fbpx

Glitch Seeker: คุณอยากมี ‘ชีวิตที่ดี’ แบบไหน?

เมื่อไม่นานมานี้ มีกระทู้หนึ่งในกลุ่ม ‘JobThai Official’ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจในหลายระดับ

กระทู้ดังกล่าว เป็นการแชร์ประสบการณ์งานที่ทำแล้วทำให้ชีวิต ‘สบาย’ แม้ว่าจะมีรายได้น้อย แต่สิ่งที่ได้มาก็คือ ‘ความสุข’

เปล่าครับ – กระทู้นี้ไม่ใช่การลุกขึ้นมาต่อสู้ขัดขืนกับระบบตลาดหรือระบบทุนนิยม ไม่ใช่การละทิ้งเทรนด์ใหญ่ๆ เช่น เทรนด์ความเป็นเมือง หรือ urbanization แล้วหนีเข้าป่าไปปลูกผักปลูกหญ้าล่าสัตว์ตกปลา หรือหนีไปอยู่ต่างจังหวัด เปิดสตูดิโอทำขนมปังหรืออะไรอื่นเหมือนที่หลายคนมักจะคิดเวลาอยากมีชีวิตที่มี ‘ความสุข’

ที่ว่ามาในย่อหน้าข้างบนนั้น เราจะเห็นว่ามี ‘การขัดขืน’ กรอบกรงของชีวิตในแบบที่เกิดมา เราส่วนใหญ่ก็ต้องพบเจอทันที หรือต่อให้ไม่ได้พบเจอในทันที โลกก็มีวิวัฒนาการไปทางนั้น แล้วสุดท้ายมันก็ ‘ยัด’ เราเข้าไปในกรอบกรงที่ว่านี้ได้อยู่ดี

กรอบกรงที่ว่านี้ ดูเหมือนปลายทางจะนำพาให้ ‘ผู้ชนะ’ ไปสู่การมีชีวิตที่ดี ทำให้คนจำนวนมากยังมีหวังกับการมีชีวิตอยู่ในกรอบกรงที่ว่านี้ไปเรื่อยๆ แม้จะรู้สึกตะหงิดๆ อยู่ว่า รูปแบบชีวิตอย่างที่คนส่วนใหญ่เป็นนั้น มันส่งเสริมหรือขัดขวางการมีชีวิตที่ดีกันแน่ เพราะทุกคนก็ดูเหมือนจะรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าแพ้ – กรอบกรงหรือระบบที่เป็นอยู่นี้ มันไม่รีรอที่จะเหยียบซ้ำผู้แพ้จนจมธรณี และอาจร่วงหล่นจากมาตรฐานความเป็นมนุษย์ไปเลยก็ได้

กรอบกรงใหญ่ๆ ในยุคปัจจุบันสองอย่าง – คือ ‘การดึงมนุษย์เข้ามาสู่เมืองตามเทรนด์ความเป็นเมือง’ ซึ่งมีผลให้เกิดการจำกัดขอบเขตพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมก่อน โดยเมืองทั้งหลายทั้งปวงล้วนขับเคลื่อนด้วยระบบตลาดหรือระบบทุน (ที่หลายคนเรียกว่า ‘ทุนนิยม’) อันเป็นระบบที่มักจะจำกัดขอบเขตที่เป็นนามธรรมกว่า คือ ‘การจำกัดการเลื่อนชั้นทางสังคม’ หรือเศรษฐสังคมของคนส่วนใหญ่ให้อยู่กับที่ ต่อสู้กับเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และการดิ้นรนเพื่อเป็นเศรษฐีเงินผ่อนแทบจะชั่วชีวิต ยิ่งในรัฐที่ไร้สวัสดิการด้วยแล้ว คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกสิ้นหวังกับชีวิต และคิดว่าตัวเองจะต้อง ‘พ่ายแพ้’ – ในท้ายที่สุด มีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ในสังคมไป

เท่าที่มองดูโลกในปัจจุบัน เราจะเห็นการ ‘ขัดขืน’ กรอบกรงสองอย่างนี้ ทั้งในแง่ของการลงมือปฏิบัติจริงและในแง่ของความคิด เราจะเห็นแนวคิด ‘เหนื่อยกับเมือง’ จนอยากกลับบ้านหรือย้ายไปต่างจังหวัด เพื่อไปหาชีวิตที่ ‘สงบ’ ไม่ต้องดิ้นรนอะไร

ภาพที่เกิดขึ้นจึงมีสองแบบ คือ หนีเมืองไปอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ปลูกผักปลูกหญ้า ใช้ชีวิตแบบเกษตรกรที่พึ่งพาตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย เรียกได้ว่าเป็นการหนีกรอบกรงสองอย่างไปพร้อมกัน คือทั้ง ‘หนีเมือง’ และ ‘หนีระบบตลาด’ แต่คนกลุ่มนี้ที่ ‘อยู่ได้’ จริงๆ มีไม่มากเท่าไหร่ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลิกค้าขายกับโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

ภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นรูปแบบที่ยอดฮิต คือ ภาพของคนที่ ‘หนีเมือง’ ไปอยู่ต่างจังหวัด ปลูกผัก ทำขนมปัง ทำอาหาร แต่ยัง ‘ขาย’ ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอยู่ คนเหล่านี้จึง ‘หนีเมือง’ แต่ไม่ได้ ‘หนีระบบตลาด’ ทว่ายังพึ่งพิงระบบตลาดอยู่อย่างแนบแน่น เผลอๆ ต้องพึ่งพิงระบบตลาด (โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์) มากกว่าสมัยอยู่ในเมืองอีกต่างหาก เพราะน่าจะเป็นแหล่งรายได้ (ซึ่งในด้านหนึ่งก็หมายถึงที่มาของ ‘ชีวิตที่ดี’) ที่เหลืออยู่เพียงแหล่งเดียว 

ที่ผ่านมาก็มีคนวิจารณ์อยู่บ่อยๆ ว่าคนกลุ่มที่สองมักจะมี ‘ภาพฝัน’ เกี่ยวกับชนบทที่งดงามโรแมนติก เช่นฝันว่าจะไปเปิดที่พักเล็กๆ ทำร้านหนังสือ อบขนมปังหรือทำอาหารอร่อยๆ ขายทางออนไลน์ หลายคนจึงค่อนแคะว่าเอาเข้าจริง พวกเขาก็ยัง ‘ติด’ วิถีชีวิตแบบคนชั้นกลางในเมืองอยู่ และหากต้องการจะไปใช้ชีวิตแบบนี้ได้จริง อย่างน้อยก็ต้องมีเงินเก็บเป็นแสนเป็นล้านมาก่อน กล่าวคือถ้าไม่มีต้นทุนหรือสายป่านยาวพอก็อยู่อย่างนั้นไม่ได้จริงหรืออยู่ได้ไม่นาน

จะเห็นว่า เวลาเราคิดอยากมี ‘ชีวิตที่ดี’ นั้น บ่อยครั้งเรามักจะฝาก ‘ภาพฝัน’ เอาไว้กับชนบท ฝากเอาไว้กับการ ‘หนีเมือง’ ที่สับสนวุ่นวายอลหม่านจนเหน็ดเหนื่อย และฝากเอาไว้กับการ ‘หนีระบบตลาด’ หรือระบบทุน ที่นิพพานของมัน คือ อาการมือใครยาวสาวได้สาวเอาแบบเสรีนิยมใหม่ แต่บ่อยครั้งที่เราเกิดอาการ ‘หนีไม่ออก’ เช่น หนีเมืองได้ แต่กลับหนี ‘ความเป็นเมือง’ ที่พ่วงมากับระบบตลาดไม่พ้น 

อย่างไรก็ตาม กระทู้ที่ผมหยิบยกมาพูดถึงข้างต้น คือ กระทู้ของผู้ใช้ชื่อว่า ‘คุณเกี้ยมอี๋’ นั้น กลับเป็นมุมมองเรื่อง ‘ชีวิตที่ดี’ อีกแบบหนึ่ง – ชีวิตที่ดีได้แบบเรียบง่ายโดยไม่ต้องหนีเมือง, และไม่ต้องหนีระบบตลาด!

คุณเกี้ยมอี๋เขียนแชร์ประสบการณ์การทำงานที่ ‘สบาย’ แม้จะ ‘รายได้น้อย’ แต่ก็มี ‘ความสุข’ โดยออกตัวเอาไว้ก่อนว่า นี่เป็นวิธีมีชีวิตที่เหมาะกับคนที่ไม่ทะเยอทะยานและไม่ฟุ่มเฟือย

เขาบอกว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้อยากก้าวหน้า ไม่ได้อยากร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่ได้มีความฝันอะไร อยากทำงานสบายๆ เงื่อนไขคือต้องนั่งทำงานในห้องแอร์ งานต้องน้อย รายได้ไม่ต้องเยอะ เน้นสบายเป็นหลัก”

คำถามก็คือ – แล้วจะมีงานอย่างที่ว่ามาให้ทำจริงหรือ?

เขาบอกว่ามีจริง โดยงานอย่างที่ว่าก็คือ การเลือกทำงานกับบริษัทที่ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้า เช่น ร้านหนังสือเชนสโตร์ในต่างจังหวัด (ร้านหนังสือน่ะครับ คนน้อยอยู่แล้ว) หรือร้านรองเท้าแบรนด์ไทยที่มีสาขาอยู่ตามห้างในต่างจังหวัด (โปรดอย่าลืมว่า ต่างจังหวัดเริ่มมี ‘ความเป็นเมือง’ สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้กรุงเทพฯ)

ร้านเหล่านี้จะจ้างพนักงานด้วยเงินเดือนราว 12,000-17,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้พอๆ กันกับทำงานในองค์กรที่มีผู้เข้ามาใช้บริการเยอะ เช่น ร้านสุกี้เชนสโตร์, ร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง, ร้านไก่ทอด หรือร้านชาบูดังๆ คุณเกี้ยมอี๋บอกว่า งานในร้านดังเหล่านี้ทำแล้วจะเหนื่อยสายตัวแทบขาด เขาเขียนว่า “งานพวกนั้นจะรีดพลังงานชีวิตของคุณจนหมด คุณจะเหนื่อยแทบบ้าแล้วจะเริ่มถามตัวเองว่าคุณเกิดมาเพื่ออะไร”

ไม่เหมือนงานในร้านที่เงียบเหงา เขาเรียกงานเหล่านี้ว่า ‘ยามในห้องแอร์’ เพราะหน้าที่จริงๆ ไม่ต่างจากการเป็น ‘คนเฝ้าสถานที่’ แต่การทำงานเป็นยามจริงๆ นั้น มักจะต้องอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง เช่น หน้าตึก ในลานจอดรถ ฯลฯ ซึ่งทั้งร้อนและยุงกัด เพราะไม่มีแอร์ ที่สำคัญก็คือรายได้น้อยกว่า

ถ้ามาคิดดู สิ่งที่เขาว่าก็น่าจะจริง เพราะงานแบบที่เขาว่า แต่ละวันแทบไม่มีอะไรทำมากนัก ลูกค้าในต่างจังหวัดไม่ได้เข้าห้างมากมายตลอดเวลาจนคลาคล่ำเหมือนห้างในกรุงเทพฯ นานๆ จะมีลูกค้าเข้าร้านเสียที งานพวกเขาจึงเป็นการให้บริการเล็กๆ น้อยๆ ตอบคำถามต่างๆ ให้ลูกค้าพอใจ เพียงแต่หน้าที่สำคัญก็คือคิดเงินให้ถูกต้องเท่านั้น

ที่น่าสนใจมาก คือ คุณเกี้ยมอี๋บอกด้วยว่า งานดังกล่าวไม่ได้หาง่ายนัก เพราะมักมีตำแหน่งว่างน้อย คนลาออกน้อยมาก เนื่องจากงานเหล่านี้เป็นงานที่ ‘สบาย’ จริงๆ – สบายจนกลายเป็น ‘งานในฝัน’ ก็ว่าได้ โดยเขาบอกว่า “งานในฝันของใครหลายคน อาจไม่ใช่งานเงินเดือนหลักแสนที่ต้องใช้ความคิดซับซ้อน แต่เป็นงานที่สบาย พอเลี้ยงตัวเองได้ ก็แค่นั้น”

ที่สำคัญ รายได้เดือนละไม่ถึงสองหมื่นบาทนั้น ถ้าอยู่ต่างจังหวัดและใช้แบบไม่ฟุ่มเฟือย ถือว่าอยู่ได้สบายๆ นั่นทำให้หลายคนที่ทำงานแบบนี้แทบไม่ลาออก แต่ทำงานกันจนถึงเกษียณเลยทีเดียว คุณเกี้ยมอี๋ใช้คำว่า การลาออกจากร้านหรือองค์กรทำนองนี้ “แทบจะเป็นการลาออกครั้งสุดท้ายกันเลย”

แต่เขาไม่ได้บอกว่างานของเขาดีเลิศที่สุดในโลกนะครับ เขาเน้นว่าใครจะทำงานแบบไหนก็ได้ บางคนอาจทำงานที่มีหน้ามีตา (เช่น ทำงานกับนายกเทศมนตรีของจังหวัด) แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่าเขาก็มี ทว่าถ้าการทำงานนั้นทำให้มีความสุขหรืออิ่มใจ มันก็คือความสุขของคนนั้น แต่ละคนต่างต้องพยายามค้นพบพื้นที่ที่อยู่แล้ว ‘สบายใจ’ ของตัวเอง

ผมไม่รู้หรอกว่าคุณเกี้ยมอี๋คือใคร แต่เท่าที่อ่านดูก็พบว่าเขาน่าจะเป็นคนที่มี ‘ต้นทุน’ ในชีวิตไม่น้อยคนหนึ่ง เพราะเขาเล่าว่าเคยทำมาแล้วหลายอาชีพ เคยมีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท แต่สุดท้ายเขาก็ ‘เลือก’ ที่จะมาทำงานนี้แปลว่าเขาทำก็เพราะอยากทำ ไม่ใช่ทำเพราะไม่มีทางเลือก

กระทู้นี้มีผู้แชร์ออกไปมากกว่าหมื่นครั้ง มีคนกดไลค์มากกว่าหนึ่งหมื่นหกพันครั้ง แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจ (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง) กับกระทู้นี้มากโขอยู่

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่า กระทู้ของคุณเกี้ยมอี๋น่าทึ่ง ไม่ได้น่าทึ่งเพราะคิดว่าอยากเอาอย่างเขา หรือคิดว่าใครควรจะเอาอย่างเขาหรอกนะครับ เพราะอย่างที่เขาบอกนั่นแหละ ว่าพื้นที่แห่งความสบายใจ (หรือพื้นที่แห่ง ‘ชีวิตที่ดี’) ของแต่ละคนย่อมต่างกันออกไป แต่ผมเชื่อว่า ลึกๆ แล้ว มีคนจำนวนมากในสังคมนี้ที่อยากหา ‘ทางออก’ ให้กับตัวเองอยู่เหมือนกัน โดยมากคือทางออกแบบ ‘หนีเมือง’ กับ ‘หนีระบบตลาด’ อย่างที่ว่านั่นแหละครับ แต่คุณเกี้ยมอี๋กลับชี้ให้เห็นทางออกอีกแบบหนึ่ง

ผมเชื่อว่า คนจำนวนมากไม่ได้พึงพอใจกับชีวิตที่ ‘ถูกทำให้’ เป็นอยู่หรอกนะครับ หลายคนเกิดมาในสังคมปัจจุบันโดยไม่มีต้นทุนของชีวิตมากมายนัก แค่เรียนหนังสือ คนจำนวนไม่น้อยยังต้อง ‘กู้’ มาเรียน ดังนั้นเมื่อเรียนจบแล้ว จึงไม่ได้มาเริ่มต้นต่อสู้ในตลาดแรงงานที่ระดับ ‘ศูนย์’ เท่าเทียมอย่างเสมอภาคกัน หลายคนที่กู้เงินเรียนต้องเจียดรายได้ส่วนหนึ่งย้อนกลับไปใช้หนี้การศึกษาด้วย

ยังไม่นับการต้องจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยหรือค่าเดินทาง (ซึ่งหากต่อสู้ดิ้นรนจน ‘ชนะ’ ได้บ้างในเกมการทำงาน ก็อาจเปลี่ยนเป็น ‘ค่าผ่อน’ ทั้งบ้านและรถ) คนเหล่านี้จึงเริ่มต้นด้วยอาการ ‘ติดลบ’ ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งที่มีฐานะดีกว่าอาจมีบ้านอยู่ พ่อแม่อาจซื้อรถให้ใช้ และต่อให้ตกงานก็ยังกลับไปกินข้าวบ้านได้ตลอดเวลา คนเหล่านี้จึงไม่ได้เริ่มต้นด้วยระดับศูนย์ แต่เริ่มที่สภาวะบวกเหนือกว่าคนที่ไม่มีต้นทุน แถมยังอาจมี ‘คอนเนกชัน’ ที่ดีกว่า มันจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ค่อยๆ ซ้อนซับทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ถ่างกว้างความเป็นมนุษย์ที่ได้เปรียบ – เสียเปรียบ ของเราออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ยังไม่นับสภาพสังคมและการเมือง ผ่านวัฒนธรรมการบริหารบ้านเมืองโดยรวมที่ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของผู้คน ‘พิกัดล่าง’ มายาวนานหลายสิบปีด้วย พูดโดยทั่วไป เราไม่เคยมอง ‘ความเจริญ’ ของบ้านเมือง ด้วยสภาพของที่อยู่อาศัย รถเมล์ หรือทางเดินเท้าที่ผู้คนที่ถูกมองว่าเป็น ‘ระดับล่าง’ ใช้กัน

ในขณะที่บ้านเมืองที่ศิวิไลซ์แล้ว จะยกระดับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเหล่านี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะตระหนักว่า ‘ประชาชน’ ต้องมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้ให้เหมาะสมกับมาตรฐานความเป็นมนุษย์เสียก่อน แล้วสังคมโดยรวมถึงจะดีขึ้น ไม่ใช่ ‘เอาใจ’ แต่หัวจนหัวโตขาลีบเดินแทบไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่

สภาพแบบนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งอยากทลายหรือขัดขืน ‘กรอบกรง’ ที่ขังตัวเองอยู่ด้วยการ ‘หนีเมือง’ และ ‘หนีระบบตลาด’ อันสุดแสนจะโหดร้าย (โดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีต้นทุนจะเข้ามาเล่นในตลาด) แต่คุณเกี้ยมอี๋กลับเสนอทางออกอีกแบบหนึ่งโดยไม่ได้ ‘หนีเมือง’ และไม่ได้ ‘หนีระบบตลาด’ เลยแม้แต่นิดเดียว

เขาไม่ได้ ‘ขัดขืน’ มัน สิ่งที่เขาทำ – ก็คือการอยู่กับมัน และหา ‘ช่องว่าง’ หรือ glitch ของระบบ แล้ว ‘ใช้’ สภาวะที่เป็นอยู่สร้างให้เกิด ‘ชีวิตที่ดี’ ในความหมายของตัวเองขึ้นมา

‘ชีวิตที่ดี’ ของเขา ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น นั่นคือไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นไต่เต้าด้วยการผ่อนรถญี่ปุ่น ตามด้วยรถยุโรป แล้วก็เป็นซูเปอร์คาร์ ไม่ต้องเริ่มจากผ่อนบ้านราคาหนึ่งล้าน ไต่ไปห้าล้าน ยี่สิบล้าน ไม่สนใจแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าเส้นทางการทำงาน หรือ career path ใดๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – ไม่ต้องมี ‘เส้นทาง’ นำไปไหนก็ได้ เพราะ ‘เป้าหมาย’ ของเขาอยู่ตรงนี้แล้ว

มันคือการมี ‘ชีวิตที่ดี’

ดังนั้น เขาจึงไม่ต้อง ‘หนี’ ไม่ว่าจะเมืองหรือระบบตลาด ทว่า ‘อยู่กับมัน’ โดยพยายามทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและเข้าใจความต้องการของตัวเอง นั่นทำให้ผมนึกถึงหนังสือชื่อ ‘อยู่กับมาร’ (Living with the Devil ของสตีเฟน แบท์ชเลอร์ แปลโดย สดใส ขันติวรพงษ์) ที่บอกเราว่ามารในชีวิตนั้นมีหลายแบบ โดยแบบหนึ่งที่คนมักจะละเลยก็คือ ‘การโหยหาโลกที่ปลอดภัย’ ซึ่งฟังดูไม่เหมือนมารสักเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้วมันคืออุปสรรคขัดขวางการบรรลุถึงอิสรภาพในชีวิตตัวเอ้โดยที่เราแทบมองมันไม่เห็น

แนวคิดเรื่อง ‘อยู่กับมาร’ โดยหาวิธีอยู่กับสิ่งเลวร้ายให้ได้ด้วยการทำความเข้าใจทั้งตัวเราเองและสภาวะแวดล้อมอย่างถ่องแท้ จะเปิดโอกาสให้เราเห็น ‘ช่องว่าง’ หรือ glitch ของระบบ และสามารถใช้ glitch นั้นนำไปสู่ ‘ชีวิตที่ดี’ ได้ในที่สุด

แน่นอน ย่อมมีผู้ไม่เห็นด้วยเข้ามาท้วงติงวิธีใช้ชีวิตของคุณเกี้ยมอี๋ว่าเป็นวิธีที่ผิด เพราะไม่ก้าวหน้า ไม่กระหายความสำเร็จ เขาตอบว่า “เส้นชัยของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ คุณมองมาที่ผม เห็นผมเดินอย่างช้าๆ ไม่ได้วิ่งอย่างบ้าคลั่งแบบคุณ เพราะผมเข้าเส้นชัยของผมนานแล้วครับ เพียงแต่มันเป็นเส้นชัยคนละเส้นกับของคุณ ก็เท่านั้นเอง”

คำท้วงติงข้างบนนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเก่าแก่แสนสนุกอย่าง ‘เหมาโหลถูกกว่า’ หรือ cheaper by the dozen ที่เขียนโดยแฟรงค์ บังเคอร์ กิลเบรธ จูเนียร์ และเออร์เนสทีน กิลเบรธ คาเรย์ หนังสือเล่มนี้เล่าถึง ‘พ่อ’ ของสองผู้เขียน คือ แฟรงค์ กิลเบรธ ซึ่งเป็นวิศวกรชาวอเมริกันคนแรกๆ ที่บุกเบิกการศึกษาเรื่อง ‘เวลา’ และ ‘การเคลื่อนไหว’ (time and motion study) คือ ดูว่าในกระบวนการในโรงงานนั้น ทำอย่างไรจึงจะลดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (ซึ่งทำให้เสียเวลา) ไปได้

แฟรงค์ กิลเบรธ เคยบอกว่า “I will always choose a lazy person to do a difficult job, because a lazy person will find an easy way to do it.” นั่นคือถ้าจะศึกษาการประหยัดเวลา – ให้ไปดูที่คนทำงานในโรงงานที่ ‘ขี้เกียจ’ ที่สุด เพราะเมื่อเราเกิดความรู้สึกขี้เกียจ ไม่อยากทำตาม ‘กระบวนการ’ แบบ ‘สายพาน’ ที่ถูกจัดตั้งมาในโรงงานทั้งหมดแล้ว เราก็จะหาวิธีลดเลี้ยว (หรือหาช่องว่าง หรือ glitch ในกระบวนการนั้นๆ) เพื่อสุดท้ายแล้วให้ได้งานออกมาเท่าเดิมหรือมากขึ้นกว่าเดิม แต่ลดเวลาหรือแรงงานในการทำงานลง พูดง่ายๆ ก็คือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมแต่ ‘สบาย’ ขึ้นนั่นเอง 

ทุกวันนี้ ผมพูดได้ว่าเรามีชีวิตเหมือนอยู่ในสายพานโรงงาน คือ ต้องผลิต ผลิต และผลิต เพื่อตอบสนองระบบตลาดและนายทุน จนต่อให้ไม่ได้คิดจะ ‘เอื้อนายทุน’ เลย แต่แค่การมีชีวิตอยู่เพื่อเป็น ‘ทรัพยากรบุคคล’ ให้กับระบบก็ได้ ‘เอื้อ’ ให้นายทุนได้ความมั่งคั่งที่เหนือกว่าไปแล้วโดยไม่รู้ตัว พร้อมกันนั้น เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบอยุติธรรมที่ ‘กด’ คนอื่นลงไปโดยไม่ตั้งใจด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่า glitch ที่คุณเกี้ยมอี๋ค้นพบ (อาจเรียกเขาว่าเป็น glitch seeker ก็ได้) จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง เขาค้นพบด้วยวิธีการเดียวกับที่แฟรงค์ กิลเบรธ เคยพูดไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน นั่นคือการต่อกรกับแส้ที่โบยตีให้เราให้ต้องขยันจนตัวตาย – ด้วยการหาที่ทางที่  ‘สบายใจ’ และทำให้ตัวเองมี ‘ชีวิตที่ดี’ ได้โดยไม่ขัดขืนกับระบบมากนัก

จะเรียกว่าเป็นการ ‘ใช้’ (exploit) ระบบก็เห็นจะได้

คำถามก็คือ – แล้วคนอื่นๆ ที่รู้สึกว่าตัวเองแพ้พ่ายจนหมดแรงจะขัดขืนกับระบบ, จะค้นพบ glitch ในแบบของตัวเองบ้างได้ไหม?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save