fbpx
อำมาตย์ตุลาการอำพราง

อำมาตย์ตุลาการอำพราง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กว่าจะนั่งบัลลังก์ศาล

เรื่องเล่าประการหนึ่งสำหรับนักเรียนกฎหมายในสังคมไทยที่มักได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งก็คือ การพูดถึงความสำเร็จของปัจเจกบุคคลที่เป็นคน “ธรรมดาๆ” ในการสอบเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา (ชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการจะเรียกว่า ”ผู้ช่วยผู้พิพากษา” จนกว่าจะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่เพื่อความกระชับต่อไปจะใช้คำว่า “ผู้พิพากษา” แทน) เช่น จากสาวโรงงานพลิกชีวิตสู่ผู้พิพากษา, จากเด็กม้งสู่บัลลังก์ท่านเปา, จากเด็กซ่อมรถเป็นผู้พิพากษา เป็นต้น

เรื่องราวในลักษณะนี้มักจะสะท้อนวิถีชีวิตของสามัญชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนชายขอบ” ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย มีเส้นสาย หรือเป็นชนชั้นสูง แต่สามารถไต่เต้าเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงส่งในกระบวนการยุติธรรมได้ คำอธิบายถึงความสำเร็จดังกล่าวก็จะอ้างอิงว่าเป็นผลมาจากความพยายามส่วนตัว หลายคนอาจต้องใช้เวลายาวนานพอสมควรแต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อจึงทำให้ในที่สุดประสบผลในบั้นปลายได้

และไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่จะพบว่า เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ก็มักลงท้ายด้วยคติสอนใจตามแนวทางให้กำลังใจ เช่น “ถ้าตั้งใจว่าทำได้ แม้หินหนักก็ยกไหว ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ แม้ทรายเท่ากำมือก็ยกขึ้นยาก”

ความแพร่หลายของเรื่องเล่าในลักษณะเช่นนี้พบเห็นได้โดยไม่ยากลำบาก เฉพาะอย่างยิ่งในเฟซบุ๊กหรือตามข่าวสารจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต บุคคลที่ถูกนำมาเสนอและกล่าวถึงมักจะเป็นบุคคลจริงซึ่งสามารถยืนยันตัวตนได้ ตัวอย่างเหล่านี้ย่อมเป็นขวัญกำลังใจอย่างสำคัญให้กับนักเรียนกฎหมาย “สามัญชน” จำนวนมากที่ปรารถนาจะเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษา

ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับการสอบเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา (รวมทั้งอัยการ) ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นเรื่องของความสามารถของแต่ละคนเป็นสำคัญ หากบุคคลใดมีความสามารถก็จะผ่านการทดสอบไปได้ และก็ไม่สู้จะปรากฏข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตหรือการใช้เส้นสายในการสอบมากเท่าใด เฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับการเข้าทำงานในหน่วยงานราชการประเภทอื่น ดังนั้น หากบุคคลใดมีความสามารถและความเพียรเฉกเช่นพระมหาชนก ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใด เพศ หรือฐานะแบบใดก็ตาม

แต่ความเข้าใจในลักษณะเช่นนี้เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน สามัญชนมีโอกาสมากน้อยเพียงใด การสอบเข้าเป็นผู้พิพากษาเป็นเรื่องของการแข่งขันกันด้วยความสามารถล้วนๆ จริงหรือไม่ และกระบวนการสอบนี้มีความหมายทางการเมืองเช่นใด

ความบากบั่นในการ “ลอดรูเข็ม”

ตัวชี้วัดประการหนึ่งที่แสดงถึงความสำเร็จของคณะนิติศาสตร์ (หรือสำนักวิชา) ของมหาวิทยาลัยในไทยก็คือ มีนักเรียนกฎหมายที่จบจากสถาบันของตนสามารถสอบผ่านและเป็นผู้พิพากษาได้จำนวนมากน้อยเท่าใดในแต่ละปี และสอบได้คะแนนในลำดับใด หากสถาบันแห่งใดมีศิษย์ที่สอบได้ในลำดับที่ดีและเป็นจำนวนมากก็จะกลายเป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณภาพของสถาบันตน

การเข้าดำรงตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในแวดวงนักกฎหมายไทยที่ให้ความสำคัญกับลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในการดำรงตำแหน่งตุลาการ ขณะที่ในด้านของตัวผู้เรียนเอง การสอบผ่านเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวจะกลายเป็นกระบวนการในการเปลี่ยนผ่านจากสามัญชนไปสู่อีกสถานะหนึ่งที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง จากนายสมชาย นายศักดิ์ชาย ก็จะกลายเป็น “ท่านสมชาย” “ท่านศักดิ์ชาย” เพียงชั่วข้ามคืน

ไม่ใช่แรงดึงดูดเพียงสถานะทางสังคมที่แตกต่างออกไปเท่านั้น ผลประโยชน์อันเป็นรูปธรรมก็มีความแตกต่างไปจากนักกฎหมายในตำแหน่งอื่นๆ แม้จะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกัน ผลตอบแทนของการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาได้เพียง 4-5 ปีอาจสูงเท่ากับข้าราชการอื่นๆ ที่ต้องทำงานจนถึงวัยเกษียณ ในแง่นี้จึงอาจไม่แปลกใจที่จะพบว่า ในแต่ละครั้งที่มีการเปิดสอบตำแหน่งผู้พิพากษา จะมีผู้คนจำนวนมากแห่แหนกันมาเข้าสอบ แม้จะมีการงานอยู่แล้วก็ตาม

แต่โอกาสในการสอบผ่านจะมีอยู่มากน้อยเพียงใด เมื่อพิจารณาจากสถิติย้อนหลังในช่วงเวลาราวหนึ่งทศวรรษก็จะพบว่ามีความเป็นไปได้ในระดับที่ต่ำมากสำหรับนักเรียนกฎหมายที่สอบผ่านไปสู่ตำแหน่งดังกล่าว

ในเบื้องต้น สำหรับนักเรียนกฎหมายที่จบนิติศาสตร์บัณฑิตที่มีความต้องการจะสอบตำแหน่งผู้พิพากษาจำเป็นต้องสอบผ่านหลักสูตรของเนติบัณฑิตยสภาก่อน จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการสอบในตำแหน่งผู้พิพากษา ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของนักเรียนกฎหมายแต่ละคนจึงต้องเริ่มจากสัดส่วนของการสอบผ่านหลักสูตรเนติบัณฑิตก่อนจะมาพิจารณาในชั้นของการสอบตำแหน่งผู้พิพากษา

จากข้อมูลที่สามารถรวบรวมได้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2546 ถึง 2555 จำนวนผู้เข้าสอบหลักสูตรเนติบัณฑิตและสามารถสอบผ่าน เป็นไปตามตารางดังนี้

สถิติการสอบเนติบัณฑิต

หมายเหตุ: สำหรับการสอบเนติบัณฑิตแบ่งเป็นสองภาคโดยวิชาที่เรียนจะไม่เหมือนกัน สำหรับผู้จะสำเร็จการศึกษาได้ต้องสอบผ่านทั้งสองภาค

หากคำนวณจากสัดส่วนของผู้เข้าสอบและผู้ที่สอบผ่านในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปี จะพบว่าจำนวนผู้สอบผ่านในแต่ละปีโดยเฉลี่ยคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่สูงมาก และบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบในตำแหน่งผู้พิพากษาต่อไป

และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของผู้เข้าสอบและผู้ที่สอบผ่านในตำแหน่งผู้พิพากษาในช่วงระยะเวลาเดียวกันก็จะพบว่ามีสัดส่วนผู้สอบผ่านโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

สถิติการสอบผู้ช่วยพิพากษา

หากพิจารณาสัดส่วนของนักเรียนกฎหมายโดยนับตั้งแต่เริ่มสมัครสอบเนติบัณฑิตจนกระทั่งฟันฝ่าสอบผ่านได้เป็นผู้พิพากษานั้นอยู่ในระดับที่น้อยมาก กล่าวเฉพาะในรอบ 10 ปี ที่ยกตัวอย่างมาก็จะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.06 เปอร์เซ็นต์ (2 เปอร์เซ็นต์จาก 3 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรเนติบัณฑิต) ทั้งนี้ ควรกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการสอบเข้าในตำแหน่งอัยการก็มีสถิติที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

จากประสบการณ์ของการสอนหนังสือทางด้านนิติศาสตร์ที่ผ่านมา เข้าใจว่านักเรียนกฎหมายอาจไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ในระดับที่ต่ำมากเช่นนี้ เนื่องจากเมื่อคณะนิติศาสตร์แต่ละแห่งโฆษณาสรรพคุณของตนเอง ก็หยิบยกเอาความสำเร็จของ “ศิษย์เก่า” เพียงบางคนขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักเรียนรุ่นหลังต่างก็มีความรู้สึกว่าตนเองก็ทำได้ตามมายาคติว่า “ขอแต่เพียงให้ตั้งใจ แม้หินหนักเท่าใดก็จะสามารถยกได้”

มีนักเรียนกฎหมายจำนวนไม่น้อยซึ่งทางบ้านพอจะมีฐานะและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยภายหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและเนติบัณฑิตแล้วก็จะไม่ประกอบอาชีพอื่นใด นอกจากการอ่านหนังสือเพื่อสอบเป็น “ท่าน” แต่อย่างเดียว ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้แพร่หลายอยู่จำนวนไม่น้อย บางส่วนพ่อแม่ถึงกับขอร้องให้ลูกออกมาอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวด้วยความหวังว่าจะช่วยเชิดหน้าตาชูตาของวงศ์ตระกูลในอนาคตได้

แนวทางการสอบแข่งขันในลักษณะเช่นนี้อาจใกล้เคียงกับการสอบตำแหน่งจอหงวนในสังคมจีนยุคโบราณ ซึ่งผู้ชายของตระกูลจะได้รับโอกาสให้ท่องตำราเพื่อสอบเป็นจอหงวนโดยไม่ต้องทำงาน พ่อแม่หรือแม้แต่เมียจะเป็นผู้แบกรับภาระการทำมาหากินให้แทน

ประเด็นสำคัญก็คือว่าโอกาสของการสอบจอหงวนทั้งของจีน หรือการสอบเพื่อเป็น “ท่าน” ในสังคมไทยไม่ได้มีอยู่กว้างขวางแต่อย่างใด ผู้คนที่ผิดหวังจำนวน 99.94 เปอร์เซ็นต์ต่างหากคือคนส่วนใหญ่ของนักเรียนกฎหมาย ข้อความดังกล่าวคือความจริงที่ควรต้องตระหนักทั้งในส่วนของครอบครัว และตัวผู้เรียนเอง

สำหรับสถาบันการศึกษาทางด้านกฎหมายก็ควรชี้แจงข้อมูลให้กับผู้เรียนอย่างรอบด้าน มากกว่าการโหมประโคมซึ่งความสำเร็จที่เป็นส่วนน้อยมากๆ จนกลายเป็นความผิดพลาดในการรับรู้ของผู้เรียน

การพรางตัวของชนชั้นนำตุลาการ

นอกจากความยากลำบากในการลอดรูเข็มของบรรดานักเรียนกฎหมายแล้ว ดูราวกับว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากกับการสอบเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา (รวมทั้งตำแหน่งอัยการ) ในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษหลัง คุณสมบัติสำหรับผู้ต้องการสอบได้ถูกจำแนกเป็นแบบสนามใหญ่ (สำหรับคนที่จบระดับปริญญาตรี) สนามเล็ก (สำหรับที่จบปริญญาโทจากสถาบันภายในประเทศ) และสนามจิ๋ว (สำหรับคนที่จบปริญญาโทจากต่างประเทศ 2 ใบ) แน่นอนว่าการจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มเช่นนี้ย่อมเป็นไปตามคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลซึ่งเริ่มเป็นที่รับรู้มากขึ้นก็คือ ผลการสอบสำหรับสนามใหญ่จะมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น อันหมายถึงว่าจำนวนผู้สอบผ่านจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด (รวมถึงสนามเล็กด้วย) ขณะที่การสอบสนามจิ๋วมีโอกาสสูงขึ้นอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ผลการสอบในปี พ.ศ. 2560 ในส่วนของสนามใหญ่มีผู้สมัครสอบ 7,014 คน มีผู้สอบผ่าน 33 คน ส่วนสนามจิ๋วมีผู้สมัคร 348 คน สอบผ่าน 116 คน สัดส่วนการสอบได้ของสนามใหญ่อยู่ที่ 0.47 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สนามจิ๋วอยู่ที่ 33.33 เปอร์เซ็นต์

ผลการสอบในลักษณะนี้ย่อมสามารถทำให้เกิดคำถามได้หลากหลายแง่มุม เช่น เป้าหมายสำคัญของการจำแนกการสอบเป็นหลายสนามเช่นนี้อยู่ที่อะไร ลำพังการศึกษานิติศาสตร์จากภายในประเทศและเนติบัณฑิตยังถือว่าไม่เพียงพอใช่หรือไม่ หรือว่าคุณภาพการศึกษาทางกฎหมายในประเทศนี้มันย่ำแย่กันอย่างถ้วนหน้า จึงจำเป็นต้องรับบุคคลที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ หรือว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้มีคดีกับชาวต่างชาติมากจึงต้องอาศัยความรู้ภาษาอังกฤษ เป็นต้น

(สำหรับคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาโททางกฎหมายจากต่างประเทศด้วยเวลาประมาณ 9 เดือนต่อหนึ่งปริญญาก็เป็นที่ถกเถียงกันได้ว่าจะมีคุณภาพมากเพียงใด ดังเป็นที่รับรู้กันว่า หากใครไปศึกษาระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศแล้ว ก็ล้วนแต่อยู่ในข่าย “จ่ายครบ จบแน่” แทบทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ชนิดที่ต้องผ่านการขบคิดและทำงานวิชาการอย่างเข้มข้น ส่วนใหญ่เพียงแต่เขียน dissertation ความยาว 30 ถึง 50 หน้าเท่านั้น ผนวกกับการมองเห็นรายได้ของ “อุตสาหกรรมการศึกษา” ของหลายประเทศที่พากันรับนักศึกษาต่างชาติเข้าไปเป็นจำนวนมาก แต่ประเด็นดังกล่าวมิใช่หัวใจสำคัญที่จะทำอภิปรายในที่นี้)

แม้จะมีคำตอบอยู่อย่างหลากหลาย แต่ในทรรศนะของผู้เขียนแล้ว คำตอบสำคัญของการจำแนกสนามสอบและรวมถึงผลการสอบที่ชวนให้ขนหัวลุกสำหรับสนามใหญ่ก็คือ การสร้างระบบในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการที่จำกัดไว้ในแวดวงของชนชั้นนำของฝ่ายตุลาการมากขึ้น

เนื่องจากการส่งลูกหลานไปเรียนจบการศึกษากฎหมายระดับปริญญาโทจากต่างประเทศนั้น เป็นที่รับรู้ว่าต้องมีการลงทุนเป็นเงินจำนวนไม่ใช่น้อย ซึ่งอยู่ในระดับหลักล้านขึ้นไป การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับฝ่ายตุลาการอย่างมหาศาลในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ย่อมส่งผลให้คนกลุ่มนี้สามารถสะสมทุน กระทั่งสามารถส่งลูกหลานของตนเองไปศึกษาต่างประเทศได้อย่างไม่ลำบาก

แน่นอนว่าโอกาสเช่นนี้ย่อมเปิดให้กับคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีความร่ำรวยด้วยเช่นกัน แต่ในด้านหนึ่ง การสะสมประสบการณ์และความรู้ในแวดวงตุลาการมาก่อนย่อมเป็นประโยชน์กว่าบรรดาเศรษฐีนอกแวดวงตุลาการอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าลูกหลานของฝ่ายตุลาการในช่วงหลังมักจะดำเนินรอยตามมาอย่างใกล้ชิด (อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงรายชื่อและเครือญาติของผู้สอบผ่านในสนามจิ๋วให้ชัดเจน จึงจะสามารถยืนยันความเห็นนี้ได้มากขึ้น)

ทั้งนี้ ในส่วนของการสอบเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาสนามใหญ่ก็ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด ยังคงต้องมีการเปิดสอบในลักษณะนี้ต่อไป เพราะจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ดูราวกับว่ามีความเป็นธรรม เสมอภาค และเปิดกว้างให้กับทุกคนในสังคมได้ใช้ความสามารถในการเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าว ปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าวย่อมดีกว่าการประกาศว่าตำแหน่งนี้เป็นของชนชั้นนำในแวดวงตุลาการเพียงอย่างเดียว

เพียงแต่ต้องยอมให้สาวโรงงาน หนุ่มชาวเขา เด็กซ่อมรถ สามารถเข้ามาเป็นผู้พิพากษาได้บ้างผ่านการสอบในสนามใหญ่ แต่คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางอำนาจของกลุ่มตนได้อย่างสำคัญ อีกทั้งการแพร่กระจายข่าวทำนอง “กว่าจะนั่งบัลลังก์ศาล” ของสามัญชน ยังเป็นการกล่อมเกลาให้เชื่อว่าคนนอกแวดวงก็สามารถลอดรูเข็มเข้ามาได้ โดยไม่ต้องมาสนใจขยายรู้เข็มให้กว้างและเป็นธรรมกับทุกคนมากขึ้นแต่อย่างใด

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save