fbpx

หุ่น และ เพลง ‘สดุดีพิบูลสงคราม’

หลายปีที่ผ่านมานี้ เมื่อวาระอดีตวันชาติ 24 มิถุนายน เวียนมาบรรจบคราวใด มักพบเห็นการจัดกิจกรรมอย่างครึกครื้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่วิถีประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 หรือ ร.ศ.150 (ปีเฉลิมฉลอง 150 ปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์)

เช่นกันในปีนี้ พ.ศ.2566 ในโอกาส 91 ปี เครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี ชวนย้อนบรรยากาศอดีต ‘วันชาติ’ ด้วยการจัดงานใหญ่ สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ’24 มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’ เวลา 10.00-20.00 น. ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566  ณ มติชนอคาเดมี่[1]


หนังสือพิมพ์มติชนสรุปข่าวงาน ’24 มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’
ปกหนังสือ ‘2475 ราสดรส้างชาติ’ โดย สำนักพิมพ์มติชน


ในงานดังกล่าว จำเพาะส่วนตัวผู้เขียนได้รับเกียรติขึ้นเวทีเพื่อเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า ‘2475 ราสดรส้างชาติ’[2] (สะกดตามอักขระการปรับปรุงภาษาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) พร้อมด้วยนำชมนิทรรศการวัตถุสิ่งของยุคสมัยคณะราษฎร[3] เช่น หนังสือและของที่ระลึกต่างๆ ในช่วงระยะเวลานั้น, แผ่นป้ายหาเสียงของผู้แทนราษฎร, ภาพถ่ายร่วมสมัย รวมถึงรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ครึ่งตัวของหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นที่ถูกรังสรรค์โดย ‘ร้านห้องหุ่น’ ของนายปิยะ ชวนเสถียร และเริ่มต้นจัดจำหน่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2483 ก่อนที่ประเทศไทยทำศึกสงครามอินโดจีนปลายปีเดียวกันนั้น ส่งผลให้เมื่อได้รับชัยชนะ ท่านผู้นำฉายา ‘กัปตัน’ ของชาวคณะผู้ก่อการ 2475 ผู้นี้ ได้รับการอวยยศสูงสุดเป็น ‘จอมพล’ ในปีถัดมาเมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2484


หุ่นหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จัดแสดงภายในงาน
ประติมากรรมครึ่งท่อน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ไม่ทราบผู้สร้าง) และ หลวงพิบูลสงคราม (สร้างโดยร้านห้องหุ่น พ.ศ.2483)


ปิยะ ชวนเสถียร เคยให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ราวเดือนตุลาคม พ.ศ.2484[4] ไว้ว่า ด้วยใจรักในศิลปะ เขาแอบเข้าเรียนเพาะช่างทั้งๆ ที่ผู้ปกครองไม่สนับสนุน ระหว่างเรียนปี 2 ได้มีโอกาสเขียนภาพประกอบเรื่องอ่านส่งสำนักพิมพ์เพื่อจำหน่าย ทั้งยังเปิดหนังสือพิมพ์เล็กๆ ชื่อ ‘นักเรียน’ ซึ่งอยู่ไม่กี่เดือนก็เลิกล้มไป ระหว่างเรียนปี 3 อันเป็นปีสุดท้าย ได้ร่วมงานกับโรงพิมพ์เดลิเมล์จนไม่ได้กลับไปสอบไล่ที่เพาะช่าง ภายหลังทำงานกับเดลิเมล์ได้ 7 ปี เขาย้ายมาเป็นผู้จัดการร้านตัดเสื้อชื่อ ‘ปิติ’ ของนายห้างแขกคนหนึ่ง

วันหนึ่งปิยะเล่าว่า “ผมได้รับจดหมายฉะบับ 1 พร้อมด้วยภาพหุ่น ซึ่งสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ห้างที่สั่งเข้ามานั้นแจ้งว่า จะขายตัวละ 27 บาท เวลานั้นร้านตัดเสื้อในกรุงเทพฯ ไม่มีการตั้งหุ่นโชว์เสื้อเลย ในขณะนั้นผมคิดว่า จะแต่งร้านของผมให้สวยงามเท่านั้น ยังไม่ได้คิดไปจนถึงกับว่าจะทำหุ่นขายเลย ผมตรงไปยังห้างที่สั่งหุ่นเข้ามาขาย ขอซื้อหุ่น 1 ตัว ด้วยราคา 25 บาท คนขายไม่ยอมขายให้แล้วยังกล่าวเปนเชิงเหน็บแนมว่าผมเสียดายเงินอีก 2 บาท เห็นจะไม่มีโอกาสได้ใช้หุ่นแน่ละ ผมยืนพิจารณาดูหุ่นที่เขาตั้งไว้ให้ชมแล้วก็คิดอยู่ในใจว่าผมควรจะทำใช้เองได้.”


ปิยะ ชวนเสถียร กับบทสัมภาษณ์ ‘เจ้าหุ่น’ เมื่อ พ.ศ.2483


ด้วยเหตุนี้ ปิยะจึงชวนเพื่อนมาช่วยกันค้นคว้าวิธีทำหุ่น โดยขอยืมเงินจากนายห้างแขกคนนั้น 800 บาทเพื่อริเริ่มงานนี้จนประสบความสำเร็จ ร้าน ‘ห้องหุ่น’ จึงเปิดดำเนินการขึ้น ปิยะแทบจะขายหุ่นของเขาไม่ได้เลยใน 8 เดือนแรก จนต่อมาต้องใช้วิธียอมให้ร้านตัดเสื้อบางร้านยืมหุ่นโชว์ของเขาไปตั้งหน้าร้านแบบไม่คิดมูลค่า หลังจากนั้นไม่นาน ความนิยมการมีหุ่นโชว์ตามร้านตัดเสื้อก็เกิดขึ้น ปิยะประสบความสำเร็จในงานนี้ ภายในเวลา 3 ปี เขาชายหุ่นโชว์ได้เงินถึง 15,000 บาท มีผู้ส่งหุ่นของเขาออกไปพม่าและฮ่องกง


แผ่นภาพโฆษณา ‘ห้องหุ่น’ (ผู้เขียนขอขอบคุณ เอนก นาวิกมูล สำหรับข้อมูลชุดนี้)


อาจารย์เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ และหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมขึ้นเวทีงานเสวนาครั้งนี้[5] ได้กรุณาเสริมเติมข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยการโพสต์ภาพแผ่นโฆษณาของ ‘ร้านห้องหุ่น’ ที่ประกอบภาพรูปหล่อของ ‘ท่านผู้นำ’ [6] ด้วยข้อความที่ว่า

“เป็นสถานศิลปะการช่างปั้นแห่งแรกและแห่งเดียวที่ทำหุ่นโชว์เสื้อและหุ่นประกอบการโชว์สินค้าแบบต่างๆ แพร่หลายทั่วราชอาณาจักร์ไทย…

เป็นสถานศิลปการช่างปั้นแห่งแรก ที่ให้กำเนิดสินค้ารูปปั้นศิลป และรูปปั้นอนุสรณ์รัฐบุรุษต่างๆ แพร่หลายทั่วประเทศไทย…

จำหน่ายรูปปั้นศิลปและหุ่นโชว์เสอแบบต่างๆ รับปรึกษางานช่างปั้นทุกชนิดและทุกขนาด

นายปิยะ  ชวนเสถียร (ช่างปั้นช่างเขียน) เป็นเจ้าของและผู้จัดการ”

ภายในแผ่นประชาสัมพันธ์ครึ่งท่อนบนยังปรากฏข้อความชมเชยพิเศษจาก ‘ท่านนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรี ความว่า

“วังสวนกุหลาบ พระนคร

วันที่ 10 สิงหาคมพ.ศ. 2483

คุณปิยะ  ชวนเสถียร

จดหมายฉะบับลงวันที่ 2 เดือนนี้ ขอร้องให้ผมช่วยติชมภาพปั้น ซึ่งคุณได้มีไมตรีจิตต์ส่งมาให้ในวันคล้ายวันเกิดของผมนั้น ผมได้รับทราบแล้ว ขอขอบใจเป็นอย่างยิ่ง ผมขอชมเชยในความอุตสาหะวิริยะของคุณด้วยความจริงใจ ที่สามารถทำได้ดีไม่แพ้ชาวต่างประเทศที่ทำมาจำหน่าย และหวังใจว่าการอุตสาหกรรมช่างปั้น ซึ่งมีคุณเป็นผู้นำขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทยนี้คงจะเป็นที่นิยมของมหาชนและเจริญวัฒนาถาวรยิ่งๆขึ้นไป ตลอดกาลนาน พร้อมกับจดหมายนี้ผมขอส่งเงิน 100 บาท มาช่วยส่งเสริมงานของคุณ ขอได้โปรดรับไว้ด้วย.

ขอแสดงความนับถือ

พิบูลสงคราม”


รายละเอียดการขายหุ่นหลวงพิบูลสงครามของ ‘ร้านห้องหุ่น’

‘รูปปั้น-อนุสรณ์ หลวงพิบูลสงคราม ท่านนายกรัฐมนตรี’ ของร้านห้องหุ่นนี้ ผลิตขาย 2 ขนาด คือ เล็ก สูง 11 นิ้ว จำหน่ายราคา 5 บาท และ ใหญ่ สูง 11 นิ้วครึ่ง จำหน่ายราคา 8 บาท


ภาพปกหนังสืออานุภาพอาเซีย พ.ศ.2486


ระหว่างการนำบรรยายถึงข้าวของสมัยคณะราษฎรนี้เอง มีมิตรสหายที่เคารพรักท่านหนึ่งถามหาหนังสือเก่าสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ชื่อว่า ‘อานุภาพอาเซีย’ (ดูภาพประกอบ) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2486 ภายในหน้าต้นๆ ปรากฏโน้ตเพลงสากลในชื่อเดียวกับหนังสือพร้อมเนื้อร้อง ผู้เขียนกลับมาค้นหนังสือเล่มนี้ในวันเดียวกันพร้อมจัดทำสำเนาเพลงดังกล่าวแนบอีกหนึ่งจากหนังสือร่วมสมัยปกจอมพล ป.พิบูลสงครามที่บรรจุบทเพลงชื่อว่า ‘สดุดีพิบูลสงคราม’


โน๊ตและเนื้อร้องเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม”


ในยุคเรืองรองครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงแรกระหว่าง พ.ศ.2481-2487 ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม วิทยานิพนธ์เมื่อ พ.ศ.2540 ของ สุมณฑา ศักดิ์ชัยสมบูรณ์ เคยนำเสนอเพลงไทยสากลตามนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม[7] ไว้จำนวน 199 เพลง (78 เพลงเป็นของหลวงวิจิตรวาทการ)โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามเนื้อหา 1) สร้างชาติ 2) สังคม 3) เบ็ดเตล็ดและจินตนาการนักแต่งเพลง[8]


หน้าแรกของบทเพลง “อานุภาพอาเซีย”


ค่ำคืนถัดมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2566 ทางเจ้าภาพได้จัดคณะดนตรีย้อนยุคบรรเลงคลอไปกับอาหารรสเลิศให้กับแขกผู้มีเกียรติ สำเนาสกอร์ของบทเพลงทั้งสองคือ ‘อานุภาพอาเซีย’ และ ‘สดุดีพิบูลสงคราม’ ถูกหยิบยื่นให้แก่นักดนตรีบนเวที และด้วยความสามารถอันเอกอุ พวกเขาสามารถอ่านโน้ตแบบ Sight Reading ด้วยความชำนาญยิ่ง พลันท่วงทำนองของเพลงที่สูญหายไปในม่านหมอกแห่งกาลเวลายาวนานกว่า 80 ปี ก็ได้ถูกปลุกฟื้นให้มีชีวิตโลดแล่นผ่านโสตประสาทของผู้ร่วมงานอย่างน่าประทับใจ นับเป็น ‘ราตรีประดับดาว’ ที่นำพาความอิ่มเอมหรรษายิ่งสำหรับงานรำลึกเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในอดีตเมื่อ 91 ปีก่อนหน้านี้

ป.ล. บทความนี้ยังเขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงวาระ 126 ปี ชาติกาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2440-2507) หนึ่งใน 7 ผู้ริเริ่มก่อการ 2475 และคงความเป็นเจ้าของสถิตินายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาร่วมฟังเพลง ‘สดุดีพิบูลสงคราม (เฉพาะทำนอง)’ พร้อมไปกับความรู้เรื่อง ‘หุ่น’ ของ ‘ท่านผู้นำ’ คนสำคัญผู้นี้


สดุดีพิบูลสงคราม (เฉพาะทำนอง)



[1] ราษฎรรวมตัว ‘24 มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’ ครบมิติ ‘ชาติ’ จากวันวานถึงพรุ่งนี้, มติชนรายวัน วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2566, น.13 และออนไลน์ จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4048767

[2] ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว, เปิดตัวหนังสือ “2475 ราสดรส้างชาติ หลังพลิกแผ่นดิน” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=U6dB92CiT-k&t=799s

[3] “นริศ จรัสจรรยาวงศ์” จัดเต็มไม่มีกั๊ก! นำชมของรักของหวงสุดหายาก ยุค 2475 จุดเชื่อมต่อ https://www.silpa-mag.com/on-view/art-and-culture-club/article_111473

[4] ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ สำหรับข้อมูลชุดนี้

[5] ช่างภาพอิสระ โฟกัสรูปเก่า เล่าปวศ.นอกบทเรียน ยก ‘เอนก นาวิกมูล’ แรงบันดาลใจ จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/book-slide/news_4046224

[6] หุ่นนายพลตรี ป.พิบูลสงคราม เอนก นาวิกมูล เขียน 10.00 น.  อังคาร 11 ก.ค. 2566 จุดเชื่อมต่อ https://www.facebook.com/anake.nawigamune/posts/pfbid0m2JMbYgS1NZuumS5r5h3zceH4kTmnEKy5HQGJAQnuqufHEEdye9g4m3z68r1BwhUl

[7] สุมณฑา ศักดิ์ชัยสมบูรณ์, เพลงไทยสากลตามนโยบายของจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487, วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2540,น.8.

[8] อ้างแล้ว, น.78 และ ดูประกอบ บทความเรื่องดนตรีสมัย 2475 เรื่อง “คีติ คีตากร บิลลี่ ฟลอเรส (Billy Flores) นักกีตาร์ต่างด้าว ผู้ร่วมก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ ใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราสดรส้างชาติ, พ.ศ.2566, (มติชน), น.186-243.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save