fbpx

ข้ามคืนกับการเดินทางของชีวิตในกวีนิพนธ์

กวีนิพนธ์ไทยในปัจจุบันนั้นมีเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่เป็นใจความสำคัญร่วมกันอย่างหนึ่งคือการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของกวีที่ปะทะสังสรรค์กับโลกและสังคมที่พวกเขาดำรงและเผชิญหน้าอยู่ ผมยอมรับว่าก่อนหน้านี้ผมออกจะมีอคติกับกวีนิพนธ์ ‘โรแมนติก’ ที่นำเสนอแบบ ‘สายลมแสงแดด’ กวีนิพนธ์ประเภทจับความรู้สึกของอากาศ ธรรมชาติ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ร้อนนะ หนาวมาก ฯลฯ ผมคิดว่ากวีนิพนธ์ทำนองนี้ไม่ให้ประโยชน์ในการเดินไปข้างหน้าของชีวิตสักเท่าไรนัก แต่เมื่อผมอายุมากขึ้น ความสนใจผมกว้างขึ้นกว่าเดิม มีความรู้และโลกทัศน์มากกว่าแต่ก่อน (จะมากน้อยก็ตามแต่) ผมกลับมาสนใจเทคนิคและวิธีการในการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกในงานวรรณกรรมมากขึ้น เพราะผมอยากรู้ว่าเทคนิคและวิธีการของกวี/นักเขียนแต่ละคนที่ใช้ในการนำเสนอนั้นเป็นอย่างไร ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกมากน้อยเพียงใด

พูดให้ง่ายกว่าเดิมก็คือ ผมกลับไปสู่พื้นฐานหรือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของงานวรรณกรรมนั่นเอง ไม่มีอะไรจะพื้นฐานมากไปกว่านี้อีกแล้ว พื้นฐานแบบ 101 เลยทีเดียว!

‘ข้ามคืน’ เป็นผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ของ ‘แสงเดือน’ กวีหญิงจากชลบุรี ผู้ซึ่งมีบทกวีตีพิมพ์อยู่มากมายตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ผมไม่แน่ใจนักว่าจะเรียก ‘แสงเดือน’ ว่าเป็นกวีหน้าใหม่ได้หรือไม่ เพราะเธอมีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อาจยังไม่ได้รวมพิมพ์เป็นเล่ม ดังนั้น ‘ข้ามคืน’ น่าจะเป็นผลงานรวมเล่มกวีนิพนธ์เล่มแรกของ ‘แสงเดือน’ แต่บทกวีส่วนใหญ่ใน ‘ข้ามคืน’ นี้ โดยมากตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ และกระจัดกระจายอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสารหลายฉบับ เช่น เนชั่นสุดสัปดาห์, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการรายวัน, อาทิตย์-ข่าวพิเศษ, ดอกเบี้ยการเมือง, แพรวสุดสัปดาห์ ลลนา และกรวิก

‘ข้ามคืน’ เป็นผลงานรวมเล่มกวีนิพนธ์ที่ทำให้ผมรู้จัก ‘แสงเดือน’ ในฐานะกวีหญิงที่น่าสนใจคนหนึ่งในแวดวงกวี/นักเขียนไทยร่วมสมัย ในแวดวงวรรณกรรมไทย เรามีกวีหญิงจำนวนไม่น้อยและฝีมือไม้ลายมือแต่ละคนก็ดีและโดดเด่นมาก เช่น เดือนวาด พิมวนา, โรสนี นูรฟารีดา, ลัดดา สงกระสินธ์ หรือกวีซีไรต์คนล่าสุดเมื่อปี 2565 ก็เป็นกวีหญิง นั่นคือ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ จากเรื่อง ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้’ ข้อสังเกตบางประการที่ผมมีต่อผลงานของกวีหญิงเหล่านี้ก็คือความสามารถในการจับความรู้สึกออกมาเรียบเรียงผ่านถ้อยคำที่สวยงาม ประโยคและถ้อยคำที่แปร่งหูแปลกตามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านให้คล้อยตามบทกวีแต่ละชิ้น ดังนั้นผมคิดว่า เวลาที่ได้อ่านบทกวีจากกวีหญิงนั้นเราจะได้เห็นความขัดแย้งที่เกิดจากสภาวะภายในจิตใจเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงภายใต้ปรากฏการณ์ที่เรียบง่าย สำหรับผมแล้ว งานของกวีหญิงไทยร่วมสมัยสร้างความสั่นสะเทือนภายในได้อย่างมีนัยยะสำคัญเลยทีเดียว

บทกวีนิพนธ์ใน ‘ข้ามคืน’ นั้นเป็นบทสั้นๆ ในลักษณะแบบ minimal และมีจำนวนมากถึง 160 บท บทกวีทั้งหมดเป็นเหมือนกับการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกต่อปรากฏการณ์รอบๆ ตัวที่แสงเดือนหยิบฉวยเอามาใช้ ในตอนแรกที่ผมอ่านบทกวีแต่ละชิ้น สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและปรากฎการณ์ที่อยู่ตรงหน้ากับสภาวะภายในของตัวกวีที่เป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ ตัวบทกวีเชื้อเชิญให้ผู้อ่าน ‘สัมผัส’ อารมณ์ของกวีที่แสดงออกผ่านกวี เราจะเห็นโลกที่แปลกแปร่งไปจากโลกที่ธรรมดาสามัญแต่กระตุ้นให้เราได้ขบคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัว ทำให้เราได้กลับไปพิจารณาสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่งด้วยสายตาและโลกทัศน์ใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ ‘แสงเดือน’ ใช้ถ้อยคำได้สั้น กระชับแต่เห็นภาพและสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกอย่างยิ่ง

ในบท ‘สาระ’ กวีเล่าถึงปฏิสัมพันธ์ที่ ‘ชายใบ้’ มีต่อโลกใบนี้

ชายใบ้

ใช้เงา

พูดกับสายลม

แล้วหัวเราะ

ใช้มือ

พูดกับดอกไม้

แล้วร้องไห้

ใช้ใจ

พูดกับใจ

จึงเข้าใจ (หน้า 17)

เราจะเห็นว่า ชายใบ้ นั้นเมื่อเขาต้องปฏิสัมพันธ์กับโลก กับธรรมชาติ ทุกอย่างดูจะเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี โดยปกติแล้วคนใบ้ใช้ภาษามือในการสื่อสารกับคนอื่นๆ แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าธรรมชาติ ภาษามือนั้นอาจเป็นส่วนเกินหรือไม่จำเป็นอีกต่อไป

ประเด็นนี้ชวนให้ผมคิดต่อไปว่า เมื่อเราอยู่กับธรรมชาติและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเข้าใจที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสื่อสารผ่านภาษา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก ‘ความรู้สึก’ การนำเสนอจินตภาพที่แปลกประหลาด เช่น ใช้เงาพูดกับสายลม ใช้มือพูดกับดอกไม้ ใช้ใจพูดกับใจ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้อย่างแน่นอน แต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้เราคิดว่า เมื่อเราสัมผัสกับธรรมชาติแล้วเราเข้าใจธรรมชาติ ‘ผ่าน’ อะไร การสื่อสารกับธรรมชาติผ่านความรู้สึกยังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอากัปกิริยาเช่น หัวเราะ ร้องไห้ ทั้งหมดดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและลื่นไหล แต่ในตอนท้ายของบท กวีเล่าว่า

ชายใบ้

จึงใช้ปาก

พูดกับคน (หน้า 17)

ในความเป็นจริง คนใบ้ใช้มือพูดกับคนอื่นๆ แน่นอน คนใบ้ไม่เคยใช้ปากพูดกับคนอื่นๆ ดังนั้นเป็นความเปรียบที่ว่าการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก เหนื่อย ใช้พลังงานมาก การนำเสนอจินตภาพที่แปลกประหลาดเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านฉุกคิดถึงสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ชวนให้เราได้พิจารณาถึงสิ่งที่เราไม่อาจตระหนัก นั่นคือการสื่อสาร ทำไมการสื่อสารระหว่างคนด้วยกันจึงดูเหมือนคนใบ้ใช้ปากพูดกับคน เพราะภาษาไม่อาจเป็นเพียงการสื่อสาร แต่หมายถึงเหตุและผล ตรรกะและไวยากรณ์อันซับซ้อนจำนวนมากที่ร้อยรัดวิธีการที่เราจะสื่อสารเข้าไว้ด้วยกัน ภาษาจึงมีคุณลักษณะของการคิดในเชิงตรรกะและเหตุผล ต่างจากเวลาที่เราสื่อสารกับธรรมชาติที่เพียงความรู้สึกก็สามารถเร้าอารมณ์และก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวได้ไม่สิ้นสุด

การให้ความสำคัญกับธรรมชาติดูจะเป็นสิ่งที่โดดเด่นในงานของ ‘แสงเดือน’ เล่มนี้ เพราะเรายังจะได้เห็นการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ มนุษย์ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกได้อย่างน่าสนใจและชวนให้เราครุ่นคิดถึงสิ่งที่พื้นฐานที่สุด พื้นฐานจนกระทั่งเราไม่ตระหนักได้ถึงความสำคัญของมัน เหมือนกับเราไม่เคยได้สังเกตว่าลมหายใจของเราเป็นอย่างไรในแต่ละวันนั่นเอง

ความเป็นและความตายถูกนำเสนอผ่านจินตภาพของธรรมชาติที่สุดขั้วกันสองฝั่งในบท ‘ป่วย’ กวีนำเสนอภาพของอากาศสองแบบที่มาปะทะกัน ได้แก่อากาศสุดร้อนและอากาศสุดเย็น

กับแรงขับดันและการไหลเคลื่อนของฤดูกาล

ระหว่างร้อนสุดร้อน

เย็นสุดเย็น

ป่วนปั่นสุดบรรยาย

จากพยับแดดแผดจ้าจนมืดครื้ม

มืดครื้มแล้วสว่างจ้า

วินาที นาที ชั่วโมง (หน้า 109)

จากตัวอย่างข้างต้น กวีนำเสนอภาพในลักษณะที่เป็นความเคลื่อนไหวของฤดูกาล การปะทะกันอย่างรุนแรงของสิ่งที่สุดขั้วกันสองฝั่ง ภาพที่กวีกำลังนำเสนอไม่ได้หมายถึงให้เราแหงนหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้าเพื่อดูว่ามีอากาศแบบไหนกำลังปะทะกันหรือไม่ แต่มันถูกใช้เปรียบเทียบให้เห็นความเคลื่อนไหวอันบ้าคลั่งสองแบบที่กำลังห้ำหั่นใส่กัน เป็นความเคลื่อนไหวที่เร้าอารมณ์ให้ตระหนักถึงภยันอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเห็นคำที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว นั่นคือ ‘ไหลเคลื่อน’, ‘จากพยับแดดแผดจ้าจนมืดครื้ม’, ‘มืดครื้มแล้วสว่างจ้า’ การเคลื่อนไหวของอากาศและมวลอากาศเช่นนี้ก่อให้เกดความปั่นป่วนวุ่นวายที่ไม่อาจควบคุมได้ อากาศทั้งสองแบบนั้นเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความตาย’ และ ‘การตะเกียกตะกายที่จะมีชีวิต’ (หน้า 109)

เราไม่อาจระบุได้ว่าระหว่างอากาศร้อนสุดร้อนกับเย็นสุดเย็น อะไรคือสิ่งที่เป็นความตายหรือการมีชีวิต เพราะเมื่ออากาศแบบใดแบบหนึ่งเป็นความตายอากาศอีกแบบก็พร้อมจะเป็นการมีชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นความหมายของอากาศอันบ้าคลั่งทั้งสองแบบนี้จึงมีลักษณะที่ลื่นไหล ไม่หยุดอยู่กับที่ เป็นความหมายที่ไม่สถิต ต่างฝ่ายต่างนิยามให้แก่กัน แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายก็เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งดังกล่าวน่าสนใจ นั่นคือมันมีแรงยื้อยุดฉุดกระฉากกันไปมาของความหมายและจินตภาพ ทุกคนพร้อมจะกลายเป็นความหมายอีกฝั่งหนึ่งตลอดเวลา

ในห้ำหั่นโรมรันกันระหว่างความตายกับการตะเกียกตะกายจะมีชีวิต สิ่งที่ทำให้ทั้งสองหยุดนิ่งหรือคลี่คลายลงไปได้นั่นคือ ‘หยาดฝนแรกแทรกซึมลงเม็ดทราย’ แน่นอนว่าในองค์ความรู้วิทยาศาสตร์นั้นเมื่ออากาศร้อนจัดมาปะทะกับเย็นจัดก็ก่อให้เกิดฝนหล่นลงมาจากท้องฟ้า ความร้อนจัดและเย็นจัดถูกทำให้เบาบางลงได้ด้วยน้ำ ซึ่งน้ำเองก็มีลักษณะที่ลื่นไหลเป็นตัวกลางในการทำละลายหรือผสานมวลสารต่างให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน น้ำในวรรณกรรมมักถูกใช้ในความหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความเวิ้งว้าง ความเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง ความเย็นสบาย หรือทำให้ทุเลาลงไป ในบทนี้ ผมคิดว่าน้ำถูกใช้เป็นความเปรียบในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดการความขัดแย้ง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกลไกของธรรมชาติ ดังนั้นสำหรับธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเพียงใด ธรรมชาติก็ย่อมมอบกลไกในการจัดการและประนีประนอมให้ได้เสมอ ขอเพียงเราหาให้เจอว่า ณ จุดที่ขัดแย้งอยู่นั้นคืออะไรและอยู่ตรงไหน

ด้วยความที่บทกวีแต่ละชิ้นมีขนาดสั้น และมีจำนวนมากในรวมเล่ม ‘ข้ามคืน’ นี้ เนื้อหาที่สื่อสารในบทกวีแต่ละชิ้นจึงค่อนข้างหลากหลาย เหมือนชีวิตของคนคนหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์ต่อสิ่งเร้าต่างๆ มากมาย มีดีใจ เสียใจ ผิดหวัง ชอกช้ำเป็นปกติ ดังนั้น รวมบทกวีนิพนธ์ ‘ข้ามคืน’ จึงเป็นเหมือน ‘บันทึกทางอารมณ์’ ของกวีในช่วงชีวิตหนึ่ง เป็นบันทึกทางอารมณ์ที่ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ของกวีกับธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นเนื้อเดียวกัน การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับบทกวีผ่าน ‘ผัสสะ’ ต่างๆ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกลึกซึ้งไปกับตัวบทกวี เร้าอารมณ์สะเทือนใจเบื้องลึกของผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจ

สิ่งที่ผมสนใจอีกประการหนึ่งก็คือการพูดถึงความทรงจำในหลากหลายรูปแบบของกวี ในบท ‘ความทรงจำ’, ‘เยียวยา’, ‘ขอบคุณที่รัก’ และ ‘เดียวดาย’ ต่างพูดถึงประสบการณ์ของความทรงจำที่มีต่อกวีในต่างกรรมต่างวาระกัน นั่นคือ ใน ‘ความทรงจำ’ และ ‘เยียวยา’ เป็นการพูดถึงความทรงจำในฐานะสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจ เป็นบาดแผลในชีวิต เช่น ใน ‘ความทรงจำ’ ซึ่งเป็นบทกวีที่สั้นมาก พูดถึงความทรงจำว่า

หากความทรงจำนั้นเป็นเรื่องโกหก

วันนี้… ความเสียใจไยจึงยังอยู่. (หน้า 58)

ความทรงจำเป็นสิ่งที่อภิปรายกันได้อย่างกว้างขวาง ในโลกวิชาการนั้นถึงกับมีวิชาที่ว่าด้วย ‘ความทรงจำศึกษา’ (memory studies) ด้วย แน่นอนว่าความทรงจำเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจดจำอดีต แต่อดีตที่ถูกจดจำนั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างแยกไม่ออก ในแง่หนึ่งสิ่งที่เราจดจำได้ในอดีตนั้นถูกกักเก็บเอาไว้อย่างไรในลิ้นชักความทรงจำของเรา และมันทำงานต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราอย่างไร ในบทกวีนี้ กวีพูดถึงว่า ‘หากความทรงจำนั้นเป็นเรื่องโกหก’ เราอาจแย้งได้ว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่เราจำได้และเรามักจะคิดกันว่าเราจำได้อย่างถูกต้องด้วย แต่แท้จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น เราอาจตกแต่งความทรงจำในอดีตเพื่อให้เข้ากับปัจจุบันของเราก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่บทกวีชิ้นนี้พยายามบอกเราอย่างหนึ่งก็คือ แม้เราจะตัดต่อแต่งกิ่งความทรงจำมากมายขนาดไหนก็ไม่อาจเปลี่ยนความรู้สึกที่เราจดจำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตได้ และแม้ว่าบางคนอาจเปลี่ยนความรู้สึกเนื่องมาจากการตัดแต่งความทรงจำของตนเองได้ ความรู้สึกบางอย่างก็ไม่อาจหายไปได้เช่นกัน อย่างน้อยในบทกวีนี้ก็พยายามพูดถึง ‘ความเสียใจ’ ที่ยังคงอยู่

ในบท ‘เยียวยา’ พยายามพูดถึง ‘ความซื่อตรง’ ต่อความคิดและความรู้สึกของตัวเองอันก่อให้เกิดความทรงจำบาดแผลที่ไม่อาจเยียวยาได้

ถ้าทุกสิ่งจบลงตรงความคิด

หากไม่คิดจะรู้สึกหรือไม่

ซื่อตรงต่อความรู้สึกตัวเองสักครั้ง

ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำอันเจ็บปวด

ที่ความจริงของใจไม่อาจเยียวยา (หน้า 82)

ในบทนี้ดูเหมือนจะคล้ายๆ กับ ‘ความทรงจำ’ ในแง่ที่ว่า ความทรงจำนั้นซื่อตรงหรือไม่ ในบทนี้กวีพยายามเสนอว่า ความทรงจำจะซื่อตรงกับเราหรือไม่ไม่อาจสำคัญ เท่ากับเราซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองแค่ไหน และเมื่อเราปลงใจจะซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วความซื่อสัตย์นี้จะทิ้งไว้เพียงความทรงจำอันเจ็บปวดที่ไม่อาจเยียวยาได้ ทั้งสองบทแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของกวีที่มีต่อความทรงจำว่าเป็นที่มาของความขมขื่นและเจ็บปวดในชีวิตอย่างหนึ่ง

ต่อมาในบท ‘ขอบคุณที่รัก’ ท่าทีที่กวีมีต่อความทรงจำนั้นเปลี่ยนไป เพราะกวีพูดถึงความทรงจำในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนและเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือร้ายก็ตาม

ชีวิต… สั่งสมความรู้สึกมากมาย

เพื่อให้กลายเป็นความทรงจำไม่กี่นาที

และความทรงจำไม่กี่นาที

ก็ถูกกลั่นเป็นน้ำเลี้ยงให้กับชีวิตได้ทั้งชีวิต (หน้า 94)

เราจะเห็นได้กว่าท่าทีของกวีนั้นมีลักษณะที่ประนีประนอมกับความทรงจำได้ดีมากขึ้น ดังนั้นเราจึงได้เห็นพัฒนาการทางอารมณ์ของกวีได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่แล้ว ‘ความทรงจำ’ ก็กลับไปเป็นที่มาของความเจ็บปวดในชีวิตอีกครั้งในฐานะที่เป็นความเดียวดายในบท ‘เดียวดาย’

บางทีความทรงจำ

ก็เดียวดาย

เกินกว่าจะเข้าใจ (หน้า 169)

ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจในการพูดถึงความทรงจำที่แตกต่างกันของกวีใน ‘ข้ามคืน’ นั้นชวนให้ผมคิดถึงเรื่องชีวิตที่เป็นจริงของคนทั่วไปมากขึ้น ผมไม่คิดว่าชีวิตของใครจะตกอยู่ภายใต้ความคิดความรู้สึกใดเป็นเวลานาน เพราะความคิดและความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการไม่ต่างจากชีวิต ชีวิตของคนเราผ่านพบสิ่งต่างๆ มากมายในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เราอาจเรียกมันว่าประสบการณ์ก็ได้ ในอดีตเราอาจเชื่อมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเราคิดว่ามันเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราประนีประนอมกับความเชื่อของเราที่มีต่อสิ่งอื่นๆ ได้ เรายอมผ่อนปรนบางอย่างเพื่อให้เราเชื่ออย่างที่เราเคยเชื่อได้แม้ว่ามันจะไม่เคร่งครัดเท่าเดิม เราอาจสมหวังที่ต้องประนีประนอมกับมันและอาจกลับไปผิดหวังในท้ายที่สุดก็ได้ เพราะชีวิตก็ไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ

ย่อหน้าด้านบนนี้ ผมพยายามนึกคิดกับตนเองไปพร้อมๆ กับการสื่อสารที่ไม่มีจุดประสงค์ในการขึ้นธรรมาสน์สั่งสอนใครนะครับ ไม่มีเจตนาดังกล่าวเลย…

สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่ชวนให้ผมขบคิดต่อผลงานเล่มแรกของกวีหญิง ‘แสงเดือน’ ก็คือ ด้วยความที่ตัวงานนั้นหลากหลายคล้ายกับเป็นบทบันทึกชีวิตของกวีเองด้วย ตัวบทกวีมีความสั้นแบบ minimal และมีจำนวนมาก ผมคิดว่าสิ่งที่อาจช่วยให้ผู้อ่านติดตามอารมณ์ความรู้สึกของกวีได้จนจบนั้นอาจเป็นการแบ่งภาคนำเสนอของตัวบทกวี เพราะจากที่ผมอ่านมาทั้งหมดนั้นดูอารมณ์จะคละกันจนเหมือนสับสนปนเป และเมื่ออ่านจบแล้วผมคิดว่ามันมีความจำเป็นอยู่บ้างที่รวมบทกวีนิพนธ์ควรจะมีความเป็น ‘เอกภาพ’ ในการนำเสนอ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจหาจุดเชื่อมโยงความหมายที่พยายามจะสื่อสารออกมาในแต่ละบทไม่ได้ หันซ้าย หันขวาอยู่ร่ำไป หรือไม่เช่นนั้น ผมคิดว่าอาจมีการคัดสรรบทกวีที่มีโทนอารมณ์และการสื่อสารความหมายที่คล้ายคลึงกันมาอยู่ในเล่มเดียวกันก็อาจเป็นการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

(ปัญหาในย่อหน้าด้านบนนี้บางทีอาจเป็นปัญหาของผมคนเดียวก็ได้)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save