fbpx

เป็นธรรมกับวาระสิทธิและสันติภาพ : ‘กัณวีร์ สืบแสง’ และการผลักดันสิทธิมนุษยชนในว่าที่รัฐบาลใหม่

กว่าเก้าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะทั้งในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 หรือรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ก็ล้วนแต่มีข้อกังขาเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้ภาพของการมีสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ไม่น่าพิศมัยบนเวทีโลก

ปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เริ่มตั้งแต่การฟื้นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ห้ามมิให้มีการจับหรือกุมขังประชาชนโดยพลการของเจ้าหน้าที่รัฐ การไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดี การไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน หรือแม้แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ อย่างปัญหาผู้ลี้ภัยเองก็ตาม เพื่อที่จะทำให้สถานะของประเทศไทยถูกวางบนตำแหน่งใหม่ในทางสิทธิมนุษยชนและการต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้เอง ในฐานะบุคคลผู้คร่ำหวอดในวงการการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 101 ชวน ‘กัณวีร์ สืบแสง’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงาน การผลักดันแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของว่าที่รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นนี้

สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลผ่านมุมมองของ ส.ส. ป้ายแดง

ตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งจนกระทั่งถึงการเซ็นรับรอง MOU ของแปดพรรคร่วมรัฐบาล ในฐานะผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาฯ เป็นครั้งแรก กัณวีร์มองว่ามีหลายเรื่องที่ตนได้รับทราบและเรียนรู้จากนักการเมืองหลายท่าน ซึ่งบรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มาโดยตลอด แม้กระทั่งเรื่องประธานสภาที่ดูจะเป็นประเด็นระอุในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ตาม

“ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ที่มีร่าง MOU ออกมา ทุกพรรคร่วมนำเอาร่าง MOU ที่ก้าวไกลเสนอไปพิจารณา กว่าจะตกผลึกได้นั้นใช้เวลาจนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนการแถลงจริงๆ เป็นความสละสลวยทางด้านการเมืองที่นักการเมืองหน้าใหม่อย่างผมได้เข้าไปสัมผัส สิ่งนี้เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย เพราะเรายอมรับเสียงของทุกคนแม้กระทั่งพรรคเล็กๆ”

“เวลาพูดคุยกัน เราไม่ได้พูดคุยกันในฐานะศัตรู เราพูดคุยในฐานะคนทำงานร่วมกัน มีทีมเวิร์กที่ดี สามารถพูดกันได้ว่าแต่ละพรรคมีความต้องการอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างเราเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้ารัฐบาลชุดนี้สามารถจัดตั้งได้จะเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเรามีจุดยืนที่ ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง”

“เรื่องประธานสภา พรรคร่วมทั้งแปดพรรคมีมติว่า การจะเลือกประธานสภาในครั้งนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของพรรคใหญ่สองพรรคคือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น พรรคเล็กจะไม่ได้ไปร่วมพูดคุยด้วย ก็จะเป็นการเจรจาระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลเท่านั้น” กัณวีร์กล่าว

ซึ่งทางกัณวีร์ยืนยันว่า จนถึงวันนี้ (27 มิถุนายน 2566) ยังไม่มีการเจรจาตำแหน่งใดใดในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีกระแสข่าวเรื่องการแบ่งเก้าอี้กันระหว่างสองพรรคใหญ่มาแล้วก็ตาม

“พรรคใหญ่อาจจะมีการเจรจากันไว้ก่อน อันนี้ก็ไม่ทราบแน่ อย่างที่เห็นข่าวว่า 14+1 ผมยังไม่เข้าใจเลย คงเป็นตามขนบทางด้านการเมืองของพรรคใหญ่ๆ ที่คุยกัน ซึ่งวิถีของการเมืองไทย เขาจะดูตามสูตรสมการว่า ถ้าได้แปดที่นั่งก็จะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการ ต่ำกว่าแปดก็เป็นรัฐมนตรีช่วย พรรคเล็กหนึ่งที่นั่งก็จะไม่ได้อะไร เป็นต้น แต่ขอยืนยันว่าในระหว่างพรรคร่วมยังไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นจริงๆ”

อีกมิติที่กัณวีร์มองว่าเป็นการทำงานแบบการเมืองใหม่ คือการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยแต่ละพรรคร่วมส่งตัวแทนเข้ามาในคณะกรรมการ และทำการแบ่งเป็นคณะทำงานจากกรรมการชุดนั้นออกเป็น 14 คณะทำงาน แปรผันไปตามวาระร่วม 23 ข้อใน MOU 

คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมีหน้าที่ในการเข้าไปศึกษาและจัดทำนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทำงานข้ามกระทรวง และเป็นการทำงานเชิงรุกก่อนจะเปิดสภาฯ

ข้อดีของคณะทำงานนี้คือ เมื่อเปิดสภาฯ และจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายที่ถูกตกผลึกโดยคณะทำงานจะถูกนำไปเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี แต่ละกระทรวงสามารถนำข้อเสนอไปพิจารณาจัดทำนโยบายของตนเองอีกครั้งหนึ่งได้ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อนในสนามการเมืองไทย

“ในคณะทำงานจะเป็นการพูดคุยถึงตัวนโยบายเท่านั้น ไม่มีการพูดคุยถึงตำแหน่งใดๆ เราจะเอานโยบายของแต่ละพรรคที่ให้ไว้กับประชาชนมาวางบนโต๊ะ แล้วพิจารณาว่ามีนโยบายไหนที่สอดคล้องกันทั้งแปดพรรค หรือโดยส่วนใหญ่ และนำตรงนั้นมาเป็นข้อเสนอ หากมีนโยบายไหนที่ขัดแย้งกัน ก็ต้องให้พรรคที่มีข้อเสนอนโยบายนั้นเจรจากันและตกผลึกให้ได้ว่าคุณจะเอานโยบายไหนเป็นข้อเสนอแก่รัฐบาลชุดใหม่”

“การพูดคุยนี้เป็นการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ว่าด้วยหลักการและเหตุผลทั้งสิ้น มีทั้ง ส.ส. สมาชิกพรรค และผู้เชี่ยวชาญที่พรรคการเมืองเชิญมาร่วมทำงานเข้ามาช่วยเสนอแนะเกี่ยวกับการทำนโยบายด้วย เพราะฉะนั้น นโยบายเหล่านี้ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองอย่างเดียว แต่มาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่างๆ ด้วยเช่นกัน” กัณวีร์เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในการทำงาน

ในส่วนของข้อกล่าวหาของพรรคก้าวไกลว่าเป็นพรรคน้องใหม่ ‘อ่อนประสบการณ์’ ส่วนตัวกัณวีร์มองว่า ควรให้ฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผลงานจะเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อจากนี้ ไม่เกี่ยวว่าผู้ที่เข้ามาทำงานมีคุณวุฒิ วัยวุฒิเท่าไร การที่ประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงลงคะแนนให้กับพรรคก้าวไกลมากที่สุด หรือแม้แต่พรรคเล็กอย่างเป็นธรรมก็ตาม ล้วนแต่สะท้อนถึงเจตจำนงที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสนามการเมืองและประเทศชาติของประชาชน

“เราอย่าไปตราเขาว่าเป็นเด็กไม่มีประสบการณ์ เราควรยึดฉันทามติของพี่น้องประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ถึงเวลานั้นผลงานจะเป็นตัวชี้ชัดเองว่าเขาทำได้ดีหรือไม่”

และในการเลือกนายกที่กำลังจะเกิดขึ้น หนึ่งเสียงจากพรรคเป็นธรรมกล่าวว่า อย่างไรแล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะต้องเป็นผู้ถูกเสนอชื่ออันดับหนึ่ง และร่วมผลักดันให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 

“ผมคิดว่าทุกเสียงสำคัญ เป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือว่ามาจากพี่น้องประชาชน แต่พรรคเป็นธรรมจะยึดตามหลักการ แม้เราจะมีเสียงเดียว อย่างไรก็จะยกมือให้กับคุณพิธา”

“ผมว่าทุกพรรคการเมืองทราบอยู่แล้วว่าการเมืองไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ผมยังเชื่อมั่นในวุฒิภาวะของนักการเมืองทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรือแม้แต่ฝ่ายที่ไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยก็ตาม ตอนนี้ประชาชนเขาถามแค่ว่าเมื่อไรจะมีรัฐบาลใหม่ เมื่อไรจะมีนโยบายมาช่วยแก้ปัญหา เพราะพี่น้องประชาชนอดอยากมาเก้าปีแล้ว เขาอยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า ถ้าเรายังช้าอยู่คนที่ลำบากคือพี่น้องประชาชน และเราไม่สามารถมีจุดยืนบนเวทีระหว่างประเทศได้ด้วย ทั่วโลกกำลังจับตามองเราอยู่ ผมไม่อยากให้ประเทศไทยขายหน้า”

“ถ้าคุณผิดทั้งอุดมการณ์ ผิดทั้งหลักการ คุณอย่ามาเป็นผู้แทนประชาชน ผมยังยืนยันในอุดมการณ์ของนักการเมืองว่ามีพี่น้องประชาชนรออยู่ ถ้าเราไม่มีตรงนี้แล้ว การเข้ามาเป็นนักการเมืองก็เสียเวลา” กัณวีร์กล่าว

จาก ราชการ มา NGO สู่การนั่งเก้าอี้ ส.ส. ในสภาฯ ไทย

หลังจากเล่าถึงสถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังคงต้องจับตาดูต่อไปแล้ว กัณวีร์ก็ได้แบ่งปันประสบการณ์การเป็นนักสิทธิมนุษยชน บนเส้นทางของการทำงานในระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการที่เขาได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ และทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ทำให้มีความต้องการกลับมาทำงานที่สามารถผลักดันนโยบายด้านผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

“ผมเริ่มต้นจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เข้าไปทำเพราะชอบการเมืองจริงๆ แต่ยังไม่เคยมีภูมิหลังทางด้านการเมือง เป็นคนธรรมดา เรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทุนการศึกษาไปเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มานุษยวิทยา แล้วก็ทำงานทางด้านผู้ลี้ภัย จึงมีความคิดอยากกลับมาทำงานอะไรที่สามารถผลักดันด้านนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชน ก็เห็นมีสมช. ที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่ทำเรื่องนโยบายนี้”

“ผมทำงานสมช.ประมาณช่วงปี 2545-2546 สมัยนายกฯ ทักษิณ เราเข้าไปวันแรกได้อ่านตัวนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ตอนนั้นที่ชอบที่สุดคือ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติของไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยสงครามเย็นค่อนข้างมาก เปลี่ยนจากความมั่นคงทางการทหาร ความมั่นคงแบบอนุรักษนิยม มาเป็นความมั่นคงแห่งมนุษย์ แสดงว่ามนุษย์หรือประชาชนคนไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางของทั้งหมดในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงต่างๆ”

นักเรียนนอกผู้เข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหน่วยงานราชการไทย กระโดดเข้าไปทำงานในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องปัญหาชายแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การระดมสัพกำลังในการเตรียมพร้อมฝึกซ้อมต่างๆ แวะเวียนอย่างนี้อยู่นานปี จนกระทั่งเริ่มรู้สึกว่าทัศคติบางอย่างของตนไม่เข้ากันกับองค์กร จึงถอยออกมา

“พอทำ สมช. เราเริ่มเห็นว่าองค์กรมีความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารค่อนข้างเยอะ ผมเลยรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่เรื่องที่เราต้องการแล้ว เราต้องการทำงานที่ตอบสนองความต้องการและช่วยเหลือประชาชนได้จริงๆ ตอนนั้นผิดหวังเล็กน้อย”

กัณวีร์เล่าความหลังซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานบนเส้นทางในสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) เวลาต่อมา

“เห็น UNHCR เปิดรับอยู่จึงไปสมัคร ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยตามที่เราเรียนจบมาจริงๆ แต่ทำอยู่ไม่กี่ปีในแม่ฮ่องสอนก็ได้เดินทางนอกเดินประเทศไป 12 ปี เริ่มจากแถบแอฟริกาสี่ประเทศ ซูดานเหนือ ซูดานใต้ ชาด ยูกันดา แล้วก็มาบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เมียนมา และประเทศไทย ทั้งหมดแปดประเทศ” กัณวีร์เท้าความ

ในช่วงสุดท้ายของการทำงานกับ UNHCR เป็นช่วงระหว่างสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารเมียนมา เขาทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเมียนมาในประเทศไทย แต่เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 90,000 คนนั้นไม่สามารถกลับประเทศบ้านเกิดได้ แต่การให้การสนับสนุนเรื่องมนุษยธรรมข้ามแดนจากประเทศไทยไปสู่เมียนมานั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรในการดำเนินการ กัณวีร์ให้ความเห็นว่า การทำงานด้านมนุษยชนนั้น ทุกวินาทีมีค่าเสมอ ความยากลำบากและล่าช้านี้จึงเป็นชนวนให้เขาหันมาจัดตั้งมูลนิธิเพื่อทำเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรงเสียเอง

“ผมคิดว่าถ้ามันยากเย็นนักก็ลาออกมาตั้งมูลนิธิเอง ชื่อ ‘มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ’ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยธรรม และสันติภาพ ไม่มีเงิน มีแต่ใจ ผมทำงานเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ที่โดนกักขังเก้าปีในประเทศไทย พี่น้องโรฮิงญาผู้ลี้ภัยในประเทศไทยว่าเขายังไม่ได้รับการคุ้มครอง ยังโดนผลักออก หรือโดนขังลืมเช่นกัน และทำให้ทราบว่าทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้คือมูลนิธิจะต้องเข้าไปพูดคุยที่รัฐสภา”

“เพราะนักการเมืองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พวกเขาสามารถร่วมมือกับฝ่ายราชการประจำได้ ผมจึงเข้าไปคุยกับคณะกรรมาธิการ คุยอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง ได้รับการตอบรับดี แต่การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนจำเป็นต้องใช้ทักษะ ใช้ความรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมาก ซึ่งพอถึงเวลาแล้วมันไม่ได้ไปไหน ผมจึงตัดสินใจว่า หากนักการเมืองไทยที่มีอยู่ยังไม่สามารถทำงานตรงนี้ได้ ผมควรเข้ามาเป็นนักการเมืองแล้วผลักดันเรื่องนี้จะดีกว่าหรือไม่ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมกระโดดเข้ามาเป็นนักการเมือง”

จากนักสิทธิมนุษยชนเข้ามาสู่แวดวงการเมืองโดยการเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย และล่าสุดได้เข้าสภาฯ มาในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม ล้วนแล้วแต่ยึดถือความต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นในประเทศไทยเป็นที่ตั้ง แม้ว่าจะอยู่ในสภาฯ ด้วยเสียงจากพรรคเพียงเสียงเดียวก็ตาม แต่นี่ถือเป็นอุดมการณ์ใหญ่ของกัณวีร์มาตั้งแต่สมัยยังรุ่น

“ผมเห็นว่าผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทยเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับพวกเรา แต่เขาถูกมองให้ไม่เป็นมนุษย์เพียงเพราะเหตุผลทางด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ที่ไม่เหมือนคนไทย ถูกมองว่าหากมีผู้ลี้ภัยเข้ามาแล้วจะเป็นภาระให้กับประเทศ เข้ามาเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคง ทำไมเราไม่มองเขาให้เป็นมนุษย์ ทำไมต้องมองเขาเป็นแค่ผู้ลี้ภัย พอเราไปแปะป้ายใส่หน้าผากเขา เท่ากับเรากำลังปิดกั้นการใช้ชีวิต ปิดกั้นการทำงาน ปิดกั้นโอกาส ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพที่จะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างปุถุชนของพวกเขาไปด้วย”

“หลายคนชอบบอกว่าพวก NGO มูลนิธิ ภาคประชาสังคมมักจะทำอะไรลัดขั้นตอน แต่ผมว่าการช่วยเหลือชีวิตคนนั้น เวลาทุกวินาทีมีค่ามาก ฉะนั้น การทำงานด้านมนุษยธรรมจำเป็นต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การมีมูลนิธิเป็นของตัวเองมีความคล่องตัวกว่าการทำงานราชการหรือองค์กรอื่น แต่การเป็นมูลนิธิก็ทำงานได้ไม่คล่องเพราะไม่มีอำนาจ จะไปผลักดันด้านไหนมากกว่านั้นก็ไม่ได้ เราต้องใช้กลไกรัฐสภา” กัณวีร์กล่าว

เมื่อ ‘สิทธิมนุษยชน’ ควรเป็นหนึ่งในโจทย์การเมืองของว่าที่รัฐบาลใหม่

กรณีศึกษาอุยกูร์

กัณวีร์อธิบายถึงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเพื่อเน้นย้ำว่าเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสิทธิมนุษยนชนที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งเขายกตัวอย่างให้ฟังถึงชาวอุยกูร์จากประสบการณ์การทำงานที่ได้พบเจอมา

“พี่น้องอุยกูร์เดินทางมาที่ประเทศไทยตอนปี 2557 หนีความตายมาจากซินเจียงอุยกูร์ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษในประเทศจีน พื้นที่ตรงนั้นมีการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลจีนกับชาวอุยกูร์ที่ถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ซินเจียงอุยกูร์อยู่ไกลจากประเทศไทยมาก กว่าพวกเขาจะเดินทางมาได้จนมาโดนจับที่หาดใหญ่ ใช้เวลาร่วมสี่เดือน ตอนนั้นผมทำงานอยู่ UNHCR และถูกส่งให้ไปดูแลเรื่องโรฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้พอดี”

ใกล้รุ่งของคืนหนึ่งในปี 2557 กัณวีร์ได้รับโทรศัพท์จากทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ประจำหาดใหญ่ว่า พวกเขาจับคนกลุ่มหนึ่งได้ในป่า แต่ดูจากลักษณะแล้วไม่คล้ายคลึงกับชาวโรฮิงญาที่คุ้นเคยเท่าไรนัก จึงวานให้เจ้าหน้าที่ UNHCR อย่างกัณวีร์เข้ามาช่วยตรวจสอบ

“ผมไปถึงตรงนั้นประมาณตีห้า ก็เห็นกลุ่มคนกว่าสองร้อยชีวิต ทราบโดยทันทีว่าไม่ใช่ชาวโรฮิงญาอย่างแน่นอน เขามีท่าทีปฏิปักษ์ชัดเจน ผู้หญิงอยู่ข้างหลัง ผู้ชายอยู่ข้างหน้า แสดงออกว่าถ้าเราเข้าไปเขาพร้อมต่อสู้ รูปถ่ายจากตม.ที่ได้มาคือพวกเขาอยู่ในสวนยาง ลูกตัวเล็กๆ มียุงเกาะเต็มหน้าไปหมด พวกเขาไม่ยอมคุยกับผมเลยแม้ว่าผมจะใส่ชุดของ UN ไปก็ตาม”

นั่นเป็นการเจอกันครั้งแรกระหว่างกัณวีร์กับพี่น้องอุยกูร์ การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนกับผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เป็นไปได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นใคร มาจากไหน และไม่มีพวกเขาคนใดยอมไว้ใจเจ้าหน้าที่จนเอ่ยปากพูดออกมา

“ผมต้องติดต่อ Operations หลายๆ ประเทศในการที่จะให้มี speaker พูดออกมาเสียงดังๆ ให้พวกเขาได้ยิน ภาษานั้นไม่ใช่ ภาษานี้ไม่ใช่ สุดท้ายผมโทรไปออฟฟิศที่ตุรกีให้เขาพูดภาษาเติร์กออกมา”

“พอได้ยินภาษาเติร์ก ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือคนทั้งสองร้อยคนหันมามองเป็นตาเดียว เลยคิดว่าน่าจะแถบนี้แหละ จึงประสานไปที่สถานทูตตุรกีประจำประเทศไทย ทางเอกอัครราชทูตเลยส่งอุปทูตเข้ามาอยู่ในพื้นที่ พอท่านมาถึง พวกเขาร้องไห้กันหมด จากนั้นจึงยอมพูดด้วย” กัณวีร์เล่า

เมื่อทราบถึงความเป็นมาของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์แล้ว เจ้าหน้าที่จึงคิดแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับพวกเขา โดยตัวกัณวีร์ติดต่อประเทศตุรกีผ่านทางสถานทูตไทย เพื่อให้รับทราบเรื่องผู้ลี้ภัยจำนวน 200 กว่าคน ต่อมาตม.หาดใหญ่แจ้งว่า พบผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่สวนพลูอีกประมาณ 150 คน รวมทั้งหมดแล้ว 400 คน จึงประสานทางตุรกีว่าจะสามารถรับไปช่วยเหลือในเรื่องการตั้งถิ่นฐานใหม่ทั้งหมดได้หรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของตุรกีในขณะนั้นก็ตอบรับทันที และจะส่งเครื่องบินมารับผู้ลี้ภัยภายใน 24 ชั่วโมง

กระนั้นก็ตาม ความฝันในการส่งผู้ลี้ภัยไปมีชีวิตใหม่ของนักสิทธิผู้นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เมื่อเช้าวันต่อมากลับมีคำสั่งยุติการดำเนินการทั้งหมด เนื่องจากการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลประเทศจีนว่า หากจะส่งชาวอุยกูร์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ จำต้องพิสูจน์ทราบสถานะบุคคลเสียก่อน ผู้ลี้ภัยจึงยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย กอปรกับช่วงเวลานั้นกัณวีร์ต้องย้ายไปทำงานที่ซูดานใต้ ทำให้ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับกระบวนการจัดการที่เกิดขึ้นกับพี่น้องอุยกูร์กลุ่มนี้อีก

“มาทราบทีหลังว่า 150 คนได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ตุรกี 109 คนโดนส่งกลับประเทศจีนโดยไม่ทราบชะตากรรม อีก 50 คนอยู่ในห้องกักของตม.ทั่วประเทศ ซึ่งตอนหลังเสียชีวิตแล้วห้าคน ตอนนี้จึงเหลือ 40 กว่าคน ที่อยู่ในห้องกักขังของประเทศไทยมาแล้วกว่าเก้าปี”

ผลักดันผู้ลี้ภัยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

กัณวีร์กล่าวว่า ปัจจุบันสถานะของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีจำนวนศูนย์คน เนื่องจากไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่าผู้ลี้ภัยลงไปในกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบันมีเพียงพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ฉบับเดียว และให้อำนาจเพียงแค่จับกุม กักขัง และส่งตัวกลับเท่านั้น แม้ว่าจะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะปรับใช้เร็วๆ นี้ แต่ยังไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน

“สภาฯ เราต้องเอาปัญหาใต้พรมเหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนพรมให้ได้ เราต้องยอมรับว่าเรามีผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะและให้การคุ้มครองจาก UNHCR อยู่ประมาณ 5000 คน เรามีผู้ลี้ภัยชาวพม่าอยู่บริเวณที่พักพิงชายแดน 91,000 กว่าคน เรามี 3-4000 คนที่หนีความรุนแรงมาจากประเทศพม่า เรายังมีโรฮิงญา เรายังมีอุยกูร์อยู่”

“ผมทำงานผู้ลี้ภัยมา 12 ปี เชื่อผมเถอะ แค่วันเดียวก็ไม่มีใครรู้สึกอยากเป็นผู้ลี้ภัยหรอก เราไม่อยากหนีตาย เราไม่อยากโดนยิง เราไม่อยากเห็นภรรยาเราถูกข่มขืนต่อหน้า เราไม่อยากเห็นสามีเราโดนฆ่าตาย เราไม่อยากเห็นลูกเราโดนฆ่า ไม่มีใครที่อยากเป็นผู้ลี้ภัย”

ในส่วนของจุดยืนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของสองพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างก้าวไกลและเพื่อไทย กัณวีร์กล่าวว่า จากการที่ผ่านวงดีเบตมาแล้วหลายครั้ง หลายพรรคการเมืองมีความสนใจในด้านสิทธิมนุษยชนอยู่เช่นกัน เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาทำงานในส่วนนี้อาจจะยังมีน้อย ไม่ค่อยมีนักสิทธิมนุษยชนที่พร้อมจะกระโดดเข้ามาในสนามการเมืองอย่างเต็มตัว

“การตัดสินใจเข้ามาทำงานตรงนี้มีราคาสูง การทำงานการเมืองคือการเมือง แต่นักสิทธิต่างๆ ต้องยึดหลักการ ฉะนั้น ตอนผมตัดสินใจมาเป็นนักการเมือง ผมจึงเสนอนโยบาย ‘มนุษยธรรมนำการเมือง’ ในทางการปฏิบัติมันก็มีรายละเอียดของมัน หากใครเป็นนักสิทธิจะรู้ว่าใจกลางของการจัดทำนโยบายของภาครัฐต้องอาศัยหลักกระบวนการอิงสิทธิมนุษยชน หรือ rights-based approach เพื่อนำมาปรับใช้”

“เราต้องตีโจทย์ให้ออกว่าจุดยืนของเราควรเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ผมยอมรับว่าก้าวไกลมีอุดมการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเยอะ แค่ต้องการคนที่สามารถลงลึกในรายละเอียดให้พวกเขาได้” กัณวีร์แสดงความคิดเห็น

กระนั้น การจะผลักดันเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องผู้ลี้ภัย ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้อย่างง่ายดาย อย่างน้อยที่สุดจำต้องผ่านด่านการยอมรับจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ก่อน ซึ่งมีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะถูกกระแสวิจารณ์ในเชิงลบ ประเด็นนี้ กัณวีร์มองว่าอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น แต่เขาก็ยังยืนยันในหลักการ ยืนยันที่จะสร้างสังคมที่ทุกคนมองมนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างอย่างไรก็ตาม

“โหวตเตอร์ของผมไม่ใช่กลุ่มคนที่ผมช่วยเหลือสักคน เพราะคนกลุ่มนั้นเลือกตั้งไม่ได้ แต่ผมอยากทำงานให้ประเทศไทยเห็น ให้ทุกคนมองเห็นว่ามนุษย์คือมนุษย์ ระบอบประชาธิปไตยง่อนแง่นที่มีมา 91 ปี จะปักหลักลึกลงในประเทศไทย ประชาชนจะเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง รัฐบาล นักการเมือง จะไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราจะเป็นกลางโดยใช้หลักการและเหตุผลต่าง ๆ ฉะนั้น ผมยังเชื่อมั่นว่าการทำงานด้านนี้จะทำให้คนเห็นว่าคนเท่ากัน” กัณวีร์ย้ำ

สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาภายในที่ไม่ควรมองข้าม

นอกจากเรื่องผู้ลี้ภัยแล้ว อีกหนึ่งปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ควรได้รับการแก้ไขที่กัณวีร์นำเสนอคือ ปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งที่อาจโดนโจมตีไม่ต่างกัน

“19 ปีที่ผ่านมางบประมาณ 500,000 ล้านบาทถูกเทลงไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี แต่เรายังไม่เห็นสันติภาพแบบยั่งยืนเกิดขึ้นเลย ผมมองว่าการตั้งสมมติฐานและสมการของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่สามารถตอบโจทย์การสร้างสันติภาพได้”

“ประชาชนยังรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ยังมีความหวาดระแวงภาครัฐ ความหวาดระแวงกันเอง พี่น้องไทยพุทธหรือไทยมุสลิมยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น เรายังรู้สึกว่าต้องมีเกาะคุ้มกันต่างๆ นานา ทำไม 500,000 ล้านบาทถึงไม่สามารถทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดีได้”

สิ่งที่พรรคเป็นธรรมเสนอให้กับคณะทำงานของแปดพรรคร่วมในการพิจารณาแก้ไขปัญหาชายแดนใต้จึงมี 3 วาระด้วยกัน คือ

1.) ยกระดับกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ – เนื่องจากปัญหาชายแดนภาคใต้ถูกกดทับให้เป็นเพียงปัญหาภายในพื้นที่เสมอมา แม้ว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนั้น ไม่เพียงแต่ ส.ส. ที่มีอยู่ในสามจังหวัดที่จะต้องพูดถึงปัญหา แต่สิ่งนี้ควรเป็นวาระของ ส.ส. ทั้ง 500 คน เพื่อที่จะไม่นำเอางบประมาณลงไปในพื้นที่ แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

2.) เปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่พี่น้องประชาชนสามจังหวัด – เนื่องจากประชาชนในพื้นที่นั้นถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายพิเศษ ทั้งพรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก มานานเกือบสองทศวรรษ ซึ่งเสนอให้รัฐบาลใหม่รื้อกฎหมายพิเศษเหล่านี้ออกไป เพื่อทวงคืนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนสามจังหวัดกลับคืนมา

3.) ปฏิรูประบบโครงสร้างราชการ – เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าท้องถิ่นคือผู้ใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถรับรู้ถึงวิถีชีวิต ปัญหาของชาวบ้านได้ดีที่สุด ดังนั้นการให้อำนาจจังหวัดในการปกครองตนเอง ก็จะทำให้มีการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้

ข้อสุดท้ายนี้ไม่เพียงใช้กับสามจังหวัดชายแดนเท่านั้น แต่รวมถึงอีกหลายจังหวัดที่เป็นแนวชายแดนเพื่อนำร่องระบบปกครองตนเองแบบป่าล้อมเมือง 

และในส่วนของข้อกังขาเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนนั้น กัณวีร์ยืนยันว่า แม้จะมีการปกครองตนเองเกิดขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากประเทศไทยยังคงเป็นรัฐเดียว และทุกจังหวัดยังคงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ที่จะทำเป็นเพียงการกระจายอำนาจเพื่อความสะดวกต่อการบริหารเท่านั้น

“พรรคเป็นธรรมเราเสนอ 31 จังหวัดชายแดน บวกกับ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง คือให้จังหวัดรอบประเทศเริ่มต้นก่อน เพราะเราเห็นว่ามีสารตั้งต้นเกี่ยวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าชายแดนและสินค้าข้ามแดน”

“แต่ละปีเรามีเม็ดเงินจากชายแดนต่างๆ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล หากเราสามารถทำเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นให้เกิดขึ้น เอา 70 เปอร์เซ็นต์มาใช้บริหารจัดการในพื้นที่ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือส่งส่วนกลาง เพราะเรายังเป็นรัฐเดียวอยู่ มันไม่ถือเป็นการแบ่งแยกดินแดนเลย”

“รัฐธรรมนูญมีเขียนไว้ชัดเจนถึงการปกครองตนเอง อย่างกรุงเทพมหานครทำไมถึงเลือกตั้งผู้ว่าได้ พัทยาปกครองตนเองได้ แสดงว่ากรุงเทพฯ พัทยา จะเป็นเอกราชหรือ ก็ไม่ใช่ นโยบายทุกอย่างที่เสนอไปอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด ฉะนั้น ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล” กัณวีร์กล่าวสรุป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save