fbpx
Paradox of Repression: ยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวและเติบโต

Paradox of Repression: ยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวและเติบโต

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองของไทยกำลังเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เรียกร้องให้ 1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนมีส่วนอย่างแท้จริง และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลและกลุ่มคนในอำนาจไม่เพียงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ยังตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยมาตรการกดขี่และปราบปรามหลากหลายรูปแบบ ทั้งการดำเนินคดี ‘ข้อหาทางการเมือง’ กับแกนนำในการชุมนุม ตลอดจนใช้ ‘วิธีการนอกกฎหมาย’ อื่นๆ เช่น การไปเยี่ยมบ้านคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ การโทรศัพท์ติดตามตัวแกนนำและผู้ชุมนุมหรือครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งการถ่ายรูปและขอดูบัตรประจำตัวประชาชนของบรรดาผู้เข้าร่วมการชุมนุม

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าช่วงเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเริ่มจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีการคุกคามติดตาม รวมถึงการดำเนินคดีกับประชาชนมากถึง 179 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 29 คนและนักศึกษาจำนวน 25 คน บางรายถูกคุกคามซ้ำโดยเจ้าหน้าที่หลายครั้งตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา[1] แม้จะยังไม่มีการเผยแพร่สถิติการคุกคามกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงเวลาหลังจากนั้น แต่เราสามารถรับรู้ผ่านรายงานของสื่อต่างๆ ได้ว่าการข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

 

ผลสะท้อนกลับของการกดขี่ปราบปรามตรงกันข้ามกับที่ผู้กดขี่คาดหวัง

 

รัฐบาลและกลุ่มคนในอำนาจย่อมคาดหวังว่าการกดขี่ปราบปรามด้วยวิธีการทั้งในและนอกกฎหมายเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลแก่กลุ่มผู้ชุมนุม นั่นคือทำให้หวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยจนไม่กล้าเอาตัวเองมาเสี่ยงและต้องล้มเลิกความพยายามที่จะต่อต้านรัฐบาลไปในที่สุด

ทว่าการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลก โดยเฉพาะที่รวบรวมและวิเคราะห์ไว้ในหนังสือ The Paradox of Repression and Nonviolent Movements ที่มี Lester R. Kurtz และ Lee A. Smithey เป็นบรรณาธิการ[2] กลับพบว่าการข่มขู่คุกคามขบวนการประชาชนโดยรัฐ โดยเฉพาะที่กระทำต่อขบวนการที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรง มักไม่ได้นำไปสู่ผลตามที่ผู้กดขี่คาดหวัง แต่เกิดผลสะท้อนกลับในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือขบวนการประชาชนยิ่งเข้มแข็งและเติบโต กระทั่งการคุกคามของรัฐต่อประชาชนนั้นอาจย้อนกลับมาบั่นทอนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเองในที่สุด

แม้นักวิชาการที่ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่งจะถกเถียงว่าการกดขี่ปราบปรามขบวนการประชาชนสัมฤทธิ์ผลได้ในบางลักษณะ นั่นคือการกดขี่ปราบปรามโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถป้องปรามการต่อต้านจากประชาชนได้[3] หรือมีประสิทธิภาพกับขบวนการประชาชนที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมไม่มากนัก[4] งานศึกษาอีกไม่น้อยกลับพบว่าการกดขี่ปราบปรามที่เข้มข้นรุนแรงมีแนวโน้มจะทำให้ขบวนการประชาชนยิ่งเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้น[5] อันเป็นผลมาจากพลวัตที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการประชาชนโดยตรงและ ‘ฝ่ายที่สาม’ อันได้แก่ บุคคลและกลุ่มบุคคลในสังคมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชน

 

การกดขี่ปราบปรามตอกย้ำว่ารัฐไม่ชอบธรรม

 

ในทางหนึ่ง การกดขี่ปราบปรามที่รัฐหวังจะก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่ประชาชนจนต้องล้มเลิกความพยายามที่จะต่อต้านรัฐไป กลับทำให้สมาชิกของขบวนการประชาชนจำนวนไม่น้อยยิ่งมีความมุ่งมั่นและหนักแน่นในการต่อสู้ของตนมากขึ้น เพราะการกดขี่ปราบปรามดังกล่าวตอกย้ำถึงการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบธรรม ถือเป็นการละเมิดพันธกิจพื้นฐานของรัฐในการรับประกันความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน แม้ว่าเธอหรือเขาเหล่านั้นจะมีความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองที่ขัดแย้งแตกต่างจากกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐในห้วงเวลานั้นๆ อยู่ก็ตาม

ในแง่นี้การข่มขู่คุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่จึงตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ขบวนการประชาชนจะต่อต้านอำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมให้สำเร็จลุล่วง ดังสะท้อนอย่างชัดเจนในข้อความที่อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนและแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เขียนถึงผู้ชุมนุม หลังจากศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 กันยายน 2563 ข้อความดังกล่าวมีเนื้อความว่า “ให้การขังผมในวันนี้เป็นใบเสร็จของการคุกคามประชาชน 19 ก.ย. 63 ไปเอาคืน”[6] และ “ยินดีที่ได้ต่อสู้กับทุกคน เราเดินมาไกล จงเดินต่ออย่างกล้าหาญ หน้าที่นอกคุกของผมจบแล้ว ขอเดิมพันทั้งหมดเพื่อการเปลี่ยนแปลง 19 กันยายนนี้ ช่วยยืนยันว่าเรามาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นในทุกคน”[7]

 

‘เหยื่อ’ ของการปราบปรามเป็นเพื่อนพี่น้องของใครบางคน

 

การกดขี่ปราบปรามของรัฐในหลายกรณียังส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายในหมู่ประชาชน เหยื่อของการปราบปรามเหล่านั้นย่อมเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของใครบางคน ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของหลายคนไม่จำกัดอยู่แค่การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตนเองแต่เพียงลำพังอีกต่อไป แต่กลายเป็นพันธกิจที่สมาชิกครอบครัวและสมาชิกคนอื่นๆ ในขบวนการประชาชนเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อ ทั้งยังอาจเป็นการสานต่อความหวังและความฝันของเหยื่อจากการปราบปรามของรัฐต่อไปด้วย

หลังการเสียชีวิตของลูกชายในวัยเพียง 17 ปีจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือที่มักรู้จักกันว่า ‘พ่อน้องเฌอ’ เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้กับลูกชาย กระทั่งถูกดำเนินคดีและถูก ‘อุ้ม’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่า พันธ์ศักดิ์บอกว่าเขายังจะต่อสู้ต่อไป “เพราะความยุติธรรมมันยังมาไม่ถึง และมันจะถูกทำให้หายไป เราเลยจำเป็นต้องสู้เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ เราต้องมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เพราะรัฐไม่ได้เปิดกว้างที่จะฟังความคิดเห็นของประชาชน มันต้องการความสงบ เป็นความสงบราบคาบ ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อย”[8]

ในทำนองเดียวกัน พะเยาว์ อัคฮาด หรือ ‘แม่น้องเกด’ ผู้สูญเสียลูกสาวซึ่งทำงานเป็นพยาบาลอาสาในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดียวกัน ก็ผันตัวเองมาเป็นนักกิจกรรมคนสำคัญจากที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่ารูกระสุนที่พรากลูกสาวอันเป็นที่รักไปจากเธอ ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิง “จากที่เป็นแม่ค้าขายดอกไม้ ทำให้พลิกตัวเอง ลูกฉันถูกฆ่าตายนะ แล้วยังถูกหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอีก…พวกคนที่สั่งฆ่าทุกวันนี้ก็ยังลอยนวล มันเป็นความเจ็บปวดของคนที่ได้รับผลกระทบ”[9]

 

‘ฝ่ายที่สาม’ หันมาเห็นอกเห็นใจผู้ถูกกดขี่ปราบปราม

 

นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชนโดยตรงแล้ว การกดขี่ปราบปรามของรัฐโดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงยังอาจส่งผลต่อ ‘ฝ่ายที่สาม’ ซึ่งหมายถึง บุคคลและกลุ่มบุคคลที่อยู่นอกขบวนการด้วย

Gene Sharp ผู้ศึกษาและเผยแพร่แนวทางต่อต้านเผด็จการด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงคนสำคัญของโลกอธิบายว่า การกดขี่ปราบปรามขบวนการประชาชนที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรงสามารถปลุกมโนธรรมสำนึกของผู้คนในสังคมให้ตระหนักว่ารัฐกำลังใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ผู้คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่งอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากขบวนการประชาชน เปลี่ยนมาเห็นอกเห็นใจและให้การสนับสนุนเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ พร้อมกับถอนความสนับสนุนจากรัฐที่ใช้มาตรการกดขี่และปราบปรามประชาชนได้

แม้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการข่มขู่คุกคามแกนนำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยของการเติบโตของขบวนการประชาชน มีรายงานว่าการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้เข้าร่วมเพียง 2,367 คน[10] ขณะที่การชุมนุมในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งจัดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจาก ‘เพนกวิน’ หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถูก ‘อุ้มตัว’ ไปดำเนินคดี มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองหมื่นคน[11]

หลังจากนั้นการข่มขู่คุกคามแกนนำและผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกประกาศไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน อาจมีส่วนช่วย ‘เรียกแขก’ ทำให้มีผู้คนออกมาร่วมชุมนุมกว่าแสนคน[12] ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อและรับรู้กันอย่างทั่วถึง การกดขี่ปราบปรามประชาชนย่อมถูกจับจ้องจากทั้งรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจต่างชาติ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นคุณค่าสากล และย่อมส่งผลบั่นทอนความน่าเชื่อถือและชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาของรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจต่างชาติ

 

การกดขี่ปราบปรามย้อนกลับมาบั่นทอนทำลายความชอบธรรมของผู้กดขี่

 

เหนือสิ่งอื่นใด รัฐและผู้ปกครองจะมั่นคงในอำนาจอยู่ได้ก็ด้วยความเห็นชอบและการสนับสนุนจากประชาชน รวมถึงการยอมรับจากประชาคมโลก หากการกดขี่ปราบปรามที่กลุ่มคนในอำนาจคาดหวังจะทำให้ขบวนการประชาชนหวาดกลัวจนล้มเลิกความพยายามจะต่อต้านท้าทายอำนาจของตน อาจส่งผลสะท้อนกลับในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือสมาชิกของขบวนการประชาชนยิ่งหนักแน่นเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ของตนมากขึ้น ด้วยการกดขี่ปราบปรามนั้นตอกย้ำถึงการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของผู้ปกครอง

ยิ่งไปกว่านั้น การกดขี่ปราบปรามขบวนการประชาชนที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้ ‘ฝ่ายที่สาม’ ทั้งที่เป็นประชาชนในประเทศและประชาคมโลกเปลี่ยนมาเห็นอกเห็นใจเหยื่อและถอนความสนับสนุนจากรัฐผู้ที่กดขี่ปราบปรามประชาชน กระทั่งอำนาจของผู้กดขี่นั้นต้องสั่นคลอนในที่สุด

 

 


อ้างอิง

[1] “ศูนย์ทนายฯ เปิดตัวเลขการคุกคามเกือบ 3 เดือน 179 คน ดำเนินคดีอีก 23 คดี” (13 ตุลาคม 2563), ประชาไท, เข้าถึงเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.

[2] Lester R. Kurtz และ Lee A. Smithey (Eds.), The Paradox of Repression and Nonviolent Movements. (New York: Syracuse University Press, 2018).

[3] Charles Tilly, From Mobilization to Revolution. (New York: Western Societies Occasional Paper No.21, 1978).

[4] Ted Robert Gurr, Why Men Rebel. (Princeton: Princeton University Press, 1970).

[5] Jeff Goodwin and James M. Jasper, Contention in Context: Political Opportunities and the Emergence of Protest. (Stanford, CA: Stanford University Press, 2012).

[6] อานนท์ นำภา, (3 กันยายน 2563), เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.

[7] อานนท์ นำภา, (3 กันยายน 2563), เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.

[8] ธิติ มีแต้ม, “บันทึก Father And Son ‘พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ’ ที่ไปไกลกว่า ‘เฌอ’” (15 พฤษภาคม 2563), The 101 World, เข้าถึงเมื่อ10 ตุลาคม 2563.

[9] สันติสุข กาญจนประกร และอนุชิต นิ่มตลุง, “พะเยาว์ อัคฮาด: ขอเผด็จการจงพ่ายแพ้แก่ความรักของแม่” (16 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงเมื่อ10 ตุลาคม 2563.

[10] จำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลโดยแกนนำในการชุมนุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เพียง 500 คน ดู “”เยาวชนปลดแอก” ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ” (18 กรกฎาคม 2563), BBC News, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2563

[11] “สื่อทั่วโลกจับตาการประท้วงใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก ชี้ผู้ร่วมชุมนุมหลักหมื่น มากสุดนับตั้งแต่รัฐประหาร” (17 สิงหาคม 2563), Line Today, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2563

[12] แกนนำผู้ชุมนุมประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมช่วงสูงที่สุดถึงกว่าสองแสนคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่าไม่เกินห้าหมื่นคน ดู “ชุมนุม 19 กันยา : มวลชนเสื้อแดงร่วมเยาวชนรวมตัวล้นสนามหลวง แกนนำย้ำประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (18 กรกฎาคม 2563), BBC News, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2563

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save