fbpx

ความเจ็บปวดและประโยชน์ที่คาดไม่ถึงจากตัวต่อเลโก้

เลโก้เป็นของเล่นเด็กอย่างหนึ่งที่น่าจะมีชื่อเสียงที่สุดในโลก พูดขึ้นมาก็นึกภาพกันออกว่าเป็นตัวต่อทำด้วยพลาสติก และ ‘เชื่อกันว่า’ ส่งเสริมความฉลาด แต่หากเผลอไปเหยียบเข้าจะรู้สึกเจ็บจนน้ำตาแทบเล็ด

บทความนี้จะมาเฉลยว่า ของเล่นนี้ช่วยเพิ่มสติปัญญาจริงหรือไม่ และทำไมจึงทำให้คนเหยียบเจ็บจนแทบเหลือทน รวมไปถึงประโยชน์อื่นที่คนนำเลโก้มาใช้ด้วย โดยจะขอไขปริศนาเรื่องตัวต่อเลโก้ทำให้เด็กๆ ฉลาดขึ้นหรือไม่กันก่อน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากสถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institute) ของสวีเดน[1] สรุปตรงไปตรงมาว่า การฝึกจำลองภาพสามมิติในหัวที่มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า ‘Spatial cognition’ มีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์จริงครับ!

บางคนอาจรู้สึกคุ้นๆ กับชื่อสถาบันดังกล่าว ซึ่งในภาษาอังกฤษอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า (Royal) Caroline Institute เพราะเป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของสวีเดน ดังดูได้จากการจัดอันดับโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดของโลก สถาบันนี้ก็ติดอันดับ 6 ในปี 2021 แต่เรื่องที่โดดเด่นมากๆ คือการตัดสินใจเลือกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์จัดขึ้นที่สถาบันนี้ โดยมีการจัดตั้งสมัชชาโนเบล (Noble Assembly) ที่ประกอบด้วยศาสตราจารย์จำนวน 50 คนจากสาขาต่างๆ ทางด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยนี้ขึ้นมาเพื่อพิจารณารายชื่อผู้รับรางวัล

กลับมาที่รายงานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มความฉลาดด้วยเลโก้ งานวิจัยนี้มีขนาดใหญ่โตมาก ทดสอบในเด็กอายุ 6-7 ปี จำนวนมากกว่า 17,600 คน โดยจับมาฝึกทางคณิตศาสตร์ควบคู่ไปกับการแบ่งกลุ่มอีกส่วนหนึ่งมาให้ฝึกลับสมองด้านการคิดแบบ 3 มิติ สร้างรูปทรงต่างๆ ขึ้นในหัวโดยตรงไม่ผ่านการใช้คำพูด วิธีการฝึกแบบนี้ก็มีตั้งแต่การหมุนภาพแบบ 2 มิติในหัว การฝึกคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลที่ไม่ผ่านการใช้คำพูด การฝึกคิดวาดภาพในหัวแบบ 3 มิติ และการแก้ปริศนาแบบที่เรียกว่า แทนแกรม (tangram) อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ ของเล่นรูปทรงเรขาคณิตสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมต่างๆ ที่นำมาต่อเป็นรูปร่างได้อย่างหลากหลาย

นักวิจัยสรุปว่าการฝึกแบบนี้ช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนคณิตศาสตร์ให้ดีขึ้นได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย นักวิจัยยังเสนอว่าการฝึกฝนทำนองนี้อาจจะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการคำนวณ ช่วยให้ระบบคิดต่างๆ ดีขึ้น เหมาะสมแม้แต่ใช้ฝึกฝนพวกคนที่ต้องดูแลเรื่องนโยบายหรือแม้แต่นักการเมือง!

การต่อเลโก้ โดยเฉพาะการให้เด็กคิดจินตนาการสิ่งที่จะต่อเองก็เป็นการฝึกฝนทำนองนี้ จึงน่าจะได้ผลดีเช่นกัน

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ สหราชอาณาจักร ที่ใช้จำนวนเด็กน้อยกว่าคือ 358 คน แต่ทำกับตัวต่อเลโก้โดยตรงก็ได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกันคือ การฝึกต่อเลโก้ช่วยเพิ่มความสามารถด้านคณิตศาสตร์จริง[2] ถึงตรงนี้คงต้องสรุปว่ามีความเป็นไปได้มากที่ความเชื่อว่าการต่อเลโก้ช่วยให้เรียนดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านคณิตศาสตร์ มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นจริงดังที่มีงานวิจัยสรุปไว้ จึงคุ้มค่าที่คุณพ่อ-คุณแม่ยอมเสียเงินซื้อของเล่นราคาแพงพวกนี้ให้กับลูกๆ

แต่สิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่หรือทุกคนอาจต้องเจอเวลาซื้อตัวต่อเลโก้ให้ลูกคือการเผลอไปเหยียบเข้าสักวัน แล้วก็เจ็บปรี้ดขึ้นหัวกันถ้วนหน้า ทำไมการเหยียบตัวต่อพลาสติกถึงได้สร้างความเจ็บปวดได้มากขนาดนั้น?

ก่อนจะอธิบายเหตุผลขอยกตัวอย่างคนที่น่าจะทนการเหยียบแบบนี้ได้สบายๆ แต่เลือกจะไม่ทำเลย (เหยียบเพื่อเหตุผลใดจะเล่าในตอนท้ายอีกครั้ง) คนคนนี้คือ สก็อต เบล (Scott Bell) ที่เป็นเจ้าของสถิติโลกจากการเดินเท้าเปล่าบนถ่านหินร้อนๆ ได้ไกลที่สุดคือ 326 ฟุต ถ่านพวกนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 650 องศาเซลเซียส) แต่พอโดนท้าทายให้เดินบนตัวต่อเลโก้จำนวน 2,000 ชิ้นที่วางทอดยาว 6.5 ฟุต (ประมาณ 2 เมตร) เขากลับปฏิเสธ!!!

เหตุผลที่เดินเหยียบตัวต่อเลโก้แล้วเจ็บปวดมาก อธิบายได้ด้วยหลายเหตุผล อาทิ เป็นเพราะเท้าของเรามีปลายประสาทมากถึง 200,000 จุด นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงรู้สึกจั๊กจี้เมื่อโดนสัมผัสเท้าได้ง่ายมาก เหตุผลข้อต่อไปคือ พลาสติกชนิด ABS ที่ใช้ทำตัวต่อพวกนี้แข็งมาก มันทนแรงกดได้มากถึง 4,200 นิวตันก่อนจะแตก เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดคือ มันทนแรงกดได้เกือบ 1,000 ปอนด์ (หรือ 450 กิโลกรัม) ก่อนจะแตกหักเสียหาย

คุณย่อมรู้ดีว่าแรงกระทำย่อมเท่ากับแรงที่กระทำกลับเสมอ คุณต้องตัวโตเท่าหมีขั้วโลกและเหยียบมันด้วยน้ำหนักทั้งตัวที่กดผ่านหัวแม่เท้าเพียงนิ้วเดียวเท่านั้น จึงจะทำให้ได้แรงกดมากพอที่จะทำมันให้มันแตก … เลโก้แข็งแรงขนาดนั้น!

ข่าวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตัวต่อพวกนี้มักจะมีจำนวนมากในแต่ละบ้าน จึงมีโอกาสจะไม่ได้เก็บให้เรียบร้อยหมดทุกตัวและมีโอกาสเหยียบโดนมากขึ้นไปอีกด้วย แน่นอนว่าใครๆ ก็เล่นต่อเลโก้กันที่พื้นทั้งนั้น มันจึงรอคุณอยู่ตรงนั้นเสมอ (ฮา) 

อันที่จริงมีคนเคยคำนวณไว้ว่าจากยอดขายของเลโก้นับตั้งแต่ผลิตมา น่าจะมีตัวต่อแบบนี้มากเพียงพอให้มนุษย์แต่ละคนเหยียบได้ถึง 83 ชิ้น!

เมื่อผสมกับเรื่องที่ว่าตัวต่อชนิดนี้มีขอบที่คมและมีปุ่มยื่นๆ จึงทำให้มันกระทบและส่งแรงกระทำกับประสาทสัมผัสที่เท้าเราได้อย่างจังๆ มากมายหลายจุดพร้อมๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น ตัวต่อพวกนี้เวลาโดนเหยียบมันถ่ายทอดแรงต่อไปยังพื้นน้อยมาก เพราะแต่ละชิ้นมีพื้นที่หน้าตัดไม่ใหญ่นัก มันจึงส่งแรงกระทำกลับมาเต็มๆ นี่มันเครื่องจักรสำหรับใช้ทรมานคนแท้ๆ (ฮา)

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจสำหรับตัวต่อมหัศจรรย์เหล่านี้คือ มีคนนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างแปลกประหลาดมากคือ นอกจากจะใช้เล่นต่อเป็นสิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ แล้ว ยังมีคนใช้มันเพื่องานการกุศลด้วยครับ โดยมีการท้าทายให้อีกฝ่ายเดินบนเลโก้แบบเดียวกับ ‘เดินลุยไฟ’ นั่นแหละครับ ฝรั่งเรียกว่าเป็น Lego Firewalk หากอีกฝ่ายยอมเดินและเดินจนผ่านระยะทางที่กำหนดไว้ (มักจะยาวประมาณ 4 เมตร) ได้สำเร็จ ฝ่ายที่ท้าทายจะต้องบริจาคเงินให้การกุศลตามที่ตกลงกันไว้

นอกจากนี้ ยังมีพวกนักจัดอบรมทั้งหลายเอาไปเป็นกิจกรรมสำหรับการ ‘สร้างทีม’ ด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในทางจิตวิทยา หากคนในทีมได้เผชิญความยากลำบากร่วมกัน จะเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นี่อาจไม่ใช่กิจกรรมที่ทำกันเล่นๆ กันสนุกๆ ได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมากเสียทีเดียวนัก เพราะอาจทำให้บาดเจ็บเท้าได้อย่างมาก เพราะมีคนพยายามทำสถิติโลก (ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ) ด้วยการเดิน 2,737 ฟุต (ราว 834 เมตร) ไปบนเลโก้สีแดงขนาด 4×2 แม้จะทำได้แต่…ก็จบลงด้วยอาการบาดเจ็บเท้า มีอาการบวมแดง มีเลือดออก และเท้าบวมเป่ง

ทั้งหมดที่เล่ามาคือคำอธิบายเบื้องหลังของความสนุก การเพิ่มไอคิว ความเจ็บปวดและประโยชน์ที่อาจคาดกันไม่ถึงของตัวต่อพลาสติกแสนประหลาดที่ชื่อเลโก้    


[1]Judd, N., Klingberg, T. Training spatial cognition enhances mathematical learning in a randomized study of 17,000 children. Nat Hum Behav 5, 1548–1554 (2021). https://doi.org/10.1038/s41562-021-01118-4

[2] Emily McDougal, Priya Silverstein, Oscar Treleaven, Lewis Jerrom, Katie A. Gilligan-Lee, Camilla Gilmore, Emily K. Farran. Associations and indirect effects between LEGO® construction and mathematics performance. 25 April 2023 https://doi.org/10.1111/cdev.13933

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save