fbpx

“ลูกฉันเป็นคนดี”: ทำไมพ่อแม่ของอาชญากรถึงมักไม่เห็นความเลวร้ายในตัวลูก

คุณคงเคยเห็นพ่อแม่พี่น้องของอาชญากรหรือแม้แต่ฆาตกร ออกมาร้องไห้รำพันหลังตัดสินคดีว่า – ลูกฉันเป็นคนดี อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในข่าวต่างๆ

นั่นทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดของอาชญากรหรือฆาตกรเหล่านี้ไม่เคยเห็นพฤติกรรมด้านอื่นของตัวผู้กระทำความผิด (หรือผู้ถูกกล่าวหา) เลยหรือ ทำไมพวกเขาถึงมีความสามารถในการมองผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาได้เพียงมิติเดียว – คือมิติของ ‘คนดี’ 

แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เราอาจต้องมาดูความหมายของคำว่า ‘คนดี’ กันก่อน

จริงๆ แล้ว ‘คนดี’ น่าจะมีหลายนิยาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นั้นแปลความอย่างกำปั้นทุบดินมาก เพราะให้นิยามของคำว่า ‘คนดี’ หมายถึง ‘คนที่มีคุณความดี’ หรือ ‘คนที่มีคุณธรรม’ แล้วก็ยกตัวอย่างสำนวนว่า ‘คนดีผีคุ้ม’ หมายถึง คนทำดีเทวดาย่อมคุ้มครอง ส่วนพจนานุกรมฉบับมติชน ให้ความหมายของ ‘คนดี’ เอาไว้สองความหมาย ความหมายแรกคล้ายกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ คือ ‘ผู้ประพฤติดี’ ส่วนความหมายที่สองหมายถึง ‘คนมีวิชาหรือมีฝีมือความสามารถเป็นที่ยกย่องเลื่อมใส’ ซึ่งความหมายที่สองนี้ดูจะไปทาง ‘คนเก่ง’ มากกว่าคนดี

ด้วยนิยามของคำว่า ‘คนดี’ ตามพจนานุกรมไม่ได้บรรยาย ‘ลักษณะ’ ของ ‘คนดี’ เอาไว้ละเอียดนัก จึงจำเป็นต้องถามต่อถึงลักษณะของคนดีว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ โดยทั่วไปหลายคนอาจจะบอกว่า คนดี คือ คนซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ไม่โกหก ปฏิบัติตัวตามศีลห้า หรือบางคนก็บอกว่า คนดีต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย

นิยามของคำว่า ‘คนดี’ ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่ค้นเจอ ผมพบอยู่ใน เว็บไซต์ครูบ้านนอก.com โดยเว็บนี้บอกว่า

คนดี หมายถึง คนที่ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรมจริยธรรม มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น มีวินัย มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีเหตุผล รู้หน้าที่ ซื่อสัตย์ พากเพียร ขยัน ประหยัด มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น มีความเสียสละ รักษาสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับบุคคล อื่นอย่างสันติสุข

การแปลดังกล่าวเป็นนิยามที่น่าสนใจมาก เพราะจะเป็นคนดีได้ตามนิยามนี้ อย่างแรกสุดคือต้องมีชีวิต ‘อย่างมีคุณภาพ’ ให้ได้เสียก่อน – ซึ่งเป็นคนละความหมายของการมีคุณค่าความหรือประพฤติดีเลย

เมื่อมาคิดๆ ดู ผมคิดว่าการมีชีวิตที่ ‘มีคุณภาพ’ ให้ได้เสียก่อนนั้น น่าจะเป็นฐานรากสำคัญของการที่เราสามารถ ‘เป็นคนดี’ ได้โดยไม่ต้องพยายาม เพราะถ้าชีวิตของเรามีคุณภาพแล้ว เราย่อมอยากรักษาชีวิตแบบนี้เอาไว้

ที่น่าสนใจก็คือ การมีชีวิตที่ ‘มีคุณภาพ’ นั้น ไม่ใช่เรื่องคนเดียวเดี่ยวโดด เพราะเราไม่สามารถมีชีวิตที่ ‘มีคุณภาพ’ อยู่คนเดียวในท่ามกลางพี่น้องเพื่อนพ้องที่มีชีวิตบัดซบไร้คุณภาพได้ ดังนั้น ชีวิตที่มีคุณภาพจึงเกี่ยวพันกับ ‘สวัสดิการ’ ของสังคมอย่างลึกซึ้งด้วย แปลว่าคนที่มีชีวิตที่มีคุณภาพระดับหนึ่ง ย่อมอยากให้คนอื่นๆ มีชีวิตที่มีคุณภาพตามไปด้วย เพื่อจะได้มีสังคมโดยรวมที่มีคุณภาพตามมา แล้วพฤติกรรมในแง่ลบก็จะลดน้อยถอยลงไปโดยอัตโนมัติ

เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นนิยามแบบไหน เมื่อพูดถึงลักษณะหรือบรรยายถึงนิยามของ ‘คนดี’ แล้ว มันไม่สามารถตั้งอยู่โดดๆ โดยตัวมันเองหรือมีความเป็น ‘คนดี’ แบบ ‘สัมบูรณ์’ ได้เลย แต่ ‘ความเป็นคนดี’ นั้น เป็นเรื่อง ‘สัมพัทธ์’ คือ ขึ้นอยู่กับอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างมาก

โดยพื้นฐาน ถ้าเราบอกว่าคนดีต้องซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ไม่โกหก นี่เห็นได้ชัดว่า ‘ความดี’ นั้น ‘สัมพัทธ์’ กับผู้อื่น คือเป็นคนดีเพราะ ‘ทำดี’ กับสังคมรอบข้าง คนดีแบบนี้จึงเป็นคนดีที่ถูกนิยามโดยสังคมเป็นหลัก คล้ายๆ กับเพลง ‘รู้สึกสบายดี’ ของวงเฉลียง – ที่มีตอนหนึ่งร้องว่า “คนเรียกคนดี ติดที่เขาเอาใจใคร”

ส่วนการบอกว่า คนดี คือ คนที่มีศีลหรือประพฤติปฏิบัติตัวตามศีลห้า (หรือบัญญัติสิบประการ หรือหลักธรรมอื่นๆ) นั้น เป็นการนำความเป็นคนดีไปสัมพัทธ์กับ ‘ศาสนา’ ซึ่งซับซ้อนไปอีกขั้น เพราะแต่ละศาสนาย่อมไม่เหมือนกัน หลายศาสนาฆ่าฟันกัน เพราะให้นิยามของ ‘ความดี’ หรือ ‘องค์ความดีสูงสุด’ (ได้แก่พระเจ้าหรือศาสดาของตน) ต่างกันไป เมื่อมองภาพใหญ่จึงน่าตั้งคำถามต่อไปอีกว่านั่นเรียกว่า ‘ความดี’ ได้จริงหรือ

อีกแบบหนึ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น ‘พลเมืองดี’ มากกว่าคนดี ก็คือการที่คนดีต้องปฏิบัติตามกฎหมายของ ‘ชาติ’ อันนี้เห็นชัด ว่านิยามความเป็นคนดีในแบบนี้สัมพัทธ์กับ ‘ชาติ’ ภายใต้กฎหมาย หรือเป็นคนดีตามหลักนิติรัฐนิติธรรม แต่ความหมายของ ‘ชาติ’ ก็คล้ายๆ ศาสนา เพราะมันอาจนำเราไปสู่การฆ่าฟันกันเพื่อปกป้องชาติ ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่า คำกล่าวที่ว่า ‘ตายเพื่อชาติ’ นั้น เป็นเรื่องที่ ‘คนดี’ พึงกระทำจริงหรือ

แม้ไม่ไปไกลถึงชาติ เอาแค่เรื่องกฎหมาย ก็มีเรื่องให้คิดลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า การปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นไปเพราะกลัวถูกลงโทษ หรือเพราะเข้าใจหลักนิติรัฐนิติธรรมกันแน่ ถ้าทำตามกฎหมายเพียงเพราะกลัวถูกลงโทษ ก็เป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดการมองหาช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อ ‘ฉ้อฉลอย่างถูกกฎหมาย’ ทำให้กลายเป็นคนดีแต่เปลือกผิว ทว่าไม่ได้ทำให้สังคมที่ตัวเองอยู่ดีขึ้นจริงๆ

ความเป็นคนดีของเว็บไซต์ครูบ้านนอกนั้นยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายเรื่อง เพราะพ่วงเรื่องเชิงสัมพัทธ์อื่นๆ เข้ามาอีก เช่น การมี ‘จิตใจเป็นประชาธิปไตย’ ซึ่งขยายด้วยคำว่า ‘เคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น’ ซึ่งสามารถถกเถียงกันได้อีกว่า ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘สิทธิ’ หมายถึงอะไร ทำไมการเคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น จึงสำคัญถึงขั้นนำมากำหนดความเป็น ‘คนดี’ ในสังคมประชาธิปไตยได้ (ซึ่งเป็นไปได้ว่า สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและยึดถือ ‘ความดี’ แบบเก่า – อาจไม่มีวันเข้าใจ) นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การกำหนดความเป็นคนดีด้วยคำว่า ‘รักษาสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเข้ากับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในปัจจุบัน

เอาเข้าจริง การเป็นคนดีจึงมีรายละเอียดยิบย่อยมาก ทั้งยังขึ้นอยู่กับ ‘ผู้อื่น’ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและยุคสมัยมากกว่าตัวเราเอง นั่นคือแค่ตัวเราเอง ‘ทำดี’ ไม่ได้แปลว่าจะ ‘ได้ดี’ เสมอไป แต่จะดีหรือไม่ มีคุณค่าอื่นๆ มาคอยกำกับ ‘ความดี’ ในมิติต่างๆ มากมายเต็มไปด้วย

แค่คิดว่าตัวเอง ‘ทำดี’ หรือ ‘เป็นคนดี’ จึงยังไม่พอจะให้ผีที่ไหนมาคุ้ม!

ยังมีคนให้นิยามคำว่า ‘คนดี’ เอาไว้อีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ได้แก่ ‘คนดี’ คือ คนที่มีความสามารถในการปกปิด ‘ความจริง’ ที่ไม่อยากให้ผู้อื่นได้รับรู้ (เพราะจะถูกมองว่าเป็น ‘ความชั่วร้าย’ ในสายตาของผู้รับรู้) เก่งกว่าคนอื่น (พูดง่ายๆ ก็คือ คนดีคือคนที่ปกปิดความชั่วของตัวเองเก่ง) โดยต้องปกปิดความจริงนั้นๆ ในมิติที่สอดรับกับ ‘ผู้รับ’ พอดีด้วย เช่น ถ้านายเอรู้ว่านายบีสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก นายเอจะไม่แสดงออกให้รู้ว่าลึกๆ แล้วเขาไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมเลย ตราบที่นายบีไม่รู้ความจริงเรื่องนี้ นายเอก็จะยังเป็น ‘คนดี’ ของนายบีอยู่เสมอ

แค่พิจารณาความหมายของ ‘คนดี’ หรือ ‘ความดี’ ก็น่าจะพอทำให้เห็นแล้วนะครับว่าคำพูดประมาณว่า ‘ลูกฉันเป็นคนดี’ นั้น เอาเข้าจริงเป็นคำพูดที่ meaningless หรือแทบจะไร้ความหมายขนาดไหน

ลำพังเรื่องความดีก็ซับซ้อนพออยู่แล้ว แต่สังคมปัจจุบันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ผู้เป็นพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด จะได้รับรู้ ‘ความดี’ เฉพาะมิติที่ถูกทำให้รับรู้เท่านั้น เช่น พ่อแม่อาจไม่มีวันรู้เลยว่า โซเชียลมีเดียของลูกที่เข้ารหัสไว้นั้น มีบทสนทนาอย่างไรบ้าง หรือเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน คนที่เป็นลูกมีพฤติกรรมต่างออกไปอย่างไร

ในสังคมไทย เรามักมี ‘ภาพจำ’ ของความเป็น ‘พ่อแม่ลูก’ หรือการเป็นญาติสนิทในแบบชนบท คือมีลักษณะ ‘รวมหมู่’ (collectivism) อยู่มาก เรามักได้ยินคำพูดว่า ‘คนบ้านเรา’ หรือ ‘คนตระกูลเรา’ มักทำหรือไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ (มีแม้กระทั่งก้ำเกินเข้าไปในเขตแดนการเลือกตั้งอันเป็นเรื่องปัจเจก เช่น ‘บ้านเรา’ เลือกพรรคโน้นพรรคนี้ทั้งบ้าน ฯลฯ) คล้ายว่าคนที่อยู่ในหมู่พวกพ้องเดียวกันหรือ ‘ฝูง’ เดียวกัน จะมีวัตรปฏิบัติเหมือนกันหมด

แต่ปัจจุบัน ผู้คนมี ‘ตัวตน’ หลากหลาย ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพื่อแสดงออกถึงสถานะต่างๆ เช่น การเป็นลูก เป็นพนักงานบริษัท เป็นติ่งพรรคโน้น เป็นนางแบกพรรคนี้ เป็นคนรักเพศเดียวกัน เป็นสมาชิกแก๊งละแวกบ้าน เป็นตัวละครติ๋มๆ หรือโหดๆ ในเกมออนไลน์ ฯลฯ โดยตัวตนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียบเนียนเสมอกันหรือเป็นเนื้อเดียวกันตลอดเวลา ดังนั้น คนที่คิดว่าตัวเอง ‘รู้จัก’ คนคนนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้จักไปเสียทุกมิติตัวตน

ยิ่งเป็นคนใกล้ชิดอย่างพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสนิทยิ่งพูดได้ยากว่า ‘รู้จัก’ กันจริงๆ หลายคนออกตัวการันตีความเป็น ‘คนดี’ ให้กับญาติของตัวเองเต็มปากเต็มคำ ก็เพราะคิดว่า ‘ตัวตน’ แค่ที่ได้รับรู้มาตลอด คือ ตัวตนทั้งหมดทั้งมวลของคนคนนั้น ยิ่งสนิทสนมก็ยิ่ง ‘คิดว่ารู้จริง’ ทั้งที่อาจไม่รู้จริง เพราะโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีมันขับเน้นความเป็น ‘ปัจเจก’ (Individualism) มากขึ้น จึงเกิด ‘แนวปะทะ’ ของความคิดแบบรวมหมู่และความคิดแบบปัจเจกขึ้นอย่างเข้มข้น เช่น เรา ‘เลือก’ ได้ง่ายๆ ว่าจะให้ใครเห็นตัวตนไหนของเราบ้างผ่านการ ‘คัสตอม’ เฟรนด์ลิสต์ ดังนั้น เมื่อผสมรวมกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น พ่อแม่ต้องมีอำนาจเหนือลูก จึงมักเกิดการซุกซ่อนความซับซ้อนของตัวตนที่เนียนสนิทมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ – การ ‘การันตี’ ว่าคนที่ตัวเองรู้จักเป็น ‘คนดี’ จึงเป็นเรื่องที่ ‘เชื่อถือได้’ น้อยลงเรื่อยๆ!

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าพ่อแม่หรือญาติสนิทเหล่านั้นต้ังใจจะ ‘โกหก’ สังคมหรอกนะครับ เพราะการเห็นว่าลูกหลานหรือคนสนิทของตัวเองเป็น ‘คนดี’ อยู่เสมอนั้น มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างที่ทำให้เห็นว่า ‘ช่วยไม่ได้’ จริงๆ ที่เราจะเห็น ‘ความดี’ ของคนสนิทอย่างลูกหลานของเราอยู่เสมอ

คำอธิบายแรกเป็นคำอธิบายในแง่ประสาทศาสตร์ หรือ neuroscience คือ ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกนั้น มันจะเกิด ‘สายสัมพันธ์ทางอารมณ์’ (emotional bonds) ที่ใช้ ‘สารเคมี’ ในสมองหลายอย่าง (เช่น ออกซิโตซิน) ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความผูกพันยึดมั่นเสียจนอาจไป ‘บดบัง’ ข้อเท็จจริงที่เป็นภววิสัยได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ หรือก่อให้เกิด ‘อคติ’ ขึ้นมานั่นเอง

ความสัมพันธ์ที่ว่าเป็นความสัมพันธ์ทาง ‘กาย’ (ผ่านสารเคมีในสมอง) นะครับ แต่ยังมีความสัมพันธ์ทาง ‘จิต’ หรือที่เรียกว่า psychological attachment อีก นั่นคือคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ลงทุนลงแรงทั้งเรื่องเวลา พลังงาน เงินทอง ฯลฯ เพื่อเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นมา จึงเกิดเป็นสัญชาตญาณปกป้อง (protective instinct) ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่เกิดทั้งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และที่ถูก ‘ประกอบสร้าง’ ทางสังคม (social contruction) ขึ้นมา

เมื่อนำทั้งสองเรื่องมาประกบกัน จึงยิ่งทำให้ ‘อคติ’ มันแข็งแรงเข้มข้นถึงระดับที่ลูกของฉันทำอะไรก็ไม่ผิด เกิดเป็นอคติยืนยันความเชื่อเดิม (confirmation bias) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความรับรู้ที่ผิดพลาด (cognitive distortion) ทำให้เราไม่เพียง ‘ไม่รู้’ เท่านั้นว่าลูกของเราทำผิดจริงๆ แต่ยัง ‘ไม่สามารถจะรู้’ ถึงสถานการณ์จริงได้อีกด้วย

ยิ่งถ้าพ่อแม่อยู่ในสังคมที่มีลักษณะเป็นชนบทหรือกึ่งชนบทที่ยึดถือแนวคิดแบบรวมหมู่ที่ผนวกเข้ากับความเชื่อเรื่อง ‘คนดีผีคุ้ม’ ก็อาจได้รับแรงสนับสนุนจากชุมชนใกล้ชิดที่เชื่อเหมือนๆ กัน (เช่น ลูกของพ่อกำนันไม่มีวันทำชั่ว!) ก่อให้เกิดความ ‘จงรักภักดีต่อกลุ่ม’ (group loyalty) จนไม่อาจถ่ายถอนความคิดให้เป็นอื่นได้ แต่ที่ถือเป็น ‘รากฐาน’ ของการปกป้องลูกที่แข็งแรงที่สุด ก็คือมุมมองด้านวิวัฒนาการ เพราะนักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่า ถ้ามองจากจุดยืนทางวิวัฒนาการนับแสนนับล้านปี การปกป้องลูกให้ ‘รอด’ ไม่ว่าจะทำผิดแค่ไหน คือการส่งต่อพันธุกรรมของตัวเองต่อไปในอนาคต – แบบเดียวกับ ‘สรรพสัตว์’ ทั้งหลายนั่นเอง

ในต่างประเทศ มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ถ้าลูกหลานของใครกระทำความผิด เช่นก่ออาชญากรรมหรือเป็นฆาตกร ตัวผู้เป็นพ่อแม่ต้อง ‘รับผิดชอบ’ กับการกระทำของลูกด้วยไหม แน่นอน – ถ้าลูกโตแล้ว บรรลุนิติภาวะแล้ว ความรับผิดชอบนี้ย่อมไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ แต่คำถามก็คือ ถ้าเด็กคนนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่นที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ด้วยเล่า นอกจากพ่อแม่จะไม่ควรออกมาบอกว่า – ลูกฉันเป็นคนดีแล้ว, พ่อแม่ยังต้อง ‘รับโทษ’ ตามลูกด้วยไหม

ประเทศสิงคโปร์ มีกฎหมายระบุว่าคนที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ถือเป็นผู้เยาว์ แต่ถ้าก่ออาชญากรรม จะมีกฎหมายที่เรียกว่า ‘The Minimum Age of Criminal Responsibility’ หรือ MACR วางหลักไว้ว่าถ้าอายุมากกว่า 10 ขวบ แล้วก่ออาชญากรรม อย่างไรก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แต่กระนั้นก็มีข้อยกเว้นอื่นๆ ที่ทำให้เด็กได้รับโทษน้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีถึง 41 รัฐ ที่ปรับกฎหมายและลงโทษพ่อแม่ที่ลูกไปก่ออาชญากรรมด้วยข้อหาล้มเหลวในการดูแลหรือป้องกันลูกจากการก่ออาชญากรรม ยิ่งไปกว่านั้นคือการเปลี่ยน ‘สำนึก’ ของพ่อแม่ เพื่อ ‘เอาชนะ’ พลังทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีในสมองหรือกระบวนการวิวัฒนาการ – เพื่อให้พ่อแม่เหล่านั้นรู้จักคำว่า ‘ความรับผิดชอบ’ ต่อสังคมที่อยู่เหนือความเป็นพ่อแม่ลูก

นานมาแล้ว ในปี 1999 เคยเกิดเหตุการณ์ระเบิดในลอนดอนติดต่อกันหลายครั้ง เรียกเหตุการณ์นั้นว่า ‘London Nail Bombings’ เป็นลักษณะระเบิดแบบ ‘ระเบิดตะปู’ ที่แต่ละลูกจะมีตะปูราว 1,500 ตัวพุ่งออกมาอย่างรุนแรง เหตุการณ์นั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตสามคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 140 คน ในจำนวนนี้มี 4 คนที่ต้องสูญเสียแขนขาไป

ผู้ก่อเหตุคือชายวัย 22 ปี ชื่อเดวิด โคปแลนด์ ซึ่งเป็นนีโอนาซีหัวรุนแรง และตั้งใจวางระเบิดในกลุ่มคนผิวดำ ชาวเบงกอล และกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

ที่น่าสนใจก็คือ สตีเฟน – พ่อของเดวิด ไม่ได้ออกมาพร่ำเพรียกเรียกร้องต่อสังคมว่า ‘ลูกผมเป็นคนดี’ แต่อย่างใด ทว่าเขากล่าวกับสื่ออย่าง The Guardian ว่า

“ตัวผมและครอบครัวขอประณามอย่างเต็มที่กับระเบิดอันป่าเถื่อนและขี้ขลาดที่เกิดขึ้นในลอนดอนช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าหากว่าเดวิดเป็นผู้กระทำเรื่องรุนแรงร้ายกาจเหล่านี้จริง เราก็ขอประณามเขาที่ทำเช่นนี้ด้วย”

นี่คือ ‘การประณาม’ ลูกของตัวเอง เป็นคำประณามชั่วชีวิต!

คำถามก็คือ – เราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือญาติสนิทมิตรสหายของผู้กระทำผิด ‘รับรู้’ ถึงความผิดนั้นโดยมีอคติลำเอียงต่อลูกของตนให้น้อยที่สุด

คำตอบต่อเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะโดยทั่วไป อคติลำเอียงที่ว่าอาจ ‘ฝังลึก’ ลงไปถึงระดับเป็น cognitive distortion เพราะมันเกิดจากทั้งสารเคมีในสมอง ประเด็นทางจิตวิทยา และจุดยืนทางวิวัฒนาการ (ที่ไม่รู้ตัว) เราจึงพบได้บ่อยครั้งว่าพ่อแม่ช่วยปกปิดการกระทำผิดของลูก – โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่มีอำนาจหรือเป็นคนมีสถานภาพในสังคมมากพอจะ ‘จ่าย’ เพื่อช่วยเหลือทั้ง ‘ลูก’ และ ‘ฝูง’ ของตัวเอง

ดังนั้น คำพูดที่ปราศจากการตรวจสอบว่า ‘ลูกฉันเป็นคนดี’ จึงเป็นคำพูดที่แสดงสำนึกของ ‘ความยุติธรรม’ ในสังคมออกมาอย่างถึงราก!

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save