fbpx

คุยกับ ‘สันติธาร เสถียรไทย’ : ความท้าทายทางเศรษฐกิจไทย โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลป้ายแดง

ภายหลังจากที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐสภาในการขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย อีกทั้งไม่สามารถเสนอชื่อได้เป็นครั้งที่สอง เนื่องจากสภาฯ มีมติว่าการเสนอชื่อรอบสองนั้นเป็นญัตติซ้ำ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และได้ส่งไม้ต่อให้กับพรรคอันดับสองอย่างพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ที่ร้อนระอุ

การจัดตั้งรัฐบาลที่ยากเย็นแสนเข็ญนี้ สร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนไม่น้อย ไม่เพียงแต่เรื่องการปลดล็อกจากขั้วอำนาจเผด็จการเดิมและแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การมีรัฐบาลที่ล่าช้า ส่งผลให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลเกี่ยวพันกับการอนุมัติงบประมาณในปีถัดไป หากจัดตั้งรัฐบาลได้ช้า ก็จะทำให้การบริหารงานเหล่านี้ล่าช้าตามไปด้วย

ประเทศไทยที่เพิ่งพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 มาหมาดๆ กอปรกับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นอยู่นี้ โจทย์ทางเศรษฐกิจจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่สำหรับรัฐบาลใหม่อย่างแน่นอน โอกาสนี้ 101 จึงชวน สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษา, อดีต Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group มาร่วมวิเคราะห์โจทย์ของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังในภาวะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.303 ‘เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง 2023…โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่’ กับ สันติธาร เสถียรไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566

YouTube video

เศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง 2566 ผจญกับ 2 ความเสี่ยง

จากสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยที่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้ไม่ว่าจะนักเศรษฐศาสตร์หรือนักลงทุนต่างก็จับตามองถึงโอกาสที่จะเป็นไปได้ในอนาคตของประเทศไทย ซึ่งสันติธารได้ให้ความเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้มักมีความเสี่ยงเกิดขึ้นอยู่สองประการ คือ ความเสี่ยงทางด้านการเมือง (Political Risk) และ ความเสี่ยงทางด้านนโยบาย (Policy Risk)

โดยในระยะสั้น ผู้คนมักจะให้ความสำคัญกับความเสี่ยงทางด้านการเมืองมากกว่า ข้อสงสัยจะวนเกี่ยวกับระยะเวลาของการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ การมีรัฐบาลใหม่ และเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงความผันผวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยตรง

เนื่องจากการส่งออกในประเทศไทยที่ควรจะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาเกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ตัวการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตกไปอยู่ที่การท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงกำลังซื้อในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างอ่อนไหวกับปัจจัยทางการเมืองเป็นอย่างมาก หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง นักท่องเที่ยวก็อาจจะไม่เดินทางมาเที่ยวก็เป็นได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ในที่สุด ส่วนกำลังซื้อในประเทศนั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับงบประมาณรัฐบาล หากตั้งรัฐบาลไม่ได้ การอนุมัติงบประมาณของปีถัดไปก็จะเกิดความล่าช้าตาม ทำให้การเบิกจ่ายช้าลง และส่งผลให้เศรษฐกิจแผ่วลงเช่นกัน

“การเข้าเกียร์ว่างในภาครัฐก็จะมีผลทำให้เศรษฐกิจแผ่วลง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของคน ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนจะอยู่ในโหมด wait and see คือรอดูก่อนว่าลักษณะของการเมืองจะออกมาเป็นอย่างไร” สันติธารอธิบาย

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นความไม่มีเสถียรภาพครั้งแรกของสถานการณ์การเมืองไทย แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ในครั้งนี้มีความเสี่ยงทางด้านนโยบายเกิดขึ้นมาด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอาจนำมาซึ่งชุดความคิดที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) และความเสี่ยงขาขึ้น (Upside Risk) ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล

“บางครั้งคนจะมีความคิดว่า ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลไปนโยบายก็คงจะชุดคล้ายเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่คราวนี้ไม่แน่ เพราะมีความเสี่ยงทางด้านนโยบายอยู่ด้วย การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลนั้นอาจนำมาซึ่งนโยบายในชุดความคิดที่แตกต่างจากเดิม

“ความเสี่ยงทางด้านนโยบายไม่ได้หมายถึงเรื่องไม่ดีอย่างเดียว เพราะมีทั้งความเสี่ยงขาลง และความเสี่ยงขาขึ้น คือความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายอาจเป็นนโยบายที่ไม่คุ้น ไม่ดีต่างๆ ก็ได้ หรืออาจจะเป็นนโยบายที่ดีกว่าเดิมก็ได้เช่นกัน ล้วนแล้วแต่เป็นความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ฉะนั้นจึงมีชุดนโยบายที่หลากหลายสีอยู่

“นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ตลาด นักลงทุน นักธุรกิจ ต้องดูเหมือนกันว่าจะเดินไปทางไหน เพราะไม่ใช่สถานการณ์ที่ดำเนินไปตามปกติ (business as usual) แต่เป็นสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปตามคนที่จะเข้ามา”

กระนั้นแล้วในเชิงของความเสี่ยงทางด้านการเมือง สันติธารมองว่าการที่ประเทศไทยจะได้รัฐบาลเสียงข้างมากตามผลเลือกตั้ง หรือจะได้รัฐบาลจากขั้วอำนาจเดิมนั้น ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยด้วยกันคือ ระยะเวลา และ เสถียรภาพ

“ถ้ามองมุมนักลงทุนจะต้องมองระยะยาว เขาก็จะมีความกังวลว่าหากตั้งรัฐบาลไม่ได้ไปเรื่อยๆ จะเป็นฉากทัศน์ที่ค่อนข้างมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงลบ ถ้าเขาเห็นว่าไม่คุ้มที่จะรอนานกว่านี้ เขาก็ไปลงทุนที่ประเทศอื่นดีกว่า นี่คือในส่วนของระยะเวลา

“ในส่วนของเสถียรภาพนั้นมีหลายประเด็น เช่น หากตั้งแล้วจะไปได้แค่ไหน หรือตั้งแล้วจะเกิดการประท้วง ความไม่พอใจ ความไม่ชอบธรรมที่ทำให้อยู่ไม่ได้หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่เกิดเสถียรภาพ ประเทศไม่ยั่งยืนจริง สุดท้ายแล้วก็จะกลับไปที่ความไม่แน่นอน” สันติธารกล่าว

‘นักกีฬาสูงวัย’ คือนิยามของปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวในประเทศไทย

สันติธารมองว่า ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไข โดยมีปัจจัย 3 อย่างด้วยกันคือ ความไม่พอ ไม่ทั่วถึง และไม่มั่นคง ปัจจัยเหล่านี้มาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไม่กี่ตัว เช่น การท่องเที่ยว การบริการ และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ ซึ่งสันติธารให้การเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจระยะยาวของไทยเปรียบดังนักกีฬาสูงอายุ

“สมัยก่อนเราเคยเป็นนักกีฬาที่โตปีละ 6-7% เผลอๆ 7-8% ด้วยซ้ำไป ตอนที่จะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ตอนนั้นเป็นยุคที่รุ่งโรจน์ เป็นยุคที่เรียกว่าร่างกายเราแข็งแกร่ง วิ่งเร็ว กระโดดสูง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหวั่นอะไรมาก เราเล่นเทคนิคที่บางทีอาจจะใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง แต่ไม่เป็นไร เพราะชดเชยด้วยสมรรถภาพร่างกายที่มากมาย ถึงพลาดบ้างแต่นักลงทุนยังสนใจ เหมือนกับนักกีฬาเด็กที่มีแมวมองมาเฟ้นหาตลอดเวลา”

แน่นอนว่าปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ประเทศไทยเป็นนักกีฬาสูงวัยที่มีลักษณะอาการ 2 อย่างคือ

หนึ่ง – อัตราการเติบโตเฉลี่ยทางเศรษฐกิจต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นนักกีฬาที่วิ่งได้ประมาณ 3% หรือ 3.5% เป็นอย่างมาก หากวิ่งมากกว่านี้ก็ย่อมได้ แต่จะเหนื่อยมาก หรือหากวิ่งขึ้นไปเป็น 4-5% เศรษฐกิจจะเริ่มร้อนเกิน (Overheated) คล้ายกับคนฝืนวิ่งแล้วกล้ามเนื้อจะเจ็บทันที

สอง –ไม่ได้ถูกให้ความสนใจมากเท่าเดิม ปัจจุบันโลกกำลังมีกระแสที่เรียกว่า De-risking หรือการลดความเสี่ยงการพึ่งพาจีนมากเกินไป แทนที่จะลงทุนในประเทศจีน บริษัทข้ามชาติต่างๆ จะหันมาลงทุนในประเทศอื่นมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาในอาเซียน แต่หากดูการจัดอันดับทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจะอยู่ที่อันดับ 4 การลงทุนจึงไปที่สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซียก่อน และบางทีถูกมาเลเซียแซงในบางเรื่อง ฉะนั้น ความสนใจของนักลงทุนก็น้อยลงไปด้วย เปรียบเสมือนนักกีฬาที่ไม่ได้ถูกแมวมองให้ความสนใจ และมีนักกีฬาใหม่แซงหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ

“พอเราจะเร่งเครื่องเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งที ก็จะเห็นว่ามีปัญหาตามมา เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ พวกนี้เปรียบเสมือนอาการที่นักกีฬาสูงอายุเล่นไปเรื่อยๆ แล้วร่างกายเริ่มบาดเจ็บ กระดูกเริ่มปวด เราไม่ได้เป็นนักกีฬาที่ล้มเจ็บหนักเป็นวิกฤต เพราะเราเรียนรู้การเจ็บหนักมาจากตอนต้มยำกุ้ง ความกังวลที่ว่าเราจะเป็นเวเนซูเอล่าหรือศรีลังกาหรือเปล่านั้น ผมคิดว่าเราไม่น่าจะเป็น เพียงแต่เราจะเป็นนักกีฬาสูงอายุที่ถูกโลกลืม คนจะมองข้ามเราไป เพราะมีนักกีฬาที่มีประสิทธิภาพกว่า”

ซึ่งแนวทางแก้ไขของนักกีฬาสูงวัยนั้น สันติธารมองว่ามีทั้งหมด 5 ข้อที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสนใจ

หนึ่ง – หากนักกีฬาสูงวัยต้องการจะมีเรี่ยวแรงเช่นคนหนุ่ม บางครั้งก็จะใช้ยากระตุ้นหรือสเตรียรอยด์ การกระตุ้นนี้เอง เมื่อเปรียบเทียบกับทางเศรษฐกิจก็คือการกระตุ้นการคลังอย่างหนักในระยะสั้น ซึ่งไม่ได้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว ดังนั้น รัฐจะต้องระมัดระวังการกระตุ้นเหล่านี้ให้มาก

สอง – ในยุคที่มีงบประมาณจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องใช้เงินจะเป็นการดี และสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีคือการโละกติกา ไม่เพียงแค่กติกาเก่าๆ เท่านั้น แต่รวมถึงกฎหมายใหม่ที่อาจเป็นปัญหาได้เหมือนกัน หากสร้างในกรอบความคิดเก่าๆ การมีกติกาที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของผู้ใช้งาน ทำให้มีเศรษฐกิจอยู่นอกระบบจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในจุดที่มองไม่เห็น เก็บภาษีไม่ได้ และไม่สร้างรายได้แก่ประเทศ ฉะนั้น การโละกติกาหรือปรับแนวคิดในการออกกติกาใหม่ๆ จะทำให้เศรษฐกิจทั้งหลายเข้ามาอยู่ในแสงมากขึ้นแทนที่จะผลักออกไปแบบวิถีเก่า

สาม – ผู้นำทางเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องมีความกระตือรือร้นในการพาเศรษฐกิจไทยออกสู่สากล หรือดึงดูดนักลงทุนเข้ามา เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่กำลังจะถูกมองข้าม เราจำเป็นต้องเข้าหานักธุรกิจเอง ออกไปคุยและเจรจากับเขาว่า พวกเขาต้องการอะไรเพื่อที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และเราต้องตอบสนองความต้องการนั้นเท่าที่จะทำได้

สี่ – การเป็นนักกีฬาสูงวัยจำเป็นต้อง Play Smart ประหยัดพลังกาย ประหยัดเวลา เพื่อเน้นผลิตภาพ หากเปรียบทางเศรษฐกิจ ประชากรวัยแรงงานกำลังลดน้อยลง รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ด้วย ฉะนั้น แต่ละหัวต้องผลิตได้มากขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีเป็นจะสามารถตอบสนองในจุดนี้ได้ อีกทั้งเรามีการใช้ทรัพยากรหรือคนที่ไม่มีประสิทธิภาพอยู่เยอะ เช่น ในภาคเกษตรมีคนอยู่ถึง 30% แต่ไม่ใช่เพราะภาคเกษตรของไทยมั่นคงแข็งแรงจนทำให้คนอยากทำเกษตร เพียงแต่พวกเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาส หลายคนอาจจะออกจากงานมา และทำงานในภาคเกษตรน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลายเป็นภาวะว่างงานซ่อนเร้น (Hidden Unemployment) คนเหล่านี้รัฐสามารถสร้างทักษะใหม่ (Reskill) ให้พวกเขากลับสู่ตลาดแรงงานอื่นๆ ได้ เพราะหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจยังขาดคนและมีความต้องการอยู่มาก

ห้า – เศรษฐกิจจำเป็นจะต้องมีภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ มีการสร้างความสามารถในการกลับสู่สภาพเดิม (Resillience) ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกไว เนื่องจากประเทศไทยมีความเสี่ยงมาก เพราะเราเป็นประเทศที่อาศัยภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ หากมีปัญหา เช่น การเมือง สภาพอากาศ แล้วเราไม่มีความยืดหยุ่นในการหารายได้ จะทำให้สิ่งนี้กลายเป็นจุดอ่อนทางเศรษฐกิจได้

“5 ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำสำหรับนักกีฬาที่กำลังสูงวัย เพียงแต่นักกีฬาสูงวัยมันจะไม่ใช่ว่าเราแก้ปัญหา 5 อย่างแล้วพรุ่งนี้จะกลายเป็นคนหนุ่มเลย มันมีหลายอย่างที่ต้องทำ กว่าจะกายภาพบำบัด กว่าจะอบรมคนใหม่ๆ เข้ามา ใช้เวลานาน แต่ถ้าเราเริ่มถูกที่ มันจะทำให้เราไปในทางที่ถูก” สันติธารกล่าว

‘Efficiency and Balance’ ความจำเป็นของนโยบายการคลังและการเงินที่ไม่ควรมองข้าม

ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แม้ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวแล้ว แต่ยังฟื้นได้ไม่เต็มที่นัก สันติธารจึงให้ความเห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน

นโยบายการคลังต้องมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพ (Efficiency) คือ ใช้น้อยลงแต่ได้มากขึ้น หรือหากใช้มากขึ้นก็ต้องได้ผลมากกว่าเดิม เพราะงบการคลังมีจำกัดกว่าแต่ก่อน จึงจำเป็นต้องทบทวนว่างบประมาณที่ใช้นั้นมีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ การจะนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพนั้นแบ่งออกเป็น 3 อย่าง โดยสันติธารให้คำจำกัดความไว้ว่า ‘3T’

T ตัวแรกคือ Targeted หรือ การกำหนดเป้าหมาย เพราะประเด็นใหญ่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคือความไม่ทั่วถึงและกลุ่มเปราะบาง ฉะนั้น การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจควรจะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายว่าใครต้องการอะไร เพื่อให้ตรงเป้าหมายหรือตรงประเด็นที่ประชาชนต้องการมากขึ้น

T ตัวที่สองคือ Transparent หรือ โปร่งใส ในบางครั้งรัฐบาลอาจไม่ได้ตั้งใจใช้งบประมาณให้ไม่เกิดประสิทธิภาพ แต่อาจจะขาดองค์ความรู้บางอย่าง ดังนั้น เมื่อรัฐมีการเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน ท้ายที่สุด ความโปร่งใสจะเข้ามาช่วยในจุดนี้ นอกจากจะลดความรั่วไหลหรือการคอร์รัปชั่นต่างๆ แล้ว ยังทำให้ประชาชนสามารถให้ข้อเสนอแนะกับทางภาครัฐได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อสถานการณ์โลกผันผวนตลอดเวลา การได้ข้อเสนอแนะที่รวดเร็วจะทำให้รัฐสามารถปรับตัวหรือปรับนโยบายได้ทันท่วงที

T ตัวสุดท้ายคือ Transform หรือ ปรับเปลี่ยน หมายความว่า หากต้องการจะลงทุนอะไรต่างๆ จะสามารถเสริมอนาคตได้หรือไม่ เช่น การลงทุนที่จะช่วยรับมือกับประชากรสูงวัยที่มากขึ้น การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) หรือมีนโยบายที่ต้องแจกเงิน สามารถแจกเงินในลักษณะดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนได้มีทักษะดิจิทัลมากขึ้น หรือให้โดยมีเงื่อนไขให้ประชาชน เพิ่มทักษะตนเอง สิ่งเหล่านี้คือการปรับเปลี่ยนสู่อนาคต เป็นการที่รัฐไม่เพียงให้ปลาแก่ประชาชน แต่ให้ปลาควบคู่กับให้เบ็ดด้วย

“นโยบายการคลัง คำสำคัญคือประสิทธิภาพ ต้องใช้น้อยลงแต่ได้มากขึ้น หรือจำเป็นต้องใช้มากขึ้นก็ได้ แต่ผลที่ได้ต้องได้มากกว่าเดิม ต้องมีผลิตภาพ (Productivity) เพราะงบการคลังของเรามีจำกัดกว่าเดิม ฉะนั้น เราต้องไปนั่งรื้อดูว่างบที่เราใช้อยู่นั้น เราใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพมากพอหรือยัง”

ในขณะที่นโยบายการเงิน จะต้องมุ่งเน้นไปที่ความสมดุล (Balance) เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการขึ้นดอกเบี้ยเพราะปัญหาเงินเฟ้อ แม้ปัจจุบันจะเริ่มลดลง แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐจึงควรรักษาสมดุลทางการเงินให้ได้

“เรากำลังจะดึงดอกเบี้ยให้กลับมาสู่ภาวะปกติที่ไม่ใช่วิกฤตแล้ว เรากำลังต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ แต่ปีนี้ปัญหาเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มมา เราไม่แน่ใจแล้วว่าในอนาคตหากมีสถานการณ์ต่างๆ จะแผ่วเบาไปหรือไม่ ถ้าเราขึ้นดอกเบี้ยมากไป จะไปกระทบการเติบโตในอนาคตมากไปหรือเปล่า”

“อีกด้าน เรารู้ว่าพอขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ความเปราะบางบางอย่างแสดงตัวออกมาให้เห็น เช่น ครัวเรือนของไทยมีหนี้ต่อ GDP สูงมากจนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ต้องป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ไม่ใช่ว่าขึ้นจนการเติบโตหายไปแล้วครัวเรือนเขาก็ลำบากสู้ไม่ได้ ฉะนั้น นโยบายทางการเงินจึงต้องมีความระวังและรักษาสมดุลให้มากขึ้น” สันติธารว่า

ความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด

สันติธารมองว่าการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยหลังจากผ่านพ้นโควิดแล้วมีทั้งบวกและลบ ในช่วงโควิดมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาด้านการเติบโต ระยะแรกการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตกขอบ ทำให้ต้องคิดหาวิธีกระตุ้นสู่ภาวะปกติ หนำซ้ำยังเจอปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากสถานการณ์ภายนอกประเทศถมลงมา เศรษฐกิจที่ควรเป็นวัฏจักรแบบเติบโต – ฟื้นตัว – ร้อนแรง – เงินเฟ้อ – ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ กลับกลายเป็นต้องหันไปสู้กับเงินเฟ้อเร็วกว่าปกติ ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจึงเต็มไปด้วยปัญหาเหมือนไฟที่ต้องการการดับเรื่อยๆ

กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการพัฒนาในเชิงบวก สันติธารให้ความเห็นว่าในช่วงโควิดและหลังโควิด การใช้ดิจิทัลในภาคธุรกิจมีมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีผู้ใช้งานอยู่แล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการก็เริ่มสนใจและเปิดใจให้กับดิจิทัลมากกว่าเดิม เช่น e-Commerce และ e-Payment เป็นต้น ซึ่งเขามองว่ารัฐสามารถนำจุดนี้ไปต่อยอดได้

“ด้านของความยั่งยืนมีความตื่นตัวค่อนข้างเยอะมาก แต่แน่นอนว่ามันสามารถไปได้เร็วกว่านี้ ทำได้มากกว่านี้ แล้วตอนนี้ก็เป็นโอกาสด้วย ข้อดีของการที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราจับถูกจังหวะว่าโลกกำลังมีอะไรสำคัญที่เปลี่ยนแปลง แล้วเราเกาะคลื่นนั้นไป นั่นจะทำให้เราไปข้างหน้าได้เร็วมากเหมือนกัน

“เช่น ตอนนี้ที่เราตื่นเต้นกับ Generative AI มองมุมหนึ่งก็น่ากลัวเหมือนกันว่าจะมาแทนที่คนหรืออะไรต่างๆ แต่ว่าถ้าเรามองอีกมุม สำหรับประเทศที่กำลังจะขาดแคลนแรงงานหนักๆ และขาดแคลนแรงงานในทุกระดับ Generative AI ก็มีประโยชน์เหมือนกันถ้าเราใช้มันเป็นและใช้มันได้ดี เพราะสามารถช่วยแรงงานบางอย่างที่แต่เดิมทำไม่ได้

“การใช้สิ่งเหล่านี้จะทรงพลังขึ้น ผมว่ามันคือโอกาส ถ้าเรารู้จักนำโอกาสมาใช้กับการเปลี่ยนแปลง มันจะสามารถเพิ่ม Productivity และช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนทักษะเหล่านั้นได้”

อย่างไรก็ตาม สันติธารมองว่าโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยสามารถทำดีกว่าเดิมได้คือ การให้โอกาสแก่คนตัวเล็กๆ ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ อย่างที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างพร้อมกันไปด้วย หากมีระบบที่ดีในวงการต่างๆ ก็จะมีผู้เล่นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้หลายคนต้องหาส่วนแบ่งตลาด (Market Segment) ของตัวเองใหม่ ซึ่งก็จะเข้าไปช่วยในกลุ่มคนที่ปกติจะเข้าไม่ถึงบริการมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการท่องเที่ยว ที่ควรจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ แม้ว่าประเทศไทยจะพึ่งการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่สันติธารมองว่าไม่ควรตั้งโจทย์เป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวอย่างที่กำลังทำอยู่

“ผมเข้าใจว่าท่องเที่ยวต้องเป็นตัวเอก แต่ให้มันเป็นตัวเอกที่มีบทใหม่ในหนังเรื่องใหม่ได้ไหม เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว” สันติธารว่า

ท้ายสุด เขามองว่าการท่องเที่ยวจะเป็นศักยภาพที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นได้มาก หากเราใช้การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ สันติธารกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดช่วงโควิดและยังเกิดอยู่จนถึงทุกวันนี้คือ การที่หลายคนทำงานระบบทางไกล (Remote Work) มีทีมที่สามารถกระจายไปในประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องทำอยู่ในประเทศของตนเอง หรือจะทำที่ไหนก็ได้ ทำให้ตอนนี้หลายประเทศออกมาตรการวีซ่าสารพัดอย่างเพื่อแย่งตัวแรงงานที่มีคุณภาพ ถึงอย่างนั้น ประเทศไทยก็ติดอันดับประเทศที่คนอยากมาอาศัยอยู่หรือมาทำงานเสมอ

“ประเทศเหล่านั้นเขาพยายามโปรโมตเยอะมากเลยนะ แต่ว่าเขาไม่ได้มีเสน่ห์เท่าไทย ไทยติดอันดับสถานที่ที่คนอยากทำงาน อยากไปอาศัยตลอด ฉะนั้น เราแค่ต่อยอดตรงนี้ ใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวดึงคนหัวกะทิทั่วโลกให้มาอยู่ในประเทศไทย ทำให้พวกเขารู้สึกว่าแทนที่จะมาแค่เที่ยวหรืออยู่ทำงานสักพัก ก็เปลี่ยนเป็นอยู่ยาวเลยดีไหม สิ่งนี้จะเป็น Talent Magnet ที่เราดึงมาได้

“อีกอันหนึ่งของการท่องเที่ยวคือการมี Intelligent Insight สมมติปีนี้เรามีนักท่องเที่ยว 30 กว่าล้านคน ปีหน้าเป็น 40 ล้านคน เท่ากับเรามีข้อมูลจากทั่วโลกมาเป็นตัวอย่างให้เรา ถ้าเราเก็บข้อมูลพวกนี้อย่างเป็นระบบ จะสามารถอ่านวิเคราะห์ได้เลยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร สิ่งนี้ไม่ได้แค่ช่วยเรื่องการท่องเที่ยวว่าเขาเที่ยวที่ไหน จองโรงแรมกี่วัน แต่สามารถดูไปได้ว่าเขาชอบผลิตภัณฑ์แบบไหน คนที่เขามาจากยุโรป มาจากจีนเขาชอบซื้ออะไรช่วงนี้ เมื่อเรามีข้อมูลนี้แล้ว ก็ส่งไปให้ภาคอุตสาหกรรมหรือกระทรวงพาณิชย์ต่อว่าคุณโปรโมตของพวกนี้สิ ให้กลุ่ม SME กลุ่มที่มีของแบบนี้ช่วยผลักดันไปเลย เพราะเรารู้ว่าของพวกนี้กำลังเป็นกระแสในประเทศ มันก็สามารถทำตรงนี้ต่อยอดไปได้”

เพิ่มรัฐสวัสดิการ-เพิ่มโอกาส แนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

หากกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้นการที่จะต้องเอ่ยถึงความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็เกี่ยวโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างไม่น้อยทีเดียว โดยในเรื่องนี้สันติธารกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นมีทั้งก่อนเข้าตลาดแรงงานและหลังเข้าตลาดแรงงาน บางคนไม่ได้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำแค่เฉพาะเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสด้วย

ตัวอย่างเช่น หลายคนในประเทศนี้เกิดมาไม่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนดีๆ หรือมีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ท้ายสุดต้องออกกลางคัน เนื่องจากรายได้ไม่พอจะเรียนต่อ หรือบางคนมีโอกาสได้เรียนจนจบแล้ว มีไอเดียในการประกอบธุรกิจดีๆ แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งการเงิน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะไม่มีสินทรัพย์มาวางเป็นหลักประกัน ทำให้ไม่สามารถต่อยอดได้ หรือแม้กระทั่งบางคนที่บ้านมีหนี้แต่ต้น โอกาสของคนกลุ่มนี้ก็จะติดลบไปโดยปริยาย

ในส่วนของโอกาสหลังจากเข้าตลาดแรงงาน สันติธารอธิบายด้วยตัวอย่างว่า สมมติมีคนเข้ามาทำธุรกิจ หรือเข้ามาทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้ว่าโลกการแข่งขันนั้นจะมีผู้ชนะและผู้แพ้เป็นธรรมดา แต่จำเป็นต้องตั้งคำถามว่า พอแพ้แล้วพวกเขาไปไหน แพ้แล้วมีโอกาสแก้ตัวหรือไม่ หรือแพ้แล้วแพ้ไปเลย ไม่สามารถลุกขึ้นใหม่ได้อีก คนทำงานที่ตกงาน หรือนักศึกษาจบใหม่ที่เรียนมาทางนี้ แต่โลกกำลังหมุนไปอีกทางหนึ่ง จะมีทาง Reskill ที่จะทำให้กลับไปหางานใหม่ได้หรือไม่ ระหว่างที่ยังหางานไม่ได้ จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในแต่ละวัน ทั้งหมดนี้เป็นคำถามตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำหลังจากเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมีรัฐสวัสดิการเป็นคำตอบหนึ่งในการแก้ไขปัญหา

“จะเริ่มเห็นว่าโจทย์ของรัฐสวัสดิการจะเข้ามาแก้ปัญหาบางอันเหมือนกัน ผมไม่ได้เริ่มจากการบอกว่ารัฐต้องเป็นสวัสดิการทั้งหมด แต่ต้องให้สวัสดิการในขั้นต่ำที่เพียงพอจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น เริ่มต้นมาเด็กเขาต้องออกจากการศึกษา แล้วเขาจะไปเอาโอกาสมาจากไหน ฉะนั้น รัฐต้องมีสวัสดิการที่อย่างน้อยเด็กพวกนี้ต้องไม่ตกหล่นจากโรงเรียน ให้เขาเรียนต่อได้ วันข้างหน้าเขาอาจจะได้เป็นนักธุรกิจที่สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศเลยก็เป็นได้

“ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วตกงานหรือธุรกิจเจ๊ง ถ้ามีสวัสดิการให้เขาอยู่ในสายป่านต่อไปได้ เขาก็อาจจะได้ไปฟอร์มธุรกิจใหม่ จริงอยู่ทุกคนเคยล้มกันทั้งนั้น ถ้าคุณ Fail fast, Learn Fast แต่เงินคุณหมดแล้ว ไม่มีใครให้โอกาสคุณแล้ว คุณก็จบ แต่ถ้าคุณมีสวัสดิการเพียงพอให้คุณระดับหนึ่ง คุณก็ยังสามารถกลับตัวให้พออยู่ได้ ไปหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ได้ เข้าถึงแหล่งใหม่ๆ ก็ได้เช่นกัน”

รัฐสวัสดิการสำหรับสันติธารจึงเปรียบเสมือนการลงทุนให้กับคนในประเทศ ที่ไม่เพียงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังช่วยในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคน และนำมาสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“รัฐสวัสดิการผมมองว่าเป็นเรื่องของดีกรี บางครั้งเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ เราก็อาจจะนึกไปถึงขั้นประเทศในยุโรปเหนือ ผมเป็นคนที่ไม่ได้เป็นสาวกของรัฐสวัสดิการอะไร เพียงแต่คิดว่าจากปัจจุบันมันควรจะมีตาข่ายรองรับทางสังคมที่ดีขึ้นหรือเปล่า เพราะรัฐสวัสดิการไม่ได้ช่วยแค่เรื่องของความเหลื่อมล้ำ แต่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขยายพายเศรษฐกิจโดยรวมด้วย”

“การที่ต้องมีมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ขาดมากๆ อยู่ ไม่ได้แปลว่าเราต้องการที่จะให้มีเท่ากับยุโรปเหนือ ผมเชื่อว่าแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ก็ต้องดูว่าอะไรเหมาะสมกับเรา” สันติธารกล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save