fbpx

เฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482

วันชาติ

เพลงวันชาติ

๑. ยี่สิบสี่มิถุนา                                ยนมหาศรีสวัสดิ์

ปฐมฤกษ์ของรั-                               ฐธรรมนูญของไทย

เริ่มระบอบแบบอา                           รยะประชาธิปไตย

ทั่วราษฎรไทย                                 ได้สิทธิเสรี

สำราญสำเริง                                   บันเทิงเต็มที่

เพราะชาติเรามี                                 เอกราชสมบูรณ์

(สร้อย – ไทยจะคงเป็นไทย             ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย)

๒. ชาติประเทศเหมือนชีวา            ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย

ถึงแม้ชีวิตมลาย                                ร่างกายก็เป็นปฏิกูล

พวกเราต้องร่วมรัก                           พิทักษ์ไทยไพบูลย์

อีกรัฐธรรมนูญ                                 คู่ประเทศของไทย

เสียกายเสียชนม์                               ยอมทนเสียให้

เสียชาติประเทศไทย                        อย่ายอมให้เสียเลย

(สร้อย – ไทยจะคงเป็นไทย             ด้วยร่วมใจเทอดไทย  ชโย)[1]

นายบุญธรรม ตราโมท[2] ผู้แต่ง


YouTube video
เพลงวันชาติ โดยนายบุญธรรม ตราโมท (ในภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น มนตรี ตราโมท)
เพลงวันชาติ (ต้นฉบับจากหนังสือกำหนดการฉลอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482)


สายธารแห่งประชาธิปไตยไทยเลื่อนไหลนับจากอดีตถึงวันนี้เป็นเวลา 90 ปี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ล่วงถึงปีที่ 6 ปลายสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กรกฎาคม 2481 “เรื่องวันชาติ ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”[3] โดยรัฐบาลได้จัดเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปีถัดไปซึ่งประจวบกับอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนรัฐบาลปลายปีเดียวกันนั้น งานวันดังกล่าวจึงเริ่มจัดภายใต้รัฐบาลของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. ในเวลาต่อมา)

และเป็นงานวันชาติ 24 มิถุนายน 2482 เดียวกันนี้เองที่รัฐบาลได้ประกาศรัฐนิยมฉบับแรกเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’


ฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน 2482
วันที่เปลี่ยนชื่อ ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’


ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ ดูจะปรากฏเป็นวิวาทะทางหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาตินับแต่ปลายเดือนพฤษภาคมก่อนจะถึงงานฉลองวันชาติเพียงไม่กี่วัน ไม่ว่าจะเป็นถ้อยแถลงทางวิทยุของหลวงวิจิตรวาทการ หัวข้อ ‘สยามกับไทย’ เมื่อ 25 พฤษภาคม ปีนั้น[4] หรือการเสนอข่าวสำนักงานโฆษณาการปฏิเสธหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ที่ว่า “มีข่าวว่าหลวงประดิษฐฯ ไม่เห็นด้วยในการที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม”[5] และเกิดการโต้แย้งเรื่องนี้ในคณะรัฐมนตรี โดยแก้ว่า “ขอแจ้งว่า ความเห็นหรือมติของคณะรัฐมนตรีนั้นเปนความเห็นเอกฉันท์ ข่าวที่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่เสนอมานี้จึงไม่เปนความจริง.”[6]

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามก็ได้ประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เรื่องการเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นประเทศไทย เมื่อวันชาติที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482[7] และบรรลุผลในทางกฎหมายเมื่อเสนอเป็นพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมปีเดียวกันนี้เอง[8]  โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2482[9] (นับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งแรกอีกด้วย[10]) ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับประกาศรัฐนิยม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ซึ่งให้ใช้ชื่อ ‘ไทย’ เป็นชื่อเรียกแทนประชาชน ตลอดจนเชื้อชาติ

ขณะที่ภาษาอังกฤษให้ใช้คำว่า ‘Thailand’ ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีคำว่า ‘land’ ต่อท้ายคำว่า ‘Thai’ นั้นเป็นเพราะเพื่อให้ทราบว่า ‘Thailand’ นั้นเป็นชื่อประเทศ และเพื่อไม่ให้ซ้ำกับคำว่า ‘ไทย’ ที่หมายถึงคนไทย


เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติ 10 ธันวาคม 2482


การเปลี่ยนชื่อประเทศดังกล่าวเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศจัดการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 ซึ่งยังคงทำนองเดิมของพระเจนดุริยางค์ เพียงเปลี่ยนเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และนายฉันท์ ขำวิไล ที่ปรับปรุงไว้ครั้งที่สอง 5 ปีก่อนหน้าเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477[11] ปลายรัชสมัยพระปกเกล้า[12]

งานนี้มีผลงานส่งประกวด 614 ราย[13] เนื้อร้องชนะเลิศรางวัลที่ 1 เป็นของหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่ส่งในนามกองทัพบก โดยในวันที่ 10 ธันวาคม 2482 ได้มีการบรรเลงและขับร้องให้คณะรัฐมนตรีผู้เป็นกรรมการตัดสินฟัง แล้วจึงลงมติให้เนื้อร้องนี้ใช้เป็น ‘เพลงชาติไทย’ มาจนถึงทุกวันนี้


หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ผู้แต่งเนื้อร้องชนะเลิศ พ.ศ. 2482 และคำไว้อาลัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ


“เพลงชาติใหม่นี้ มีความสั้นกะทัดรัด ร้องกันเพียงครั้งละจบเดียวเท่านั้น นับว่าสอดคล้องต้องกันกับเพลงชาติของสากล ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป เป็นที่พอใจของรัฐบาลในครั้งนั้นเป็นอันมาก” ในการนี้ รัฐบาลได้ออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 6 วันที่ 10 ธันวาคม 2482 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติไทย[14] แจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน[15]

อนึ่ง วันที่ 24 มิถุนายน 2482 ยังนับเป็นวันร่วมเฉลิมฉลองสนธิสัญญาใหม่กับต่างประเทศที่รัฐบาลคณะราษฎรสามารถเจรจาต่อรองกับเหล่าประเทศมหาอำนาจ จนสามารถแก้ไขสนธิสัญญาเดิมที่ไม่เป็นธรรมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผลสำเร็จ[16] 


ปฐมวันชาติ 24 มิถุนายน 2482


บรรยากาศของสังคมไทยก่อนเฉลิมฉลองวันชาติและสนธิสัญญาดูจะเป็นไปอย่างคึกคัก หนังสือพิมพ์ประชาชาติประชาสัมพันธ์เผยแพร่แผนงานของรัฐบาลให้ผู้อ่านรับทราบล่วงหน้าถึงสองเดือนเศษ คือเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2482 ใจความสำคัญกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละกระทรวงในงานนี้ และที่สำคัญแจ้ง “จัดการประกวดแบบอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัย และอนุสสาวรีย์ความสำเร็จของสนธิสัญญา” โดยสถานที่แรกกำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ในปฐมวันชาตินี้และดำเนินพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันชาติปีถัดมาคือ 24 มิถุนายน 2483 ที่ยังคงประดิษฐานยั่งยืนสถาพรเป็นที่ประจักษ์สายตาจนถึงทุกวันนี้


นายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483


ขณะที่สถานที่แห่งที่สอง ภายหลังไม่สามารถดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แต่เดิมได้ หลังจากมีการเสนอถึง 3 แบบ และประเมินงบการก่อสร้างสูงถึง 2 ล้านบาท จึงถูกรัฐบาลเมินเฉยในเวลาต่อมา อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ให้ความเห็นว่า “โครงการอนุสาวรีย์ไทย ที่เป็นสถานที่ระลึกการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล และเป็นงานออกแบบที่ดันเพดานงานสถาปัตยกรรมไทยไปอีกขั้นหนึ่งของพระพรหมพิจิตร จึงไม่ได้ถูกทำให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยทีเดียว”[17]

สำหรับรายละเอียดแผนงานของรัฐบาลที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2482 มีดังต่อไปนี้


จะนำต้นฉบับสนธิสัญญาออกเจิมที่สนามหลวงเยี่ยงรัฐธรรมนูญ

แต่งไฟต้นไม้ถนนสำคัญยาวยืดไม่เคยมีแต่วังปารุสถึงสนามหลวง

จัดสวนสนามทหารบกเรือตอนบ่ายที่สนามหลวง กลางคืนยุวชนทหารเดิน ขบวนชูคบเพลิงแห่แหน นายกสั่งกลาโหม, ธรรมการ, มหาดไทย, เศรษฐการ, วังรวมกัน!

สำนักงานโฆษณาการแพร่ข่าวการฉลองวันชาติและความสำเร็จแห่งการแก้ไขสนธิสัญญาในวันที่ ๒๔ มิถุนายนปีนี้ว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งไปยังกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบหน้าที่อันจะพึงปฏิบัติเปนลำดับ คำสั่งชิ้นแรกมีดังนี้

กระทรวงกลาโหม

๑. ให้มีการสวนสนาม ณ สนามหลวงเวลาบ่าย

๒. ให้มีการเดินแถวยุวชนทหารชูคบเพลิง ในเวลากลางคืน.

๓. ให้เครื่องบินโปรยกระดาษสีธงชาติเหนือพระนครในเวลากลางวัน และเวลากลางคืนให้มีการจุดพลุและดอกไม้เพลิงจากเครื่องบินด้วย.

๔. ให้ปืนใหญ่ทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือยิงสลุตในเวลาเที่ยงวันนั้น.

กระทรวงธรรมการ

๑. จัดการประชุมนักเรียนทุกจังหวัดในวันนั้น เพื่อชี้แจงให้เห็นความสำคัญของวันชาติ.

๒. ให้มีการทำพิธีทางพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ ซึ่งทางราชการรับรอง.

๓. ให้มีการแสดงโขนกลางแปลงโดยกรมศิลปากร ในเวลากลางคืน.

๔. ให้จัดการประกวดบทเพลงปลุกใจให้รักชาติสำหรับยุวชนทหารร้องในเวลาเดินแถวคืนวันนั้น บทประพันธ์ปลุกใจให้รักชาติ ซึ่งจะได้อ่านทางวิทยุกระจายเสียงในคืนวันนั้น, และภาพโฆษณาแสดงถึงความสำคัญและหน้าที่ๆ ต้องมีแก่ชาติ.

๕. ให้จัดทำธงชาติประดับบ้านเรือนในวันชาติออกจำหน่ายด้วยราคาพอสมควร.

๖. ให้จัดการประกวดแบบอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัย และอนุสสาวรีย์ความสำเร็จของสนธิสัญญา ซึ่งจะได้ประดิษฐานไว้ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ.ซึ่งจะได้ประดิษฐานไว้ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ.

กระทรวงมหาดไทย

๑. สั่งข้าหลวงประจำจังหวัดต่างๆ ให้จัดงานฉลองวันชาติในจังหวัดนั้นๆ อย่างครึกครื้น.

๒. จัดการติดตั้งและประดับไฟฟ้าตามพุ่มไม้ทั้ง ๒ ข้างของถนนราชดำเนิน ตั้งแต่หน้าวังปารุสกวันไปจนรอบบริเวณสนามหลวง และให้ติดเครื่องขยายเสียงตามที่กล่าวแล้วเปนระยะๆ ไปด้วย.

๓. ให้มีการแสดงมหรสพในตอนค่ำวันที่ระลึกนั้น ตามที่ชุมนุมชนต่างๆ ทั้งพระนครและธนบุรี.

๔. ประกาศชักชวนให้โรงงานรถยนต์ และยานพาหนะต่างๆ ซึ่งอยู่ในถนนหลวงเปิดหวูด เปิดแตร หรือทำอาณัติสัญญาณด้วยเสียงอย่างอื่นๆ ในเวลาเที่ยงตรงของวันงานพร้อมกันเปนเวลา ๑ นาที แต่สำหรับสถานที่หรือถนนหลวงซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลแล้ว ให้ขอร้องอย่าให้ทำ.

กระทรวงเศรษฐการ

ให้จัดทำดวงตราไปรษณียากรชะนิดต่างๆ สำหรับเปนที่ระลึกวันชาติออกจำหน่ายในราคาธรรมดา ส่วนภาพในดวงตราไปรษณีย์นั้นให้ติดต่อขอแบบยังกรมศิลปากร.

สำนักพระราชวัง

ให้จัดการออกหมายกำหนดการเปนพระราชาพิธีเจิมต้นฉะบับสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศสำเร็จลงในครั้งนี้ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน  ณ ท้องสนามหลวง.


ปิดถนน – ขบวนรถแห่วันชาติ


ก่อนหน้างานจะเริ่มสิบวัน หนังสือพิมพ์ประชาชาตินำเสนอเส้นทางการปิดถนนและการประกวดรถแห่ในวันงาน รวมทั้งชักชวนให้ติดธงชาติ ประดับประทีปไฟ เป็นต้น เนื้อความหนังสือพิมพ์ประชาชาตินำเสนอดังต่อไปนี้


15 มิถุนายน 2482

ปิดถนนราชดำเนินทั้ง ๓ ตอน ในงานฉลองวันชาติ และสนธิสัญญาที่ ๒๔ นี้

ในการประชุมของคณะกรรมการจัดงานวันชาติเมื่อ ๒ วันมานี้ ได้เปนที่ตกลงกันในชั้นกรรมการว่า จะได้มีการปิดถนน สายราชดำเนินทั้ง ๓ ตอน (ใน, กลาง, นอก ) ตั้งแต่เวลา ๖ น. ถึง ๒๔ น. วันที่ ๒๔ เดือนนี้ซึ่งเปนวันชาติ ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การจราจรและขบวนแห่ต่างๆ ซึ่งจะผ่านมาทางถนนราชดำเนินตามที่กำหนดว่าจะเปนถนนสายเดียวที่มีความครึกครื้นที่สุดของวันนั้น ซึ่งเรียกว่าเปนย่านงาน.


16 มิถุนายน 2482

จะแต่งรถประกวดแสดงผลงาน ๗ ปีของระบอบใหม่

แห่ไปตามราชดำเนิน ตั้งให้ชมจนกลางคืนที่อนุสสาวรีย์ ‘ไทย’

ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ธงชาติได้สะบัดโบกบนพระที่นั่งอนันตสมาคม นี่เปนเครื่องหมายศุภนิมิตต์มงคลว่า พี่น้องผู้รักชาติและกล้าหาญของเราคณะหนึ่งได้เปิดทางเดินใหม่ให้แก่ประเทศแล้ว คือทางที่จะไปสู่อำนาจอธิปตัยอันสมบูรณ์ ทั้งในภายในและภายนอกประเทศ

ณ วันที่ ๒๔ มิถุนาที่จะถึงนี้ ธงชาติไทยที่จะสะบัดโบกบนพระที่นั่งอนันตสมาคม…แห่งเดียวเช่น ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ย่อมจะสะบัดโบกอย่างสล้างสลอนทั่วไปทุกหนทุกแห่งในราชอาณาจักรไทย ไม่มีที่ยกเว้น นี่หาใช่อื่นไกลไม่ ที่แท้ก็คือ เครื่องหมายศุภนิมิตต์มงคลที่ประชาชนทั้งชาติจัดสำนองขึ้นเพื่อแสดงการรับรองว่า วิถีทางของประเทศที่เปิดใหม่ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เปนทางที่ถูกแล้ว เปนทางที่นำมาซึ่งอธิปไตยอันสมบูรณ์แท้จริงแล้ว และโดยเหตุนั้น ก็ย่อมเปนมิ่งขวัญของพวกเราชาวไทย.

การรับรองของคนทั้งชาติ ซึ่งจะได้กระทำด้วยความครึกครื้นรื่นเริงอย่างมโหฬารอันนิยมว่าเปนวันชาตินั้น หาได้กระทำไปโดยปราศจากเหตุผลไม่ แต่ได้กระทำด้วยความปลื้มปีติในผลแห่งกิจการที่รัฐบาลระบอบรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปนับตั้งแต่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ซึ่งผลนั้นๆ ได้สะท้อนกลับมาสู่ราษฎร ผู้เปนเจ้าของอำนาจอธิปไตย…

ในส่วนการเร้าใจให้ระลึกชาตินั้น ท่านจะเห็นได้จาการที่ประกาศชักชวนให้ชักธงชาติและตกแต่งสถานที่ด้วยธงชาติและประทีปโคมไฟ ซึ่งทุกจังหวัดในราชอาณาจักรได้ปฏิบัติไปอย่างพร้อมเพรียงเปนเอกฉันท์ จะเห็นได้จากการที่ต่างจังหวัดเทอดทูนธงชาติไว้ในที่เคารพ เช่นเชิญนำหน้าขะบวนแห่ เชิญขึ้นประดิษฐานเหนือโรงพิธี ชักชวนให้ประชาชนโบกธงชาติเวลาได้ยินเสียงปืนใหญ่หรือหวูดแตรอาณัติสัญญาณในเวลาเที่ยงวันของวันชาติ.

ท่านจะเห็นได้ว่าทุกๆ จังหวัดมีการแสดงสุนทรพจน์ของข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อปลุกใจให้ระลึกชาติและทราบตระหนักในเรื่องผลแห่งงานของชาติที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว มีอาทิตามหลัก ๖ ประการซึ่งคณะราษฎรได้วางไว้สำหรับประดิษฐานระบอบรัฐธรรมนูญ.

วันชาติจะประดับแล้วล้วนไปด้วยสี คือสีของธงชาติ แล้วล้วนไปด้วยแสง คือแสงแห่งประทีปโคมไฟ แล้วล้วนไปด้วยเสียง คือเสียงไชโยโห่ร้องและเสียงหวูดแตรอาณัติสัญญาณเที่ยงแห่งวันนั้น เสียงดนตรีปี่พาทย์และเสียงประโคมฆ้องกลองของโรงมหรศพและเสียงย่ำฆ้องระฆังของวัดวาอาราม เสียงเดินสวนสนามของบรรดาทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ และนักเรียนชายหญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเร่งเร้าใจให้ระลึกชาติและกล้าหาญชาญชัยในการที่จะอยู่ยงคงทน เพื่อความเอกราชต่อไปในโลก.

และที่สำคัญก็มีอีกเสียงหนึ่งที่ประชาชนทั้งประเทศตั้งใจจะสดับตรับฟัง เสียงนั้นก็คือสุนทรพจน์ ของท่านนายกรัฐมนตรีโดยทางวิทยุกระจายเสียง ซึ่งจะได้เริ่ม ณ เวลา ๑๙.๑๐ นาฬิกาแห่งวันนั้น…

เวลาเช้าตรู่แห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเปนวันฤกษ์วันชัยของเรา ท่านจะได้เห็นรถแต่งของส่วนราชการต่างๆ และของส่วนสมาคม พ่อค้าประชาชน ต่างเคลื่อนคล้อยไปสู่เขาดินวนา และเข้าประจำที่รอบบริเวณสนามเสือป่า รถแต่งทุกคันต่างมีเครื่องหมายและกระบวนแสดงสาระพัดอย่าง ในอันที่จะพิศูจน์ให้ท่านเห็นได้ด้วยตาว่า ภายใน ๗ ปีที่ล่วงแล้ว เราได้ปฏิบัติการก้าวหน้าในด้านหลัก ๖ ประการแล้วถึงไหนบ้าง ท่านจะได้เห็นความคิด เห็นฝีมือ เห็นความประณีตงดงามและความสนุกขบขันที่ท่านเจ้าของรถได้ร่างเค้าโครงและได้สละเวลาตบแต่ง ประดิดประดอยมาเปนเวลานับตั้งเดือน.

เมื่อคณะกรรมการได้ตัดสินให้รางวัลแล้ว เวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา ขบวนรถแต่งจะได้ค่อยๆ เคลื่อนออกจากสนามเสือป่า มาตามทางถนนดำเนินโดยมีแตรทหารม้าและธงชาตนำขะบวน ตอนนี้แหละผลแห่งงาน ๗ ปีในรูปต่างๆ ของรัฐบาลก็จะได้ปรากฏแก่ตาของประชาชน ซึ่งได้พากันมาดูอย่างเนืองแน่นตามสองฟากถนนราชดำเนิน ใช่แต่ผลงานเท่านั้น ธงชาติ ธงชัยเฉลิมชาติ ซึ่งเรารักกันแนบแน่นอยู่กับขั้วหัวใจก็จะได้นำขะบวนแห่มาด้วย เพื่อความสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ธงชาตินำขบวนมาที่ใด ในที่นั้นประชาชนชาวไทยจะได้เปล่งเสียงไชโยและต้อนรับด้วยการโบกธงชาติเล็กๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้นำแจกจ่ายก่อนขะบวน แห่มาถึง…


ภาพขบวนรถแห่ในงานฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482


เที่ยวงานวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน 2482


หลังสิ้นสุดงานเฉลิมฉลอง หนังสือพิมพ์ประชาชาติวันที่ 26 มิถุนายน 2482 นำเสนอสกู๊ปข่าว ‘เที่ยวงานวันชาติครั้งแรก’ สาธยายถึงบรรยากาศที่ถึงแม้จะจัดเพียง 1 วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับงานรัฐธรรมนูญปลายปีที่จัดหนึ่งอาทิตย์ ก็ยังนับว่ามีความ ‘มโหฬาราดิเรก’ ชาวชนบทตามหลายหัวเมืองแห่แหนกันเข้าสู่พระนครเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง

ในแง่มุมของวรรณกรรมแม้แต่ ป.อินทรปาลิต ยังนำประสบการณ์ครั้งนั้นมาถ่ายทอดลงหัสนิยายชื่อก้อง พล นิกร กิมหงวน ตอนตื่นกรุง (2482) ให้ลุงเชย เศรษฐีแห่งเมืองปากน้ำโพ ผู้ตระหนี่ถี่เหนียว ผู้เป็นลุงของพล พัชราภรณ์ และนิกร การุณวงศ์ ลงมาเที่ยวงานวันชาติที่จัดขึ้นครั้งแรก[18]


ปกหนังสือ ‘พล นิกร กิมหงวน’ ฉบับเที่ยววันชาติ เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก ‘สี่สหาย บ้านพัชราภรณ์’
บรรยากาศงานเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน 2482
พระที่นั่งอนันตสมาคมประดับไฟเฉลิมฉลองวันชาติปีแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482


หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 26 มิถุนายน 2482

งานวันชาติผ่านไปท่ามกลางความปรีดาปราโมทย์ของประชาชนทั้งไทยและเทศ

ผู้คนนับแสนรื่นเริงแต่เช้าจนค่ำ, ชุมนุมฟังท่านนายพล-รัฐมนตรีกลาโหมปราสัยทหารเร้าไทยทั้งชาติ

ในที่สุดหลังการเตรียมอันมโหฬาราดิเรกของทุกๆ ส่วน งาน “วันชาติ” ก็ได้ผ่านราชอาณาจักรไทยไปท่ามกลางความชื่นบานหรรษาของประชาชนทุกชั้นและแม้ทุกชาติ!

แม้ว่างานจะได้กำหนดอย่างเคร่งครัดว่ามีวันเดียว แต่ด้วยความสำคัญของวันชาติ ชาวไทยในชนบทหลายต่อหลายหัวเมืองก็ได้ถือโอกาสเข้ามาร่วมสนุก โดยมิได้คิดแก่ค่าพาหนะโสหุ้ย ที่พาคนเข้ามาสู่เมืองหลวง ศูนย์กลางของงาน ซึ่งเวลาของงานเมื่อเทียบกับงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว เพียง ๑ ใน ๗ เท่านั้น.

ชาวไทยและเทศในกรุงเทพฯ ได้มีส่วนรับความสนุกสนาน บันเทิงจากวันชาติแห่งราชอาณาจักรนี้ทั่วถึงกัน ตั้งแต่เวลาเริ่มงานคือ ๕ นาฬิกา จนถึง ๒๔ นาฬิกาล่วงแล้ว ยิ่งกว่านั้น มีเปนอันมากที่ออกเที่ยวเตร่เอาฤกษ์กันแต่ก่อนถึงวันงาน ๒ วัน ทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ต่างอุ้มลูกจูงหลานชักชวนเพื่อนฝูงเดินไปดูไฟและธงทิวที่ตามและประดับอาคารพุ่มพฤกษ์ในย่านงาน ถนนราชดำเนิน อย่างสราญใจไม่ผิดอะไรกับวันงานจริงๆ.

เปิดงานด้วยตลาดนัด

๕.๐๐ นาฬิกา –

งานตลาดนัดได้เริ่มแต่ก่อน ๕ นาฬิกาเล็กน้อย พระยามไหสวรรย์ นายกเทศมนตรีนครธนบุรี กรรมการหัวหน้ากองตลาดนัดได้ไปปรากฏตัวที่กองตลาดนัดเชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรีแต่เริ่มงาน ศาลาเทศบาลนครธนบุรีได้ถูกใช้เปนที่ทำการของกองตลาดนัดชั่วคราว ประชาชนส่วนมากเปนนักเดินเช้า ซึ่งมิได้ไปเที่ยวแต่คืนวันที่ ๒๓ จนดึก หลั่งไหลไปสู่ตลาดนัดวันชาติ ทั้งจากพระนครและธนบุรีนั่นเองอย่างไม่เบาบางจนรุ่งอรุณ แต่เพียง ๘ น.เศษ นักเที่ยววันชาติซึ่งตั้งใจจะดูงานให้ทั่วถึงก็ถ่ายกลับมาสู่ฝั่งพระนครดุจกระแสร์น้ำลง จุดหมายที่ ๒ ของงานคือพิธีก่อฤกษ์อนุสสาวรีย์ประชาธิปตัย!

เปิดสมัยประชุมสภา ฯ

๘.๐๐ นาฬิกาตรง—

ณ สภาผู้แทนราษฎร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชพิธีเปิดสมัยประชุมแห่งสภาฯ ได้เริ่มขึ้นแต่ ๘ นาฬิกาไปตามเวลาฤกษ์. มวลสมาชิกและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่ แต่งเครื่องเต็มยศเข้าประจำที่ ประมาณ ๘.๑๕ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ครบได้ไปถึงสภาฯ ถวายคำนับนพปฏลเศวตรฉัตร แล้วขึ้นยืนบนบัลลังก์ประธานและรองประธานทั้ง ๒ นายพันตรี ขุนนิรันดรชัย ราชเลขานุการในพระองค์ถวายต้นฉะบับสุนทรพจน์เปิดสภาฯ ต่อพระหัตถ์ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ทรงอ่านต่อที่ประชุม จบแล้วคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กลับ เปนเสร็จพิธี.

เชษฐบุรุษวางศิลาฤกษ์

๙.๐๐ นาฬิกา—

จากธนบุรีตรงไปจากสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ เข้าสู่พระนครโดยถนนตรีเพ็ชร์ผ่านสี่แยกพาหุรัด สี่แยกศาลาเฉลิมกรุง-ตามถนนตีทองคดสู่ถนนดินสอ—ณ ที่สี่แยกถนนดินสอตัดถนนราชดำเนิน ทางการโยธาได้ดัดแปลงเปนวงเวียนอย่างใหญ่ ตรงใจกลางสี่แยกเดิมหรือวงเวียนใหม่นั้นมีหลุมสี่เหลี่ยมขนาดห้องเล็กๆ ลึกประมาณ ๒ เมตร์ ปากหลุมทำเปนขาหยั่งฉาบทองบรอนซ์ ยอดขาหยั่งมีขอเหล็กขนาดใหญ่สำหรับหย่อนศิลาฤกษ์ลงไปในหลุมโดยรอบ ทางการได้สร้างกระโจมพิธีไว้ ๔ หลักด้วยกัน. ณ ที่นี้ดูเหมือนว่า นอกจากการสวนสนามแล้วไม่มีอะไรสำคัญเท่า ประชาชนผู้ใฝ่ใจนอกจากถนนที่มาจากตลาดนัด ทุกๆ สายที่มาบรรจบ ณ วงเวียนนี้เนืองแน่ไป. ณ พิธีมณฑล ทุกสิ่งทุกอย่างได้เตรียมไว้พร้อมสรรพ โดยแผนกพิธีสำนักพระราชวัง อันมี พระยาเทวาธิราช สมุห์พระราชพิธีเปนผู้ใหญ่อยู่ในที่นั้น.

จากสภาผู้แทนราษฎร ท่านนายพลนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐบาลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ในพิธีการเปิดสมัยประชุมแห่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ไปถึงเมื่อเวลาใกล้ ๙ นาฬิกา นั่งพักอยู่ครู่หนึ่งพอใกล้ฤกษ์ ท่านนายพลก็เริ่มกระทำพิธีจุดเทียนนมัสการสมาทานศีลแล้ว พระยาเทวาธิราช คลี่ประกาศปรารภการสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัยออกอ่านด้วยเสียงอันดังกังวาฬ.

ด้วยรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรึกษาลงมติให้สร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัยขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ตำบลที่ถนนราชดำเนินผ่านถนนดินสอ เพื่อเปนที่ระลึกอันยั่งยืนถึงการที่ชาติไทยได้มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปตัย ยังผลให้เจริญรุ่งเรืองเปนศรีสวัสดิวัฒนาการ.

ลุสุรทินที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ ตรงกับจันทรคตินิยม วันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำ บูรพาษาฒมาส ปีเถาะ จุลศักราช ๑๓๐๑[19] ระวางศุภมงคลฤกษ์ เวลา ๘[20] นาฬิการ ๑๖ นาที ถึง ๙ นาฬิการ ๕๗ นาที นายกรัฐมนตรีได้วางศิลาฤกษ์สร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัยที่นี้ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเปนประธานเจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์แตรและเครื่องดุริยางค์ ทหารทำความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงชาติ.

ได้จารึกคำปรารภนี้ บรรจุไว้ในศิลาฤกษ์ แต่ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒. ขอให้อนุสาวรีย์ ประชาธิปตัย เปนสิริมงคลานุสสรณ์จิรฐิติถาวรสืบไป.  

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2482


คติพจน์ สุนทรพจน์ และ หนังสือที่ระลึก


หนังสือพิมพ์ประชาชาติได้นำคติพจน์เขียนด้วยลายมือของบุคคลสำคัญซึ่งส่วนมากจะเป็นสมาชิกคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้าสายทหารบก) หลวงสินธุสงครามชัย (หัวหน้าสายทหารเรือ) และ ปรีดี พนมยงค์ (หัวหน้าสายพลเรือน) เป็นต้น จัดพิมพ์เป็นฉบับพิเศษวันชาติ 24 มิถุนายน 2482 และในอีกสองวันถัดมาจึงเริ่มนำสุนทรพจน์ฉบับเต็มของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในหัวค่ำวันชาตินั้นทยอยพิมพ์ต่อเนื่องนับแต่ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน ถึง 29 มิถุนายน 2482 ต่อมาคำปราศรัยดังกล่าวถูกรวบรวมเป็นรูปเล่มเพื่อแจกจ่ายและจำหน่าย บ้างถึงกับได้รับการขออนุญาตเพื่อจัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพในปีระยะเดียวกันนั้นเอง[21]


สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี 24 มิถุนายน 2482


ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานวันชาติอย่างหรูหราด้วยกระดาษอาร์ตมันปกแข็งหุ้มด้วยผ้ากระสอบป่าน ชื่อว่า ‘ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ’ (พ.ศ. 2482) เนื้อหาแสดงผลงานที่ผ่านมาของคณะราษฎรพร้อมภาพประกอบถ่ายอย่างประณีต, ภาพวาดลงสีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต้นแบบ, ตัวเลขสถิติต่างๆ ประกอบกราฟที่ดูเข้าใจง่าย, การตกลงเรื่องสนธิสัญญาใหม่ เป็นต้น หนังสือในรูปแบบนี้ต่อมายังได้รับการจัดพิมพ์ในวันชาติถัดมาอีกสองปี ใช้ชื่อว่า ‘ไทยในปัจจุบัน’ (พ.ศ. 2483) และ ‘ไทยในสมัยสร้างชาติ’ (พ.ศ. 2484)


ภาพปกหนังสือวันชาติ พ.ศ. 2482 ‘ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ’
ภาพปกหนังสือวันชาติ พ.ศ. 2483 ‘ไทยในปัจจุบัน’
ภาพสนธิสัญญาใหม่ที่ประเทศไทยลงนามกับนานาประเทศ ในหนังสือ พ.ศ. 2483
ภาพปกหนังสือวันชาติ พ.ศ. 2484 ‘ไทยในสมัยสร้างชาติ’


หลังจากหนังสือที่ระลึกวันชาติพิมพ์ในรูปแบบเดียวกันนี้ต่อเนื่องได้สามปี ดูเหมือนว่างานวันชาติก็ได้เลยผ่าน ‘จุดสูงสุด’ ไปในปีที่สามนั้นเอง เพราะเมื่อถึงปลาย พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกและประเทศไทยต้องจำเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาอย่างเต็มตัวด้วยการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 แม้ในวันชาติปีเดียวกันนั้นจะยังมีคงงานรัฐพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และวัดพระศรีมหาธาตุ (ชื่อเดิมวัดประชาธิปไตย) แต่ดูเหมือนงานรื่นเริงจะซบเซาลงไปมากตลอดระยะเวลาของสงครามจนถึงสิ้นสุดลงเมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2488

หลังสงครามยุติ บรรยากาศวันชาติก็ดูจะเป็นกิจกรรมที่ไม่อาจกลับไปแจ่มจรัสเช่นเดิมอีกเลย


ปัจฉิมบท


24 มิถุนายนยังคงสถานะ ‘วันชาติ’ ต่อมาอีก 21 ปี จนล่วงถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 หรืออีกเพียง 3 ปีให้หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ สามารถโค่นล้มอดีตเจ้านายเก่า ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร ด้วยรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 รัฐบาลของสฤษดิ์ก็ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ‘ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย’[22] โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย”

ในเดือนถัดมา วันที่ 8 มิถุนายน 2503 รัฐบาลก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกการหยุดราชการในวันที่ 24 มิถุนายน เพราะไม่ใช่วันชาติอีกต่อไป[23] ตามด้วยประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน 2503 ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ ที่ให้ชักและประดับธงชาติในวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน[24]

สิ่งที่ต้องสังเกตคือ โดยประกาศเหล่านี้ สฤษดิ์ ไม่เพียงแต่ยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติเท่านั้น แต่ยังยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันหยุด หรือวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงด้วย[25]

อย่างไรก็ตาม ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ สมาชิกคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 หรือที่ชาวคณะราษฎรเรียกว่า ‘พวกพี่ๆ’ ได้แสดงทัศนะต่อเรื่องวันชาติหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ไม่ถึงขวบปีไว้ว่า 

“วันชาติ” ของไทย จะแปรผันเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร สมัยใด เพราะบุคคลชนิดไหน มีสันดานอย่างไร และคณะอะไร ก็ตามที แต่ “วันชาติประชาธิปไตย” คือ “วันที่ 24 มิถุนายน” ยังคงฝังแนบแน่นอยู่ในดวงจิตส่วนลึกของคนไทยผู้รักชาติแท้จริงอยู่เสมอ เสมือนสมองอันเป็นยอดอินทรีย์ของเขา ยังติดตรึงอยู่กับตัวของเขาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ฉะนั้น[26]  



[1] ถอดอักขระจากสมุดกำหนดการงานฉลองวันชาติ และสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 ในหน้า บทเพลง

เนื้อและทำนองใหม่ชื่อ (เพลงวันชาติ) ภายใต้เนื้อเพลง มีหมายเหตุเพิ่มเติมดังนี้

“เนื้อเพลง เพลงปฐมของไทยโบราณ ตัดตอนท้ายให้เหมาะแก่ความต้องการนิดหน่อย ทำนอง ประดิษฐ์ใหม่ให้ใกล้ประโยคแบบสากล แต่คงสำเนียงไทยไว้ ความประสงค์ ใช้เพลงไทยเพื่อสมแก่วันชาติของไทย ดัดแปลงทำนองใหม่เพื่อสมแก่ประชาธิปไตย และที่ใช้เพลงปฐมก็เพื่อให้สมกับวันอันเป็นปฐมฤกษ์เริ่มขอพระราชทานรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย”

[2] ต่อมาเปลี่ยนชื่อที่เป็นรู้จักกันดีคือ ‘มนตรี ตราโมท’ ดูสารคดีชีวประวัติ กล่าวถึงการประพันธ์เพลงชาติ นาทีที่ 25:00 https://www.youtube.com/watch?v=rVFFMZop_ZQ

[3] เรื่องวันชาติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 หน้า 1322 วันที่ 1 สิงหาคม 2481 จุดเชื่อมต่อ  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/1322.PDF

[4] ประชาชาติ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2482, น.2.

[5] อ่านความเห็นแย้งของปรีดี พนมยงค์ ต่อเรื่องนี้ภายหลัง ดู https://lek-prapai.org/home/view.php?id=447

[6] ประชาชาติ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2482, น.2.

[7] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 810 วันที่ 24 มิถุนายน 2482 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/810.PDF

[8] เจติยา โกมลเปลิน, การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น ไทย”, พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เข้าถึงได้จาก https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-siam-thai.html

[9] รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 980-981 วันที่ 6 ตุลาคม 2482 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/980.PDF

[10] สมหมาย จันทร์เรือง, ความรู้คามเข้าใจในรัฐธรรมนูญ 26 พฤศจิกายน 2562 เข้าถึงได้จาก มติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1766722

[11] ประกาศเพลงชาติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51 หน้า 1553-1555 วันที่ 26 สิงหาคม 2477

[12] เสทื้อน ศุภโสภณ, ตำนานเพลงชาติไทยฉบับสมบูรณ์ อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเฉวียง ผัสกุล ณ ฌาปนสถาน วัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ วันที่ 15 มกราคม 2532, (วัชรินทร์การพิมพ์), น.24.

[13] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน, วารสารธรรมศาสตร์ ฉบับการเมืองและประวัติศาสตร์ในเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2547), น.90.

[14] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 6 เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 2653 วันที่ 10 ธันวาคม 2482 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/2653.PDF

[15] เสทื้อน ศุภโสภณ, ตำนานเพลงชาติไทยฉบับสมบูรณ์ อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเฉวียง ผัสกุล ณ ฌาปนสถาน วัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ วันที่ 15 มกราคม 2532, (วัชรินทร์การพิมพ์), น.38-39.

[16] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy 1932-1946, 2nd edition 2000, (Suksit Siam), P.115.

[17] ชาตรี ประกิตนนทการ, พระพรหมพิจิตร กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย (3) 27 มกราคม 2565 มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_511070

[18] ณัฐพล ใจจริง, My Country Thailand, เที่ยวงานวันชาติ 2482 กับสามเกลอ (1) เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_564270

[19] https://www.myhora.com/ปฏิทิน/24-มิถุนายน-พ.ศ.2482.aspx

[20] ในสมุดกำหนดการงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 หน้า 44 แสดงเป็น ๙ .

[21] ประมวลรัฐนิยม และ ปราศรัยของนายกรัฐมนตรี ในรอบปี พุทธศักราช 2482 กับ สาราณียธมฺมกถา คณะข้าราชการกรมมหาดไทย พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นางเอม แซ่ลิ้ม ณ เมรุวัดสระเกศ วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2483, (ร.พ.เจริญลาภ). สามารถดาวน์โหลดอ่านได้จากหอสมุดธรรมศาสตร์ เข้าถึงได้จาก https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:545

[22] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอน 43 หน้า 1452-1453 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/D/043/1452.PDF

[23] (ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 49, หน้า ฉบับพิเศษ หน้า 1)

[24] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอนที่ 51 หน้า 1556.

[25] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร?, มติชนรายวัน วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307.

[26] เนตร พูนวิวัฒน์ 7 พ.ค.2507, “วันชาติประชาธิปไตย” ยังดำรงอยู่, ราษฎร์สราญรมย์อนุสรณ์ 2477-2507 ครบรอบ 30 ปี, น.34.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save