fbpx

ตามแนวคิด-ต่อทฤษฎี จากงานการต่างประเทศไทยของพีระ เจริญวัฒนนุกูล (ตอนที่ 1)

1

บางทีนิสิตก็ถามข้าพเจ้าว่าหนังสือดี งานวิชาการดี เป็นอย่างไร คำถามมิได้หมายขอให้คนตอบแนะนำบทความหรือหนังสืออ่าน แต่คนถามอยากทราบความเห็นเกี่ยวกับงานดี  ข้าพเจ้าตอบนิสิตแต่ละคนไม่ตรงกันทีเดียวนัก สุดแต่การคะเนว่าคนถามตั้งคำถามขึ้นมาจากชานชาลาไหนที่เขากำลังแวะระหว่างทางในการศึกษา อีกส่วนหนึ่งตอบจากความเข้าใจและชอบใจของตัวเอง 

ในส่วนหลังนี้ ข้าพเจ้าชอบงานที่เนื้อหามีอะไรพาให้คิดต่อไปได้หลายทาง การคิดต่อที่ว่านี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิด หรือคิดไม่ถึงมาก่อนก็มี หรือลองคิดตามต่อจากที่คนเขียนเสนอไว้ แล้วเห็นทางขยายผลเข้าไปหา หรือพาให้ไปเห็นความเป็นจริงที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ก็มี โดยเราได้งานเขียนนั้นมาเปิดวิธีลอกความเป็นจริงออกมาดูทีละชั้น ๆ  วิธีนี้เราใช้แนวคิดและวิธีตามที่ผู้เขียนเสนอมาโดยรับไว้ก่อนว่า ข้อเสนอและบทสรุปของเขาอันทำให้เราฉุกใจคิดขึ้นทีแรกนั้นถูกต้อง แล้วเราก็มองหาต่อว่า อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้เป็นไปได้แบบนั้น หรือในระหว่างความเป็นไปได้แบบต่างๆ ที่ชุมนุมรออยู่ในกาละและเทศะตรงนั้น ทำไมในที่สุด การณ์จึงปรากฏออกมาอย่างที่เป็น และเป็นไปในความหมายให้เข้าใจได้ดังที่ผู้เขียนอธิบาย และถ้ารับความหมายความเข้าใจแบบนั้น มันลงกันได้กับความเข้าใจความเป็นจริงส่วนอื่นๆ ที่เราเคยมี หรือว่ามันขัด ถ้าขัด ก็น่าสนใจแบบหนึ่ง ถ้าลงกัน ก็ดูนัยสัมพันธ์ต่อไปได้อีก

เมื่อตามดูอย่างที่ว่ามานี้แล้ว บางทีเราจะพบจุดพลิกกลับย้อนทางไปหาข้อสรุปได้อีกแบบ หรือที่ดีไม่แพ้กัน และข้าพเจ้าก็ชอบการพบอะไรแบบนี้จากการอ่านงานดีแบบนี้มาก คือการพบทางที่จะประมวลสิ่งที่เราเคยมอง เคยเห็น เคยรู้มาอย่างกระจัดกระจายกันอยู่ เข้ามาให้เห็นให้รู้อย่างที่ช่วยเราประกอบความรู้ที่แยกส่วนกันอยู่นั้น ต่อขึ้นมาเห็นเป็นภาพรวมที่มีความหมาย ให้ความเข้าใจความเป็นจริงที่เคยรู้มาก่อนดีขึ้นกว่าเดิมอีกมาก พร้อมกับบอกตัวเองว่า นี่เราควรจะเห็นอย่างนี้ได้เองนานแล้ว แต่ก็ไม่เห็น มาเห็นมาเข้าใจได้ ก็เพราะว่างานที่เราอ่านช่วยพาเราคิดตามและคิดต่อออกมา 

ทั้งนี้ ไม่จำเป็นหรือไม่ใช่ว่าเราจะต้องเห็นด้วยกับแนวคิด ข้อเสนอ หรือบทสรุปของงานนั้น ถ้ามีส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็ยิ่งดี เพราะเราจะอ่านงานนั้นอย่างมีเอ๊ะมีเออ ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งตั้งต้นด้วยการเพ่งเล็งแต่ส่วนที่จะยกมาแย้งได้ วิธีหลังนี้ นักศึกษาที่อบรมจากสำนักวิชาการอเมริกันเป็นกันมาก อ่านงานของใครก็มองหาทางเปิดประเด็นแย้งไว้ก่อน ท่าทีแบบนี้มาจากการเห็นว่าความรู้จะขยายไปได้ก็จากการชี้ส่วนบกพร่องในของเดิม และเสนอคำอธิบายใหม่ให้ดีกว่าเดิม ข้าพเจ้าไม่ถึงกับปฏิเสธแนวทางแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเคยรับการอบรมอย่างนี้มาเหมือนกัน แต่มาพบทีหลังว่าการตั้งหน้ามองหาแต่ประเด็นแย้ง และยิ่งในการอ่าน ถ้าเราอ่านแต่ส่วนที่เป็นความเห็นแย้งจากงานที่เป็น antithesis โดยเราไม่ได้อ่านงานที่เป็น thesis มาเองอย่างดีและละเอียดพอ เราจะสร้าง synthesis ของเราขึ้นมาไม่ได้ เพราะแม้ส่วนที่เป็น antithesis เราก็อาจไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของมันดี และเข้าใจไปโดยผิวเผินเช่นกัน 

ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าพบงานดีเช่นที่กล่าวมาเล่มหนึ่ง เป็นงานในขอบข่ายความสนใจทางวิชาการของตัวเองในด้านการต่างประเทศไทย  เห็นว่าเข้าเกณฑ์สำหรับบทความชุดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตั้งใจเขียนส่ง the101.world ในระยะนี้เหมือนกัน เขียนออกมาได้เป็นบทความขนาดยาวพอสมควร จึงขอจัดมานำเสนอส่วนที่ข้าพเจ้าอ่านตามและอ่านต่อจากแนวคิดและวิธีอธิบายในหนังสือชื่อแปลกคือ Ontological Security and Status-Seeking: Thailand’s Proactive Behaviours during the Second World War ของ Peera Charoenvattananukul (2020) ว่าด้วยแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศของจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคราวแรก  ในทางการต่างประเทศ นั่นคือช่วงเวลาก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทางการเมืองภายใน นี่คือช่วงเวลาที่คณะราษฎรผนึกอำนาจของระบอบใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มั่นคง

เมื่อเห็นงานอาจารย์พีระ ส่วนที่หนังสือจุดความสนใจข้าพเจ้าขึ้นมาทีแรกก็คือตัวแนวคิดหลักในชื่อหนังสือนั่นเอง ข้าพเจ้าขอแปล ontological security ในภาษาไทยใช้แบบลำลองระหว่างรอศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสภาว่า “ความมั่นคงเชิงภวสภาพ”  เมื่ออ่านแล้วก็พบว่า ผู้เขียนตั้งใจใช้แนวคิดเชิงทฤษฎีเสนอแนวทางใหม่ในการศึกษานโยบายต่างประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามักครองไว้ด้วยแนวทางวิเคราะห์เชิงบรรยายปัจจัยภายนอกปัจจัยภายในแบบกว้างๆ พร้อมข้อมูลชั้นต้นชั้นรองประกอบการอธิบายการตัดสินใจหรืออธิบายความสำเร็จความล้มเหลวในการดำเนินนโยบาย 

แต่ในงานนี้ ผู้เขียนตั้งใจใช้แนวคิดความมั่นคงเชิงภวสภาพมาฉายปรากฏการณ์ปัญหาความมั่นคงลักษณะหนึ่งที่พบได้ในหลายประเทศออกมาให้เราพิจารณาในกรณีของไทย นั่นคือ ปัญหาความมั่นคงของรัฐที่ใช้การแสวงหาสถานะระหว่างประเทศมาแก้ปมทางจิตวิทยา อันเกิดจากประสบการณ์ในอดีตได้สร้างบาดแผลทางใจขึ้นมาในความทรงจำร่วมของสังคม เมื่อเกียรติภูมิของประเทศชาติบ้านเมืองของตนถูกกระทบกระทั่งโดยอำนาจภายนอกที่เหนือกว่าเข้ามาบังคับ และความสูญเสียจากการกระทบกระทั่งนั้นยังคงมีรอยประทับเห็นเด่นชัดอยู่  ความไม่มั่นคงเชิงภวสภาพจะปรับให้ฟื้นคืนความมั่นคงขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อปมทางจิตวิทยานี้ถูกชดเชยโดยเกียรติภูมิจากความสำเร็จในเวทีระหว่างประเทศ ที่ไม่เพียงเปิดทางให้แก่การยกระดับสถานะระหว่างประเทศของตนให้สูงขึ้นมา แต่ยังหมายรวมไปถึงความต้องการให้สถานะดังว่านั้นได้รับการยอมรับทางสังคมจากนานาประเทศ

ท่านที่คุ้นเคยในภาษาธรรมะของพุทธศาสนา เมื่อเห็นแนวคิดความมั่นคงทางภวสภาพ อาจนึกถึงคำว่า ภพ เพราะ ภว/ภพ คือภาวะของจิต-ของชีวิต อันถูกกุมไว้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นที่ได้ตัณหาความทะยานอยากเป็นเชื้อ ข้าพเจ้าขอเรียนท่านว่า ที่มาของแนวคิดนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่มาจากสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ขณะเดียวกัน แม้พุทธศาสนาจะไม่ได้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาแนวคิดนี้ แต่ก็คล้ายว่าเทียบเคียงกันได้ชอบกลอยู่ เพราะความมั่นคงของรัฐในเชิงภวสภาพตามแนวคิดที่อาจารย์พีระใช้ ก็มาจากฐานทางจิตวิทยา โดยมีความยึดมั่นในเรื่องเกียรติภูมิของชาติและความต้องการแสวงหาสถานะเป็นปมสำคัญที่มาเป็นตัวกำหนดความมั่นคง/ไม่มั่นคง แต่ไม่ว่าจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับพุทธศาสนา ข้าพเจ้ามีจุดคิดตามและคิดต่อจากแนวคิด ontological security ที่อาจารย์พีระเสนอได้อีกหลายเรื่อง ได้รับประโยชน์เป็นอเนกประการต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ของไทย

อีกส่วนหนึ่งในงานของอาจารย์พีระที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะจุดความสนใจคนที่ศึกษาการต่างประเทศไทยได้มากคือความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อกันระหว่างการต่างประเทศกับการเมืองภายในภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การคิดตามและคิดต่อจากการตอบคำถามของอาจารย์เกี่ยวกับคุณค่าที่ไทยในทศวรรษ 2480 แสวงหา การตั้งความมุ่งหมายในการกระทำและการเลือกวิธีทำของผู้นำยุคนั้นเพื่อค้นหาตัวตนและสถานะของไทยในความสัมพันธ์กับโลก และหาทางที่จะทำให้ความเข้าใจตนเองในบทบาทและสถานภาพแบบนั้นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จะพาให้คนอ่านเห็นความสำคัญของการต่างประเทศไทยว่าเป็นตัวนำอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ทั้งในด้านความคิด ในทางวัตถุรูปธรรม และการการจัดแบบแผนความสัมพันธ์ขึ้นมาทำงานในเชิงสถาบัน เข้ามาส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาตัวตนภายในที่เปลี่ยนออกจากรัฐราชาธิปไตยและชาติไทยของรัฐราชาธิปไตย มาสู่การค้นหาตัวตนใหม่ว่ากลายเป็นรัฐแบบไหนและชาติแบบไหนเมื่อผู้นำคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพลป. พิบูลสงครามกลายมาเป็นผู้เลือกและตัดสินใจเกี่ยวกับ “ภวสภาพ” ของไทยทั้งในการต่างประเทศและการเมืองภายใน ทั้งในทศวรรษ 2480 และในทศวรรษ 2490

เพื่อให้บทความนี้ไม่เกรียมด้วยภาษาวิชาการจนเกินไปนัก ข้าพเจ้าตั้งใจเลี่ยงการเขียนบทปริทัศน์หนังสือสำหรับลงวารสารวิชาการที่ต้องผ่านผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาด้วยเกณฑ์เคร่งครัด มาเป็นการแนะนำทางอ่านงานวิชาการแบบหนึ่งให้แก่นิสิตแรกเรียน โดยขออนุญาตใช้หนังสือของอาจารย์พีระเป็นตัวอย่างแสดงการใช้อุปกรณ์ในวิธีอ่านที่ข้าพเจ้าเรียกขึ้นเองว่า การอ่านตาม – อ่านต่อแนวคิด – ทฤษฎี เพื่อให้ทฤษฎี ที่มาจากความหมายว่าการเห็น พาเราไปเห็นอะไรได้กว้างขวางจนสุดอาณาเขตของมัน รวมทั้งให้จุดหมายตาส่วนที่อยู่พ้นจากเขตนั้นต่อออกไป

2

ในการอ่านตาม – อ่านต่อ/ คิดตาม – คิดต่องานเชิงทฤษฎี  วิธีเริ่มต้นแบบพื้นฐานที่สุด คือตั้งต้นทำความเข้าใจที่ตัวแนวคิดหลักของทฤษฎีนั้น  ในจุดเริ่มต้นตรงนี้ขอให้สังเกตว่า คำหลักในทฤษฎีหนึ่งกับอีกทฤษฎีหนึ่งบางทีจะเป็นคำเดียวกัน เช่น คำหลักคำหนึ่งที่พบทั้งในงานทฤษฎีของ Hedley Bull ของ Robert W. Cox ของ G. John Ikenberry ซึ่งมาจากสำนักทฤษฎีต่างกัน ได้แก่คำว่า order หรือเมื่ออ่านทฤษฎีของ Waltz นิสิตจะพบคำหลักคำหนึ่งคือคำว่า โครงสร้างอำนาจ แล้วถ้ามาอ่านงานของ Susan Strange จะพบคำว่าอำนาจเชิงโครงสร้าง ถ้าคนแรกเรียนพบแบบนี้เข้า อยากขอให้ตรึกไว้เสมอว่าเป็นไปได้มากทีเดียวที่คำหลักเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเหล่านี้เมื่ออยู่ในทฤษฎีต่างกัน จะเป็นแนวคิดที่มีความหมายต่างกันไม่มากก็น้อย และใช้ในการอธิบายตามแต่ละทฤษฎีไม่เหมือนกัน

ในการทำความเข้าใจแนวคิดหลักของทฤษฎีให้กระจ่าง ถ้าหากว่าได้อุปกรณ์ช่วยคิดในจุดเริ่มต้นนี้ ก็จะคลี่แง่มุมจากตัวแนวคิดนั้นออกมาพิจารณาได้อีกมาก ทั้งแง่มุมที่มีอยู่ในแนวคิดนั้นเอง และแง่มุมที่เกิดจากการเปรียบเทียบความแตกต่างคล้ายคลึงระหว่างแนวคิดที่ใช้คำเดียวกัน แต่มีนัยสำคัญและมาจากทฤษฎีต่างกัน เช่นแนวคิดหลักในงานของอาจารย์พีระคือแนวคิดเรื่อง ontological security  ในบททฤษฎีบทที่ 2  ของหนังสือ อาจารย์อภิปรายและเทียบข้อเสนอเกี่ยวกับ ontological security ของนักวิชาการหลายคนก่อนจะผสานเข้ามาหาข้อสรุปว่าในงานวิจัยอาจารย์จะใช้ ontological security ตั้งโจทย์ออกมาพิจารณาอย่างไร  แต่ในการอ่านตาม – อ่านต่อ เราอาจขยายความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นได้อีก ถ้าเทียบความมั่นคงของรัฐในเชิง ontological security กับความมั่นคงของรัฐแบบอื่นๆ ที่อยู่ในทฤษฎีอื่น เช่น ในทฤษฎีฝ่าย realism 

ในการถอดแง่มุมของแนวคิด security ที่นิสิตอ่านพบในภาคทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีไหนออกมาพิจารณา หรือที่จะพบต่อไปในภาคปฏิบัติไม่ว่าจากนโยบายหรือปฏิบัติการของใครฝ่ายใดก็ตาม ข้าพเจ้าขอแนะนำอุปกรณ์ช่วยคิดที่ให้กรอบจัดการพิจารณาและการเปรียบเทียบง่ายๆ แต่มีประโยชน์มากของ David Baldwin (1997, 12 – 17) มาฝากให้ทดลองใช้ดู  Baldwin เรียกกรอบที่อยู่ในรูปชุดคำถามต่อไปนี้ว่าวิธี “specifying the security problematique” 

  • ความมั่นคงตามแนวคิดนี้เป็นความมั่นคงของใคร หรือเพื่อใคร และมันมีผลกระทบต่อใคร อย่างไร ทั้งที่อยู่ในส่วนที่ได้รับการปกป้องรักษา ส่วนที่เป็นผู้ปกป้องรักษา ส่วนที่เป็นพลังสำหรับการปกป้องรักษา และอาจรวมถึงผู้ที่พลัดเข้ามาอยู่ในวง ข้าพเจ้าเติมส่วนหลังเข้ามาเพราะเทคโนโลยีความมั่นคงสมัยนี้มันมีทั้งแบบที่กำหนดพิกัดเป้าหมายได้แม่นยำ และที่สร้างผลข้างเคียงได้กว้างไกลแก่คนที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย
  • สิ่งที่ต้องการรักษาไว้ให้มั่นคงตามแนวคิดดังกล่าวเน้นคุณค่าด้านไหน/เรื่องใดเป็นสำคัญ ในเมื่อคุณค่าอันพึงปรารถนามีอยู่หลายแบบ ความอยู่รอดปลอดภัยอย่างมั่นคง ความมั่งคั่งที่มั่นคง ตัวตนในทางจิตวิทยาที่มั่นคง หรือการรักษาอัตตาณัติในการกำหนดทางเลือกนโยบายได้อย่างมั่นคง ต่างก็เป็นคุณค่าสำหรับความมั่นคงได้ทั้งสิ้น และยังมีคุณค่าอื่นๆ อีกที่จัดมาเข้าขบวนความมั่นคงได้ ถ้ามีกระบวนการมาแปรมันให้กลายเป็นประเด็นความมั่นคงขึ้นมา
  • ต้องการมากน้อยเท่าใดจึงจะพอใจว่ามั่นคง โดยนัยนี้มีทั้งส่วนที่เป็นจิตวิสัยและวัตถุวิสัยอันเกิดจากการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่ทำให้ตระหนักว่า ไม่มีใครจะได้ความมั่นคงอย่างสมบูรณ์  ในโลกที่ไม่มีใครอยู่โดยลำพัง การเปรียบเทียบและการเห็นระดับความมากน้อยจากการเปรียบเทียบเป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้
  • ความมั่นคงตามแนวคิดนี้มีอะไรเป็นภัยคุกคาม ลักษณะของภัยคุกคาม ดังกล่าวเป็นแบบไหน มีที่มาจากแหล่งใด และเช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า ภัยคุกคามมีทั้งส่วนที่ต้องตามพิจารณาในเชิงรูปธรรมของตัวปัญหา จากพื้นที่ จากคน จากขนาด จากปริมาณ จากระดับความเข้มข้นรุนแรง และส่วนนามธรรมที่เป็นความหมาย ความรู้สึก การมองเห็นปัญหา แนวคิดความรู้ ทฤษฎี ที่นำมาใช้ในการจัดการกับปัญหา
  • การจะรักษาหรือได้มาซึ่งความมั่นคงนั้นใช้วิธีใดได้บ้าง และวิธีนั้นๆ ประกอบด้วยเครื่องมือ ทรัพยากรและสมรรถนะขีดความสามารถที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบองค์กรกระบวนการและกลไกแบบไหนสำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์ไปสู่เป้าหมาย  ภายใต้โอกาสและข้อจำกัดที่มีอยู่
  • ในการรักษาหรือหาทางให้ได้มาซึ่งความมั่นคงมีราคา/ต้นทุนค่าใช้จ่ายมากเพียงใด ความสามารถที่จะยืนระยะและเต็มใจที่จะจ่ายในระดับราคาที่สูงมีมากเพียงใด
  • เป็นความมั่นคงที่พิจารณาจากกรอบระยะเวลาสั้น/ยาวเพียงใด

เมื่อใช้วิธีของ Baldwin มาเป็นอุปกรณ์ช่วยคิดตาม – คิดต่อกับแนวคิด ontological security ตามที่อาจารย์พีระใช้ในงานศึกษาการต่างประเทศไทยเล่มนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ข้อสังเกตอย่างน้อย 3 เรื่องที่เด่นชัดออกมาจากแนวคิดดังกล่าว ขอยกตัวอย่างในบทความนี้เพียงเรื่องเดียวเพื่อแสดงวิธีอ่านตาม – อ่านต่อ คิดตาม – คิดต่อ

ในแนวคิดความมั่นคงแบบ ontological security ของอาจารย์พีระ ข้าพเจ้ามองหาไม่พบว่าอะไรเป็นภัยคุกคาม ปกติเราจะพบปัญหาความมั่นคงคู่กับการมีภัยคุกคามในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่จะต้องตามถามหาต่อไป เช่นว่า นานาประเทศเห็นภัยนั้นว่าเป็นภัยคุกคามร่วมกันหรือไม่  ปัจจัยในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศแบบไหนที่จะส่งผลให้ภัยคุกคามนั้นรุนแรงยิ่งขึ้น หรือว่าเอื้อให้รัฐมีความร่วมมือกันได้ดีขึ้นในการจัดการกับภัยคุกคามที่เห็นร่วมกัน หรือในทางจิตวิสัย ผู้นำมองเห็นและตระหนักถึงภัยคุกคาม (threat perception) ในสภาพแวดล้อมนั้นเกินกว่าหรือน้อยกว่าที่เป็นจริง 

แต่ในงานที่ศึกษาความมั่นคงแบบ ontological security ของอาจารย์พีระ แทนที่เราจะพบ threat อาจารย์เสนอให้เราพิจารณา trauma หรือบาดแผลทางใจที่ประสบการณ์เลวร้ายประทับรอยไว้แทน ดังนั้น เมื่ออาจารย์พีระหรือแนวคิดที่อาจารย์ใช้เลือก trauma มาแทน threat ในฐานะที่มาของปัญหาความไม่มั่นคงทางภวสภาพ เราก็ต้องรู้ว่าการติดตามแนวคิดนี้ ต้องเปลี่ยนจากเรื่องการมองเห็นภัยคุกคาม มาเป็นการติดตามกระบวนการตอบสนองต่อประสบการณ์ร่วมทางสังคม และกระบวนการทางสังคมในการถ่ายทอดความหมายจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่สั่นคลอนความมั่นคงทางใจว่าเป็นแบบไหน อาจารย์พีระเสนอไว้ในกรณีของไทยอย่างไร  และถ้าเราติดตามของที่อื่นๆ ที่พบปัญหาความมั่นคงแบบ ontological security เช่น การพ่ายแพ้สงครามของเยอรมนี และการถูกบังคับให้ทำสัญญาแวร์ซายส์ที่ระบุความผิดให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือจีนที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เราจะได้ข้อเปรียบเทียบแบบไหนออกมา

นอกจากการคิดตาม เราอาจคิดต่อได้ด้วยว่า นอกจาก trauma แล้ว มีปัญหาอะไรในลักษณะอื่นที่เป็นไปได้อีกบ้างที่อาจสร้างความสั่นคลอนให้คนในสังคมหนึ่งเกิดความไม่แน่ใจ ความไม่มั่นใจในตัวตนส่วนรวมของตัวเองขึ้นมา เช่น รัฐที่เคยอยู่แถวหน้าของมหาอำนาจ เมื่อถดถอยและตระหนักรู้ตัวแน่ว่ากำลังเสื่อมถอยจากสถานะการเป็นมหาอำนาจ การถดถอยในรูปการณ์แบบนี้ ที่ชาว IR จัดออกมาศึกษาในปรากฏการณ์ที่บางทฤษฎีเรียกว่า hegemonic decline ก็น่าจะมีผลกระทบต่อ ontological security ได้ไม่น้อย 

จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว เราก็ตามคิดต่อไป เช่น ลองมองหาว่า เมื่อรัฐหนึ่งตระหนักแน่ว่าฐานอำนาจที่เป็นจริงกับสถานภาพที่ครองอยู่เริ่มไม่สมดุลกันมากขึ้นทุกที จะมีกลไกอะไรที่ใช้ได้บ้างสำหรับมาช่วยพยุงให้รัฐที่อยากยื้อสถานภาพรัฐมหาอำนาจไว้ ไม่ให้ถึงกับเมื่อมีกระจกฉายเงาตัวเองออกมาแล้ว พาให้คนในสังคมเกิดความไหวหวั่นขาดความมั่นใจขึ้นมา พอคิดต่อมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็นึกถึงแธตเชอร์กับถ้อยคำอันเป็นที่จดจำของเธอเมื่อเกิดสงครามชิงเกาะกับอาร์เจนตินา นอกจากที่เธอจะปลุกใจคนอังกฤษให้ฮึกเหิมขึ้นมาว่า “Defeat? I do not recognize the meaning of the word.”  ในบริบทเดียวกันนี้ เธอยังมีคำกล่าวที่น่าจะสะท้อนความคิดจิตใจของตัวเธอเองด้วยว่า “When you’ve spent half your political life dealing with humdrum issues like the environment, it’s exciting to have a real crisis on your hands.” 

นอกจากนั้น ontological security ที่เป็นแนวคิดหลักในงานของอาจารย์พีระ อาจารย์ชี้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเรื่องสถานภาพ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงอุปกรณ์ช่วยคิดอีกแบบหนึ่งที่ใช้ได้ประโยชน์ดีไม่น้อยสำหรับการอ่านตาม – อ่านต่อ คิดตาม – คิดต่อ แต่ในการจะนำมาใช้ก็ต้องรู้ระวังข้อจำกัดในตัวมันอยู่เหมือนกัน นั่นคือ การเทียบรัฐกับบุคคล ข้อจำกัดสำคัญที่พึงตระหนักก่อนจะใช้อุปกรณ์ช่วยคิดตัวนี้ คือชีวิตบุคคล กับความเป็นไปของรัฐ ดำเนินไปโดยกลไกและความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันมาก แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น ทั้งการศึกษาและภาคปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็นิยมมองรัฐว่าเป็น actor ในเวทีระหว่างประเทศ (Wolfers 1962; Wendt 2004) เปิดทางให้ความคิดเกี่ยวกับการกระทำการในนามของรัฐได้ความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลเข้ามาผสมในการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ  การมองรัฐเป็น actor มาจากการเห็นว่ารัฐมีความสามารถในการกระทำการ มีการตั้งเป้าหมายและการสร้างความหมายให้แก่การกระทำ มีการถ่ายทอดแบบแผนวิถีปฏิบัติที่ดำเนินการในนามของรัฐ มีการถ่ายทอดความคิดความทรงจำที่เชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีตและการตั้งความคาดหวังที่เชื่อมโยงปัจจุบันกับอนาคต จึงเห็นว่ารัฐมีชีวิตที่สืบเนื่องอยู่บนเส้นเวลา 

พอใช้การเทียบกับบุคคล และความรู้ที่ได้จากการศึกษาระดับบุคคล เข้ามาเป็นอุปกรณ์ช่วยการคิดตาม – คิดต่อในเรื่องการแสวงหาสถานภาพของรัฐตามที่อาจารย์พีระตั้งข้อเสนอไว้ ข้าพเจ้าก็ได้แง่คิดสำหรับติดตามตั้งคำถามต่อไปอีก นั่นคือ  ในการศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพทางสังคมของบุคคล มีคำถามกลุ่มใหญ่ที่ต้องสำรวจอยู่หลายเรื่อง เช่น ที่มาของสถานภาพบุคคลในสังคมเดิมกับสังคมสมัยใหม่ต่างกัน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงสถานภาพก็ทำได้ไม่เหมือนกัน และในสังคมสมัยใหม่ สถานภาพมีความหลากหลายมากขึ้นพร้อมๆ กับที่สังคมมีการจำแนกการทำงานและการแบ่งตัวในเชิงสถาบันอย่างซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนั้น เมื่อสถานภาพเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการได้รับการยอมรับทางสังคมโดยมี “significant other” เป็นกลไกทางสังคมและทางจิตวิทยาที่สำคัญ คำถามที่ต้องตามคิดต่อเมื่อพิจารณาระดับบุคคลกับสถานภาพด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ในวงวิชาการ ใครคือ  significant other ที่เมื่อให้การยอมรับสถานภาพแก่ใครแล้ว คนที่ได้รับการยอมรับจะเปี่ยมท้นด้วยความพึงพอใจอย่างซาบซึ้ง คำถามคือในสังคมระหว่างประเทศ significant other นั้นอยู่ที่ไหน มีการเคลื่อนย้ายพิกัดจากใครมาเป็นใครบ้างหรือไม่

การคิดต่อโดยการเทียบมาหาตัวบุคคลนี้ ยังช่วยให้ข้าพเจ้าย้อนนึกถึงงาน Democracy in America ของ Tocqueville ที่เขาวิเคราะห์ปัญหาความกังวลเกี่ยวกับสถานภาพของคนในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างน่าติดตามว่าทำไมจึงประสบกับ “strange melancholy which often haunts the inhabitants of democracies in the midst of abundance” (Book II, chapter 13: Henry Reeve Translation) ความกังวลในเรื่องสถานภาพของตนเองแบบนั้นน่าเทียบเคียงกับความกังวลเกี่ยวกับสถานภาพตามความคิดของคนในสังคมตะวันออก เช่น คนในสังคมจีน ว่าที่มาที่จะสร้างปัญหาในเรื่องสถานภาพในสังคมที่ยึดถือความเท่าเทียมกัน กับปัญหาสถานภาพที่จะเกิดเป็นเรื่องขึ้นมาในสังคมที่เคารพความอาวุโสแบบลดหลั่นกัน มีความแตกต่างตรงไหนในการสร้างปมในใจในความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนจาก 2 สังคม 2 วัฒนธรรมที่มีความคิดความคาดหวังต่อสถานภาพแตกต่างกันมาเจอกันในสนามของการเมืองระหว่างประเทศ  

จากการตามเรื่องสถานภาพในงานของอาจารย์พีระต่อออกมาหา Tocqueville แล้วได้ประเด็นเห็นความแตกต่างในวิธีคิดเกี่ยวกับสถานภาพระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ข้าพเจ้ายังคิดเล่นๆ ต่อจากประเด็นนี้ออกไปหาข้อเสนอของฝ่าย social constructivism อย่าง Alexander Wendt ในเรื่อง “Anarchy is what states make of it.” (Wendt 1992; 1999) ได้อีก  Wendt เสนอทำนองว่าสภาวะอนาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมีฤทธิ์มากน้อยหนักเบาแบบไหนต่อปัญหาความมั่นคงหรือต่อเสถียรภาพและสันติภาพระหว่างประเทศ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันจะสร้างสภาวะทางสังคมจากการมาพบเผชิญหรือสมานเข้าหากันแบบไหนและจะก่อรูปขึ้นมาเป็น “วัฒนธรรม” ของความสัมพันธ์ในสภาวะอนาธิปไตยแบบใด ที่จะกลายมาเป็นบริบทให้ความหมายแก่ ego และ alter ในการเข้าใจตัวเองและเข้าใจกันและกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  Wendt แยก “วัฒนธรรม” ในสภาวะอนาธิปไตยนี้ไว้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ แบบ Kantian, Lockean, และ Hobbesian ซึ่งข้าพเจ้าเคยคิดว่ามันออกจะเป็นการจำแนกสภาวะทางสังคมในระบบระหว่างประเทศที่เป็น Western-centric มากเกินไปสักหน่อย ทำไมรูปแบบที่เป็นไปได้ Wendt จึงจัดออกมาเพียง 3 รูปแบบดังกล่าว  มันน่าจะมีได้หลายแบบมากกว่านั้นได้มิใช่หรือ  แต่คิดแล้วข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้จะเสนออะไรที่น่าสนใจมาเป็นทางเลือกเติมเข้าไป

แต่พอข้าพเจ้าใช้การเทียบเคียงระหว่างรัฐกับบุคคลมาเป็นอุปกรณ์ช่วยคิดต่อจากข้อเสนอของอาจารย์พีระ ที่อาจารย์เสนอเรื่องสถานะกับการคำนึงถึงตัวตนที่จะได้รับการยอมรับจากสมาชิกอื่นในสังคมระหว่างประเทศ แล้วคิดต่อออกมาหา Tocqueville และได้ข้อสังเกตในจุดนี้ว่า คนต่างสังคม หรือรัฐที่มีฐานความคิดจากรูปการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมแตกต่างกัน จะมีวิธีคิดเกี่ยวกับสถานภาพไม่เหมือนกัน ข้าพเจ้าก็ได้ความคิดและเห็นทางที่จะนำไปขยายผลกับข้อเสนอเดิมของ Wendt ในเรื่อง “วัฒนธรรม” ในสภาวะอนาธิปไตย

เช่น ถ้า ego และ alter ที่มาเจอกันในระบบระหว่างประเทศ ฝ่ายหนึ่งมาจากสังคมที่ยึดถือความเท่าเทียมกันและมีปมในใจที่เป็นความกังวลเกี่ยวกับสถานภาพของตน ที่ต้องเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา ในแบบที่ Tocqueville พบใน “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ส่วนอีกฝ่ายมาจากสังคมที่มีวิธีคิดเกี่ยวกับสถานภาพตามวัฒนธรรมแบบขงจื่อ ที่ให้ความสำคัญแก่สถานภาพตามลำดับชั้นลดหลั่นไล่เรียงกันลงมา และโดยเหตุนั้นจึงมีมุมมองวิธีคิดเกี่ยวกับตำแหน่งและการปฏิบัติต่อแต่ละตำแหน่งอย่างเหมาะสมแตกต่างจากรัฐที่มาจากสังคมแบบ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” การเผชิญกันระหว่างรัฐ 2 ฝ่ายนี้จะนำไปสู่พลวัตแบบไหนในสภาวะระหว่างประเทศ 

หรือถ้าสมาชิกของสังคมระหว่างประเทศเปลี่ยนมามีวิธีคิดในเรื่องสถานภาพแบบเดียวกัน เช่น ถ้าทุกรัฐยอมรับตำแหน่งสถานะลดหลั่นและยอมรับการที่จะมีศูนย์กลางสักแห่งเป็นผู้มอบตราสัญลักษณ์การยอมรับสถานะเหมือนตราราชลัญจกรมหาโลโตแก่ประเทศต่างๆ ตามลำดับตำแหน่งใกล้ไกลจาก“อารยธรรม” ของศูนย์กลางอำนาจ  หรือถ้าหากรัฐที่ดำรงตนเป็น significant other ของรัฐอื่นๆ ในสังคมระหว่างประเทศรับเรื่องชาติเชื้อสีผิวเข้ามาในการจัดสถานภาพที่จะมองเห็นความต่างลำดับชั้นจากสีผิวที่ไม่ขาวอยู่ในสายตาเสมอ ถึงแม้จะไม่หลุดเป็นคำพูดออกมา “วัฒนธรรม” ของความสัมพันธ์ในสภาวะอนาธิปไตยระหว่างประเทศจะเปลี่ยนเป็นแบบใด และการไต่เต้าสถานภาพของรัฐจะดำเนินไปในข้อจำกัดแบบใดทั้งจากเพดานมองเห็นและจากกำแพงที่เหมือนว่าไม่มีอยู่ แต่มีจริง

พออ่านตาม – อ่านต่อมาเห็นแบบนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ย้อนกลับไปพิจารณางานของอาจารย์พีระได้ชัดเจนขึ้นว่า งานของอาจารย์และโปรแกรมการวิจัยที่อาจารย์นำเสนอออกมา อยู่ในท่ามกลางสำนักทฤษฎีใหญ่ 2 ฝ่ายในการศึกษาระบบระหว่างประเทศ ฝ่ายหนึ่งคือสำนัก neorealism ที่มองรัฐเป็นตัวแสดงที่สัมพันธ์กันในระบบที่เป็นอนาธิปไตย และโดยเหตุนั้นรัฐจึงเป็นตัวแสดงที่ต้องพึ่งตนเองและมีวิธีคิดในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกันและกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่ง สถานะของอำนาจ และผลได้ผลเสียจากความร่วมมือ (โปรดสังเกตความใกล้เคียงระหว่างฐานคติเกี่ยวกับรัฐในสภาวะอนาธิปไตยของ neorealism ข้อนี้ กับความกังวลเกี่ยวกับสถานภาพในสังคมที่คนมีความเท่าทียมกันตามที่ Tocqueville พบใน “ประชาธิปไตยในอเมริกา”) อีกฝ่ายหนึ่งคือสำนัก social constructivism ที่เสนอว่าในโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศมิได้มีแต่อำนาจเชิงวัตถุและประเทศที่เป็นขั้วอำนาจว่ามีการแบ่งขั้วอยู่อย่างไรเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยความหมาย ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับแบบแผนวิถีปฏิบัติในความสัมพันธ์ทางสังคม ที่รัฐทั้งหลายยึดถือเชื่อใช้ร่วมกันและส่งผลต่อการก่อรูปความเข้าใจตนเองและรัฐอื่นๆ และจากความเข้าใจนั้นก็ส่งผลต่อความคาดหวังเกี่ยวกับผลประโยชน์ การตั้งเป้าหมาย การกระทำ และรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินต่อกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยอุปกรณ์ช่วยคิดแบบนี้ และแบบอื่นๆ  ที่ข้าพเจ้าใช้ทำความเข้าใจแนวคิดหลักที่อยู่ในงานวิชาการที่อ่าน และคิดตาม – คิดต่อจากความเข้าใจที่ได้ขยายออกไปเพื่ออ่านต่อขึ้นไปในอีกระดับ นั่นคือ อ่านต่อจากแนวคิดหลักขึ้นไปหาสิ่งที่พวกเราชาว IR เรียกกันว่า research program หรือโปรแกรมการวิจัยตามข้อเสนอของ Imre Lakatos ในการติดตามความก้าวหน้าของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ 

จะขอนำวิธีอ่านตาม – อ่านต่อจาก research program โดยใช้การอ่านจากงานของอาจารย์พีระมาเสนอเป็นตัวอย่างในบทความเดือนถัดไป  


รายการอ้างอิง

Baldwin, D. A. (1997). The concept of security. Review of international Studies, 23(1), 5-26.

Charoenvattananukul, P. (2020). Ontological Security and Status-Seeking: Thailand’s Proactive Behaviours during the Second World War. Routledge.

Wendt, A. (1992). Anarchy is what states make of it: the social construction of power politics. International organization46(2), 391-425.

Wendt, A. (1999). Social theory of international politics. Cambridge University Press.

Wendt, A. (2004). The state as person in international theory. Review of international Studies30(2), 289-316.

Wolfers, A. (1962). Discord and collaboration: essays on international politics. Johns Hopkins University Press.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save