fbpx

ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย : อดีต/ปัจจุบัน และ อดีตของชนชั้นกลาง

“ยินดีต้อนรับสู่ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย”

“ทบทวนสิ่งที่คุณต้องการให้รอบคอบนะครับ พูดความต้องการทั้งหมดออกมาให้ช้า ชัด และครบทุกถ้อยความ หากเนื้อคำหรือประโยคสามารถตีความไปได้หลายแง่ทาง ตั้งใจคิดความหมายที่คุณต้องการให้แน่วแน่ ขออะไรก็ได้ ยาวเท่าไหร่ก็ได้ มากเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อจบสิ้นความต้องการแล้ว ให้คุณหลับตา นับหนึ่งถึงสาม เมื่อลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง คุณจะพบกับสิ่งที่คุณต้องการ”

“ที่นี่คุณจะขออะไรก็ได้ทุกอย่างจะเป็นจริง ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อยกเว้น โลกภายนอกจะหมุนไปอีกแบบหนึ่ง แต่โลกภายในจะหมุนไปอีกแบบหนึ่ง สุดท้ายแล้วทุกอย่างจะมาบรรจบกัน เมื่อวันเวลาจบลง”


สำหรับผมแล้วร้านหนังสือมีเสน่ห์ที่เชื้อเชิญให้ผมสามารถเข้าไปอยู่ในนั้นได้อย่างลืมวันลืมคืน เหมือนกับหลงเข้าไปในเขาวงกตที่หาทางออกไม่ได้ แม้บางครั้งผมจะไม่ได้หนังสืออะไรออกมาเป็นกอบเป็นกำมากนัก แต่การได้เห็นสันหนังสือ ปกหนังสือ ชั้นหนังสือ ได้กลิ่นหนังสือเคล้าคลอเคลียไปกับเพลงที่ฟังสบายๆ ในร้านหนังสือ หรือการได้เปิดอ่านหนังสือบางเล่ม อ่านปกหลัง ดูการออกแบบปกที่สวยงาม เอามือไล้ไปตามชั้นหนังสือเพื่อไล่สายตามองหาหนังสือของนักเขียนที่เราชื่นชอบ ทั้งหมดก็นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งแล้ว

ตัวผมเองบ่อยครั้งไม่มีความตั้งใจว่าจะไปร้านหนังสือเพื่อซื้อเล่มไหนเป็นพิเศษ หนังสือบางเล่มได้มาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผมกับหนังสือในร้านดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น บางเล่มพอกวาดสายตาไปแล้วรู้สึกได้ว่าน่าจะตอบโจทย์ชีวิตในช่วงนั้น ผมก็ซื้อมันมาอย่างง่ายดาย แต่บางเล่มแม้จะเป็นผลงานของนักเขียนที่ผมชื่นชอบแต่กว่าจะตัดสินใจซื้อนี่นานกว่าปกติมากๆ และมีเหตุผลที่ต่างกันในทุกๆ ครั้ง

ในความเห็นของผม ร้านหนังสือที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่ร้านที่ตกแต่งได้อย่างสวยงาม มีกาแฟและขนมที่อร่อยเลิศรส มีเพลงที่ไพเราะ หรือมีหนังสือมากที่สุด แต่เป็นร้านที่มอบบทสนทนาดีๆ ให้ทุกครั้งที่มาเยือน บทสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ วรรณกรรม มิตรภาพ การกระตุ้นเตือนให้เราใคร่ครวญต่อโลกและชีวิต สำหรับผมแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีมูลค่าที่สูงกว่าราคาหนังสือในร้านทั้งหมด เพราะร้านหนังสือคือสถานที่ที่บรรจุความทรงจำของชีวิตผมในแต่ละช่วงเอาไว้และยังช่วยประคับประคองจิตใจของผมในโมงยามที่อ่อนแอที่สุด

แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากร้านหนังสือสามารถให้พรกับลูกค้าได้ทุกประการ โดยที่ไม่ต้องซื้อหนังสือสักเล่ม ขออะไรก็ได้ ยาวแค่ไหนก็ได้ มีเพียงข้อแม้อย่างเดียวคือ ลูกค้าผู้นั้นจะต้องเหลือเวลาในชีวิตอีกเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น…

เรื่องของร้านหนังสือ…

นวนิยาย ‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย’ มีศูนย์กลางอยู่ที่ ‘ร้านหนังสือ’ ที่จะปรากฏตัวในจิตสำนึกของคนที่มีชีวิตเหลืออยู่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น การปรากฏตัวของร้านหนังสือเป็นการมอบพรอันประเสริฐแก่นักอ่านซึ่งจะขออะไรก็ได้ ยาวเท่าไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ และจะเป็นจริงเฉพาะในจิตสำนึกเท่านั้น เมื่อนักอ่านผู้นั้นพอใจแล้วก็จะได้สติและลืมเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น และลืมว่าเคยมีร้านหนังสือประหลาดปรากฏตัวขึ้นในความทรงจำก่อนที่พวกเขาจะตาย

ตัวละครทั้ง 4 ในเรื่องที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและต้องพบเจอกับร้านหนังสือแห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครที่ไม่มีชื่อ โดยผู้เขียนเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องของตัวละครทั้ง 4 แบบแยกออกจากกันในลักษณะของเรื่องสั้น

ตัวละครตัวแรกคือ ‘หญิงสาวตาบอด’ ผู้มีลูกหนึ่งคน แต่เธอกลับไม่ได้อยู่กับลูกและมีชีวิตอย่างสิ้นหวัง เธอเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยในภาคเหนือและเติบโตภายใต้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ เธอจึงมีโอกาสได้อ่านหนังสือจำนวนมาก และเธอยังตัดสินใจเลือกคู่ชีวิตที่มีรสนิยมการอ่านแบบเดียวกัน แม้ว่าเขาจะมีฐานะยากจนกว่ามากก็ตาม ต่อมาสามีไปทำงานต่างประเทศและยังคงทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อครอบครัวของเธอ เธอจึงมีชีวิตครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังมีอาการป่วยอีกด้วย

ตัวละครต่อมาเป็น ‘หญิงสาววัยเกษียณ’ ที่เคยเป็นบรรณาธิการผลงานหนังสือให้กับหญิงสาวในเรื่องแรก เธอเองเป็นนักอ่านตัวยงเช่นเดียวกับหญิงสาวข้างต้น ที่ผ่านมาชีวิตของเธอมีแต่งานและงานจนกระทั่งเกษียณ การทุ่มเททำงานอย่างหนักทำให้เธอมีความปรารถนาที่จะมีความรักสักครั้งหนึ่งและนั่นก็คือพรที่เธอขอในร้านหนังสือ

ตัวละครถัดมาคือ ‘เด็กหนุ่ม’ ซึ่งเป็นลูกชายของหญิงสาวในเรื่องแรก ในวันที่เขาจบมัธยม เขาได้ไปหาแม่เพื่อกราบลาก่อนที่จะไปใช้ชีวิตเป็นพนักงานร้านหนังสือแห่งหนึ่งในภาคใต้ และตัวละครตัวสุดท้ายคือ ‘เจ้าของร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย’ ที่มีปมในอดีตกับพ่อ แม้เขาจะไม่ได้ขอพรจากร้านหนังสือแต่ผู้เป็นพ่อกลับมาปรากฏตัวอยู่ตรงหน้าเขา

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวละครทุกตัวล้วนมีพื้นฐานเป็นคนที่รักการอ่านมากและกระหายที่จะอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อยู่กับร้านหนังสือในฐานะพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตอีกด้วย

สิ่งที่น่าประทับใจสำหรับผมคือผู้เขียนนำชื่อร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศไทยมาตั้งเป็นชื่อบททั้งหมด 16 บท ซึ่งโดยปกติร้านหนังสืออิสระมักเป็นที่รู้จักในวงแคบๆ ของนักอ่าน ร้านหนังสือเหล่านี้สำหรับผมแล้วในหลายๆ ครั้งมีหนังสือที่ค่อนข้าง ‘เฉพาะเจาะจง’ ซึ่งไม่สามารถหาได้ในร้านใหญ่ๆ บางเล่มเป็นฉบับพิมพ์เก่าที่เก็บข้อมูลสำคัญเอาไว้และข้อมูลนั้นอาจไม่ปรากฏในการพิมพ์ครั้งใหม่ๆ บางครั้งร้านหนังสืออิสระก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้แวดวงวรรณกรรมยังคงมีพื้นที่ของตัวเองอยู่บ้าง เพราะในร้านใหญ่ๆ อาจจะไม่ได้เก็บหรือไม่ได้นำผลงานวรรณกรรมของนักเขียนหน้าใหม่มาวางขายเหมือนกับร้านหนังสืออิสระ ดังนั้นการทำให้ร้านหนังสืออิสระเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านผลงานวรรณกรรมจึงเป็นเรื่องที่ผมประทับใจมากๆ

เรื่องสั้นกับนวนิยายใน ‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย

‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย’ นำเสนอด้วยรูปแบบของเรื่องสั้นที่ร้อยเรียงอยู่ภายใต้แก่นเรื่องหลักสำคัญเรื่องเดียว ตัวเรื่องที่ผู้อ่านจะได้อ่านทั้งหมดนั้นเป็นโครงเรื่องย่อยที่แตกออกมาจากแก่นหลักของเรื่องคือตัวร้านหนังสือ และได้กลายเป็น ‘เรื่อง’ ที่ผู้อ่านจะรู้สึกว่าได้อ่านจริงๆ กล่าวคือตัวแก่นเรื่องค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้อ่านที่พอให้ได้ขบเคี้ยวบ้างก็คือโครงเรื่องย่อยที่แตกออกมาเป็นเรื่องราวของตัวละคร 4 คนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในช่วงเวลาที่เหลื่อมล้ำทับซ้อนกัน โครงเรื่องย่อยของตัวละครทั้ง 4 นี้ใช้วิธีการเล่าแบบเรื่องสั้น กล่าวคือเป็นการจบในตอนของตัวเองแต่ตัวละครทั้งหมดมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทำให้ตัวเรื่องแต่ละเรื่องมีความเกาะเกี่ยวกัน

การนำเอารูปแบบของเรื่องสั้นมาร้อยเรียงและนำเสนอกันเป็นนวนิยายนั้นไม่ใช่ของใหม่ในแวดวงวรรณกรรมไทย ก่อนหน้านี้นักเขียนไทยจำนวนหนึ่งได้ใช้กลวิธีเช่นนี้ในการนำเสนอนวนิยาย ผลงานที่เห็นได้ชัดที่สุดก็เช่น ‘ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน’ ของวินทร์ เลียววารินทร์ หรือเราอาจจะเห็นได้ว่านักเขียนบางคนมีผลงานรวมเรื่องสั้นซึ่งใช้ตัวละครตัวเดียวกันในหลายๆ เรื่อง จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเหมือนกำลังอ่านนวนิยายอยู่ เช่น ตัวละคร “ปาริสุทธิ์” ใน ‘ออกไปข้างใน’ ของ นฆ ปักษานาวิน

ประเด็นที่ผมสนใจคือ กลวิธีที่ว่าทำให้เส้นแบ่งระหว่างประเภทของวรรณกรรม (genre) มีความคลุมเครือนั้นเป็นสิ่งที่นักเขียนไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วพยายามทดลองทำเพื่อแสวงหากลวิธีใหม่ๆ ในการนำเสนอ เนื่องจากความแพร่หลายของกระแส ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ผลักดันให้นักเขียนไทยต้องแสวงหาเครื่องมือแบบใหม่ในการนำเสนองานวรรณกรรม อีกทั้งกระแสแบบ ‘หลังสมัยใหม่’ ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เริ่มมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ของนักเขียนไทย การนำเอาประเภทของของวรรณกรรมที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกันในเรื่องเดียวจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้าง ‘ตื่นตาตื่นใจ’ ในแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว….

กลับมาที่ ‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย’ ผมคิดว่าผู้เขียนมีไอเดียในการนำเสนอที่ดีและรัดกุม กล่าวคือเราไม่สามารถพูดได้ว่างานชิ้นนี้มีข้อบกพร่องที่ชัดเจนในจุดใดจุดหนึ่ง ในด้านภาษาผมก็เห็นว่าผู้เขียนทำได้ดี มีความสม่ำเสมอ มีภาษาที่สามารถโน้มอารมณ์ของผู้อ่านให้คล้อยตามได้อย่างน่าสนใจ แต่สิ่งที่รบกวนจิตใจของผมขณะที่อ่านนวนิยายเล่มนี้คือตัวกลวิธีการเล่าเรื่องนั้นดูเป็นสูตรสำเร็จของงานเขียนแบบวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่พยายามผสมผสาน ‘วิธีการ’ ที่หลากหลายกับตัวเรื่องที่พยายามกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านใคร่ครวญกับชีวิตมากขึ้น จนผมรู้สึกว่าเราน่าจะผ่านพ้นยุคของวรรณกรรมสร้างสรรค์แบบหลังพคท. ล่มสลายมานานพอแล้ว แต่มันก็ยังไม่พ้นเสียที

จริงอยู่ที่ ‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย’ เป็นเรื่องที่อ่านสนุกและกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญกับชีวิตของตนเอง แต่ผมกลับคิดว่างานชิ้นนี้เหมือนกับรายงานในวิชาใดวิชาหนึ่งที่เขียนได้ดี ครบถ้วนทุกประเด็น ตอบทุกโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย และได้อรรถรสในการอ่าน อย่างไรก็ตาม ผมมีสมมติฐานส่วนตัวอยู่ว่าวรรณกรรมไม่ได้เรียบร้อยขนาดนั้น ปล่อยให้มันได้เกเรบ้างเพื่อชักชวนผู้อ่านไปยังประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เพราะงานที่เนี้ยบมีระเบียบทุกกระเบียดนิ้วนั้นไม่ชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจเท่าใดนัก

อดีตที่ถูกเยียวยาและการดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือการกลับไปแก้ไขอดีตหรือได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำในชีวิตแต่ไม่ได้ทำก่อนที่เราจะตาย ในแง่นี้นักประวัติศาสตร์อาจมีความขุ่นข้องหมองใจเพราะมันคล้ายกับคำถามแบบ ‘what if…’ ที่มีต่ออดีต

สำหรับนักประวัติศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้และไม่มีประโยชน์ที่จะเพิ่มสมการหรือโจทย์ใหม่ๆ ลงไปในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แต่การย้อนกลับไปยังอดีตของตัวละครคือการขุดลงไปยังปมในใจก่อนที่พวกเขาจะจบชีวิตลง ก่อนที่การดำรงอยู่ของพวกเขาในปัจจุบันจะหายไป การแก้ไขปมในอดีตจึงเป็นเหมือนกับการปลดเปลื้องพันธนาการที่ตัวเองมีต่อโลกนี้เพื่อเดินทางไปสู่โลกถัดไป…โลกหลังความตาย

การใคร่ครวญถึงอดีตไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดจากปัจจุบันได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่เส้นของเวลาเป็นเส้นตรงและมีความสัมพันธ์กันในลักษณะของเหตุและผล หรืออาจกล่าวได้ว่า เส้นของเวลาเป็นสิ่งที่ประกอบจากความเป็นเหตุเป็นผล แม้ว่าชุดเหตุการณ์ของอดีตจนถึงปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความไม่ปะติดปะต่อแต่การร้อยเรียงเหตุการณ์ในชีวิตขึ้นเป็นความทรงจำย่อมต้องการความเป็นเหตุเป็นผลเพื่ออธิบายว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นและส่งผลต่อกันได้อย่างไร

ตัวละครทั้ง 4 ในเรื่องนั้นเมื่อรู้ว่าตนมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 24 ชั่วโมง แทบไม่มีใครคร่ำครวญหรือกลัวตายแต่อย่างใด ราวกับว่าทุกคนเตรียมใจมาเป็นอย่างดี เช่น ตัวละครหญิงสาวตาบอด หลังจากที่เธอตาบอด เธอก็ดูจะไม่ยี่หระกับชีวิตเท่าไรนักและพร้อมจะตายได้ทุกเมื่อ หรือหญิงสาวคนถัดมาที่แม้จะเพิ่งพ้นวัยเกษียณมาได้ไม่นาน เมื่อพบว่าตัวเองอยู่ได้อีก 24 ชั่วโมง ก็ดูเหมือนจะเป็นคนที่มีสติไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใดๆ

ต่อมา ตัวละครเด็กชายซึ่งเป็นลูกของหญิงสาวตัวละครในเรื่องแรกนั้น แม้จะเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่เพิ่งจะจบมัธยมมาแต่เขาก็ดูไม่ได้หวาดกลัวกับความตาย อาจจะมีตกใจอยู่บ้างแต่ก็เพียงแค่รู้สึกว่า “ผมยังอ่านหนังสือที่อยากอ่านไม่หมด” (หน้า 104) หมายความว่าเขาคิดถึงเรื่องความตายน้อยกว่าสิ่งที่อยากจะทำเสียอีก และตัวละครสุดท้ายอย่างเจ้าของร้านหนังสือ ที่เขาเองก็รู้สึกแปลกใจแต่ก็ดูหนักแน่นและยืนยันว่าจะไม่ขออะไรจากร้านหนังสือแห่งนี้ แต่แล้วพ่อซึ่งเป็นปมในอดีตของเขาก็ปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าและทำให้เขาได้ระลึกว่าเขาเคยได้พยายามตามหาพ่อมามากกว่า 20 ปี เมื่อพบกันพ่อสารภาพผิดกับเขาเรื่องที่หายตัวไปและขอกลับมาปรากฏตัวในฐานะพ่อที่จะอยู่เคียงข้างลูกที่กำลังจะตาย การกลับมาครั้งนี้ของ “พ่อ” ได้เปิดเผยความเปราะบางของเจ้าของร้านหนังสือเอาไว้อย่างชัดเจน

แม้ว่าความตายจะเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพของเขา แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตายแล้ว เขากลับสงสัยมันมากกว่าตัวละครอีก 3 ตัวก่อนหน้านี้ เขาถามพ่อว่า “มันน่ากลัวไหม” (หน้า 146) พ่อบอกกับเขาว่ามันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด “มันง่ายมาก เหมือนเดินเตะสายไฟ ปลั๊กหลุด คอมพิวเตอร์ดับ แค่นั้นเลย” (หน้า 105) แต่ในใจของเขากลับรู้สึกว่า “หัวใจของผมเต้นสั่น พยายามจะระงับความหวาดวิตกกังวลใจทั้งหมดให้หายไปแต่ก็ทำแทบไม่ได้เลย ร้านหนังสือแคบดูจะเลือนรางไปด้วยรสสัมผัสบางอย่าง ฝาดเฝื่อน ขมปร่า ดำเนินเชื่องช้าไปอย่างไม่มีวันถอยหลัง ผมถอนลมหายใจเข้าออก เรียกสติ แต่ก็ไม่ค่อยได้ความ” (หน้า 105) ท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งของเขากับพ่อก็หายไปและแทนที่ด้วยความรักความเข้าใจ ซึ่งช่วยให้เจ้าของร้านหนังสือพร้อมที่จะปลดเปลื้องตัวเองจากโลกนี้แล้ว

ตัวละครทุกตัวบรรลุภารกิจที่ว่าด้วยการกลับไปแก้ไขอดีตบางอย่างหรือจัดการปัญหาชีวิตในความทรงจำของตัวเอง ด้วยแก่นเรื่องลักษณะนี้ชวนให้ผมคิดต่อไปว่า การที่เราต้องกลับไปทบทวนความทรงจำในอดีตและพยายามจะแก้ไขมันนั้นเกิดจากความรู้สึกที่ว่าเส้นของเวลาในชีวิตปัจจุบันเต็มไปด้วยความขมขื่นและหดหู่ (ตัวละคร 3 ตัวเป็นเช่นนั้น เว้นแต่เจ้าของร้านหนังสือที่ดูเหมือนจะทำใจยอมรับได้ แต่เมื่ออดีตวิ่งมาหาตนเองจริงๆ กลับกลายเป็นว่าตัวเขาเองนั่นแหละที่มีความประหวั่นพรั่นพรึงต่อความตายมากที่สุด) และการจะก้าวไปสู่อนาคตได้ (ไม่ว่าจะเป็นอนาคตที่หมายถึง ‘โลกนี้’ ที่ยังไม่ตาย หรือ ‘โลกหน้า’ ที่ตายแล้วก็ตาม) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกลับไปแก้ไขอดีตเสียก่อนเพื่อเยียวยาความทุกข์โศกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อดีตกับชนชั้นกลาง

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจคือคงมีแต่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่ใคร่ครวญถึงอดีตอยู่เสมอ (ไม่ใช่แค่สำนึกถึงการมีอยู่ของอดีตเท่านั้น) เพราะชนชั้นล่างหรือกรรมกรจะเอาเวลาที่ไหนไปนึกถึงอดีต ในเมื่อเงินในกระเป๋าสตางค์ยังซื้อข้าวให้ครอบครัวได้ไม่ครบสามมื้อ หรือชนชั้นสูงที่อดีตหมายถึงเกียรติยศของตนที่เอาไว้ใช้หากินในปัจจุบัน ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องคร่ำครวญด้วยความโศกาอาดูรใดๆ แต่สำหรับชนชั้นกลางนั้นจะให้ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินอย่างกรรมกรโดยไม่สะสมวัตถุทางวัฒนธรรมใดๆ ก็ไม่อาจเป็นไปได้ หรือครั้นจะเอาอดีตมาใช้หากินอย่างชนชั้นสูงก็ทำไม่ได้เช่นกัน เมื่อเป็นลูกเต้าเหล่าใครก็สืบสาแหรกได้ไม่มากนัก ปู่ย่าตาทวดมีความสัมพันธ์กับใครในตระกูลไหนก็แทบจะไม่ปรากฏ ดังนั้นปัจจุบันของชนชั้นกลางนี่แหละจึงเป็นสิ่งที่น่าโศกเศร้าที่สุด

เมื่อปัจจุบันของชนชั้นกลางนั้นขมขื่นมาก การทบทวนอดีตจึงเป็นเหมือนการแก้ปมในใจของตนเอง หากเราพิจารณาพรที่ตัวละครแต่ละตัวอธิษฐานจะเห็นได้ว่าล้วนเป็นความปรารถนาของชนชั้นกลาง…โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ เช่น หญิงสาวในเรื่องแรก-อยากเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลโนเบล หญิงสาวคนที่สอง-อยากมีชีวิตรักที่สมบูรณ์ เด็กหนุ่มคนที่สาม-อยากมีชีวิตครอบครัวที่แท้จริง และเจ้าของร้านหนังสือที่เอาเข้าจริงแล้วก็กลัวตายนั่นเอง เรื่องเหล่านี้คือปมของชนชั้นกลางที่น่าสนใจมากๆ

การได้เป็นนักเขียนรางวัลโนเบลอาจไม่ใช่ปมของชนชั้นกลางอย่างเดียว (เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะอาจมีนักเขียนชนชั้นล่างและชนชั้นสูงหลายคนที่อยากได้รางวัลโนเบลมากๆ ก็เป็นได้ หรือนักเขียนชนชั้นกลางอาจจะไม่อยากได้รางวัลอะไรเลย ก็เป็นไปได้เช่นกัน) แต่การได้รางวัลอาจหมายถึงการถูกตระหนักถึงการมีอยู่ของตนเองบนโลกของความเป็นจริง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ได้รับการยกย่อง นอกจากนี้ผมอยากชวนให้พิจารณาว่าชนชั้นกลางนั้นต่างจากชนชั้นอื่นๆ ด้วยการนิยามในทางวัฒนธรรม พวกเขาพยายามสร้างบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากชนชั้นล่างและชนชั้นสูง เช่น การศึกษา รสนิยมทางศิลปะ การอ่านออกเขียนได้และมีรสนิยมทางวรรณกรรมเป็นของตัวเอง การได้รางวัลทางวรรณกรรมในแง่หนึ่งอาจหมายถึงการบรรลุความสำเร็จทางด้านวัตถุทางวัฒนธรรมที่พวกเขาพยายามสร้างมันขึ้นมานั่นเอง

ต่อมา ชีวิตรักและชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ ก็ดูเหมือนกับว่านี่เป็นพล็อตละครหลังข่าวที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายอีกทอดหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นโฆษณาคั่นละครเหล่านั้น ผมอยากชี้ชวนให้คิดว่าชนชั้นล่างอาจมีฝันถึงชีวิตที่ดีทั้งชีวิตครอบครัวและความรัก แต่ในสภาพการดำรงอยู่จริงๆ แล้ว พวกเขาคงไม่มีเวลามานั่งคิดฝันและคร่ำครวญถวิลหาเรื่องเหล่านี้ มิพักต้องพูดถึงชนชั้นสูงที่อะไรก็ตามไม่สำคัญเท่ากับการมีเกียรติยศในชีวิต ซึ่งความกลัวตายอาจเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของชนชั้นกลาง เพราะความกลัวตายนี้เองทำให้ชนชั้นกลางต้องสุภาพ รู้จักเจรจาต่อรอง ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ชนชั้นล่างนั้นไม่มีอะไรจะเสีย ส่วนชนชั้นสูง ความตายก็ถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาต้องเอาชีวิตเข้าแลกผ่านสงคราม หรือการประลอง

นอกจากนี้ ชีวิตในปัจจุบันของชนชั้นกลางก็ดูจะไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย เช่นตัวละครทั้ง 4 ในเรื่องที่ต่างรู้สึกว่าชีวิตปัจจุบันคือความไม่แน่นอน เป็นความทุกข์ และพวกเขาไม่สามารถเอาตัวเองไปเกาะเกี่ยวกับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งได้อย่างชัดเจน

หญิงสาวในเรื่องแรกที่แม้ว่าจะเกิดมาในบ้านที่มีฐานะดีและเป็นถึงเศรษฐีอยู่ภาคเหนือ แต่ด้วยความที่เธอเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือของปัญญาชนชนชั้นกลางอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ชาติ กอบจิตติ, ลาว คำหอม, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคาลิล ยิบราน ก็ทำให้เธอไม่สนใจในเรื่องเกียรติยศหรือสมบัติพัสถานใดๆ แต่ให้ความสนใจกับความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม เช่นชายหนุ่มที่เธอแต่งงานด้วยนั้นเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือแบบเดียวกับเธอ และมี ‘รสนิยม’ ทางวัฒนธรรมที่ต้องกัน แม้ว่าจะเป็นคนยากจนกว่าเธอและพ่อแม่ของเธอก็ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานนี้ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วเธอก็พบว่าชายหนุ่มคนนี้ไม่อาจให้ความมั่นคงใดๆ แก่เธอได้ เพราะเขาต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานหนักอยู่ตลอดเวลาด้วยความที่เป็นคนจนไม่มีสมบัติใดๆ เขาจึงไม่มีเวลาอยู่กับภรรยาจนกระทั่งต้องไปทำงานที่ตะวันออกกลางในขณะที่เธอกำลังท้องแก่และป่วยกระเสาะกระแสะ

การที่เธอละทิ้งความมั่งคั่งและเกียรติยศแบบชนชั้นสูงมาอยู่กินกับชายหนุ่มผู้ยากจนดูจะเป็นเหมือนพล็อตละครก็จริงอยู่ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ในฐานะชนชั้นกลาง เธอพบว่าชีวิตของเธอเต็มไปด้วยทุกข์ของการไม่เข้าใจความจน เช่นที่เธอถามสามีว่า “เงินสำคัญสำหรับคุณขนาดนั้นเลยเหรอ” (หน้า 13) ดังนั้นชีวิตปัจจุบันของเธอจึงเต็มไปด้วยความสิ้นหวังและรอวันตาย ฉะนั้นสำหรับเธอแล้ว ‘พร’ ที่มาพร้อมกับร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย คือโอกาสที่เธอจะได้กลับไปแก้ไขอดีตหรือสะสางปัญหาบางอย่างที่ค้างคาใจก่อนที่จะตายดับลงไป

ส่งท้าย

ในตอนจบของเรื่องผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือ ความพยายามที่จะให้หนังสือเล่มนี้มีปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับผู้อ่านด้วยการให้ผู้อ่านกลับไปทบทวนและพิจารณาชีวิตของตนเองในอดีตที่ผ่านมาว่ามีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ หรือยังมีอะไรที่ติดค้างในใจ หรือไม่ก็เหมือนกับสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งของการเขียนวรรณกรรมที่ต้องทิ้งประเด็นให้ผู้อ่านขบคิดต่อ สร้างบทสนทนาที่ไม่รู้จบระหว่างวรรณกรรมกับผู้อ่าน

และแม้จะดูเหมือนไม่จงใจที่จะทำแบบนั้น เพราะผู้เขียนใช้กลวิธีที่เหมือนจะดึงผู้อ่านให้เข้าไปอยู่ในตัวเรื่องด้วยเพื่อชวนให้ขบคิดแต่ผมคิดว่าวิธีนี้คือความจงใจที่ดูจงใจมากเกินไป จนทำให้ผมรู้สึกว่า ‘ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง’ ดูเป็นกึ่งหนังสือฮาวทู แบบไลฟ์โค้ช กับ วรรณกรรมเสียมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้วนี่อาจเป็นวิธีการเขียนตอนจบของนวนิยายเรื่องนี้ได้เหมาะสมที่สุด เพราะโครงเรื่อง ปมปัญหาของเรื่อง และแก่นเรื่องสามารถมาบรรจบและสบมุมกันอย่างพอดิบพอดีภายในประโยคเดียว

สำหรับผม ถ้าต้องกลับไปพิจารณาชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองว่ามีอะไรที่อยากแก้ไขหรือมีสิ่งที่ติดค้างในใจตามที่นวนิยายเรื่องนี้พยายามชวนสนทนาหรือไม่ ก็คงมีเพียงคำตอบเดียวเท่านั้นที่ผมพอจะตอบได้ก็คือ “ผมไม่ทราบ” ครับ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save