fbpx

เราไม่อาจคาดหวังนโยบายแปลกใหม่ ในกติกาที่สร้างความไม่แน่นอนแก่ระบอบประชาธิปไตย – บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

‘ค่าแรง 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน ภายใน 2570’

‘ปิดสวิตซ์ 3 ป. เอาทหารออกจากการเมือง’

‘พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก’

‘ไม่ขายฝัน ทุกนโยบายทำได้จริง’

และอีกมากมายที่เรียงรายทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเลือกตั้งระดับชาติ ปี 2566 หลังคนไทยอยู่กับนายกรัฐมนตรีหน้าเดิมนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 2557 นี่เป็นโอกาสในรอบ 4 ปี ตามครรลองของระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะได้เลือกผู้นำคนใหม่ ดังนั้นวินาทีนี้คงไม่มีเรื่องใดน่าจับตามากไปกว่า ‘ใคร’ และ ‘พรรคใด’ จะได้รับคะแนนนิยมสูงสุดไปครอง

โดยธรรมชาติของการแข่งขันเพื่อจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภา และใบเบิกทางสู้การคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ละพรรคย่อมต้องวางแผนสื่อสารการตลาดให้ผู้คนจดจำ เชื่อมั่น ถึงขั้นเข้าคูหากาหมายเลขของผู้แทนและพรรคให้ สำหรับผู้มีสิทธิลงคะแนนส่วนใหญ่อาจคาดหวังจะได้เห็นการประชันกันด้วยนโยบายเป็นหลัก เพื่อตัดสินใจจากวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหา พัฒนาประเทศของผู้แทนหรือกระทั่งตัวพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต่างรู้ดีว่าสนามเลือกตั้งไทยไม่ง่ายเช่นนั้น

ในการเลือกตั้งปีนี้ เราเห็นนโยบายส่วนใหญ่ที่ไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มากนัก หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่แตกต่างระหว่างพรรคเสียด้วยซ้ำ – การแก้ปัญหาปากท้องยังเป็นตัวชูโรงสำคัญ ปัญหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังไม่หมดไป ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ไปจนถึงค่ารถเรือยังถูกหยิบยกมาให้คำสัญญา กระทั่งว่าประโยคเดิมๆ อย่างเช่น ‘ไม่ขายฝัน ทุกนโยบายทำได้จริง’ ‘ทำงานจริง ไม่ทิ้งพื้นที่’ ‘คนทำงาน เข้าถึง พึ่งได้’ ฯลฯ ก็ยังปรากฏบนป้ายตามธรรมเนียม

มากไปกว่านั้น คือเรายังอยู่ในกติกาใหญ่ที่แม้หน้าตาจะไม่เหมือนเดิม แต่ทำให้สังคมไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นเดิม ว่าสุดท้ายพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ดังที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางความคึกคักของการหาเสียง 101 ชวน ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ  จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของหนังสือ ‘ถอดรหัสพลิกสนามเลือกตั้ง : ทฤษฎีและบทวิเคราะห์การตลาดการเมือง’ มาร่วมสนทนาถึงความเปลี่ยนแปลงในสนามเลือกตั้งอันเนื่องมาจากความผันผวนของการเมืองไทย กลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดของพรรคการเมือง นโยบายสำคัญ และโจทย์ใหญ่ร่วมกันของคนทั้งสังคมหลังฤดูกาลเข้าคูหาผ่านพ้น

ในสายตาของนักรัฐศาสตร์ อาจารย์บัณฑิตถึงกับออกปากว่า “การเลือกตั้งรอบนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประเมินยาก” แต่ขณะเดียวกัน ก็น่าตื่นเต้นยิ่งนัก เพราะมันคือบทพิสูจน์ครั้งสำคัญว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน



กวาดมองการเลือกตั้งในปี 2566 เทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 สายตาของอาจารย์มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ผมว่าการเมืองเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนในระดับหนึ่ง การเลือกตั้งรอบนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่สอง ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งแรกคือปี 2562 ตอนเลือกตั้งครั้งก่อน คสช.ยังมีอำนาจ คุณประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรี 4 ปี จึงเป็นการเลือกตั้งภายใต้อำนาจแบบหนึ่ง ส่วนการเลือกตั้งรอบนี้ถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้กติกาคล้ายกัน แต่คนเปลี่ยนแล้วนะครับ อย่างน้อยที่สุด คุณประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่นอนรออยู่บนหิ้ง ต้องลงมาแสดงตัวคู่กับคุณประวิตร คุณไพบูลย์ นิติตะวัน อยู่ท่ามกลางนักการเมืองที่เคยถูกคุณประยุทธ์รัฐประหาร นี่คือความเปลี่ยนแปลงแรก

ความเปลี่ยนแปลงเรื่องที่สอง คือกติกา จากเดิมเป็นบัตรใบเดียวซึ่งบังคับให้เราต้องเลือกทั้งพรรคและคนไปในเวลาเดียวกัน กลายเป็นบัตร 2 ใบ ทำให้เรามีเสรีภาพในการเลือกมากขึ้น แต่มันก็อาจส่งผลต่อพรรคบางพรรคอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทันทีที่เราได้เลือกแบบบัตร 2 ใบ เราอาจกาให้พรรคหนึ่ง แต่เลือก ส.ส.เขตคนละพรรค ทำให้อาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพของเสียงตอนปลายทาง

ความเปลี่ยนแปลงเรื่องที่สาม คือสัดส่วนของ ส.ส.เขตมากขึ้น จากเดิมที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน รอบนี้ลดเหลือเพียง 100 คน กลายเป็น ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.เขตอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนจนกระทั่ง กกต. ประกาศว่าจะแบ่งเขตอย่างไร เราเห็นปรากฏการณ์ว่าที่ผู้สมัครจำนวนมากต้องผิดหวังหรือคับข้องใจว่าทำไมแบ่งเขตไม่เหมือนเดิม เห็นเขตบางเขตแปลกๆ เช่น เขต ก. ยกเว้นแขวง น. ม. ช.  

ผลจากความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ประการ โดยเฉพาะเรื่องกติกาและเงื่อนไขบางอย่าง อาจทำให้เราประเมินผลการเลือกตั้งได้ยากขึ้นจากเดิมเลือกตั้งปี 2562 ที่ผมเชื่อว่าประเมินยากอยู่แล้ว ถ้าย้อนกลับไปปี 2562 มีความผิดปกติเกิดขึ้นมากมาย พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งอย่างพรรคเพื่อไทย มีทั้งหมด 136 ที่นั่ง เฉพาะส.ส.เขต โดยไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ด้วยเหตุที่ว่าจำนวน ส.ส.พึงมีในสภาผู้แทนราษฎรครบตามเกณฑ์แล้ว กลายเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่มี ส.ส.เขตไม่มาก กลับได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกัน 80 กว่าที่นั่ง และหากคำนวณกันตรงไปตรงมาอาจจะได้มากกว่านี้ เพราะมีการตั้งสูตรคำนวณที่ทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน โดยไม่มี ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว ผลของการออกแบบสูตรทำให้เกิด ส.ส.ปัดเศษ เวลาย้ายพรรค เรายังไม่รู้เลยคุณอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับไหน นี่เป็นภาพสะท้อนความผิดประหลาดของระบบการเมืองที่ผ่านมา

สำหรับการเลือกตั้งรอบนี้มีบัตร 2 ใบชัดเจน ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน ส.ส.เขตเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองต้องไปไล่ซื้อไล่ต้อน ไปขอร้องคนซึ่งเคยเป็น ส.ส.เขตกลับมา แต่ขณะเดียวกัน เขตที่เคยเลือกตั้งกลับไม่เหมือนเดิมทุกเขต ทำให้อาจเกิดการต่อรองต่อสู้กันในพื้นที่ และเมื่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภาลดลง ทำให้จำนวนคนของแต่ละพรรคที่จะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รอบก่อนรวมกัน 150 คนยังแชร์ไม่รู้ตั้งกี่พรรค แถมความวิปริตผิดธรรมดาคือมีการสละสิทธิ์ในบัญชีรายชื่อก่อนหมดวาระสภาพ เพื่อให้คู่รัก คนในครอบครัว คนใกล้ชิดตัวเองได้เลื่อนลำดับขึ้นมา ฉะนั้น รอบนี้ที่จำกัดให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน หมายความว่าคุณต้องต่อสู้กดดันให้ผู้บริหารพรรคเลือกคุณอยู่ในลำดับต้นๆ ถ้าคุณมีอำนาจอิทธิพล มีชื่อเสียง ลำดับของคุณอยู่ต้นๆ แน่ๆ แต่ถ้าคุณโนเนม เป็นผู้บริจาครายไม่สำคัญ ก็อยู่ท้ายๆ ซึ่งหลายคนอาจรับสภาพได้ หลายคนรับสภาพไม่ได้ก็มีการย้ายพรรคอีก การเลือกตั้งรอบนี้จึงประเมินยากทีเดียวครับ


หากมองกลยุทธ์สื่อสารทางการตลาดของพรรคการเมืองโดยภาพรวมจากการเลือกตั้งปี 2562 ถึงการเลือกตั้งคราวนี้ มีปรากฏการณ์อะไรน่าสนใจบ้างไหม

ปี 2562 เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้โซเชียลมีเดียแลกเปลี่ยนความเห็นทางสาธารณะมากขึ้น ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิด ตอนนั้นมีผู้ใช้ทวิตเตอร์มีอยู่ 4-5 ล้านคน มารอบนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์น่าจะหลัก 10 ล้านคน เฟซบุ๊กเองก็ยังเป็นแพลตฟอร์มหลักของคนไทยส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มอย่างอินสตาแกรม TikTok ที่ถูกใช้หาเสียง แต่ละพรรคมีทีม TikTok เป็นของตัวเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อใช่ไหมว่าจู่ๆ ก็เกิดความเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองส่วนใหญ่หันมาหาเสียงบนโซเชียลมีเดีย

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ผู้มีอำนาจเชื่อว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ในเวลานั้น มีวอร์รูมมีพื้นที่ในการระดมความเห็น แต่เขาลืมไปว่าธรรมชาติของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว สมัยก่อนเรารับข่าวจากหนังสือพิมพ์ รับข่าวจากเพื่อนรอบๆ ข้าง แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรารับข่าวจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งข่าวลือข่าวรั่วข่าววงใน ข่าวใต้เตียงวงในอีกที โซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกตั้งและการหาเสียงของพรรคหน้าใหม่

นอกจากพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งรอบก่อนยังมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ส่วนหนึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะเรากลัวพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กขนาดกลางเกิดขึ้น และเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ฝากเลี้ยง ใครๆ ก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็น ส.ส.ในมุ้งของพรรคใหญ่ บ้านใหญ่ แต่เอาไปฝากเลี้ยงในพรรคอื่นเพื่อซื้อใจกัน หรืออาจส่งสปายนาตาชาเข้าไปล้วงข้อมูล

แต่ขณะเดียวกัน พรรคขนาดเล็กขนาดกลางเหล่านี้ ก็เปิดช่องให้คนที่สนใจการเมือง อยากเข้าสู่วงการการเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นผลจากการตื่นตัวทางการเมืองในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง จากเดิมเราอาจมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องที่ไม่ควรยุ่ง เหมือนภาษิตโบราณที่ว่าอย่าเอาไม้ไปรันขี้ เดี๋ยวนี้ไม่มีละ เราเห็นคนรุ่นใหม่เดินเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ไม่รู้สึกว่านี่คือสิ่งชั่วร้าย ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกล แต่มีคนรุ่นใหม่ในทุกพรรค กระทั่งพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ

การเลือกตั้งรอบนี้จะทำให้เราเห็นการเคลื่อนตัวของคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน เป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งว่าเราสนใจและเข้าใจการเมืองมากขึ้น ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผมเฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งรอบนี้อย่างตื่นเต้นมากนะครับ ในทางทฤษฎีเราพูดกันว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือกระบวนการสร้างความชอบธรรม (legitimacy) แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา คนวิจารณ์ว่าผู้ชนะมาจากการซื้อเสียง การโกง การใช้อิทธิพล ถ้ารอบนี้มีการหาเสียงบนพื้นที่ที่เสรี มีการแข่งขันเท่าเทียมกันมากขึ้น จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะจากประชาชนมีความชอบธรรมมาก


แนวโน้มการซื้อเสียงหรือใช้อิทธิพลในการเลือกตั้งยุคสมัยนี้ลดลงจากเดิมจริงไหม ทำไมอาจารย์มองว่าผู้ชนะการเลือกตั้งรอบนี้ถือว่ามีความชอบธรรมสูง

แนวโน้มเรื่องการใช้อิทธิพลไม่ได้ดีขึ้นมาก แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เรามีดีเบตภายในสังคมไทยเรื่องนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว แล้วก็มีคนอ้างว่าขี่ม้าขาวมาช่วยชีวิตประชาธิปไตย ช่วยชีวิตสังคมไทย และอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ฝ่ายหนึ่งอ้างว่ารักแต่ตบจูบ เราไม่มีสิทธิ์บอกว่าฉันไม่ได้รักคุณ

พอมีการเลือกตั้ง เราก็ต้องสู้ในสนามที่ไม่ทัดเทียมกัน สู้ในกติกาที่กรรมการลำเอียง สู้ในพื้นที่ที่ตัวเองมีอำนาจต่อรองน้อย แต่เราพบว่าประชาชนยังใช้การเลือกตั้งเป็นช่องทางการต่อสู้ทางการเมือง การเลือกตั้งรอบนี้จึงสำคัญ และมันจะพิสูจน์ทฤษฎีการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ทดสอบความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ต่อประชาธิปไตย ถ้าคนไปใช้สิทธิ์เยอะเท่ากับเราเชื่อว่านี่คือวิธีการแก้ไขปัญหาของสังคม อย่าลืมนะครับ สังคมไหนที่เราไม่สามารถตกลงกันอย่างสันติ ถัดไปคือการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการติดอาวุธ การทำลายล้างกัน การไล่ตีกันบนท้องถนน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว การเลือกตั้งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในอารยธรรมของมนุษย์ มานับบัตรในหีบกันว่าแต่ละฝ่ายได้คะแนนเท่าไหร่ ได้ฉันทานุมัติจากประชาชนเท่าไหร่ นี่คือหลักการพื้นฐาน

หลายคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย ถ้าเลือกตั้งภายใต้กติกาแบบนี้ แล้วได้รัฐบาลฝ่ายเดิม เราจะทำยังไง คำตอบก็มีเพียงอย่างเดียว คือต้องมีประสบการณ์การเลือกตั้งบ่อยขึ้น ไปใช้สิทธิกันให้มากที่สุดเพื่อยืนยันสิทธิของเรา  พอเลือกตั้งเสร็จก็ไปทำให้กลไกตรวจสอบทำงาน ถ้ากลไกตรวจสอบไม่ทำงาน ก็ต้องใช้ประชาชนตรวจสอบ นี่คือธรรมชาติของการเมืองแบบประชาธิปไตยในโลกร่วมสมัยของพวกเรา


อาจารย์ทำงานวิเคราะห์กลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562 มารอบนี้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังคงเป็นหน้าเดิม จากการศึกษาพอจะเห็นภาพไหมว่าแต่ละพรรคมีกลยุทธ์สื่อสารอย่างไร และใช้เครื่องมือสำคัญอย่างโซเชียลมีเดียในรูปแบบไหน

ในหนังสือของผม เรื่อง ‘ถอดรหัสพลิกสนามเลือกตั้ง’ ส่วนของทฤษฎีและบทวิเคราะห์การตลาดการเมืองจำแนกพรรคการเมืองไทยไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพรรคที่เน้นผลิตภัณฑ์คือผมมีของที่อยากจะขาย พยายามทำให้ขายได้ กลุ่มที่สองเป็นพรรคที่เน้นการขาย คือถามประชาชนก่อนว่าคุณอยากได้สินค้าประเภทไหน สินค้าตัวนั้นจะทำให้คุณพอใจยังไงได้บ้าง พูดง่ายๆ ว่าพยายามถามความเห็นก่อนค่อยผลิตสินค้าลงตลาด กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่เน้นการตลาด กลุ่มนี้จะมีแบ่งแยกย่อยออกมา คือแบบแรก พรรคที่เน้นการตลาดสร้างอนาคตร่วมกัน พยายามขายฝันขายอนาคต แต่บอกว่าคุณจะได้อนาคตแบบนั้นก็ต่อเมื่อเลือกผม แบบที่สองคือพรรคการเมืองที่เน้นการตลาดเฉพาะ ประเภทที่บอกว่า โอ๊ย ผมไม่สนใจเรื่องอื่น ผมสนใจเรื่องปากท้อง สนใจเรื่องปราบคอรัปชั่น สนใจเรื่องพุทธศาสนา อย่างนี้เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นพรรคที่มีแบรนด์ (หรือยี่ห้อสินค้า) คือพรรคที่มีความเป็นสถาบัน พยายามขายแบรนด์พรรคของตัวเอง ถึงขั้นบอกว่าถ้าส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้ง ประชาชนก็จะเลือกเสาไฟฟ้า เราจะเห็นการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองกลุ่มที่สองและสามจะใช้วิธีการตลาดแบบถามความเห็นก่อนคิดสินค้าลงไปขายมากขึ้น และการเลือกตั้งรอบนี้เองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ถ้าให้เปรียบเทียบ ผมคิดว่าพรรคพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ เหมือนร้านอาหารที่อยู่หัวซอยท้ายซอย มีประชาชนอยู่ตรงกลาง เพื่อไทยเหมือนโมเดิร์นเทรด ก้าวไกลเหมือนวัยรุ่นสร้างตัว ส่วนภูมิใจไทยเหมือนซุ้มกัญชาหลังหมู่บ้าน เรามีพรรคที่ก่อนสร้างนโยบายก็คิดแล้วคิดอีก แต่กับพรรคหัวซอยท้ายซอยที่ฉันมีของขาย คิดว่าอาหารของตัวเองอร่อยนักหนา ไม่ว่ายังไงคุณก็ต้องซื้อใช่ไหมล่ะ มาถึงโยนชามโครม จะกินหรือไม่กิน ยืนยันว่ามีตัวแทนเป็นลุงนั้นลุงนี้ ยืนยันว่าเขาคือสินค้าที่ประชาชนต้องซื้อ ขาดไม่ได้

สำหรับโซเชียลมีเดีย มันเป็นแพลตฟอร์มที่เราใช้สื่อสาร เล่าชีวิตของเรา บอกคนอื่นว่าเราเป็นใคร หรืออยากให้คนอื่นมองเราแบบไหน พรรคการเมืองก็เช่นเดียวกัน หลายพรรคพยายามสร้างตัวตน อัตลักษณ์ของพรรคหรือหัวหน้าพรรค ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็มีหลายพรรคการเมืองที่ตั้งตามหัวหน้าพรรค สมมติหัวหน้าพรรคคนนี้เสียชีวิต เลิกเล่นการเมืองหรือเสื่อมบารมี พรรคการเมืองจบทันที ตัวอย่างเช่น พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม พรรคสามัคคีธรรม ของคุณสุจินดา คราประยูรและคณะทหาร รสช. หลังปี 2534 ในปัจจุบันพรรคทหารแบบนี้มีทายาทสองสาขา สืบทอดบรรพบุรุษของทหารไทยกับการรัฐประหาร คือพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่แง่หนึ่ง การสร้างตัวตนของพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคในโลกโซเชียลมีเดียสำหรับบางพรรคก็ดูบ้ง ดูตลกมาก เพราะคุณไม่ใช่เจนนี่ หรือลิซ่า แบล็กพิงก์ คนถึงจะมาตามดูว่าคุณประวิตรกินอะไร คุณประยุทธ์ดมถุงเท้ายี่ห้ออะไร ประชาชนสนใจแค่พวกคุณเป็นพรรคการเมือง คุณทำอะไรให้เราได้บ้าง อยากทำอะไรให้เราบ้าง เราจะได้ประโยชน์อะไรจากพวกคุณ


ฟังแล้วหลายคนอาจคิดว่าพื้นฐานของการทำการตลาดคือสำรวจความเห็นตลาดก่อนออกสินค้า พรรคการเมืองที่ดี ก็ควรเป็นพรรคการเมืองที่ฟังความเห็นประชาชนก่อนออกแบบนโยบาย แต่ทำไมในสนามการเมืองไทย เราถึงมีพรรคที่มั่นใจว่าต่อให้ออกนโยบายแบบไหน คนก็จะซื้อ

ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องพรรคการเมืองกับการกำหนดนโยบาย อาจจะต้องย้อนไปดูพัฒนาการของการกำหนดนโยบายสาธารณะเสียก่อน

ประเทศไทยเรามีคุณพ่อรู้ดีออกแบบนโยบายพัฒนาประเทศให้เรามานานแล้ว ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2475 นายปรีดี พนมยงค์ พยายามวางแผนเศรษฐกิจให้ประเทศไทย เรียกว่า ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ แต่โดนวิจารณ์เละ ถึงขั้นบอกว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องออกจากตำแหน่ง ออกจากประเทศไทย จนการสอบสวนอะไรต่างๆ จบ ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนั้นถูกจัดการ นายปรีดีถึงได้กลับมา แต่การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่สำเร็จ แล้วก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

พอสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เราพยายามเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้ง แล้วดันเกิดรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นยุคที่หลายคนเข้าใจแล้วว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์การเมืองไทย คือฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง แล้วก็ร่างใหม่ พอร่างใหม่ปุ๊บ มีความขัดแย้งอีก เลือกตั้งอีก ขัดแย้งอีก ฉีกแล้วก็ร่างใหม่ จนกระทั่งปี 2504 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยากได้เงินจากสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาถามว่าจะเอาไปทำอะไร ต้องวางแผนก่อนสิ นั่นคือกำเนิดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ในภายหลัง เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมายาวนานจนถึงสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ยุคของพลเอกเปรม ภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่พรรคการเมืองยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก สาเหตุหนึ่งคือฝ่ายข้าราชการประจำมองว่าตนเองมีความรู้สูงกว่า มีประสบการณ์บริหารแผ่นดินมากกว่า เพราะอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่านักการเมือง จนสิ้นยุคพลเอกเปรม นักการเมืองถึงเริ่มมีบทบาทในการออกแบบนโยบาย เป็นจุดเริ่มต้นของยุคคุณชาติชาย ชุณหะวัณ มีบ้านพิษณุโลก ซึ่งบางคนก็เรียกว่าบ้านสารพัดพิษ ทำหน้าที่ออกแบบนโยบาย ซึ่งที่จำกันได้คือนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า พรรคการเมืองหลายพรรคจึงเริ่มออกแบบนโยบายมาใช้หาเสียง

พอการเมืองสะดุด เกิดรัฐประหาร บทบาทของข้าราชการทหาร ข้าราชการประจำก็ยิ่งมากขึ้น จนกระทั่งเกิดกรณีพฤษภา 2535 ประชาชนรู้สึกว่า เฮ้ย การฆ่ากันรอบนี้ควรจะจบได้แล้ว ต้องมีการปฏิรูปการเมือง สู้อีกหลายปีจนกระทั่งเราได้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งทำให้การกำกับนโยบายของฝ่ายรัฐกับฝ่ายพรรคการเมืองเริ่มแยกกันอย่างเห็นได้ชัด ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถสร้างนโยบายที่แตกต่างไปจากเดิมที่ออกแบบโดยข้าราชการ ขุนนางนักวิชาการหรือที่เรียกกันว่าเทคโนแครต (technocrat) ออกแบบ

เราจะเห็นว่ายุคนั้นพรรคการเมืองมีนวัตกรรมด้านนโยบายใหม่ๆ จนกลายมาเป็นแบรนด์ของพรรคการเมืองถึงตอนนี้ เช่น พรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณ มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป แต่ต่อมา นโยบายเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยม ซื้อเสียงล่วงหน้า ทำให้การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 กำกับบังคับลงไปอีกว่า ถ้าพรรคการเมืองจะออกแบบนโยบาย ต้องอธิบายก่อนนะว่าคุณจะเอาเงินจากไหน จริงๆ เราก็มีการกำกับในรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วล่ะ แต่ฉบับ 2550 และ โดยเฉพาะฉบับ 2560 มันหนักข้อมากขึ้น

การกำกับเหล่านี้ทำให้เราเห็นความพยายามยึดพื้นที่ในการกำหนดนโยบายคืนจากพรรคการเมือง ในสมัยคุณยิ่งลักษณ์มีตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นโครงการที่ยังไม่เหมาะกับประเทศไทย ให้ถนนลูกรังหมดก่อนค่อยว่ากัน นี่เป็นความผิดปกติ และสำหรับผม รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับโหดที่สุด ชนิดที่ผมเรียกมันว่าทรราชย์ของอนาคต คือการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าคุณไม่ทำตามนี้คุณอาจโดนฟ้องร้องในศาลรัฐธรรมนูญ อาจถูกร้องเรียนด้วยการนำเอากรณีต่างๆ ที่เป็นเชิงนโยบายไปร้องในศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เอาไปร้องในสภา หรือด้วยกระบวนการอื่นๆ ว่าคุณไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเหตุให้ถูกถอดถอน ยุบพรรค หรือกระทั่งบอกว่าพรรคคุณวางแผนใช้เงินอย่างเดียว แต่ไม่มีแผนหาเงิน โอ้ นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเขากำหนดไว้เลยว่าพรรคการเมืองจะหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ ต้องบอกด้วยว่าที่มาของงบประมาณจะเอามาจากไหน

เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคการเมืองจะมีความระมัดระวังมาก เพราะโอกาสในประเทศไทยถูกครอบงำโดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถามว่ามีพรรคการเมืองไหนที่อยากคิดนโยบายใหม่ๆ ไหม ผมคิดว่ามี แต่จากกรอบที่เล่าให้เห็นภูมิหลังว่าเราเคยถูกกำกับโดยข้าราชการประจำ ถูกกำกับโดยผู้มีอำนาจ ซึ่งรู้เส้นสนกลในของระบบราชการมากกว่าฝ่ายการเมือง คนที่มาจากภาคราชการรู้สึกยิ่งใหญ่กว่า จนพรรคการเมืองเพิ่งจะตระหนักว่าสามารถเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายได้ในยุคคุณชาติชาย กลายเป็นความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยในฐานะสถาบันการเมืองใหม่ที่ทำหน้าที่เชิงนโยบาย แยกออกจากฝ่ายข้าราชการประจำมากขึ้น ทำให้การแข่งขันเชิงนโยบายเข้มข้นมากขึ้น แต่น่าเศร้าที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมไม่สามารถหานโยบายที่ดีกว่ามาแข่งขัน นอกจากการใช้อำนาจทางอ้อม ทำให้ทุกอย่างในการเลือกตั้งรอบนี้มีเพดานบางอย่างที่พรรคการเมืองถูกกำกับการเสนอนโยบายต่อประชาชน เป็นเพดานที่เกิดขึ้นจากความถดถอยทางการเมืองในรอบสองทศวรรษ ทำให้ตัวแทนของประชาชนไม่สามารถสร้างสัญญาประชาคม ไม่สามารถพูดว่าถ้าคุณเลือกผม ผมจะทำสิ่งนี้ได้แน่นอนเต็มปากเต็มคำ ทุกคนบอกแค่ว่า ‘ผมอยากทำเรื่องนี้ แต่ว่า ….’ พอนึกออกไหมครับ


จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คล้ายกับว่าประชาชนเพิ่งจะถูกมองเห็นและมีบทบาทในการร่วมกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองเมื่อไม่มานานนี้เอง

รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เราเห็นว่านโยบายของฝ่ายการเมืองมีความหมายมากกว่าเงินที่เขาแจก และนโยบายของฝ่ายการเมืองจะถูกบังคับให้เร่งรัดทำงานในกรอบเวลา 4 ปี ด้วยกระบวนการตรวจสอบทางการเมือง ประชาชนรู้ว่ากดดันฝ่ายการเมืองง่าย และเป็นไปได้จริงกว่ากดดันฝ่ายข้าราชการที่ยืนกระต่ายขาเดียวตลอดเวลาว่าทำไม่ได้ เพราะติดข้อบังคับทางกฎหมาย คนที่ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเป็นไปได้คือฝ่ายการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าประชาชนมีส่วนในการกำหนดนโยบายไหม ผมว่ามีมากขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นไปนั่งในการพรรคการเมือง บอกว่าผมอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่พรรคการเมืองต้องฟังประชาชนมากขึ้น มากขึ้น เพราะนี่คือเงื่อนไขเดียวที่จะนำมาซึ่งความนิยมทางการเมืองและได้รับการเลือกตั้งเข้าไปใช้อำนาจ มันไม่มีทางลัดอื่นใดที่พรรคการเมืองจะได้เสียงจากประชาชนเมื่อเทียบกับในอดีต

ถ้าเทียบกับปี 2551 คุณสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกฯ แล้วถูกตัดสิทธิ์ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นต่อ แต่ก็ถูกตัดสิทธิ์ เกิดเป็นสุญญากาศ จนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมารับตำแหน่งต่อ นั่นคือภาวะการได้อำนาจโดยไม่ผ่านกระบวนการปกติ โอกาสที่การเมืองแบบการเลือกตั้งจะเปิดช่องแบบนั้นน้อยลงมาก

ดังนั้นวิธีการเดียวที่คุณจะได้เข้าไปใช้อำนาจการเมืองคือการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุด ในปี 2562 เราเห็นว่าคุณประยุทธ์เองก็รู้ ว่าวิธีที่จะได้เป็นนายกฯ คือสร้างระบบการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองเสนอชื่อว่าที่นายกฯ โดยไม่ต้องเป็น ส.ส.ได้ แล้วอ้างว่านี่คือประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริง ผมคิดว่าจะมีปัญหาในอนาคต เพราะมันเป็นการตัดตอนอำนาจบางอย่าง และทำให้เข้าใกล้ระบอบประธานาธิบดีมากขึ้น


ภาวะที่พรรคการเมืองไม่สามารถออกแบบหรือเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายในการเลือกตั้งแก่ประชาชนเช่นนี้จะดำเนินไปจนถึงเมื่อไหร่

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่แน่นอน สิ่งที่ชนชั้นนำไทยกลัวและนำมาอ้างบ่อยๆ คือกลัวประเทศไทยจะเป็นเหมือนอาร์เจนตินา จะเป็นรัฐล้มเหลวแบบประเทศอื่นๆ แต่ในความเป็นจริง เขาไม่ได้กลัวแค่เรื่องนี้ เขากลัวผู้นำที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในขนาดที่มากกว่าสถาบันเชิงประเพณี ซึ่งผมว่าชนชั้นนำไทยกลัวเรื่องนี้มากที่สุด แต่เอาเข้าจริง คุณไม่มีเหตุต้องกลัว สิ่งที่คุณควรจะกลัวคือในระยะยาว สังคมจะฝ่าข้ามความขัดแย้งภายในชาติได้อย่างไรในขณะที่ประเทศอื่นกำลังพัฒนา ตอนนี้ไม่ต้องเทียบหรอกว่าเราจะเป็นเสือตัวที่ 5 จะทัดเทียมกับมาเลเซียยังไง ตอนนี้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คือจะทำยังไงไม่ให้ลาวกับเวียดนาม หรือกระทั่งกัมพูชาแซงประเทศไทย  

นวัตกรรมเชิงนโยบายเกิดได้ยาก เพราะเจอยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็จบแล้วครับ คนที่ร่างยุทธศาสตร์ไม่รู้จะได้เห็นครบ 20 ปีหรือเปล่าแต่พวกเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางตรง แล้วยุทธ์ศาสตร์ชาติก็เป็นเรื่องถกเถียงด้วยยาก มันมีความนามธรรมบางอย่างตามนิสัยคนไทยที่ชอบเลี่ยงบาลี คิดอะไรไม่ออกก็ใส่สิ่งที่เป็นนามธรรมไว้ก่อน แล้วเปิดช่องให้ผู้ใช้อำนาจ ใช้ 7 อรหันต์ตีความ ถ้ากรรมการตีความเป็นฝ่ายคุณก็โอเค ทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ากรรมการไม่ใช่ฝ่ายคุณ โอกาสที่คุณจะถูกล้าง ถูกเตะออกจากเก้าอี้มันง่ายมากถึงง่ายที่สุด

การสร้างกติกาแบบนี้ ในทางรัฐศาสตร์เรียกกันว่า Competitive Authoritarian หรือว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบแข่งขัน คือฝ่ายค้านจะชนะฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจอยู่ดั้งเดิมยากมาก แล้วฝ่ายค้านจะถูกกันออกจากกระบวนการตรวจสอบให้มากที่สุด ในทางกลับกัน ฝ่ายรัฐบาลสามารถตั้งกรรมการไปทำให้สนามแข่งขันเอียงได้ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามถูกดำเนินคดีเพื่อสร้างความกลัว ถอยออกจากการเมือง เรื่องเหล่านี้อยู่ในงานที่ผมแปล ชื่อ ‘How Democracies Die มรณกรรมของประชาธิปไตย’ (เขียนโดย แดเนียล ซิบลาตต์ และ สตีเวน เลวิตสกี้)

เราควรจะเรียนรู้ได้แล้วว่า ถ้าเกิดเรายังปล่อยให้ฝ่ายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมาออกแบบรัฐธรรมนูญ ออกแบบกติกาการใช้อำนาจ ออกแบบแผนที่การใช้อำนาจ ออกแบบกระบวนการ มันก็จะเกิดปัญหาซ้ำซาก เราจะไม่มีนวัตกรรมอีกเลย จะไม่มีคนกล้าพอมาเสนอนโยบายที่ทลายกำแพง (break through)

ย้อนมองสถานการณ์ตอนนี้ เราต้องเข้าใจด้วยว่าประเทศไทยตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมานานมากแล้ว เรียกได้ว่ารัฐบาลไทยสิ้นหวังอย่างถึงที่สุดในการพยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อยกระดับรายได้ ทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทก็ยากจะเอาชีวิตรอดนะครับ เวลาที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600-700 บาท ผมชื่นชมนะครับ แต่เราต้องทำงานหนักมากกว่านี้ในการแก้ปัญหา

ทั้งหมดกลับมายังจุดที่ว่า เราไม่มีนวัตกรรมหรือทำให้เป็นไปได้ยาก เพราะกติกาที่ถูกร่างขึ้นมา บรรดาความฝืด ความไม่เร่งรัดต่อปัญหา ความไม่สามารถปรับตัวในสังคมสืบเนื่องจากปัญหาของกติกา และลึกไปกว่านั้นคือปัญหาสภาพสังคมแบบ highly polarized หรือถูกผลักดันให้แบ่งขั้วและนับวันจะยิ่งถ่างออกกว้าง แม้กระทั่งในฝ่ายประชาธิปไตยแบ่งเป็นไม่ส้มก็แดง ไม่ติ่งก็นางแบก เอาตู่ไม่เอาตู่ ส่วนฝั่งอนุรักษนิยมก็ต้องเลือกระหว่างตู่กับป้อม

เมื่อถึงจังหวะที่ต้องเลือกผู้นำทางการเมือง ก็ต้องเป็นคนที่ถูกใจแฟนเพลงทั้งสองฝ่าย ซึ่งเรามีบทเรียนจากประเทศอื่นบนโลกแล้วว่าสถานการณ์ของสังคมที่แบ่งขั้วแบบนี้ ทำให้ผู้นำที่ได้จากแต่ละฝ่ายเป็นแบบกำปั้นเหล็ก (iron fist) มีความโดดเด่นเชิงบุคลิกภาพ (charisma) สูง แข็งกร้าวมากขึ้น ต่อให้ไม่แข็งกร้าวแบบเผด็จการ แต่ก็จะมีความสุดขั้ว (radical) มากขึ้น

นี่คือคำอธิบายว่าทำไมคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ถึงได้เป็นประธานาธิบดี ทำไมผู้นำขวาจัดอย่างดูเตอร์เตในฟิลิปปินส์ได้เป็นประธานาธิบดี และอีกหลายๆ แห่งในโลก ในประเทศไทยก็ไม่น่าจะใช่ข้อยกเว้น เพียงแต่ว่าลักษณะปัญหาภายในของเรา ภูมิหลังความขัดแย้งของเราลึกและยาวนานกว่าสังคมอื่น อย่างน้อยถ้านับตั้งแต่ 2548 ถึง 2566 ก็ 18 ปีแล้ว เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยเหมือนกับแมว ถูกจับไปไว้บนชั้นสอง และกำลังกลิ้งตัวม้วนหน้าม้วนหลังลงมา ถ้าเราโชคดีก็ตกถึงพื้นแบบยืน 4 ขา หรือเป็นแมวที่เอาส่วนอื่นลงพื้นก็ยังโชคดี แต่ถ้าเกิดเป็นน้องหมาล่ะ เราอาจจะพลิกตัวไม่ทัน ไม่ยืดหยุ่นพอ คงต้องมีแขนหักขาเดี้ยงกันบ้าง



มีคนตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของหลายพรรคในการเลือกตั้งรอบนี้มีความคล้ายคลึงกันขนาดที่ถ้าปิดชื่อพรรคอาจจะแยกไม่ออกเลยว่าป้ายไหนเป็นของพรรคใด อาจารย์คิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้

ก่อนอื่นต้องขอบคุณพี่แมว ประกิต กอบกิจวัฒนาและทีมนะครับ ที่ริเริ่มเปลี่ยนขนาดของป้ายในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้เหลือกว้างกว่าเสาไฟฟ้านิดเดียว คนสามารถเดินแทรกเดินผ่านได้ ทำให้จากเดิมทุกพรรคใช้ป้ายเลือกตั้งไซส์ใหญ่เบิ้ม เพราะกลัวคนอื่นจะมองไม่เห็น ก็ลดขนาดลง ทำให้ประหยัด และปัจจุบันพรรคการเมืองมีพื้นที่ เครื่องมือในการสื่อสารดีขึ้น เช่น ใช้คิวอาร์โค้ด สแกนอ่านนโยบาย ประวัติผู้สมัคร

ถึงจะมีบางพรรคที่ทำป้ายแบบดั้งเดิม (old school) คือบนป้ายผู้สมัครมีขาใหญ่ของพรรค โอบไหล่บ้าง โฟโต้ชอปเรียงกันเพื่อบอกว่าฉันเป็นเด็กคนนั้น ฉันอยู่พรรคนี้บ้าง แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าพรรคไหนมีแบรนด์อะไร ยกเว้นบางพรรคที่ยังหาแบรนด์ตัวเองไม่เจอ ถ้าเป็นพรรคใหญ่ก็ชัด อย่างภูมิใจไทย ใครๆ ก็รู้ว่าเรื่องกัญชาใช่ไหม พรรคพลังประชารัฐ มีบัตรประชารัฐ 700 บาท พรรครวมไทยสร้างชาติ นโยบายอะไรผมจำไม่ได้ (หัวเราะ) ก้าวไกลนี่งดเกณฑ์ทหาร สมรสเท่าเทียม เพื่อไทยมีสมรสเท่าเทียม การศึกษาตลอดชีวิต upskill และ reskill ทักษะและฝีมือแรงงาน แบรนด์ของแต่ละพรรคมันบอกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นข่าวสารที่เคยปรากฏตัวบนป้ายก็จะหายลงไปเยอะ


นโยบายยอดฮิตที่พรรคการเมืองมักใช้หาเสียงในรอบนี้คือเรื่องอะไร และสะท้อนปัญหาของสังคมการเมืองไทยอย่างไร

เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจชัดเจน เรารู้กันดีนะครับว่า 10 กว่าปีมานี้ เราตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งจนประเทศเพื่อนบ้านมีระดับการพัฒนาสูงขึ้น มีระดับของการลงทุนทางตรง (FDI) สูงกว่าประเทศไทย และปัจจัยการเมืองของเรากลายเป็นอุปสรรคในการลงทุนของต่างประเทศ พรรครัฐบาลไม่สามารถมีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน มีวิสัยทัศน์มากพอ ตราบที่คุณยังเห็นว่าผู้นำประเทศสามารถพูดอะไรโดยไม่รับผิดชอบได้ เช่น ไปขายยางดาวอังคาร เอาหมามุ่ยไปขาย อะไรแบบนี้เป็นภาพสะท้อนของประเทศที่ไม่น่าเชื่อถือนะครับ

เราเจอแต่ปัญหาที่เราตีกันเอง และปัญหากับดักรายได้ปานกลาง คือไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากกว่านี้ มันชะงักงันมานานหลายปี ฝ่ายนักลงทุนก็รู้สึกว่าจะเพิ่มค่าแรงได้ยังไง 300 บาทนี่ก็เต็มกลืนแล้ว ทุกพรรคการเมืองจึงต้องพูดเรื่องการพาคนทั้งประเทศฝ่ากับดักรายได้ปานกลาง การพัฒนาประเทศ ซึ่งในทางตัวเลขก็พูดได้ แต่ทำจริงเป็นอย่างไร ฝีมือถึงไหมก็อีกเรื่อง นอกจากพรรคที่มีประสบการณ์มากๆ อย่างเพื่อไทย แต่ก็มีหลายพรรคเราก็ยังไม่เห็น performance ที่ชัดเจนเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีโอกาส

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องพูด คือนโยบายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ บางพรรคใช้เป็นธงนำ อย่างน้อยผมเห็นอยู่ 2-3 พรรค เสรีรวมไทย ก้าวไกล เพื่อไทย นอกจาก 3 พรรคนี้มีพรรคอื่นเหมือนกัน แต่พูดถึงในแง่ผมไม่เอา ผมไม่แก้ ยิ่งเรื่องมาตรา 112 นี่ชัดเจนมาก บางพรรคจงใจไม่พูด แต่การไม่พูดก็ถือเป็นวิธีพูดแบบหนึ่งนะครับ


มีนโยบายใหม่ที่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาบ้างไหม

ไม่มี เป็นความเศร้านะว่าในเนื้อนาบุญแบบนี้ ในสภาพความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้ ไม่สามารถเอื้อให้มีนวัตกรรมในเชิงนโยบาย สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทำให้โอกาสในการพัฒนาหลุดลอยไป ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เรามีผู้กำกับดังมากๆ ในโลก ไปแสดงที่ไหน คนก็ไปดู แต่ทำไมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเรายังต้องมาตบตีแค่ว่าเกณฑ์ในการได้รับรางวัลหนึ่งไม่ยุติธรรม ทำไมเราทิ้งโอกาสที่จะเป็นเมืองหนัง ไม่ต้องพูดถึงการทำอนิเมชัน หรือเมืองแฟชั่นโลก เราพยายามทำมาหมดแต่ไปต่อไม่ได้ เพราะต่างชาติไม่ไว้ใจ

ผู้กำกับชั้นยอดของประเทศบางคนประกาศว่าจะไม่ทำหนังในประเทศนี้อีก เพราะดินไม่ดี น้ำท่าไม่สมบูรณ์ ก็ต้องโทษรัฐบาลหรือเปล่าล่ะ ประเทศไทยทิ้งโอกาสพวกนี้ไปมากจน.. (ถอนหายใจ) จะเริ่มนับศูนย์ก็รีบนับ ผมพูดกับเพื่อนเสมอว่าคนรุ่นพวกเราจะต้องใช้เวลากอบกู้ซากปรักหักพังที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีมานี้ก่อน เราถึงจะไปต่อได้ แน่นอนบางอย่างทำไปพร้อมๆ กันได้ แต่มันไม่ง่าย มีบางประเด็นที่เป็นระเบิดเวลาภายในตัวเองและต้องถอดสลัก ถ้าถอดสลักจบ เราถึงค่อยๆ ไปแก้เรื่องอื่น


ส่วนตัวอาจารย์มีนโยบายเรื่องไหนที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังไม่เคยปรากฏในสนามเลือกตั้ง

นโยบายเกี่ยวกับการอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาไทยตอนนี้อยู่ในสภาวะวิกฤต หนึ่ง มีการซื้อผลงานวิชาการเพื่อเผยแพร่ (publication) ของอาจารย์ สอง มีการซื้อการตีพิมพ์สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกเพื่อจบการศึกษา สองอย่างนี้โยงกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเมื่อโยงกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ ก็ยิ่งทำให้การเมืองในวงวิชาการหนักมากขึ้น เขาถึงมีคำบอกว่า โอ้โห พอขึ้นไปถึงข้างบนปุ๊บ ถีบกระไดหนี นี่คือปัญหาใหญ่ แต่มีการพูดถึงน้อย ถ้าคุณไม่ใช่นักการศึกษาจริงๆ คงไม่เข้าใจ

 อย่าลืมว่าวิธีที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คือฐานความรู้คุณต้องแน่น ทุกวันนี้เราส่งสมองดีๆ ไปเรียนเมืองนอกกันเสียเยอะ คนที่มีโอกาสเขาก็ไปต่อ ถามว่าทำไมคนเก่งๆ ไม่กลับมา ก็รายได้ในประเทศเท่านี้ผมจะกลับมาทำไม พูดง่ายๆ ว่าเราขาดสมองใหม่ๆ มารีเซ็ตประเทศไทย ในเมื่อคุณไม่สามารถดึงดูดทรัพยากรบุคคลสมรรถนะสูงให้อยู่ในระบบ ผลผลิตจากระบบก็ไม่สามารถทะยานต่อได้ เมื่อทะยานต่อไปไม่ได้ก็ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

พอเราไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ผมว่าคนในสังคมก็สิ้นหวัง ผลของมันคือการย้ายประเทศ เรามีกลุ่มเฟสบุ๊กย้ายประเทศกันเถอะ และหลายคนทำสำเร็จ ถามว่าคุณดีใจเหรอที่เห็นสมองไหลออก และมีแนวโน้มไหลต่อเรื่อยๆ ทุกวันนี้โอกาสที่จะได้บุคลากรสมรรถนะสูงมาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษายากมาก และหลักการศึกษาในระบบไม่ปรับตัว ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะดึงดูดบุคลากรสมรรถนะสูง ดึงสมองที่สดใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความขยัน มุ่งมั่นในการเติบโตก้าวหน้า ไปจากเรา

หลายประเทศแค่ได้คนประเภทนี้ก็ถือว่าคุณได้กำไรแล้วนะ ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2003 มีสมองสดๆ 4-5 แสนคนต่อปีด้วยซ้ำไป[1] เด็กจบใหม่จากต่างประเทศมาเป็นเด็กฝึกงานอยู่ 1-2 ปีตามบริษัทต่างๆ แล้วได้ทำงานต่อ คนพวกนี้คือที่มาของนวัตกรรม สร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ให้กับสหรัฐอเมริกา นี่คือส่วนหนึ่งของ Soft power ของสหรัฐอเมริกา เป็นพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเขา สำหรับเขาอาจจะเจอความท้าทายเรื่องการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมแล้วถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ถูกขโมยไอเดีย ต่างจากจีนที่เป็นผู้ผลิต เป็นโรงงานของโลก แต่ถ้าย้อนมองดูไทย เราไม่ได้เป็นทั้งผู้ผลิตทั้งคนคิด เรากลายเป็นผู้ใช้งาน เป็นผู้บริโภค กว่าจะถึงจุดที่เราเป็นผู้คิดค้นคงต้องไปอีกไกล ฉะนั้นตัวสถาบันอุดมศึกษาต้องรีบแก้ก่อน ดึงบุคลากรสมรรถนะสูงเข้ามา ดึงเงินที่ถูกใช้ไปในทางที่ผิดๆ กลับมาลงทุนวิจัยและพัฒนา ปรับสิ่งที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยเสียใหม่

ผมเองเคยเขียนนโยบายเรื่องนี้ให้พรรคการเมืองไปใช้เล่นๆ เลยนะครับ แม้จะมีพรรคหนึ่งตอบรับมาว่าสนใจ แต่ผมยังไม่ค่อยเห็นโอกาสผลักดันมากเท่าไหร่



หลายคนคาดหวังอยากให้พรรคการเมืองจะแข่งขันกันด้วยนโยบายเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนโยบายถือเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญ เท่ากับชื่อเสียงของพรรคหรือตัวผู้นำพรรคไหม

ผมต้องขอชื่นชมพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่คิดว่าประชาชนสำคัญ ว่าเราเห็นความพยายามทำการบ้านหนักในการออกแบบนโยบาย แต่จากเงื่อนไขที่ผมกล่าวมาข้างต้น การทุ่มเทในเชิงนโยบายจึงทำไม่ได้เต็มร้อย เราอาจแข่งขันด้วยนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยอย่างอื่นช่วยด้วย ทั้งไหวพริบของผู้สมัครเอย ความระมัดระวังในการปราศรัยหาเสียง การใช้เงิน ซึ่งแต่ละคนก็มีทุนติดตัวมาไม่เท่ากัน ทุนของพรรคไม่เท่ากัน ต้องใช้เวลาลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แล้วต่อให้คุณได้รับความนิยม ได้รับไว้วางใจจากประชาชนจนชนะการเลือกตั้ง ก็ยังมีด่านอีกมากที่รออยู่ เกิดสมมติคุณแจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่เรียบร้อย ก็มีสิทธิ์โดนสอยอีก นี่เป็นความท้าทายมากๆ ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย กลับกัน หากคุณเป็นฝ่ายรัฐบาล ลองคิดดูนะว่าคดีซุกหุ้นสื่อนี่ไม่รู้ กกต. ทำเสร็จหรือยัง


ก่อนหน้านี้ หลายคนคาดหวังว่าหลังผ่านปรากฏการณ์ทะลุเพดาน รวมถึงการเคลื่อนไหวบนท้องถนนไปแล้ว ในสนามหาเสียงเลือกตั้งจะมีการพูดถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือยกเลิกมาตรา 112 แต่จนถึงขณะนี้หลายพรรคการเมืองก็ยังไม่กล้าพูดถึงมากนัก ประเด็นนี้อาจารย์มองอย่างไร

มันเป็นสิ่งที่ถึงอยากจะพูดดังๆ ก็พูดดังมากไม่ได้ อย่างที่ผมบอก ปัญหาคือสิ่งผิดปกติของการเมือง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองถึงแม้ว่าจะมีความมุ่งมั่นแก้ไข แต่คุณไม่สามารถพูดออกมาได้ชัด ผมเชื่อว่าแต่ละพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่สนับสนุนความเปลี่ยนแปลงจะมีคนหนุ่มสาวอยู่ คนพวกนี้จำนวนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่ประสบภัยจากคดีการเมือง จากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมกับตัวเอง แล้วถึงจุดหนึ่ง เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง อย่างไรพรรคการเมืองก็ต้องเดินหน้าไปต่อพร้อมกับประชาชน

แต่พรรคการเมืองก็มักบอกว่าถ้าประชาชนไม่พูด เราจะไปต่อได้ยังไง เราต้องตอบสนองประชาชน คุณเริ่มก่อนเลย ผมจะตาม ทำให้กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ เป็นความย้อนแย้งว่าตกลงใครจะเริ่มก่อน ทั้งๆ ที่ฝ่ายประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบแล้ว


บางคนมองว่าเสียงเรียกร้องประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในสังคมยังไม่ดังพอ ทำให้พรรคการเมืองเพิกเฉย

มันดังจนสั่นสะเทือนไปทั่วแล้วครับ พรรคการเมืองทำหูทวนลมไม่ได้หรอก ผมว่าเอาเข้าจริงแล้ว ทุกคนรู้ ทุกคนมีปัญหากับสิ่งนั้นสิ่งนี้เต็มไปหมดในชีวิตประจำวัน แต่บางพรรคก็อาจจะมี agenda ที่ใหญ่กว่านั้น คุณหงายไพ่ทุกใบไม่ได้ ในสนามการเมืองที่พูดง่ายๆ ว่าเหมือนสนามฟุตบอล กรรมการเป็นฝ่ายเขาไม่ใช่ฝ่ายเรา สนามเอียงมาทางเรา ประตู (goal) ของเราอยู่ต่ำกว่า เตะบอลยังไงลูกก็ไหลมาหาประตูฝ่ายคุณ ทำให้ต้นทุนของการหงายไพ่ทุกใบสูง นโยบายที่อยากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูป 112 ก็พูดได้ไม่เต็มปากหรือต้องเลี่ยงที่จะพูด

แต่นั่นหมายความมันจะผลักดันให้การลงคะแนนเลือกตั้งใช้สิทธิ์รอบนี้เป็นการลงคะแนนที่เข้มข้น และแข่งขันกันเองในหมู่ของคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงด้วยว่าคุณมีทางเลือกไม่เยอะ แล้วคุณจะเลือกฝั่งไหน พรรคไหน ผมว่าพรรคการเมืองยังไงก็ดีกว่าฝ่ายเผด็จการ เพราะพรรคการเมืองยังไงก็ต้องทำหน้าที่ตอบสนองประชาชน


นอกจากประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีประเด็นอื่นๆ ที่เป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปรากฏในสนามเลือกตั้งบ้างไหม

โอ้ ชัดเจนเลย สมรสเท่าเทียม ผมคิดว่าสำคัญมากๆ นะครับ ในช่วงท้ายๆ ของการเคลื่อนไหวที่เราเรียกแบบรวมๆ ว่ากลุ่มราษฎร ผมยกให้ LGBTQ+ เป็นธงนำของการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำไป คนเหล่านี้มีสำนึกทางการเมืองสูงมากๆ ปัจจุบันเราเห็นความลื่นไหลทางเพศ จากเดิมที่มีแค่หญิงชาย มีชายรักชาย หญิงรักหญิง สมัยนี้มันไปไกลกว่านั้น ทำให้ LGBTQ+ นอกจากตั้งคำถามกับตัวเองแล้ว ยังตั้งคำถามกับระบบการเมืองที่กำกับชีวิต เขารู้สึกถึงความท้าทายในอนาคต และความเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก ประกอบกับตอนนี้ต้นทุนชีวิตคนเราสูงขึ้นมากนะครับ คุณเรียนจบมาอาจได้เงินเดือนแค่ 15,000 บาท คุณจะไปผ่อนคอนโดและรถในเวลาเดียวกันได้ยังไง

การที่คนรุ่นใหม่มีสำนึกเสรี เป็นตัวของตัวเอง และมองหาอาชีพอิสระมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวด้านอัตลักษณ์ทางเพศเกิดขึ้นได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในบริษัทห้างร้านแบบคอนเซ็ปต์เดิมที่ต้องจำกัดตัวเองอีกต่อไป ไม่ได้เป็นข้าราชการ ตอกบัตรเข้างาน 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น พวกเขาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ แล้วคนเหล่านี้ต้องการสวัสดิการ การดูแลจากรัฐ

ดังนั้น ประเด็นที่เคลื่อนไหวต่อจากสมรสเท่าเทียมคือรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมคิดว่ารัฐไทยคิดไม่ถึง แต่อย่างที่เล่าไปตอนต้นนะครับว่าสังคมเศรษฐกิจไทยถูกแผนพัฒนาที่ใหญ่และยาวนานที่สุดครอบงำไว้ ตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา 62 ปีเราได้เท่านี้ ต้องตั้งคำถามแล้วนะครับว่า 62 ปีเราได้เท่านี้เองเหรอ แล้วการลงทุนที่คุณอ้างว่าเพื่อการพัฒนาประเทศไปไหนหมด มันถึงประชาชนสักเท่าไหร่

นี่เป็นปรากฏการณ์จากสมรสเท่าเทียม ถึงรัฐสวัสดิการ เคลื่อนมาถึงระบบการบริหารราชการแผ่นดิน และอีกเรื่องสำคัญคือการเกณฑ์ทหาร นี่เป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน จู่ๆ กำลังคนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ชายหรือกลุ่ม transgender หายไป 1-2 ปี แล้วแต่ระดับการศึกษา แล้วแต่ระดับความยินยอม ถามว่าคุณเอาคนไปทำอะไรโง่ๆ ตั้ง 2 ปี คนเหล่านี้คือคนที่มีศักยภาพสูงมากในการผลิตมูลค่าเพิ่ม ประเทศเกาหลีใต้ที่เคลมว่าตัวเองอยู่ในภาวะสงคราม ชายเกาหลีทุกคนจึงต้องเข้าร่วมกองทัพ เขายังยกเว้นให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมความบันเทิงเลย ไอดอลเกาหลีบางคนขอเลื่อนได้ เพราะเขารู้ว่านี่คือเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีศักยภาพมากกว่าเอาคนไปวิ่งซ้ายหันขวาหัน ตัดหญ้า เลี้ยงไก่ในกองทัพ ผมเห็นอย่างน้อย 3 ประเด็นนี้ที่เป็นประเด็นจากการเคลื่อนไหวช่วงที่ผ่านมา



หากมองในมุมของพรรคการเมือง อาจารย์คิดว่าความท้าทายใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้คืออะไร

แล้วแต่ว่าจะมาจากมุมไหน ถ้าเป็นร้านหัวซอยท้ายซอยที่ปิดทางออกเราไว้ เขาคงบอกว่าความท้าทายคือทำยังไงให้สินค้าอั๊วะขายได้หมดทั้งที่คุณภาพต่ำ อีกเรื่องคือทำยังไงให้มี ส.ส.สองพรรครวมกันแล้วอำนาจของเขาเท่าเดิม ไม่ลดน้อยลง ทำยังไงสิ่งที่ทำไว้ในอดีตจะไม่มาหลอกหลอน มาสังหารพวกเขาในท้ายที่สุด

ส่วนโจทย์ของอีกฝั่งหนึ่งคือเราจะทะลุทะลวงอำนาจที่กดทับมาเป็นเวลานานได้ยังไง เราจะเสนอนโยบายโดยที่ไม่ถูกนำไปร้องเรียนว่าเป็นนโยบายประชานิยม เป็นนโยบายที่ไม่มีมาตรการทางการเงินการคลังรองรับได้ยังไง เสนอนโยบายแบบไหนถึงไม่ถูกด่าว่าเป็นพวกสุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินโดยที่ไม่ถูกตรวจสอบ หรือทำยังไงถึงจะเสนอประเด็นการเกณฑ์ทหารโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าทรยศชาติ นี่คือความท้าทายแรก

ความท้าทายที่สองคือในสถานการณ์เช่นนี้ จำนวนเสียงของ ส.ส. ในสภาสำคัญมาก และปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าสังคมการเมืองไทย ถึงเงินจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่ง สมัยก่อนพูดกันว่ามีเงิน 6 พันล้าน หมื่นล้าน ก็ซื้อประเทศไทยได้ ซื้อ ส.ส. เสียงข้างมาก กลายเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งจากพรรคการเมืองพรรคเดียว มันมีส่วนจริง เพราะการที่คุณมีทรัพยากรเยอะ แบรนด์ของคุณเข้มแข็ง ใครๆ ก็อยากเข้าพรรคคุณ มาอยู่ซุ้มเดียวกัน ได้ทั้งทรัพยากร ทั้งความเชื่อมั่น ก็ win-win กันทั้งตัวนักการเมืองและพรรค

โดยปกติ ถ้าพรรคไหนได้จำนวน ส.ส.เกินครึ่งในสภาถือว่าสบายตัว แต่ในการเลือกตั้งรอบนี้ ถ้าคุณเป็นฝ่ายค้านมาก่อน การจัดตั้งรัฐบาลคราวหน้าไม่ใช่แค่ต้องได้ 250 ที่นั่ง แต่ต้องได้อย่างน้อย 371 หรือ 400 ที่นั่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะเรายังมีวุฒิสภาที่เป็นคนได้รับการแต่งตั้งจากพลพรรคคุณประยุทธ์และคุณประวิตร เรียกกันว่าพรรคการเมืองแฝง ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าคนเหล่านี้เลือกกันยังไง แคนดิเดตกี่คน ใช้วิธีจับฉลากหรือเอาไก่ไปแลก

เมื่อคุณชนะการเลือกตั้ง คุณต้องต่อสู้กับ 250 เสียงในวุฒิสภา ถึงหลายคนบอกว่าจะไม่ใช้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แต่อีกหลายคนก็ออกอาการให้เห็นว่าเขาไม่ยอมให้อีกฝ่ายง่ายๆ แน่ ดังนั้นสมมติว่าพรรคที่ชนะเป็นพรรคที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเขา ได้ 250 ที่นั่งก็ยังไม่พอ 270 ก็ไม่พอ ต้อง 300 กว่าคนถึงจะมั่นคง การันตีว่าคุณจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น สร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมา หรือเกิดขบวนการสมรู้ร่วมคิดบางอย่าง ทำให้พรรคการเมืองมีไส้ศึก จนนำไปสู่การยุบพรรคก็เป็นไปได้ งูเห่ายังมีมาแล้วนะครับ จะไม่มีไส้ศึกเลย มันเป็นไปได้หรือ ผมว่าเป็นไปได้

ฉะนั้น แต่ละฝ่ายมีความท้าทาย แต่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยหรือพรรคที่อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้คืนสู่สภาวะปกติจะหนักกว่า เพราะว่าคุณกำลังสู้กับอำนาจรัฐ แค่เป็นอำนาจรัฐที่เข้มข้นน้อยลง


กล่าวได้ไหมว่าความท้าทายของบรรดาพรรคการเมืองอยู่ที่หลังเลือกตั้งเสียมากกว่า

มันเหมือนหมอกลงน่ะครับ พอหมอกลงแล้วเราคงขับรถ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไม่ได้ ต้องขับแค่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่อยๆ ผ่านด่านแต่ละด่าน คุณผ่านด่านแรกแล้วก็จริง แต่ยังไม่ทันจะโล่งใจ จะมีด่านตรวจบล็อกทางเราแล้วปล่อยไอ้ข้างหลังแซงหน้าขึ้นไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือพอถึงปลายทางจะถูกจับฟาล์วเพราะหาว่าที่ผ่านมาคุณเคยขับอ้อมอยู่ด่านหนึ่ง เราไม่เห็นระยะทางล่วงหน้า ไม่มีวิสัยทัศน์พอจะเห็นอะไรไกลๆ รู้แค่แต่ละช่วงถนนมีอุปสรรค มีบัมเปอร์ (ลูกระนาด) หลุมพราง กับดักตะปูเรือใบ

การเลือกตั้งแบบนี้ถูกผูกไว้กับความไม่แน่นอน ทั้งที่ประชาธิปไตยคือระบบการเมืองที่พยายามสร้างสิ่งที่ทำนายได้ หมายความว่ารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี เรารู้ว่าต้องเลือกตั้ง คนที่จะเป็นนายกฯ คือ ส.ส. คือหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่ง แต่ผู้มีอำนาจของเราสร้างความไม่แน่นอนให้ระบบการเมืองทีละขั้นทีละตอน บอกว่าไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ พรรคหนึ่งมีแคนดิเดตนายกฯ ตั้ง 3 เบอร์ ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งแล้วก็ยังมี ส.ว. 250 เสียงรออยู่ปลายทาง พอเป็นนายกฯ ปุ๊บ บอกว่าลืมยื่นบัญชีแหวนวงหนึ่งกับนาฬิกาอีกสองเรือน เป็นต้น

ปัญหาของระบบการเมืองไทยคือฝ่ายเผด็จการพยายามสร้างความไม่แน่นอน เพื่อที่อำนาจจะได้ไหลมาหาเขา หาคนที่มีบารมี มีอำนาจฟันธงชี้ขาดในทางการเมือง พยายามกำกับระบบการเมืองแบบผิดวิปริต มันเป็นการทำลายอนาคตของสังคมตัวเอง นึกภาพว่าถ้าผมเป็นนักลงทุน ผมอยากลงทุนปีหน้าต้องคุยกับใครบ้าง พรรคหนึ่งมีว่าที่นายกฯ 3 คน อีกพรรค 2 คน นับไปนับมาต้องคุยกับว่าที่นัมเบอร์วันของประเทศไทยอย่างน้อย 10 คน สู้ไปคุยกับประเทศที่ชัดเจนกว่านี้ดีกว่า


การเลือกตั้งปี 2562 เราเห็นภาพว่ากติกาแลดูจะส่งเสริมให้พรรคฝั่งผู้มีอำนาจได้เปรียบ ในรอบนี้ที่การเมืองเปลี่ยน คนเปลี่ยน ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองยังเหมือน 4 ปีที่แล้วไหม

ปี 2562 คุณประยุทธ์แทบจะนั่งเสลี่ยงมาเป็นนายกฯ เพราะนอกจากพรรคพลังประชารัฐก็ยังมีเสียงจาก ส.ว. 250 คน แต่รอบนี้คุณประยุทธ์คงไม่ได้เสียงจาก ส.ว. ทั้งหมด หรืออาจจะต้องเป็นคุณประยุทธ์บวกคุณประวิตรถึงจะได้ ซึ่งผมว่าปลายทางเขาคงมารวมกันแน่นอน คนพวกนี้เขาผูกพันกันมานานเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ เราคงมีเพื่อนที่เคยโกรธกัน แต่เขารู้ความลับทั้งหมด คนประเภทนี้ยังไงก็ต้องกลับมาหากัน แล้วต้องเข้าใจธรรมชาติของคนที่เป็นนักการเมืองนะครับว่าเขาดีลกันด้วยผลประโยชน์ เขาคือคนที่สร้างความเป็นไปได้ โกรธกันยังไง ทะเลาะแค่ไหนเขาก็คุยกันได้ เราอย่าไปมองการเมืองแบบมีขาวมีดำ สำหรับเขาทุกอย่างเทาหมด ทุกอย่างลื่นไหลได้หมด

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงสองพรรคจะแยกกัน แต่ปลายทางก็ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา เพียงแต่เงื่อนไขรอบนี้คือคุณอาจจะไม่มีอำนาจเข้มข้นแบบเดิม ส่วนพรรคฝ่ายค้าน 4 ปีที่ผ่านมาทำคะแนนได้ดี เราได้เห็น performance เห็นคาริสม่า ความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญของใครหลายคน เราคงให้คะแนนคนเหล่านี้มากกว่าคนที่ไม่พูดอะไร ยกมือเป็นฝักถั่วอย่างเดียว

บางพรรคก็น่าเห็นใจและน่าเสียดายว่าสร้างตัวตนขึ้นมาเป็นพรรคเน้นการตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของพรรค เจ้าของทุน หรือผู้มีบารมีมากพอ ผ่านไป 4 ปีก็กลายเป็นคนไร้ราคา บางคนมีปัญหาบางอย่างในตัวเองจนต้องย้ายจากพรรคที่เดิมทีมีแบรนด์แข็งแรง ไปอยู่พรรคที่แบรนด์อ่อน โดยรวมๆ ผมมองว่าการเลือกตั้งรอบนี้เดายาก เข้มข้น แล้วปลายทางจะเป็นการแข่งขันดึงเสียงพรรคการเมืองขนาดกลางเพื่อจัดตั้งรัฐบาล


การเลือกตั้งปี 2562 ดีเบตใหญ่ที่ส่งผลต่อการลงคะแนนเสียง คือการเลือกเพื่อหยุดสืบทอดอำนาจรัฐบาล คสช. สำหรับการเลือกตั้งคราวนี้อาจารย์พอเห็นประเด็นที่เป็นตัวตัดสินคะแนนเสียงบ้างไหม

การเลือกตั้งรอบนี้มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ อย่างเข้มข้น ในฝั่งที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเดิม เราจะเห็นตัวละครที่เรียกว่า ‘นางแบก’ ‘ติ่งส้ม’ แอคทีฟกันอย่างมาก แล้วยังมีคนอีกหลากหลายกลุ่มเข้าไปพยายามสร้างความนิยมของแต่ละฝ่าย ตรงนี้เองเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ agenda หลักของรอบนี้พูดได้ไม่เต็มปาก สมมติถ้าเพื่อไทยบอกว่าการเลือกตั้งรอบนี้ต้องแลนด์สไลด์ คนสนับสนุนก้าวไกลคงถามว่าแล้วพรรคก้าวไกลจะอยู่ตรงไหนของสมการ เป็นผมก็คงรู้สึก uncomfortable ว่าพี่จะกินรวบเลยเหรอ แล้วที่เหลือจะยังไง แต่แน่นอนว่านี่คือการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม แต่ละฝ่ายมีสิทธิ์พูด ประชาชนจะไว้ใจใครก็เลือกคนนั้น พรรคนั้นแหละ

ยิ่งไปกว่านั้น เรารู้ว่าในรอบนี้มีหลายอย่างที่พรรคการเมืองอาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปาก เช่น จะมีพรรคไหนยืนยันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น พอได้เป็นรัฐบาลปุ๊บจะรีบดำเนินการ หรือจะมีพรรคไหนที่ประกาศยุติอำนาจ ส.ว. เปลี่ยนหรือโละ ทำให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง มันมีอยู่บ้าง แต่พูดชัดมากไปก็อาจโดนหยิบไปร้องในศาลรัฐธรรมนูญอีก หาว่าการจะเปลี่ยน ส.ว.ให้เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐหรือเปล่า ถ้าถูกกล่าวหาว่าคุณกำลังจะล้มโครงสร้างรัฐแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โอ้โห มันจะเป็นประเด็นให้ตีปิงปองสู้คดีกันยาว อย่างนี้เป็นต้นครับ

เมื่อแต่ละฝ่ายพูด agenda ที่อยากทำได้ไม่เต็มที่ ก็เกิดสภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอน คือเปิดห้องเจรจาต่อรอง ล็อบบี้กัน นี่เป็นตัวอย่างศิลปะของเผด็จการในการครอบงำอำนาจ ประชาธิปไตยพยายามเปิดทุกอย่างให้เห็น อะไรอยู่ในที่ลับต้องเปลี่ยนเป็นที่แจ้ง แล้วคุยกันให้จบ แต่การเมืองแบบเผด็จการจะทำทุกอย่างให้อยู่ในเสียงกระซิบ อยู่ในพื้นที่รโหฐาน เพื่อให้การต่อรองนั้นเป็นไปโดยที่ประชาชนไม่ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วม



ในฐานะนักวิเคราะห์กลยุทธ์สื่อสารการตลาดการเมืองไทย มีความคิดเห็นต่อจุดแข็ง-จุดอ่อน จุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งรอบนี้อย่างไร – เริ่มจากพรรคเพื่อไทย

เพื่อไทยมีแบรนด์แข็งแรง คนกังวลสงสัยเรื่องความสามารถในเชิงนโยบายและการบริหารประเทศน้อยกว่าพรรคอื่น เพราะเป็นพรรคที่มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ประชาชนจึงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าทำงานได้ทำงานเป็น ผู้สมัครแต่ละคนเรียกได้ว่าผ่านการคัดสรรมาอย่างดี หมายถึงเป็นที่นิยม เป็นคนที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง แถมยังมีซุ้มต่างๆ บ้านใหญ่ต่างๆ ทยอยกลับเข้าเพื่อไทย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี สำหรับผม เพื่อไทยอาจจะเป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดด้วยซ้ำไป

จุดแข็งอีกด้านหนึ่งคือคุณมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ strong ที่สุด จะมีแคนดิเดตพรรคไหนภาษีดีเท่าคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) ที่เป็นลูกของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นหลานอาคุณยิ่งลักษณ์ เป็นหลานลุงคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นคนที่มีประสบการณ์ทางตรง พ่อคุณโดนรัฐประหาร อาคุณโดนรัฐประหาร ลุงคุณโดนปลดอย่างไม่ยุติธรรม ถ้าคุณยิ่งลักษณ์มีเวลา 49 วันในสนามการเมืองก่อนได้เป็นนายกรัฐมนตรี คุณอุ๊งอิ๊งมีเวลามากกว่าคุณยิ่งลักษณ์แน่


แต่หลายคนมองว่าคุณอิ๊งขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้เพราะสถานะลูกสาวของคุณทักษิณ ทั้งที่ตัวเองอายุน้อยและไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง ตรงนี้จะไม่กลายเป็นจุดอ่อนเสียเองหรือ

เรื่องของคุณทักษิณเป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยที่โดนหยิบมาโจมตีเสมอ แต่ถ้ามองประเด็นนี้ในสนามเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ช่วงแรกคนก็กังขาโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะทรัมป์ไม่เคยอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการเลือกตั้งเหมือนกัน สำหรับผม ผมคิดว่าในการทำงานแบบไม่เป็นทางการหรือการบริหารธุรกิจ คุณอุ๊งอิ๊งก็ไม่ใช่เด็กใหม่ในแวดวงบริหาร ผมเชื่อว่าเขามีมุมมองเป็นของตัวเอง เหมือนตอนที่ใครๆ ต่างปรามาสคุณยิ่งลักษณ์ในวันที่เขามาลงเล่นการเมือง แต่สุดท้ายคุณยิ่งลักษณ์ก็ผ่านด่านนั้นได้ พิสูจน์ตัวเองได้ คุณอุ๊งอิ๊งอาจจะเป็นคนที่เผชิญความท้าทายไม่แพ้คุณยิ่งลักษณ์ แต่อย่าเพิ่งดูเบาครับ


อีกหนึ่งสถาบันพรรคการเมืองที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานคือพรรคประชาธิปัตย์ บางคนกล่าวว่าช่วงที่ผ่านมาคือขาลงของพรรค อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

โอ้โห ผมคิดว่าไม่รู้จะลงยังไงด้วยซ้ำไป ประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆ เป็นพรรคที่เคลมว่าผู้สมัครมีการศึกษา มีความรู้ดี ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่เอาเงินไปแจก ไม่ทำประชานิยม แบรนด์เขาเคยเป็นแบบนั้นและเคยเป็นแคนดิเดตอันดับต้นๆ ของฝั่งอนุรักษนิยม แต่วันนี้แบรนด์ดังกล่าวไม่ได้แข็งแรงอีกต่อไป หลายปีมานี้อ่อนปวกเปียก พลพรรคสำคัญแตกไปอยู่พรรคอื่นอย่างรวมพลังประชาชาติไทย พลังประชารัฐ รอบนี้ก็มีแตกไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งทำให้พรรคเหล่านั้นมีแนวโน้มได้ฐานเสียงของประชาธิปัตย์ติดตัวไปด้วย

ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์คือมักอ้างว่าตัวเองเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ แต่คุณไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นสถาบันเก่าแก่ คุณไม่สามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนของคุณเอง แม้กระทั่งไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) ที่คุณฟูมฟักขึ้นมาในฐานะยุวประชาธิปัตย์ เป็นหลานน้าของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยังไม่อยู่พรรคคุณเลย การที่คุณไม่สามารถดึงคนของตัวเองไว้ได้ แสดงว่ามันมีปัญหา คนที่คุณดึงกลับมา อย่างคุณตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์คนรุ่นใหม่อีกแล้ว ไหนจะมีเอ็มวีล่าสุดที่ทำออกมา มีคุณจุรินทร์ขี่ม้าแบบเก้ๆ กังๆ มีคุณองอาจโบกธงแบบบ้งๆ อยู่ข้างหน้า แล้วก็มีคุณสุชัชวีร์นั่งบนเก้าอี้ที่น้ำเจิ่งนอง ผมไม่รู้เขาหมายถึงอะไร ในเชิง visual มันผิดพลาดไปหมด

มันน่าเศร้านะครับ ในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์ ผมเศร้าที่คุณเป็นพรรคซึ่งเติบโตมาจากการปราศรัยเวทีขนาดใหญ่ แต่แบบนั้นมันไม่มีอีกแล้ว แบรนด์ของเขาหมดแล้ว เหลือแค่คุณชวน หลีกภัย ที่พอเป็นหน้าเป็นตาได้ แต่ก็สะท้อนว่านี่คือที่พึ่งสุดท้าย (the last resort) ของเขา คุณไม่สามารถดึงคุณสุเทพกลับมา ไม่สามารถดึงคนอย่างนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ไม่สามารถดึงฮาร์ดคอร์ประชาธิปัตย์เดิมมาอยู่ได้ เพราะฉะนั้นไม่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ แม้แต่ฐานที่มั่นในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างนครศรีธรรมราชก็คงแตกกระจุยไปแล้ว

ถามว่าทำไมภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เสื่อมทรามลง เพราะคุณไม่เล่นการเมืองในระบบ คุณไปสนับสนุนให้พลพรรคของคุณเล่นการเมืองข้างถนน ทั้งๆ ที่การเมืองในระบบควรจะเดินต่อไป การที่พลพรรคของคุณไปร่วมกับ กปปส. นั่นคือหายนะของประชาธิปัตย์


สำหรับพรรคที่มีผู้นำเป็นทหารอย่างพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ อาจารย์เปรียบสองพรรคนี้เหมือนพรรคหัวซอยท้ายซอย มั่นใจมากว่าอย่างไรประชาชนก็ต้องเลือกเขา ไม่ว่าจะขายอะไร ทำไมเขาถึงมั่นใจเช่นนั้น

เพราะเขาโหนเก่ง เขาเป็นทาร์ซาน พรรคอื่นโหนเก่งไม่เท่าเขา ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา สองพรรคนี้ได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นนำ จากฝ่ายอนุรักษนิยมว่าเป็นตัวแทนของพวกเขา เพราะฉะนั้น อย่างที่ผมบอก สองร้านนี้ทำอาหารโหลยโท่ยมากเลย คนเสิร์ฟโยนจานโยนช้อนให้คุณเก็บกิน คุณก็ต้องกินเพราะคุณไม่มีตัวเลือก เราไม่มีฝ่ายอนุรักษนิยมที่ฉลาดพอจะสร้างพรรคการเมืองให้เป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่ สร้างนโยบายใหม่ๆ ไม่ได้ ยังไงคุณก็ต้องหันมาหาสองร้านนี้แหละ


จากอดีตกลุ่มผู้นำทหารที่ทำการรัฐประหารปี 2557 ตอนนี้ทั้งคุณประยุทธ์และประวิตรเข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัวแล้ว อาจารย์พอเห็นภาพไหมว่าวิธีทำการตลาดแบบฉบับทหารต่างจากนักการเมืองพรรคอื่นอย่างไร

ก็ปราศรัยไปด่าไป (หัวเราะ) ลูกค้าถามเฮียครับ สั่งกะเพราหมู ทำไมได้กะเพราปลา สั่งกะเพราเนื้อ ได้กะเพรากุ้ง อาเฮียก็ตอบหยาบๆ กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ไม่ต้องแดก ลูกค้าติเขาไม่ได้อยู่แล้ว แถมใครๆ ก็รู้ว่านี่เป็นบุคลิกภาพของเขา มีคนบางกลุ่มที่เลือกอุดหนุนร้านแบบนี้เพราะเฮียเขาด่าสนุกดี จริงใจดี บอกกันตรงๆ ว่าผมทำไม่อร่อยนะ กินไม่กินเรื่องของคุณ ทำให้ได้เท่านี้แหละ ผมเหนื่อยนะเว้ย นี่เป็นยุทธวิธีการตลาดของเขา


หากเปรียบเทียบระหว่างสองพรรคนี้ หลายคนประเมินว่าในทางการเมือง คุณประวิตรอาจจะมีภาษีดีกว่าคุณประยุทธ์ เพราะสามารถคุยได้กับหลายฝ่าย แบบนี้คะแนนของฝั่งอนุรักษนิยมน่าจะเทไปยังพรรคพลังประชารัฐมากกว่าหรือเปล่า

ปัญหาใหญ่ของสองพรรคนี้คือคุณไม่สามารถแยกตัวเองออกจากกันและกันได้  แต่กลับกัน ถ้าคุณจงใจไม่สร้างความแตกต่างระหว่างพวกคุณเอง จงใจทิ้งให้เป็นความคลุมเครือ หมายความว่าปลายทางคุณก็ไปรวมกันเป็นพรรคเดียวนั่นแหละ เผลอๆ สองพรรคอาจรู้แล้วว่าจะมี ส.ส.ในมือรวมกันเท่าไหร่ บวกกับพรรคอื่นๆ เป็นเท่าไหร่ แล้วผมเชื่อว่านี่เป็นกลยุทธ์ของเขา ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง พวกเขาเองรวมกันก็น่าจะมี ส.ส.มากกว่าพรรคอันดับหนึ่ง เป็นการแตกแบงก์พัน


สำหรับพรรคก้าวไกลที่สานต่ออุดมการณ์จากพรรคอนาคตใหม่เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 อาจารย์คิดเห็นอย่างไร Branding ยังคงน่าประทับใจเหมือนคราวก่อนไหม

พรรคอนาคตใหม่เป็นผลพวงจากความพยายามสร้างระบบการเมืองที่ผิดปกติ คือกลัวพรรคการเมืองขนาดใหญ่ กลัวพรรคใดจะมีเสียงข้างมากเด็ดขาดจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว คุณเลยไปกำกับจำนวน ส.ส. พึงมี พอเพื่อไทยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ คะแนนเหล่านั้นก็ปัดตกลงมาบนตักของพรรคอนาคตใหม่มากที่สุด ทำให้มี ส.ส.ถึง 80 คน แต่อย่างที่ผมบอก มันมีด่านอีกมากมายที่ดักรออยู่ ผ่านด่านเลือกตั้งไป คุณก็ไปจับตัดขาด้วยการยุบพรรค ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ซึ่งได้ผลตามที่เขาอยากได้ คือหนึ่ง กำจัดคนที่เป็นภัยคุกคาม สองคือได้ช้อนงูเห่า ช้อนเอาคนที่กำลังจะแปรพักตร์

แต่ในรอบนี้ ต้องยอมรับว่าผลของการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ยกตัวอย่างเช่น คุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) หัวหน้าพรรค คุณรังสิมันต์ โรม คุณอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และอีกหลายๆ คน ทำให้พรรคได้รับความเชื่อมั่น ผมเชื่อว่าคนที่เคยโหวตอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งก็ยังคงโหวตก้าวไกลเหมือนเดิม

ในด้านของแบรนด์ เขาแข็งแรงมาก แต่จุดอ่อนคือเป็นแนววัยรุ่นสร้างตัว แต่ละคนมีประสบการณ์น้อย ต้องชนกับบ้านใหญ่ในบางพื้นที่ และความน่าสนใจอยู่ที่ว่าพรรคนี้มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่เสียมาก ถ้าเราไปดูสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากผมจำไม่ผิด Gen X ยังเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด Gen Y และ Gen Z ต้องรวมกันถึงได้ขนาดเท่าผู้ลงคะแนนกลุ่ม Gen X เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าคะแนนเสียงจากทั้งสองกลุ่มกลายเป็นเบี้ยหัวแตก ไปโหวตเพื่อไทยบ้าง ก้าวไกลบ้าง อาจจะส่งผลให้ ส.ส.เขตของพรรคที่น้อยอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไปอีก


พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่อาจเรียกได้ว่าเสน่ห์แรงในการเลือกตั้งรอบนี้ เพราะมีอดีต ส.ส. จากหลายพรรคตบเท้าเข้าร่วมมากมาย อีกทั้งหลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะเป็นพรรคตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวอาจารย์เห็นกลยุทธ์การตลาดอย่างไร

ถ้าประเมินจากความเป็นจริง พรรคการเมืองที่ยึดหลักอำนาจเป็นธรรม ก็คือพรรคนี้แหละ ใครเป็นรัฐบาลก็ได้ ขอให้ได้มีอำนาจ ใครดีลได้ผมก็อยู่กับพรรคนั้น ในการเลือกตั้งรอบก่อนว่ากันว่ามีการต่อรองให้คุณอนุทินเป็นนายกก็ได้ แต่คุณอนุทินไม่เอา จะไปเอากัญชา ไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ตกลงกันได้เลยไปรวมกับฝั่งคุณประยุทธ์ โดยเชื่อว่านั่นคือจุดที่ทำให้พรรคมั่นคง

รอบนี้ได้ยินว่าเป็นพรรคที่มีกระสุนเยอะที่สุด มีอดีต ส.ส.มาซบอกไม่น้อย แต่ ส.ส.เหล่านั้นบางส่วนก็เป็นงูเห่าจากพรรคอื่น ซึ่งไม่น่าจะได้รับเลือกตั้งอีกแน่ๆ เพราะฉะนั้นถึงเขาจะมีตัวเลขอดีต ส.ส.ในมือจำนวนหนึ่ง แต่มันไม่แน่นอน จำนวนที่เขาจะได้แน่ๆ มาจากบ้านใหญ่ชัวร์ๆ

เป้าประสงค์ของภูมิใจไทยคือการชนะตลอด หมายความว่าเขาจะได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลตลอด เขาไม่ได้ต้องการจำนวน ส.ส.สูงสุด แต่ต้องการอำนาจต่อรองสูงสุด ซึ่งอำนาจต่อรองสูงสุดในสมการการเมืองตอนนี้ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง เพราะถ้าพรรคอันดับหนึ่งมีเสียงไม่พอในสภา ก็ต้องอาศัยพรรคระดับกลางลงมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป พรรคขนาดกลางจึงมีบทบาท มีอำนาจต่อรองสูง ภูมิใจไทยก็พูดได้ว่าแต่งตัวสวยๆหล่อๆ รอคนมาขอให้ไปร่วมรัฐบาล ซึ่งเขาเองยินดีจะธำรงความเป็นพรรคแบบนี้ไว้


หากถามถึง Branding ของพรรคภูมิใจไทย Branding ของเขาคืออะไร

ชัดเจนนะ แบรนด์ของเขาคือกระท่อมและกัญชา เป็นทั้งจุดเด่นจุดอ่อน แน่นอนว่าคนที่ไม่โอเคกับยาเสพติด และเชื่อว่ากัญชามีส่วนของสารเสพติด ยังไงคงไม่ซื้อภูมิใจไทยแน่ๆ แต่ขณะเดียวกัน มีคนได้ประโยชน์จากนโยบายกัญชาแบบเทาๆ ตราบเท่าที่คุณยังขายฝันจะผลักดันกัญชาเสรี จะคุ้มครองการผลิต การแปรรูปกัญชาเพื่อการพาณิชย์ ก็ยังมีคนซื้ออยู่

เราจะไปหานวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ จากภูมิใจไทยคงจะยาก เพราะผมว่าการได้เข้าร่วมรัฐบาลคือเป้าหมายสูงสุดของเขา ไม่ใช่จำนวนที่นั่งสูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร นี่คือส่วนน่าเศร้าเหมือนกัน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะเป็นโชว์เคสของพรรคภูมิใจไทยในฐานะที่บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงทักษะบริหารวิกฤตและภาวะผู้นำ แต่เขาก็แสดงตัวตนออกมาแล้วว่าไม่ได้อยากเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นเบอร์กลางๆ แต่มีคนเรียกใช้ตลอดดีกว่า


ถึงอย่างนั้นพรรคภูมิใจไทยก็เคลมตลอดว่าประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤตโควิดนะคะ

พูดได้ก็พูดไปเถอะครับ แต่ตัวเลขคนตายมันก็ชัดเจนใช่ไหม ผมยังเก็บใบเสร็จวัคซีนโมเดอน่าไว้อยู่นะ เป็นหลักฐานความล้มเหลวของภูมิใจไทย


ในกลุ่มพรรคขนาดกลาง มีพรรคไหนที่ดูน่าสนใจในการเลือกตั้งรอบนี้บ้าง

พรรคขนาดกลางส่วนมากจะเป็นพรรคที่สร้างตลาดเฉพาะ อย่างพรรคเสรีรวมไทยของคุณเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส มี performance ดีในเรื่องการปราบปรามทุจริต การแสดงตนอยู่ตรงข้ามคุณประยุทธ์อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา และมีภาพนักการเมืองที่เป็นอดีตข้าราชการ ทำให้มีฐานสนับสนุนที่เป็นจริงจำนวนหนึ่ง

ส่วนตัวผมว่าคุณเสรีพิศุทธ์มี agenda ว่าถ้าร่วมรัฐบาลต้องให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งรองนายกฯ หรือตำแหน่งที่คุมตำรวจ คุมการกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจุดยืนก็อาจจะคล้ายกับภูมิใจไทย คือพรรคไม่จำเป็นต้องชนะ แต่เข้าร่วมรัฐบาลได้ แค่จุดยืนที่เป็นประชาธิปไตยกว่าของคุณเสรีพิศุทธ์ ทำให้รอบที่ผ่านมาเขาไม่ได้อยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่รอบหน้าก็ไม่แน่ ถือเป็นพรรคที่มีจุดแข็งชัดเจนเมื่อเทียบกับพรรคอื่น

ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ผมว่าน่าเห็นใจคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะคุณสุดารัตน์เป็นนักการเมืองที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน มีความเป็นแบรนด์ด้วยตัวเอง พันธมิตรใกล้ชิดที่ออกไปตั้งพรรคใหม่กับคุณหญิง เช่นคุณการุณ โหสกุล คุณศิธา ทิวารี คุณอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ยังเป็นขุนพลสำคัญที่เกาะกลุ่มกับคุณหญิงสุดารัตน์อย่างเหนียวแน่น แต่ปัญหาคือพอคุณหญิงสุดารัตน์ออกจากเพื่อไทย แบรนด์ของตัวคุณหญิงเองไม่เข้มข้นมากพอ ถึงคุณหญิงสุดารัตน์จะบอกว่าตัวเองมีส่วนสำคัญในการผลักดัน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายสุขภาพพื้นฐาน แต่ก็ถือว่าโดดเด่นน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ดี

เวลาเห็นป้ายหาเสียงของพรรคนี้ หลายคนก็บอกว่ามันทัชนะ คนอาจจะซื้อแต่อาจจะไม่ลงคะแนนให้ เพราะมันยังไม่นำไปสู่แอคชันที่เห็นได้ชัดเจนว่าเขาจะทำอะไรต่อ เมื่อคุณแยกตัวมาแล้ว สร้างอัตลักษณ์ได้แค่ในระดับบุคคล ยังไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ของพรรค มาเจอแบรนด์เพื่อไทยที่เข้มข้นกว่าไทยสร้างไทยโดยธรรมชาติก็ทำให้โดดเด่นน้อยลง



มองไปในตลาดการเมืองไทย พรรคแบบไหนที่คนต้องการ แต่เรายังไม่มี

สภาพของเราเหมือนอยากได้ตัวท็อปแบบแบล็กพิงก์ในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่เราไม่สามารถมีได้ในกติกาและเงื่อนไขทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่หรอกครับ ในการเลือกตั้งรอบนี้ ผู้สมัครทั้งหมดคือคนที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะมีได้ และเท่าที่เขาจะยอมมาเล่นการเมืองตราบเท่าที่การเมืองไทยยังถูกเตะตัดขากันได้อยู่

การทำลายว่าที่ผู้นำทางการเมืองของสังคมโดยการตัดสิทธิทางการเมือง ด้วยการสร้างข้อกล่าวหาทางการเมือง ย่อมทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่ายังไงการเมืองก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยุ่ง คนที่เขามีความสามารถก็ไม่อยากเข้ามาสัมผัส นี่คือปฏิกิริยาย้อนกลับ (backlash) ของสถานการณ์ที่ผ่านมา


สภาพการเมืองไทยในปัจจุบันเอื้อให้สถาบันพรรคการเมืองลงหลักปักฐานได้มากน้อยแค่ไหน หากนับว่าพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงและความเป็นมายาวนานมีอยู่แค่ไม่กี่พรรค และทุกการเลือกตั้งจะเกิดพรรคหน้าใหม่เข้ามาชิงชัยตลอด

90 ปีที่ผ่านมา เรามีการเลือกตั้ง 10 กว่าครั้ง ซึ่งจริงๆ ควรจะมี 20 กว่าครั้งถ้าจัดทุก 4 ปี แต่ด้วยเหตุที่ว่าเรามีรัฐประหารบ่อย ถึงจังหวะครบวาระปุ๊บ อ้าว โดนรัฐประหาร แล้วก็มีช่วงเวลาที่เราถูกดองเอาไว้ เช่น ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2502-2512 ยุคคุณประยุทธ์ ปี 2557-2562 ช่องว่างในช่วงเวลาเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองขาดโอกาสในการพัฒนา นึกดูว่าเกือบ 10 ปีไม่มีการเลือกตั้งเลยสักครั้ง ใครจะอยู่รอดกัน มันยาวนานมากนะ

ถึงตอนนี้จะไม่มีรัฐประหาร แต่ยังมีคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แล้วคนเหล่านี้น่าสนใจทั้งนั้น ไม่ว่าคุณธนาธร  อาจารย์ปิยบุตร คุณพรรณิการ์ หรือว่าคนในพรรคอื่นๆ  เราอยู่ในสังคมที่ทำลายผู้นำการเมืองในอนาคตของตัวเอง และทำลายพรรคการเมืองด้วยการยุบพรรค ซึ่งว่ากันตามจริง พรรคการเมืองก็เหมือนมังกรไฮดรา 7 หัว ตัดไปหัวหนึ่งเดี๋ยวก็งอกใหม่อีกเพราะคุณตัดความคิดไม่ได้ คุณยุบพรรคไทยรักไทย กลายมาเป็นพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคพลังประชาชนกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย ถ้าคุณยุบพรรคเพื่อไทยก็จะมีพรรคอื่นขึ้นมาแทน

สิ่งที่น่าสนใจคือยิ่งคุณไปตัดตอนกดขี่แบบนี้ การงอกของหัวมังกรจะเพิ่มมากขึ้น และหัวมังกรเหล่านั้นจะเป็นหัวมังกรที่ดุร้าย ห้าวหาญ ไม่กลัวตาย คุณจะเห็นได้ว่าผู้สมัครเลือกตั้งรอบนี้หลายๆ พรรคเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูง และไม่เคยมีภูมิหลังทางการเมืองมาก่อน สภาวะทางการเมืองยิ่งกดมันยิ่งดัน ถ้าคุณไม่สามารถกำกับได้ดีๆ คุณพังนะ ไม่มีใครมีความสุขกับการเล่นการเมืองบนเส้นบางๆ อย่างนี้ เป็นเกมทีเล่นทีถึงตายกันทั้งสองฝ่าย มันไม่เป็นการดีเลยนะครับ ไม่ใช่สังคมที่จะเดินต่อได้อย่างมั่นคง และผลของมันคือพรรคการเมืองในอุดมคติของประชาชนเกิดขึ้นยาก ดังนั้นคนที่สร้างระบบพิกลพิการพวกนี้ คนที่มีส่วนร่วมในการเมืองที่เสื่อมทรามแบบนี้ต้องรับผิดชอบ

สิ่งที่ดีอย่างเดียวคือเรายังศรัทธาในประชาธิปไตย ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีฝ่ายที่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น แม้เราจะต้องเล่นในการแข่งขันที่ไม่ทัดเทียมกัน สนามเอียง กรรมการลำเอียง กติกาไม่เป็นธรรม หลายคนก็ยังลงเล่น มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าคนยังเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวหน้าต่อไป มันไม่มีทางลัดหรอกครับ คุณใช้อำนาจพิเศษตัดตอนไม่ได้ วิธีที่จะทำให้สังคมดีขึ้นมีแต่ต้องเลือกตั้งมากขึ้น ทำให้กระบวนการต่างๆ ถูกตรวจสอบ เอาทุกอย่างที่อยู่ใต้ดิน ใต้โต๊ะ หลังห้องมาไว้ข้างหน้า ให้ประชาชนช่วยกันตัดสิน ช่วยกันโอบอุ้ม


ขณะที่หลายคนบอกว่าโจทย์เร่งด่วนของรัฐบาลใหม่คือปัญหาปากท้อง อาจารย์เห็นด้วยไหม หรือคิดว่ายังมีโจทย์ใหญ่เรื่องอื่นเพิ่มเติม

ปัญหาเร่งด่วนแน่นอนว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้ เรื่องนี้เห็นชัดและทุกคนรู้ดีว่าเงินในกระเป๋าเราน้อยลง แต่สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันคือวางพิมพ์เขียวทางการเมือง เช่น ภายใน 10 ปี เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ทุกคนยินยอมพร้อมใจ เชื่อมั่นยอมรับ มันอาจจะต้องใช้เวลาเพราะกติกาฉบับปัจจุบันบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องทำประชามติ โอเค ก็รอได้ หรือภายใน 4 ปี เราจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เรื่องเหล่านี้คุณต้องพูด

การแก้ไขประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองก็เป็นเรื่องเร่งด่วนไม่แพ้ปากท้อง เราอาจต้องคุยเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เพราะในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมีคนถูกดำเนินคดีการเมืองมากมาย มีคนที่ต้องลี้ภัยการเมืองหลักร้อยหรือมากกว่านั้น กระทั่งคนในประเทศออกไปหาโอกาสอื่นโดยไม่เกี่ยวกับเหตุผลทางการเมืองก็มีไม่น้อย มีเด็กเก่งๆ ที่เป็นอนาคตของชาติออกไปเรียนต่อเมืองนอกไม่ได้เนื่องจากโดนคดีการเมือง ซึ่งบางทีเป็นคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความสะอาด คดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พอยกเลิก พ.ร.ก. เจ้าหน้าที่ไม่สั่งฟ้องก็ได้ คืนความธรรมให้คนที่ได้รับความอยุติธรรมจากความขัดแย้งทางการเมืองช่วงแบ่งสีเสื้อ

เราต้องทำให้สังคมไทยกลับเป็นปกติโดยเร็ว และกลับมาแสวงหาโอกาสในอนาคตร่วมกัน เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในภูมิภาคนี้ แล้วหันมาคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมึนตึงกัน กดดันรัฐบาลเผด็จการของประเทศเขาไม่ให้ทำร้ายประชาชน หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเหมือนหลุมดำในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอื่นเขาพัฒนาไปในหลายจุดแล้วนะครับ มันถึงเวลาที่เราต้องตั้งหลักทางสังคมการเมืองใหม่ ไม่งั้นโอกาสเอาชนะปัญหาภายในสังคมจะน้อยลงเรื่อยๆ พอโอกาสน้อยลง คนก็หนีไปใช้ชีวิตที่อื่น บุคคลสมรรถนะสูงจะไม่กลับบ้านเกิดเมืองนอน ไม่มีคนที่มีความสามารถมาลงทุนในบ้านเรา ในระยะยาวเราจะเป็นประเทศที่พัฒนาช้าหรือไม่พัฒนา ท่ามกลางความผันผวนของโควิด-19 เราจะเจอกับความถดถอยด้านเศรษฐกิจเรื่อยๆ

เราต้องรีบดึงความเชื่อมั่นของคนให้กลับมาเร็วที่สุด เมื่อมีความเชื่อมั่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ โจทย์การวางพิมพ์เขียวทางการเมืองเป็นโจทย์ร่วมกันของทั้งสังคมที่คนตัวใหญ่ในฝ่ายอนุรักษนิยมต้องออกมาพูดด้วย

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

References
1 ประเมินจากหนังสือ Soft Power ของ Joseph Nye (2004) ที่ระบุว่ามีนักศึกษาที่ศึกษาต่างประเทศประมาณ 1.6 ล้านคน และร้อยละ 28 ศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และมีนักวิชาการแลกเปลี่ยนในสหรัฐกว่า 86,000 คน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save