fbpx
บันทึก Father and Son ‘พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ’ ที่ไปไกลกว่า 'เฌอ'

บันทึก Father and Son ‘พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ’ ที่ไปไกลกว่า ‘เฌอ’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

YouTube video

 

บันทึกที่ข้าพเจ้าเขียนค้างไว้เมื่อปี 2553 ว่าไว้แบบนี้…

ความร้อนระอุอยู่ในเตาเผาบนเมรุวัดละหาร ย่านบางบัวทอง ร่างไร้วิญญาณของ ‘เฌอ’ สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี อยู่ในนั้น อีกไม่นานคงเหลือเพียงเถ้ากระดูก

เฌอในวัย 13 ปี ได้รับแรงจูงใจง่ายๆ ว่าคนเราควรเท่าเทียมกัน เขาออกไปเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีรัฐบาลไทยเริ่มเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) และนโยบายอื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลเตรียมเซ็นสัญญา อันจะส่งผลให้พลเมืองชั้นล่างกลายเป็นทาส

ปีต่อมาเขามุ่งหน้าเข้าเขตพรมแดนไทย-พม่าไปเรียนรู้ผลกระทบจากนโยบายสร้างเขื่อนสาละวิน ฟัง รับรู้ และหาทางช่วยเหลือเพื่อนในพื้นที่เท่าที่พอทำได้ตามศักยภาพของเด็กค่ายอาสาฯ

ในวัย 15 เมื่อพบว่าโรงเรียนเป็นเพียงสถานกักกัน เขาก็ออกมากลางคัน มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยราชดำเนินเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ภาระที่เฌอเลือกรับไปคือการ์ดอาสาฯ ช่วยเหลือมวลชนอยู่ตามเต็นท์สันติอโศก กระทั่งวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มวลชนพันธมิตรฯ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐระดมยิงแก๊สน้ำตาใส่ เฌออยู่แถวหน้าขบวนพอดี เขาถูกเจ้าหน้าที่ตีด้วยกระบองจนฟันหน้าแตกบิ่น เมื่อพันธมิตรฯ ประกาศชัยชนะหลังยึดสนามบินสุวรรณภูมิ เขาจึงกลับบ้านและกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

จวบจนปี 2553 เมืองไทยได้รัฐบาลใหม่ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนไม่อยากเชื่อแต่ก็ต้องทำใจเชื่อ สายของวันที่ 15 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ระหว่างที่ประชาชนวิ่งหนีแนวทหารซึ่งติดอาวุธสงครามกำลังเดินเรียงหน้ากระดานมาถึงบริเวณถนนราชปรารภ

เฌอถูกยิง…

ภาพจากคลิปวีดิโอฟ้องว่าเขาไม่ตายทันที ยังค่อยๆ กลิ้งคลานคล้ายหลบกระสุนปืน รอยเลือดไหลเปรอะฟุตบาทเป็นทางยาวก่อนจะแน่นิ่งไป

เจ็บไหม กลัวไหม เขาไม่มีทางลุกมาตอบอีก

แพทย์ชันสูตรระบุว่าเขาเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนลูกโดดบริเวณศีรษะทำให้เนื้อสมองฉีกขาด เรื่องราวและภาพถ่ายตัวเขาได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายเพียงชั่วข้ามคืนในสื่ออินเตอร์เน็ต-หนังสือพิมพ์

และหลังจากนั้นมา สังคมไทยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

‘เฌอ’

 

เพื่อให้บันทึกเกี่ยวกับเฌอมีชีวิตต่อไป ข้าพเจ้าจึงวางเครื่องอัดเสียงลงตรงหน้าพ่อของเขา – พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยไฟปรารถนาแห่งการใช้ชีวิต

ในมุมของผู้โดยสาร เขาคือคนขับรถแท็กซี่ที่เคร่งครัดเรื่องวินัยและเส้นทาง

ในมุมของนักดูหนัง เขาคือนักเขียนรีวิวภาพยนตร์ เจ้าของเพจ Film Therapy

และในมุมของผู้มีอำนาจ เขาคือนักจัดแคมเปญขนาดกะทัดรัด-เคลื่อนที่เร็ว จนอาจเป็นก้อนกรวดในรองเท้าบูธ สร้างความระคายเคืองจนต้องคดีความมั่นคง

เฌอในสายตาของพ่อเป็นอย่างไร…

เราอยู่กับเขาและสร้างเขาขึ้นมา วิธีการเลี้ยงลูกของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน สำหรับผมไม่สปอยล์ กฎของผมค่อนข้างชัดเจนว่าคุณต้องไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน นี่คือคอนเซ็ปต์หลักของผม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทำยากนะ การไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปพร้อมกับไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เพราะการไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนมักจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนเสมอ (หัวเราะ)

กฎของผมคือเมื่อคุณเป็นนักเรียน ต้องเรียนหนังสือ แค่นั้นเอง ดังนั้นถ้าคุณสอบตกก็ต้องไปซ่อม สอบตกไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าไม่ไปซ่อม คุณผิดเพราะคุณหนี เขาก็รู้ว่าสุดท้ายผมไม่น่าจะยอมแน่ๆ เขาก็เลยประท้วงกฎผมด้วยการหนีออกจากบ้านไป มันเหมือนผมเป็นรัฐที่ไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชน ประชาชนทนไม่ได้ก็เลยหนีไป

ตอนหลังเขากลับมาบ้าน หลังจากไปชุมนุมกับพันธมิตรฯ มา เราได้คุยกันเยอะขึ้น ได้ฟังเขาเยอะขึ้น ผมก็ไม่ถามว่าเขาต้องการอะไร ผมบอกแค่ว่าถ้าโตไป เราต้องมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ การจะมีอาชีพมีรายได้ การศึกษามันจะช่วย จากนั้นเขาก็ไปเรียนที่ปัญญาภิวัฒน์ เรียนไปทำงานเซเว่นไป จนเก็บเงินดาวน์มอเตอร์ไซค์ได้ภายใน 3 เดือน

ด้วยวัยและนิสัยของเขาที่ชอบแอคชั่น มันเป็นความกระตือรือร้นในวัยหนุ่ม ตั้งแต่ตอนไปเป็นการ์ดพันธมิตร เขาจะมาถามผมตลอดเรื่องการชุมนุม ผมมานั่งคิดดูคำถามแต่ละครั้งก็คือคำบอกใบ้ของเขา เช่น มาถามว่าไปชุมนุมกับพันธมิตรฯ ดีไหมพ่อ ตอนนั้นพันธมิตรเคยชูมาตรา 7 มา ผมก็บอกว่าไม่ควรไปเพราะมันเป็นการสนับสนุนการเมืองไทยให้ถอยหลัง

เขาถามต่อว่าถ้าไปชุมนุมจริงๆ ควรจะไปอยู่ตรงไหน ผมก็บอกว่าถ้าอยากไปจริงๆ ควรไปทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไปอยู่หน่วยพยาบาลหรือไม่ก็ไปช่วยทำอาหาร แต่สุดท้ายเขาก็ไปเป็นการ์ดพันธมิตรฯ

พอเสื้อแดงชุมนุม เขาก็มาถามเหมือนเดิม วันนั้นเขาบอกว่าจะตามไปเจอเราที่สวนเงินมีมา ตอนหลังมาเห็นคลิปโทรศัพท์ปรากฏว่าเขาเข้าไปช่วยผู้ชุมนุมกลิ้งล้อยาง ช่วงผมให้สัมภาษณ์สื่อแรกๆ ยังคิดว่าเขาไปสังเกตการณ์การชุมนุม มาคิดอีกทีนิสัยของเขามันต้องทำอะไรสักอย่าง ตอนไปตามหาร่างของเขา พลเมืองดีที่เห็นเหตุการณ์บอกว่าน้องเขาเป็นคนแรกๆ ที่อาสาไปกลิ้งล้อยางเลย

วันเกิดเหตุ เราเห็นมิตรสหายในเฟซบุ๊กโพสต์รูปคนนอนบนฟุตบาทมีรอยเลือดเป็นทาง เราเห็นแต่ไม่ได้ดูรายละเอียด แล้วก็มีพลเมืองดีที่เก็บโทรศัพท์เฌอได้โทรมาหาเพื่อน เพื่อนเลยโทรบอกผม ผมก็รีบเก็บของแล้วตามไปดูที่เกิดเหตุ

พอออกไปตามหามันวุ่นวายพอสมควร นั่งรถไปลงที่ห้างเซ็นจูรี่แล้วต่อมอเตอร์ไซค์ ช่วงนั้นทหารยังยิงกันอยู่ คนขับมอเตอร์ไซค์บอกว่ามันเสี่ยงนะ แต่เขาก็กล้าพาเราขับผ่านซอยรางน้ำรีบตัดข้ามถนนราชปรารภ ฝ่าแนวกระสุนไป บรรยากาศนี่เงียบสงัดมาก

ตอนแรกมีคนบอกว่าอยู่ รพ.รามาฯ แต่ไปแล้วก็ไม่เจอ จากนั้นเขาให้ไปที่ รพ.ราชวิถี ศูนย์นเรนทร เจ้าหน้าที่เขาบอกรูปพรรณสัณฐานอาจจะอยู่ในกลุ่มชายไม่ทราบชื่อ ผมมาคิดทีหลังคงเป็นเรื่องการป้องกันการแอบอ้างเอาศพด้วย ช่วงนั้นมีข่าวว่าศพผู้ชุมนุมหายหลายคน สุดท้ายก็ได้เห็นว่าเป็นเฌอจริงๆ

 

กระสุนถ้อยคำ

 

ด้วยความที่ผมทำงานรณรงค์มานาน เราเข้าใจดีว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะต้องมีภาษา มีภาพ ทั้งที่จริงและไม่จริงในเรื่องๆ หนึ่ง เราเข้าใจธรรมชาติของเรื่องพวกนี้ แล้วเราก็ใช้ประโยชน์จากมันด้วย

เวลาได้ยินว่าเผาบ้านเผาเมือง มันเป็นมุมมองของฝั่งหนึ่ง เหมือนในหนังที่มักบอกว่าพวกนี้เป็นกบฏ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกว่าพวกนี้เป็นคนรักชาติบ้านเมืองถึงลุกมากบฏ มันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองจากฝั่งไหน

ผมคิดว่าคุณต้องไปดูประวัติศาสตร์ สำหรับคนที่ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์วันที่ 7 ตุลาคม 2519 ทุกวันนี้คุณจะกล้ามาอวดว่าวันนั้นคุณยืนยิ้มอยู่ตรงนั้นเหรอ ตอนที่เขาเอาเก้าอี้ฟาดศพ เมื่อเวลามันเปลี่ยนไป ข้อเท็จจริงจะชี้ให้เห็นเองว่าการกระทำของคุณสมเหตุสมผลหรือเปล่า วันที่ติมอร์ได้อิสรภาพ สหประชาชาติก็เข้าไปชื่นชม เขาไม่ใช่กบฏอีกต่อไปแล้ว เขาคือคนเรียกร้องอิสรภาพที่ได้รับชนะจากอินโดนีเซีย

ถ้าคุณเป็นสถาปนิก คุณจะรู้ว่ากรุงเทพฯ คือห้องๆ หนึ่ง คนเขาใช้ชีวิตอยู่ในนั้นอยู่แล้ว แต่คุณกลับเข้าไปแทรกแซงเอง มันมีข้อเท็จจริงว่าคนเสียชีวิตในบ้านตัวเองด้วยซ้ำ มันขัดกับคำพูดของคนอีกฝ่ายที่ชอบพูดว่า “ถ้าไม่ออกมาก็คงไม่ตาย”

คอนโดฯ ฝั่งตรงข้ามที่เฌอถูกยิง มีคนออกมาสูบบุหรี่ที่ระเบียงแล้วโดนกระสุนตายในเหตุการณ์เดียวกัน การพูดว่าออกหรือไม่ออกมันเป็นแค่ปฏิกิริยากับเรื่องที่เกิดขึ้น มันสะท้อนว่าคุณเป็นคนแบบไหน

 

คดีลูก – คดีพ่อ

 

ตั้งแต่เกิดเรื่องเฌอ เราไม่คิดจะทำให้มันเป็นเรื่องปัจเจกอยู่แล้ว ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ถูกนำมาใช้ ต่อไปเวลาประชาชนออกมาชุมนุมแล้วเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่เคยถูกลงโทษหรือชี้ความผิดก็จะกลับมายิงประชาชนอีก

พันธ์ศักดิ์ต่อบทสนทนาด้วยการข้ามเรื่องเฌอออกไป ราวกับว่าที่เขาทำมาตลอดหลังเหตุการณ์ปี 53 ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

คำพูดที่ว่าขอให้เฌอเป็นศพสุดท้ายก็ไม่จริง เพราะวันที่เผาศพเฌอ (19 พ.ค. 2553) ก็ยังยิงกันอยู่ เผาเสร็จแล้วก็มีอีกหกศพที่โดนยิงในเขตอภัยทาน วัดปทุมวนารามฯ ศพสุดท้ายมันจะไม่เป็นจริง ตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น

อะไรทำให้เขาเลือกเดินเข้าสู่ภววิสัย ทั้งที่ลูกถูกยิงตาย แทนที่จะโอดครวญ…

เขาอธิบายว่า หลังรัฐประหารปี 2557 สิ่งแรกๆ ที่ได้ยินคือ คสช. จะรื้อคดีคนตายขึ้นมาทำใหม่ เรื่องนี้ยอมไม่ได้เพราะพวกนี้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการสังหารหมู่ประชาชนปี 53 แต่ไม่เคยถูกไต่สวนเลย และสุดท้ายคดีปี 53 ก็แผ่วเบาและเงียบหายไป

รัฐหรือชนชั้นนำมักจะลอยตัว หนีความขัดแย้ง หนีความผิด คนไทยมันเป็นแบบนี้ ทำเป็นเบลอๆ นิ่งๆ แล้วบอกกูไม่เกี่ยว แต่เราไม่ยอม พวกนี้เวลาโดนสะกิดมันจะมีอาการตลอด พยายามทำให้ตัวเองโปร่งใสด้วยการเอากระบวนการทางกฎหมายมาฟอกตัวเอง

หลังรัฐประหาร ผมไม่ชอบการเคลื่อนไหวแบบจัดตั้ง ผมชอบทำคนเดียว และการเดินมันง่ายที่สุด มันไม่ได้เหนื่อยอะไรมาก แค่ออกมาเดิน เหนื่อยก็พัก ตอนที่ผมถูกพระฟ้องหมิ่นประมาท ผมก็เดินจากเชียงใหม่ไปอำเภอฝางเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา

พอเริ่มเดินก็มีคนชวนไปทำกิจกรรมบ่อย แม้ว่าสภาพผมจะไม่ใช่คนที่อยากไปรวมกลุ่ม แต่เมื่อมีคนชวนก็ไปบ้าง เป็นอารมณ์บรรยากาศพาให้เราไป

ประวัติศาสตร์อาจจะชวนหัวเราะ เมื่อคดีความมั่นคงที่พันธ์ศักดิ์ได้รับเริ่มจากการเดิน

พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen จัดกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่(รัก)ลัก’ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 มีคนโดนฟ้อง 4 คน รวมผมด้วย จากนั้นตำรวจก็ให้ไปรายงานตัวในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ผมก็เลือกจะเดินไป พอเดินปุ๊บตำรวจก็มาอุ้มผม และสุดท้ายก็มาฟ้องผมด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. และมาตรา 116 ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติโดยกระทำการยุยงปลุกปั่น

รอยยิ้มและเสียงแค่นหัวเราะของพันธ์ศักดิ์ราวกับการเสียดเย้ย ทำไมการเดินถึงกลายเป็นภัยต่อความมั่นคง คงไม่ใช่เรื่องที่เขาจะหาคำตอบ เพราะเขาเปลือยตัวตนของผู้มีอำนาจไปก่อนหน้าแล้ว

“พอผมประกาศว่าครั้งหน้าผมจะเดินไปรายงานตัวอีกรอบ เขาก็มาอุ้มผมตั้งแต่คืนก่อนเลย คืนนั้นต้องไปนอนที่ห้องขังในสน.ชนะสงคราม” พันธ์ศักดิ์ยิ้มอีกรอบ

อันที่จริง ก่อนจะมีคดีความมั่นคงติดตัว เขาเคยก่อคดีในฐานความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ โดนโทษปรับไป 5,000 บาท จากการโปรยใบปลิวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จตุจักร

ตอนนั้นศาลอาญายกฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพ ในคดีสั่งการสังหารประชาชน เพราะว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล คุณแม่น้องเกด แกก็ไม่พอใจ มาถามผมว่าจะทำยังไงดี ผมก็เลยเอาคำฟ้องเดิมไปฟ้องที่ศาลประชาชนเลยแล้วกัน คือโปรยมันให้ประชาชนรับรู้เหมือนโปรยใบปลิว

ชนชั้นนำไทยกล้าที่จะทำเรื่องเลวๆ แต่ว่าจะอายกับเรื่องพวกนี้มาก ตอนแรกคิดว่าจะเอาใบปลิวที่ไม่มีอะไรเลย กระดาษเปล่าๆ ไปโปรยเลย และใจจริงผมอยากจะโปรยที่หอศิลป์ฯ เพราะว่าที่ชั้นห้ามันมีระเบียงกระจกที่เดินออกไปได้ ผมก็ไปเที่ยวดูกล้องวงจรปิด เพื่อคิดว่าจะเข้าไปได้ยังไง เหมือนในหนังล่ะ แต่ปรากฏว่าหลังรัฐประหารเขาล็อกประตูกระจกไม่ให้เดินออกไป เลยตัดสินใจไปทำที่จตุจักรแทน

ตอนที่โดนคุมตัวไปที่ สน.บางซื่อ ทีมตำรวจแกขู่ว่าจะฟ้องหมิ่นประมาท ผมก็สวนกลับไปว่าถ้าจะฟ้องหมิ่นประมาท ต้องให้คนที่มีชื่อในใบปลิวมาฟ้องสิ เพราะมันเป็นความผิดต่อส่วนตัว สุดท้ายแกก็สั่งปรับผมไป 5,000 บาท

 

 

รอบคอบ รัดกุม ทรงพลัง

 

พันธ์ศักดิ์พูดถึงการออกมาแอคชั่นทางการเมืองของเขาว่า “การเคลื่อนไหวแบบกลุ่มเล็กๆ มันทำงานง่าย ความเสี่ยงความสูญเสียน้อย และไม่มีเรื่องความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง”

เราประเมินดูว่าความเสี่ยงสูงสุดอาจจะติดคุก 1-2 เดือน เรายอมรับได้หรือเปล่า มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่การจัดตั้งชุมนุมแล้วถูกสลายการชุมนุม ถ้ามันเป็นเช่นนั้นผมรับผิดชอบชีวิตคนอื่นไม่ได้ ผมรับผิดชอบได้แค่ตัวเองอย่างเดียวก็เลยทำเท่าที่ทำได้

ผมปราศรัยไม่เป็น แต่ผมก็ชื่นชมคนที่พูดบนเวที เขาเก่งมากในการลำดับเรื่อง แต่เราทำไม่เป็น ก็ใช้การเคลื่อนไหวที่มันเป็นการเคลื่อนไหวจริงๆ

ตั้งแต่ผมเรียนจบใหม่ๆ งานของผมเป็นเรื่องการทำ public campaign ตั้งแต่เรื่องแรงงานเด็กไปจนถึงเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นเราค่อนข้างมั่นใจว่าเรามีข้อความที่อยากจะสื่อ พอคิดได้แล้วก็มาคิดต่อว่ากระบวนการจะเป็นยังไง

ผมไม่มีคนหลักพันที่จะมาชุมนุม ถ้าคนเราน้อย วิธีการสื่อสารของเราจะต้องชัด หมายความว่าต้องมีการกระทำ เราเลยต้องคิดว่าใครจะเป็นคนดูของเรา คนดูจะว่ายังไง ส่วนที่ยากคือการทำให้ข้อความไปถึงคนดู เราเลยต้องอาศัย media อย่างสื่อมวลชน

ดังนั้นตอนที่ผมไปโปรยใบปลิวฟ้องศาลประชาชน คุณอาจจะไม่ได้รับข้อความในใบปลิวนั้นก็ได้ แต่ถ้าคุณเห็นว่ามีคนมาโปรยใบปลิวเพราะอะไร สารมันก็ไปถึงแล้ว

ด้วยความเป็นคนมักง่ายคือมักทำอะไรง่ายๆ วิธีแบบนี้ก็ค่อนข้างจะได้ผล แต่ปัญหาของการเคลื่อนไหวแบบมักง่ายมันก็จะมีปัญหา เพราะมันจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณจะสู้กับอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลง คุณต้องเปลี่ยนมันให้ได้ ถูกไหม

แต่การทำแบบผมมันเปลี่ยนได้สำหรับคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอยู่แล้ว แต่กับคนที่ยังไงก็ไม่เปลี่ยนอยู่แล้ว ก็ต้องใช้เวลายาวนาน ต้องลงทุนมากกว่าที่จะเปลี่ยนความคิดได้

หลายคนมองว่าการจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องลงถนน ผมว่าลงก็ลงได้ แต่คนอาจจะมองว่าคนสองพันสามพันคนไปลงถนน ก็คงเปลี่ยนอะไรไม่ได้อยู่ดีในบริบทที่เป็นอยู่ ถ้าเราเห็นปลายทางแบบนี้ ผมก็เลือกที่จะใช้วิธีมักง่ายไปดีกว่า

ถ้าทุกคนเข้าใจในทันทีว่าการที่ทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง จับอาวุธเข้ามาฆ่าประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราก็จะไม่ต้องมาอธิบาย เราก็จะไม่ต้องมาจัดงานรำลึกความสูญเสีย แต่มันมีคนที่ไม่ยอมเชื่อ ถ้าเราไปไล่จับคนที่เห็นต่างจากเรามาฆ่า มันก็จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ผมไม่เชื่อในวิธีการนี้ ผมก็ทำแบบที่ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เปลี่ยนแปลงคนข้างเคียง ใช้เวลานาน และไม่มีผลลัพธ์เป็นตัวเลข เราเห็นตัวเอง เรารับได้กับตัวเอง พูดอย่างนี้เหมือนพระไพศาลเลย (หัวเราะ)

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นในการเมืองในระบอบรัฐสภา ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน เราเลือกเขาเข้าไปแล้ว เขาจะต้องทำตามสิ่งที่ประชาชนเลือกเขาต้องการ ดังนั้นผมก็จะโดนคนเสื้อแดงด่าเวลาที่ผมด่าพรรคเพื่อไทยช่วงที่เป็นรัฐบาล ผมด่าเพราะว่าพรรคเพื่อไทยได้อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ไม่ได้เคียงข้างประชาชนตอนเกิดรัฐประหาร

ตอนที่มีแกนนำพรรคไทยรักไทยในอดีตไปประกาศที่กัมพูชาว่าจะจัดตั้งกองกำลังขึ้นสู้ ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่เจ๋ง ในแง่ที่ว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากประชาชนไปแล้ว คุณควรจะทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่หนีหัวซุกหัวซุน แล้วปล่อยให้ประชาชนมาลงถนนตายกันเอง

ตอนพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น แล้วธนาธรประกาศว่าถ้ามีรัฐประหาร เขาจะไปที่สภา ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรจะมี ส.ส. ไทยพูดเรื่องนี้ มันเป็นภาระของผู้แทนราษฎรที่มี commitment กับประชาชนและต่อระบอบประชาธิปไตยว่าถ้ามีอำนาจนอกระบบเข้ามาคุณจะต้องเป็นพวกแรกที่ลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่พวกแรกที่หนีแล้วยังหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่จะให้มาเลือกพวกคุณ

ผมยินดีจะเลือกพรรคที่สู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าจะต้องลำบากยากแค้นด้วยพิษทางเศรษฐกิจไปอีกกี่ปีก็ตาม เพราะผมเชื่อว่าถ้าประเทศชาติเป็นประชาธิปไตย มันจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างถ้วนหน้าได้

 

บาดแผลนิรโทษฯ สู่รัฐประหาร

 

ในมุมของญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจเป็นกระสุนนัดที่สองที่ทำให้เกิดความเจ็บแปลบขึ้นในอก และสร้างรอยร้าวในหมู่ประชาชนที่เลือกยืนข้างประชาธิปไตย

พ่อน้องเฌอคือหนึ่งในคนที่ออกมาค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ และพยายามเสนอร่างกฎหมายฉบับผู้สูญเสีย แต่พายุการเมืองก็โหมแรงจนเลยเถิดไปเป็นเงื่อนไขให้สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ และกวักมือเรียกกองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2557

วันนี้เขามองย้อนกลับเข้าไปที่แผลนั้น…

ตั้งแต่ตอนทำงานอยู่ในภาคเอกชน เรารู้อยู่แล้วว่าถ้ามีการยื่นร่างพระราชบัญญัติเข้าไปโดยไม่ได้มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจง มันจะต้องมีการเพิ่มเนื้อหายัดไส้ไปในการแปรญัตติวาระที่สองที่สามแน่

เมื่อเรารู้เรื่องนี้โดยสภาพ การที่พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนโดยเฉพาะคนที่ถูกสังหารหมู่มา ถ้าคุณเข้าใจกระบวนการออกพระราชบัญญัติ แล้วคุณยังยื่นร่างเข้าไปโดยไม่คำนึงถึงการแปรญัตติ มันจะมีปัญหาตามมาแน่ ผมเลยปรึกษาเพื่อนๆ ทนายความ นักวิชาการ ว่าถ้าบรรดานักการเมืองเขาร่างได้ เราก็ต้องร่างได้

ฉบับที่เราช่วยกันร่างขึ้นนั้น เราร่างแบบขมวดปมลงไปเลยว่าต้องการผลให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการดิ้นไม่หลุด คนทำผิดต้องได้รับโทษ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกร้องอยู่แล้ว

แต่ยังไม่ทันได้ขยับอะไรมาก แกนนำนปช. ที่เขาได้ยินข่าวการเคลื่อนไหวของพวกเราก็รีบออกมาให้ความเห็นว่าร่างของกลุ่มญาตินี้จะปล่อยให้ทหารพ้นผิด

ตอนนั้นคนเขียนประเด็นนี้คือหมอเหวง ผมก็ไปถามลูกชายแกเพราะเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก วันรุ่งขึ้นบทความดังกล่าวถูกลบไป แต่หลังจากนั้นผมก็โดนสาดโคลนว่ารับเงินเสื้อเหลืองมาทำงาน

เวลาคนเสื้อแดงเข้ามาด่า ผมก็บอกว่าไปเอาคลิปหรือภาพนิ่งมาฟ้องก็ได้  ถ้ามีหลักฐานมาผมยินดีจะจ่ายเงินให้ พวกเพื่อนๆ ก็มาแกล้งผม เอารูปสมศักดิ์ โกศัยสุข มาโพสต์เฟซบุ๊กล้อว่าผมเป็นพวกเสื้อเหลือง พวกเสื้อแดงที่ไม่เข้าใจก็แชร์ไปด่าต่อ

จนกระทั่งช่วงที่ร่างพระราชบัญญัติอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระสอง ก็เริ่มมีญาติของผู้เสียหายจากฝั่งนปช. ไปออกรายการทีวี เราจะเห็นพิธีกรถามคำถามชี้นำตลอด แต่ที่ตลกคือเวลาพูดสรุปตอนท้าย ญาติๆ เขาก็จะบอกว่าคนผิดต้องได้รับการลงโทษ (หัวเราะ)

แล้วพอรัฐประหาร สิ่งแรกที่เราทำคือเงี่ยหูฟังข่าว สมัยที่ผมทำงานอยู่ภาคเอกชน เวลาเราได้ยินข่าวเล็กๆ เราต้องจับประเด็นให้ไวแพราะมันเป็นเหมือนโยนก้อนหินถามทาง

ถ้าคุณเป็นผู้มีส่วนได้เสียและตามเรื่องนี้มาตลอด คุณก็จะเข้าใจว่าคนที่ยึดอำนาจก็คือพวกเดียวกับที่เป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาก่อน แม้ว่าตอนนั้นจะไม่ได้นั่งหัวโต๊ะก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนั้นเป็นรอง ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. พวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียหมด ถ้าเราไปดูว่าใครวางแผนยุทธศาสตร์ ก็โดนกันหมด

 

 

มองหัวอกเสื้อแดง

 

แม้ว่าพ่อน้องเฌอจะออกมายืนฝั่งตรงข้ามกับเผด็จการ และหลายต่อหลายครั้งได้ร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นคนเสื้อแดง

เขาคิดอะไร…

ตั้งแต่แรก ผมเห็นว่าคนเสื้อแดงก็เป็นมนุษย์ปกติ การเป็นมนุษย์หมายความว่ามีความแตกต่างหลากหลายกัน ผมชอบมีวิวาทะกับคนเสื้อแดงมาก เพราะเขาจะบอกว่าเขาคิดเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมก็บอกว่าไม่มีทาง

เสื้อแดงมีหลายเฉด เสื้อแดงที่คิดแบบสลิ่มก็มี ปัญหาคือการเป็นเสื้อแดงของบางคนเป็นวิธีคิดแบบแฟนคลับ มันไม่ช่วยให้เปลี่ยนวิธีคิด การเชื่อว่าแกนนำนปช. จะต้องเป็นกลุ่มที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดก็เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่  สมัยก่อนเราด่าแรมโบ้อีสาน แล้วเสื้อแดงมาด่าเรากลับ ทุกวันนี้เสื้อแดงด่าแรมโบ้หนักกว่าเราอีก (หัวเราะ)

เพราะว่าทุกคนไม่เอาตัวเองให้หลุดออกมาจากวังวน ไม่ถามว่าสิ่งที่เราต้องการสูงสุดคืออะไร มันต้องคุยกันก่อนว่าเป้าหมายสูงสุดในระบอบการเมืองไทยที่คุณอยากเห็นคืออะไร แต่เราไปยึดติดกันเป็นแฟนคลับ เหมือนตอนอนาคตใหม่เกิดขึ้นมา ก็มีลักษณะแฟนคลับ เป็นพวกซื้อบัตรจับมือ พอไม่ได้ดั่งใจก็จะโวยวาย คุณไม่ได้คิดก่อนว่าคุณชอบเขาเพราะอะไร

ทุกคนเป็นมนุษย์ มันก็มีรักมีเกลียด เวลาเห็นคนที่เราชอบทำตัวไม่ถูกต้อง เราก็ไม่พอใจ แต่เราไม่เคยคิดก่อนเลยว่าเราไปชอบเขาเพราะอะไร แล้วเขาทำผิดหรือยัง

เรื่องนี้มันมีความละเอียดอ่อนหลายระดับ สุดท้ายถึงให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล แล้วทำนโยบายที่มีปัญหากับประชาชน เราก็ต้องด่าเขาอยู่ดี ทุกนโยบายมันมีผลกระทบต่อสังคมอยู่แล้ว นโยบายรัฐที่ดีคือนโยบายที่เมื่อออกแล้วมีผลกระทบกับคน จะต้องมีการดูแลที่ดีพอ เหมือนเวลาคุณจะสร้างเขื่อน คุณจะดูแลเยียวยาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นอย่างไร คุณจะไล่เขาออกมา คุณจะไม่เยียวยาหรือไม่หาที่ทำกินใหม่ให้เขาเหรอ

เท่าที่ผมเห็น ปัญหาหลักๆ สังคมไทยตอนนี้คือวัฒนธรรมแฟนคลับ ซึ่งมันเป็นไปกันหมด เพราะเราเทิดทูนบูชากันแบบแฟนขับ ดังนั้นพอเห็นการเปลี่ยนขั้วการเมืองเราก็ช็อคกันหมด ซึ่งผลก็จะมีอยู่สองอย่าง เช่น เลิกเป็นแฟนคลับหรือออกมาปกป้อง

มันจะมีคนที่พยายามปกป้องแบบยอมตาย ซึ่งเราจะเห็นในภาพใหญ่ว่าที่ผ่านมามีคนที่พยายามปกป้องคนที่ตัวเองรักเพื่อรักษาอัตตาของตัวเอง ถ้าคนอื่นไม่รักเหมือนที่เรารัก เราก็พร้อมเป็นศัตรูกับคนนั้น

อย่างกรณีลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ผมก็ขัดใจมานานแล้วเพราะว่าเอะอะคนเสื้อแดงมักจะบอกว่าลุงนวมทองเป็นคนเสื้อแดง ซึ่งไม่ใช่ แกเป็นคนขับแท็กซี่ที่ผูกคอตัวเองตายเพื่อต่อต้านเผด็จการไปก่อนจะมีเสื้อแดงอีก

ผมอยากชี้ให้เห็นประเด็นของการเชียร์แฟนคลับในทางการเมือง ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหนมันไม่ได้ต่างกันเลย ไม่ว่าคุณจะเชียร์ทักษิณ ธนาธร หรือใครก็ตาม ตราบใดที่คุณยังเชียร์แบบตัวบุคคล คุณก็ออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน เพียงแต่เป็นสินค้าคนละยี่ห้อเท่านั้นเอง

 

ข้าม ‘เฌอ’ ไป

 

มองจากระเบียงชานไม้เข้าไปในบ้าน เหมือนเด็กหนุ่มร่างท้วมในกรอบรูปกำลังมองมาที่คนเป็น หลายถ้อยคำ หลากความทรงจำพรั่งพรู

เรื่องของเฌอ จะอย่างไรเสียก็คงอยู่ในเมมโมรี่ของใครต่อใครไปตลอดกาล แต่กับการเดินทางของพันธ์ศักดิ์นั้น เริ่มไกลจากตัวลูกชายไปแล้วอย่างน้อย 10 ปี

อาจจะเรียกได้ว่า วันที่ไม่มีเฌอไม่ใช่ประเด็น ห้วงคำนึงไม่ใช่สาระสำคัญ

พันธ์ศักดิ์บอกว่า ที่จำเป็นต้องสู้ เพราะความยุติธรรมมันยังมาไม่ถึง และมันจะถูกทำให้หายไป เราเลยจำเป็นต้องสู้เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ เราต้องมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เพราะรัฐไม่ได้เปิดกว้างที่จะฟังความเห็นของประชาชน มันต้องการความสงบ เป็นความสงบราบคาบ ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อย

“เวลาผมพูดแบบนี้ ผมไม่ได้คิดถึงเฌอแล้ว” เขาหล่นคำลงในบ่ายวันแดดแรง และเฌออาจไม่ได้ยินเสียงของพ่อ

เช่นเดียวกับที่เฌอคงไม่รู้ว่าอนาคตหลังจากนี้แดดจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023