fbpx
Open Data-AI เพิ่มอำนาจประชาชน เปิดช่องตรวจสอบด้วยข้อมูล

Open Data-AI เพิ่มอำนาจประชาชน เปิดช่องตรวจสอบด้วยข้อมูล

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

ปัญหาเรื่องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่พูดกันมายาวนาน หลากปัญหาหลายทางออก แต่ยังไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

แนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึงมากคือการเพิ่มอำนาจการตรวจสอบจากประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเอื้อให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบการทำงานของภาคส่วนต่างๆ เป็นไปโดยง่ายยิ่งขึ้น

ทิศทางที่หลายประเทศในโลกกำลังมุ่งไปคือการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล (Open Data) ซึ่งจะทำให้ภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะต้องทำงานอย่างโปร่งใส เมื่อคนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะได้ โดยข้อมูลนั้นต้องสามารถนำไปประมวลผลได้ผ่านเครื่องมืออย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ เชื่อมโยง และประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ให้ผู้ใช้นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ

แนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเดินไปควบคู่กับเรื่องรัฐบาลเปิด (Open Government) ที่รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลที่เก็บไว้ โดยต้องแสดงความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาตรวจสอบได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะสมบูรณ์ขึ้นเมื่อนำไปประกอบกับข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครกู้ภัย โรงพยาบาลชุมชน ตำรวจในพื้นที่หรือกระทั่งภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Change Fusion และ ภาคีเครือข่าย ได้จัดงาน Technology for Justice ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘Open Data และ AI เพื่อความยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม’ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Project J : jX Justice Experiment เพื่อชวนนักคิดและนักทำในวงการต่างๆ มาระดมสมองหาโอกาส ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยี Open Data และ AI มาแก้ปัญหาความยุติธรรมในสังคมไทย ด้วยแนวคิดว่า ‘ไอเดียใหม่แก้ปัญหาเก่า’

 

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ระบบยุติธรรมดีขึ้นได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐ

 

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว 2 เรื่อง 1. วิธีคิดของคนทั้งในระบบยุติธรรมและคนที่เกี่ยวข้อง 2. ระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ เนื่องจากระบบยุติธรรมทำงานภายใต้ระบบธรรมาภิบาลและระบบการเมือง เมื่อประเทศขาดธรรมาภิบาล ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองทุจริตและบริหารประเทศอย่างไม่โปร่งใส ระบบยุติธรรมก็มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจ ดังนั้นการปฏิรูประบบยุติธรรมที่ได้ผลจึงต้องเริ่มที่การปฏิรูประบบธรรมาภิบาลของประเทศ ที่สำคัญคือต้องไม่รอภาครัฐอย่างเดียวแต่ต้องดูว่าประชาชนทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลเช่นนี้

ในแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาชนต้องเข้าไปตรวจสอบการใช้ภาษีในการบริหารราชการอย่างเหมาะสม จึงต้องเปิดประตูให้คนเข้าไปดูการทำงานของภาครัฐได้ ซึ่งตนคิดว่าเป็นไปได้

“หลายปีก่อนผมได้รับเชิญโดยรัฐบาลอเมริกันไปดูงาน หลัง บารัค โอบามา แก้กฎหมายประกาศว่าข้อมูลภาครัฐต้องเป็น Open Data ที่ประมวลผลได้ จุดเปลี่ยนสำคัญคือถ้าทำให้ข้อมูลสาธารณะถูกเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้นเฉพาะเมื่อกระทบความมั่นคงหรือมีเหตุผลเพียงพอ กลับมาประเทศไทย ตอนนั้นหลายคนบอกว่าคงไม่สำเร็จเพราะยาก แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนเพราะเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก จะทำให้เป็นไปได้”

กิตติพงษ์ ขยายความต่อว่า ถ้าให้ดุลพินิจการตรวจสอบภาครัฐอยู่ในมือของคนไม่กี่คน แม้มีกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ แต่เครือข่ายผ่านโซเชียลมีเดียและการรวมตัวกันของพลเมืองจะทำให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐ ข้อมูลที่เปิดเผยเข้าถึงได้โดยประชาชนจะสร้างความโปร่งใส นำไปสู่การรับผิดของคนที่ไม่โปร่งใสหรือมีปัญหาคอร์รัปชันได้

สุนิตย์ เชรษฐา-ม.ล.ทยา กิติยากร -ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
สุนิตย์ เชรษฐา-ม.ล.ทยา กิติยากร -ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

Open Data – AI เครื่องมือเปิดช่องตรวจสอบ

 

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion อธิบายว่า Open Data คือข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ใช้งาน และเผยแพร่ต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยมีองค์ประกอบคือ

1.ข้อมูลต้องมีอยู่และต้องเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยสะดวก

2.ข้อมูลต้องอยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้ เพื่อนำข้อมูลไปแปลงผลได้

3.ข้อมูลต้องถูกเผยแพร่ในเงื่อนไขที่อนุญาตให้นำไปใช้ เผยแพร่ต่อ และดัดแปลงข้อมูลได้ เช่น การนำไปผสมกับฐานข้อมูลอื่นเพื่อให้การตีความข้อมูลมีความหมายและมีประโยชน์มากขึ้น

Open Data นำไปสู่เรื่อง รัฐบาลเปิด (Open Government) คือประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสารและกระบวนการต่างๆ ของรัฐ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ส่วนปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นวิธีวิเคราะห์ข้อมูลโดยให้โปรแกรมเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่แล้วหารูปแบบ (Pattern) เพื่อนำมาสู่การตัดสินใจและข้อแนะนำ โดยทั้งกระบวนการให้มนุษย์ยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุด เหมาะกับสถานการณ์ที่มีข้อมูลจำนวนมาก โดยสูตร (Algorithm) จะสามารถวิเคราะห์และประมวลข้อมูลได้ดีกว่ามนุษย์ หลายกรณีพบว่ามีความแม่นยำสูงกว่ามนุษย์

สุนิตย์แนะว่ามีเทรนด์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเรื่องการพัฒนาความยุติธรรม ดังนี้

1.ประชาธิปไตยแบบดิจิทัลเชื่อมโยงกับเรื่องรัฐเปิด (Digital Democracy–Open Government) เป็นกระแสทั่วโลกเมื่อมองว่ากระบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การโหวตครั้งเดียว แต่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมดกับรัฐบาล กำหนดนโยบายและเสนอความเห็นต่อเรื่องต่างๆ โดยมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อเสนอประชาชน ตั้งแต่ออกกฎหมาย ติดตามตรวจสอบ

2.ความโปร่งใสที่จัดการได้โดยกึ่งอัตโนมัติ (Smart Transparency/Open Access) เช่น โครงการท่าอากาศยานในตุรกีมีการทำแผนภาพเป็น Open Data ว่าบริษัทใดได้สัมปทาน ใครเป็นบอร์ด คลิกเข้าไปดูความเชื่อมโยงได้ว่าคนไหนทำอะไรที่ใดบ้าง เมื่อคอมพิวเตอร์ทำแผนภาพออกมาทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจแพทเทิร์นได้ง่ายขึ้น

3.การทำนายเพื่อการจัดการ (Predictive Management) เช่นการใช้ข้อมูลอาชญากรรมว่าเกิดบ่อยครั้งเพียงใด เวลาใด พื้นที่ใด แล้วจัดกำลังตำรวจและอาสาสมัครในพื้นที่ให้สอดคล้องจนลดอาชญากรรมได้ หรือในอเมริกามีโปรแกรมR.A.S.H. วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อทำนายการเกิดอุบัติเหตุล่วงหน้าเชื่อมกับกูเกิลแมพ จนลดอุบัติเหตุได้เฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์

4.การใช้ภาษาธรรมชาติในการเชื่อมกับเทคโนโลยี (Natural Language Interface) ทำให้คนกับเทคโนโลยีเชื่อมได้ง่ายขึ้น โยงกับความรู้สึกไม่ยุติธรรมของคน เช่น DoNotPay Bot แก้ปัญหาการเก็บค่าปรับการจอดรถที่ไม่เป็นธรรมเพราะระบบผิดพลาด โดยใส่หลักฐานแล้วระบบ AI ใช้อัลกอริทึมจัดการคืนเงินให้ ขยายไปถึงเรื่องการคืนค่าตั๋วเครื่องบิน

แผนภาพจากโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานในตุรกี
แผนภาพจากโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานในตุรกี

ทิศทางโลก ให้ประชาชนร่วมบริหารประเทศ

 

ตัวอย่างสำคัญในต่างประเทศที่ สุนิตย์ ยกขึ้นมาคือประเทศไต้หวัน จากการทำเว็บไซต์ vTaiwan.tw ที่เพิ่งเริ่มเมื่อปี 2014 เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะจากประชาชน กรณีที่ประสบความสำเร็จ เช่นเรื่อง ‘UBER’ ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เห็นจุดร่วมกันระดับหนึ่งว่าควรมีมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการตรวจสอบ จึงนำเรื่องเข้าสู่ระดับนโยบาย อีกกรณีคือเรื่อง ‘ขายแอลกอฮอล์ออนไลน์’ ที่คนถกเถียงกันมาก แต่พอเมื่อนำเรื่องเข้าระบบก็หาจุดร่วมได้

สุนิตย์ เผยว่า ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการเสนอโครงการจากภาคประชาชน มีการโหวตแล้วเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันคิด จากนั้นจึงเลือกและนำมาใช้จริง เช่นที่ โซล มาดริด ปารีส โดยในมาดริด รัฐบาลเมืองประกาศให้เงินโครงการละร้อยล้านยูโร คัดเลือกโครงการที่ประชาชนเสนอมา แล้วให้คนโหวต นำไปสู่การพัฒนานโยบายและทำจริง จนสำเร็จจึงขยายโครงการต่อไป

“ที่ไอซ์แลนด์ หลังจากประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะกรรมการเอาร่างต่างๆ ขึ้นออนไลน์ทั้งหมด โดยมีเครือข่ายนักกิจกรรมเข้ามาเสนอความเห็นและปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งเน้นการใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ปรากฏว่า 2 ใน 3 ของประชาชนไอซ์แลนด์เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการทำประชามติ” สุนิตย์กล่าว

ด้าน ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้ง Hand Social Enterprise และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าประสบการณ์จากการร่วมงานเรื่อง open government ที่เกาหลีใต้ พบตัวอย่างจากอาร์เมเนียที่ใช้แพลตฟอร์ม ‘Development Check’ ไปตรวจสอบการสร้างโรงเรียน เพราะเป็นจุดที่ประชาชนจะสนใจร่วมแก้ปัญหา โดยให้คนที่มีเวลาว่างระหว่างวันคือ ‘แม่บ้าน’ เข้าไปเยี่ยมชมการก่อสร้างโรงเรียนในชุมชน แม้ไม่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมหรือกฎหมาย โดยจะมีแนวทางการตรวจสอบโรงเรียนที่ประชาชนส่งมาให้ เช่น โรงเรียนสั่งเก้าอี้มาครบหรือไม่  โดยโครงการนี้ทำสำเร็จไปแล้ว 8 โรงเรียน

“จะเห็นว่าเทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่เป็นพื้นที่เปิดให้คนกลุ่มที่ไม่มีความรู้เข้ามามีส่วนร่วมได้ ผู้หญิงกลุ่มนี้ ที่ตอนแรกไม่รู้สึกว่าตัวเองจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ กลับทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าและเริ่มทำงานด้านอื่น จึงเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าไทยมีโอกาสมาก ไม่จำเป็นต้องมีนักเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่ต้องดึงเข้ามาใกล้ประชาชนให้มากขึ้น”

อุบัติเหตุ-คอร์รัปชันไทย บรรเทาได้ถ้าเปิดเผยข้อมูล

มองกลับมากรณีในประเทศไทย ม.ล.ทยา กิติยากร นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่ามีความสนใจเรื่องข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนจากการที่เพื่อนเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กลายเป็นข่าวดัง และพบว่าหากมีข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอและถูกนำไปประมวลผลเพื่อใช้จริง จะสามารถป้องกันหรือลดอุบัติเหตุได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติพบว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกจากจำนวนผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุบนถนนต่อจำนวนประชากร จำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2558 เทียบเท่าเครื่องบินตก 33 ลำ ม.ล.ทยา พบว่าข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนที่ดีที่สุดได้มาจากเว็บไซต์ ThaiRSC ที่บริษัทประกันภัยเป็นผู้รวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนราว 70-80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่พยายามเก็บข้อมูลเช่นกัน เช่น ตำรวจ กรมทางหลวง กระทรวงสาธารณสุข

“สหรัฐฯ เคยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนต่อปีสูงถึง 29 ต่อ 100,000 คน แต่ค่อยๆ ปรับจนเหลือราว 10 ต่อ 100,000 คน ยุโรปก็ปรับจาก 7 ต่อ 100,000 คน จนเหลือ 4 ต่อ 100,000 คน ขณะที่ไทยยังอยู่ที่ 36.2 ต่อ 100,000 คน ผมคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่คนทำและแก้ไขได้ เป็นปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมาย มีผลกระทบทำให้เกิดการเสียชีวิต-พิการ มีผลกระทบต่อคนบางกลุ่ม เช่นคนอายุน้อยที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนมากและคนรายได้น้อยที่ใช้จักรยานยนต์”

“เราสามารถแก้ปัญหาในจุดที่มีอุบัติเหตุบ่อยได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากๆ อาจปรับถนนหรือระบบจราจรเพื่อป้องกันการเสียชีวิต ที่ผ่านมาก็มีหลายองค์กรร่วมกันแก้ไขถนนที่เป็นจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ บางจังหวัดแก้ไขแล้วคนบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง แม้บางพื้นที่ไม่เห็นผลชัดเจนแต่ถ้ามีเครื่องมือเช่น กูเกิลแมพ ที่บอกว่าจุดนี้ต้องระวังหรือใช้ความเร็วมากไป และอาจมีตำรวจช่วยจัดการจราจร มีอาสาสมัครหรือรถพยาบาลไปรอที่จุดเสี่ยง ทำให้ชนแล้วไม่เสียชีวิต เมื่อมีการทำนายที่แม่นยำก็ทำอะไรได้หลายอย่าง” ม.ล.ทยา กล่าว

ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนเชื่อมโยงกับแผนที่ จากเว็บไซต์ ThaiRSC
ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนเชื่อมโยงกับแผนที่ จากเว็บไซต์ ThaiRSC
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

อีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ใช้ข้อมูลในการตรวจสอบภาครัฐ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ที่มีประสบการณ์การทำข่าวสืบสวนโดยตามสืบค้นข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือบางหน่วยงานไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งแม้ในอนาคตจะมี AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าภาครัฐไม่บันทึกฐานข้อมูลก็เชื่อมโยงไม่ได้ ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องวิธีคิดที่มีอำนาจและผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง รวมถึงนโยบายในการส่งเสริมประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางอินเทอร์เน็ต

ประสงค์ เสนอว่ามีข้อมูลพื้นฐาน 4 เรื่องที่ภาครัฐควรเปิดเผยก่อน

1.การจัดซื้อจัดจ้าง เปิดเผยข้อมูลกรมบัญชีกลาง ทำเรื่องการยื่นประมูลจากเอกชนให้ง่ายและเปิดเผย

2.การเบิกจ่ายงบประมาณควรทำแบบเรียลไทม์ เมื่อมีงบประมาณลงมาแต่ยังไม่มีการก่อสร้าง ประชาชนจะได้ตรวจสอบและร้องเรียนได้

3.ภาษี โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน ที่ผ่านมาใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษี

4.ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม สามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าแต่ละคดีที่แจ้งความกับตำรวจแล้วคดีไปถึงไหน โดยเฉพาะคดีสำคัญ จะทำให้คดีไม่เงียบหายไป

กล้า ตั้งสุวรรณ
กล้า ตั้งสุวรรณ

โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มที่คนพร้อมมีส่วนร่วม

 

“ประชาชนพูดเรื่องความยุติธรรมกันมาก เขามีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่เราเข้าไปรับฟังในแพลตฟอร์มที่เขาไว้ใจอยู่แล้วหรือไม่”

กล้า ตั้งสุวรรณ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด เผยว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้เข้าไปดูในโซเชียลมีเดียว่าสังคมไทยมีการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมอย่างไรบ้าง พบว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ขุดคุ้ย ช่วยกระพือเรื่องที่คนรู้สึกเจ็บแค้น รวมพลังให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่

เรื่องความยุติธรรมจะถูกพูดถึงมากบนโซเชียลมีเดีย พร้อมกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นข่าว เช่น 18 ต.ค. คดีค้ามนุษย์ แก๊งนกฮูกน้ำเพียงดิน 27 ต.ค. ประเทศกูมี-ผีน้อยเข้าเมืองผิดกฎหมาย 7 พ.ย. คดีโกงข้าวหมื่นกล่อง-มือปืนป๊อปคอร์น 14 พ.ย. เด็ก 13ปีชกมวยตาย-เพลง ‘ต้องมีคนชดใช้’

เมื่อค้นคำว่า ‘ความยุติธรรม’ แล้วทำ word clouds จะพบว่ามีคำที่ถูกพูดถึงคู่กัน คือ โกง ประเทศ กฎหมาย ส่วน hashtag clouds จะพบคำว่า #ประเทศกูมี และ #เลือดข้นคนจาง ซึ่งเป็นละครเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและคนพูดถึงกระบวนการยุติธรรมมากในวันที่ฉายเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจและศาล

“ประเทศไทยอาจไม่ได้พัฒนาเรื่องเทคโนโลยีมาก แต่เรื่องโซเชียลมีเดียเราไม่แพ้ใคร ถ้าจัดการข้อมูลจะทำให้ฟังเสียงประชาชนได้ดีขึ้น เชื่อว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียเป็นสื่อสาธารณะที่ไว้รับฟังแล้วปรับปรุง อาจเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญ แต่ข้อมูลอยู่ในนั้นแล้ว เขาส่งเสียงอยู่แล้ว พอเราฟังเขาจะกล้าพูด”

อย่างไรดี กล้า ยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม แต่ก็เป็นการรับฟังความเห็นอย่างรวดเร็วที่จะทำให้คนทำงานระดับนโยบายรับฟังประเด็นได้ดีขึ้น

word clouds และ hashtag clouds จากการค้นหาเรื่องความยุติธรรม ช่วง 15 ส.ค.-14 พ.ย. โดย บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด
word clouds และ hashtag clouds จากการค้นหาเรื่องความยุติธรรม ช่วง 15 ส.ค.-14 พ.ย. โดย บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด

ด้านมืดเทคโนโลยีที่ไม่ควรประมาท

แม้ Open Data และ AI จะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสาธารณะที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแง่ลบ สุนิตย์ชี้ให้เห็นว่ามีมุมมืด เช่น ระบบ China’s Social Credit Scoring ของจีน ที่ทำให้ข้อมูลของประชาชนทุกคนอยู่บนระบบและมีการให้คะแนนโซเชียลที่ถูกตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายความเป็นส่วนตัว หรือกรณีเคมบริดจ์อนาไลติกา ที่ดึงข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์ช่วงเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา แล้วยิง fake news จนมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน ทำให้เกิดผลที่ไม่ควรเป็น

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล นักเขียนผู้แปลหนังสือ บิ๊กดาต้ามหาประลัย เขียนโดย Cathy O’Neil เผยว่าแม้ซิลิคอนวัลเลย์จะมองบิ๊กดาต้าเป็นเรื่องสุดยอด แต่หนังสือเล่มนี้ฉายให้เห็นพิษภัยของบิ๊กดาต้าหลายข้อ ที่ไทยก็ควรตระหนักเช่นกัน

1.Black Box Big Data และ AI เหมือนกล่องที่ใส่ข้อมูลเข้าไปด้านหนึ่งแล้วข้อมูลออกมาอีกด้าน โดยไม่รู้ว่าใช้วิธีคิดอย่างไร จะมีปัญหาในระบบที่ซับซ้อน เช่น เฟซบุ๊กที่วิศวกรเองก็ไม่รู้ว่าทำไมข้อมูลออกมาแบบนี้ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นหากเป็นคำตอบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนา AI ที่แสดงวิธีทำออกมาได้

2.วิธีการคิดคะแนนที่ผิด AI มาพร้อมวิธีการคิดบางอย่างเสมอ เช่น สหรัฐมีระบบประเมินครูที่หากนักเรียนในชั้นมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ครูจะได้คะแนนดีด้วย แต่เมื่อคนเรียนไม่เก่งเพิ่ม คะแนนขึ้นง่าย แต่คนเรียนดีอยู่แล้ว ทำคะแนนเพิ่มไม่ได้ ทำให้คะแนนไม่ถูกต้องครูหลายร้อยคนถูกไล่ออก กระทั่งเป็นคดีความฟ้องร้อง จากการที่คนคิดระบบเอาสูตรที่ผิดไปใส่ AI

3.ข้อมูล Proxy เมื่อ AI หรือ Big Data ไม่ได้ให้เหตุผล แต่ให้ความสัมพันธ์เชิงข้อมูลว่าเมื่อเกิดสิ่งนี้บ่อยครั้ง คำตอบจึงต้องเป็นแบบนี้ ทำให้มีปัญหา เช่น ระบบยุติธรรมในต่างประเทศที่มีการประเมินอัตราการกระทำผิดซ้ำ หากจำเลยมีโอกาสกระทำผิดซ้ำมากก็อาจถูกลงโทษสูงขึ้น เช่น สถิติพบว่าคนผิวดำในย่านบรองซ์มักทำผิดซ้ำบ่อย และจำเลยเป็นคนผิวดำในย่านบรองซ์จึงต้องถูกลงโทษหนัก ทำให้ระบบนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะข้อมูลเชิงสถิติสามารถใช้ในระดับนโยบายได้แต่ไม่ควรใช้ตัดสินปัจเจก

4.AI ฉลาด แต่ที่ฉลาดแกมโกงกว่าคือคน เมื่อรู้ว่าระบบจัดการอย่างไร ก็ไปโกงระบบ เช่นระบบจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ U.S. News ที่ให้คะแนนจากปัจจัยหลายอย่าง เช่นมีงานวิจัยที่มีคนนำไปอ้างอิงจำนวนมาก มหาวิทยาลัยบางแห่งจึงจ้างนักวิจัยที่มีคนอ้างอิงมากให้มาทำงานที่มหาวิทยาลัย 2 สัปดาห์ทำให้อันดับมหาวิทยาลัยสูงขึ้น

5.Feedback Loop เมื่อระบบ AI ใช้ลำดับก่อนหน้ามาตัดสินลำดับต่อไป เช่น ระบบ U.S. News ที่ตัวแปรชื่อเสียงมหาวิทยาลัยปีนี้จะถูกใช้ในลำดับปีต่อไป จะยิ่งถ่างอันดับมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนสูงให้ดีขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยที่คะแนนต่ำจะได้คะแนนต่ำลง

6.การทำงานเพื่อรับใช้อัลกอริทึม เช่นการใช้ AI อ่านใบสมัครงาน จนเกิดคอร์สสอนเขียนใบสมัครงานเพื่อให้ AI อ่านแล้วประทับใจ

7.การเชื่อใจ Big Data มากเกินไป แม้ Big Data มีประโยชน์แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่คนต้องไปเติมเอง

“เมื่อก่อนวิศวกรทำงานเพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหา แต่เป็นคำตอบในห้องแล็บที่ต้องคิดถึงสภาพแวดล้อมภายนอกให้มากขึ้น เช่น โซเชียลมีเดียที่มีผลกับคนจำนวนมาก ผู้ออกแบบซอฟต์แวร์จึงควรมีความรู้เรื่องสังคมมากขึ้น” ทีปกรกล่าว

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

Open Data และ AI เป็นเครื่องมือที่เริ่มมีการใช้ในสังคมไทยและจะมีการใช้มากขึ้นจากทิศทางโลกที่กำลังมุ่งหน้าไป แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของภาครัฐ ด้วยการตรวจสอบจากประชาชนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยุติธรรมด้านต่างๆ จำเป็นต้องได้ข้อมูลจากหลายภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเอง และต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลการทำงานที่ไม่โปร่งใสจะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save