fbpx

มากกว่าความโหยหา (Nostalgia) ใฝ่ชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ (ที่รุ่นเราไม่มีใครจำได้)

“ฉันให้เวลาพวกบอลเชวิกหนึ่งปี อย่างมากก็สองปี”

เป็นคำกู่ตะโกนของตัวละครที่ชื่อ ยินดรชีค เคราส์ (Jindřich Kraus) ในภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” (Cosy Dens) ผู้เป็นบิดาและหัวหน้าครอบครัวตระกูลเคราส์ (Kraus) ครอบครัวชาวเช็กชาตินิยมที่ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ อันเป็นระบอบที่ถือครองอำนาจในเชโกสโลวาเกียยาวนานตั้งแต่ค.ศ. 1948

“ช้อนพลาสติกนี้มีเรื่องราว”
ฉากที่ตราตรึงในความทรงจำหมู่ของชาวเช็กและสโลวักคือฉากที่ตัวละครผู้รักระบอบคอมมิวนิสต์อย่างสุดจิตสุดใจจนอวยสินค้าและเทคโนโลยีของระบอบอย่างไม่ลืมหูลืมตาต้องมาหน้าแตกซ้ำซากตอนสินค้าต่าง ๆ นั้นไม่ได้มีสรรพคุณอย่างที่ทางการโฆษณาไว้ เฉกเช่นโฆษณาชวนเชื่อและความยึดมั่นอย่างมืดบอด ช้อนพลาสติกละลายเหลวไปเป็นขยะ ใช้การอะไรไม่ได้ ความย้อนแย้งอยู่ในข้อความจริงที่ว่าระบอบคอมมิวนิสต์นั้นมิวายจรรโลงระบบทุนนิยมและการแบ่งชนชั้น
โปสเตอร์นี้ ได้รับรางวัล Czech Lion สาขาการออกแบบโปสเตอร์ยอดเยี่ยมในปี 2000 (ที่มาภาพ)

เคราส์ ผู้เป็นทหารผ่านศึกและเคยถูกพวกนาซีทรมานและจองจำมาก่อนนี้ ตั้งใจตะโกนเพื่อกระทบกระเทียบเพื่อนบ้าน นั่นคือ โบโฮว์ช เชเบ็ก (Bohouš Šebek) บิดาและหัวหน้าครอบครัวตระกูลเชเบ็ก (Šebek) ที่เป็นทหารในกองทัพประชาชนเชโกสโลวัก (Československá lidová armada หรือ ČSLA) ใต้อาณัติบัญชาของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวาเกีย (Komunistická strana Československa หรือ KSČ) ภาพยนตร์ที่ฉายครั้งแรกเมื่อปี 1999 แต่มีเนื้อหาที่ย้อนยุคกลับไปปี 1967 (ไม่นานก่อนเหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอในปีถัดมา) นี้ เริ่มเปิดฉากมาไม่ทันไร เราก็เห็นความขัดแย้งระหว่างครอบครัวเพื่อนบ้านสองครอบครัวที่บิดาต่างมีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกัน เคราส์มีพื้นเพมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง เขาฝักใฝ่ตะวันตก (พี่ชายหรือน้องชายไปร่วมรบกับ RAF หรือกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเชโกสโลวักเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นที่ลอนดอน) และต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาที่ระบอบนี้เรืองอำนาจท่ามกลางเสียงเรียกร้องปฏิรูปให้เสรีหรือมี “ใบหน้าเป็นมนุษย์” มากกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนเชเบ็กนั้นมีพื้นเพจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน เขาเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งของระบอบคอมมิวนิสต์ผู้ฝักใฝ่ในวาทกรรมการต่อสู้กับ “จักรวรรดินิยมตะวันตก” และเชื่อมั่นในความก้าวหน้าของความคิดและเทคโนโลยีของระบอบ ภาพยนตร์มิเพียงเปิดฉากมาพร้อมกับการไม่ลงรอยทางการเมืองของเคราส์กับเชเบ็ก แต่ยังเปิดฉากมาพร้อมกับเสียงเล่าเรื่องและฉากที่ตัวละครชื่อมิคาล เชเบ็ก วัย 16 ปี ผู้เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวเชเบ็กพยายามแขวนคอฆ่าตัวตายเพราะไม่สมหวังในความรัก (แต่ไม่เป็นผล ขื่อแปไม่เป็นใจ พังลงมาหมด) ต้นเหตุของความ “แซดยังบอย/แซดอย่างบ่อย” ของมิคาลคือความผิดหวังที่ ยินดรชิชกา (Jindřiška) ลูกสาวคนเดียวของครอบครัวเคราส์ ไม่รับรักตน

YouTube video

ทุกครั้งที่ผู้เขียนบทความได้นั่งชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ฉายในสาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวักช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของทุกปี (เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ทั้งครอบครัวจะนั่งชมกันจริงจังจนเรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์cultประจำเทศกาลประหนึ่ง Home Alone หรือ Harry Potter ภาคต่าง ๆ) หรือเมื่อได้ใคร่ครวญถึงแค่ฉากเปิดเรื่อง ก็นึกฉงนใจเสมอว่าเหตุใดภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” นี้ได้รับขนานนามว่าเป็นภาพยนตร์ coming of age ที่ตลกโปกฮา เพราะเมื่อพิจารณาดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่าเป็นภาพยนตร์มีฉากพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่นและมีฉากหลักเป็นบริบทประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดอย่างการปราบปรามประชาชนโดยกองทัพโซเวียต จะว่าตลกหรือไม่ คิดมุมนี้ก็ขำไม่ออก คงกล่าวได้ว่าเป็นตลกร้ายที่สะท้อนอารมณ์ขันประเภทที่เห็นในงานของนักเขียนเช็กหลายคนอย่าง มิลาน คุนเดรา (Milan Kundera) หรือ โบฮุมิล ฮราบัล (Bohumil Hrabal) ยิ่งเมื่อผู้เขียนบทความมาทราบว่าภาพยนตร์ดัดแปลงจากรวมเรื่องสั้นของ เป็ตร ชาบัค (Petr Šabach) ชื่อ โฮฟโน โฮรชี (Hovno Hoří) แปลเป็นไทย (อย่างตลกร้ายสไตล์เช็ก) ได้ว่า “อุจจาระที่ติดไฟ” ก็ยิ่งเข้าใจว่าจุดขายของภาพยนตร์เรื่องนี้มิใช่เพียงเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร ข้าวของและเฟอร์นิเจอร์ที่ชวนให้นึกย้อน และ – สำหรับรุ่นที่เกิดไม่ทันและไม่ได้เกิดในประเทศนั้นอย่างเรา ๆ – ชวนให้จินตนาการถึงชีวิตช่วงระบอบคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียในช่วงปลายทศวรรษ 1960s เท่านั้น

จุดขายของภาพยนตร์เรื่องนี้คือบทสนทนา การเล่นคำ มุกตลก และพล็อตเรื่องที่แม้ไม่สมจริง (ในโลกความเป็นจริง เคราส์ที่ด่าระบอบอย่างโจ่งแจ้งขนาดนั้นคงไม่มีทางรอด น่าจะถูกเพื่อนบ้านหรือใครสักคนฟ้องตำรวจลับให้มาอุ้มหรือเก็บเสียก่อน) แต่ก็ชวนติดตาม ที่สำคัญก็คือ ข้อที่ว่าลูกหลานของสองครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นมิคาล หรือ ยินดรชิชกา (ชื่อในรูป diminutive ของยินดรชิชกา คือ ยินดรา Jindra เพื่อความง่ายและกระชับ ขอเรียกชื่อนี้) นั้นไม่มีใครสนใจการเมือง และไม่ “อิน” การเมืองเหมือนบิดาของตน เฉกเช่นวัยรุ่นทั่วไป พวกเขาสนใจเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ อย่างเดียว สนใจเรื่องกิจกรรมในโรงเรียนและครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งล้วนเป็นชีวิตหรือ “รังพำนัก” ที่ดูจะห่างไกลจากความเป็นจริงทางการเมืองที่กำลังแปรปรวนในสมัยนั้น

เน้นแต่เรื่อง “ปากท้อง” คือครรลองอำนาจนิยม

ความไม่อินการเมืองและไม่เห็นความสำคัญของฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก (Prague Spring) ในรุ่นลูกของครอบครัวเคราส์และเชเบ็กนั้น สะท้อนความเป็นจริงของประชาชนเชโกสโลวักส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่ยุ่งกับการใช้ชีวิตของตนหรือพากันเสาะหาช่องทาง “อยู่เป็น” เพื่อเอาตัวรอดในระบอบอำนาจนิยมอันสุดแสนจะเส็งเคร็ง ข้อที่ว่าการเน้นแต่เรื่องปากท้องมิเพียงเป็นครรลองของระบอบอำนาจนิยม หากยังเป็นผลกระทบที่ก่อความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในระยะยาวนี้ วาตซลัฟ ฮาเวล ได้เขียนบรรยายไว้ในจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.กุสตาว ฮุสาก (ชื่อ “กุสตาว”ถอดเสียงจากภาษาสโลวัก เนื่องจากฮุสากเกิดที่ดินแดนสโลวาเกีย หากถอดเสียงจากภาษาเช็กต้องอ่านว่า “กุสตาฟ”) ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์หลังเหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ ซึ่งได้ลิดปลิดหวังของประชาชนและนำพาเชโกสโลวาเกียสู่ “ภาวะการทำให้เป็นปกติ” (normalisation) อันหมายถึงการละทิ้งความพยายามปฏิรูปทั้งมวลและหันกลับมาเชื่อฟังและเชื่องต่อมอสโคว์  ดังนี้

33. ยิ่งปัจเจกชนคนหนึ่งสลัดทิ้งความหวังในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคม ละทิ้งความสนใจในเป้าหมายและคุณค่าที่อยู่เหนือประโยชน์สุขส่วนตัว หรือละทิ้งโอกาสที่จะกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง “ภายนอก” ไปมากเท่าไหร่ พลังงานของเขาคนนั้นก็จะยิ่งถูกเบนเข็มให้มุ่งไปในทิศทางของการขัดขืนที่น้อยที่สุดเท่านั้น เช่น เบนทิศทางพลังงานและความสนใจของปัจเจกเข้าสู่ “ภายใน” ตัวเอง สู่การนิ่งนอนใจ อนึ่ง ทุกวันนี้ผู้คนหมกมุ่นกับตัวเอง ครอบครัวตัวเอง และบ้านตัวเองมากกว่าเดิม การหมกมุ่นอยู่กับตัวเองที่กล่าวมาเป็นพื้นที่ที่เขาได้พักผ่อนหย่อนใจ ลืมความโง่เขลาของโลก และได้ใช้พรสวรรค์สร้างสรรค์ของตนได้อย่างอิสระ ผู้คนแต่งเติมบ้านของตนด้วยข้าวของเครื่องใช้และสิ่งสวย ๆ งาม ๆ สารพัน พยายามปรับปรุงที่พัก พยายามสร้างชีวิตเพื่อความสุขสบายของตัวเอง ผู้คนสร้างกระท่อม ดูแลรถ หันมาสนใจเรื่องอาหาร ใส่ใจเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์และความสะดวกสบายภายในบ้านมากกว่าสิ่งอื่น หรือกล่าวสั้น ๆ คือ ผู้คนพุ่งความสนใจไปยังเรื่องวัตถุสิ่งของในชีวิตส่วนตัวนั้นเอง

(จาก จดหมายเปิดผนึกถึงดร.ฮุสาก จากวาตซลัฟ ฮาเวล สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน หน้า 42-43

กล่าวได้ว่าทัศนคติและการกระทำของตัวละครต่างรุ่นในภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” เป็นนิมิตหรือลางบอกอนาคต (ซึ่งกลายมาเป็นปัจจุบันกาลของฮาเวลและของผู้ชมภาพยนตร์ในปี 2023) ภาพยนตร์ย้อนเวลากลับไปหาอดีตก็จริง แต่เป็นอดีตที่ประกอบสร้างขึ้น เนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับอดีตคือสิ่งประกอบสร้าง อดีตและความทรงจำจึงมักถูกนำมาใช้เพื่อไขความกระจ่างให้เราเข้าใจตัวเราเองในปัจจุบันกาล ความทรงจำหมู่ย่อมเป็นวิธีการตอบโต้ปมปัญหาและความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ความทรงจำที่กลุ่มคนหนึ่งมีเกี่ยวกับระบอบคอมมิวนิสต์นั้นไม่มีสารัตถะที่คงที่ประหนึ่งก้อนหินที่ไม่ถูกกัดกร่อนโดยกาลเวลา ต่างคนต่างใช้ชีวิต ประสบ และเข้าใจระบอบนี้ต่างกันไป ดังนั้น จะขนานนามภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นความโหยหาอาวรณ์ (nostalgia) ในลัทธิคอมมิวนิสต์เฉกเช่นภาพยนตร์ที่โหยหาเยอรมนีตะวันออก (Deutsche Demokratische Republik) จำพวกที่นักวิจารณ์และนักวิชาการจัดประเภทและเรียกว่า Ostalgie – เรื่องที่หลายคนอาจรู้จักคงเป็นเรื่อง Good Bye Lenin! (2003) – ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะสิ่งที่ภาพยนตร์นำมาเป็นจุดขายให้เกิดความโหยหาอาวรณ์ได้บ้าง (แม้ในกลุ่มผู้ที่เกิดไม่ทัน) คือเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยนั้นที่มักจะได้รับการจารึกในวัตถุสิ่งของ เสื้อผ้าหน้าผม เฟอร์นิเจอร์ บทสนทนาและมุกตลกขำขันในห้องเรียนและในครอบครัวที่รวมตัวกันในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีใหม่  

การที่พล็อตของภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นความทรงจำภายในครอบครัวถึงสำคัญมากกว่าการถ่ายทำฉากรถถังกองทัพโซเวียตบุกปราก และแทนที่จะมีฉากปราศรัยของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในวาระสมัยต่าง ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับคงไว้แต่ซึ่งฉากในห้องเรียนที่การผันผ่านของระบอบรับรู้ได้จากภาพของผู้นำพรรคคอมนิสต์ (ที่มีอยู่ในทุกโรงเรียนและห้องเรียน) ที่เปลี่ยนไป เช่น ภาพของเคลเมนต์ ก็อตวัลด์ (Klement Gottwald) ถูกโละและแทนที่ด้วยภาพของอันโตนีน โนว็อตนี (Antonín Novotný) ซึ่งต่อมาถูกโละและแทนที่ด้วยภาพของ ลุดวีก สโวโบดา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีช่วงปี 1968-1975 ประวัติศาสตร์การเมืองเป็นเพียงฉากหลังของรักสามเส้า/เศร้าที่มิคาลต้องเผชิญเมื่อเห็นยินดราตกหลุมรักเพื่อนร่วมชั้นเรียนของตน แน่นอนว่า “การเมือง” ในเรือนพักรังพำนักของครอบครัวดูจะสลักสำคัญกว่าการเมืองนอกบ้าน… จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้แม้แต่ผู้ที่ซื่อตรงต่อระบอบคอมมิวนิสต์อย่าง โบโฮว์ช เชเบ็ก บิดาของมิคาล หยิบเชือกมาหมายจะผูกคอตายเหมือนลูกชายตอนต้นเรื่อง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเช่นเดียวกัน

การโหยหาอดีตในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นหมุดหมายแห่งจุดเปลี่ยนในวงการภาพยนตร์เชโกสโลวาเกียช่วงปลายทศวรรษ 1990s ที่ผู้กำกับและนักเขียนบทต่างผลิตงานที่แตกต่างจากต้นทศวรรษอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลก็เพราะช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1990s การปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) เพิ่งเกิดขึ้นหมาด ๆ ภาพยนตร์และงานเขียนที่เคยถูกแบน อีกทั้งไฟล์ข้อมูลตำรวจลับได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชน ผู้ผลิตต่างเลี่ยงที่จะจัดทำภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพระบอบที่เพิ่งล้มล้างไปในทางที่ “feel good”

ภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” นับเป็นดัชนีชี้ความเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1998 อันเป็นวันที่นักร้องนามมิคาล ดาวิด (Michal David) ผู้เคยแต่งเพลงให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในอดีตไปร้องเพลงในเวทีกลางเมืองเก่าปรากต้อนรับทีมนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งที่คว้าชัยโอลิมปิกจากนากาโน (Nagano) วันนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเสียงตอบรับนักร้องที่เคยเชียร์ระบอบอย่างสุดจิตสุดใจอย่างยิ่งใหญ่เช่นนี้ กลไกของตลาดโอบรับเทรนด์ดังกล่าวอย่างฉับพลัน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนอยู่ในภาพยนตร์ช่วงปลายทศวรรษ 1990s อย่าง “รังพำนัก” นี่เอง แม้นักร้องสมัยคอมมิวนิสต์หลายคนจะเคยเซ็นต่อต้านกฎบัตร 77 แต่ดูเหมือนว่าหลัง 1989 ชีวิตและอาชีพของพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบจากการกระทำในอดีต คอนเสิร์ตของมิคาล ดาวิดเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนไม่ล่าแม่มดและไม่รังเกียจเพลงของนักร้องที่เคยเป็นหรือถูกบังคับให้ทำหน้าที่ลิ่วล้อให้ระบอบในอดีต อย่างที่กล่าวมาแล้ว การโหยหาอดีตและชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์คือการโหยหา (หรือจินตนาการถึง) เพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตในสมัยนั้น การโหยหาอดีตในบริบทของสาธารณรัฐเช็กไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับความปรารถนาให้ระบอบนั้นกลับคืนมาเสมอไป จึงไม่น่าแปลกใจที่เพลงป็อปเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก”

เราจะเห็นว่าตัวละครใน trailer พากันเต้นรำเพลง “Trezor” (แปลว่า “กรุ”) ของ กาเร็ล ก็อต (Karel Gott) ฉากสำคัญ ๆ จะมีเพลง “Sluneční hrob” (แปลว่า “สุสานแสงแดด”) ของ Blue Effect เปิดคลอ และมีเพลงของนักร้อง Diva ชาวสโลวัก ตำนานเพลงประเภท chanson อย่างฮานา เฮเกโรวา (Hana Hegerová) อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” ให้เกียรตินักแสดงและนักร้องอย่างวาตซลัฟ เน็ตซการ์ช (Václav Neckář) ผู้เป็นนักแสดงคนสำคัญในขบวนการภาพยนตร์เชโกสโลวักคลื่นลูกใหม่ช่วงฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก เพลงเปิดเรื่องของเน็ตซการ์ชคือเพลง “Tu kytaru jsem koupil kvůli tobě” (แปลว่า “ฉันซื้อกีตาร์ตัวนั้นเพราะเธอ”) อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อคนรักแม้ถึงขั้นต้องผลาญค่าแรงของพ่อไปกับกีตาร์เพียงเพื่อให้คนรักรู้สึกประทับจิตประทับใจ (เช่นเดียวกับ มิคาล เชเบ็กในเรื่อง)

YouTube video

ภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” ยังให้เกียรตินักร้องอย่าง วัลเดมาร์ มาตุชกา (Waldemar Matuška) นักร้องชาวสโลวักระดับตำนาน (เทียบเท่า แฟรงค์ ซินาตรา -Frank Sinatra) ที่ต้องลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกาในปี 1986 ทันทีที่เขาหนีออกจากประเทศ รางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ ของเขาถูกทางการริบไปสิ้น และผลงานเพลงของเขาถูกแบนไม่ให้เปิดในรายการวิทยุและโทรทัศน์

YouTube video

“รังพำนัก” จึงเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคซึ่งดูเผิน ๆ เล่นกับความโหยหาอดีตและอาจถูกกล่าวหาว่า romanticise ระบอบและสะท้อนความปรารถนาให้ระบอบนั้นหวนคืนมาอีกครา แต่หากพิจารณาดี ๆ เราจะเห็นว่า “รังพำนัก” เป็นภาพยนตร์ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับระบอบคอมมิวนิสต์เป็นพื้น ที่เพิ่มเติมมาคือข้อที่ว่าภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นว่าเราสามารถแยกทัศนคติที่มีต่อระบอบออกจากความนิยมชมชอบผลผลิตทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น (เพราะล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำหมู่และวัฒนธรรมเช็กและสโลวักไป แยกออกจากชีวิตผู้คนแต่ละรุ่นไม่ได้) หากปราศจากบรรยากาศของระบอบคอมมิวนิสต์ในอดีตเพลงที่ยกตัวอย่างมาคงไม่บังเกิด และเสื่อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ตึกรามบ้านช่อง ประเพณีต่าง ๆ คงไม่มีให้เห็น ทุกอย่างเป็นการเมือง และความไม่อินการเมืองก็ถือว่าเป็นจุดยืนทางการเมืองหรือ – อย่างที่ฮาเวลอธิบายไว้ – ถือว่าเป็นภาพสะท้อนของสภาพการเมืองด้วยเช่นกัน

ระบอบ “ชายเป็นใหญ่” อยู่ยั้งยืนยงและยาวนานกว่าระบอบการเมืองใด

ทั้งในครอบครัวที่โอบรับระบอบคอมมิวนิสต์และในครอบครัวชาตินิยมที่ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ ตัวละครผู้หญิงใน “รังพำนัก” ต่างอดทนอดกลั้นกับคุณค่าชายเป็นใหญ่และ “ความรู้สึกสำคัญตัวเป็นวีรบุรุษ” อันแสนกระจอก (petty heroism) ของเหล่าสามีและบิดาในระนาบและระดับต่าง ๆ กัน วิลมา (Vilma) ภรรยาของยินดรชิค เคราส์ ผู้เป็นมารดาของยินดราถึงขั้นเสียชีวิตด้วยโรคร้าย ผู้ชมอาจเห็นด้วยกับผู้เขียนบทความว่าวิลมาเสียชีวิตด้วยความเหนื่อยและความเครียดที่เกิดจากการต้องอยู่กับสามีที่บ่นและต้องการความสนใจตลอดเวลาเช่นกัน ยินดราตอนแรกดูจะไม่ทนบิดาของตน แต่หลังจากที่สูญเสียมารดาและเห็นว่าบิดานั้นทำอะไรไม่เป็นก็หันมาเข้าครัว กลายเป็นแม่บ้านแทนมารดา (จะเห็นว่าแรงงานในครัวเรือนที่ผู้หญิงทำให้โดยไม่ได้รับค่าจ้างนั้นมีอยู่ทั่วไปใต้ระบอบคอมมิวนิสต์) ยินดราเองต้องบอกลาแฟนที่ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาตามพ่อแม่ของเขา โดยรู้ดีว่าจะไม่ได้พบกันอีก (อย่างน้อยธีม coming of age นี้เป็นของวัยรุ่นชายและหญิงอย่างเสมอกัน) ส่วนมาเรีย (Marie) ภรรยาของโบโฮว์ช เชเบ็กนั้นอาจดูจะเชื่อฟังคำบัญชาของสามีผู้เป็นทหาร แต่จริง ๆ เป็นขบถ และพร้อมรับความคิดก้าวหน้าใหม่ ๆ ของคนรุ่นลูก ส่วนเอวา (Eva) ตัวละครที่เป็นน้องสาวของมาเรียนั้นเป็นครูและแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้พยายามเฟ้นหาผู้ที่เหมาะจะเป็นบิดาให้ลูกชายของตน (แม้ระบอบคอมมิวนิสต์สัญญาว่าสหายชายและสหายหญิงนั้นมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวยังถูกมอิงว่าเป็น stigma อยู่ดี) สุดท้ายปฏิเสธทุกคนจนมาพบยินดรชีค เคราส์ผู้เป็นหม้าย (และทำตัวดีขึ้นเพราะสำนึกว่าตนได้เคยสร้างความทุกข์ให้กับภรรยาที่เสียชีวิตไปเพียงใด) จนได้แต่งงานกัน มิคาลจึงเกี่ยวดองกลายเป็นญาติของยินดราโดยที่เขาไม่เต็มใจ เมื่อทั้งเอวาและยินดรชีคไปฮันนีมูนที่ลอนดอนหลังเกิดเหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ ทั้งคู่ก็ไม่ได้กลับมาที่ประเทศบ้านเกิดอีกเลย เช่นเดียวกับประชาชนเชโกสโลวักจำนวนมากในสมัยนั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จบด้วยบทอุทิศแด่ผู้ที่ต้องอยู่อย่างลำพังเพราะได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัว สหาย หรือคนรักไปกับสถานการณ์ทางการเมืองไปชั่วข้ามคืน สุดท้ายรังพำนักก็ต้องแตกไปเพราะการเมือง ไม่มีใครอยู่เหนือและนอกการเมือง อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” ท้าทายเฟรดริก เจมสัน (Fredric Jameson) ที่วิพากษ์วิจารณ์ความโหยหาอดีต (nostalgia) ว่าความโหยหาอดีตแบบโพสต์โมเดิร์นที่เรามักเห็นในภาพยนตร์นั้นไร้ซึ่งแก่นสารทางประวัติศาสตร์เพราะมุ่งแต่จะประดิษฐ์สร้างอดีตที่ไม่ตรงกับความเห็นจริงทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ ในการณ์กลับกัน “รังพำนัก” อาจชี้ให้เห็นว่าการตั้งใจละฉากและเลือกที่จะไม่เน้นเรื่องเล่าเกี่ยวกับโลกการเมือง แต่หันมาโฟกัสที่ฉากและเรื่องเล่าในหน่วยชีวิตย่อย ๆ อย่างครอบครัวและโรงเรียนแทนนั้นก็มีนัยทางการเมืองที่สำคัญได้เช่นกัน การทำเช่นนั้นสะท้อนว่าผู้คนพยายาม “ปรองดอง” กับอดีตอย่างเข้าใจ และสามารถแยกแยะผลผลิตทางวัฒนธรรมออกจากความโหดร้ายของระบอบ แทนที่จะแคนเซิลอดีตอันมืดมน ภาพยนตร์จากสาธารณรัฐเช็กเรื่องนี้กลับโอบกอดและยอมรับอดีตอันแสนเจ็บปวด ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการเดินไปข้างหน้าต่อไป

คำเชื้อเชิญ

สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจมางานฉายภาพยนตร์และเสวนาหลังฉายภาพยนตร์เรื่อง “รังพำนัก” หรือ “Cosy Dens” (Pelíšky) ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16.00 น. ณ หอประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้เป็นงานสาธารณะ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนหน้างานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

งานฉายภาพยนตร์ครั้งนี้เป็นผลพวงจากความร่วมมือระหว่างคณะนิเทศศาสตร์และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย และจัดเนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี เหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ

หลังชมภาพยนตร์ ขอเชิญมาร่วมเสวนาหลังฉายภาพยนตร์ในหัวข้อ “ปี 1968 บนจอและในบริบทของโลกปัจจุบัน” (“1968 on Screen and Parallels in the Current World”) กับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตสาธารณรัฐเช็ก คณาจารย์ และนิสิต

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save