่าได้จุดกระแสหนังแนวถวิลหาอดีตให้กลับมาอีกครั้ง แม้เวอร์ชันนี้จะเป็นหนังย้อนยุคที่ฉายให้เห็นภาพของชาวบ้านก็จริง แต่ในองค์ประกอบของหนังก็ได้เพิ่มสถานภาพของตาเรืองให้มีตำแหน่งถึง ‘กำนัน’ ตำบลแสนแสบ ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าผู้ใหญ่เขียนแบบที่มีอำนาจสั่งกันได้

การเพิ่มอำนาจดังกล่าวอยู่บนฐานของช่วงที่สงครามเย็นยังคุกรุ่น ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เป็นกลไกของรัฐที่สั่งการผ่านการทำงานของราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย และใน พ.ศ. นั้น ความตายของไอ้ขวัญอยู่บนรอยต่อของประวัติศาสตร์ที่ยังลูกผีลูกคนว่ารัฐไทยจะสามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้หรือไม่ หลังจากที่เกิดเหตุสังหารหมู่บริเวณธรรมศาสตร์และสนามหลวง เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 บางคนได้ตีความไว้ว่า แผลเก่าได้สะท้อนความนิยมของผู้คนต่อความเป็นพื้นถิ่นที่ไม่ใช่ การเชิดชูอดีตแบบชนชั้นนำ ศาลเจ้าเป็นผู้ทรงอำนาจ มิใช่วัดที่เป็นเพียงแค่ฉากประกอบ[7] ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจแสดงว่าผู้สร้างได้สื่อสารอะไรบางอย่างทางการเมือง หนังสร้างชื่ออีกเรื่องของเขาในแนวย้อนยุคก็คือ อำแดงเหมือนกับนายริด (2537) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศ วลีที่รู้จักกันดีจากเรื่องนี้คือ “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” หากมองย้อนกลับมาที่แผลเก่า กลายเป็นว่าที่เรียมถูกขายไปให้คุณนายทองคำ การเป็นเพียงสมบัติที่ซื้อขายได้ อาจอุปมาว่าเรียมเป็นดั่งควายนั่นเอง

บทสนทนาของแผลเก่า ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง มันได้ถูกกลับมาทำเป็นหนังโดยหม่อมน้อยในปี 2557 ที่นำแสดงโดยดาราลูกครึ่งก็แสดงถึงการตีความไปอีกด้านหนึ่งที่ต่างไปจากเชิดที่เขาเสนอว่า “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” แผลเก่าเวอร์ชันล่าสุดอาจเป็นในทางกลับกันคือ “เราจักสำแดงความเป็นสากลภายในความเป็นไทย”

แผลเก่าที่ว่า ไม่ใช่เพียงรอยแผลของไอ้ขวัญ หรือรอยมีดของอีเรียม แต่มันคือ ร่องรอยของอดีตที่ถูกประทับอยู่ในเรื่องเล่าที่มีชีวิตมาตลอด 87 ปี ดังนั้น แผลเก่า จึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ก้านเคยบอกกับเหมว่า “กูมองเห็นเป็นแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งจุดตะเกียงแล้วให้ลูกดูดนมคอยผัวอยู่ ไอ้ผัวคงจะไปเล่นเบี้ยเสียถั่ว” เท่านั้น แต่มันได้ขยายเขตคุ้งออกไปอย่างที่ผู้เขียนเองอาจจินตนการไม่ถึงเลยก็เป็นได้


[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “‘ขวัญ-เรียม’ ในแผลเก่า ย่านบางกะปิ-แสนแสบ ใกล้อาร์ซีเอ”, มติชนสุดสัปดาห์ (25 กันยายน- 1 ตุลาคม 2563) สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566 จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_352848 (4 ตุลาคม 2563)

[2] สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. “ที่มาของคำว่า “บางกะปิ”” สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566 จาก https://www.lib.ru.ac.th/miscell2/?p=1724 (23 เมษายน 2556)

[3] เอ็ดเวิร์ด แวน รอย, ก่อร่างเป็นบางกอก, ยุกติ มุกดาวิจิตร แปล (กรุงเทพฯ : มติชน, 2565), หน้า 295

[4] ไม้ เมืองเดิม (นามแฝง). แผลเก่า. วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566 จาก https://vajirayana.org/๔-สายน้ำเก่า

[5] ประชาชาติ (3 กันยายน 2480) : 20

[6] พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู. “แผลเก่า บูรณะใหม่ นานแค่ไหนก็ยังประทับใจอยู่เสมอ”. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566 จาก https://www.fapot.or.th/main/information/article2/view/33 (18 พฤษภาคม 2565)

[7] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. “แผลเก่ากับความเป็นไทยแบบใหม่ หลังการฆ่าหมู่ 6 ตุลาฯ”. มติชนสุดสัปดาห์ (5-11 ตุลาคม 2561) สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566 จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_138629 (8 ตุลาคม 2561)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save