fbpx
เมื่อทุกคนกลายเป็นผู้บริจาคอวัยวะ

เมื่อทุกคนกลายเป็นผู้บริจาคอวัยวะ

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เรื่อง

 

คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะของตัวเองเพื่อนำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ หลังจากเสียชีวิต

สำหรับคุณผู้อ่านหลายท่านที่มีสุขภาพเเข็งเเรง และไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยอวัยวะของคนอื่นเพื่อความอยู่รอด อาจรู้สึกว่าการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องไกลตัว จนเเทบไม่เคยคิดถึงในชีวิตประจำวันเลย

หลายๆ ท่านอาจจะมีความรู้สึกว่า “บริจาคก็ได้ ไม่บริจาคก็ได้ กว่าจะถึงตอนนั้นเราก็ตายไปเรียบร้อยเเล้ว ส่วนอวัยวะพวกนั้นเราก็เอาไปด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะบริจาคหรือไม่ก็มีผลเหมือนๆ กัน” (ยกเว้นคุณผู้อ่านที่มีความเชื่อว่าถ้าเอาอวัยวะของเราไปให้กับคนอื่น ชาติหน้าอาจจะเกิดมาโดยไม่มีอวัยวะนั้นๆ ก็ได้)

ส่วนคุณผู้อ่านที่เคยมีคนใกล้ตัวประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต อาจจะรู้สึกเเย่เเละเสียความรู้สึกมากๆ ถ้ามีหมอคนหนึ่งมาบอกกับคุณในวันที่เพิ่งจะเสียคนใกล้ตัวไปว่า “เราจะนำอวัยวะของคนที่คุณรักไปบริจาคให้กับคนที่ต้องการนะ เพราะฉะนั้นคุณช่วยเซ็นอนุญาตหน่อยครับ/ค่ะ”

เเต่สำหรับคุณผู้อ่านที่กำลังป่วย มีคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่กำลังป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือโรคไตก็ตาม ก็อาจจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะเเตกต่างกันไป คุณอาจจะไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำไปว่าทำไมคนเราถึงไม่คิดอยากจะบริจาคอวัยวะของตัวเองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

Opt-in, Opt-out เเละ Presumed Consent

 

ไม่ว่าเราจะมองเห็นการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องไกลตัวหรือใกล้ตัว ปัญหาสำหรับประเทศไทยคือ เรามีอัตราของการบริจาคอวัยวะน้อยกว่าความต้องการมหาศาล งานวิจัยของนายเเพทย์สกานต์ บุนนาค ชี้ว่า จากข้อมูลของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2555 มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รออวัยวะบริจาคจากผู้ป่วยภาวะสมองตายอยู่ถึง 3,516 ราย เเต่มีผู้บริจาคอวัยวะ (ที่สมองตายไปเเล้ว) เพียงเเค่ 136 รายเท่านั้น (คิดเป็น 3.8% ของคนป่วยทั้งหมด) ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตเฉพาะจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมีมากกว่าหนึ่งหมื่นคนต่อปี

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดว่าปัญหาความขาดเเคลนอวัยวะเป็นปัญหาเฉพาะของประเทศไทยที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักเท่านั้น เเต่ในความเป็นจริงเเล้ว ปัญหานี้เป็นปัญหาที่หลายๆ ประเทศในเเถบตะวันตกพบเจอเช่นกัน งานวิจัยของอีริค จอห์นสัน (Eric Johnson) เเละเเดเนียล โกลด์สไตน์ (Daniel Goldstein) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ว่า หลายประเทศในทวีปยุโรปอย่างเช่น เดนมาร์ก เนเธอร์เเลนด์ สหราชอาณาจักร เเละเยอรมนี ล้วนเเต่มีอัตราการบริจาคอวัยวะต่ำกันทั้งนั้น (ในปี ค.ศ. 2003 หรือปีที่งานของทั้งสองคนนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science อัตราการบริจาคอวัยวะในเดนมาร์กอยู่ที่ 4.25% เนเธอร์เเลนด์อยู่ที่ 27.5% สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 17.17% เเละเยอรมนีอยู่ที่ 12%) ซึ่งไม่น่ามีสาเหตุมาจากความเชื่อทางด้านศาสนาเเต่อย่างใด

เเละในงานวิจัยเดียวกันนี้ นักวิชาการทั้งสองยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ถึงเเม้ว่าอัตราการบริจาคอวัยวะของหลายๆ ประเทศในทวีปยุโรปจะค่อนข้างต่ำ เเต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่อวัยวะของผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตถูกนำไปบริจาคให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ออสเตรีย (อัตราการบริจาคอวัยวะ = 99.98%) เบลเยี่ยม (98%) ฝรั่งเศส (99.1%) ฮังการี (99.97%) โปเเลนด์ (99.5%) โปรตุเกส (99.64%) เเละสวีเดน (85.9%)

คำถามคือ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการบริจาคอวัยวะในแต่ละประเทศมีค่าที่เเตกต่างกันขนาดนี้

อีริค จอห์นสัน เเละเเดเนียล โกลด์สไตน์ ให้คำตอบง่ายๆ ไว้ว่า ประเทศที่มีอัตราการบริจาคอวัยวะต่ำ (น้อยกว่า 30%) นั้นเป็นประเทศที่มี “ตัวเลือกเริ่มต้น” หรือ default option เป็น “ไม่ยินยอมให้บริจาคอวัยวะ” ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ คุณจะต้องสมัคร หรือ opt-in เพื่อให้ตัวเองกลายคนที่ยินดีบริจาคอวัยวะ (organ donor)

ส่วนประเทศที่มีอัตราการบริจาคอวัยวะสูง (มากกว่า 70% ) จะเป็นประเทศที่มี “ตัวเลือกเริ่มต้น” หรือ default option เป็น “ยินยอมให้บริจาคอวัยวะ” หรือที่เรียกว่าระบบ presumed consent  กล่าวคือ ทุกคนที่เกิดในประเทศเหล่านี้ เมื่อเสียชีวิตแล้ว คุณหมอสามารถนำอวัยวะของเราไปใช้เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์คนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด เว้นเสียเเต่ว่า ผู้ตายจะเคยเลือกเอาตัวเองออกจากระบบ หรือ opt-out ไว้ก่อนเสียชีวิต

พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไหนก็ตาม คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไม่ opt-in หรือ opt-out จาก default option เลย ทั้งนี้เพราะว่าคนเรามีนิสัยที่จะเลือก default option ถ้า default option ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่เราเกลียดจริงๆ (หรือเพราะว่าตัวเลือกตัวอื่นๆ ไม่ได้ดีกว่าตัวเลือกเริ่มต้นที่เรามีอยู่อย่างเห็นได้ชัด)

เราเรียกอคติ หรือ bias ตัวนี้ว่า Status-quo bias ซึ่งหมายถึง การที่คนมัักไม่เปลี่ยนใจจากตัวเลือกที่มีอยู่ตั้งเเต่ต้น

สาเหตุของ Status-quo bias ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มักกลัว ‘การเปลี่ยนใจเเล้วผิด’ มากกว่า ‘การเสียโอกาสที่ไม่ได้เปลี่ยนใจ’ พูดง่ายๆ คือ (คนเรากลัว foolish actions มากกว่า foolish inactions) เเต่ในความเป็นจริงเเล้วคนเราส่วนใหญ่มักเสียใจในสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ทำไปเเล้วเเต่ออกมาไม่ได้ดังใจ

ถ้าพูดกันในเชิงของการยินยอมที่จะบริจาคหรือไม่บริจาคอวัยวะแล้ว คนส่วนใหญ่ในประเทศกลุ่มเเรกอาจจะคิดว่าทำไมเราต้องบริจาคอวัยวะด้วยในเมื่อการไม่บริจาคก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราเเย่ลง (ยกเว้นเราต้องมาเป็นคนป่วยเสียเอง) ส่วนคนในประเทศกลุ่มที่สองก็อาจจะคิดว่า การไม่บริจาค (opt-out) หรือบริจาค (default) ก็ไม่เเตกต่าง เพราะฉะนั้นทำไมเราต้องเลือกที่จะไม่บริจาคโดยการ opt-out ด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ เทเรซา เมย์ (Teresa May) นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายใหม่ให้เปลี่ยนระบบของการบริจาคอวัยวะจากระบบ informed consent ซึ่งถ้าคุณอยากจะบริจาคอวัยวะ คุณจำเป็นต้อง opt-in ตัวเองเข้าไปในระบบ มาเป็นระบบ presumed consent ที่คุณจะต้อง opt-out อย่างเดียวถ้าคุณไม่อยากจะบริจาคอวัยวะ ตั้งเเต่มีการออกกฎหมายนี้ออกมาในปลายปี 2017 อัตราการบริจาคอวัยวะนั้นเพิ่มขึ้นได้จริงๆ ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับคนที่อยู่ใน waiting list ของอวัยวะกว่า 6,500 คนในประเทศ

เเม้ว่าผลลัพธ์ของการเปลี่ยนระบบการบริจาคครั้งนี้จะดีต่อคนที่ต้องการการบริจาคอวัยวะทั้งหมด ส่วนคนที่อาจจะไม่ชอบเเละต้องทนทุกข์จากระบบใหม่นี้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นญาติๆ ของผู้เสียชีวิตที่อาจจะไม่พอใจที่อวัยวะของสามี ภรรยา หรือลูกของตัวเองถูกคุณหมอนำไปบริจาคให้กับคนอื่นๆ โดยที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์ห้ามเลย

คำถามก็คือเราควรให้ความสำคัญกับใครมากกว่ากันระหว่างคนที่ต้องการการบริจาคอวัยวะจากคนอื่น เเละญาติๆ ของผู้ตายที่อวัยวะถูกนำไปบริจาคโดยที่ตัวของญาติเองไม่เคยถูกขออนุญาตเลย

 

อ่านเพิ่มเติม

สกานต์ บุนนาค (2013) วิกฤติการขาดเเคลนอวัยวะของประเทศไทย (Solving the Organ Shortage Crisis in Thailand), Vajira Medical Journal, 57(3), 179-184

Johnson, E. J., & Goldstein, D. G. (2003). Do defaults save lives?. Science, 302, 1338-1339.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save