fbpx

พรรคคุมรัฐ: ทิศทางใหม่การเมืองจีน

ในการประชุมสองสภาของจีนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ มีความคาดหมายว่าจะมีการปฏิรูประบบราชการและความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนการจัดองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสามด้านสำคัญ

หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ ข่าวที่สื่อตะวันตกให้ความสนใจคือความเป็นไปได้ที่รองนายกฯ เหอลี่เฟิง ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ จะเข้าควบตำแหน่งเลขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์ประจำธนาคารชาติด้วย ซึ่งจะสะท้อนว่าธนาคารชาติไม่ได้มีความเป็นอิสระ แต่ต้องทำงานเข้าขาและสนองนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและของพรรคคอมมิวนิสต์

สอง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความคาดหมายว่าจะมีคณะกรรมการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาดูแลเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทลายวงล้อมสงคราม Tech War ของสหรัฐฯ คณะกรรมการชุดนี้คาดว่าจะนำโดยรองนายกฯ คนที่ 1 คือติงเซวียเสียง และจะทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงหน่วยงานมากมายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษา หน่วยงานภาควิจัย รัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้ทำงานเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ผ่านกลไกคณะกรรมการของพรรค

สาม ด้านความมั่นคงภายใน ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการจัดกลุ่มองค์กรใหม่และให้พรรคเข้ามีบทบาทนำในการรักษาความมั่นคงภายในมากขึ้น สะท้อนความกังวลของพรรคต่อกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังได้เคยเกิดการประท้วงนโยบาย Zero Covid อันเข้มข้นของรัฐบาลในหลายพื้นที่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การปฏิรูปเหล่านี้สะท้อนทิศทางใหญ่ในยุคของสีจิ้นผิง คือ การกลับมามีบทบาทนำของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือองค์กรต่างๆ ของรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการพยายามแยกรัฐและพรรคออกจากกันของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งได้ดำเนินนโยบายเปิดและปฏิรูปประเทศจีนในช่วงทศวรรษ 1980 และผู้นำจีนอีก 2 คนต่อมาก็เดินตามแนวทางการพยายามแยกรัฐและพรรคออกจากกันของเติ้งเสี่ยวผิง

ในสมัยผู้นำเบอร์ 1 ของพรรคอย่างเจียงเจ๋อหมินและหูจินเทา ได้ปล่อยให้การบริหารจัดการนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของนายกฯ และ ครม. เป็นหลัก ทำให้หลายคนมองว่าบทบาทของนายกฯ มีความสำคัญสูงมากและเป็นตัวจริงในการบริหาร นายกฯ จีนในอดีตอย่างนายกฯ จูหรงจีหรือนายกฯ เวินเจียเป่าจึงนับว่ามีบทบาทผู้นำที่โดดเด่นมากในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะต่างๆ

แต่ช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาของนายกฯ หลี่เค่อเฉียง ภายใต้ผู้นำพรรคเบอร์ 1 ของพรรคอย่างสีจิ้นผิง เราจะเห็นได้ชัดว่าตัวนายกฯ กลับถูกลดบทบาทลงอย่างมาก สีจิ้นผิงมีลักษณะลงไปบริหารจัดการรายละเอียดเอง (Micro-manage) และแทรกแซงหรือเข้าสั่งการการทำงานของรัฐบาลโดยตรง ผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่สีจิ้นผิงนั่งเป็นประธาน และเอาหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐมานั่งเป็นกรรมการ

จนมีคำพูดทีเล่นทีจริงว่า สีจิ้นผิงเป็นประธานของทุกสิ่งทุกอย่าง (Chairman of Everything) นโยบายสำคัญต่างๆ ของจีนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน นโยบายความรุ่งเรื่องร่วมกัน นโยบาย Zero Covid ดูเหมือนไม่ได้มาจากการริเริ่มของนายกฯ หลี่เค่อเฉียงหรือรัฐบาล แต่มาจากการสั่งการของตัวสีจิ้นผิงเองโดยตรง

หลายคนมองว่า นายกฯ คนใหม่คือหลี่เฉียง และครม.ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง ยิ่งจะลดบทบาทลงยิ่งกว่าในยุคนายกฯ คนเก่าอย่างหลี่เค่อเฉียงเสียอีก เพราะนายกฯ คนใหม่มาจากเซี่ยงไฮ้ ไม่เคยมีประสบการณ์การบริหารส่วนกลางหรือนั่งอยู่ใน ครม. มาก่อน (เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ที่นายกฯ ข้ามห้วยมาจากท้องที่เลย)

แถมเป็นที่ทราบกันดีว่านายกฯ คนใหม่เป็นคนสนิทของสีจิ้นผิง จนหลายคนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าเขาจะเป็นหุ่นเชิดหรือรอรับคำสั่งตรงจากสีจิ้นผิงหรือเปล่า เขาจะมีบทบาทและแนวคิดเป็นของตัวเอง หรือมีอิทธิพลต่อความคิดสีจิ้นผิงได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนคำถามว่า เพราะเหตุใดทิศทางของจีนจึงกลับมาเป็นพรรคควบคุมรัฐ เหตุผลทางนโยบายอาจเป็นเพราะสีจิ้นผิงมองว่าปัจจุบันจีนกำลังเผชิญความท้าทายหลากหลายด้านมากขึ้นทั้งภายในและภายนอก และตัวเขาเองเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบพรรค และต้องการใช้จุดแข็งของการรวมศูนย์อำนาจและการประสานงานของพรรคในการรวบรวมทรัพยากรและสรรพกำลังเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนหรือการทลายกำแพงเทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์

อีกปัจจัยหนึ่งก็เป็นเรื่องความมั่นใจในระบบการเมืองของจีนเอง ในอดีต จีนพยายามปฏิรูปไปในแนวทางตะวันตก ทั้งในเรื่องการถ่วงดุลอำนาจและการกระจายอำนาจ และมีความพยายามที่จะแยกพรรคออกจากรัฐ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีในการคบค้ากับตะวันตก แต่สีจิ้นผิงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ตะวันตกต้องยอมรับระบบการเมืองของจีน ท่ามกลางการเติบโตที่รวดเร็วและการขึ้นสู่สถานะมหาอำนาจของจีน

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการแสวงอำนาจและบุคลิกส่วนตัวของสีจิ้นผิงเอง เนื่องจากเขาดำรงตำแหน่งเป็นเบอร์ 1 ของพรรค การที่เขาจะคุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ จึงหมายถึงต้องทำให้พรรคเข้าไปคุมทุกภาคส่วนของภาครัฐ การต่อสู้ระหว่างขั้วการเมืองของสีจิ้นผิงกับขั้วการเมืองของนายกฯ หลี่เค่อเฉียงในอดีต อาจมีผลให้สีจิ้นผิงเล่นเกมเอาพรรคคุมรัฐ เพื่อทอนอำนาจนายกฯ และเพิ่มอำนาจตัวเอง จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองจีนแบบกลับตาลปัตรจากยุคผู้นำพรรคสามคนก่อนหน้านี้

คำถามคือ กลไกพรรคคุมรัฐจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปภายหลังยุคสีจิ้นผิงหรือไม่ ประสิทธิภาพของกลไกลักษณะนี้ส่งผลบวกหรือผลลบต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะของจีน ดังที่มีข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการปราบฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ การจัดการการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยี รวมทั้งนโยบาย Zero Covid ล้วนแต่มีลักษณะค่อนไปในทางสุดขั้วมากกว่านโยบายของรัฐจีนในอดีต

ในขณะเดียวกันฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปในแนวทางนี้ก็มองว่าการนำของพรรคจะทำให้การขับเคลื่อนและประสานยุทธศาสตร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ที่ผิดพลาดนั้นไปผิดที่ภาคปฏิบัติหรือการผลักดันนโยบาย เพราะมีคนอีกขั้วปล่อยเกียร์ว่างหรือไม่ได้ทำตามนโยบายของพรรคอย่างถูกต้องเสียมากกว่า

สูตรลับความสำเร็จอย่างหนึ่งของรัฐจีนที่ผ่านมา คือ การแก้ไขนโยบายที่ผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว และความยืดหยุ่นในทางนโยบาย เราคงต้องรอดูลักษณะการทำงานของนายกฯ และครม.จีนชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคว่า จะเป็นการทำงานเข้าขากับผู้นำพรรคและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะเป็นเพียงการรับคำสั่งจากท่านผู้นำพรรคแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งกว่าในช่วง 10 ปี แรกของสีจิ้นผิงเสียอีก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save