fbpx

สีจิ้นผิงกับการหมุนเวลากลับ

ความรู้สึกร่วมกันของนักวิเคราะห์การเมืองจีนก็คือ สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่เหมือนจะพาจีนเดินสวนทางจากยุคเปิดและปฏิรูปก่อนหน้านี้

ตลอด 40 ปี หลังการสิ้นสุดยุคประธานเหมา จีนเดินไปในทิศทางที่ส่งเสริมเอกชน กระจายอำนาจ เปิดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ 10 ปี ที่ผ่านมาในยุคของสีจิ้นผิง ดูเหมือนจีนจะหมุนกลับมาส่งเสริมรัฐและรัฐวิสาหกิจ กำกับดูแลเอกชนอย่างเคร่งครัด รวมศูนย์อำนาจทางการเมือง และควบคุมความเห็นต่างมากขึ้น

ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองมักเชื่อกันว่า เมื่อประเทศรวยขึ้น มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ก็จะเดินไปในทิศทางเสรีนิยมมากขึ้นแบบไม่ย้อนกลับ ก่อนหน้านี้คนมักมองจีนในลักษณะเดียวกัน คิดกันว่าถ้าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่สนับสนุนเอกชน และไม่เน้นเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ย่อมสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมตามมาได้

แต่ถ้าเรามีความเชื่อเช่นนั้น เราก็คงทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดการฮ่องกงอย่างเคร่งครัด การล็อคดาวน์มหานครทางเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ การยืนหยัดนโยบาย Zero Covid จนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการจัดการภาคอสังหาริมทรัพย์และการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด ทั้งหมดนี้สะท้อนว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์มาก่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยอันดับแรกที่รัฐบาลจีนสนใจอีกต่อไป

มีผู้รู้เคยวิเคราะห์ให้ผมฟังว่า สีจิ้นผิงมีความเชื่อพื้นฐานสามข้อ ข้อแรก คือ เขาเชื่อว่าเทคโนโลยียุคใหม่ช่วยให้การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์และการดำเนินเศรษฐกิจด้วยระบบวางแผน (แทนที่ระบบตลาด) นั้นเป็นไปได้

ข้อนี้แตกต่างอีกเช่นกันจากที่เรามักเข้าใจว่า เทคโนโลยียุคใหม่จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเสรี โซเชียลมีเดียจะช่วยส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความเห็น ความหลากหลายของมุมมองจะช่วยให้คนตาสว่างและรัฐบาลไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลหรือผูกขาดข้อมูลชุดเดียวต่อไปได้

แต่จีนกลับมีระบบควบคุมเซ็นเซอร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียอย่างรัดกุม และยังอาจใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวช่วยเผยแพร่และส่งเสริมชุดข้อมูลที่รัฐต้องการสื่อสาร ซึ่งปลุกความรู้สึกชาตินิยมและความสามัคคีของคนจีน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบโซเชียลเครดิต และการควบคุมความประพฤติของบุคคลด้วยชุดข้อมูล มีคนเปรียบเปรยว่าจีนเป็นประเทศที่มีตาวิเศษสอดส่องอยู่ทุกที่ จนเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก แต่ในความปลอดภัยก็ต้องแลกกับเสรีภาพเช่นเดียวกัน

ในช่วงก่อนหน้านี้ ในวงการเศรษฐศาสตร์จีนเคยมีการถกเถียงกันเรื่องความเป็นไปได้ของการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนมากขึ้น จากที่เดิมเคยเชื่อกันว่าต้องเปลี่ยนผ่านสู่ระบบตลาด เพราะระบบวางแผนนั้นใช้ไม่ได้ผลและมีแต่จะล้มเหลว เพราะปัญหาเรื่องการขาดข้อมูล แต่ในยุค Big Data จีนมีความมั่นใจมากขึ้นในการบริหารเศรษฐกิจจากส่วนกลางและการผลักดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมกว่าในอดีต

จึงมาสู่ความเชื่อข้อที่สองของสีจิ้นผิง คือ เขาเชื่อว่าวันนี้ไม่ใช่ยุคของการขยายขนาดเศรษฐกิจ แต่เป็นยุคของการรวมสรรพกำลังทรัพยากรมากระจุกทุ่มให้กับอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่รัฐกำหนด เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของรัฐ นั่นก็คือการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาในการชิงมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี

โจทย์ทางเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นโจทย์การเมืองและโจทย์ด้านความมั่นคงทั้งสิ้น จีนจึงถอยเข้าสู่ยุค ‘รัฐขยายเอกชนหด’ ล่าสุดก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน สีจิ้นผิงก็ประกาศอีกครั้งว่ารัฐจีนจะต้องทุ่มสรรพกำลังในการทลายคอขวดเทคโนโลยีที่จีนถูกตะวันตกจำกัด จีนจะต้องแหวกวงล้อมสงครามเทคโนโลยีที่ตอนนี้กำลังถูกสหรัฐฯ เล่นงานให้ได้

ส่วนความเชื่อสุดท้ายของสีจิ้นผิง ซึ่งเราจะเห็นในสุนทรพจน์จำนวนมากของเขา ก็คือ จีนต้องมองระยะยาว ความหมายที่คนจีนไม่น้อยพูดทีเล่นทีจริงก็คือ นี่เป็นคำปลอบใจหรือเปล่า เพราะระยะสั้นเฉพาะหน้าตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังคงให้เชื่อมั่นว่าถ้าเดินตามรัฐบาล ระยะยาวจะสดใส และที่รัฐบาลจีนกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์และจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีนั้นก็เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว เช่น แก้ไขปัญหาฟองสบู่ที่จะไปแตกในอนาคต หรือแก้ไขปัญหาการผูกขาดในภาคเทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นปัญหาสำคัญที่ในตะวันตกก็พูดถึงกันมากแต่ทำอะไรไม่ได้

ฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลกังวลว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะซึมทั้งระยะสั้นและซึมต่อไประยะยาวด้วยหรือไม่ กล่าวคือไม่ใช่เจ็บตอนนี้เพื่อไปรุ่งโรจน์ในอนาคต แต่จะเจ็บและไม่ฟื้นกลับเอาหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่ข้อสรุปใหญ่ที่ว่า อนาคตของจีนอยู่ที่การรักษาสมดุลของสีจิ้นผิง แน่นอนว่าจีนวันนี้ต้องจัดสมดุลเป้าหมายที่หลากหลายทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แต่หากสนใจปัจจัยด้านการเมืองหรือความมั่นคง จนเศรษฐกิจทรุดถึงขั้นอาจนำไปสู่วิกฤต รัฐบาลจีนก็ยากที่จะยังได้รับความนิยมจากประชาชนในวงกว้าง

ช่ายเซี่ย นักวิเคราะห์การเมืองจีนที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่สหรัฐฯ ก็เพิ่งวิเคราะห์ในบทความในวารสาร Foreign Affairs ในทำนองว่า ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะดูไม่สนใจเศรษฐกิจ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจก็ยังคงสำคัญอยู่

หากเศรษฐกิจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นจากการดำเนินนโยบายที่แรงเกินไปของสีจิ้นผิง ก็จะถึงจุดที่เขาเองหรือผู้นำคนอื่นคงต้องทบทวน ในเทอมที่สามของสีจิ้นผิง อาจต้องยอมถอยเอาเทคโนแครตหรือทีมเศรษฐกิจมาบริหารจัดการฟื้นเศรษฐกิจเช่นกัน

แต่ถ้าขืนเขายังแรงขึ้นเรื่อยๆ และเศรษฐกิจจีนทรุดต่อเนื่องไปมากกว่านี้ เมื่อสมดุลเสีย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งในประวัติศาสตร์จีน นั่นก็คือเมื่อลูกตุ้มนาฬิกาหมุนไปสุดข้างหนึ่ง ก็จะตีกลับไปสุดทางอีกข้างหนึ่งเช่นเดียวกัน ดังที่พ้นจากยุครวมศูนย์ของเหมา กลายมาเป็นยุคผ่อนคลายของเติ้ง และจากยุคผ่อนคลายของเติ้ง กลายมาเป็นยุครวมศูนย์อีกครั้งของสีจิ้นผิง ถ้าสมดุลเสียและสีจิ้นผิงยังยืนยันจะผลักไปสุดทาง เมื่อตีกลับก็จะตีกลับไปสุดอีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน

หลายคนมองว่าเทอมที่สามของสีจิ้นผิง แม้ในระยะสั้นดูเหมือนสีจิ้นผิงจะมีพลังอำนาจมหาศาลและอาจมีแต่พรรคพวกของสีจิ้นผิงในกลุ่มผู้นำระดับสูง แต่พรรคพวกลูกน้องของเขาก็ต้องแข่งขันกันอยู่ดี และถ้าปัจจัยเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง สุดท้ายการแข่งขันทางการเมืองก็มีโอกาสจะเปิดทางไปสู่นโยบายปฏิรูปในทิศทางเอกชนและเสรีนิยมอีกครั้ง

แม้กระทั่งเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจและรวมศูนย์อำนาจก็เช่นกัน แท้จริงแล้ว เทคโนโลยีเองก็เป็นดาบสองคมเสมอ คือสามารถจะผลักสังคมไปสู่รัฐเจ้าระเบียบและรัฐสอดส่อง แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างเทคโนโลยีเดิมทั้งหมดในโลกยุคใหม่ก็สามารถผลักสังคมไปสู่รัฐเสรีและผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็วเช่นกันเมื่อเวลาสุกงอม


ภาพประกอบจาก Greg Baker / AFP 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save