fbpx

พระเจ้าทรงธรรม ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาหินอ่อน กับพระเจ้าปากสระและพระเจ้าท้ายสระของ ก.ศ.ร. กุหลาบ

คราวที่ละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ออกฉายทางโทรทัศน์ช่อง 3 ดีดเรตติ้งพุ่งพรวดช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 ในฐานะคนหลงใหลเสียงเพลง “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้ ถ้าเคยทำบุญร่วมไว้ ถึงจะยังไงก็ต้องเจอะกัน…” อันขับขานผ่านลูกคอของ ‘ศรคีรี ศรีประจวบ’ ผมยินดีปรีดาถึงขั้นขยับข้อมือระรัวเขียนบทความเกี่ยวกับละครไว้ชิ้นหนึ่งเผยแพร่ทาง The MATTER   

โอ้โฮ มัวเผลอใจใฝ่ปองจึงหมองหม่นเพียงแป๊บเดียว แต่ละวารวันทยอยปลิดปลิวล่วงพ้นมาห้าปีกว่าแล้วนุงนังอยู่กับห้วงยาม ‘โควิโท โสสิ’ เสียเนิ่นนาน และลิ้มชิมรสชาติ ‘สันนิวาสบุบพัง’ อย่างมึนเบลอจนแทบจะ “ลืมสิ้นทุกสิ่งเคยผูกพัน ลืมกลางคืนกลางวัน ลืมเวลา” แม้มิได้เป็นเทพธิดาดอยเยี่ยงในเพลงของแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ ก็ตามเถอะ

จวบกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2566 พานพบว่าคุณเบลล่า ราณี (หรือตัวละครแม่การะเกด) ได้มาสำแดงโฉมในละครภาคต่อเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ อีกหน ความที่สมัยเป็นเด็กน้อยแดนหอยนางรม (บ้านอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ผมเองเคยเคลิบเคลิ้มมนต์เพลงผ่านลูกคอของ ‘วินัย จุลละบุษปะ’ ที่ว่า “ พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด…” มีหรือจะอดรนทนไหว จึงข้อมือสั่นระริกปรารถนาเขียนบทความอีกสักชิ้นครามครัน ประกอบกับฟังเสียงคุณผู้อ่านไถ่ถามมาเนืองๆ ว่าผมไม่ลองนำเสนออะไรว่าด้วยประวัติศาสตร์จากละครที่เพิ่งออกอากาศหมาดใหม่สักหน่อยหรือ ครั้นจะเฉยเมยหรือข้องขัดต่อคำเรียกร้องของพวกเขาพวกเธอเหล่านั้นก็คงไม่เห็นสม

ด้วยความโด่งดังอีกเช่นกันและแนวโน้มเรตติ้งจะดีดยิ่งกว่าเพลานี้ เหลียวหันไปทิศทางใดเป็นอันแว่วยินคนพูดถึง ‘พรหมลิขิต’ เกรียวกราว ทั่วทั้งออนไลน์พิภพปรากฏสารพัดสารเพคอนเทนต์บอกเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเนื้อหาละคร เมื่อคราว ‘บุพเพสันนิวาส’ ละครได้ฉายภาพยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททอง พอมาเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ ก็ฉายภาพยุคสมัยถัดมาคือช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเริ่มต้นนับแต่ ‘สมเด็จพระเพทราชา’ อดีตเจ้ากรมพระคชบาลขึ้นครองราชย์ ส่วนหลวงสรศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก่อนจะสืบราชสมบัติต่อมาเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี’ หรือ ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8’ แต่คนรุ่นหลังมักจะคุ้นกับนาม ‘พระเจ้าเสือ’ มากกว่า และที่ดูเหมือนในละครจะเน้นคือช่วงแผ่นดินของ ‘สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ’ หรือ ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9’ หรือ ‘สมเด็จพระภูมินทราธิราช’ ซึ่งสวมบทบาทโดยนักแสดงหนุ่มอย่าง เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์

ผมย่อมมีประเด็นที่อยากถ่ายทอดสู่คุณผู้อ่านเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หากลำดับแรกสุด ขออนุญาตพาย้อนไปดื่มด่ำเรื่องราวของ ‘สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม’ แห่งราชวงศ์สุโขทัยก่อน โดยจะแจกแจงถึงกรณีที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ไปปรากฏอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม หรือที่นักหนังสือพิมพ์รวมถึงคนทั้งหลายยุคนั้นเรียกขานว่า ‘สภาหินอ่อน’ (เพราะองค์พระที่นั่งฯ สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี)

ผมสัญญากับตนเองในช่วงระหว่างโควิโทซึ่งกัดแทะกาลเวลาทอดยาวหลายเดือนของปี 2564 ว่า “ต้องมีสักวัน ต้องมีสักวัน” ที่จะหยิบยกข้อมูลดังกล่าวมาร่ายเรียงเผยแพร่ให้กว้างขวาง เพราะการครุ่นคิดใคร่ครวญเรื่องนี้ตลอดห้วงยามนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยปลอบประโลมและผ่อนคลายความเปลี่ยวคว้างกลางทุ่งเชียงราก ขณะเฝ้าคอยหวาดกังวลว่าจะตกเป็นเหยื่อโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าหรือเปล่า โรคอันตรายนี้พรากลมหายใจของคนไทยราวเอื้อมมือรูดปลิดใบมะยมร่วงพรูลงเต็มพื้น ยิ่งฟังข่าวคราวทำนองมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโข กระทั่งสถานฌาปนกิจไม่เพียงพอและเผาศพกันจนเมรุพัง พลันยิ่งทบทวีความสลดหดหู่แทบจะกลายเป็นผู้ขัดสนความสุข

แท้จริง ผมเคยผ่านตาหลักฐานและเคยจดบันทึกเรื่องราวที่ ‘สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม’ ได้รับการอ้างถึงโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาหินอ่อนมาตั้งแต่ก่อนไวรัสโคโรนาจะเปิดเผยตัวในสังคมไทย หากตอนนั้นยังละเลยการเอาใจใส่ ครั้นเผชิญความโดดเดี่ยวเอกา มิได้พบปะใกล้ชิดกับใครอื่น เนื่องจากสถานการณ์คับขันของโรคระบาด อาจเพราะเอาแต่นิ่งขรึมจดจ่อแน่วแน่กับข้อมูลบนหน้ากระดาษสีหม่นๆ ผมจึงประหนึ่งนั่งยานย้อนยุคไปยังอดีต ทว่าหาใช่สมัยกรุงศรีอยุธยาเฉกเช่นแม่เกศสุรางค์ใน ‘บุพเพสันนิวาส’ หรือแม่พุดตานใน ‘พรหมลิขิต’ หากเป็นกรุงเทพมหานครสมัยช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และตรงกับปี พ.ศ. 2485

บัดนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านไปเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นการประชุมสภาครั้งที่ 18/2485 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภา คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) สมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 123 คน

ในวันนั้น สมาชิกที่เข้าประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช 2485 ที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยเสนอเข้ามา ด้วยมีความต้องการที่จะยุบจังหวัดทั้งสิ้น 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครนายก และนนทบุรี แล้วมารวมขึ้นกับจังหวัดใกล้เคียงเพื่อความสะดวกแก่การปกครอง ดังต่อไปนี้

ยุบจังหวัดสมุทรปราการและให้รวมท้องที่เข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดพระนคร เว้นแต่ท้องที่ของกิ่งอำเภอเกาะสีชัง ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดชลบุรี

ยุบจังหวัดนครนายกและให้รวมท้องที่เข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี เว้นแต่ท้องที่ของอำเภอองครักษ์ ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดปทุมธานี และท้องที่ของอำเภอบ้านนา ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสระบุรี

ยุบจังหวัดสมุทรสาครและให้รวมท้องที่เข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดธนบุรี เว้นแต่ท้องที่ของอำเภอบ้านแพ้ว นอกจากท้องที่ของตำบลโรงเข้ ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดราชบุรี ส่วนท้องที่ของตำบลโรงเข้ ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสมุทรสงคราม

ยุบจังหวัดนนทบุรีและให้รวมท้องที่เข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดพระนคร เว้นแต่ท้องที่ของอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางบัวทอง ให้รวมเข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดธนบุรี

เหตุผลที่ทางรัฐบาลจะยุบทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว ก็เพราะ “เนื่องด้วยจังหวัดที่จะยุบนี้เป็นจังหวัดที่มีเขตท้องที่ไม่สู้กว้างขวาง ปริมาณของการงานก็มีน้อย การคมนาคมสะดวก…”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคือ พลโทมังกร พรหมโยธี (ยศขณะนั้น) หรือที่เดิมเคยครองบรรดาศักดิ์ หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ยืนยันว่าถึงอย่างไรทางรัฐบาลก็จะยุบแน่ แต่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดที่จะถูกยุบได้ลุกขึ้นกล่าวอภิปรายคัดค้านแข็งขัน โดยเฉพาะ ‘นายทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรีถึงกับยกเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเป็นเหตุผลในการโต้แย้ง ทั้งยังเอ่ยอ้างพระนามพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาคือ ‘สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม’ อีกด้วย

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ปีที่ 11 ฉบับที่ 3646 ประจำวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 (ภาษายุคนั้นจะเขียนเป็น 7 พรึสจิกายน พ.ส. 2485) ได้นำเสนอเรื่องนี้ โดยพาดหัวหลักตัวใหญ่ “อ้างพระเจ้าซงธัมขึ้นกล่าวไนสภาฯ” และพาดหัวรอง “ท่านรัถมนตรีมหาดไทยว่าประวัติสารทก็เปนประวัติสารท เมืองหลวงเรายังย้ายกันได้แล้วทำไมจะยุบเมืองกันไม่ได้ ผู้แทนครวนว่ายุบ จ.ว. แล้วจะกะทบผู้แทน ท่าน ร.ม.ต. ว่าผู้แทนก็ยังคงเดิมไม่ใช่ไม่มี” พร้อมรายงานข่าวว่า

“ตามที่เราได้เคยเสนอข่าวไว้แล้วว่า รัถบาลจะยุบจังหวัด 4 จังหวัดคือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครนายก และนนทบุรี เพื่อสะดวกแก่ความปกครองนั้น บัดนี้ สภาผู้แทนราสดรได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธสักราช 2485 อันเปนร่างของรัถบาลเมื่อวันพรึหัสบดีนี้แล้ว

ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้มีผู้อภิปรายคัดค้านหลายนาม บางรายเปิดฉากก็ว่าจะสนับสนุน พออภิปรายไปนานเลยกลายเปนคัดค้านก็มี ผู้แทนราสดรจังหวัดนนทบุรี คือนายทองหยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม ซึ่งเปนผู้แทนจังหวัดหนึ่งไนสี่ที่ถูกยุบนั้น ได้อภิปรายแข็งขัน อ้างถึงประวัติสาตรว่า เปนเมืองเก่าแก่ ถึง 630 ปีแล้ว สาธยายต่อไปว่าเปนเมืองที่พระเจ้าซงธัมได้มาส้างขึ้นจาก “ตลาดขวัน” เปนจังหวัดนนทบุรี ถ้ายุบเสียจะเปนทำลายพระเกียรติ แลท่านผู้นี้ว่าต่อไปว่าไม่ต้องดูอื่นไกลกบินทร์บุรีนั่นแล้ว ที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ใช่เพราะผลที่ถูกยุบหรือกะไร เมื่อมีตัวหย่างเช่นนั้นแล้วตัวหย่างย่อมสำคัน ทีเดียว.

จากการก้าวย่างอ้างอิงถึงประวัติสาตรโดยท่านผู้แทนนนทบุรี ได้ยกตัวหย่างต่างประเทสว่า อันถิ่นใดเปนบ้านเกิดเมืองนอนของท่านผู้นำ ถิ่นนั้นแหละจักถูกจัดเปนเมืองจเริน เพราะรัถบาลเสิมส่ง ดุจกันกับนนทบุรีนั้นแล้ว เมื่อนนทบุรีเปนถิ่นที่เกิดของท่านผู้นำ นนทบุรีจึงไม่ควนถูกยุบด้วยประการฉะนี้.

นอกจากท่านผู้แทนนนทบุรี ก็มีท่านผู้แทนราสดรสมุทรสาคร (นายสุคนธ์ สุคนธวิท) ท่านผู้แทนพิจิตต์ (นายแก้ว สิงหะคเชนทร์) ท่านผู้แทนพระนครสรีอยุทธยา (นายฟื้น สุพรรณสาร) และผู้แทนอีก 2-3 นาย ไห้เหตุผลซึ่งเมื่อสรุปแล้ว ได้ความไนกรอบเดียวกันว่า ยุบไม่ดีแน่ เมื่อยุบแล้วจังหวัดจะเสื่อม ข้าราชการจะไร้งานทำ การทำงานจะไม่สะดวก และสมาชิกสภาผู้แทนราสดรจะลดน้อยลงไป ดั่งนี้เปนต้น.

เจ้าของร่างคือกะซวงมหาดไทยนั้น ท่านนายพลโท มังกร พรหมโยธีแถลงลงเปนความว่าการยุบไม่สิ้นเปลืองอะไร รัถบาลได้คิดดูรอบคอบแล้ว ยังเปนการประหยัดเงินอีกด้วย จังหวัดหนึ่งๆ มีงบประมานจ่าย 2 แสน เมื่อยุบ 4 จ.ว. ก็ประหยัดเงินถึง 8 แสนบาท การวิตกถึงข้าราชการว่าจะไม่มีงานทำนั้น รัถบาลได้พิจารนาถี่ถ้วนแล้ว เห็นไม่สทกสเทือน ดังจะเห็นได้ว่า ไม่พยายามบันจุข้าหลวงในจังหวัดที่ถูกยุบ เช่นข้าหลวงสมุทรสาครเปนต้น แต่ถึงข้าราชการอื่นๆ ก็เช่นกัน จะได้พยายามบันจุไปทำงานที่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งไม่ถูกยุบ ในส่วนที่ว่าถ้ายุบแล้วจะทำลายเกียรตินั้นดูไม่มี          เหตุผล เมืองหลวงเราก็ยังย้ายกัน ประวัติสาตรย่อมเปนประวัติสาตร จะเอาประวัติสาตรมาเปนอุทาหรน์ไม่ได้ ต้องแล้วแต่สภาพการน์บ้านเมือง ที่ว่ายุบแล้วจะกะทบกระเทือนนั้นไม่จิง สาลก็ยังคงเปนสาล ผู้แทนก็คงเปนผู้แทนไม่ใช่ไม่มี

จบอภิปรายของท่านรัถมนตรีแล้ว นายอรุน ทองปัชโชติ เสนอไห้ผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้โดยไม่มีการลงมติ ผลแห่งการลงคะแนน ปรากดว่าที่ประชุมมีความเห็นว่า ไห้ผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้โดยมีการลงมติ 44 ต่อ 30 ไนขั้นรับหลักการต่อมาปรากดว่าสภารับหลักการ  47-26 เสียง และไห้ส่งร่าง พ.ร.บ.นี้ไห้คนะกัมมาธิการวิสามัญ 9 นายพิจารนา คือนายเชย สุนทรพิพิธ นายพันเอกเสงี่ยม รามนรงค์ นายสิทธิ บรรนสารประสิทธิ นายสุคนธ์ สุคนธวิทย์ นายฟื้น สุพรรนสาร นายแก้ว สิงหะคเชนทร์ นายถัด รัตนพันธ์ นายอรุน ทองปัชโชติ กำหนดแปรญัตติภายไน 3 วัน”

(คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารซึ่งใช้ภาษายุคสงครามโลกครั้งที่ 2)

นับว่าน่าสนใจทีเดียว ที่เคยมีผู้อ้างถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเพื่อคัดค้านการยุบจังหวัดนนทบุรี เพราะปกติแล้ว เหมือนเราๆท่านๆ มักจะรับรู้เรื่องราวของพระองค์เกี่ยวข้องกับจังหวัดสระบุรีเสียมากกว่า ด้วยเป็นรัชสมัยที่มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์บนไหล่เขาสัจจพันธคีรี ณ เมืองสระบุรี เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ส่งสมณทูตไปศึกษาพระธรรมที่ลังกา และพระภิกษุจากกรุงศรีอยุธยาก็จะมุ่งมั่นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหรือ ‘ศรีปาทะ’ บนเขาสุมนกูฏ ใกล้เมืองรัตนปุระ ตอนกลางของเกาะลังกา ต่อมาพระเถระชาวลังกาได้บอกแก่พระภิกษุชาวอยุธยาว่า ที่ดินแดนสุวรรณภูมิ (หรือแผ่นดินสยาม) ก็มีรอยพระพุทธบาทปรากฎอยู่บนเขาสุวรรณบรรพต ครั้นสมณทูตหวนคืนกรุงศรีอยุธยาจึงกราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองทั้งหลายสืบเสาะแสวงหารอยพระพุทธบาทในแผ่นดินสยาม จนกระทั่ง ‘พรานบุญ’ ไปพบแอ่งหินเป็นรูปรอยเท้ามีน้ำขังขณะเขาออกล่าสัตว์และตามรอยสัตว์ที่ถูกตนยิงมาพบว่าเมื่อมันดื่มน้ำในแอ่งหินแล้วบาดแผลก็หายสิ้น ส่วนพรานบุญพอลองวักน้ำมาลูบไล้ตามเนื้อตัว รอยกลากเกลื้อนเปื้อนผิวหนังก็หายไป จึงนำความแจ้งต่อเจ้าเมืองสระบุรี จากนั้นความทราบมาถึงพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาทด้วยพระองค์เอง พบว่าเป็นรอยเท้าที่มีลายลักษณ์กงจักรประกอบด้วยมงคลร้อยแปดประการตรงตามที่พระเถระแห่งลังการะบุ จึงทรงอุทิศที่ดินอาณาบริเวณนั้นกำหนดให้ห่างออกไปจากรอยพระพุทธบาทด้านละ 1 โยชน์ (เท่ากับ 16 กิโลเมตร) โดยรอบเป็นเขตอารามให้พระภิกษุมาจำพรรษาอยู่ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท รวมถึงพระอุโบสถ พระวิหาร และกุฎีสงฆ์ ดังทุกวันนี้คือวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ทั้งยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นจัตวาเรียกว่า ‘เมืองพระพุทธบาท’

เส้นทางที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท จะต้องผ่านบริเวณที่ปัจจุบันเป็นอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งติดกับเขตแดนของจังหวัดสระบุรี บ่อยครั้งที่ผมเดินทางไปทัศนาจรละแวกย่านอำเภอนั้น จึงพบเข้ากับสถานที่ต่างๆอันมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่น้อย

คลับคล้ายคลับคลาว่า ผมจะเคยอ่านพบกรณีพิพาทถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลเกี่ยวกับที่ดินรายรอบวัดพระพุทธบาท สระบุรี ซึ่งในระหว่างพิจารณาคดีมีการกล่าวอ้างพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ที่กำหนดให้พื้นที่ห่างออกรอยพระพุทธบาทไปด้านละ 16 กิโลเมตรถือเป็นอาณาเขตของวัด ผลสรุปคือศาลยุติธรรมตัดสินคดีโดยยึดเอาตามพระราชโองการของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อหลายร้อยปีก่อน แม้ฝ่ายที่แพ้คดีจะอ้างว่าตนถือโฉนดที่ดินถูกต้องก็ตาม

นั่นเป็นเหตุการณ์อันเกิดขึ้นภายหลังปี พ.ศ. 2500 มาแล้ว แต่ที่ผมสะดุดใจระคนทึ่งคือ ทำไมเมื่อปี พ.ศ. 2485 ‘สส.ทองอยู่’ จึงอ้างถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มาเชื่อมโยงกับจังหวัดนนทบุรี โดยยกข้อมูลว่าพระองค์ทรงสร้างเมืองนนทบุรีขึ้นจากบ้านตลาดขวัญ ถ้ายุบจังหวัดจะเป็นการทำลายพระเกียรติ ซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มักพบบันทึกตรงกันว่าผู้ที่ยกบ้านตลาดขวัญขึ้นเป็นเมืองนนทบุรีคือ ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิต่างหาก ถ้าจะมีอะไรในนนทบุรีที่พอจะเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อาจจะเป็นเรื่องการขุดคลองจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสายแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตเมืองปทุมธานี

การขุดคลองที่ส่งผลต่อเมืองนนทบุรีน่าจะเป็นผลงานของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง เพราะโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำคดเคี้ยวจนกลายมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลัก ชุมชนบ้านตลาดขวัญจึงเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น หรือถ้าจะเอ่ยถึง ‘วัดปราสาท’ ที่ตั้งอยู่ในตำบลบางกร่าง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่ก็ดูจะมีความเชื่อมโยงกับผู้สร้างคือ ‘เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์’ ที่ต่อมากลายเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง’ เสียมากกว่ากระมัง

ผมคาดคะเนว่า สส.ทองอยู่ น่าจะเข้าใจข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเมืองนนทบุรีผิดเพี้ยน หรือด้วยใจจริงแล้ว เขาอาจจะอยากเอ่ยถึง ‘สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง’ แต่กลับเอ่ยถึง ‘สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม’ ก็อาจเป็นไปได้

สส.ทองอยู่ใช่เพียงแต่จะเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในสภาหินอ่อนเท่านั้น เขายังยกเอาเรื่องที่จังหวัดนนทบุรีเป็นถิ่นกำเนิดของ ‘ท่านผู้นำ’ หรือนายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แสดงเหตุผลสมทบว่า ในต่างประเทศ ถ้าเมืองใดเป็นบ้านเกิดของผู้นำ รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้เป็นเมืองสำคัญและต้องสร้างความเจริญ การที่ จอมพล ป. เป็นชาวนนทบุรีย่อมทำให้จังหวัดนี้ไม่ควรถูกยุบ

นายทองอยู่คงจะถูกวิจารณ์และพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าผมอ่านหลักฐานเพียงแค่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 แล้วมิได้ตามไปอ่านรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18/2485 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ให้เต็มสองตาของตน เพราะแท้ที่จริง สส. แห่งนนทบุรี ไม่ใช่ผู้ที่เข้าใจผิด แต่กลับเป็นผู้นำเสนอข่าวของ ประชาชาติ ต่างหาก

สส.ทองอยู่ลุกขึ้นอภิปรายในสภาหินอ่อนว่า

“ตามที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติยุบจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด มีสมุทรปราการเป็นต้น เข้ามายังสภาฯ นี้ ก่อนอื่นที่จะได้อภิปรายในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีการคัดค้านไม่เห็นพ้องด้วยนั้น วาระแรกอยากจะมีการตกลงกับรัฐบาล ขอความกรุณารัฐบาลให้เห็นอกเห็นใจสมาชิกที่จังหวัดจะต้องถูกยุบไปบ้าง

การที่ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมาเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับเดียวและก็มีหลักการยึดถึง 4 จังหวัดแล้ว ก็ยกไปรวมบางจังหวัดนั้นจะพิจารณาให้แน่แท้ลงไปในสภาฯ นี้ว่าจังหวัดใดควรยุบ จังหวัดใดไม่ควรยุบ เมื่อวางหลักการรวมๆ ชนิดนี้แล้วก็เป็นการยากหรือบางทีท่านก็อาจจะชี้แจงได้ว่าเมื่อวินิจฉัยอย่างใดแล้วก็ไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ การแปรญัตตินั้นจะตัดหลักการใหญ่ไปไม่ได้ กรรมาธิการไม่เคยให้เลยสักครั้งเดียว นี่เป็นการยากในการที่จะพิจารณาอยู่บ้างเหมือนกัน ถ้าแม้ว่ารัฐบาลได้ถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปแล้วเสนอมาแต่ฉบับๆ นั่นแหละจึงจะได้ชื่อว่าพิจารณากันโดยรอบคอบว่าจังหวัดใดควรยุบและจังหวัดใดไม่ควรยุบ เพราะว่าการยุบจังหวัดนั้นเป็นการยุบประวัติศาสตร์ของประชาชนในจังหวัดนั้นให้หมดไปจากประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นองค์การใหญ่มิใช่น้อย นี่ก็ควรพิจารณากันโดยรอบคอบ ถ้ารัฐบาลได้ขอถอนแล้วฉันก็มีความยินดี ถ้ารัฐบาลไม่ขอถอนแล้ว ฉันก็ขออภิปรายคัดค้านต่อไป   

การยุบจังหวัดนั้นเป็นการสำคัญยิ่งท่านให้เหตุผลมาว่าเพื่อจะรวมกิจการปกครองและเป็นไปในทางพระราชบัญญัตินั้น  คือหมายความว่าจังหวัดที่จะยุบนี้เป็นจังหวัดเล็กๆ น้อยๆ และไม่สู้กว้างขวางเท่าใดนัก เช่นจังหวัดนนทบุรีท่านจะเห็นได้ว่าการคมนาคมนั้นสะดวก หนทางไปมานั้นถ้าจะพูดอย่างต่ำๆ ก็เพียงแค่คืน ถ้าได้พิจารณากันโดยรอบคอบแล้ว จังหวัดนนทบุรีมีรัศมีกว้างขวางมากมายนักหนา นี่ในหลักการที่ยุบจังหวัดลงไปก็เท่ากับว่าทำจังหวัดนั้นให้เสื่อมลงโดยลำดับๆ เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยก่อนๆ นี้เคยได้ยุบมาแล้วหลายจังหวัด เช่นจังหวัดกบินทร์บุรีรวมเข้ากับเขตปราจีน  ดี๋ยวนี้จังหวัดกบินทร์นั้นรกร้างไปเป็นลำดับๆ การคมนาคมก็ไม่สะดวก และผู้คนก็ไม่สู้จะอุ่นหนาฝาคั่ง  การขนส่งไปมาแห่งการตลาดก็ขาดลงไปโดยลำดับนับได้ว่าจังหวัดกบินทร์บุรีทุกวันนี้เป็นลูกเมียน้อยของจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว

อีกประการหนึ่ง ขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ จังหวัดที่เคยยุบมาแล้ว เช่นจังหวัดธัญญรวมกับปทุมธานี เดี๋ยวนี้จังหวัดธัญญนั้นพอตกบ่ายๆ ก็มีแต่ฝูงกาและประชาชนก็ขาดไป ฉันได้รับฟังมาว่าจังหวัดนี้เคยเป็นจังหวัดมาก่อน กลายเป็นตำบลเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น นี่ก็เป็นตัวอย่าง ข้อ 3 ควบไปอีกหน่อยว่าก่อนนั้นเราก็เคยยุบสิงห์บุรีและเดี๋ยวนี้ก็ขึ้นอยู่กับอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีนั้น บัดนี้ก็เป็นป่าดงพงแขมไปแล้วไม่ได้รับความสะดวกนานาประการ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ใครจะยุบจังหวัดก็คิดจะให้เป็นตำบลหรืออำเภอเท่านั้นเอง แต่ก็ส่วนน้อยเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เรายังทำให้เจริญไม่ได้แล้ว ไฉนจะเอาส่วนน้อยมารวมกับส่วนใหญ่เล่า แล้วจะยืนยันได้แน่ละหรือว่าจะทำให้เจริญได้ดียิ่งขึ้น     

ในการที่ท่านได้บอกว่าเป็นไปในทางประหยัดนั้น ฉันขอค้านอย่างแรงว่า ความจริงแต่ละจังหวัดนั้นการเก็บภาษีหรือรายได้ใดๆ ที่มารวมเข้าเป็นงบแผ่นดินแต่ละจังหวัดก็มายุบ ยุบกันแทบทุกจังหวัดแล้ว การใช้จ่ายก็ไม่หมดเปลืองเท่าไรเลย การยุบเอาเข้ามาผลก็จะต้องจัดงานเท่านั้นเอง ไม่ได้ห่างไกลเท่าใดนัก       

ฉันขออภิปรายจังหวัดนนทบุรี คือ หลักการที่ยุบนี้มีจังหวัดนนทบุรีแทรกเข้ามาด้วยจังหวัดหนึ่ง จึงเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะจังหวัดนนทบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์และเป็นจังหวัดที่ทรงเกียรติ การตั้งจังหวัดนนทบุรีนั้นมีมาประมาณ 360 ปี เข้าปีนี้แล้ว แล้วท่านก็จะมายุบเสียอีก ที่กล่าวว่าเป็นอนุสาวรีย์นั้นขอยืนยันต่อสภาฯ นี้ได้ว่า ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระจักรพรรดิ์กรุงเก่า ท่านก็เคยได้ปรารถนาถึงเรื่องการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตัดตรงจากปากคลองอ้อม แม่น้ำคดเคี้ยว การทำนาก็ได้ยากลำบาก จึงได้ขุดคลองอันนี้สิ้นสุดสำเร็จไปแล้วเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็เรียกหมู่บ้านตลาดขวัญย่อมๆ มีบ้านแต่เพียง 2-3 หลัง ให้เป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดนนทบุรี เพื่อจะเป็นอนุสาวรีย์ให้อนุชนรุ่นหลังรู้ตามภายหลังว่าฉันได้ทำงานอันยิ่งใหญ่นั้นสำเร็จไปได้โดยง่ายดาย นี่โดยอนุภาพของพระมหากษัตริย์ เมื่อเราจะมาจัดยุบจังหวัดเช่นนี้ก็เท่ากับทำลายเกียรติของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประชาชนในรุ่นหลังนี้มากมายนัก

อีกประการหนึ่ง  ขอยืนยันว่าจังหวัดนนทบุรีนี้เป็นจังหวัดที่ทรงเกียรติเป็นจังหวัดที่ให้กำเนิดคือเป็นที่เกิดของปิตุภูมิของท่านผู้นำอันใหญ่ยิ่งในสมัยนี้ด้วย  เมื่อจังหวัดนนทบุรีเป็นที่กำเนิดของท่านผู้นำในสมัยนี้แล้วฉันเองก็เห็นว่าไม่ควรจะยุบ  เพราะนานาชาติเขาไม่กระทำกัน ควรจะบำรุงจังหวัดแม้แต่จะเป็นตำบลใดที่ผู้นำไปอุบัติบังเกิด แล้วก็ให้เป็นจังหวัดใหญ่เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ขึ้น นี่กลับจะยุบจังหวัดให้เป็นอำเภอและกลายเป็นป่าดงนั้นแล้ว นี่ก็เป็นการน่าเสียดาย การที่ท่านได้เสนอมาให้ยุบจังหวัดนี้ ในมติเดี๋ยวนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการตัดหัวของชาวนนทบุรีทั้งจังหวัด และลบประวัติศาสตร์จังหวัดนนทบุรีว่าจะไม่ต้องมีอีกต่อไปแล้ว ท่านจะอ้างว่าการคมนาคมนั้นสะดวก แล้วเท่าที่ทุกวันนี้เราควรมารวมกันเสียเถิด นี่ก็คมนาคมสะดวก แต่บางสิ่งบางประการ เช่นมาจากพระนครนั้นสะดวกจริงแต่เพียงรัศมีก็นี้ก็เช่นไปทางบางบ่อ ทางนั้นก็เห็นว่าไม่สะดวก เพราะฉะนั้นจึงขอคัดค้านว่า ไม่ควรยุบและการยุบจะเป็นป่าเป็นดงไปเลย นี่เป็นความสัตย์จริง”

หากท้ายสุด ความพยายามที่จะอ้างความเป็นเมืองประวัติศาสตร์และเอื้อนเอ่ยพระนามสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม รวมถึงงัดไม้เด็ดอ้างว่าเป็นบ้านเกิดของจอมพล ป. ท่านนายกรัฐมนตรีผู้ครองอำนาจเหลือล้นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรีกลับไม่เป็นผลสำเร็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง ‘พลโท มังกร พรหมโยธี’ ลั่นวาจาชัดถ้อยชัดคำว่าจะต้องยุบทุกจังหวัดตามที่เสนอร่างมา ดังได้ลุกขึ้นกล่าวตอบว่า

“ตามที่ท่านผู้แทนเห็นว่าไม่ควรจะยุบจังหวัดนี้ และมีข้อข้องใจหลายอย่างและมีข้อที่คัดค้านนั้นด้วย ในข้อนี้ฉันจะขอชี้แจงแต่ในบางประเด็นที่สำคัญว่าทำไมจะต้องยุบ และเพราะเหตุใดตามที่ได้ชี้แจงในหลักการและเหตุผลนี้แล้ว  นอกจากนี้แล้วท่านผู้แทนได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่าการยุบจังหวัดนั้นแล้วจะทำให้ความเจริญของท้องที่นั้นลดน้อยถอยลงไป  ที่ท่านได้ชักตัวอย่าง เช่นจังหวัดปราจีน และกบินทร์  ส่วนกบินทร์นั้นแต่เดิมเป็นอำเภอ ซึ่งในข้อนี้ฉันอยากจะคัดค้านท่านเสียเหลือเกินว่า จังหวัดกบินทร์นั้นหาได้ตกต่ำหรือไม่เจริญอย่างไรนั้น ตรงกันข้ามซึ่งความจริง จังหวัด กบินทร์นั้นความเจริญหรือความรุ่งเรืองเกี่ยวกับการทำมาค้าขายนั้นจังหวัดกบินทร์นั้นไม่แพ้เลย  เพราะฉันเองได้เคยรู้จักและได้อยู่ในที่นั้นในครั้งก่อนๆนี้  และในข้อที่ท่านได้ชี้แจงมานั้นก็เป็นการขัดกันในตัวของท่านเอง จังหวัดที่ท่านอยู่ได้ยุบเสีย  และท่านได้ผ่านไปรู้สึกว่าจังหวัดนั้นคล้ายๆ กับเป็นตำบลที่เศร้าและแทบจะไม่มีอะไรเลย เราเห็นว่าเป็นจังหวัดที่เล็ก และมีกิจการงานที่จะทำนั้นน้อย เพราะฉะนั้นเราจึงยุบเสียเพื่อให้รวมกับจังหวัดอื่นต่อไป  เพื่อมิให้เปลืองเจ้าหน้าที่และเปลืองเงินในการที่ใช้จ่ายอยู่นั้น ได้ชี้แจงความจำเป็นแล้ว ข้อนี้ทางราชการเห็นว่าทางที่ได้เห็นว่าสมควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข จึงควรจะยุบเสีย                             

ท่านชี้แจงว่าทางจังหวัดนนทบุรีนั้นมีประวัติศาสตร์ถึง 300 ปีมาแล้ว และถ้าท่านพูดเช่นนั้น เมืองหลวงของเรามาอยู่ที่สุโขทัยและอยุธยา และธนบุรี และนั่นอะไร แต่ประวัติศาสตร์ก็เป็นประวัติศาสตร์อยู่  และถ้าอย่างนั้นทำไมท่านไม่เอากรุงโรมมากล่าวเป็นประเทศอยู่อย่างเดิม  และทำไมจึงสูญหายไป ในข้อนี้ตามประวัติศาสตร์ก็ไม่สู้จะสำคัญ สำหรับจังหวัดนนทบุรีนั้นด้วย  แต่ทีนี้ข้อที่สำคัญที่จะกระทบกระเทือน ฉันเลยขอชี้แจงเสียว่า ถึงแม้ว่าแต่ก่อนยุบจังหวัดนั้นก็ไม่เคยได้กระทบกระเทือนอย่างไร คือศาลจังหวัดก็เป็นศาลจังหวัดอยู่อย่างเดิม  และทางกระทรวงยุติธรรมก็จะได้แบ่งเขตของศาลต่อไป ส่วนในเรื่องผู้แทนราษฎรนั้นก็ไม่กระทบกระเทือนก็คงมีผู้แทนอยู่ตามเดิม เพราะฉะนั้นยังเห็นว่าในแง่กระทบกระเทือนนั้นเห็นว่าเป็นส่วนน้อย  และเห็นว่าตรงกันข้าม และถ้าเราได้รวมกันแล้ว จะทำให้กระชับยิ่งขึ้น และจะทำให้งบประมาณนั้นลดลงอีกมากเพราะฉะนั้นฉันจึงขอถือโอกาสแสดงตามที่ผู้แทนได้สงสัยมานั้น”

พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช 2485 ได้ประกาศใช้ออกมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ทั้ง 4 จังหวัดได้แก่ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครนายก และนนทบุรี ถูกยุบ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทยปิดฉากลงเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนพยายามแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาช่วงสภาวะสงคราม นำไปสู่การออกฎหมายเพื่อจัดตั้งทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ, นนทบุรี, สมุทรสาคร และนครนายก ขึ้นมาใหม่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 สมัยที่ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ เป็นนายกรัฐมนตรี

‘นายทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม’ มิใช่ชาวนนทบุรีแต่แรกกำเนิด เดิมทีเป็นชาวตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี  เคยบวชเป็นพระภิกษุจนชาวบ้านเรียกขานเคลือบริมฝีปากว่า ‘พระมหาทองอยู่’ พอลาสิกขาออกจากร่มกาสาวพัสตร์ ก็ประกอบอาชีพค้าขายและเป็นหมอยารักษาโรค พำนักอยู่ละแวกย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ความที่สั่งสมชื่อเสียงเอาไว้ไม่น้อย ครั้นจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นายทองอยู่จึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดนนทบุรี และเขาก็ได้รับเลือก

ช่วงที่ดำรงตำแหน่ง สส. นายทองอยู่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อย่างแข็งขัน เขาเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกับ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ และ ‘ทองสืบ ศุภะมาร์ค’ ดำเนินการจนพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกประกาศใช้ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484

ครั้นทางการจัดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 4 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 นายทองอยู่ก็ลงสมัคร สส. ที่จังหวัดนนทบุรีอีกหน และได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2 จวบจนหมดวาระภายหลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน

นายทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี

ปลายทศวรรษ 2490 นายทองอยู่สมัครเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และเลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ส่วนรองหัวหน้าพรรค เช่น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์  เป็นต้น นับจากนั้น นายทองอยู่ ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกเลย

สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดอื่นๆ ที่ถูกยุบพร้อมกับจังหวัดนนทบุรีของนายทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม ได้แก่ 

คนแรก ‘นายสุคนธ์ สุคนธวิท’ หรือ ‘ขุนสุคนธวิทศึกษากร’ (สำอางค์ ชุติกุล) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร เดิมทีเป็นชาวเมืองนครปฐม เคยเป็นรองผู้กำกับลูกเสือที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไปประลองยุทธเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ‘สุคนธวิท’ ในปี พ.ศ. 2465 นายสำอางค์ ดำรงตำแหน่งธรรมการอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จนครองบรรดาศักดิ์เป็นท่านขุน ทั้งยังพำนักอยู่สมุทรสาครเรื่อยมาจวบกระทั่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และรัฐบาลคณะราษฎรจัดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งแรกสุดเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 อาศัยวิธีเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือรับสมัครผู้แทนตำบล ประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกหน  

ขุนสุคนธวิทศึกษากร ได้รับเลือกเป็นผู้แทนตำบลที่กระทุ่มแบน และในที่สุดก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาครคนแรกสุด ทั้งยังได้รับเลือกต่อมาอีกสองสมัย ในสมัยที่ 3 ได้รับเลือกมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อแทนที่ สส. คนเดิมจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2481 ท่านขุนเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงเศรษฐการ (พ.ศ. 2477), ผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ (พ.ศ. 2478) และรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2480)

ในการประชุมสภาว่าด้วยเรื่องร่างพระราชบัญญัติยุบจังหวัดทั้งสี่จังหวัด นายสุคนธ์ได้ลุกขึ้นอภิปรายโดยอ้างว่า

แต่ละจังหวัดซึ่งได้จัดและปกครองมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ยุบจังหวัดนั้นก็ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เหมือนกัน  ในขณะนั้นเองรัฐบาลในครั้งนั้น  ก็ไม่ได้คิดจะยุบจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ  และจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นจังหวัดปากอ่าวของแม่น้ำทั้งสี่แห่งประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่สำคัญของชายทะเล และจำเป็นจะต้องมีการปกครองโดยเหมาะสม  และมีผู้ปกครองโดยใกล้ชิดติดต่อกัน  เพื่อจะสั่งงานให้  เป็นไปโดยสะดวกปัญหาในเรื่องที่ดินติดต่อ  และจังหวัดติดต่อชายทะเลนั้นก็ทำนองเดียวกับจังหวัด ชายแดนอื่นๆ ซึ่งเราจะต้องคำนึงเป็นอย่างยิ่ง  และก่อนที่เราจะยุบรวมจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ไปรวมกับจังหวัดที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการก็จะได้รวมกับจังหวัดพระนครหรือจังหวัด สมุทรปราการจะได้รวมกับจังหวัดธนบุรี  ซึ่งมีหน่วยบัญชาการแห่งเดียวกัน  มีหน่วยศาลากลางจังหวัดเดียวกัน  มีข้าหลวงเดียวกันซึ่งเสมือนหนึ่งว่ายุบ 3 จังหวัด  มารวมแห่งเดียวกันในการที่คิด ว่าจะทำให้การปกครองเหมาะสมนั้น ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้เป็นไปไม่ได้ ที่ตั้งของอำเภอเมืองใกล้ปากอ่าว เมื่อมีเหตุผลเป็นพิเศษขึ้นก็ย่อมจะสั่งงานได้ทันท่วงทีและมีประโยชน์มากกว่า  แต่ถ้าหากว่าจะรวมอาณาเขตในพระนครหลวงให้กว้างขวางออกไปจนถึงกับให้มีคณะหน่วยบัญชาการ ในพระนครและอ้างว่าเป็นเหตุผลในท้องที่ในเขตการปกครองโดยเหมาะสมนั้น เห็นว่าน่าจะเป็นไป ไม่ได้ด้วยดี…”

และความที่นายสุคนธ์เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 จึงยกเอาเรื่องการยุบจังหวัดเพื่อประหยัดรายจ่ายมาโต้แย้งว่าไม่จริงเลย เพราะการยุบจังหวัดจะทำให้จังหวัดนั้นๆสูญสิ้นความเจริญ

ในการที่จะยุบจังหวัดลงนั้นไม่ใช่เป็นทางที่จะสร้างความเจริญให้แก่จังหวัดนั้นๆ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญในการปกครองเลย โดยเฉพาะดังที่ผู้แทนเพื่อนข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้น สภาพของจังหวัดที่ถูกยุบไปแล้วนั้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือรัฐบาลไม่มีโครงการที่จะสนับสนุนเป็นพิเศษแล้ว ก็ย่อมจะเสื่อมลงเป็นลำดับ ขอชักตัวอย่างง่ายๆ ว่าในจังหวัดชายทะเล ซึ่งมีหน่วยทหารเรือประจำหน่วยอยู่ หลังจากเมื่อได้เลิกทหารประจำจังหวัดนั้นแล้ว การค้าขายในตลาดนั้นๆ ก็เสื่อมทรามลงเป็นลำดับ แต่เคราะห์ดีที่การปกครองของรัฐบาลประชาธิปไตยนั้นได้เข้ามาจัดโดยทันที และก็มีหวังว่าการจัดของคณะรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อจะอำนวยความเจริญในจังหวัดนั้นๆ ในระยะ 10 ปีที่คณะราษฎรได้จัดมานี้ก็มองไม่เห็นรัศมีได้ว่า ได้สร้างความเจริญของจังหวัดให้เข้าไปสู่ความเจริญยิ่งขึ้น ก็เมื่อได้พิจารณาในทางที่จะยุบและทำลายชุมชนนี้แล้ว ก็น่าจะคิดว่าสภาพตลาดร้านค้าขายนั้นจะเป็นอยู่ดังเดิมไม่ได้ เพราะว่าจะต้องทำให้การติดต่อในวงราชการลดน้อยลง ความสำคัญในทางที่ประชาชนจะมายังอำเภอที่ตั้งจังหวัดก็ย่อมลดน้อยลงไป

นี่เป็นปัญหาที่กระทบกระเทือนถึงรายได้และประโยชน์อันสำคัญของประชาชนพลเมือง ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญของ         ประชาชาติ เพราะว่าประเทศชาตินั้นจะต้องการกำลังทรัพย์จากประชาชนในการเสียภาษีและในการดำรงอยู่ เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติก็เมื่อมีทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ประชาชนในจังหวัดเหล่านั้นแล้ว ก็ย่อมน่าจะได้คิดเป็นหนักหนา โดยประจักษ์ข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ว่าเป็นการจำเป็นจริงๆ ว่าควรจะได้ยุบจังหวัดรวมการปกครองเข้า และอีกนัยหนึ่งในการยุบจังหวัดเช่นนี้ก็ย่อมจะกระทบกระเทือนถึงครอบครัวของข้าราชการอีกอย่างน้อยตั้งจังหวัดละกว่าร้อยครอบครัว และถ้าว่าโดยส่วนรวมแล้ว เมื่อยุบแล้วก็จะต้องดุลข้าราชการออกไป ให้ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวเสีย  เมื่อเช่นนั้นแล้วก็จะไม่ได้ตามหลักที่จะประหยัดรายจ่ายของประเทศให้ลดน้อยลง และก็ถ้าหากว่าเป็นการยุบซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้เช่นนั้น  ราษฎรเหล่านั้นซึ่งมุ่งหน้าอาศัยอาชีพราชการ จะหันหน้าไปพึ่งผู้ใด กว่าจะตั้งตัวได้ก็สายเสียแล้ว นี่เป็นข้อน่าคิดอีกประการหนึ่ง 

และยังกล่าวสมทบอีกในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“ฉันอยากจะกล่าวว่าประหยัดของการยุบจังหวัดยุบรวมเขตท้องที่นั้น  ความจริงในระบอบประชาธิปไตยนี้ไม่น่าจะได้กระทำเลย ขอชักตัวอย่างว่าการยุบรวมเขตเหตุผลการยุบจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2474 ในสมัยนั้นเป็นสมัยราชาธิปไตยนี้  ในขณะนั้นเป็นปัญหาที่การคลังของประเทศถูกมรสุมอย่างแรง ไม่ใช่ว่าเป็นอย่างปัจจุบันนี้ ซึ่งทั้งๆ ที่เวลานี้เรามีกรณีแวดล้อมทุกประการก็ยังมี รายได้ถึง 140 กว่าล้าน อีกประการหนึ่ง การยุบในสมัยนั้นเป็นอำนาจราชาธิปไตยถืออำนาจเป็นใหญ่ ถือเอาความสะดวกของข้าราชการเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเราถือราษฎรเป็นใหญ่เช่นนี้ เป็นทางที่เราควรคิดว่าการที่เรากระทำลงไปโดยอาศัยแบบอย่างในสมัยนั้น ซึ่งในพระบรมราชโองการก็ยังมีอยู่ว่าการที่ต้องยุบรวมในเขต เวลานี้ก็มีความจำเป็น นอกจากโภคภัยได้กระทบกระเทือนมาก และทำให้การเงินกระทบกระเทือนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ต้องคิดตัดทอนรายจ่ายและรายได้เข้าสู่ทรงตัวไม่ได้ ซึ่งจะหลีกเลี่ยงไม่ทำไม่ได้ ซึ่งในครั้งนั้นก็ได้มีกระทรวงทบวงการแสดงเหตุผลว่าจะต้องทำ ฉะนั้นแล้วงบประมาณจะสู่ดุลภาคไม่ได้ ไม่มีเหตุผลเลย โดยเหตุนี้แหละจึงอยากจะวิงวอนให้รัฐบาลแสดงเหตุผลโดยถือความสะดวกของการให้ราชการสั่งงานได้สะดวกและให้ราษฎรมาติดต่อจะต้องเพิ่มรายจ่ายเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะไม่ยุบการศาลก็ดี  เหตุผลเหล่านี้ยังเป็นเหตุผลน้อยเกินไปที่จะพิจารณารับหลักการในที่นี้ได้”

รับฟังแล้ว ‘พลโทมังกร’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงลุกขึ้นจาระไนเหตุผลอีกครา ดังมีความตอนหนึ่งว่า

“…ในข้อที่ท่านวิตกถึงว่าการที่จะเกี่ยวถึงข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ในจังหวัดนั้นจะต้องถูกออกไปด้วยนั้น ในข้อนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาไว้นานแล้วในการที่ต้องยุบจังหวัด เพราะฉะนั้นจึงไม่บรรจุข้าราชการ  เช่น ข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น จังหวัดสมุทรสาครนั้นก็ไม่ได้มีข้าหลวงประจำจังหวัด เพราะคิดว่าในจังหวัดนี้ ถ้าหากว่าจะได้มีการยุบเพื่อความสะดวกต่างๆ หลายประการ ดังที่ได้ชี้แจงคราวก่อนนั้นแล้ว จึงมิได้ตั้งข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งเป็นจำนวนเกินนั้น และส่วนข้าราชการนั้นก็เหมือนกัน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยก็มีหน้าที่บรรจุได้ในตำแหน่งที่ขาดไว้ในจังหวัดอื่นๆ นอกจากผู้นั้นจะไม่อยู่ในลักษณะซึ่งจะรับราชการต่อไป เช่นไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องมีอยู่ในพระราชบัญญัตินี้ และจะต้องออกไปก็ไม่อยู่ในเกณฑ์นี้ จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนในเรื่องนี้

‘นายชอ้อน อำพล’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับและนักเขียนปากกาคม ข้อน่าสนใจคือในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ไม่ยอมระบุชื่อของ ‘นายชอ้อน’ นั่นเพราะในวันประชุมสภา สส. สมุทรปราการไม่ได้ร่วมอภิปรายอะไร แต่ถ้าสมมติว่า นายชอ้อนได้แสดงบทบาท ประชาชาติ ก็อาจจะไม่สบายใจที่จะเอ่ยชื่ออยู่บ้าง ซึ่งผมทราบเหตุผลดี และยังเคยเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของตนเองทำนองว่า ตอนที่นายชอ้อนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว ช่วงปลายทศวรรษ 2470 ซึ่งมักถูกปิดโดยคำสั่งรัฐบาลคณะราษฎร เขาเคยกระแนะกระแหนคำขวัญของ ประชาชาติ ที่ว่า “บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิตต์ วิทยาคม อุดมสันติสุข”  (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ผู้เป็นเจ้าของประทานให้) จนกลายเป็น “บำเพ็ญประจบ คบคนโรคจิตต์ ติดโม้ว่าคม อุดมรูปโป๊”  จึงไม่แปลกถ้า ประชาชาติ จะไม่ยอมเอ่ยนามของนายชอ้อน และ ‘นายเย็น ศิริมหา’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก ผู้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอื่นๆ ที่พยายามลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุน สส.ทองอยู่ แห่งนนทบุรี เพราะลงความเห็นว่าการยุบ 4 จังหวัดจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการทำงานและข้าราชการจะตกงาน ก็เฉกเช่น ‘นายฟื้น สุพรรณสาร’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ‘นายแก้ว สิงหะคเชนทร์’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร

‘นายฟื้น เป็นชาวกรุงเก่าโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) แล้วประกอบอาชีพทนายความ เขามีความสัมพันธ์อันดีกับนายปรีดี พนมยงค์ เป็น สส. ฝีปากกล้าและมักช่วยเหลือประชาชนผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดขี่ข่มเหง เขาเพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2481 ต่อมาได้รับเลือกอีก 2 สมัย นายฟื้นก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการช่วงปี พ.ศ. 2492-2494 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เขายังเคยเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของพระนครศรีอยุธยา

‘นายแก้ว’ เป็นชาวบางคลาน พิจิตร มณฑลพิษณุโลก เคยเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ มหาวิทยาลัย ก่อนจะออกไปรับราชการครู จนกระทั่งได้เป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดพิจิตร แล้วสอบไปดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัด (ศึกษาธิการจังหวัด) ที่แม่ฮ่องสอน และย้ายมาเป็นธรรมการจังหวัดลำพูน ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. เมื่อปี 2481 จนได้รับเลือกเข้าสภา ช่วงปลายทศวรรษ 2480 เขาเป็นเลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายคน

ในวันนั้น นายแก้วยืนอภิปรายและโต้แย้งกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างดุเดือดว่า “ฉันเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติยุบจังหวัดฉบับนี้” ก่อนจะเริ่มด้วยการชี้แจงถึงองค์การบริหารของราชการแผ่นดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 องค์การ ได้แก่ องค์การฝ่ายบริหารส่วนกลาง, องค์การฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารท้องถิ่น ซึ่งการยุบจังหวัดจะสร้างปัญหาหนัก สิ่งที่รัฐมนตรีกระทำถือเป็นการตัดมือตัดเท้า เป็นการอุดหูปิดตา ทั้งยังยกตัวอย่างกรณีที่ว่า

“เมื่อตอนอุทกภัยเมื่อ 2-3 วันนี้ ฉันได้ฟังเสียงวิทยุซึ่งเป็นข่าวของทางราชการเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะคือว่าเมื่อเร็วๆนี้ ท่านนายพลโท ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้นี้เองออกไปช่วยราษฎร เรื่องการบรรเทาทุกข์ ตอนราษฎรประสบอุทกภัยนี้ ท่านเองต้องไปช่วยราษฎรย้ายสัตว์พาหนะซึ่งกำลังถูกน้ำท่วมอยู่นั้น ในขณะที่ยังไม่ยุบจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ขณะที่ท่านมีมือมีเท้าอยู่แล้ว ท่านเองต้องไปช่วยราษฎรย้ายวัวควาย เมื่อท่านตัดมือตัดเท้าของท่านเช่นนี้ ฉันคิดว่ารัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญของเราที่บัญญัติไว้ 24-25 นายไม่พอ คงจะต้องแก้เป็น 40-50 คนเพื่อเราจะได้มีรัฐมนตรีไปช่วยย้ายสัตว์พาหนะได้ง่ายๆ…”

อีกทั้งการไม่มีจังหวัดนั้นจะทำให้ราษฎรร้องเรียนความทุกข์ได้ยากขึ้น จนกระทั่ง “…ในที่สุดก็กระทรวงได้รับผักชีโรยหน้าเท่านั้นเอง”  ปัญหาที่ราษฎรเผชิญจะถูก “เก็บไม่ให้มีปากเสียงเสีย” ขณะที่เจ้ากระทรวงนั้น “…ตาของท่านฝ้าฟางอยู่ และท่านจะมายุบจังหวัดไกลหูตาของท่านฝ้าฟางไป ฉันไม่เห็นด้วย”

ด้วยโวหารเหน็บแนมนี้ ‘พระยามานวราชเสวี’ ประธานสภาถึงกับปรามว่า “พอแล้วอภิปรายย้อนไปย้อนมา” แต่นายแก้วสวนฉับพลัน “ไม่ย้อน” พร้อมอภิปรายต่อจนเสร็จสิ้น

พลโทมังกรก็ตอบกลับว่า ที่นายแก้วกล่าวมาเป็นข้อฟุ่มเฟือยและเป็นข้อข้องใจที่เป็นไปคนละทาง พูดไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหลายๆ เรื่องที่ สส.พิจิตรโจมตีมานั้น “…เมื่อพูดกันแล้ว ฉันก็อาจจะพูดขึ้นได้บ้าง แต่ก็ไม่สมควรพูด เพราะอาจจะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนใจกันได้”  ส่วนเรื่องที่ทางกระทรวงมหาดไทยจะถูกตัดมือตัดเท้าและอุดหูปิดตาจากการยุบจังหวัดนั้น “ฉันนึกว่าท่านคงจะเห็นว่ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดูช่างโง่เสียเหลือเกิน ไม่รู้จักว่าสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ชั่วนั้นเป็นอย่างใด เรามีคนบริหารอยู่หลายทาง หากว่ามีอะไรเกิดขึ้นทางฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายปกครองท้องที่ก็จัดการช่วยเหลือได้  นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีประชาชนในท้องที่นั้นเองอีก”

ครั้นรัฐมนตรีชี้แจงจบ ‘นายเจี่ยน หงส์ประภาส’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ก็เสนอขอให้ลงมติ ต่อมา นายฟื้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 2 ขอให้เปิดอภิปรายต่อไป ซึ่งมีสมาชิกผู้เห็นด้วยยกมือรับรอง 33 ราย และไม่เห็นด้วย 18 ราย เป็นอันว่าให้อภิปรายกันต่อ นายฟื้นจึงอภิปรายว่า

“สำหรับในเรื่องการยุบจังหวัดนั้นได้มีผู้คัดค้านและคัดค้านในหลักการมามากแล้ว ซึ่งฉันจะไม่ขอกล่าวต่อไปอีก  เพราะเหตุว่าจะเป็นการซ้ำซากกัน และเบื่อหูเปล่าๆ แต่อยากจะเรียนถามรัฐบาลว่าการที่ยุบจังหวัดลงไปโดยอ้างว่า การคมนาคมสะดวก และเหมาะสมกับการปกครองนั้นมีหลักเกณฑ์อย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงของจังหวัดต่างๆ ทั้ง 4 จังหวัดนั้นฉันไม่ได้ไปดูทั่วว่าการคมนาคมนั้นเป็นอย่างไร แต่บางจังหวัดที่ได้เห็นและได้เคยไปแล้ว รู้สึกว่าไม่เหมาะสมกับที่ท่านรัฐมนตรีอภิปรายเลย เพราะเหตุว่ายุบจังหวัดแล้ว ราษฎรจะต้องไปติดต่อกับจังหวัดนั้น  ในบางจังหวัดรู้สึกว่าลำบากมาก เช่นยุบจังหวัดนครนายกแล้ว ให้อำเภอองครักษ์ไปรวมกับจังหวัดปทุมธานีเป็นต้น ขอให้ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลายระลึกว่า เดิมจังหวัดธัญบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งได้ยุบไปรวมกับจังหวัดปทุมธานี อันมีที่ตั้งจังหวัดอยู่ที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยา คนที่อยู่อำเภอหนองเสือ กว่าจะเดินทางมาถึงจังหวัดปทุมธานีก็เป็นระยะไกล ส่วนอำเภอองครักษ์ก็ยังอยู่ไปทางทิศตะวันออกของจังหวัดธัญบุรีไปอีกเป็นก่ายเป็นกองแล้ว ยังจะเอามารวมกับจังหวัดธัญบุรีอีก ซึ่งถ้าจะพูดกันแล้ว ฉันก็ไม่สามารถจะแสดงแผนที่ให้ดูได้ เพราะเหตุว่าไม่มีเครื่องมือแต่ขอให้ท่านระลึกเถิดว่ายุบจังหวัดสามจังหวัดเป็นจังหวัดเดียว คืออำเภอองครักษ์จะต้องผ่านจังหวัดจธัญบุรี เข้าไปรวมกับจังหวัด      ปทุมธานี กรณีเช่นนี้ขอได้โปรดระลึกว่าเป็นทางคมนาคมสะดวกหรือ ทีนี้พูดถึงว่าสะดวก สะดวกอะไร คนที่จะมาจากอำเภอองครักษ์มาได้ทางเดียว คือลงเรือไฟมาครองรังสิต มาขึ้นที่สถานีรังสิต แล้วข้ามทางรถไฟไปลงเรือไฟเดินทางต่อไปจึงจะถึงจังหวัดปทุมธานี ทีนี้เมื่อการคมนาคมไม่สะดวกเช่นนี้ ท่านจะอ้างว่าเป็นการเหมาะสมยังไม่ได้ ความเหมาะสมนั้นจะต้องเจ้าพนักงานอยู่ใกล้ชิดประชาชน และมีผู้ใหญ่คอยควบคุมอยู่ เราจะหวังพึ่งนายอำเภอ ซึ่งเรารับรองกันแล้วว่าเป็นคนดี แต่นั่นเป็นเรื่องของบุคคลอาจจะมีทั้งดีและชั่ว ถ้าหากไกลหูไกลตาผู้ใหญ่มากเช่นนี้แล้ว  ถ้าราษฎรถูกบีบคั้นซึ่งได้ถูกกระทำจากฝ่ายปกครองแล้ว ก็ไม่อาจจะมายังจังหวัดได้ หรือถ้าเป็นคนจนแล้วก็ไม่มีค่าเรือมาเลย  ขอได้โปรดระลึกด้วยว่าจากคลองรังสิตถึงอำเภอองครักษ์จะต้องเดินทาง กี่ชั่วโมงจึงจะถึงเมืองธัญบุรีเก่านั้นฉันเคยไปจากคลองรังสิตไปถึงเมืองธัญบุรีเก่าก็สามชั่วโมงกว่าแล้ว ยังจะผ่านอำเภอหนองเสืออีกจึงจะถึงอำเภอองครักษ์เช่นนี้ไม่เห็นด้วยเลยว่าจะเป็นการสะดวก           

ที่อ้างว่ายุบลงไปได้แล้วจะเป็นการประหยัด จริงอยู่ฉันรับรองว่าอาจจะประหยัดได้บ้าง แต่ประหยัดในทางรัฐบาล ส่วนประชาชนนั้นจะต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้น ที่วางหลักการว่าถ้ายุบลงแล้วก็ให้ศาลคงมีอยู่ เมื่อศาลคงมีอยู่ คนที่จะมาเป็นถ้อยเป็นความในจังหวัดนี้ขอได้โปรดระลึกว่าศาลอย่างธัญบุรีก็ดีหรือนครนายกก็ดีสถิติของความไม่มีเท่าไร คือมีบ้างเล็กน้อย ความเดือดร้อนของราษฎรที่จะต้องมาจังหวัดนั้นมีมากกว่าจะไปเป็นความที่ศาล เช่นอย่างจะมาโอนนาที่หอทะเบียน เป็นต้น เพราะเหตุว่าในเรื่องที่ดินจะซื้อขายจำนำจำนองเขาจะต้องมาจังหวัดเสมอ เพราะฉะนั้นหอทะเบียนเป็นเรื่องสำคัญ และในฤดูแล้ง ขอให้ท่านถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเถิดว่าในฤดูแล้ง ราษฎรจะต้องมาหอทะเบียนมีคนมาโอนนาคราวหนึ่งกี่ร้อยราย ซึ่งหลักการที่ปฏิบัติมาแล้วในสมัยก่อนๆ นั้น  ฉันก็ไม่มีโอกาสได้เรียนให้รัฐบาลทราบศาลจะเป็นหลักสำคัญยิ่งกว่าหอทะเบียนอย่างไร น่าจะได้คิดว่าคนที่จะมาโอนนามีมากกว่าคนที่เป็นความ  ความเดือดร้อนก็ย่อมมีมากขึ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นในหลักการปกครองที่ว่าเหมาะสมในหลักการนั้น ได้มีท่านผู้แทนหลายท่านได้ร้องคัดค้านไว้แล้วว่าไม่เป็นการเหมาะสมเลย ฉันก็เห็นชอบด้วย จริงอยู่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่จังหวัดอะไรของฉันก็ตาม แต่ในฐานะที่ฉันเป็นผู้แทนปวงชนคิดว่าการปกครองใดๆ ที่จะให้ราษฎรได้รับความผาสุกและความสะดวกเพิ่มพูนยิ่งขึ้นแล้ว นั่นเป็นการปกครองที่ดี แต่การยุบไปเช่นนี้ประชาชนที่รวมกันเป็นหมู่เป็นเหล่าอยู่ได้และตั้งอยู่ได้ก็โดยอาศัยเจ้าพนักงาน และถ้ายิ่งห่างออกไปไม่มีใครเลยแล้ว การปกครองแบบนั้นไม่เหมาะสม คือจะเรียกว่าเป็นการปกครองที่ดียังไม่ได้ จริงอยู่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลย่อมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีตำรวจ มีอำเภอ มีเจ้าพนักงาน แต่ถ้าได้มีผู้ใหญ่ ควบคุมอยู่ใกล้ชิดตรวจตราดูแลอยู่เสมอ การปกครองก็ดีขึ้น ถ้าหากว่าเราไว้ใจอำเภอว่าจะทำอะไร    เรียบร้อยแล้ว เราไม่ต้องมีอะไรมีแต่อำเภอก็ได้ เราเชื่อว่าเจ้าพนักงานทำได้ดีแล้ว เราก็ไม่ควรมี กระทรวงก็ได้ ทำไมเราจึงมีการบังคับบัญชาเป็นชั้นๆ ไป ก็เพราะเหตุว่าผู้ใหญ่บังคับบัญชาผู้น้อย เป็นชั้นๆ ให้มีประโยชน์แก่ประชาชน     

ทีนี้ในเรื่องรายจ่ายซึ่งฉันได้พูดไว้แล้วว่าอาจจะตัดได้เล็กน้อย แต่นานๆ ไปแล้วผลการของการใช้จ่ายนั้นจะมากขึ้น เช่นอย่างอำเภอองครักษ์หรืออำเภอที่ไปรวมกันอื่นๆ ย่อมอยู่ไกลๆ ทั้งสิ้น รายจ่ายก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นเงาตามตัว เช่นรายจ่ายในการตรวจการณ์เป็นค่าพาหนะเดินทางในการมาจังหวัดเสมอๆ เช่นนี้แล้วฉันคิดว่าเท่าที่รัฐบาลว่าจังหวัดหนึ่งๆจะลดค่าใช้จ่ายได้ในราว 2 แสนบาทนั้น อาจจะไม่ถึง 2 แสนก็ได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องการที่จะยุบจังหวัดซึ่งมีผู้ปกครองโดยใกล้ชิดนั้นไม่ใช่หลักการปกครองที่ดีและเหมาะสม ฉันเห็นว่าสมาชิกสภานี้ยังไม่ควรจะรับหลักการ”

จากนั้น ‘นายเลื่อน พงษ์โสภณ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ลุกขึ้นกล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติเรื่องยุบจังหวัดขึ้นมานี้ ความจริงถ้าพูดกันตามน้ำใจแล้ว ฉันก็รู้สึกว่าไม่ค่อยจะเหมาะสมหลายประการเหมือนกัน…”

‘นายอรุณ ทองปัชโชติ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเช่นกันเสนอให้ผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้ไปก่อน มี นายเสกล เจตสมมา และ นายอำไพ อิศรางกูร รับรอง สมาชิกในที่ประชุมสภายกมือเห็นควรให้ผ่านไปก่อน 30 รายแต่มีผู้ไม่เห็นควร อยากให้ลงมติกันวันนี้เลย 44 ราย ร้อยโทประจวบ มหาขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี ลุกขึ้นกล่าว “สงสัยว่าผ่านไปจะมีการอภิปรายอีกหรือไม่”

 ประธานสภาขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่าควรรรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ ปรากฏมีผู้ยกมือเห็นด้วย 47 ราย และไม่เห็นด้วย 26 นาย เป็นอันว่าที่ประชุมตกลงรับไว้พิจารณา จึงมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 7 รายสอดคล้องกับที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 รายงานไว้แล้ว

การที่ ประชาชาติ อันเป็นสื่อสิ่งพิมพ์สำคัญระดับแถวหน้าของยุคสมัยนั้นรายงานข่าวผิดเพี้ยนช่างเป็นอะไรน่าใคร่ครวญ

สส.ทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม เอ่ยอ้างถึง ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ แท้ๆ แต่ผู้สื่อข่าวกลับเสนอเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม’ ซึ่งนับว่ารายงานข้อมูลพลาดอย่างฉกรรจ์

ยากจะปฏิเสธว่า ความเรืองโรจน์และชื่อเสียงลือลั่นของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ย่อมผูกโยงกับบทบาทของคณะกองบรรณาธิการที่นำโดย ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’  เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ แต่เมื่อกุหลาบตัดสินใจอำลาสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับนี้อย่างบริบูรณ์ช่วงปริ่มๆ พ.ศ. 2479 และ พ.ศ. 2480 ดูเหมือน ประชาชาติ จะเสียศูนย์และเซซวนไปไม่เบา แม้คณะกองบรรณาธิการชุดใหม่ที่เข้ามาแทนจะพยายามประคับประคอง

ยิ่งในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เฉกเช่นปี 2485 ประชาชาติ ที่นำโดยบรรณาธิการคือ ‘นายสมัย เรืองไกร’ มีผู้ช่วยคือ นายถวิล วิเชียรชุม และมีผู้อำนวยการจำหน่ายคือ นายรวม ยอดทัย นั้น ค่อยๆ สร่างซาความนิยมในหมู่นักอ่านลงเรื่อยๆ จวบจนที่สุดก็ล้มหายไปจากบรรณพิภพ

ครับ ผมคงขอยุติเรื่องราวของ ‘สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม’ ในสภาหินอ่อนเพียงเท่านี้ เอาละ เราจะมาต่อกันที่ยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวง แต่ก่อนจะไปกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮาในกลุ่มแฟนๆ ละคร ‘พรหมลิขิต’ ผมขออนุญาตแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จัก ‘พระเจ้าปากสระ’

หลายท่านอาจขมวดคิ้วสงสัย ใครกันหนอ?

มูลเหตุที่ผมได้ค้นพบนาม ‘พระเจ้าปากสระ’ ครั้งแรกสุดนั้น ต้องย้อนไปเมื่อสมัยผมยังเพิ่งเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปีต้นๆราว พ.ศ. 2551-2552 มีอยู่วันเสาร์หนึ่ง ผมนั่งและโหนรถเมล์หลายต่อจากมหาวิทยาลัยกลางทุ่งเชียงรากมายังหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อจะขออ่านหนังสือ มหามุขมาตยานุกูล วงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม ผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ นักคิดนักเขียนผู้เป็นที่เลื่องลืออื้อฉาวในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งตัวอักษรย่อนำหน้าชื่อมาจากฉายา ‘เกศโร’ ตอนที่เขาบวชพระ ครั้นตอนหลังเมื่อเมืองไทยมีการประกาศใช้นามสกุลแล้ว เขาจึงกลายเป็น นายกุหลาบ ตฤษณานนท์

มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของลำดับวงศ์ตระกูลของขุนนางไทย ซึ่งเดิมทีเป็นตำรับตำราโบราณมีหลายต้นฉบับ ส่วนใหญ่จะเป็นสมุดไทยและคัดลอกต่อกันมาเป็นตัวเขียน ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้นำมารวบรวมตีพิมพ์ให้เป็นรูปเล่ม พร้อมทั้งแก้ไขตัดแต่งเนื้อหาและถ้อยคำ รวมถึงเขียนอธิบายเพิ่มเติมเข้าไปบ้าง ดังเขาแจกแจงตอนหนึ่งว่า

“ “มหามุขมาตยานุกูลวงศ์เดิมทีมีอยู่ 139 เล่ม สมุดไทยรองทรง 40 พะเนิก ซึ่งเขียนด้วยเส้นดินสอศิลาแก่ เปนตำราแต่โบราณซึ่งท่านโบราณาจาริย์จินตะกระวีบัณฑิตยชาติ นักปราชญ์สยามได้จดหมายเหตุตามกันต่อมาเปน 5 ตำรา เพื่อจะแสวงหาความตามลำดับวงศ์ไว้ให้เปนเกียรติยศแก่ชาติแลสาศนาบ้านเมืองไทยด้วยกัน”

อีกทั้งระบุถึงบุคคลที่เขาได้รับมอบตำราต้นฉบับเดิมมา ดังปรากฏในคำอธิบายเมื่อนำมาจัดพิมพ์ครั้งหลัง

“ข้าพเจ้านาย ก,ศ,ร, กุหลาบมีอายุศม์ได้ 72 ปีเมื่อยังมีชีวิตรอยู่ในปี 124 เปนผู้เรียบเรียงเรื่องราวที่กล่าวมาในเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้รับต้นฉบับคู่ร่างเดิมของสมเด็จพระจ้าวไอยกาเธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ (เสด็จพระอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า) ข้าพเจ้าได้มารักษาไว้เปนมหาตำหรับฉบับหนึ่ง ภายหลังข้าพเจ้ากลับไปได้ตำราอย่างนี้ ได้มาจากที่คุณเนินบุตรี สมเด็จเจ้าพะญาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิด) ให้มาอีกฉบับหนึ่งจึ่งเห็นว่าเปนตำราของพะญาอุไทยธรรม (อ่อน) รวบรวมลงไว้ในแห่งเดียวกันทั้งสามตำรา ข้าพเจ้าจึ่งนำมาลงพิมพ์ไว้ในเล่มนี้ เพื่อจะได้เปนประเพณีมีเกียรติยศ แก่กรุงสยามต่อไปภาน่าด้วย แต่ข้าพเจ้าแก้ไขเพิ่มเติมบ้างบางข้อบางบท ที่แต่ก่อนท่านผู้นั้นยังไม่ได้เปนที่อันใด มาเมื่อลงพิมพ์ท่านผู้นั้นได้เปนที่เจ้าพะญาแลพะญา, พระ, หลวง, ขุน,หมื่น, แล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง นามเก่าให้เปนนามใหม่ ตามในนามตำแหน่งยศ ของท่านทุกคนไป ในสมัยที่ข้าพเจ้าจำได้ เมื่อท่านผู้ใดที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก แลจำชื่อตั้งไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อตั้งใหม่ไม่ได้เลย เมื่อท่านผู้ใดได้ทราบชื่อตั้งของท่านที่มีในนี้แล้ว โปรฎแก้ไขให้ถูกต้องตามความเปนจริง ในสมัยที่ได้ทราบทันตาเห็นเทอญ”  

ก.ศ.ร.กุหลาบ จัดพิมพ์ มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เผยแพร่เมื่อรัตนโกสินทรศก 124 หรือตรงกับ พ.ศ. 2448 ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนังสือปกแข็งหุ้มผ้าปิดทองลวดลายตัวอักษร ขนาด 100 ยกเศษ  มีจำนวนหน้ากระดาษ 1000 หน้าเศษ พิมพ์ออกมาครั้งแรก 1,000 ฉบับ จัดจำหน่ายเล่มละ 10 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาสูงลิบลิ่วในยุคนั้น ขณะปัจจุบันกลายเป็นหนังสือหายากยิ่งนัก

ตอนผมอ่าน มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ครั้งแรก ขณะกำลังเพลิดเพลินกับเรื่องราวของวงศ์ตระกูลเฉกอะหมัดอันสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ขุนนางชาวเปอร์เซียในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และส่งทอดบทบาทความเป็นขุนนางผู้กุมอำนาจด้านต่างๆ เรื่อยมานับจากกรุงศรีอยุธยา มาสู่กรุงธนบุรี และมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ พลันสายตาผมสะดุดเข้าอย่างจังกับนาม ‘พระเจ้าปากสระ’ ซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง

สำหรับคนที่สนใจอ่านประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ย่อมจะคุ้นเคยกับพระนาม ‘สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ’ เป็นแน่ แต่ ‘พระเจ้าปากสระ’ นี่สิ เฮ้ย มีอยู่ด้วยฤา

ต้องขอบคุณ ก.ศ.ร. กุหลาบ ถ้านับตั้งแต่วันพลิกอ่านสัมผัสหนังสือเล่มดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน เวลาก็ล่วงผ่านมาราวๆ 14-15 ปีแล้ว หากผมยังตราตรึงข้อมูลนี้มิลืมเลือน  เพราะเขาเขียนไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่า                   

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนารายณ์สวรรคคตแล้ว พระเพทธราชา (ทองคำ) ตั้งตนขึ้นเปนพระจ้าวแผ่นดินที่ 29 พระองค์ในกรุงศรีอยุทธยา ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกเสร็จแล้ว ถวายพระบรมราชปรมาภิธัยว่าดั่งนี้ “สมเด็จพระบรมราชา มหาบุรุศย์วิสุทธิอุดม บรมมหาจักรพรรดิเพทธราชาธิราช” (อย่างนี้ก็เรียก) ยังมีพระบรมราชนามาภิธัยว่าดั่งนี้ “สมเด็จพระจ้าวธาดาธิเบศร์” (อย่างนี้ก็เรียก) ยังมีพระนามสามัญร้องเรียกกันว่าดั่งนี้ “พระจ้าวปากสระ” (ก็เรียก) (แผ่นดินพระเพทธราชาธิราชก็เรียก)

‘พระเจ้าปากสระ’ คือ ‘สมเด็จพระเพทราชา’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรือที่ในละครทั้ง ‘บุพเพสันนิวาส’ และ ‘พรหมลิขิต’ ได้รับการสวมบทบาทโดย ศรุต วิจิตรานนท์

สิ่งน่าขบคิดต่อไปคือ ที่ว่า ‘ปากสระ’ นั้น หมายถึงสระน้ำแห่งใด หากเป็นกรณีของ ‘สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ’ เหตุที่ทรงมีพระนามให้เรียกขานเช่นนี้ ก็เพราะทรงโปรดประทับ ณ ‘พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์’ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำบริเวณท้ายพระราชวังหลวง  พระองค์ยังโปรดการตกปลาจนมีอีกพระนามเรียกขานว่า ‘ขุนหลวงทรงเบ็ด’ หรือ ‘ขุนหลวงทรงปลา’ ในพระราชพงศาวดารหลายฉบับยังระบุว่าพระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียน จนถึงกับออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือกินปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับเงิน 5 ตำลึง

ก.ศ.ร.กุหลาบ อธิบายถึงพระที่นั่งกลางสระน้ำไว้ใน ‘คำอธิบายภาษามคธแลภาษาสันสกฤต’ ความว่า

“บัดนี้ (ก,ล,) ผู้แต่งเรื่องนี้จะขออธิบายคำว่า (บัญญงค์ณ์) (หรือ) (มเหญงค์ณ์) ต่อไปให้พิสดารวิตถารกว้างขวางว่าดั่งนี้คือ “พระที่นั่ง บัญญงค์ณ์ รัตนาศน์ มหาปราสาท” คำที่ว่า (บัญญงค์ณ์ รัตนาศน์) นั้น ยังเปนภาษามคธพจนะสนธิทับศรัปท์อยู่ผู้ที่ไม่รู้ก็หาเข้าใจในถ้อยคำ นักปราชญ์ที่เปนผู้รู้ภาษาบาฬีมีมคธแลสันสกฤตตลอดได้ เพราะเหตุฉะนี้ผู้แปลต้องอาเทศ แยกศรัปท์ออกก่อนผ่อนให้เข้าใจได้ง่าย คำว่า (บัญญงค์ณ์ รัตนาศน์) อาเทศแยกศรัปท์ออกดั่งนี้ (คำว่าบัญญงค์ณ์) เปนสนธิทับศรัปท์อยู่ ต้องอาเทศแยกศรัปท์ออกว่าดั่งนี้ (บัญญะอังคะณะ) (คำว่ารัตนาศน์) ก็ยังเปนสนธิทับศรัปท์เหมือนกัน ต้องอาเทศแยกศรัปท์ออกว่าดั่งนี้ (ระตะนะอาศะนะ) ถ้าจะแปลต้องแปลตัดบทยะติภังว่าดั่งนี้ (บัญญงค์ณ์) (แปลว่าแท่น) (รัตนาศน์) แยกศรัปท์ออกว่า (ระตะนะอาศะนะ) แปลว่าที่นั่งนอนดุจดั่งแก้วหาค่ามิได้ รวมคำศรัปท์ว่า (บัญญงค์ณ์) แปลรวมๆ ว่า (พระแท่นงามสูง คล้ายเนินดินหรือโคก) แปลรวมว่า (รัตนาศน์ หรือ ระตะนะอาศะนะ) แปลว่า (พระราชบัลลังก์ หรือพระที่นั่งดุจดั่งแก้วอันประเสริฐ) รวมศรัปท์ว่า (บัญญงค์ณ์รัตนาศน์) แปลรวมๆว่า (พระแท่นพระที่นั่งแก้วอันงาม) เท่านี้ไม่มีคำใดจะแปลได้ ให้เข้าใจยิ่งกว่าคำนี้ ด้วยพระที่นั่งบัญญงค์ณ์รัตนาศน์มหาปราสาท เปนพระที่นั่งตั้งอยู่บนโคกสูงในกลางสระน้ำ จึ่งเรียกว่าพระที่นั่งท้ายสระ…”

เดิมที มักเป็นที่เข้าใจกันแพร่หลายว่า ‘พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์’ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ต้นเค้าของข้อมูลน่าจะมาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) แต่ กำพล จำปาพันธ์ ได้ลองตรวจสอบจากหลักฐานอีกหลายชิ้นจนค้นพบว่า แท้จริง พระที่นั่งแห่งนี้ได้ปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้เพิ่งมาสร้างยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวงแน่ๆ เฉกเช่นในบันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) บาทหลวงฝรั่งเศส มิเว้นกระทั่งในบันทึกของซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère)

แม้สมเด็จพระเพทราชาจะมิได้สร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ แต่ก็มีข้อมูลระบุว่าทรงโปรดประทับ ณ พระที่นั่งแห่งนี้เพื่อทอดพระเนตรปลาในสระน้ำ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่สมเด็จพระเพทราชาทรงโปรดมาทอดพระเนตรหรือโปรยข้าวตอกให้ปลาตรงริมปากสระรายล้อมพระที่นั่งนั้น จึงทำให้พระองค์มีพระนามเรียกขานว่า ‘พระเจ้าปากสระ’ ด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เขียนใน มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ แล้วชวนให้จดบันทึกเก็บไว้ คือการที่ ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ’ หรือ ‘เจ้าฟ้าพร’ ซึ่งเป็นพระอนุชาของ ‘สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ’ นั้น (ในละครสวมบทบาทโดย เด่นคุณ งามเนตร ) เมื่อทรงขึ้นครองราชย์จะมีอีกพระนามเรียกขานคล้ายๆ กับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม นั่นคือมีพระนามว่า ‘สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงธรรม’ หรือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงธรรมมหาประเสริฐ’

ตามทัศนะของผม ทั้ง ‘ก.ศ.ร. กุหลาบ’ และ ‘นายทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม’ ล้วนพยายามหยิบยกเอาประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีตมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้เชิงการเมือง กรณีของ สส.ทองอยู่ นั้นชัดเจน เขาไม่ปรารถนาให้กระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามยุบจังหวัดนนทบุรี เขาจึงอ้างถึงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์และความยึดโยงกับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาเป็นข้อโต้แย้ง ส่วนกรณีของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ถ้ามองแบบผาดเผินอาจเข้าใจว่า เขาเพียงแค่รวบรวมเรื่องราววงศ์ตระกูลและบรรพบุรุษของขุนนางไทยมาจัดวางให้เป็นระบบเท่านั้น ทว่าแท้จริงกลับเป็นการที่เขาพยายามสำรวจและเปิดเผยให้เห็นเครือข่ายและปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชนผู้ครองอำนาจทางการเมืองของสังคมไทยแล้วเผยแพร่สู่สายตาสาธารณะ คนทั่วไปจึงพอจะรับทราบว่าวงศ์ตระกูลที่สามารถยึดกุมอำนาจทางสังคมได้นั้น มีการสร้างเครือข่ายในกลุ่มก้อนชนชั้นนำและส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาในลักษณะเช่นไรบ้าง

ด้วยกระแสของ ‘พรหมลิขิต’ น่าจะส่งผลให้ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงโลดแล่นกลายเป็นที่กล่าวขวัญไปอีกนาน ภายหลังละครออกฉายไม่กี่ตอน เราก็จะเห็นว่ามีผู้สร้างคอนเทนต์นำเสนอเรื่องราวอันแอบอิงไปกับเนื้อหาในละครเสียดกดื่นระดะสายตา นับเป็นความตื่นตัวที่จับตา ส่วนผมนั้นคงขอครุ่นคิดต่อไปว่า ความรับรู้เรื่องประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างไรบ้างในชีวิตของคนไทยสมัยกรุงเทพมหานคร ทั้งในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างทศวรรษ 2440 และในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างทศวรรษ 2480

เอกสารอ้างอิง

          1. กำพล จำปาพันธ์. “ “เฟคนิวส์” ในพระราชพงศาวดาร พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไม่ได้สร้างสมัยสมเด็จพระเพทราชา.” https://www.silpa-mag.com. (30 ธันวาคม 2565).

          2. ก.ศ.ร. กุหลาบ. มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สยามประเภท, 2448

          3. จันทนุมาศ (เจิม), พัน. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2479

            4. เจ้าภาพพิมพ์แจกเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนสุคนธวิทศึกษากร (สำอางค์ สุคนธวิท) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 28 กุมภาพันธ์ 2506. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยสงเคราะห์ไทย (แผนกการพิมพ์), 2506

          5. ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. เมื่อข้าพเจ้าอยากเป็นนักประพันธ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2557.

          6. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานพระพุทธบาท อธิบายเรื่องพระบาท นิราศพระบาท และลิลิตทศพร. พล.ต.ท. จำเนียร วาสนะสมสิทธิ์ และภรรยา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ พระภิกษุวาส พวงร้อย วาสนะสมสิทธิ์ และ นางมา พวงร้อย วาสนะสมสิทธิ์ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2511. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ, 2511

          7. ประชาชาติ. 11 (3646), (7 พรึสจิกายน 2485).

          8.  ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒  เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติซมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2537

          9. ประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์. นักการเมืองถิ่น จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2553

          10. พระญาณวโรดม (สนธิ์). คู่มือปฏิบัติงานศาสนพิธี. สมาคมพ่อค้าไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายฟื้น สุพรรณสาร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 30 ตุลาคม 2503. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2503

          11. “พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอนที่ 29. (9 พฤษภาคม, 2489).

          12. “พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช 2485.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 77. (10 ธันวาคม 2485)

          13. วรอนงค์ โกวิทเสถียรชัย. นักการเมืองถิ่น จังหวัดนครนายก. กรุงเทพฯ : สถาบันระปกเกล้า, 2557

          14. วิชชุกร นาคธน. นักการเมืองถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2555

          15.  รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18/2485 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันที่ 5 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2485. https://dl.parliament.go.th/

16. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยย่อ ครั้งที่ 3/2483 (วิสามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2483. https://dl.parliament.go.th/

          17. อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแก้ว สิงหะคเชนทร์ ท.ม., ด.ช. อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิจิตร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานครฯ วันพฤหัสบดี ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2533. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, 2533

            18. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก มังกร พรหมโยธี ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 29 มิถุนายน 2509. พระนคร : โรงพิมพ์กรมสรรพสามิต 2509

          19. อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทย ทศวรรษ 2450-2500. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save