fbpx
ความจริงที่ถูกประหาร อรสม สุทธิสาคร – โทชิ คาซามะ

ความจริงที่ถูกประหาร อรสม สุทธิสาคร – โทชิ คาซามะ

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

ยศธร ไตรยศ, โทชิ คาซามะ, ชลธร วงศ์รัศมี ภาพ

ในฐานะนักเขียนสารคดีที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากผู้อ่านทั่วประเทศ อรสม สุทธิสาคร เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของกระบวนการยุติธรรมอย่างกลมกลืนมาร่วมแปดปี ด้วยหน้าที่ครูสอนการเขียนที่เรือนจำกลางบางขวาง และสอนการเขียนเพื่อสร้างกำลังใจเชิงลึกแก่ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำอื่นๆ อีกทั้งริเริ่มกิจกรรมมากมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ต้องขังมาสม่ำเสมอ

หากใครพบช่างภาพหนุ่มชาวญี่ปุ่นบุคลิกเรียบร้อยชื่อ โทชิ คาซามะ คงคิดไม่ถึงว่าชายคนนี้ได้สร้างระลอกคลื่นการยกเลิกและยุติโทษประหารมาแล้วทั่วโลก ตัวเขาไม่ต่างจากภาพถ่ายของเขา คืออ่อนโยนเรียบนิ่ง เขาถ่ายอยู่ไม่กี่สิ่งซ้ำๆ คือ เก้าอี้ เตียง คน ห้อง ภาพถ่ายของเขาดูไม่เร้าใจ จนกว่าเขาจะเล่าให้เราฟังว่าคนแต่ละคนในภาพคือใคร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เขาถ่ายมานั้นทำหน้าที่ใดในห้องประหาร

อรสมและโทชิ จะชวนเราไปค้นหาว่าในวงจรของโทษประหาร มีความจริงอะไรบ้างที่ถูกประหาร จากความรับรู้ของสังคม

 

โทชิ คาซามะ : ช่างภาพจากประเทศที่เพิ่งประหารชีวิตหมู่นักโทษ 7 ราย

 

“มาครั้งนี้จังหวะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะขณะเตรียมเดินทางมาไทยอันเป็นประเทศที่ผมรักประเทศหนึ่ง ไทยก็ได้มีการประหารชีวิตไปหนึ่งราย เมื่อมาถึงเช้าวันศุกร์ก็มีคนโทรมาหาจากญี่ปุ่นว่าที่ญี่ปุ่นได้มีการประหารชีวิตเจ็ดคน”

โทชิ คาซามะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้ถ่ายภาพนักโทษประหารมาแล้วทั่วโลกกล่าวในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ขณะนั้นไทยเพิ่งประหารนักโทษรายหนึ่งหลังว่างเว้นการประหารมา 9 ปี ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประหารแกนนำลัทธิโอมชินริเกียว ซึ่งก่อเหตุปล่อยแก๊สซารินจนมีผู้โดยสารในรถไฟฟ้าใต้ดินเสียชีวิต 13 ราย และ บาดเจ็บกว่า 6 พันราย

ในปี 1995 ภาพถ่ายของโทชิเคยทำให้เกิดการยุติโทษประหารในสหรัฐอเมริกามาแล้วหลายรัฐ แต่ยับยั้งการประหารหมู่ในมาตุภูมิไว้ไม่ได้

“นายกฯ ชินโสะ อาเบะ มีเรื่องอื้อฉาวหลายประการ และปีหน้ากำลังจะมีการเลือกตั้งที่ประเทศที่ญี่ปุ่น มีการแต่งตั้งสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ และอีกปีถัดมาจะมีโอลิมปิกที่โตเกียว การประหารชีวิตคงไม่สามารถเกิดได้ในช่วงเวลาเหล่านี้อย่างแน่นอน ดังนั้นการประหารชีวิตนักโทษประหารทั้งเจ็ดคน เป็นเพราะรัฐบาลเองตั้งใจใช้กระบวนการนี้สร้างความนิยมและกลบเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น”

โทชิ คาซามะ

โทชิ คาซามะ ภาพ l ยศธร ไตรยศ

โทชิกล่าวว่านอกจากแรงกดดันของสังคม การตัดสินใจประหารชีวิตครั้งนี้ในญี่ปุ่น การเมืองมีส่วนด้วยไม่น้อย และเป็นธรรมดาที่นักการเมืองผู้สนับสนุนโทษประหารมักได้รับคะแนนนิยม

“ช่วงที่ผมไปฟิลิปปินส์ มีผู้ถูกประหารชีวิตเป็นจำนวนมากในสมัยประธานาธิบดี โรดริโก ตูเดอร์เต โดยตำรวจจะยัดยาเสพติดและสังหาร แล้วพุ่งเป้าเป็นเรื่องยาเสพติดแทน ก่อนหน้านี้ แมนนี ปาเกียว ซึ่งเป็นนักมวยคนดังและเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านโทษประหาร และเคยไปให้กำลังใจนักโทษประหารที่มาเลเซียมาแล้ว แต่ตอนนี้ปาเกียวถือว่าเป็นคนที่ได้รับความนิยมรองจากตูเดอร์เต้ เขาเปลี่ยนใจแล้ว และบอกว่าในฐานะชาวคริสต์ โทษประหารเป็นสิ่งจำเป็นในพระคัมภีร์เก่า ตอนนี้ แมนนี ปาเกียว กลายเป็นคนร่างกฎหมายเพื่อจะนำโทษประหารกลับมาใช้ในฟิลิปปินส์”

ไม่เพียงแค่ในฟิลิปปินส์ ที่เสียงส่วนใหญ่ของสังคมเห็นด้วยกับโทษประหาร จนบางครั้งนำมาสู่การเปลี่ยนจุดยืนในการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนโทษประหารของนักการเมือง เช่นกรณีของปาเกียว โทชิกล่าวว่าในสหรัฐอเมริกา นักการเมืองมักจะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นหากสนับสนุนโทษประหารเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปบ้างแล้วหลังปี 2011 ซึ่งรัฐอิลลินอยส์ตรวจดีเอ็นเอของนักโทษประหาร แล้วพบว่ามีนักโทษประหารถึง 13 รายไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ตามมาด้วยการส่งเสียงที่ทรงพลังมากที่สุด นั่นคือเสียงของเหยื่ออาชญากรรม

YouTube video

หนึ่งในผลจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องโทษประหารในสหรัฐฯ คือสารคดีชุด The Confession Tape ฉายทาง Netflix ตีแผ่การลงโทษผิดคนในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นมากมาย

“หลังจากมีครอบครัวเหยื่อออกมาปฏิเสธกับสาธารณะมากขึ้นว่าโทษประหารไม่ได้ช่วยครอบครัวเหยื่อ นักการเมืองจึงไม่สามารถอ้างประเด็นการสนับสนุนโทษประหารชีวิตมาเป็นประเด็นหาเสียงได้ สาธารณชนเองก็เข้าใจว่าการประหารชีวิตไม่ได้ช่วยครอบครัวเหยื่ออย่างที่นักการเมืองกล่าวอ้าง” โทชิกล่าวถึงสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อโทษประหารในสหรัฐฯ

ผู้เห็นการประหารระยะประชิด

จากมุมมองของผู้ใช้นิ้วไล้หน้าจอสมาร์ทโฟนเพื่ออ่านข่าวอาชญากรรม เรามักรู้จักนักโทษประหารในชื่อสั้นๆ เร้าใจว่า ‘ไอ้โฉด’ หรือ ‘ไอ้ชั่ว’ จากมุมมองตำวจ อัยการ ทนาย และผู้พิพากษา ‘จำเลย’ เหล่านั้นผ่านเข้ามาในชีวิตชั่วครู่ด้วยสำนวนคดี มีโอกาสแลกแววตาน้ำเสียงกันบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องได้กลิ่นคาวเลือด แต่ผู้ที่นับว่าแนบชิดกับโทษประหารอย่างแท้จริงคือเพชฌฆาต

โทชิกล่าวว่าจากการเดินทางทั่วโลก เขาพบว่าเพชฌฆาตหลายคนมีร่องรอยของแผลเป็นทางจิตใจ จากการทำหน้าที่ประหารชีวิต แม้จะมีกระบวนการมากมายป้องกันความรู้สึกผิดไว้แล้วก็ตาม

“วิธีที่ใช้ในการประหารชีวิตที่ญี่ปุ่นคือการแขวนคอ เราอาจคิดว่าการแขวนคอคือการทำให้ขาดอากาศหายใจ แต่จริงๆ แล้วคือการผูกเงื่อนแบบพิเศษที่คอ แล้วดึงเชือก จากนั้นพื้นที่นักโทษยืนอยู่จะเปิดออก ตัวนักโทษจะตกลงมาในความสูงเท่าตึกสองชั้น เงื่อนที่ผูกไว้จะทำให้กระดูกข้อต่อตรงคอหลุดออกจากกัน ผมเคยเห็นภาพศพนักโทษประหารชีวิตรายหนึ่งที่นาโกย่า ทนายเขาถ่ายรูปไว้ทันทีหลังจากที่เสียชีวิต หัวจะไปอีกทางหนึ่ง ไหล่ไปอีกทางหนึ่ง”

นอกจากวิธีที่ต้องใช้ศาสตร์การผูกเงื่อนแบบละเอียดอ่อน การประหารแบบญี่ปุ่นยังต้องพึ่งเทคโนโลยีร่วมด้วย โดยมีปุ่มที่กดแล้วพื้นใต้นักโทษที่ถูกผูกคอไว้จะเปิดออก ปุ่มเหล่านี้มีอยู่ด้วยกัน 3-5 ปุ่ม แต่ละปุ่มสำหรับเพชฌฆาตแต่ละคน เพชรฆาตทุกคนจะกดปุ่มพร้อมกัน ไม่มีใครรู้ว่าปุ่มไหนส่งนักโทษลงไปสู่ความว่างเปล่าเบื้องล่าง ซึ่งช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดของเพชรฆาตไปได้

การกดปุ่มเบาๆ กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่แม้แต่เพชฌฆาตก็ไม่อยากแบก ไม่ต่างจากการประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า โทชิชี้ให้ดูอีกภาพหนึ่ง

เก้าอี้ไฟฟ้าสำหรับประหารชีวิต

เก้าอี้ไฟฟ้าสำหรับประหารชีวิต ในอดีตในสหรัฐฯ บางรัฐ ให้นักโทษเลือกเองระหว่างการประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้ากับเตียงฉีดสารพิษ เพราะไม่อาจตัดสินใจได้ว่าวิธีประหารแบบไหนมีมนุษยธรรมสูงสุด ภาพ l โทชิ คาซามะ Copyright © Toshi Kazama

“นี่คือภาพเก้าอี้ประหารชีวิต จะมีการต่อสายไฟฟ้าเส้นหนึ่งที่ศีรษะและอีกสองเส้นที่ขา ตรงที่กระแสไฟฟ้าผ่านเยอะที่สุดคือกระดูกสันหลัง แล้วผ่านออกมาทางทวารหนัก หลังกำแพงอิฐด้านหลังมีปุ่มอยู่สองปุ่ม เจ้าหน้าที่จะกดปุ่มพร้อมกันสองคน และไม่ทราบว่าสายไหนเป็นสายที่ต่อสายไฟไว้

“เหมือนกันกับกลุ่มที่ประหารชีวิตด้วยวิธียิงเป้า เวลาประหารจะใช้เพชฌฆาต 5 คน แต่มีเพียงคนเดียวที่ในปืนมีกระสุนจริง ที่เหลือในรังเพลิงใส่แค่ดินปืนและมีเสียงออกมา เพชฌฆาตทุกคนจะภาวนาว่าขอให้ปืนเขาเป็นปืนที่ไม่มีกระสุน ห้องที่ใช้ประหารจะมีแต่กลิ่นเนื้อมนุษย์ที่ถูกเผาไหม้” โทชิกล่าว

กระบวนการป้องกันความบอบช้ำทางใจให้เพชฌฆาต เป็นสิ่งที่ติดตั้งไว้ทุกลานประหารทั่วโลก รวมทั้งที่ไต้หวัน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการปิดลับไม่ให้ใครเข้าไปในลานประหาร แต่โทชิสามารถเข้าไปเก็บภาพไว้ได้

“นี่เป็นภาพลานประหารที่ไต้หวัน จะมีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสามคน นั่งอยู่ตรงเก้าอี้และตรวจเช็กเอกสารบนพื้นยกอย่างดี ก่อนกลับออกไปก่อนช่วงสังหาร ส่วนลานประหารจะโรยทรายสีดำ และมีภาพพระพุทธเจ้าแขวนไว้ นักโทษประหารจะเอาผ้ามาปู มีอาหารมื้อสุดท้ายให้กิน มีบุหรี่กับสาเกให้ด้วย กินไปจะเห็นจุดที่จะถูกประหาร และมีรูปพระพุทธเจ้ามองนักโทษประหารอยู่

“ตอนเดินเข้าลานประหาร นักโทษต้องจุดธูป เจ้าหน้าที่บอกผมว่าเพื่อให้วิญญาณของนักโทษล่องลอยไปสู่โลกอื่น ไม่มาหลอกหลอนเพชฌฆาต พิธีกรรมนี้ไม่ได้ปกป้องนักโทษประหารนะครับ แต่ปกป้องเพชฌฆาต”

ลานประหารบนทรายสีดำ ภาพพระพุทธเจ้าบนกำแพง อาหารมื้อสุดท้าย

ลานประหารบนทรายสีดำ อาหารมื้อสุดท้าย และภาพพระพุทธเจ้าบนกำแพง ภาพ l โทชิ คาซามะ Copyright © Toshi Kazama

“จากนั้นนักโทษจะนอนคว่ำหน้ากับพื้นทราย เพชฌฆาตจะเดินเข้ามาพร้อมปืนและยิงนักโทษประหารเสียชีวิต ถ้าใครเป็นผู้บริจาคอวัยวะเพชฌฆาตจะยิงที่คอ แต่ถ้าไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้บริจาคอวัยวะ เขาจะยิงที่หัวใจ การใช้ทรายดำทำให้ไม่เห็นรอยเลือด จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนทรายทุกครั้ง และกระสุนจะฝังเข้าไปในพื้นทราย ทรายจะสามารถซึมซับแรงกระสุนได้ โดยกระสุนจะไม่เด้งหรือสะท้อนแล้วไปทำอันตรายกับคนอื่น ทรายตรงที่เป็นรูเป็นจุดที่รอยกระสุนทะลุผ่านร่างกายมนุษย์”

ขณะที่ไต้หวันใช้วิธียิงกันต่อหน้าต่อตา เราอาจคิดว่าการประหารด้วยการฉีดสารพิษอย่างที่ใช้ในไทยและสหรัฐอเมริกาอาจมีมนุษยธรรมมากกว่า ตามความเข้าใจของใครหลายคน นักโทษจะหลับสนิทด้วยฤทธิ์ยาก่อน แล้วตายด้วยสารพิษในขณะไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ความจริงมักไม่เป็นเช่นนั้น

“ในการประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดสารพิษ จะมีสารพิษสามตัว ตัวที่สามซึ่งเป็นตัวสุดท้ายจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งตัวและเสียชีวิตในที่สุด ผมคิดว่าวิธีการประหารชีวิตทุกวิธีโหดเหี้ยมพอๆ กัน แต่สำหรับวิธีฉีดสารพิษให้ตาย นอกจากโหดเหี้ยมแล้ว ยังอาจเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพ ในวิดีโอบันทึกเหตุการณ์การประหารชีวิตครั้งหนึ่งที่ผมเคยเห็น นักโทษจะอยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น และดิ้น เพราะพอฉีดยาไปแล้ว เขายังไม่เสียชีวิตทันที ในวิดีโอนั้นจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่รีบวิ่งไปรูดม่านกั้นบานกระจกที่กั้นระหว่างพยานในการประหารชีวิตกับผู้ถูกประหาร”

โทชิกล่าวว่าในฝรั่งเศสได้ยกเลิกการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษแล้ว ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและประสิทธิภาพของวิธีประหาร จากเดิมที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศส่งออกสารพิษสำหรับการประหารรายใหญ่ ทั้งโลกพยายามตอบคำถามว่าวิธีใดทำให้การประหารมีมนุษยธรรมมากที่สุด แต่ยังคงไร้คำตอบ ส่วนผู้ที่ต้องอยู่ร่วมวาระประหาร มีเพียงแค่ความหวังว่าอย่าให้มีการประหารเกิดขึ้น ดังที่โทชิเล่าประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่อีกแห่งของเรือนจำในสหรัฐฯ ให้ฟังว่า

“ในห้องฉีดสารพิษให้ตาย จะมีช่องและสายเดินสารพิษและโทรศัพท์สองเครื่อง เครื่องหนึ่งเป็นโทรศัพท์สายตรงไว้ติดต่อกับผู้ว่าการรัฐ เนื่องจากว่าผู้การรัฐมีอำนาจสั่งระงับการประหารชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วนได้”

เตียงประหารด้วยการฉีดสารพิษ

เตียงประหารด้วยการฉีดสารพิษ และห้องที่มีโทรศัพท์ซึ่งผู้ว่าการรัฐสามารถโทรเข้ามาเพื่อยับยั้งการประหารได้  ภาพ l โทชิ คาซามะ Copyright © Toshi Kazama

“ปกติการประหารชีวิตจะทำกันตอนเที่ยงคืน ครั้งหนึ่งประมาณ 5 นาทีก่อนเที่ยงคืน มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เจ้าหน้าที่ดีใจ ปรบมือกันใหญ่ว่าวันนี้ไม่ต้องประหารชีวิตมนุษย์ ปรากฏว่าพอรับสายแล้ว ปลายสายคือเสียงของผู้ว่าการรัฐที่กำลังเมาอยู่ และแทนที่จะบอกให้ยกเลิกการประหาร แต่กลับบอกให้ประหารชีวิตต่อไป เจ้าหน้าที่โมโหมากนะครับ เพราะรู้สึกว่าผู้ว่าการรัฐจงใจแกล้งเขาเล่นๆ กินเหล้าเมาๆ นึกสนุกก็โทรเข้ามา

“สำหรับผู้ว่าการรัฐแล้ว การประหารชีวิตก็แค่การเซ็นคำสั่งบนแผ่นกระดาษ แต่สำหรับคนที่ต้องสัมผัสความเป็นจริงในการประหารชีวิตจริงๆ อย่างเจ้าหน้าที่ไม่ใช่แค่นั้น ผู้ว่าการรัฐไม่เคยเข้ามาอยู่ในห้องนี้ เขาไม่เคยเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องง่ายมากที่เขาจะสั่งให้ประหารชีวิต ถ้าผู้ว่าการรัฐเคยเข้ามาในห้องประหารชีวิตและเคยดูการประหารชีวิตสักครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าเขาจะเปลี่ยนใจ”

ชีวิตหลังลั่นกุญแจ

ในหลายประเทศ หลังเสียงกริ๊กของกุญแจมือ ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน บางคนใช้สิทธิประกันตัวและได้กลับบ้าน บางคนมีคุกเป็นบ้านนับตั้งแต่นั้น บางคนได้ซักซ้อมคำให้การจนขึ้นใจจากทนายชั้นเยี่ยม บางคนเงอะงะกลางศาล บางคนทำผิดและได้รับผิด บางคนรอดพ้นตาข่ายกฎหมาย แล้วหล่นร่วงไปบนฟูกนุ่มๆ ที่รองรับไว้อย่างดี เช่นในประเทศจีน ซึ่งโทชิกล่าวว่าเงินซื้อชีวิตได้

“นี่เป็นภาพถ่ายของเก้าอี้อัยการ ที่จะมาลงวันที่และเวลา นี่เป็นประตูที่จะขนร่างนักโทษประหารที่เสียชีวิตแล้วส่งขึ้นรถพยาบาลที่รออยู่ด้านนอกเพื่อเอาอวัยวะไปขาย ที่จีนมีการประหารชีวิตปีละประมาณ 5,000 คน ถ้าใครเคยดูนิทรรศการที่เอาร่างมนุษย์มาฉีดพลาสติกเพื่อแสดงอวัยวะต่างๆ ร่างมนุษย์ที่ใช้ในนิทรรศการนี้ทั้งหมดมาจากจีน”  โทชิชี้ให้ดูภาพห้องประหารในจีน

“สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการและเป็นธุรกิจใหญ่มากของการประหารชีวิต คือการขายอวัยวะ ที่จีนเมื่อแรกเข้าเรือนจำ นักโทษจะถูกตรวจหมู่เลือดทันที แต่ถ้าคนไหนมีเงินติดสินบนผู้พิพากษาประมาณ 4,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คุณจะเป็นนักโทษที่ไม่ถูกนำไปประหาร”

นิทรรศการ Real Bodies

โปสเตอร์จากนิทรรศการ Real Bodies นิทรรศการซึ่งนำร่างกายมนุษย์มารักษาสภาพแล้วจัดแสดงอากัปกิริยาต่างๆ ให้เหมือนยังมีชีวิตอยู่ เดินสายจัดแสดงทั่วโลก ร่างกายมนุษย์ในนิทรรศการนี้ทั้งหมดมาจากจีน

โทชิกล่าวว่าใช่ว่าชาวจีนจะปิดตาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มีชาวจีนมากมายต้องการให้ยกเลิกโทษประหารที่มีปัญหาทั้งความยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำในหมู่คนยากจนและร่ำรวย อีกทั้งมีกิจการขายอวัยวะเป็นแรงจูงใจเร้นแฝง

“ที่จีนคนที่เชิญผมไปบรรยายเรื่องโทษประหารชีวิต บางคนถูกประหารชีวิต บางคนถูกซ้อม หลายคนถูกขังคุกนานหลายเดือน แต่ยังเสี่ยงชีวิตเชิญผมไป เพราะเขาเชื่อว่าการให้ผมพูดเรื่องโทษประหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่และจะกลายเป็นชนชั้นนำในอนาคต จะช่วยเปลี่ยนจีนได้

“ครั้งหนึ่งผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยซีอาน อาจารย์ที่เชิญผมมาถูกข่มขู่ว่าถ้าคุณให้ โทชิ คาซามะ พูด คุณจะต้องเสียตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนี้ หลังผมบรรยายเสร็จ อาจารย์คนนี้ร้องไห้ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะบอกครอบครัวอย่างไร แต่อาจารย์ก็เลือกให้ผมพูดมากกว่าเลือกตำแหน่งของตนเอง ผมภูมิใจมาก”

ข้ามมาฝั่งสหรัฐฯ โทชิชี้ให้ดูภาพเยาวชนอเมริกันอายุ 16 ปีคนหนึ่ง ชื่อ ไมเคิล บาร์นส์ (Michael Barnes) ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นภาพหลักในนิทรรศการของเขาหลายต่อหลายครั้ง

ไมเคิล บาร์นส์

ไมเคิล บาร์นส์ เยาวชนอายุ 16 ปี ผู้ถูกประหารชีวิตและเปลี่ยนชีวิตของโทชิ Copyright © Toshi Kazama

“เยาวชนคนนี้ถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดในการฆ่าสองกระทง คือคดีที่หญิงชราคนหนึ่งถูกข่มขืน รัดคอ และถูกเผาบ้าน ถัดมาไม่กี่วันในบ้านใกล้เคียงกันมีชายชราคนหนึ่งถูกฆ่าหั่นศพ คดีนี้เปลี่ยนชีวิตและแนวคิดของผมไปเลย เพราะผมคิดว่าถ้าผมเกิดมาในสถานะเดียวกันกับเยาวชนคนนี้ ผมเองอาจกลายเป็นนักโทษประหารได้

“ตอนคุยกัน เขาบอกว่าผมเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตอนตำรวจมาสอบสวน เขาบอกตำรวจว่าได้ไปบ้านผู้เกิดเหตุทั้งสองบ้าน และชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้ด้วย แต่เนื่องจากเขามีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งไอคิวของเขาสูงแค่ 68 เลยกลายเป็นแพะ ตำรวจตัดสินโทษว่าเขาเป็นคนทำ คณะลูกขุนลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ผู้พิพากษากลับคำตัดสินของลูกขุนและลงโทษประหารชีวิต”

ด้วยหลักฐานคือรอยนิ้วมือในบ้านของผู้ตาย ไมเคิล บรานส์ ถูกประหารชีวิต ท่ามกลางร่องรอยหลักฐานอีกมากมายในที่เกิดเหตุที่ไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากเขา ได้นำไปสู่การปวารณาตนเพื่อถ่ายภาพนักโทษประหารของโทชิในเวลาต่อมา โทชิชี้ให้ดูภาพถ่ายของเยาวชนที่กลายมาเป็นนักโทษประหารตอนอายุ 16 ปีอีกคนหนึ่ง ซึ่งถูกคุมขังในฐานะนักโทษประหารร่วม 4 ปี

“ชารีฟ เคาซิน (Shareef Cousin) เป็นนักโทษประหารที่โชคดี เขาได้ทนายที่ดี สู้คดีจนสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากนั้นได้ไปเรียนกฎหมายเพื่อมาเป็นทนายให้ลูกความที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวเขา”

ชารีฟ เคาซิน

ชารีฟ เคาซิน ในปัจจุบัน อดีตเขาคือเยาวชนที่ต้องโทษประหารและอยู่ในคุกถึง 4 ปี ก่อนชนะคดีและเรียนต่อด้านกฎหมาย ภาพ l Drexel.edu

“ก่อนหน้านี้มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ผม  ตัวผมเองไม่ได้มีความคิดชัดเจนว่าต่อต้านหรือสนับสนุนการใช้โทษประหาร แต่ตั้งแต่วันแรกที่ผมเริ่มไปถ่ายภาพ ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”  ช่างภาพที่เริ่มอาชีพนี้ด้วยเหตุผลในตอนแรกว่าอาชีพนี้ให้ค่าตอบแทนที่สูงกล่าว

 

สิ่งที่ญาติเหยื่อต้องการอย่างแท้จริง

 

การให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษประหาร ชดเชยความเจ็บปวดและความสูญเสียของญาติเหยื่อได้มากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่างภาพผู้เกิดในโตเกียว เติบโตในนิวยอร์ก และเคยถูกขังคุกจากการถูกลูกหลงในเหตุการณ์ทางการเมืองในอาฟริกาตั้งคำถาม

“คนเรามักจะเข้าใจครอบครัวเหยื่อผิดๆ ว่าสิ่งที่ครอบครัวเหยื่อต้องการทันทีหลังเกิดอาชญากรรมคือโทษประหาร เราอาจเห็นภาพในสื่อต่างๆ ว่าครอบครัวเหยื่อต้องการให้ลงโทษสูงสุด อาจฆ่าอาชญากรให้ตายตกตามกัน แต่สื่อไม่ได้ติดตามครอบครัวเหยื่อในระยะยาวว่าภายใน 1 ปี 5 ปี หรือ 20 ปี ครอบครัวเหยื่อเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และพวกเขาต้องการอะไรอย่างแท้จริง

“กระบวนการยุติธรรมเชิงลงโทษไม่ได้มุ่งให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อ แต่มุ่งใช้การลงโทษ โดยที่เมื่อลงโทษเสร็จ ในกรณีนี้คือการใช้โทษประหารชีวิต แล้วจะไม่ย้อนกลับมาดูกรณีอาชญากรรม ไม่ย้อนกลับมาศึกษาและให้ความสนใจอีก เพราะถือว่าได้ลงโทษไปแล้ว ผมคิดว่าการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับสาธารณชนทั่วไป แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม ให้ผู้คนใช้ชีวิตดีขึ้นหรือปลอดภัยขึ้น”

โทชิกล่าวว่าท่ามกลางข่าวสารที่เต็มไปด้วยความคับแค้นหลังเกิดเหตุโศกสลด สิ่งที่ผู้คนทั่วไปไม่ได้เห็นจากสื่อ คือเหยื่อหรือญาติมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร พวกเขาต้องการสิ่งใดบ้าง โทชิชี้ให้ดูภาพผู้หญิงรูปร่างบอบบางคนหนึ่ง

Toshi Kazama

หญิงสาวรูปร่างบอบบางผู้มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของโทชิ Copyright © Toshi Kazama

“ภาพนี้เป็นภาพเหยื่อ เหตุเกิดขึ้นในร้านอาหารเวียดนามของครอบครัวชาวเวียดนามที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกา สมาชิกครอบครัวทั้งหมดถูกคนที่ครอบครัวจ้างมาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยฆ่า เธอเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวจากคดีฆาตกรรมนั้น เพราะไปซ่อนตัวอยู่ในตู้เย็นขนาดใหญ่ในครัว

“ในคดีนี้มีผู้เสียชีวิตอีกคนหนึ่งคือตำรวจ ซึ่งมีภรรยาท้องแก่แล้ว และคลอดลูกหนึ่งสัปดาห์หลังสามีเสียชีวิต เหยื่อคนนี้ได้ช่วยภรรยาของตำรวจเลี้ยงดูลูก ทำงานกับชุมชนเพื่อลดอัตราอาชญากรรม เธอเป็นคนที่น่าทึ่งมาก เธอบอกผมว่าบาดแผลจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวของเธอก็อยู่กับเธอตลอดไป แต่เธอเปลี่ยนวิธีมองบาดแผลของเธอ และเปิดร้านอาหารอีกครั้งหนึ่งปีหลังเกิดเหตุ”

โทชิเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวชาวเวียดนามว่า ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงเยียวยา’  เกิดการเยียวยาเกิดขึ้นทั้งจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี ชุมชนแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจต่อครอบครัวของเธอ ด้วยการพัฒนากระบวนการป้องกันอาชญากรรมให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ตำรวจเปิดโอกาสให้เธอได้บริหารความรักมากกว่าความเกลียดผ่านการช่วยทะนุถนอมทารก มีกระบวนการยื่นมือเข้าช่วยเหลือเธอมากกว่าการลงโทษอาชญากร

“การได้พบผู้หญิงเวียดนามคนนั้น ผมถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าในชีวิตผม เธอเป็นผู้หญิงที่น่าทึ่งมาก ถือว่าผมโชคดีมากที่ได้เจอเธอก่อนที่ผมจะกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรมเสียเอง 14 ปีที่แล้ว ผมไปรับลูกกลับจากโรงเรียนประถม มีคนเกรี้ยวกราดคนหนึ่งจับหัวผมไปโขกกับฟุตปาธอย่างแรง จนผมอาการสาหัสมาก หมอบอกภรรยาผมว่าตอนนี้สามีคุณอาจต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต วันที่ 5 ผมฟื้นขึ้น เพื่อนมาเยี่ยมผมแล้วบอกว่าโทชิ คุณเป็นคนดีมาก คุณไม่เคยทำอะไรผิดเลย ทำไมคุณถึงต้องเจออะไรอย่างนี้ เขาบอกผมว่าถ้าเจอคนร้ายเขาจะฆ่าซะ แต่สิ่งที่ผมต้องการคืออยากให้คนร้ายขอโทษผมอย่างจริงใจ”

น้อยคนจะรู้ว่าโทชิเคยตกอยู่ในฐานะ ‘เหยื่อ’ มาก่อน แต่จากประสบการณ์ที่เขาได้พบกับหญิงสาวชาวเวียดนามผู้รอดชีวิต ทำให้เขาตัดสินใจยุติการเป็นเหยื่อไว้แค่ช่วงเวลาที่เขาถูกทำร้ายนั้น

“ลูกสามคนมาเยี่ยมผมที่ห้องไอซียู ผมไม่เคยเห็นหน้าลูกหวาดกลัวมากมายเช่นวันนั้นมาก่อน ผมบอกลูกว่าจงโกรธอาชญากรรม แต่อย่าโกรธและเกลียดอาชญากร จากการเดินทางพบครอบครัวเหยื่อทั่วโลก ผมพบว่าความโกรธ ความต้องการแก้แค้น ไม่ได้ทำลายเหยื่อคนเดียว แต่จะดึงให้ครอบครัวป่วยไปด้วย”

การได้รับการเยียวยาของหญิงสาวชาวเวียดนาม ส่งผ่านมาถึงโทชิ แต่ใช่หรือไม่ว่าในสังคมที่กระบวนการยุติธรรมเชิงเยียวยาไม่เข้มแข็ง หรือความยุติธรรมขั้นพื้นฐานไม่เสมอหน้า เมื่อสบโอกาสลงโทษ เหยื่อและญาติเหยื่อย่อมหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมเชิงลงโทษให้หนักหนาสาหัสที่สุด ดังที่ปรากฏในบางประเทศว่าเมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม ญาติเหยื่อผู้คับแค้นบางรายจึงใช้วิธีกระโดดตึกฆ่าตัวตายทันทีเพื่อประท้วงศาล การถูกเลือกปฏิบัติทั้งในระดับนโยบาย มาตรวัดทางกฎหมาย และวัฒนธรรม บ่อยครั้งได้แปรเปลี่ยนเป็นความคั่งแค้น

                                                                                            

ชีวิตครูในมหาวิทยาลัยบางขวาง ของ อรสม สุทธิสาคร

 

 อรสม สุทธิสาคร

อรสม สุทธิสาคร ภาพ l ชลธร วงศ์รัศมี

 

อรสม สุทธิสาคร เรียกเรือนจำกลางบางขวางว่า ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ จากนักเขียนที่มีลูกศิษย์ที่เดินทางในแวดวงน้ำหมึกมามายมาย อรสมได้ขยายฐานลูกศิษย์เมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยการเข้าไปสอนวิชาการเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้ต้องขังในแดนประหาร ให้แก่นักโทษประหารชายในบางขวาง และสอนมาต่อเนื่องสม่ำเสมอ เธอสะท้อนคุณสมบัติหนึ่งที่ได้พบในตัวลูกศิษย์กลุ่มโทษประหารไว้ว่า

“ในผู้คนเหล่านี้ เขามีความแกร่ง ความอึด ความอดทนบางอย่าง ที่เรามีไม่เท่าเขา อาจเพราะคนที่ผ่านความเป็นความตายของชีวิต หรือความทุกข์อันเป็นที่สุด หากเป็นคนที่รู้จักคิดหรือคิดเป็น มันจะสอนข้อคิดดีๆ ให้กับเขาได้”

แรกพบหน้าลูกศิษย์กลุ่มใหม่ที่เธอบอกว่าเรียนรู้เร็วทีเดียว นักเรียนของเธอราว 6-7 คนเดินมาเรียนพร้อมโซ่ตรวนล่ามขาสองข้าง  ด้วยกฎของการเป็นนักโทษประหารในขณะนั้น คือต้องมีโซ่ตรวนติดกาย 24 ชั่วโมง บางคนอยู่ในโซ่ตรวนนานหลายปี  กว่าจะได้ถอดตรวนก็ต่อเมื่อลงจากแดนประหารเหลือโทษตลอดชีวิต

ภายหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร สั่งปลดโซ่ตรวนนักโทษประหาร หลายคนบอกเธอว่าแรกๆ ที่ถอดตรวนออก ก้าวขาแทบไม่เป็น เพราะไม่ชิน บางครั้งเดินเซจนเกือบล้ม

นักโทษคดีอุกฉกรรจ์จำนวนมาก เรียกเธอว่าครู เคารพและรักเธอจากใจจริง เพราะในฐานะครู เธอมีความหวังในตัวลูกศิษย์เสมอ และเช่นเดียวกับครูที่ดีทุกคน เธอจะเตือนสติลูกศิษย์เสมอว่า พวกเขาต้องมาเจอเธอในคอร์สเรียนสุดเอ็กซ์คลูซีฟนี้เพราะอะไร

การเรียนการสอนของอรสม

การเรียนการสอนของอรสม ภาพ l โครงการกำลังใจ

“เราจะพูดกับลูกศิษย์เสมอว่า ไม่ต้องขอให้สังคมให้โอกาสอย่างเดียว คุณต้องให้โอกาสตัวเองด้วยการทำสิ่งดีๆ ด้วย ไม่ใช่หวังให้สังคมเข้าใจ แต่ไม่เคยเข้าใจสังคม คุณอาจนอนแออัดยัดเยียด กับข้าวจะกินได้หรือไม่ได้ แต่ประชาชนคนไทยทำงานแล้วเสียภาษีให้คุณได้มากินอยู่ในนี้ งบประมาณกรมราชฑัณฑ์ปีหนึ่งเป็นหมื่นล้าน อย่างน้อยขอให้นึกถึงคนที่เสียภาษีดูแลเรา”

อรสมเคยกล่าวกับลูกศิษย์ว่า “สิ่งที่คุณทำมาสร้างความบอบช้ำให้แก่สังคมไม่น้อย” เธอกล่าวว่าในแง่ของการรับผิด พวกเขาสมควรแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ก่อขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนการให้เหยื่อหรือญาติเหยื่อไม่จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเลยนั้น เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้

ตัวละครในสารคดีของศิลปินรางวัลศิลปาธร

 

นอกเหนือจากช่วงเวลา 8 ปีที่คลุกคลีกับคุก ซึ่งเป็นปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมด้วยหน้าที่ครู ในฐานะนักเขียนสารคดี อรสม สุทธิสาคร ผู้ได้รับรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2552 ยังรับรู้ความเป็นจริงของกระบวนการยุติธรรมผ่านผู้คนที่เธอค้นลึกไปในชีวิตมานับไม่ถ้วน เพื่อถ่ายทอดเป็นงานสารคดี ทั้งในประเด็น ทำแท้ง ข่มขืน มือปืน เพชฌฆาต ผู้หญิงบริการ อาชญากรเด็ก แม่ที่ทิ้งลูก ฯลฯ รวมทั้งชีวิตของนักโทษประหาร

นักโทษประหารหญิง

“เราควรให้ความรู้กับผู้คนในสังคม ว่ามีความเป็นจริงอะไรเกิดขึ้นบ้างในกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่ต้นทางคือพนักงานสอบสวน ตำรวจต้องรับผิดชอบคดีเยอะมาก ขั้นต่อมาคืออัยการและศาล ซึ่งเอาเข้าจริงๆ บางครั้งการพิพากษาก็ว่าตามกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น หรือสำนวนหลักฐานจากตำรวจ ซึ่งหากใครไม่มีทนายดีๆ ก็ลำบาก ทำอย่างไรจึงจะมีระบบเอื้อที่ให้ทุกฝ่ายทำงานได้เต็มความสามารถมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะนี่คือชีวิต คือความเป็นความตายของคน”

ในเส้นทางการทำสารคดี นักเขียนหญิงได้สัมภาษณ์มือสังหารมาหลายรูปแบบ ทั้งมือปืนรับจ้าง ฆาตกรทั้งที่พลั้งพลาดและตั้งใจ รวมถึงเพชฌฆาตหลายราย

“เรารู้สึกว่าต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย แต่เราไม่ใช่นักกฎหมายที่จะมาบอกว่าจะต้องปฏิรูปเช่นนั้นเช่นนี้ สิ่งที่น่าทำคือการให้ความรู้กับประชาชน ทุกวันนี้เท่าที่เรารู้มาก็มีการประหารผิดคน เสียชีวิตไปแล้วร่วมสิบราย สมัยที่ยังยิงเป้า เราเคยคุยกับเพชฌฆาตคนหนึ่งคือ ลุง ประถม เครือเพ่ง เพชฌฆาตบางขวาง ครั้งหนึ่งลุงต้องประหารนักโทษสามรายในคดีเดียวกัน ตอนเข้าหลักประหาร นักโทษทั้งสามคนพูดเหมือนกันว่าผมบริสุทธิ์ ผมไม่ได้ฆ่า โดยความรู้สึกส่วนตัว ลุงเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำจริง แต่แกก็ต้องทำไปโดยหน้าที่ ผ่านไปสักพักก็จับคนที่ทำผิดจริงได้ แต่สามคนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว ไม่สามารถคืนชีวิตมาได้อีกแล้ว”

อรสมทบทวนสิ่งที่เคยคุยกับเพชฌฆาตเรือนจำบางขวาง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 15 เมษายน พ.ศ. 2502 – 3 กรกฎาคม พ.ศ 2527 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่อรสมใช้เวลาสัมภาษณ์ยาวนานถึง 7 ชั่วโมง (กรณีศึกษาจากหนังสือ คุก ชีวิตในพันธนาการ)

การประหารชีวิตด้วยปืนในเรือนจำไทยสมัยก่อน จะมัดตัวนักโทษไว้หรือที่เรียกว่า ‘ล็อกเป้า’ และมีผ้ากั้นระหว่างนักโทษและเพชฌฆาต ภาพ ThaiBlog

“อีกรายคือเรื่องของเนตรน้อย (ไม่มีนามสกุล) เนตรน้อยเป็นชาวเขามาจากภาคเหนือ ที่มีฝันว่าอยากมาเห็นทะเลครั้งหนึ่งในชีวิต พอรู้ว่าเพื่อนจะลงมากรุงเทพฯ เนตรน้อยก็ขอนั่งรถมาด้วยเพราะอยากมาพัทยา เพื่อนทัดทานว่าอย่ามาเลย เพราะรู้ว่าตัวเองจะมาส่งยาบ้า แต่ทนเสียงรบเร้าไม่ไหว ยอมให้เนตรน้อยมาด้วย ระหว่างทางถูกจับ เพื่อนที่ทำจริงก็รับสารภาพ จึงได้ลดโทษจากประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต และได้ลดโทษลงมาเรื่อยๆ แต่เนตรน้อยไม่สารภาพ เพราะถือว่าตัวเองไม่ได้ทำ ต่อสู้คดีจนในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต เมื่อยื่นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษก็ไม่ผ่าน หลังจากนั้นเพื่อนที่ค้ายาจริงๆ เข้ามาอยู่บางขวาง แล้วยืนยันว่าเนตรน้อยไม่ได้ทำจริงๆ แต่เนตรน้อยก็ถูกประหารไปแล้ว (กรณีศึกษาจากหนังสือ เฟซคุก)

“ในความเป็นจริง สังคมไทยยังมีการประหารผิดคนอยู่หลายราย หรือแม้แต่คดีฆ่าข่มขืน ที่เป็นคดีโด่งดังมากคดีหนึ่ง เจ้าตัวตอนจะเข้าหลักประหาร พูดว่าตัวเองไม่ได้ทำ แล้วแช่งชักหักกระดูกสารพัด พอถึงวันหนึ่งปรากฏว่าเขาไม่ได้ทำจริง เพราะคนทำจริงๆ เป็นเณรที่อยู่ในวัด แต่เขาถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว เขามีประวัติเสพกัญชา มีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย เครดิตทางสังคมเขาไม่มี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาก่อคดีนี้ เขาคือผู้บริสุทธิ์ หากคนในครอบครัวของเราถูกประหารทั้งที่บริสุทธิ เราจะรู้สึกอย่างไร” อรสมกล่าว (กรณีศึกษาจากหนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักประหาร)

“หลายๆ กรณีที่บอกเล่าเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ เพราะฉะนั้นการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร สาระสำหรับเราอาจไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่อยู่ที่ว่าเรามีกระบวนการกลั่นกรองที่แม่นยำหรือถูกต้องแค่ไหน และเราควรมีการทบทวน ให้ความรู้ว่าสังคมไทยยังมีการประหารผิดคน ไม่ใช่เพื่อให้คนในสังคมเอนเอียง แต่เพื่อให้เขาเข้าใจว่ามันยังมีเรื่องราวอย่างนี้อยู่ รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายซึ่งขาดการเหลียวแลมานานไปพร้อมๆ กัน”

โมเดลที่ยั่งยืนของนักเขียนผู้ไม่เคยผ่านคอร์สสตาร์ทอัพ

จากปีแรกๆ ที่นักเขียนสารคดีผู้นี้เข้าไปสอนทักษะการเขียนเรื่องเล่าในบางขวาง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษได้ผ่องถ่ายเรื่องราวทบทวนความผิดพลาดในอดีต ออกมาเป็นหนังสือหลายต่อหลายเล่มระหว่างอยู่ในแดนประหาร  ช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ อรสมเริ่มคิดไกลไปถึงช่วงที่พวกเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบางขวางแล้วกลับสู่สังคมอีกครั้ง

เมื่อถามเธอว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้นักโทษกลับไปสู่สังคมแล้วไม่หวนกลับมาก่ออาชญากรรมอีก อรสมตอบว่า “หนึ่ง เขาต้องมองเห็นคุณค่าในตัวเอง คนเราถ้ามองเห็นคุณค่าในชีวิตตัวเอง ก็จะมองเห็นความหมายคุณค่าในชีวิตผู้อื่นด้วย สอง มีเพื่อนหรือคนในครอบครัว คนใกล้ชิดที่เขาสามารถบอกเล่าปัญหาข้อทุกข์ร้อนให้ฟังได้ บนพื้นฐานของมิตรภาพและความไว้วางใจ สาม มีต้นทุนสักเล็กน้อยหรือมีอาชีพการงานให้เขาพอเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้”

นอกจากความอบอุ่นใจที่อรสมมีให้ลูกศิษย์ เธอยังริเริ่มโครงการ ‘ปั้นดินให้เป็นบุญ’  โดยเชิญประติมากรผู้มีความสามารถเข้าไปสอนนักโทษประหารปั้นพระพุทธรูป เพื่อหวังให้กระบวนการพุทธศิลป์ช่วยเยียวยาจิตใจนักเรียนให้พบความสงบใจและมีสมาธิ สำหรับผลงานที่ออกมานั้น หลายคนที่ได้เห็นพระพุทธรูปจากบางขวาง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม พระพักตร์สงบเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ

พระพุทธรูปฝีมือนักโทษประหารบางขวาง

พระพุทธรูปฝีมือนักโทษประหารบางขวาง ภาพ l ปั้นดินให้เป็นบุญ

“กิจกรรมดีๆ ควรเริ่มตั้งแต่ตอนที่เขายังอยู่ข้างใน ทำอย่างต่อเนื่อง เราดูแลกันต่อเนื่อง แล้วค่อยๆ ขยายฐานนักเรียนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ” อรสมกล่าว

จากโครงการปั้นพระพุทธรูปค่อยๆ ต่อยอดเป็น ‘กองทุนปั้นดินให้เป็นบุญ’ เมื่อเหล่าลูกศิษย์ฝีมือเข้าที่แล้ว อรสมได้สร้างโมเดลเพื่อช่วยให้นักโทษประหารกลับสู่สังคมอย่างมีความพร้อมพอสมควรทั้งทางใจและกาย โดยเปิดจองการเป็นเจ้าภาพสั่งหล่อพระพุทธรูป เพื่อนำไปถวายวัดหรือมอบตามโรงพยาบาลรัฐต่างๆ รายได้ที่เจ้าภาพมอบให้ หลังหักค่าใช้จ่ายของโรงหล่อ จะนำเข้าสู่กองทุนปั้นดินฯ ให้ลูกศิษย์ที่พ้นโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ โมเดลเล็กๆ ที่อรสมใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดขึ้นนี้ มีแนวโน้มว่าจะเป็นโมเดลที่ยั่งยืน

“เมื่อลูกศิษย์พ้นโทษออกมา จะได้เงินทุนคนละ 10,000 บาท เราเรียกว่าเงินทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่ และยังสามารถกู้เงินจากกองทุนได้อีกคนละ 20,000 บาทเพื่อประกอบอาชีพ เดือนที่สามค่อยผ่อนใช้กองทุนเดือนละ 500 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ตอนนี้ลูกศิษย์พ้นโทษได้ร่วม 20 คนแล้ว กองทุนจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 200,000 บาท เราดูแลในลักษณะนี้ มีสุขมีทุกข์อะไรก็มาพูดคุยมาปรึกษาครูได้เสมอ”

ทุกวันนี้เวลาเกินครึ่งของอรสมใช้ไปกับการดูแลกองทุน ซึ่งปีหนึ่งๆ มีเจ้าภาพสั่งหล่อพระประมาณ 250 องค์ เมื่อถามว่าหลังเป็นหลักพิงให้ลูกศิษย์อย่างเป็นระบบและครบถ้วนอย่างนี้แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นในตัวลูกศิษย์บ้าง ครูของห้องเรียนหลังกำแพงที่มีลวดไฟฟ้าแรงสูงรายรอบกล่าวว่าผลลัพธ์นี้จะเห็นชัดเจน ไม่ใช่ในเรือนจำ แต่เห็นเมื่อพวกเขาพ้นโทษออกไปแล้ว

“มีหลายคนไม่คิดกลับไปก่ออาชญากรรมอีกแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเข็ดระวางโทษที่สูง แม้จะได้รับอภัยโทษบ้าง แต่อย่างน้อยก็ต้องติดคุกราว 14-20 ปี  บางครั้งคนเราอาจทำผิดพลาดไป แต่ไม่ควรทำผิดซ้ำอีกแล้ว ลูกศิษย์ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเรื่องจิตใจ  เขาเปลี่ยนไปจริงๆ บางคนน่าปลื้มใจ แต่แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่ลูกศิษย์ทั้งร้อยคนจะดีวิเศษทั้งร้อยคน มีบ้างที่อาจดูไม่น่ารัก ถึงที่สุด เขาก็เป็นอย่างที่เขาเป็น แต่แค่เขาไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก ทำมาหากินพอเลี้ยงดูตนเองหรือครอบครัวได้ แค่นี้เราก็พอใจแล้ว”

เยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรม เฉลี่ยทุกข์ที่สังคมร่วมก่อ

“สิ่งหนึ่งที่กองทุนปั้นดินให้เป็นบุญจะทำต่อไป น่าจะเริ่มได้สักปีหน้า เราจะทำเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรม ซึ่งอาจนำร่องทำสัก 2-3 รายก่อน ด้วยการดูแลทางด้านเศรษฐกิจ ให้ทุนการศึกษาลูกจนจบ หรือช่วยดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า และเยี่ยมเยียนดูแลเรื่องจิตใจอย่างสม่ำเสมอ ให้เขารู้สึกไม่ว้าเหว่วังเวงหรือถูกทอดทิ้ง

“ผู้เสียหายอาจเสียชีวิตไป แต่พ่อแม่ ลูกเมีย คือครอบครัวที่ยังอยู่ข้างหลังที่ยังเหลืออยู่ ควรได้รับการดูแล สังคมไทยแทบจะไม่มีกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายกลุ่มนี้เลย หรือมีก็เข้าถึงยาก  สมมติผู้หญิงถูกข่มขืน สามีถูกฆ่า แล้วสังคมก็ปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตไปตามลำพัง ทั้งที่เขาบริสุทธิ์ บางทีลูกเต้าแตกกระสานซ่านเซ็น เด็กเรียนไม่จบเป็นปัญหาสังคม เราน่าจะมีการเยียวยา ซึ่งไม่ควรเยียวยาด้วยเงินอย่างเดียว แต่มีกระบวนการที่จะเข้าไปให้ความอบอุ่น ดูแลเขาทางด้านจิตใจ หรือทางการเงินถ้าหากเขาเดือดร้อนลำบากด้วย ลูกของผู้เสียหายควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร สามารถเรียนจบมีอนาคตที่ดูแลตนเองได้ ไม่ใช่กลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป ซึ่งมันจะน่าเศร้าใจมาก”

อรสมกล่าวถึงก้าวต่อไปของกองทุนปั้นดินให้เป็นบุญ ไม่ต่างจากโทชิ เธอคิดว่าผู้เสียหายและญาติจำเป็นต้องได้รับสิ่งที่ดีมากกว่าแค่การลงโทษผู้กระทำผิด นอกจากนี้เธอยังคิดไปอีกขั้น นั่นคือการนำนักเรียนของเธอที่พ้นโทษแล้วเข้าสู่กระบวนการร่วมเยียวยานี้ด้วย

“ลูกศิษย์ของเราและผู้เสียหายจะได้เรียนรู้การให้อภัยซึ่งกันและกัน เขาควรมีส่วนดูแลผู้เสียหาย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ความเห็นใจ ความเมตตา ความรัก ความปรารถนาดี ความเป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกันได้ทำงาน นี่เป็นสิ่งที่กองทุนปั้นดินให้เป็นบุญตั้งใจจะทำ เราเป็นกองทุนเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรยิ่งใหญ่มากมายมหาศาลได้ แต่ด้วยงบที่มีอยู่ เราพอจะเริ่มต้นงานใหม่ได้สองเรื่องในปีหน้า คือการเยียวยาผู้เสียหายและการป้องกันการเกิดอาชญากรรม โดยให้ลูกศิษย์บางขวางที่พ้นโทษแล้วไปพูดตามสถาบันการศึกษา ซึ่งทำควบคู่ไปกับงานที่ทำอยู่แล้ว คือการดูแลลูกศิษย์และให้พวกเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังของเรา

“สำหรับเรา ความคิดเราเลยจุดที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหารไปแล้ว ทัศนะเรื่องนี้ไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับเราแล้ว ทั้งเสียงคัดค้านและเสียงเห็นด้วยเป็นเสียงที่ควรรับฟัง เราขอทำสิ่งที่เราเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับสังคมในวงเล็กๆ เท่าที่ทำได้ เราก็พอใจแล้ว” อรสมกล่าว

ก่อนจบการสนทนาในวันนั้น  ครูของลูกศิษย์บางขวางบอกเล่าถึงฉากสุดท้ายของนักโทษประหารรายล่าสุดที่ได้รับรู้มา ผู้ต้องโทษประหารด้วยคดีฆ่าชิงทรัพย์ แทงผู้ตายถึง 20 กว่าแผล เขาก้าวสู่ความตายด้วยการถูกฉีดสารพิษเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปีนี้ หลังจากเมืองไทยเว้นโทษประหารมาราว 9 ปี

“มีคนพูดกันมากว่า คนที่หนีไปและยังจับไม่ได้คือคนฆ่าตัวจริง แต่เราไม่รู้หรอกว่าความจริงคืออะไร รู้แต่ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาขอทำละหมาดสุดท้าย หลังทำละหมาดเสร็จด้วยความนิ่งสงบไม่กี่นาที ชีวิตเขาก็จบสิ้นลงไปบนเตียงเดียวกันกับที่ได้สวดสรรเสริญอัลเลาะห์ สิ่งเหล่านี้บอกอะไรแก่เราบ้าง

“เรารู้สึกว่าชีวิตมนุษย์ช่างเปราะบางนัก และเราทุกคนต่างต้องการที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งพิงเมื่อลมหายใจสุดท้ายมาถึง หลายคนนึกถึงความดีงาม และอยากไปให้ถึงสิ่งนั้น”

ภาพ l ชลธร วงศ์รัศมี

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save