fbpx

การเดินทางของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่และกลวิธีอันน่าสนใจใน หนึ่งนับวันนิรันดร

กิตติศักดิ์ คงคา เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมายมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ ผลงานของเขามีทั้งวรรณกรรมทั่วไป นวนิยายวัยรุ่น (นามปากกา นายพินต้า) และการลงทุน การเงิน (นามปากกาลงทุนศาสตร์) ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับจากหลากหลายเวที กิตติศักดิ์เขียนงานได้หลากหลายและน่าทึ่ง คุณภาพของผลงานแต่ละชิ้นของกิตติศักดิ์สม่ำเสมอและผ่านการทำการบ้านอย่างดีแทบทั้งสิ้น จนมาถึง ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ นวนิยายที่มีโครงสร้างแปลกประหลาด น่าสนใจ และชวนให้เราใคร่คิดคำนึงถึงความรักที่เป็นนิรันดร์ว่าไม่เพียงแต่ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน แต่มันคือความรักที่มิรู้เหน็ดเหนื่อยอีกด้วย

‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ เป็นนวนิยายที่มีโครงสร้างน่าสนใจ กิตติศักดิ์นำเอา ‘นวนิยายไทย’ ชั้นครูจนถึงนวนิยายไทยร่วมสมัย มาใช้เป็นชื่อบทและร้อยเรียงแต่ละบท เป็นเรื่องราวความรัก ความทรงจำ ประวัติศาสตร์และความหมายของเวลาเข้าไว้ด้วยกัน เทคนิคลักษณะนี้ดูเหมือนกิตติศักดิ์จะเคยใช้ใน ‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย’ นั่นคือการนำเอาชื่อร้านหนังสืออิสระมาใช้ในการร้อยเรียงราวในเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน[1] แต่ในนวนิยาย ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ผมเห็นว่ากิตติศักดิ์มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด เพราะเขานำเอาแก่นเรื่อง จุดเด่น ของนวนิยายที่เขาเลือกมาแต่ละเรื่องเป็นองค์ประกอบในแต่ละตอนหรือมาเป็นส่วนสำคัญเพื่อนำเสนอ ‘ตัวเรื่อง’ ของนวนิยาย อีกทั้งยังผสมผสานเข้ากับแนวคิดเรื่องเวลาและประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงได้อย่างกลมกลืน

ประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมไทยในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่

‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ประกอบไปด้วยเรื่องราวทั้งหมด 20 ตอน แต่ละตอนเป็นการนำ ‘นวนิยายไทย’ มาเป็นชื่อบทและไม่เพียงแต่เป็นชื่อบทเท่านั้น เพราะกิตติศักดิ์จับประเด็นสำคัญและคุณลักษณะของนวนิยายแต่ละเรื่องมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของตัวเรื่อง เช่น ฉาก การกระทำของตัวละครแต่ละตัวที่สัมพันธ์และสอดคล้องกับนวนิยายแต่ละเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้นเราจะได้เห็นการตีความ ‘นวนิยาย’ เหล่านั้นของกิตติศักดิ์เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญในเรื่องเล่าของเขาที่ปรากฏใน ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’

นวนิยายทั้งหมดในเรื่อง ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ของศรีบูรพา ที่เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2479 และนำมารวมพิมพ์ครั้งแรกในปี 2481 จนถึง ‘ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง’ ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2562 แม้ว่าการเรียงลำดับของตอนต่างๆ จะพยายามเรียงตามปีที่พิมพ์ของนวนิยายแต่ละเรื่อง แต่ในบางตอนก็ไม่ได้ลำดับตามปี เช่น ตอนที่ 18 ใช้นวนิยายเรื่อง ‘ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง’ ของจิดานันท์เป็นชื่อตอนและตอนที่ 19 ใช้ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ โดย วีรพร นิติประภา ‘ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง’ นั้นตีพิมพ์ในปี 2562 แต่ในขณะที่ ‘พุทธศักราชอัสดงฯ’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2559 แต่ก็เข้าใจได้ว่า การไม่เรียงลำดับปีเหมือนกับตอนก่อนหน้านี้อาจเป็นเพราะเนื้อเรื่องของ ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ นั้นดำเนินมาถึงตอนที่เหมาะสมกับนวนิยายที่ใช้เป็นชื่อตอน กิตติศักดิ์อาจคำนึงถึงเนื้อหาของนิยายมากกว่าการลำดับปีของนวนิยายอย่างถูกต้องเช่นที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ในตอนสุดท้ายกิตติศักดิ์ จบนวนิยายด้วยการใช้ ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ ของศรีบูรพาที่ตีพิมพ์ในปี 2493 ดังนั้นการขึ้นต้นและจบด้วยงานของศรีบูรพาจึงมีนัยยะที่สำคัญบางประการ ประการหนึ่งก็อาจเป็นเพราะงานของศรีบูรพาเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องของการเขียนวรรณกรรมให้กับกิตติศักดิ์ แต่ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่ผมอยากจะชวนสนทนาก็คือการย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับศรีบูรพาซึ่งอยู่ในช่วงยุคทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นช่วงที่ ‘วรรณกรรมก้าวหน้า’ มีชีวิตชีวามากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ และงานชิ้นนี้ของศรีบูรพาเองก็เป็นงานที่ ‘ก้าวหน้า’ ที่สุดเรื่องหนึ่งของศรีบูรพาเองและในยุคสมัยของเขา จะตั้งใจหรือไม่ก็ตามมันชวนให้ผมไพล่นึกไปถึงความอาลัยอาวรณ์ที่มีต่องานเขียนแบบ ‘ก้าวหน้า’ ในอดีตที่หมดพลังไปแล้ว

แม้ว่ากิตติศักดิ์จะออกตัวเอาไว้ตั้งแต่คำนำนักเขียนว่า “ทุกการกล่าวถึงเป็นไปด้วยความเคาพและให้เกียรติในฐานะนักเขียนยิ่งยวด ผมถือเอาหลักทางกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด ไม่หยิบยืมสิ่งใดมากไปกว่าชื่อหนังสือและความทรงจำที่ติดค้างอยู่ในสมองของผมเองในเรื่องเล่าตระการตา” แต่ถ้าหากพิจารณา ‘นวนิยาย’ ทั้ง 20 เรื่องที่กิตติศักดิ์นำมาใช้เป็นชื่อตอนแต่ละตอนของนวนิยาย ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ในแง่มุมหนึ่งมันอาจสะท้อนให้เห็นการเดินทางของพัฒนาการวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ก็เป็นได้ จริงอยู่ว่างานเขียนเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจของกิตติศักดิ์ในฐานะนักเขียน แต่มันยังมีศักยภาพมากพอที่ชี้ชวนให้เราคิดคำนึงถึง ‘วรรณกรรมไทยสมัยใหม่’ ได้อีกด้วย

ประเภทของนวนิยายในรอบ 60 ปีที่กิตติศักดิ์เลือกมานำเสนอนี้มีหลากหลายแนว เช่น นวนิยายแนวสังคม (ข้างหลังภาพ, ชั่วฟ้าดินสลาย, จนกว่าเราจะพบกันอีก) นวนิยายโรมานซ์ (ปริศนา, พรพรหมอลเวง, ฟ้าจรดทราย) นวนิยายประวัติศาสตร์, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (สี่แผ่นดิน, คู่กรรม, เจ้าจันท์ผมหอมฯ, พุทธศักราชอัสดง) ไซไฟ (ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง) วรรณกรรมสร้างสรรค์ (ลับแลแก่งคอย, พุทธศักราชอัสดงฯ) สิ่งที่น่าสังเกตก็คือส่วนใหญ่แล้วเป็นนวนิยายในกระแสประชานิยม หรืออาจะเรียกได้ว่าเป็นนวนิยายแนวโรแมนติค หลายเรื่องถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละคร และละครเวที และได้รับความนิยมอย่างมาก

ประเด็นที่ผมสนใจคือ ถ้าหากเราอ่าน ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ในฐานะแผนที่การเดินทางของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ซึ่งส่งอิทธิพลมาจจนถึงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย เราอาจเห็นได้ว่า แนวของวรรณกรรมที่ครองอำนาจนำและมีอิทธิพลและได้รับความนิยมในสังคมไทยคือวรรณกรรมโรมานซ์ เรื่องรักใคร่ ไม่ว่าจะเป็นรักสุขหรือรักโศก หรือไม่ก็เป็นวรรณกรรมที่ทำให้เราต้องทบทวนชีวิตของปัจเจกบุคคลผ่านกรอบคิดของพุทธศาสนาแบบไทยๆ เนื้อหาของวรรณกรรมเหล่านี้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในสังคมไทย เพราะมันได้ตอบสนองค่านิยม อุมดมการณ์และอุดมคติบางอย่างของคนในสังคม

ผมนึกถึงข้อเสนอของอาจารย์ นพพร ประชากุล ที่เสนอเอาไว้ว่าธรรมชาติของวรรณกรรมนั้นเกิดขึ้นมาจากสัญนิยมซึ่งเป็นกติการ่วมกันระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านที่ยอมรับร่วมกันโดยนัยในการที่จะสื่อสารความหมายในงานวรรณกรรม สัญนิยมนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากคติความเชื่อค่านิยมที่ ‘ดำรงอยู่แล้วในสังคม’ มาฉวยใช้ในการสื่อความหมายในวรรณกรรม ฉะนั้นแล้วสัญนิยมของวรรณกรรมไทยเป็นสิ่งที่ตอบสนองมายาคติของผู้อ่านนั่นเอง[2] ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่า ‘ข้างหลังภาพ’ ที่แม้จะได้รับการผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบ และได้รับความนิยมในฐานะเรื่องรักต่างชนชั้น ต่างฐานะ ต่างวัยและเรื่องราวอันแสนโรแมนติก จะถูกตีความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยหลัง 2475 ขนาดไหนก็จะไม่ถูกจดจำในกระแสประชานิยม ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ นั้นจะ ‘ซ้าย’ ขนาดไหน ก็จะไม่มีใครสนใจ เพราะมันไม่ได้ตอบสนองต่อมายาคติของผู้อ่านวรรณกรรมไทยในวงกว้างหรือในกระแสประชานิยม

สิ่งที่ผมสนใจก็คือรากฐานและพัฒนาการของวรรณกรรมไทยที่แข็งแรงและมั่นคงนั้นคือวรรณกรรมโรมานซ์มากกว่าวรรณกรรมก้าวหน้า หรือไม่ก็วรรณกรรมที่ต้องขึ้นแท่นธรรมาสน์สั่งสอนธรรมะรายวัน ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างดีชั่วอย่างชัดเจน

รูปแบบและเนื้อหาที่สอดคล้องกันอย่างลงตัวใน ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’

โครงเรื่องหลักของ ‘หนี่งนับวันนิรันดร’ คือการเผชิญหน้ากับความแปลกประหลาดในชีวิตของ ‘เพียงขวัญ’ ทายาทของตระกูลสุริยะสว่างที่ต้องอาศัยอยู่ในเรือนหลังงามที่ตั้งอยู่ริมขอบโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ ‘ตราวุธ’ พ่อบ้านคนใหม่ผู้ซึ่งจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์จากอังกฤษเข้ามาในบ้าน ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะแปลกขึ้นทุกวัน เช่น จะมีของแปลกประหลาดเพิ่มขึ้นมาหนึ่งชิ้นในทุกๆ วัน ตัวเรื่องพยายามชี้นำคนอ่านไปให้เห็นว่าความแปลกประหลาดนี้เกิดขึ้นจากการข้ามภพข้ามเวลา เพราะในตอนต้นเรื่องบทสนทนาระหว่างเพียงขวัญกับตราวุธเป็นเรื่องของเวลาในทางฟิสิกส์ จากนั้นผู้อ่านจะเข้าใจและรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพียงขวัญนั้นเป็นเหมือนกับการข้ามเวลาและมิติไปยังพื้นที่และเวลาในช่วงต่างๆ ที่แตกต่างกันโดยที่เพียงขวัญเองก็ไม่รู้ว่าคือที่ไหนและเวลาใด

ตัวเรื่องค่อยๆ คลี่คลายออกมาว่า แท้จริงแล้วไม่มีการข้ามมิติ ข้ามเวลาใดๆ ทั้งสิ้น เหตุการณ์ทั้งหมดในตัวเรื่องคือการ ‘จำ’ สิ่งที่เคยลืมไปได้ของเพียงขวัญ ตัวละครเพียงขวัญแท้จริงแล้วก็คือ ‘ชุดา เถียงละออ’ เจ้าของบันทึกปริศนาที่เพียงขวัญพยายามค้นหาว่าเป็นใคร โครงเรื่องและตัวเรื่องทั้งหมดแท้จริงแล้วจึงเป็นการเล่นกับความทรงจำของตัวละคร ตัวละครเพียงขวัญ สุริยะสว่างหรือชุดา เถียงละออนั้นเป็นคนคนเดียวกัน ดังนั้นเหตุการณ์ที่ผู้อ่านได้รับรู้ทั้งหมดคือการได้เห็นความทรงจำในชีวิตของชุดาในวัย 81 ปีที่เผชิญกับโรคสมองเสื่อมโดยมีคนรักอย่างตราวุธอยู่เคียงข้างและอดทนกับการถูกลืมและถูกจำซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาอย่างยาวนาน ความทรงจำดังกล่าวนั้นถูกลืมไปแล้วและถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งและดูเหมือนจะกลายเป็นวัฏจักรในชีวิตของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอย่างชุดา เถียงลออ หรือ เพียงขวัญ สุริยะสว่าง 

กิตติศักดิ์ใช้รูปแบบด้วยการนำเอานวนิยายตั้งแต่ยุคปลายทศวรรษ 2470 จนถึงปัจจุบันมาเป็นชื่อบทและดูเหมือนจะหยิบยกเอาคุณลักษณะบางอย่างที่สำคัญซึ่งแม้ว่ากิตติศักดิ์จะพยายามยืนยันว่าใช้นวนิยายเหล่านนั้นในฐานะแรงบันดาลใจและนำมาเพียงชื่อ แต่ในความทรงจำของชุดา เถียงละออ ในแต่ละตอนนั้นมีคุณลักษณะบางอย่างของนวนิยายแต่ละเรื่องที่เป็นชื่อตอนมาใช้เป็นส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบในการดำเนินเรื่องราว เช่นในตอนแรกที่เปิดเรื่องมาด้วยตอน ‘ข้างหลังภาพ’ ประโยคแรกของนวนิยาย ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ คือ “เพียงขวัญตื่นขึ้นมาอีกครั้งในกรงขังอันมียามว่าชีวิต” (หน้า 13) หากใครอ่านข้างหลังภาพของศรีบูรพาเราจะพบว่าชีวิตของคุณหญิงกีรติอยู่ในกรอบที่เคร่งครัดมาโดยตลอด ตั้งแต่เด็กจนโตอยู่ในกรอบของพ่อ พอจะแต่งงานก็ต้องอยู่ในกรอบของเพื่อนพ่อที่เป็นสามีอีกครั้ง ครั้นจะออกนอกกรอบชีวิตก็ไม่อนุญาตต้องจบชีวิตไปอย่างน่าเศร้า ชีวิตในความทรงจำของชุดาก็ไม่ต่างจากนั้นมากนักหากเราพิจารณาจากในสมุดบันทึกของเธอ ต่างเพียงว่าชุดาได้ตราวุธเป็นคู่ชีวิตที่ดีตลอดมา

กิตติศักดิ์เริ่มต้นด้วยงานของ ศรีบูรพาและจบด้วยงานของศรีบูพาเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาว่าบทแรกและบทสุดท้ายมีเนื้อหาที่เหมือนกัน นั่นเป็นเพราะ ความทรงจำของชุดาได้ลับหายไปอีกครั้งและกำลังจะเริ่มต้นเดินทางใหม่ การจบด้วยงานของศรีบูรพาคือ ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ จึงไม่ใช่จุดจบของเรื่องแต่หมายถึงการเดินทางของความทรงจำที่เลือนหายไปกำลังจะกลับมาให้ชุดาได้ทบทวนและระลึกถึงอีกครั้งหนึ่ง และมันจะวนไปเช่นนี้จนกว่าใครสักคนจะล้มหายตายจากไป

สิ่งที่ผมสนใจคือ ถ้าหากนวนิยายเรื่องนี้จะต้องดำเนินต่อไปด้วยโครงเรื่องแบบเดิม นั่นคือการไล่ย้อนความทรงจำของตัวละครผ่านนวนิยายไทยสมัยใหม่จำนวนหนึ่ง นวนิยายเหล่านั้นจะมีเรื่องอะไรบ้างและหากว่า ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ต้องผลัดเปลี่ยนคนเขียน โดยกิตติศักดิ์ คงคาอาจจะมอบหมายให้นักเขียนสักคนมาเขียนต่อ นักเขียนคนนั้นจะใช้นวนิยายเรื่องใดเป็นโครงร่างให้กับเนื้อเรื่องที่จะดำเนินต่อไปบ้างและมันจะต้องสอดคล้องกับความทรงจำของตัวละครด้วย ผมสนใจว่านวนิยายเหล่านั้นจะอาจจะเกิดขึ้นจะเป็นนวนิยายแบบใด จะขวา จะอนุรักษนิยมหรือจะซ้าย แต่ถ้ามันเป็นนวนิยาย ‘ซ้ายๆ’ จะมีเรื่องอะไรบ้างและ ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ จะมีทิศทางของเรื่องแบบใด

ผมคิดว่าจุดที่น่าสนใจของนวนิยาย ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ คือการผสมผสานรูปแบบและเนื้อหาเข้ากันได้อย่างกลมกลืน มีการเล่นล้อกันระหว่างรูปแบบและเนื้อหาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ จุดเด่นของนวนิยายแต่ละเรื่องที่นำมาใช้ช่วยทำให้ตัวเรื่องและการนำเสนอเรื่องของนวนิยายโดดเด่นและชัดเจนโดยที่ไม่แย่งเอาความสนใจในตัวเรื่องของ ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ไปได้เลย กิตติศักดิ์สามารถเค้นเอาศักยภาพของนวนิยายแต่ละเรื่องเอามาใช้เป็นทั้งรูปแบบและเนื้อหาได้อย่างดี น้ำเสียงของตัวเรื่องก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการอวดในลักษณะของการ ‘หล่นชื่อ’ นวนิยายดังๆ มาใช้ในงานของตัวเองให้มีบุคลิกภาพที่ทรงภูมิทรงปัญญาหรือสำแดงรสนิยมการอ่านว่าทรงพลานุภาพทางปัญญาแต่อย่างใด

ผมเคยได้เขียนถึงงานของกิตติศักดิ์ คงคา เอาไว้ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น เมื่อมาอ่าน ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ของเขา สิ่งที่ผมเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างยิ่งในงานเขียนของเขา การเดินทางที่ยาวนานของนวนิยายเล่มนี้ (โปรดอ่านในคำนำนักเขียน) จึงนับได้ว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าสำหรับกิตติศักดิ์อย่างชัดเจน


[1] โปรดอ่านต่อใน https://www.the101.world/the-last-24-hour-bookstore-review/

[2] รายละเอียดโปรดอ่านต่อในบทความ “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมถึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้” ใน “ยอกอักษรย้อนความคิด เล่ม 1

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save