fbpx

การต่างประเทศยุคคณะราษฎร: หลักเอกราช การแสวงหาสถานะ และการช่วงชิงความชอบธรรม – พีระ เจริญวัฒนนุกูล

“ครั้งถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะทหารและพลเรือนได้พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริง นับแต่วันที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว งานของการต่างประเทศได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในชั่วเวลา 7 ปีนับตั้งแต่ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว … เท่าที่รัฐบาลได้ทำมาแล้ว เป็นเหตุให้นานาประเทศมีความนิยมนับถือประเทศไทยยิ่งขึ้น และทุกๆ ประเทศมีไมตรีต่อไทย ยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาปลดเปลื้องการผูกมัดตัดอิสระบางอย่างให้หมดไป”

คำประกาศจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในวาระ ‘งานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา’ เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2482 คือการป่าวประกาศว่า รัฐบาลคณะราษฎรได้ทำให้ ‘หลักเอกราช’ ก้าวหน้าไปอีกขั้น ยกระดับสถานภาพไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศอย่างที่ระบอบเก่าไม่สามารถบรรลุได้  

แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในมุมองของ พีระ เจริญวัฒนนุกูล ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านทฤษฎีการแสวงหาสถานภาพ ตั้งแต่การประกาศใช้ ‘รัฐนิยม’ การประกาศสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส ไปจนถึงการประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างเป็นไปเพื่อการรักษาอธิปไตยและแสวงหาสถานะที่เท่าเทียมทั้งสิ้น

ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม 101 สนทนากับ พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมือง การแสวงหาสถานะและเอกราชไทยในการเมืองระหว่างประเทศยุคคณะราษฎร – หนึ่งในยุคที่การต่างประเทศไทยมีเจตจำนงแน่วแน่ที่สุดยุคหนึ่ง

อาจารย์เลือกศึกษาการต่างประเทศไทยในช่วงปลายสมัยคณะราษฎร ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยแรก อยากทราบว่าอะไรคือความน่าสนใจของการต่างประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เดิมทีรู้ประวัติศาสตร์ช่วงเวลานี้น้อยมาก แต่เป็นความบังเอิญที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งแนะนำว่า การต่างประเทศสมัยจอมพล ป. มีความน่าสนใจ เป็นช่วงเวลาที่ไทยทำสงครามบุกอินโดจีนฝรั่งเศส บุกเชียงตุง  ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นขัดกับความเข้าใจของผมว่า ไทยมีนโยบายการต่างประเทศเชิงรับมาตลอด ผิดวิสัยพฤติกรรมรัฐขนาดเล็กอย่างมาก ขัดกับความเข้าใจทั่วไปทางทฤษฎีที่ว่ารัฐขนาดเล็กไม่ค่อยมีศักยภาพในการทำสงครามกับรัฐมหาอำนาจ วางตัวสงบเสงี่ยม จึงเกิดเป็นคำถามวิจัยขึ้นมา

ประกอบกับว่าอาจารย์ที่ปรึกษาให้ความสำคัญกับประเด็น ‘ความกังวลด้านสถานะระหว่างประเทศ’ (status concern) เลยไปดูว่า นโยบายการต่างประเทศที่ผิดวิสัยในสมัยจอมพล ป. มีเค้าลางของความวิตกกังวลด้านสถานภาพไทยในการเมืองระหว่างประเทศหรือเปล่า ทฤษฎีการแสวงหาการยอมรับระหว่างประเทศกับหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศสมัยจอมพล ป. มีลักษณะที่สอดคล้องกันไหม ปรากฏว่า มีหลักฐานเยอะมากที่สะท้อนว่า จอมพล ป. กังวลเรื่องสถานภาพที่เท่าเทียมกับชาติอื่น ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการต่างประเทศไปจนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต การแต่งกายผ่านนโยบายรัฐนิยม ฯลฯ ทั้งๆ ที่ไทยเป็นรัฐขนาดเล็ก ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าไทยเป็นชาติศิวิไลซ์ ไม่ใช่เพื่อสร้างชาติอย่างเดียว 

จริงๆ มีข้อถกเถียงอยู่ว่า การต่างประเทศภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. จะนับว่าเป็น ‘การต่างประเทศของคณะราษฎร’ ได้หรือไม่ เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

มีการตีความหลากประวัติศาสตร์หลากหลายแนวทางมาก อย่างอาจารย์ท่านหนึ่งที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็ตั้งคำถามว่าจุดสิ้นสุดยุคคณะราษฎรคือช่วงก่อนสมัยจอมพล ป. หรือเปล่า

จอมพล ป. มีหลายมุมที่ controversial ก็จริง แต่คิดว่าเรียกว่าเป็นการต่างประเทศคณะราษฎรได้นะ อาจจะตอบไม่ได้ 100% แต่ที่มั่นใจคือ นับตั้งแต่ 2475 จนถึงก่อนสมัยจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปัญหาหลักคือเรื่องภายในประเทศ

ในระยะแรกหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลคณะราษฎรวิตกกังวลว่าจะมีการแทรกแซงจากต่างชาติ เพราะต่างชาติไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลแบบไหน จะยึดพร็อบเพอตีต่างชาติในไทยหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น และแน่นอนว่าคณะราษฎรกังวลว่าฝ่ายเจ้าจะแทรกแซงทางเมืองด้วยเช่นกัน พอมั่นใจว่าไม่มีการแทรกแซงโดยต่างชาติแล้ว ปัญหาหลักก็กลายเป็นเรื่องภายในประเทศที่ว่า คณะราษฎรจะสถาปนาการปกครองให้ตั้งมั่นอย่างไร เพราะก็มีขบวนการที่เป็นปรปักษ์ต่อการปฏิวัติ (counter-revolution) เกิดขึ้น

จนกระทั่งสมัยรัฐบาลจอมพล ป. สมัยแรกนี่แหละ สำหรับผม ยุคจอมพล ป. เป็นยุคที่การต่างประเทศมีทิศทางชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าไปอ่านเอกสารสมัยที่ปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการต่างประเทศ จะเห็นว่ามีหนังสือที่กรมโฆษณาการเผยแพร่มาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคืออะไร ต้องปรับความสัมพันธ์และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับนานาประเทศ ต้องดำรงความกลาง ฯลฯ เป็นข้อความทำนองทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่พอจอมพล ป. ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ทิศทางการต่างประเทศก็เปลี่ยน มีเจตจำนงที่ชัดเจน จนกระทั่งฝ่ายญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

อะไรคือโจทย์สำคัญของการต่างประเทศไทยในยุคคณะราษฎร

มีสองประการที่สำคัญมาก

ประการแรก ไทยจะสร้างความเสมอภาคทัดเทียมกับชาติอื่นได้อย่างไร ซึ่งทำผ่านวิถีทางที่ทำให้ชาติเป็นศิวิไลซ์ ถ้าเราอ่านสุนทรพจน์หลายชิ้นในสมัยจอมพล ป. หนึ่งในเรื่องที่จะต้องกล่าวคือ จะทำให้ชาติศิวิไลซ์ทัดเทียมโลกตะวันตก

ประการที่สองคือ จะพาไทยให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร ซึ่งทางแก้โจทย์ที่สองก็ใช้วิธีการเดียวกันแบบโจทย์แรก คือการพัฒนาสถานภาพของชาติให้ทัดเทียมต่างชาติ

หนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ ‘หลักเอกราช’ หลักนี้เกี่ยวพันกับการสร้างสถานภาพที่ทัดเทียมอย่างไร

โจทย์สำคัญของการต่างประเทศแต่แรกตั้งอยู่บนหลักเอกราช บางคนอาจมองว่าหลักเอกราชเกี่ยวพันกับเรื่องภายในประเทศ แต่หากมองจากเลนส์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักเอกราชคือเรื่องการต่างประเทศแน่ๆ คือ ณ เวลานั้น สยามยังมีสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับนานาชาติอยู่ มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ไม่มีความเท่าเทียมทางอำนาจอธิปไตย เช่น การศาลบางประการที่ต่างชาติมีสิทธิพาคนชาติเขาออกจากกระบวนการยุติธรรมของสยาม

หลักเอกราชมีนัยเกี่ยวพันกับสถานภาพที่เท่าเทียม เพราะเมื่อเท่าเทียมกันในทางอธิปไตย นั่นหมายความว่าต่างชาติจะมายุ่มย่ามเรื่องการศาล การศุลกากร หรือเรื่องภายในประเทศไม่ได้ ต่อให้เป็นชาติมหาอำนาจก็ตาม สนธิสัญญาไม่เสมอภาคเปรียบเสมือนหนามยอกอก ดังนั้น วาระแรกๆ หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คือการเจรจาสนธิสัญญาเสมอภาค ซึ่งลากยาวมาประสบความสำเร็จในปี 2482 ตรงกับสมัยที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพอดี เป็นความดีความชอบของรัฐบาลอย่างใหญ่หลวงมาก จอมพล ป. จะให้มีการจัดงานฉลองวันชาติครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายนปีเดียวกันพอดี เลยให้จัด ‘งานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา’ เสียเลย

วิธีคิดหลักเอกราชส่งผ่านมายังสมัยจอมพล ป. เช่นกัน ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปี 2481 จอมพล ป. กล่าวไว้ประมาณว่า แนวนโยบายการต่างประเทศอาจดูก้าวร้าวก็จริง แต่เราไม่เอาอย่างฮิตเลอร์คราวผนวกเชกโกสโลวาเกีย ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อให้การเจรจาสนธิสัญญาเสมอภาคสำเร็จเท่านั้น นี่คือหลักแรกๆ ที่จอมพล ป. กล่าวถึงหลังขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

กระทั่งตอนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นหลังนาซีเยอรมนีบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 2482 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 กันยายนก็ไม่ได้คุยกันว่าจะฉวยโอกาสเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ จอมพล ป. ให้ความเห็นด้วยซ้ำว่า “ฝรั่งเศสรบเยอรมันนี้ จะเข้าข้างใดก็รู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ก่อนเรารบเพื่อหาชื่อเสียง แต่เวลานี้เรามีทุกอย่างที่เราต้องการแล้ว เช่น เอกราชในทางศาล ในทางศุลกากร และสนธิสัญญาก็เสมอภาคกันดี จึงเห็นว่าถือนโยบายเดิมคือ เป็นกลางเป็นนโยบายที่ดีที่สุด” นี่สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขสนธิสัญญาให้เท่าเทียมคือ priority หนึ่งที่สำคัญมาก ในบริบทช่วงแรก แก้ไขสนธิสัญญาเสมอภาคให้ลุล่วงคือพอแล้ว

การสถาปนาเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองส่งผลต่อความชอบธรรมของคณะราษฎรในการเมืองระหว่างประเทศแค่ไหน

คนที่ศึกษาการปฏิวัติ 2475 จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือการช่วงชิงความชอบธรรมระหว่างระบอบการเมืองมากกว่า แต่ถ้ามองจากมุมการต่างประเทศ การมีรัฐธรรมนูญก็สำคัญนะ เพราะรัฐธรรมนูญคือการทำให้ประเทศทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ประเทศที่เจริญแล้วมีกันหมด เป็นของที่กำลังมาในสมัยนั้น

การช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรและระบอบเก่ามักปรากฏในพื้นที่การเมืองภายใน แต่การช่วงชิงความชอบธรรมปรากฏในพื้นที่การต่างประเทศแค่ไหน

กรณีที่เด่นชัดที่สุดคือการจัดงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญาในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ซึ่งเป็นการฉลองวันชาติครั้งแรก และเป็นวันแรกด้วยที่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย

การจัดงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญาไม่ใช่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่าและระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งภาพที่ปรากฏคือการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญและสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคณาจารย์หลายท่านที่ศึกษาประเด็นนี้แล้ว แต่สำหรับผม มันคือสัญญะที่บอกว่า ‘รัฐบาลระบอบใหม่’ สามารถทำในสิ่งที่ระบอบเก่าทำไม่สำเร็จคือ การปลดเปลื้องเงื่อนไขของสนธิสัญญาไม่เท่าเทียมและยกสถานภาพของชาติให้เท่าเทียมผ่านสนธิสัญญาเสมอภาคที่บรรลุการเจรจาไป

ตัวอย่างการใช้การต่างประเทศเพื่อสร้างสัญญะช่วงชิงความชอบธรรมคือ แผนการสร้าง ‘อนุสาวรีย์เอกราช’ หรือบางครั้งก็เรียก ‘อนุสาวรีย์ไทย’ ตั้งใจจะไปสร้างที่ปากน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยมีข้อพิพาทดินแดนกับฝรั่งเศส ถ้าไม่ได้มีปมเรื่องความเป็นเอกราชจะไปสร้างทำไมที่ปากน้ำ ก็สร้างในพระนครสิ ในเอกสารแบบสร้างอนุสาวรีย์เอกราชของกรมศิลปากรก็ระบุว่าจะสร้างให้อนุสาวรีย์เอกราชเป็น “ถาวรวัถตุชิ้นสำคัญที่สุดในประเทศไทย” และไม่เพียงเท่านั้น ยังจะสร้างให้ “เป็น One of the Wonders of the World” ที่อวดโลกในทางประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สร้าง เพราะไปสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแทน แต่นี่ก็สะท้อนวีธีคิดของรัฐบาลตอนนั้น

ถ้าไปดูภาพพิธีเจิมสนธิสัญญาบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม จะเห็นว่ามีการนำธงชาติไทยมาตั้งเรียงร่วมกับธงชาติหลายประเทศ ซึ่งไทยไม่เคยทำได้มาก่อน แน่นอนว่าเป็นการแสดงภาพออกไปให้ต่างชาติเห็นว่า ไทยนั้นเท่าเทียมแล้ว

แต่ที่น่าสนใจคือ เนื้อหาในประกาศจากรัฐบาลที่มีคำสั่งให้ครูใหญ่ทุกโรงเรียนอ่านในการชุมนุมนักเรียกเวลาเก้าโมงเช้า เพราะถือว่าเป็นเอกสารสาธารณะที่แรงพอสมควรนับตั้งแต่มีการเผยแพร่ประกาศคณะราษฎรในย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไปถามคนที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ 2475 ว่าช่วงระหว่างหลังปฏิวัติจนถึงงานฉลองวันชาติ มีเอกสารเผยแพร่ที่แรงขนาดนี้ไหม เขาก็บอกว่าไม่มี ข้อความในประกาศเขียนไว้ว่า

“ในระหว่าง 80 ปีที่ล่วงแล้วมา ชาติไทยได้เสื่อมโทรมทรุดถอย เช่น ต้องเสียดินแดนไปแล้วตั้งครึ่งประเทศ ถูกผูกมัดตัดความอิสระไปในหลายประกาศ ยิ่งมาถึงระหว่าง 7-8 ปี ก่อนหน้านี้ ความเป็นไปในบ้านเมืองเราอยู่ในอาการที่น่าวิตก กล่าวคือ บำรุงประเทศก็อ่อนแอ เศรษฐกิจทรุดโทรม อาชีพของพลเมืองก็แร้นแค้นยิ่งนัก โภคทรัพย์ภายในประเทศร่อยหรอหมดเปลืองไป การบำรุงบ้านเมืองทำอย่างเฉือยฉา วิธีการที่รัฐบาลปกครองราษฎรก็ใช้วิธีอย่างนายกับบ่าว เจ้ากับข้า ฉะนั้น ในระหว่าง 7-8 ปีก่อนหน้านี้ ประเทศไทยตกอยู่ในความเสื่อมโทรมจนนึกว่าอยู่ในอันตรายทีเดียว ครั้งถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะทหารและพลเรือนได้พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริง นับแต่วันที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว งานของการต่างประเทศได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในชั่วเวลา 7 ปีนับตั้งแต่ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ผลที่ได้แก่ประเทศ มีดังจะกล่าวย่อต่อไปนี้ … เท่าที่รัฐบาลได้ทำมาแล้ว เป็นเหตุให้นานาประเทศมีความนิยมนับถือประเทศไทยยิ่งขึ้น และทุกๆ ประเทศมีไมตรีต่อไทย ยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาปลดเปลื้องการผูกมัดตัดอิสระบางอย่างให้หมดไป …”[1]

ยิ่งไปกว่านั้น นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีงานฉลองวันชาติในต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าเป้าหมายของงานฉลองรัฐธรรมนูญคือทำให้คนไทยรู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร แต่งานฉลองวันชาติไม่ได้จัดแค่ในไทย ในต่างประเทศรัฐบาลก็ให้สถานทูตไทยจัดงานฉลองวันชาติด้วยในเกือบทุกประเทศ มีแค่ในประเทศเดียวที่ไม่จัด ให้ลองเดากันเอาเอง ใครอยากรู้ให้ไปอ่านบทความภาษาอังกฤษผมแล้วกัน ซึ่งไม่ใช่ว่าเชิญแค่นักเรียนไทยในต่างแดน แต่ยังเชิญบุคคลสำคัญของประเทศนั้นๆ เข้าร่วมด้วย อย่างในเยอรมนี แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานภาพถ่าย แต่ในบันทึกระบุไว้ว่า บุคคลสำคัญในรัฐบาลนาซีเยอรมนีเข้าร่วมกันหมดยกเว้นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฝรั่งเศสก็มีรัฐมนตรีกลาโหม นักการทูตชั้นผู้ใหญ่ งานฉลองที่จัดที่ฟิลิปปินส์ก็ปรากฏภาพถ่ายในงานออกมา ในอิตาลีงานฉลองย้ายไปจัดที่โรงแรมเพราะสถานทูตทรุดโทรมเกิน ส่วนที่ญี่ปุ่นนอกจากจะมีการจัดงานฉลองแล้ว ก็มีการติดต่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ ให้เสนอข่าวการฉลองวันชาติและสนธิสัญญาเท่าเทียม เป็นการประกาศต่อประเทศอื่นว่า ไทยได้ปลดเปลื้องเป็นอิสระจากสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค และเป็นชาติเอกราชโดยสมบูรณ์แล้ว ทัดเทียมกับอารยประเทศแล้ว

ทำไมความหมายและนัยการฉลองวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายนจึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของการรวมฝ่ายเจ้าเข้ามาอยู่ในเรื่องเล่า (narrative) การเปลี่ยนผ่านสยามไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญและความเป็นสมัยใหม่

อาจารย์บางท่านเสนอว่า เคยมีการประนีประนอมเชิงสัญลักษณ์ระหว่างคณะราษฎรและระบอบเก่าก่อนหน้านี้ คือการเลือกวันฉลองวันรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ไม่ใช่วันที่ 24 มิถุนายน

ต่อมาในทางปฏิบัติ มีการแตกหักกันไปครั้งหนึ่งในกรณีการปราบขบวนการปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติในปี 2476 และคนที่ปราบขบวนการปฏิปักษ์การปฏิวัติก็กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีในภายหลัง การแสดงความประนีประนอมเชิงสัญลักษณ์ก็อาจจะอ่อนลง ประกอบกับตอนนั้นขบวนการปฏิปักษ์ก็เริ่มอ่อนกำลังลง ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องประนีประนอมเชิงสัญลักษณ์มากขนาดนั้น

ไทยบรรลุการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเสมอภาคได้ลุล่วงและยกสถานภาพให้ทัดเทียมกับอารยประเทศได้ ในทางกฎหมายเป็นเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติ สถานภาพของไทยได้รับการยอมรับจริงไหม

มีทั้งชาติที่ยอมรับและไม่ยอมรับ ไทยมีข้อพิพาทเขตแดนกับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ในการเจรจาปรับปรุงเส้นเขตแดน อังกฤษยอมเจรจา แต่ฝรั่งเศสไม่ยอม ไทยที่ในตอนนั้นมองว่าตนยกระดับสถานภาพแล้วก็รู้สึกว่าฝรั่งเศสไม่ได้ปฏิบัติต่อไทยอย่างเท่าเทียม

อาจารย์เสนอว่ากรณี ‘ไทยรบชนะฝรั่งเศส’ ในสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสปี 2483 ก็สะท้อนการแสวงหาสถานภาพทัดเทียมในฐานะชาติเอกราชของไทย

บริบทในช่วงเวลานั้นคือ ฝรั่งเศสเริ่มเพลี่ยงพล้ำในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนาซีเยอรมนีบุกจนเกือบประชิดปารีส ญี่ปุ่นก็บุกอินโดจีนฝรั่งเศสไปบางส่วนแล้ว ส่วนไทยก็มีความวิตกกังวลจากความคลุมเครือด้านเขตแดนบริเวณชายแดนที่เป็นมรดกจากยุคล่าอาณานิคม โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำโขงที่มีเกาะแก่งเยอะ คาราคาซังมานาน เพราะอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนที่ไม่คลุมเครือส่งผลต่อการใช้อำนาจปกครองเหนือเขตแดน ซึ่งเป็นความอับอายของชาติอธิปไตยที่เท่าเทียม รัฐบาลจอมพล ป. ไม่ได้ตัดสินใจฉวยโอกาสทำสงครามยึดดินแดนคืนแต่แรก เพราะไม่ได้อยากรบ แต่ให้มีการใช้การทูตการเจรจาเพื่อขอปรับปรุงเขตแดนบางส่วน จอมพล ป. ก็เคยบอกกับนักข่าวว่า “เรื่องการขอดินแดนที่เราขอไปสามข้อ ถ้าพูดไปแล้วตามเรื่องอาจจะไม่ได้ แต่ที่ขอไปนี้ไม่ใช่เป็นการขอดินแดนคืน คือเป็นการแสดงว่าประเทศไทยเรานั้นยกฐานะของตัวเราขึ้นแล้ว” แต่เจรจาไปมาหลายครั้งฝรั่งเศสก็ไม่ยอมคืนดินแดนให้ กลายเป็นปัญหา จนสถานการณ์คับขันบีบให้ต้องรบ แต่ก็เป็นเพียงการรบเพื่อเอาดินแดนที่ไทยเคยเสียไปให้แก่อินโดจีนเท่านั้น ไม่ได้จะเข้าร่วมสงครามโลกกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงวัฒนธรรมให้มีความศิวิไลซ์ด้วย มีการปรับปรุงการแต่งกาย วิถีชีวิต อาหารการกิน ถึงขนาดว่าช่วงที่กำลังมีปัญหากับฝรั่งเศส จอมพล ป. ก็บอกกับนักข่าวว่า บางคนดูแล้วก็น่าหัวร่อ เพราะยังไม่แต่งกายตามตะวันตกนิยม ยังกินหมาก คนต่างประเทศอย่างคนฝรั่งเศสมาเห็นก็จะว่าได้ว่า หน้าอย่างนี้จะมาขอดินแดนคืน ดินแดนอยู่กับฝรั่งเศสยังจะดีเสียกว่า

คนทั่วไปมักมองว่านี่เป็นเพียงการทำให้ประเทศศิวิไลซ์เท่านั้น แต่ศิวิไลซ์แล้วยังไงต่อ ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความศิวิไลซ์ก็เกี่ยวพันกับความต้องการเป็นที่ยอมรับโดยโลกตะวันตกด้วย

สุดท้ายไทยชนะสงครามอย่างที่ผมบอก ได้ดินแดนคืนมาคือ พระตะบอง จำปาศักดิ์ ลานช้าง พิบูลสงคราม 

ก็ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การทูตที่ว่า ไทยเคยรบกับฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส

เสียไม่เสียไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ คือจอมพล ป. บอกว่า ไทยก็รบชนะฝรั่งได้ นี่เป็นสิ่งที่ระบอบเก่าก็ทำไม่ได้คือระบอบใหม่สามารถชนะฝรั่งเศสในสงครามได้

นี่คือเครดิตที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลคณะราษฎรในสมัยนั้น พูดคุยกันอย่างยิ่งใหญ่ทุกหย่อมหญ้า หลักฐานที่สำคัญคืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ลองคิดดูนะว่าถ้าคณะราษฎรจะไม่แตกหักกันเองในภายหลัง เครดิตนี้อาจจะยังอยู่ต่อไปก็ได้

แต่ในแนวเล่าการต่างประเทศไทย มักจะมีแนวเล่าว่า การดำเนินการทูตที่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นนโยบายไผ่ลู่ลมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ช่วยให้ไทยรักษาอธิปไตยและเอกราชได้กลางการขยายอำนาจของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมได้ ซึ่งการต่างประเทศสมัยคณะราษฎรก็ยึดหลักการรักษาเอกราชเช่นกัน เราควรมองว่าเป็นความแตกหักหรือความต่อเนื่องกันแน่

ส่วนตัวมองว่าการมองการต่างประเทศไทยผ่านกรอบไผ่ลู่ลมอธิบายปรากฏการณ์การรักษาเอกราชได้ไม่ทรงพลังเท่าไหร่ในทางวรรณกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ผมอยากเสนอให้มองผ่านวิธีคิดแบบทฤษฎีสำนักอังกฤษ (English School) ที่มองว่าระบบระหว่างประเทศคือสังคมที่มีชุดคุณค่าบางอย่างกำกับอยู่ ซึ่งจะปรับตัวหรือไม่ปรับตัวเข้ากับชุดคุณค่านั้นก็ได้ แต่หากไม่ปรับตามก็อาจจะมีผลกระทบอะไรบางอย่างตามมา ในช่วงศตวรรษที่ 20 ชุดคุณค่าแบบตะวันตกคือชุดคุณค่าที่ประเทศนอกยุโรปถวิลหาจะรับ ถ้ามองในแง่การปรับตัวเพื่อแสวงหาการยอมรับ ผมถือว่ามันเป็นความสืบเนื่องในทางการต่างประเทศ เพราะตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 สยามก็มีโจทย์ว่า จะทำอย่างไรสยามจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernize) ได้ภายหลังจากที่ชาติตะวันตกขยายอำนาจจักรวรรดินิยมมาในเอเชีย ในแง่หนึ่งคือ สยามพยายามปรับชุดคุณค่าบางอย่างให้สอดรับกับโลกตะวันตก ตามคำกล่าวของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลก็คือ “หลังจากนั้น สยามไม่สามารถดำรงอยู่โดยไม่อิงกับวิธีคิดแบบตะวันตกได้เลย” การปรับปรุงวัฒนธรรมขนานใหญ่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 จนกระทั่งสมัยจอมพล ป. ที่เอะอะอะไรก็ต้องศิวิไลซ์ไว้ก่อน

คำถามคือ ถ้ามองแค่การอยู่รอดของประเทศชาติจากอำนาจจักรวรรดินิยมอย่างเดียว จะปรับเปลี่ยนทำไมทั้งโครงสร้างวัฒนธรรม ปรับเฉพาะโครงสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งสู้หรือปรับแค่โครงสร้างระบบราชการก็ได้ แต่นี่เปลี่ยนไปถึงวิธีคิด วิธีการรับประทานอาหาร วิธีการแต่งกาย จากใช้มือทานเปลี่ยนไปใช้ช้อนส้อม จากเคี้ยวหมากก็ให้เลิก แสดงว่ามี mentality บางอย่างที่ต้องการจะปรับวัฒนธรรมตามโลกตะวันตก ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ส่งผ่านมาจนถึงสมัยจอมพล ป.

แต่ถ้ามองในแง่การช่วงชิงความชอบธรรม แน่นอนว่าเป็นความแตกหัก ระบอบใหม่จะบอกว่า ระบอบใหม่ประสบความสำเร็จทางการต่างประเทศที่ระบอบเก่าทำไม่ได้ รัฐบาลจอมพล ป. อ้างแบบนั้น ในขณะที่ฝ่ายระบอบเก่าจะมองว่า การทูตที่ระบอบเก่าดำเนินมาก็ทำให้ผ่านพ้นจากการถูกยึดครองมาได้

ที่แน่ๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นการต่างประเทศในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยุคคณะราษฎร ไทยก็รอด แต่ถ้ามองแค่ในช่วงเวลาสมัยรัฐบาลจอมพล ป. คือรอดจากต่างชาติและชนะสงครามที่รบกับชาติมหาอำนาจด้วย

นอกจากสถาปนาการฉลองวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายนและกรณีสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส มีการดำเนินแนวนโยบายอื่นๆ อีกไหมที่สะท้อนความวิตกกังวลเชิงสถานะและการยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลคณะราษฎรในการเมืองระหว่างประเทศ

จริงๆ มีค่อนข้างเยอะ ยิ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. มีเยอะจนไล่แทบไม่หมด

อย่างในช่วงที่ญี่ปุ่นบุกไทย การตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะก็เกิดขึ้นบนเหตุจำเป็น เพื่อให้ไทยเป็นพันธมิตรสงครามที่เท่าเทียม จริงๆ หากไปดูเอกสาร จอมพล ป. ไม่ได้ต้องการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะแต่แรก พยายามรักษาความเป็นกลาง วิงวอนสันติภาพ เลี่ยงสงครามได้ก็เลี่ยง จนกระทั่งวันที่ญี่ปุ่นบุกมาประชิดเขตแดนไทยแล้ว เงื่อนไขสถานการณ์กดดันบีบคั้นให้ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้ไทยเซ็นสัญญาผ่านทาง ครั้งแรกที่รัฐบาลตัดสินใจคือในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ธันวาคม 2482 โดยยอมเซ็นสัญญาผ่านทาง มีอาจารย์ปรีดีกับนายทวี บุณยเกตุที่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม สองวันถัดมา จอมพล ป. ตัดสินใจว่าไทยจะต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่น

ประเด็นคือ หากแค่เซ็นสัญญาผ่านทาง แล้วสถานภาพและอธิปไตยของไทยจะเป็นอย่างไร ในความเป็นจริงของการเมืองโลก ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ากระดาษแผ่นเดียวจะรักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้ ขนาดฮิตเลอร์เซ็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับสตาลิน (Molotov-Ribbentrop Pact) สุดท้ายก็บุกสหภาพโซเวียต ถ้าเซ็นแค่สัญญาผ่านทาง ไม่ช้าก็เร็วก็จะกลายเป็นเหมือนดินแดนอื่นที่ญี่ปุ่นไปยึดครอง สมมติว่าเราไม่โทษใครในทางประวัติศาสตร์ การเข้าร่วมสงครามเพื่อรักษาอธิปไตยคือสิ่งที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขและความเป็นจริงที่บีบคั้น

มองในอีกแง่ ถ้ามองตามหลัก cost-benefit analysis การที่ไทยตัดสินใจประกาศสงครามกับประเทศมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรอาจดูไม่สมเหตุสมผล ไทยไม่มีความจำเป็นต้องทำสงคราม จริงๆ ญี่ปุ่นก็ไม่ต้องการให้ไทยประกาศสงครามเพราะจะทำให้ไทยตกเป็นคู่ขัดแย้งที่ชัดเจนของฝ่ายสัมพันธมิตร ถูกโจมตีได้ง่าย ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง เพราะหลังประกาศสงคราม สัมพันธมิตรก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดพระที่นั่งอนันตสมาคม ถามว่าทำไปทำไม คำตอบคือ ทำเพื่อให้รู้ว่าไทยเป็นชาติที่มีอธิปไตย ตัดสินใจเองได้

จริงๆ หลังเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ไม่ได้สู้ดีนัก ขัดแย้งกันเรื่องที่ว่าใครเหนือกว่าใคร ญี่ปุ่นอยากเผยแพร่วัฒนธรรมในไทย จอมพล ป. ก็สู้นะ จัดเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในโตเกียวบ้าง ซึ่งนี่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสภาวะสงครามที่มีแรงกดดันนะ แสดงว่ามันต้องสำคัญมาก

อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนว่าไทยต้องการเป็นอารยประเทศที่ได้รับการยอมมรับของนานาชาติคือ ไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพยายามปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการคุ้มครองเชลยศึก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าไทยเคยมีแนวนโยบายที่ให้ความสำคัญกับมนุษยธรรมมากขนาดนี้ กรณีจับเชลยศึกสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี นั่นน่ะคือเชลยที่ฝ่ายญี่ปุ่นจับ แต่เชลยศึกที่ไทยจับได้จะจับมาคุมขังที่ธรรมศาสตร์ สั่งอาหารจากโรงแรมราชธานีมาเลี้ยง ที่ดำเนินการเช่นนี้ รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพราะชาติศิวิไลซ์เขาทำแบบนี้กัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรตก ไทยกับญี่ปุ่นก็แข่งกันไล่จับนักบิน พอจับมาสอบสวนได้ ให้นักบินเลือกว่าจะตกเป็นเชลยฝ่ายไหน ปรากฏว่านักบินเลือกเป็นเชลยศึกไทยนะ หรือตอนที่ญี่ปุ่นบอกให้ไทยในฐานะพันธมิตรออกกฎหมายิงเป้าเชลยศึก ไทยก็ไม่ยอม บอกว่าเป็นเรื่องภายในของไทย ไทยมีแนวทางการดำเนินการอีกแบบ ญี่ปุ่นมีกฎหมายอย่างไรก็เป็นเรื่องของญี่ปุ่น ไม่เช่นนั้นเราจะเสียอำนาจอธิปไตย

นี่ยังไม่รวมการบังคับใช้กฎหมายกับหทารญี่ปุ่นอีก คำถามคือ ถ้าทหารญี่ปุ่นที่เดินทัพเข้ามาในไทย ทำผิดกฎหมายในเขตแดนไทย ตามหลักอธิปไตยต้องลงโทษด้วยกฎหมายไทย แต่ในสภาวะสงครามจะดำเนินการตรงนี้อย่างไร สุดท้าย กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า เพื่อรักษาสถานภาพของความเป็นรัฐอธิปไตยและเท่าเทียมกัน ให้ดำเนินการตามกระบวนการปกติ แต่ก่อนจะดำเนินการไปสู่ขั้นฟ้องร้อง ให้เจรจาก่อน หากประวิงไม่ได้ก็ค่อยให้ทำเรื่อง จากนั้นค่อยส่งเรื่องให้กรมประสานงานพันธมิตร ส่งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกคำสั่งมาว่าไม่ต้องฟ้อง คือเหมือนรู้ว่าในทางปฏิบัติลงโทษทหารญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ต้องดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อแสดงว่าไทยไม่ได้เป็นลูกไล่ญี่ปุ่น

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ตอนที่ประกาศสงครามต่ออังกฤษ รัฐบาลไทยตอบรัฐบาลอังกฤษไปว่า ไทยจะไม่ใช้อาวุธเคมีในสงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ทราบนะว่าที่ไม่ใช่เพราะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือไม่มีศักยภาพที่จะใช้ แต่ในเอกสารระบุแบบนี้

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา จะเห็นว่ามีแนวการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ปะทะกันสองแนวของบุคคลในคณะราษฎรคือ การดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นผ่านจอมพล ป. กับการดำเนินนโยบายสันติภาพผ่านปรีดี สภาวะเช่นนี้สำคัญต่อการสร้างความชอบธรรมต่อสถานะของคณะราษฎรในการต่างประเทศอย่างไรไหม

มีนัยสำคัญทั้งสองกรณี สำหรับจอมพล ป. คือการพยายามสร้างสถานภาพของไทยในการต่างประเทศ ผ่านการชูคอให้เท่ากับญี่ปุ่น ทำให้ต่างประเทศเห็นว่าไทยไม่ใช่ลูกไล่ญี่ปุ่น รวมถึงยกสถานะให้เท่าเทียมกับชาติอื่นด้วย

เช่นเดียวกัน การประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ก็เป็นความพยายามในการแสวงหาสถานภาพไม่ให้ไทยเป็นผู้แพ้ในสงคราม พยายามชี้ให้เห็นว่า ไทยรักสงบ แต่ถูกครอบงำโดยฝ่ายที่นิยมญี่ปุ่น เพื่อให้ไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติด้วย

ทั้งสองแนวนโยบายต่างแสวงหาสถานภาพเหมือนกัน แต่ต่างที่วิธีการและสารัตถะ

ในแนวเล่าประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักอธิบายว่า การพาไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะของจอมพล ป. คือความผิดพลาด และการที่ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้ได้มาจากนโยบายสันติภาพและรักษาดุลยภาพอำนาจของปรีดีนั้น มองข้ามหรือลดทอนความซับซ้อนอะไรบางอย่างลงไปไหม

หากมองนโยบายการต่างประเทศของจอมพล ป. จะเห็นว่ามีส่วนผสมผสานของ idealism และ realism อย่างลงตัวที่สุด คือ ‘มองโลกอย่างที่ควรจะเป็น’ และ ‘มองโลกอย่างที่เป็นอยู่’ สิ่งที่เป็นความ idealist ของจอมพล ป. คือ นอกจากจะต้องแสวงหาสถานะและความเท่าเทียมแล้ว ยังหวังไกลไปถึงว่า ไทยควรจะเป็นมหาอำนาจ อาจไม่ต้องถึงระดับเบอร์ต้นๆ แค่ลดหลั่นลงมาก็พอ เพราะจอมพล ป. เองก็เคยพูดกับนักข่าวว่า ในโลกนี้ มีแค่สองทางเลือกคือขี้ข้ากับมหาอำนาจ ถ้าไม่เป็นมหาอำนาจก็เป็นขี้ข้า

แต่ในความเป็นจริง จอมพล ป. ก็ pragmatic พอสมควร ไม่ใช่ว่าจอมพล ป. ไม่อยากวางตัวเป็นกลาง เอกสารหลายอย่างก็บ่งชี้มาทางนี้ว่า ในระยะแรก จอมพล ป. ไม่ต้องการเข้าร่วมสงคราม การไม่เข้าร่วมสงครามนั้นดีที่สุด แต่อย่างที่เล่าไปว่า เมื่อภัยเข้ามาประชิดแล้ว คำถามคือ คุณจะดำรงความเป็นกลางอย่างไร ไม่เถียงว่าความเป็นกลางในการเมืองระหว่างประเทศดีที่สุด แต่ภายใต้เงื่อนไขแรงกดดัน ต้องคำนึงด้วยว่า อะไรที่ทำได้จริงในความเป็นจริง

ส่วนกรณีอาจารย์ปรีดี ปัญหาของอาจารย์ปรีดีคือ มักจะพลาดเวลาตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ด้านการต่างประเทศ กรณีที่ชัดเจนสุดกรณีหนึ่งคือการจัดการหลังสงคราม

การประกาศสันติภาพไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา จากที่วิจัยเรื่องการจัดการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าไทยรอดจากการเป็นผู้แพ้ได้อย่างไร จริงๆ ข้อสรุปคือ เป็นเพราะโชค ไม่ใช่เพราะเสรีไทยหรือสหรัฐฯ

เรื่องเล่าชอบจบลงหลังประกาศสันติภาพ แต่ไทยบรรลุข้อตกลงจริงในวันที่ 1 มกราคม 2489 คำถามคือ ทำไมการประกาศว่า การเข้าร่วมสงครามของไทยเป็นโมฆะแล้วชาติอื่นยังไม่ยอมรับทันทีที่ประกาศ แต่กลับไปบรรลุสัญญาใน 4 เดือนให้หลัง นั่นหมายความว่า การประกาศวันที่ 16 สิงหาคมมีผลน้อยมากในทางการเมืองระหว่างประเทศ

หลังจากการประกาศ อังกฤษดีใจมาก เพราะการประกาศสงครามเป็นโมฆะหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สามารถใช้เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ไทยไม่ได้ตั้งใจต่อต้านฝ่ายรุกรานญี่ปุ่นจริงๆ เพราะประกาศโมฆะหลังจากเหตุการณ์สิ้นสุดลงแล้ว และใช้เป็นเหตุในการลงโทษไทย ผู้แทนเจรจาอังกฤษถึงขนาดบอกเลยว่า ถ้าทุกประเทศทำแบบไทย ในโลกนี้ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะสงครามแล้ว

การเจรจาหลังสงครามกับอังกฤษเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกเจรจาที่เมืองแคนดี ศรีลังกา อังกฤษยื่นสัญญา 21 ข้อ เช่น คว่ำบาตรการส่งออกข้าว ดีบุก ยุบกองทัพ ฯลฯ สรุปรวมๆ คือเป็นสัญญาลงโทษผู้แพ้สงคราม อาจารย์ปรีดีตัดสินใจให้ไทยเซ็นรับสัญญาไปก่อน เพราะเกรงว่าจะหนักข้อกว่าเดิมหากไม่รับ แล้วไปค่อยขอแก้ไขสัญญาทีหลัง รัฐสภาก็เห็นชอบให้ลงนามรับสัญญา แต่สุดท้ายรอดมาได้ เพราะสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มองไทยเป็นศัตรูเข้ามาขอเป็นภาคีเจรจาและให้เปลี่ยนสัญญาเหลือ 4-5 ข้อ นี่คือรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์

การเจรจาครั้งสุดท้ายที่สิงคโปร์บังเอิญยิ่งกว่านี้อีก ตอนที่ผู้แทนคณะเจรจาไทยแจ้งคณะผู้แทนเจรจาอังกฤษว่าฝ่ายไทยจะยอมเซ็นสัญญาแล้ว หลังจากที่อาจารย์ปรีดีกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นยื้อกันมานาน วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าฝ่ายสหรัฐฯ ส่งโทรเลขแจ้งคณะผู้แทนไทยว่า จะขอเข้าไปเจรจากับอังกฤษก่อน อย่าเพิ่งเซ็น แต่โทรเลขไปถึงคณะผู้แทนช้าไป 2 วัน พอวันที่ต้องเซ็นสัญญา ปรากฏว่าฝ่ายอังกฤษมีปัญหา ต้องส่งเอกสารกลับไปที่ลอนดอนเพื่อตรวจสอบอีกรอบ สามวันถัดมา อังกฤษแจ้งว่าจะมีร่างสัญญาใหม่ให้ผู้แทนฝ่ายไทยเอากลับไปให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง ไทยก็เลยรอดมาได้ ถามว่าแบบนี้ไม่ใช่ความบังเอิญหรือ

ในมุมหนึ่ง อุดมการณ์แบบชาตินิยมที่เหมือนจะเอนไปทางฟาสซิสต์ของจอมพล ป. เป็นปัญหาเหมือนกัน

ใช่ แต่ในมุมมองของจอมพล ป. นี่คือวิธีการสร้างชาติ สร้างความทัดเทียม เสมอภาค ความศิวิไลซ์ได้เร็วที่สุด

คนมักจะมองว่า จอมพล ป. เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เพราะฝักใฝ่ญี่ปุ่นตั้งแต่แรกแล้ว ความเป็นจริงคือ จอมพล ป. รับวิธีคิดมาก็จริง แต่ในทางการต่างประเทศก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาชาติไปเสี่ยงในสงครามแต่แรก ถ้าอยากจะเข้ากับฝ่ายอักษะจริงๆ ต้องฉวยโอกาสเข้าร่วมไปตั้งแต่แรกที่ฝรั่งเศสเริ่มเพลี้ยงพล้ำแล้ว แต่รัฐบาลจอมพล ป. ไม่ได้ฉวยโอกาสทันที รัฐบาลไทยพยายามรักษาความเป็นกลางจนสุดแล้ว จนญี่ปุ่นบุกมาประชิดเจรจาขอผ่านจึงตัดสินใจยอมเข้าร่วม ไม่ใช่แค่นั้นนะ โทรเลขที่ญี่ปุ่นส่งไปทั่วโลกช่วง 1 ปีก่อนจะบุกก็ระบุว่า ไม่รู้ว่าไทยจะเอาอย่างไร รักษาความเป็นกลางอย่างเดียว จะเจรจาอย่างไรก็เป็นกลาง หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นก็วิพากษ์ไทยว่าโปรตะวันตก

หากมองจากการเมืองภายใน การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2489 และการก้าวขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี 2500 นำไปสู่การสิ้นสุดลงของคณะราษฎร แต่ในมิติการต่างประเทศ อยากทราบว่าสภาวะที่คณะราษฎรมีแนวนโยบายการต่างประเทศที่ไม่ตรงกันส่งผลต่อการหมดเชื้อไฟของคณะราษฎรด้วยไหม

เริ่มแตกหักจากการที่ญี่ปุ่นบุกนี่แหละ การบุกของญี่ปุ่นทำลายจุดร่วมบางอย่างของคณะราษฎรจนแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน

จริงๆ อาจารย์สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจเสนอว่า ขบวนการเสรีไทยจุดประสงค์หลักอยู่ที่การต้านจอมพล ป. ไม่ใช่ต้านญี่ปุ่น ในแง่หนึ่งอาจารย์ปรีดีก่อตั้งเสรีไทยขึ้นมา เสรีไทยก็มีหลายสาย ก็ไม่วายที่จะต้องร่วมกับฝ่ายอำนาจเก่า อย่างการเรียกคนอย่างหม่อมราชวงศ์เสนีย์กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือมันมีสาเหตุนะ สาเหตุหลักๆ คือ ม.ร.ว.เสนีย์คือเสรีไทยที่สู้ออกหน้าชัดเจน ทั่วโลกเห็น ส่วนอาจารย์ปรีดีรู้กันอย่างลับๆ เพราะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แต่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 10 วันก็มีปัญหา ทั้งวิธีคิด ทั้งแนวทาง หลักๆ ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ การจัดการหลังสงครามอย่างที่เล่าไปแล้ว อาจารย์ปรีดีต้องการให้รีบเซ็นสัญญา ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์บอกว่าไม่ให้เซ็น ถ้าเซ็นไป ชื่อของเขาจะถูกตราในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนขายชาติ ในจังหวะที่ขัดกัน ก็มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดทางให้ฝ่ายอำนาจเก่ากลับมา

มีอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญมากเหมือนกันคือ พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม ม.ร.ว.เสนีย์เสนอว่าให้ใครก็ตามที่เป็นอาชญากรสงครามต้องรับผิด เพราะมองว่าต้องทำให้ต่างชาติรู้สึกว่า รัฐบาลไทยเราต้องการเข้าร่วมสหประชาชาติจริง รังเกียจพวกฟาสซิสต์จริง และการผ่านกฎหมายก็คือหนทาง แต่สภาส่วนมากไม่เห็นด้วย เพราะในไทยก่อนหน้านี้ไม่มีหลักการเรื่องอาชญากรสงคราม ไม่สามารถเขียนกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลังได้ ในเดือนตุลาคม 2489 ม.ร.ว.เสนีย์กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ถ้าเป็นแบบนี้ น่าอับอาย การแตกหักเช่นนี้สุดท้ายก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การยุบสภา แต่ผมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่ามันมีส่วนทำให้ฉันทมติหรือจุดร่วมของคณะราษฎรแตกหักออกจากกันจริงไหม ม.ร.ว.เสนีย์บอกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้คือคนที่นิยมหลวงพิบูลสงคราม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะตีความไปในทางนั้นได้หรือไม่

ความพยายามของคณะราษฎรในการประกอบสร้างตัวตนในฐานะ ‘รัฐบาลที่ชอบธรรม’ ในสายตาสังคมระหว่างประเทศได้ผลมากน้อยแค่ไหน เราสามารถประเมินความพยายามของคณะราษฎรอย่างตรงไปตรงมาได้ไหม

พูดอย่างเป็นธรรมที่สุดคือ ระบอบเก่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องพิสูจน์และช่วงชิงความชอบธรรมกับใคร แต่พอมีการสถาปนาระบอบใหม่ ระบอบใหม่ต่างหากที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความชอบธรรมเหนือระบอบเก่า ต้องพยายามแสดงให้เห็นว่าระบอบใหม่ดีกว่า ชอบธรรมกว่า

แต่ถ้าถามว่าประเมินความสำเร็จอย่างตรงไปตรงมาได้ไหม ก็ประเมินได้ยาก

การต่างประเทศยุคคณะราษฎรสะท้อนอะไรเกี่ยวกับการต่างประเทศไทยในภาพรวม

ในภาพรวม ไม่แน่ใจว่ามันบอกอะไรมากไปกว่าว่า เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการต่างประเทศ ต่อให้ศึกษาประวัติศาสตร์ดีแค่ไหน ลงไปดูเอกสารเยอะขนาดไหน คิดออกมาได้เป็นทฤษฎีขนาดไหน สุดท้ายก็ไม่มีทางรู้ว่าเหรียญจะออกด้านไหน เราไม่มีทางรู้เลย นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอด

ฉะนั้น ส่วนผสมที่ดีที่สุดในการดำเนินการต่างประเทศคือ การผสาน idealism และ realism เราต้องคิดว่าเราควรทำอะไร และคิดว่าเราควรทำอะไรภายใต้เงื่อนไขความเป็นจริงที่เป็นอยู่ นักรัฐศาสตร์หรือนักประวัติศาสตร์จะไม่ชอบมากๆ เพราะไม่สามารถทำนายอนาคตได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่สามารถเตรียมการอะไรล่วงหน้าได้เลย นั่นหมายความว่าต้องเดินอย่างระวังที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และไม่ใช่ทุกครั้งที่โชคจะช่วย


[1] (หจช ศธ ๐๗๐๑.๒๓.๑/๖ นัดประชุมกรรมการตัดสินขบวนแห่ (๒๔๘๒-๒๔๘๓), หน้า 324

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save