fbpx

เลือกตั้ง I นักร้อง I ส.ว. I รัฐประหาร : การเมืองไทยยังมีอีกหลายด่านให้ฝ่าไป – พนัส ทัศนียานนท์

“บ้านเมืองนี้มันสิ้นคิดถึงขนาดให้นักร้องเรียนอาชีพมาเป็นคนชี้นำว่าอะไรผิด อะไรถูกกันแล้วหรือ บัดซบจริงๆ” คือข้อความที่พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ ‘นักร้อง(เรียน)’ ที่โลดแล่นอยู่บนหน้าสื่อทุกเมื่อเชื่อวันในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ให้อำนาจประชาชนในการร้องเรียนตรวจสอบนักการเมืองที่ส่อจะมีการกระทำอันมิสุจริต กลับกลายมาเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดอาชีพนักร้องเรียน ที่สร้างความวุ่นวายโกลาหลไม่น้อยในระบอบการเมืองไทย อีกทั้งการประกาศรับรอง ส.ส. ที่ล่าช้า ทำให้มวลชนต่างพากันตั้งคำถามกับการทำงานของ กกต. และบทบาทของ ‘นักร้อง(เรียน)’ ในระบบการเมืองที่อาจเป็นตัวการบั่นทอนวิถีทางแห่งประชาธิปไตยเสียเอง

ยิ่งด้วยมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยิ่งนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้วนั้น นักร้องเรียนเหล่านี้มีเจตนาตรวจสอบความไม่เป็นธรรมจริงอย่างที่กล่าวอ้าง หรือเจตนาใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมืองกันแน่ และหากสมมติฐานข้อนี้เป็นจริง จะมีทางไหนหรือไม่ที่เราจะทำให้การร้องเรียนรัดกุมมากขึ้นกว่านี้ได้

ในช่วงที่กระแสทางการเมืองยังคุกรุ่น 101 สนทนากับ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสาเหตุและปัญหาของการมีอาชีพนักร้องเรียน การแก้ไขกฎหมายให้การร้องเรียนมีประโยชน์ต่อระบบการเมือง ความพอดีของข้อกฎหมายในการร้องเรียน ไปจนถึงสายธารแห่งประชาธิปไตยไทยในสายตาของเขา

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดปรากฏการณ์ ‘นักร้อง’ ที่เห็นได้ตามหน้าสื่อแทบทุกวัน อาชีพนักร้อง(เรียน) เกิดขึ้นมาในการเมืองไทยได้อย่างไร และเหตุการณ์อะไรหรือจุดไหนที่ทำให้อาจารย์โพสต์ข้อความวิจารณ์การกระทำของเหล่านักร้อง

ช่วงที่ผ่านมาเราทุกคนคงเห็นข่าวที่เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งมาตลอด ซึ่งชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และสามารถรวมกับพรรคอื่นๆ เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ และในความเป็นจริง ต่อให้จะชนะการเลือกตั้งแต่ได้ที่นั่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ แต่ถ้าได้รับคะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ หรือมีที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในสภาฯ ก็สามารถไปรวมกับพรรคอื่นที่มีแนวนโยบายในทิศทางเดียวกันและจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ เป็น ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ (minority government/cabinet)

จากผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็คงไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องมาตามข่าวกันทุกวันแบบนี้แล้ว อย่างในประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีผลการเลือกตั้งในลักษณะนี้ออกมาก็เป็นที่รู้กันได้เลยว่า คนที่เป็นแคนดิเดตของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งหรือมีเสียงข้างมากที่สุดในสภาฯ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน ไม่ต้องมานั่งลุ้นอะไรกันแล้ว 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมีลักษณะประหลาดและผิดเพี้ยนไปจากระบบประชาธิปไตยค่อนข้างมาก อาจเรียกว่าเป็นการวางกับดักไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่านอกจาก ส.ส. จะต้องลงมติว่าจะให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดให้ ส.ว. ซึ่งอันที่จริงแล้วได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจเข้ามาปกครองบ้านเมือง เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. ทั้งสิ้น 250 คน ผมพูดตามตรงว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญลักษณะนี้มา อาจมีเจตนาเพื่อไม่ต้องการให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาฯ สามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้โดยง่าย

เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่าต่อให้ก้าวไกลจะรวมกับเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ เป็นเสียงข้างมากในสภาฯ ได้แล้ว ประชาชนกลับยังคงเป็นกังวลกันว่าอาจจะยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ และช่องว่างระหว่างที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เสียทีนี่เองที่นำมาสู่การเกิดปรากฏการณ์ ‘นักร้อง’ ที่ผมรู้สึกว่าไม่ควรจะเกิดขึ้น

ในความคิดของอาจารย์ ปัญหาของการมีนักร้องคืออะไร

อาชีพนักร้องที่ว่านี้คือการร้องเรียนโดยมีเจตนาไม่สุจริตและแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรืออาจจะเป็นมือปืนรับจ้างของผู้มีอำนาจ และการร้องเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของการวางกับดักที่ว่านี้ด้วย ผมมองว่านักร้องเหล่านี้ไม่ได้มีเจตนาสุจริตในการร้องเรียนแต่แรก แต่ร้องเรียนเพราะมีเหตุจูงใจหรือจุดมุ่งหมายทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คือพอมีกฎหมายให้สามารถร้องเรียนก็เหมือนเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านได้ จึงเกิดเป็นอาชีพนักร้องอย่างที่เราทราบกัน เช่น กรณีร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติในการเป็นนายกฯ ของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 

อย่างการอ้างว่าคุณพิธาขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่ออยู่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงและหลักฐานปรากฏชัดเจนอยู่แล้วว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ทำสื่อมานานแล้ว เรื่องก็น่าจะจบได้แล้ว แต่ก็ยังมีการร้องเรียนกันเพิ่มเรื่อยๆ อีก ร้องให้ยุบพรรคบ้าง ร้องว่าไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือยื่นไม่ครบบ้าง นักร้องที่เกี่ยวข้องกับเจตนาทางการเมืองก็มีอยู่ไม่กี่คน และเป็นที่รู้จักกันดีตามหน้าสื่ออยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือนักร้องบางคนไม่มีความรู้ทางกฎหมายเลยด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังอุตส่าห์มาร้องกันได้ทุกวัน

พอมีการร้องเรียนหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วยิ่งเป็นเรื่องพิสดารมาก เพราะประเทศอื่นที่ปกครองแบบประชาธิปไตย พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว เขาจะรู้ผลและสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้เลยในวันรุ่งขึ้น อย่างมากก็ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ แต่ของประเทศไทยให้เวลา กกต. ถึง 60 วัน แม้กฎหมายจะเขียนไว้ว่าต้องประกาศโดยเร็ว แต่สุดท้ายก็มีอีกวรรคหนึ่งในกฎหมายระบุว่า หากมีความจำเป็นก็สามารถยืดเวลาไปได้อีกโดยไม่เกิน 60 วัน ซึ่งภายใน 60 นี้ก็เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้เยอะแยะ จึงยิ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการร้องเรียนกันอย่างอุตลุด

ถ้าอย่างนั้นเราควรกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิร้องเรียนเพิ่มเติมไหม

คงไม่มีประโยชน์ที่จะไปแก้คุณสมบัติของคนร้องเรียน เพราะถึงอย่างไรเขาก็จ้างทนายหรือนักกฎหมายมาช่วยเขียนคำร้องให้ได้อยู่ดี ทางที่ดีคือเราต้องแก้กฎหมายที่เป็นต้นตอของปัญหานักร้อง ผมเห็นว่าควรจะแก้ที่กฎหมายการเลือกตั้ง คือไม่ใช่ว่ากฎหมายจะให้อำนาจ กกต. มากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ 

กฎหมายพรรคการเมืองก็ต้องแก้ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เปิดช่องให้ใครก็ไม่รู้ฟ้องได้หมด ถึงขนาดให้คนคนเดียวร้องให้มีการยุบพรรคการเมืองได้นี่เป็นเรื่องประหลาดมาก จริงๆ ตัวกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนทั่วไปร้องเรียนได้ไม่มีปัญหามากสักเท่าไร แต่มีปัญหาที่คนใช้กฎหมายในการตีความเพื่อขยายอำนาจของตัวเองมากกว่า

จริงๆ แล้วอะไรคือหลักคิดสำคัญที่มอบอำนาจให้ กกตมีสิทธิตรวจสอบพรรคการเมืองและนักการเมืองได้แบบทุกวันนี้

ความคิดที่เป็นพื้นฐานของเรื่องนี้ คือการมองว่าการเลือกตั้งจะต้องสุจริตและเป็นธรรมที่สุด หมายความว่าคนที่จะก้าวข้ามธรณีประตูของรัฐสภาเข้าไปได้จะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งหมด จะกรองให้คนที่มีความด่างพร้อยเล็ดลอดเข้าไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่อยู่บนพื้นฐานว่าระบบการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมามีการโกงและซื้อสิทธิขายเสียงกันมาก จึงได้มีการตั้ง กกต. ขึ้นมา และให้อำนาจหน้าที่ในการคัดกรอง แต่ปรากฏว่าต่อมาฐานความคิดซึ่งเป็นเจตนาดีที่ว่านี้กลับกลายเป็นช่องโหว่ที่มาบั่นทอนระบบการเมืองไทยเสียเอง

สาเหตุสำคัญที่สุดคือเราสร้าง กกต. ขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วยคนหนึ่ง ผมเตือนแล้วตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าจะก่อตั้ง กกต. ขึ้นมาก็ต้องกำหนดให้มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เราไปแก้กฎหมายเลือกตั้งตอนนั้นด้วยการให้อำนาจ กกต. มากขึ้นอย่างที่เป็นในตอนนี้ ก็เลยเกิดปัญหาที่มีการร้องกันไปมา กกต. กลายเป็นผู้พิจารณาว่าจะออกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำ อะไรต่อมิอะไรพวกนี้ขึ้นมาได้ และอ้างว่าเพราะมีการร้องเรียนกันเยอะ จึงขอเวลาในการพิจารณาเพิ่มแทนที่จะประกาศผลการเลือกตั้งทันที 

เมื่อมีการตั้งองค์กรขึ้นมา คงเป็นธรรมชาติของทุกองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะพยายามขยายอำนาจของตัวเองออกไป และวิธีการขยายอำนาจที่ใช้ได้ผลมากที่สุดก็คือการตีความกฎหมาย เพราะภาษาไทยดิ้นได้ คำว่า ‘และ’ ‘หรือ’ แค่พลิกลิ้นนิดหน่อยก็สามารถเปลี่ยนความหมายได้เลย ดังนั้นกฎหมายการเมืองที่มีการเปิดช่องให้มีการร้องเรียนมันมีคนได้ไม่เท่าเสีย กฎหมายเกิดจากหลักการที่ดี แต่ถ้าคนใช้อย่างไม่สุจริต เอาไปใช้ในทางที่ผิด เอาไปใช้ในทางที่ล้มล้างกันทางการเมือง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่สร้างปัญหากับบ้านเมือง

เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่าตอนนี้ กกต. เป็นเหมือนเปาบุ้นจิ้นในการเลือกตั้ง ที่ต้องคอยจับคนโกงเลือกตั้งไม่ให้เข้าสภาฯ แต่จากความเป็นจริงของสังคมและสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาในยุคหลังๆ ผมยืนยันว่า กกต. ควรมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่างเดียว พอจัดการเลือกตั้งไปแล้วจะมีปัญหาอะไรก็ให้ไปฟ้องร้องต่อศาลเหมือนในอดีต และการจะฟ้องร้องที่ศาล คนที่ฟ้องได้ต้องเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ใช่ให้นายหมูนายแมวที่ไหนไม่รู้ไปฟ้องเองได้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นถ้าเปิดโอกาสให้ร้องเรียนง่ายเกินไปก็จะเป็นการเปิดช่องให้เรื่องราวบานปลายไปเรื่อยๆ อย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

อีกอย่างคือต้องแก้กฎหมายให้มีอำนาจรัฐสามารถเข้าไปจัดการคนที่ร้องเรียนโดยไม่สุจริต ยิ่งถ้ามีการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายต้องเข้าไปจัดการ

แล้วถ้าเขาบอกว่า “นี่คือสิทธิที่ประชาชนมี เขาแค่ใช้สิทธินั้นในการร้องเรียนตรวจสอบเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” อาจารย์มองอย่างไร

แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายระบุไว้ แต่สิทธิเสรีภาพในการเที่ยวไปร้องใครต่อใครก็มีหลักการของมัน หลักการมีอยู่ว่าถ้าคุณต้องการ ‘ร้องทุกข์’ หมายความว่าคุณต้องมีทุกข์ คุณต้องได้รับความเดือดร้อน คุณได้รับความเสียหาย คุณจึงไปร้องเรียน แต่ในกรณีนี้ที่สามารถให้ทุกคนในประเทศมาร้องเรียนกันได้ด้วยความคิดที่ว่าจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองดีขึ้น ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสมมติฐานที่เป็นอุดมคติแบบนี้ไม่เป็นความจริงและไม่เป็นไปตามที่วาดฝันกันไว้ ซ้ำยังกลับกลายเป็นการเปิดช่องให้มีการร้องเรียนในลักษณะที่ไม่สุจริตและสามารถเป็นอาวุธใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้

ตัวอย่างเมื่อปี 2556 รัฐบาลสมัยนั้นมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตอนนั้นเป็นยุคที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2554 ที่กำหนดให้มี ส.ว. สองประเภท คือประเภทที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กับประเภทมาจากการสรรหา การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนั้นคือการพยายามยกเลิกไม่ให้ ส.ว. มาจากการสรรหาอีกต่อไป ให้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ถูกคัดค้านโดยฝ่ายค้านในสมัยนั้นและกลุ่ม ส.ว.สรรหา จนมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรนูญหรือไม่ และร้องให้ศาลรัฐธรรนูญพิจารณามีคำสั่งให้สภาฯ หยุดการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองรูปแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การเรียกร้องคราวนั้นที่อ้างว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงให้ยกเลิก ส.ว.สรรหา จะเป็นการล้มล้างสถาบันฯ ใช้วิธีการร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่าถ้าจะร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แล้วอัยการสูงสุดจึงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ปรากฏว่ากลุ่มที่คัดค้านการยกเลิก ส.ว.สรรหาอ้างว่าเขาไปร้องที่อัยการสูงสุดแล้ว แล้วแต่อัยการสูงสุดไม่สั่งการโดยเร็วตามที่เขาต้องการ เขาก็เลยต้องมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญโดยประธานศาลเองในขณะนั้นตีความคำว่า ‘และ’ ในตัวบทกฎหมาย ว่าจะยื่นหรือไม่ยื่นต่ออัยการสูงสุดก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ยื่น และสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุติความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นของปรากฎการณ์ร้องเรียน เพราะถ้าร้องแล้วศาลรับลูก เขาก็มีโอกาสชนะได้ พอเป็นแบบนี้นักร้องทั้งหลายก็ได้ใจ ทั้งที่บางเรื่องตามหลักการที่ควรจะเป็นไม่น่าจะไปร้องเรียนจนสำเร็จได้ อย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นได้ว่าฤทธิ์เดชของการร้องเรียนส่งผลต่อการเมืองไทยถึงขนาดไหน

ถ้าการร้องเรียนทำได้ง่ายเกินไปจนทำให้กลั่นแกล้งกันได้ แล้วเราจะแก้ไขให้ระบบการร้องเรียนมีคุณภาพกว่านี้ได้อย่างไร

ในเมื่อกฎหมายตอนนี้เปิดโอกาสให้ร้องเรียนกันได้อยู่ เราก็ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าถ้ามีคนใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเอาความเท็จมาร้อง คนนั้นต้องรับโทษอย่างหนัก ตอนนี้พอให้ใครมาร้องก็ได้ นักร้องที่เอาแต่ร้องความเท็จก็ไม่มีความรู้สึกกลัวเกรงอะไร และที่สำคัญที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อรับเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับคนที่ร้องเท็จ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ องค์กรนั้นต้องรับผิดชอบและต้องรับโทษตามกฎหมายเสมือนเป็นผู้กระทำผิดด้วยซ้ำไป

เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย และคงยังไม่สามารถแก้ไขได้เร็วๆ นี้ วิธีแก้ที่ทำได้ทันทีคือให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กกต. ต้องรีบตัดสินผลการเลือกตั้งให้ชัดเจนไปเลย ไม่ใช่ปล่อยให้มีการมาร้องเพิ่มเติม เดี๋ยวเอานู่นเอานี่มายื่น ซึ่งอันที่จริงหลักฐานต่างๆ มีพร้อมอยู่แล้ว ก็ควรตัดสินไปเลยสิ ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้คงจะทำให้ปัญหานักร้องลดน้อยลง 

ผมมองว่าถ้า กกต. เป็นองค์กรที่ตั้งอยู่บนความเที่ยงธรรมและไม่เป็นเครื่องมือของใครจริง ก็ควรยึดหลักการอันถูกต้องเป็นที่ตั้ง และถ้า กกต. เห็นว่าสิ่งที่เหล่านักร้องมาร้องมีหลักฐานเพียงพอและเชื่อถือได้ หน้าที่ต่อไปคือคุณต้องไปร้องต่อที่ศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าที่ร้องมาผิดจริงตามรัฐธรรมนูญก็ว่าไปตามกฎหมาย เรื่องก็จบไปแค่นั้น ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องคาราคาซัง นี่เป็นวิธีแก้โดยไม่ต้องแก้กฎหมายเลยสักนิดเดียว และในทางตรงกันข้าม ถ้า กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าที่ร้องเรียนมาเป็นการร้องเท็จ กกต. ก็ต้องมีหน้าที่ดำเนินคดีกับคนนั้นทันที 

แต่ถ้าพูดถึงการแก้ไขหรือปฏิรูปกฎหมาย ไปจนถึงแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต ส่วนตัวผมมองว่าการปฏิรูปถือเป็นเรื่องใหญ่ ในฐานะที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมาทั้งชีวิต ผมว่าต้องถึงขั้นรื้อสร้างกันเลย คือรื้อถอนออกหมดแล้วประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะระบบยุติธรรมบ้านเราผุพังหมดมานานมากแล้ว 

แล้วถ้าเราก่อตั้งหรือมอบหมายองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อให้ดูแลรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงล่ะ

วิธีแก้ไขด้วยการเพิ่มองค์กรมากขึ้น สุดท้ายจะนำมาสู่ปัญหาที่เราประสบกันอยู่ในปัจจุบัน คือในอดีตเราไม่มีองค์กรอิสระ พอเกิดองค์กรอิสระขึ้นมาเพราะคาดหวังว่าหน้าที่ที่เขารับผิดชอบจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้น คำถามคือตอนนี้มันดีหรือยังล่ะ ดังนั้นยิ่งเพิ่มองค์กรก็จะยิ่งเพิ่มปัญหามากกว่า 

ดังนั้น ผมมองว่าในส่วนของการกลั่นกรอง จะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ต้องสร้างให้รัดกุมขึ้นและเขียนไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน เช่น ระบุไว้ในกฎหมายว่าใครมาร้องคุณต้องกลั่นกรองเสียก่อน และต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงขั้นตอนในการร้องเรียน ไม่ใช่ใครมาร้องก็รับหมด เรื่องอะไรก็รับเอาไว้หมด ที่สำคัญคือใครจะมาร้องก็ต้องมีการตรวจสอบเสียก่อนว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องต่อเรื่องนั้นอย่างไร และมีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยแค่ไหน เพราะเดี๋ยวนี้พวกพลเมืองดีแต่เจตนาร้ายก็มีถมไป

อาจารย์มองว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของนักร้องที่บางทีร้องเรียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำไปซ้ำมาคืออะไร

ผมคิดว่ามีอยู่สามจุดประสงค์หลัก อย่างแรก คือร้องเรียนเพราะหิวแสง ต้องการจะบอกกับสาธารณชนว่าฉันยังอยู่ตรงนี้นะ ถ้าคุณมีอะไรก็ใช้บริการของฉันได้ 

อย่างที่สอง คือร้องเรียนเพราะมีผลประโยชน์ หรือมีคนมาจ้างให้ไปร้องเรียน 

อย่างที่สามเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุด คืออาจมีการสมคบคิดกัน เพื่อจะให้เกิดปัญหาปั่นป่วนในทางการเมืองขึ้นมา โดยอาจมีเจตนาที่จะสกัดกั้นไม่ให้คนที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล

เพราะฉะนั้นเวลานักร้องเรียนบอกว่าเขาเป็น ‘ผู้ชี้ให้สังคมเห็นความไม่ถูกต้อง’ หรือ ‘ผู้ตรวจสอบความไม่เป็นธรรม’ ผมโกรธมากนะ เพราะมันไม่จริง ประโยคนี้เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้นเอง เพราะเจตนาที่แท้จริงเขาไม่ต้องการไปร้องเรียนตามอย่างที่เขาพูดหรอก สิ่งที่เขาเอามาไม่ได้ทำให้ประเทศชาติดีขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว พูดกันตรงๆ อย่างนี้เลย

ถ้ามีคนแย้งว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด จะกลัวอะไร” อาจารย์จะตอบคำถามนี้อย่างไร

ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา เพราะการร้องเรียนทั้งที่คนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิดคือปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทย คนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยก็ไปร้องเรียนหาเรื่องให้เขากลายเป็นคนทำผิดจนได้ แล้วพอไปร้อง เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าที่จะไม่รับคำร้อง คนนั้นก็ซวยสิ ต้องถูกดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด แล้วสุดท้ายการร้องเรียนแบบนี้จะดีต่อประเทศอย่างไร

เมื่อการร้องเรียนอาจมีเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ซ่อนอยู่ เช่นนั้นแล้วสื่อควรให้แสงนักร้องเหล่านี้น้อยลงไหม

นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงโกรธเมื่อเห็นข่าวนักร้องตามหน้าสื่อ เพราะจริงๆ สื่อน่าจะรู้ว่าควรเสนอข่าวอย่างไร ไม่ใช่คนร้องอะไรก็เอามาเป็นข่าวเสียหมด และไม่ใช่การรายงานข่าวเฉยๆ แต่มีการนำมาแจกแจงออกรายการ ทำราวกับสิ่งที่นักร้องเหล่านั้นพูดเป็นเหมือนการตัดสินให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำข่าวกันคึกโครมเหมือน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสินอย่างนี้แน่นอน อย่างนี้ก็เท่ากับเป็นการที่สื่อไปรับลูก และในกรณีนี้สื่อต้องรับผิดชอบด้วย ในเมื่อรายงานข่าวและวิเคราะห์ข่าวไปเรียบร้อยแล้วก็ควรจะจบแค่นั้น ไม่ใช่เอามาตอกย้ำซ้ำๆ ให้เห็นกันทุกวัน ทีนี้พอนักร้องเห็นว่ามีสื่อคอยทำข่าวเขาก็ยิ่งได้ใจเข้าไปใหญ่

ที่หนักไปกว่านั้นคือมีการรับลูกกันในสื่อและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็แล้วแต่ ที่สำคัญคือไม่ใช่สื่อในโซเชียลมีเดียด้วย แต่เป็นสื่อกระแสหลัก ทั้งสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่รับลูกกันเป็นทอดๆ ผมจึงมีความรู้สึกในทางลบมากๆ ต่อสื่อไทย เพราะสื่อไทยไม่ค่อยสนใจว่าการที่เราจะต้องรักษาระบอบประชาธิปไตยหรือทำให้ประชาธิปไตยเจริญงอกงามขึ้นในบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญต่อสื่อเอง เสรีภาพของสื่อก็เกิดขึ้นได้เพราะระบอบประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าสื่อมักจะรับลูกหรือไม่สนใจว่าเมื่อรายงานเรื่องนี้ไปแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมา

ในทางกลับกัน เนื่องจากผู้ร้องเรียนเป็นเครื่องมือของกระบวนการทางการเมือง ถ้าหากว่าสื่อไม่รับลูกให้เขา เขาก็ไม่มีทางไปขยายผลเรื่องร้องเรียนต่อได้ แต่ในเมื่อเขาทำเรื่องอะไรออกมาก็มีสื่อคอยรับลูก โดยไม่สนใจเลยว่าจะมีผลอะไรต่อไปข้างหน้าต่อระบอบประชาธิปไตยก็จะเกิดปัญหามากขึ้นไปเรื่อยๆ

หรือกรณีที่ภาคประชาสังคมร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องแบบนี้คือประชาชนเดือดร้อนจริงๆ แต่ไปร้องเรียนกับทางการแล้วไม่เกิดผล ถามว่ามีสื่อไปรับลูกเรื่องพวกนี้สักกี่สื่อเชียว ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องร้ายแรงทั้งนั้น ผมไม่เห็นสื่อจะไปทำข่าวให้เป็นเรื่องเป็นราวบ้างเลย อย่างเรื่องโลกร้อน ในต่างประเทศทำข่าวกันเป็นเรื่องใหญ่โตและได้พื้นที่สื่อมากกว่าข่าวเรื่องอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่บ้านเราไม่เป็นอย่างนั้น 

ในฐานะที่เคยทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ขนาดไปเชิญสำนักข่าวให้ช่วยมาทำข่าวยังไม่ค่อยจะมากันเลย ทั้งที่ในกรณีนี้คนที่ช่วยเหลือประชาชนได้ดีที่สุดคือสื่อ เพราะพอสื่อเอาเรื่องนี้มาออกอากาศ เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รีบติดต่อเข้ามาเลย สื่อจะช่วยเหลือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนได้เยอะ ช่วยทำข่าวให้เป็นที่รับรู้ในสังคมเพื่อให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐดูแลประชาชนจริงอย่างที่ปากว่าไหม

ความพอดีของการ ‘ร้องเรียน’ คืออะไร จุดไหนที่การร้องเรียนจะมีประโยชน์ต่อสังคม

หลักสำคัญต้องดูที่เจตนาและเรื่องที่เขานำมาร้อง เช่น ถ้าร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอรัปชันหรือการโกง ผมจะสนับสนุนเต็มที่ เพราะจะช่วยส่งเสริมให้ระบอบประชาธิปไตยดีขึ้นแน่นอน หรือการร้องเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนกับสถานการณ์นั้นจริงๆ แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่สนใจ ถ้าประชาชนร้องเพราะเหตุที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เขาย่อมมีความชอบธรรมที่จะมาร้องเรียนได้ แต่การร้องเรียนโดยไม่ชอบธรรมและฝ่าฝืนหลักการของระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ผมยอมไม่ได้

ที่ต่างประเทศมีระบบกฎหมายคล้ายๆ กับกลไกการร้องเรียนแบบนี้ของไทยไหม

ของสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่ยอมรับการร้องเรียนของผู้ที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวเอง คล้ายเป็นบัตรสนเท่ห์เพื่อความปลอดภัยของผู้ร้องเรียน หรือมีการร้องเรียนองค์กรรัฐในฐานะผู้แจ้งเบาะแส (whistleblowerแต่สำคัญที่ว่าเรื่องที่เขารับพิจารณาต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้กฎหมายของบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์ และให้การปกครองบ้านเมืองเป็นไปตามหลักนิติธรรม

แต่ของบ้านเราเป็นการเอากฎหมายมาใช้ในเรื่องของการเมือง และในเมื่อมันถูกใช้ในเรื่องของการเมือง ไปจนถึงเรื่องของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย นักร้องเหล่านี้จะมาอ้างว่าร้องเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศได้อย่างไร ยกตัวอย่างชัดๆ เรื่องของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เจตนาที่แท้จริงของการร้องคืออะไร คุณมาร้องเรียนเพราะไม่ต้องการให้มีรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลขึ้นมาหรือเปล่า

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดนักร้องเยอะขนาดนี้ในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือการที่ผู้มีอำนาจที่ได้มาโดยมิชอบด้วยหลักนิติธรรมต้องการจะสืบทอดอำนาจของตัวเองไปเรื่อยๆ เลยไม่ต้องการให้มีรัฐบาลจากประชาธิปไตย และนักร้องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะมาทำลายประชาธิปไตยอย่างแน่นอนเช่นกัน

ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จสิ้นก็มีเรื่องราวมากมายไม่เว้นแต่ละวัน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครการันตีได้ว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีเสียงข้างมาก ท้ายที่สุด อาจารย์คิดว่าเรายังพอมีหวังไหมว่าจะได้รัฐบาลจากฟากฝั่งประชาธิปไตย

เรามีความหวังแน่นอน แต่เราจะได้สมหวังไหมนั่นเป็นอีกเรื่อง เพราะการที่เขาวางกับดักมากมายไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ มาจนถึงปัญหานักร้อง สะท้อนภาพความเป็นจริงว่าการเมืองไทยไม่ได้มีแค่ด่านนี้ด่านเดียว แต่ยังมีอีกหลายด่านที่เราต้องฝ่าไป แต่แน่นอนว่าผมหวัง ผมเองก็อยากเห็นภาพนั้น ตั้งแต่เกิดมาผมอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบเผด็จการ’ และ ‘รัฐประหาร’ มาตลอดทั้งชีวิต อีกอย่างผมเองก็อายุปูนนี้แล้ว ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานเท่าไร ถ้าประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save