fbpx
เมื่อวิธีการมาก่อนความหมายใน “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ”

เมื่อวิธีการมาก่อนความหมายใน “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ”

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

บ่อยครั้งที่เราอ่านวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะสื่อ หรือวิธีการเล่าเรื่องนั้นแปลกตา ไม่คุ้นชิน จนทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่กำลังอ่านได้ บางเรื่องจับต้นชนปลายไม่ได้ และเรามักจะเข้าใจต่อว่า มันคือวิธีการเล่นกับการเล่าเรื่องเพื่อทำให้การรับรู้ของเราเปลี่ยนไป หรือเป็นความพยายามของผู้เขียนที่กำลังระดมสารพัดเครื่องมือทางวรรณกรรมมาใช้ เพื่อให้ผลการสื่อสารนั้นมีความแปลกและแตกต่างไปจากงานเขียนชิ้นอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราตระหนักน้อยมาก คือเรื่องวิธีในการอ่าน และขนบในการตีความวรรณกรรมที่เรากำลังอ่านอยู่แต่ละเล่ม แน่นอนว่าทุกครั้งที่อ่านวรรณกรรม เราคำนึงถึง ‘ความหมาย’ ที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสารออกมาในงานของเขา เราอ่านเพื่อเค้นเอาความหมายของตัวบทวรรณกรรมมาสำเริงสำราญตัวเราอยู่เสมอ

แต่คำถามที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ถ้าหากความหมายไม่ได้มีความสำคัญในการอ่านอีกต่อไปแล้วล่ะ เราจะทำอย่างไร? เราจะยังนับไหมว่าสิ่งที่เราอ่านอยู่เป็นวรรณกรรม? หากว่าวรรณกรรมไปให้ความสำคัญกับวิธีการแทน เราจะยังสำเริงสำราญกับมันอยู่ไหม?

“ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” รวมเรื่องสั้น 11 เรื่องของ ภาณุ ตรัยเวช ดูเหมือนว่าจะเป็นความพยายามในการทำอะไรเช่นนั้น

ในเบื้องต้น ผมคิดว่า ถ้าหากเราอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ด้วยกรอบคิดเดียวกับการอ่านวรรณกรรมสัจนิยม ซึ่งต้องนำเสนอและสะท้อนความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด ชัดเจนที่สุด หรือแม้แต่จะอ่านด้วยกรอบคิดของ ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอสัญลักษณ์และวิธีการเล่าอันแปลกใหม่เพื่อสร้างความรับรู้ที่แตกต่าง…อาจจะต้องลองทบทวนดูอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องนี้ มีรูปแบบการเล่าเรื่องแตกต่างกัน ซึ่งเป็นความแตกต่างในระดับ ‘ประเภทของวรรณกรรม’ (genre) เช่น มีเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน (บูเครแองเกลส) เทพนิยาย (นาวาคนเขลา) แนวเสียดสี (คาลวิโนในรัตติกาล, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) นิทานซ้อนนิทาน (เรื่องที่ 11) แนวสยองขวัญ (ตั้งแต่คอลงมา) แนวปรัชญา (น้ำพุแห่งวัยเยาว์)

การแบ่งประเภทของวรรณกรรมดังกล่าวนั้น เป็นการแบ่งตามลักษณะของเนื้อหาที่ในแต่ละแนวต่างก็มี ‘ขนบ’ เป็นของตัวเอง ขนบนี้มีบทบาทสำคัญทั้งในการกำหนดวิธีการเขียน การเล่าเรื่อง ตลอดจนกำกับ ‘วิธีการอ่าน’ อีกด้วย ดังนั้น การจะเข้าใจว่าเรื่องแต่ละประเภทต้องการจะนำเสนออะไร อาจจำเป็นต้องเข้าใจขนบของวรรณกรรมในแนวนั้นเพื่อเข้าใจ ‘วิธีการอ่าน’ หรือ ‘วิธีการเข้าถึง’ เรื่องเล่าแต่ละประเภท

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ (หรือแม้กระทั่งยอมรับหรือไม่ก็ตาม) นักอ่านทุกคน ทั้งประสบการณ์มากและน้อย เมื่อได้เปิดอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง พวกเขาจะถูกกำกับความเข้าใจ วิธีการอ่าน และการตีความสิ่งที่พวกเขากำลังอ่านอยู่เสมอ เช่น ในการอ่านเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนซึ่งหลักๆ จะมีเหตุการณ์ 2 อย่างอยู่ในเรื่อง คือ เหตุการณ์ตอนฆ่าและเหตุการณ์ตอนสืบสวน ผู้ที่อ่านเรื่องแนวนี้จะสวมบทเป็นนักสืบในเรื่องไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การอ่านจึงจำเป็นต้องหารายละเอียด เพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในการฆ่า และอธิบายว่าฆาตรกรนั้นก่อเหตุอย่างไร มีแรงจูงใจอะไร ในขณะเดียวกัน นักอ่านจะไม่ใช้วิธีการอ่านแบบนี้ในการอ่านเรื่องประเภทอื่นๆ

เช่นในเรื่อง “บูแครแองเกลส” เหตุการณ์ตอนสืบสวนนั้นมีความสำคัญกว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมอย่างเห็นได้ชัด เราแทบไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้นคืออะไรและเกิดอะไรขึ้นบ้าง จนเรามารู้ก็ต่อเมื่อหลวงสรรพสิทธิไปขอความช่วยเหลือในการสืบสวนที่บ้านของเพียงออ โดยมีคานัคเป็นกุญแจสำคัญในการไขคดี

ไม่ว่าผลของการสืบสวนจะเป็นอย่างไร ฆาตกรคือใคร สิ่งหนึ่งที่ผมไม่สามารถปฏิเสธได้ คือการแสดงให้เห็นว่า เรื่องแนวสืบสวนสอบสวนมีขนบในการอ่านและการตีความที่ชัดเจน เพียงแต่เราต้องเข้าใจขนบนั้นๆ เพื่อเข้าใจธรรมเนียมของการอ่านงานแนวนี้ เปรียบได้กับการอ่านงานประเภทอื่นๆ เช่นกัน มันจำเป็นอยู่พอสมควรที่เราจะต้องเข้าใจว่า งานที่เรากำลังอ่านอยู่นั้นมีขนบและธรรมเนียมในการอ่านการตีความอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่เราน่าจะพิจารณาคือ วิธีการที่ตัววรรณกรรมใช้ และวัตถุประสงค์ในการอ่าน

ถ้าหากวรรณกรรมทุกเรื่องบนโลกนี้ต้องอ่านแบบสัจนิยมกันทั้งหมด หรือแม้กระทั่งต้องอ่านด้วยวิธีคิดที่ว่า มันคือการละเล่นกับภาษา วรรณศิลป์ กลวิธีทางวรรณกรรม โดยที่เราไม่ได้ตระหนักว่ามันถูกจัดอยู่ใน genre แบบใด เราอาจถูกวรรณกรรมหลอกอยู่ร่ำไปก็ได้

(ฟังดูเหมือนเผด็จการในการอ่านวรรณกรรมที่มีข้อกำหนดว่าวรรณกรรมประเภทใดควรอ่านแบบใด แต่ผมก็ตระหนักอยู่ว่าในโลกแบบเสรีนิยมกระฎุมพี เสรีภาพในการอ่านและการตีความถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ใครจะละเมิดมิได้ ดังนั้น บทวิจารณ์วรรณกรรมชิ้นนี้ก็อาจได้รับก้อนหินมากมายเป็นของตอบแทน)

ในแง่นี้เอง การอ่าน “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” เพื่อหาความหมายที่มันสื่อออกมา จึงอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ‘ถูกสื่อ’ ออกมาด้วยประเภทของวรรณกรรม (genre) แบบใด และการพิจารณาต้องตามมาด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ‘ขนบ’ ของวรรณกรรมประเภทนั้นอีกด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่ภาณุทำใน “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” คือการหยิบยืมเอา ‘เรื่องเล่า’ ชุดอื่นๆ มาผสมผสาน ตลอดจนตีความใหม่เพื่อให้เกิดเป็นเรื่องเล่าชุดใหม่ขึ้นมา ในแวดวงวรรณกรรมศึกษาอธิบายลักษณะของเรื่องเล่าแบบนี้ว่า “สัมพันธบท” (intertextuality) (สหบทก็เรียก)

แนวคิดเรื่องสัมพันธบทเป็นสิ่งที่ถูกนำมาอธิบายตัวบทวรรณกรรม ‘หลังสมัยใหม่’ ที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของสัญญะชุดต่างๆ ซึ่งไหลเวียนกันอยู่ในสังคม หน้าที่ของนักเขียนหรือนักประพันธ์ คือการเอาชุดสัญญะที่มีอยู่แล้วมาจัดเรียงใหม่ เพื่อให้กลายเป็นชุดสัญญะขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง

เราอาจอธิบายในอีกแง่หนึ่งด้วยว่า มันคือการปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะบุคคลของนักประพันธ์ และยังปฏิเสธแนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์อีกด้วย เพราะนักประพันธ์ไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ในด้านเนื้อหา แต่ความใหม่คือวิธีการในการเรียบเรียงและเชื่อมโยงชุดสัญญะใหม่เข้ากับชุดสัญญะที่เคยมีมาก่อนหน้านี้

วิธีการและแนวคิดของสัมพันธบทที่อยู่ใน “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” นั้นสอดคล้องกับการรวบรวมเอาประเภทของวรรณกรรมหลายประเภทมาใช้ในการสร้างเรื่องสั้นขึ้นมาแต่ละเรื่อง เพราะท้ายที่สุด มันคือการยืนยันถึงความสำคัญของรูปแบบมากกว่าเนื้อหานั่นเอง วิธีการนำเสนอรูปแบบดังกล่าวจงใจให้เหมือนการตัดแปะชิ้นส่วนของเรื่องต่างๆ มาร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นประเภทของวรรณกรรม (genre) ใหม่ขึ้นมา แต่ชุดสัญญะต่างๆ ที่ถูกนำมาร้อยเรียงใหม่นั้น ย่อมผ่านการตีความจากนักประพันธ์เพื่อนำมาใช้ในการสื่อความหมายของชุดสัญญะชุดใหม่ที่สร้างขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การนำเอาบทละครของเชกสเปียร์มาตีความใหม่และเล่าในรูปแบบของนิทาน/เทพนิยายในเรื่อง “นาวาคนเขลา” นั้น ผู้อ่านต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า มันถูกตีความและดัดแปลงมาจากบทละคร The tempest ของเชกสเปียร์ และสำหรับผู้ที่เคยอ่านหรือศึกษามาแล้ว ย่อมคุ้นชินกับ ‘ขนบ’ ของบทละครตะวันตก เข้าใจลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่อง เมื่อมาพบกับการตีความและการเรียบเรียงใหม่ของนักประพันธ์ ในแง่หนึ่งมันคือการสร้างความรับรู้แบบใหม่ให้กับบทละคร The tempest ของเชกสเปียร์

แม้ผู้อ่านจะตระหนักดีว่า มันคือเรื่องใหม่ที่อาจได้แรงบันดาลใจมาก็ตาม แต่ร่องรอยของบทละครของเชกสเปียร์ก็ยังคงเป็นแบบแผนในการเข้าใจเรื่องสั้น “นาวาคนเขลา” อยู่ไม่น้อย และแม้ว่าภาณุจะเปลี่ยนเรื่องให้ตัวละครอย่าง มิรันด้าและแอเรียล เป็นกึ่งชายกึ่งหญิงอยู่ในร่างเดียวกันและร่วมรักกับเฟอร์ดินาน แต่ผู้อ่านที่มีประสบการณ์ก็อาจถูกรบกวนจากร่องรอยต้นเค้าของเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา หรือแม้แต่การสอดแทรกประเด็นความพยายามต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม เพื่อปลดแอกตัวเองของชนพื้นเมืองบนเกาะแห่งปัญญา ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ‘ประหลาดใจ’ ไม่น้อยที่คาลิบันถูกตีความไปเช่นนั้น

ความแปลกในการตีความของนักประพันธ์อาจเห็นได้จาก “ฝันกลางวันฤดูร้อน” อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้ดูเหมือนจะใช้รูปแบบของเรื่องผีเป็นสื่อในการนำเสนอ ไม่ใช่ผีที่มีความน่ากลัวชวนให้ขนหัวลุก แต่เป็นเรื่องผีที่เชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีตผ่าน “พระราชวังพญาไท”

ในเรื่องสั้นเรื่องนี้พยายามแสดงให้เห็นการตีความใหม่ หรือพยายามจะดัดแปลง หรือแม้กระทั่งบิดเบือนวรรณคดีเรื่องเอกของไทยอย่าง “มัทนะพาธา” พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างน่าสนใจ เพราะมันจงใจให้เห็นว่าต้องการบิดเบือนเรื่องราวอย่างชัดเจน ซึ่งไปขัดแย้งกับลักษณะบุคลิกของ “อุทิศ” ตัวละครเอกในเรื่อง ที่มักจะ “เป็นทนายแก้ต่างให้ผี” ภาณุได้อธิบายอย่างชัดเจนในท้ายเล่มว่าเอามาจากเรื่องผีของครูเหม นายอุทิศของครูเหมนั้นเป็น “กึ่งนักประวัติศาสตร์ กึ่งนักสะกดผี ออกผจญภัยทั่วประเทศไทย เพื่อพูดคุยกับผีบุคคลสำคัญในสถานที่ต่างๆ” (หน้า 252)

ความขัดแย้งดังกล่าวคือ อุทิศในเรื่อง “ฝันกลางวันฯ” นั้นชอบแก้ต่างให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย (ในรูปแบบของผี) แต่เขาไม่ได้ตระหนักเลยว่า ละครที่กำลังเล่นกันในเรื่อง มันคือการบิดเบือนเรื่อง “มัทนะพาธา” การเข้าใจว่าละครที่จะเล่นกันในเรื่องนั้นไม่ใช่ “มัทนะพาธา” ก็อาจทำให้ยอมรับได้มากขึ้น แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์กับเรื่อง “มัทนะพาธา” การบิดเบือนนี้มันตำตาจนเกินไป และในท้ายที่สุดก็วนกลับไปความคุ้นชินของคนอ่านที่มีต่อประเภทของวรรณกรรมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดเรื่องสัมพันธบทกับตัวบทวรรณกรรม ‘หลังสมัยใหม่’ นั้นอาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เพราะเคยมีอยู่แล้วในวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์

เช่น ใน “เรื่องที่ 11” นำเอาลักษณะของนิทานซ้อนนิทานซึ่งเป็นรูปแบบทางวรรณกรรมที่ใช้กันมากในนิทานและวรรณกรรมของอินเดีย ทั้งยังเป็นต้นเค้าให้กับนิทานซ้อนนิทานของไทย โดยเฉพาะเรื่อง “นิทานเวตาล” อันเป็นที่นิยมนั้น เป็นพระนิพนธ์แปลของ น.ม.ส. ที่คัดมาจำนวน 10 เรื่องจากทั้งหมด 25 เรื่องวรรณกรรมสันสกฤต เรื่องสั้น “เรื่องที่ 11” เป็นความจงใจแสดงให้เห็นถึงการเล่นกับเวอร์ชั่นพระนิพนธ์แปลของ น.ม.ส. โดยตรงในลักษณะที่ว่า เป็นเรื่องที่ 11 ของนิทานเวตาลแต่ น.ม.ส. ไม่ได้เป็นคนแปล

นิทานซ้อนนิทานทำหน้าที่หลายลักษณะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้แต่งเรื่องนั้นๆ ในวรรณคดีไทย การซ้อนนิทานมักใช้กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คำสอน และคติสอนใจ เช่น เรื่องนิทานเวตาล แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง แต่ก็ถูกนำมาใช้ในฐานะเครื่องสอนใจอย่างหนึ่ง เพราะทั้ง 10 เรื่องในฉบับของ น.ม.ส. นั้น แต่ละเรื่องล้วนแฝงคติสอนใจทั้งสิ้น

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในนิทานเวตาล คือ ลักษณะการใช้ปริศนาเป็นจุดสำคัญของตัวเรื่อง พระวิกรมาทิตย์ย่อมแก้ปริศนาของเวตาลในทุกๆ เรื่องเพื่อแสดงให้เห็นสติปัญญาและขัตติยะมานะของพระองค์ แต่ในเรื่องสั้น “เรื่องที่ 11” นั้นเป็นนิทานซ้อนนิทานถึงสามชั้น

ชั้นแรก คือความเป็นนิทานด้วยตัวมันเอง ชั้นต่อมา คือชั้นนิทานที่เวตาลได้เล่าให้ฟัง และอีกชั้นหนึ่ง คือนิทานที่ถูกเล่าอยู่ในนิทานซ้อนของเวตาลอีก 4 เรื่อง ในประเด็นนี้ ภาณุพยายามเอาขนบในการอ่านและการตีความนิทานซ้อนนิทานที่มีอยู่ในวรรณกรรมอินเดียมาใช้ในงานวรรณกรรมร่วมสมัย การใช้ genre นิทานซ้อนนิทานมาสร้างเป็นเรื่องสั้นร่วมสมัยแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความซับซ้อนของเรื่องเล่าสมัยใหม่ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเทคนิคที่เคยใช้กันมาหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว การแสดงให้เห็นความยุ่งเหยิงของเรื่องเล่าจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในแวดวงวรรณกรรมเลย

การเสียดสีก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่ภาณุเอามาใช้ในเรื่องสั้นของเขา เช่น ในเรื่อง “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” พูดถึงแวดวงวรรณกรรมไทยกับการ ‘ปลอมตัว’ เป็นเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ของนักเขียนโนเนมที่ขายของปลอมอยู่ตามห้างสรรพสินค้า การใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงไม่ทำให้เขามีชื่อเสียงได้มากกว่าการหลอกคนอื่นว่าเป็นมหากวีใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สิ่งที่น่าสนใจคือ การกระทำใดๆ ของเนาวรัตน์ตัวปลอมที่เกิดขึ้นในเรื่อง เช่น การไปขึ้นเวทีทางการเมือง การแต่งบทกวีทางการเมืองที่ “เขาบอกว่าภาษายิ่งรุนแรง ยิ่งด่าฝ่ายตรงข้ามสาดเสียเทเสียเท่าไรก็ยิ่งถูกจริตผู้ฟังเท่านั้น…” (หน้า 193) อาจส่งผลต่อการมองเนาวรัตน์ตัวจริง (ในเรื่อง) ไปโดยปริยาย “ไม่ว่าอาจารย์เนาวรัตน์จะคิดอย่างไรก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของท่าน ที่แน่ๆ คือผมไม่อาจมองเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ด้วยสายตาแบบเดิมอีกต่อไป” (หน้า 196)

ส่วนในโลกความเป็นจริง หากใครติดตามข่าวสารหรือติดตามอ่านผลงานนักเขียนและกวีของไทยบ้าง จะมีสักกี่คนกันที่สามารถมองเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ‘แบบเดิม’ (ในที่นี้ก็ไม่แน่ใจว่าแบบเดิมคืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่) (หรือไม่ เป็นเราที่เข้าใจผิดมาตลอดเลยก็ได้) ได้อีกต่อไป

อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่อง “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” คือ บรรดานักเขียน กวี หรือบุคคลสำคัญในแวดวงวรรณกรรมที่มีชีวิตอยู่จริง และใช้ชื่อจริงในการสร้างเรื่องแต่งทุกคนในเรื่องดูเหมือนจะจำไม่ได้หรือแทบไม่รู้จักเนาวรัตน์จริงๆ เลย เพราะหากรู้จักกันจริง ก็ย่อมรู้ว่านั่นคือตัวปลอม ขนาด “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ยังทักว่า “ไม่ได้เจอกันตั้งนานพี่เนาว์ดูหนุ่มขึ้นนะ” และ “ผมก็ดกดำขึ้นด้วย” “บอกผมหน่อยได้ไหม ใช้ยาสระผมยี่ห้ออะไร” (หน้า 190-191) เรื่องสั้นนี้จึงชวนให้สงสัยว่า ในแวดวงวรรณกรรมนี้พวกเขารู้จักเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์กันในแง่ไหนและรู้จักอย่างไร?

การเสียดสีแวดวงวรรณกรรมโดยเฉพาะวรรณกรรมศึกษายังปรากฏอยู่ในเรื่อง “คาลวิโนในรัตติกาล” ซึ่งเล่าถึงงานวิทยานิพนธ์ของปอแก้วถูกอาจารย์ผู้เล่าเรื่องวิจารณ์ ด้วยน้ำหนักด้านตรรกะ หลักฐาน และเหตุผลต่างๆ ทำให้วิทยานิพนธ์ของปอแก้วต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะผ่าน แต่แล้วปอแก้วก็ทำให้อาจารย์ต้องแปลกใจ เมื่อเธอนำพาอาจารย์ไปพบกับวิญญาณของ อิตาโล คาลวิโน ที่ปอแก้วสามารถติดต่อผ่านอารมณ์ทางเพศ และอาจารย์ก็สามารถเห็นและรับรู้ได้ผ่านการสัมผัสตัวเธอ

หลังจากได้พบกับคาลวิโนที่แม้จะอยู่ในรูปของวิญญาณ ปอแก้วก็ถามอาจารย์ของเธอว่า เธอยังต้องแก้ไขอะไรอีกหรือไม่ และได้รับคำตอบว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้ครูจะพูดกับกรรมการที่เหลือเอง” (หน้า 78) นั่นแสดงให้เห็นว่า ข้อเสนอหรือข้อถกเถียงทางวิชาการนั้นไม่ว่าจะหนักแน่นและชัดเจนเพียงไร ก็ไม่อาจหนักแน่นเท่ากับการเข้าถึงแหล่งข้อมูลชั้นต้นที่สุด อย่างเช่นนักเขียนที่แม้จะตายไปนานแล้ว แต่ก็ยังสามารถติดต่อได้ผ่านความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจอธิบาย

มันชวนให้ผมนึกถึงว่า จะดีแค่ไหนถ้าผมสามารถติดต่อสุนทรภู่ได้เหมือนปอแก้ว ผมจะได้ถามว่าตอนเถียงเรื่องกลอนหน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านกริ้วสุนทรภู่ตามที่คนเขาลือกันหรือไม่ และถ้าผมทำได้จริงๆ สิ่งที่ผมตรากตรำเรียนมาก็ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรเลย

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งใน “ลิงหินฯ” คือ ความพยายามในการอ่านเรื่องสั้นด้วยกรอบคิดและขนบแบบสัจนิยม หรือแม้กระทั่งพยายามอ่านเรื่องสั้นในเล่มนี้ด้วยสมมติฐานที่ว่า มันคือวรรณกรรมสะท้อนสังคม หรือวรรณกรรมที่มีสำนึกเกี่ยวกับสังคม สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่า “ลิงหินฯ” นั้นมีบทสนทนากับแวดวงวรรณกรรมไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะงานวรรณกรรมที่มีสำนึกทางสังคม มากกว่าจะไปสะท้อนสังคม หรือพยายามแสดงให้เห็นความยอกย้อนของสังคมไทยร่วมสมัยเสียอีก

นักเขียนและกวีไทยจำนวนมากพยายามอย่างยิ่งที่จะสะท้อนสังคมหรือแสดงเจตจำนงทางสังคมผ่านผลงานเขียนของตัวเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เจตจำนงทางสังคมที่แฝงฝังอยู่ในผลงานวรรณกรรมเหล่านั้น มันประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดในสังคมไทย นักเขียนไทยชอบเล่นกับวิธีการนำเสนอ แต่วิธีการเล่นนั้นส่งผลต่อเป้าหมายที่นักเขียนต้องการจะพูดถึงหรือไม่? อย่างไร? สังคมไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเพราะพลังของวรรณกรรมสักที เป็นเพราะนักเขียนมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของการสื่อสารมากกว่าวิธีการใช่หรือไม่?

มันทำให้วรรณกรรมไทยมีความเป็นหนังสือเทศนามากกว่าการเป็นเครื่องสำเริงสำราญอารมณ์ของผู้อ่าน พูดให้ง่ายกว่านั้น …วรรณกรรมไทยนั้นน่าเบื่อเสียเหลือเกิน

ดังนั้น ประเภทของวรรณกรรมที่หลากหลายในรวมเรื่องสั้น “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” มันอาจพยายามแสดงให้เห็นว่า genre แต่ละประเภทมีขนบการอ่านและการตีความเพื่อเข้าถึงความหมายของสิ่งที่ต้องการนำเสนอแตกต่างกัน และสิ่งที่เรียกว่า ‘ผู้อ่าน’ ก็มีหลากหลายประเภทเช่นกัน พวกเขารู้และเข้าใจว่ามี genre มากมายที่เขาสามารถเชื่อมต่อได้ เข้าไปปะทะสังสรรค์ได้ การทำให้วรรณกรรมมี genre อยู่ไม่กี่แบบและมีวิธีอ่านไม่มาก ไม่ช่วยทำให้เป้าหมายของวรรณกรรมขยับขยายให้กว้างขวางไปได้

ดังที่ภาณุได้เฉลยข้อความปริศนาที่ค้างคาใจของเขาเมื่อครั้งเรียนอัสสัมชัญเอาไว้ใน “ลิงหิน (เสมือนคำนำ)” ที่กล่าวว่า “โฮราชิโอเอ๋ย ในโลกกว้าง ใต้ฟ้าสีคราม มีสรรพสิ่งมากมายเป็นอันสรรพปรัชญาของเจ้าไม่อาจนำมาใช้อธิบายได้” ข้อความดังกล่าวมาจากบทละคร Hamlet องก์ 1 ฉาก 5 วรรคที่ 167 ข้อความดังกล่าวนี้เตือนให้ผมระลึกได้ว่า ในบรรดาโลกอันกว้างไกลของวรรณกรรมนี้ มีวิธีการอ่านและขนบวรรณกรรมอีกมากมายที่สติปัญญาของผมไม่อาจอธิบายได้ทั้งหมด แทนที่ผมจะเข้าใจไปว่า การอ่านวรรณกรรมมีอยู่ไม่กี่แบบและเป้าหมายของวรรณกรรมนั้นก็ไม่มีกี่อย่าง ยอมรับกันเสียตรงๆ ว่าประสบการณ์ในการอ่านของผมนั้นจำกัดจำเขี่ยมากๆ ก็น่าจะช่วยให้รู้สึกอยากพัฒนาตัวเองขึ้นมาโดยทันที

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save