fbpx

ขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 1: จากความเงียบงันสู่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อกล่าวถึง ‘ขั้วโลกเหนือ’ หลายๆ ท่านอาจนึกถึงดินแดนที่หนาวเย็นและปกคลุมไปด้วยหิมะตลอดทั้งปี สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ อย่างสภาวะ Whiteout ที่แปลได้ทั้งสองความหมาย นั่นคือพายุหิมะที่รุนแรงมากจนมองไม่เห็นสิ่งรอบตัว จนมนุษย์จะเกิดอาการหลงทิศทางอย่างรุนแรง เพราะนอกจากจะไม่สามารถแยกทิศเหนือ ใต้ ออก ตก ได้แล้ว หากพายุรุนแรงมาก ประสาทสัมผัสจะไม่สามารถแยกเส้นขอบฟ้า เส้นแบ่งระหว่างท้องฟ้า กับพื้นดินได้ จนทำให้เกิดอาการสับสน เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือในอีกความหมายหนึ่ง Whiteout แปลว่าสภาวะที่เงียบสงบปราศจากการรบกวนทางประสาทสัมผัส เงียบจนได้ยินเสียงความคิดของตนเอง เพราะนี่คืออีกหนึ่งพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลมากจากชุมชนปกติ หากแต่ในทศวรรษที่ผ่านมาสภาพความหนาวเย็น ห่างไกล กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ขั้วโลกเหนือ (Arctic) คือพื้นที่ที่ตั้งอยู่ภายในวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) ล้อมรอบด้วยเส้นละติจูด 66°33 องศาเหนือเส้นศูนย์สูตร ล้อมรอบด้วยรัฐ 8 รัฐ อันได้แก่ รัสเซีย (ที่มีพรมแดนติดกับทะเลอาร์กติกยาวที่สุดถึง 24,140 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 44% ของความยาวชายฝั่งทั้งหมดในอาร์กติก), แคนาดา (ที่มีชายฝั่งยาวเป็นลำดับที่ 2) สหรัฐอเมริกา (บริเวณรัฐอลาสก้า) สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก (ผ่านสิทธิการปกครองเกาะกรีนแลนด์และหมู่เกาะฟาโรห์) ทั้ง 8 ประเทศได้สร้างความร่วมมือขึ้นเพื่อดูแลกิจการขั้วโลกเหนือเรียกว่า Arctic Council โดยริเริ่มในปี 1991 และพัฒนากลายเป็นสถาบันโดยการลงนามใน The Ottawa Declaration ในปี 1996 โดยมิติหลักๆ ที่มีความร่วมมือกันคือ การดูแลคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์, การสำรวจและความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ[1]

ดินแดนแห่งนี้คือสภาพภูมิศาสตร์ที่แปลกประหลาดและแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าขั้วโลกใต้คือผืนแผ่นดินขนาดใหญ่มีมวลขนาดมหาศาลจนจัดให้เป็นอีกหนึ่งทวีป นั่นคือทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) แต่ขั้วโลกเหนือคือก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รองรับอยู่ด้วยมวลแผ่นดิน หากแต่ลอยตัวอยู่เหนือทะเลอาร์กติก (Arctic Sea) ที่มีขนาดพื้นที่ 16.5 ล้านตารางกิโลเมตร (กว้างเพียงพอที่จะบรรจุประเทศไทยลงไปได้ 32 ประเทศ) ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่นี้ลอยตัวอยู่เหนือระดับความลึกกว่า 4,000 เมตร (4 กิโลเมตร) และห่างจากจุดที่เป็นเขตชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยในบางช่วงเวลาของปี ที่ใกล้ที่สุดคือเกาะ Kaffeklubben บนพื้นที่กรีนแลนด์ (Greenland) ของประเทศเดนมาร์กในระยะถึง 700 กิโลเมตร และยังห่างจากชุมชน Alert บนเกาะ Ellesmere ของประเทศแคนาดาซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่อย่างถาวรตลอดทั้งปีถึง 817 กิโลเมตร

ดังนั้นหากพิจารณาตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS, อธิบายความในบทที่ 2) มวลน้ำแข็งขนาดใหญ่นี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลหลวง (High Sea) และเขตอาณาบริเวณ (The Area) ซึ่งนั่นหมายความว่า มวลน้ำแข็งที่ประกอบขึ้นเป็นขั้วโลกเหนือเหล่านี้ ไม่มีรัฐใดเป็นเจ้าของ และถือเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ (common heritage of mankind) หากแต่มวลน้ำแข็งขั้วโลกเหนือนี้กลับมาขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ ในทุกๆ วันเนื่องจากการวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change Crisis)

สมรภูมิความขัดแย้งที่เริ่มต้นแนวคิดดึงเอาพื้นที่ขั้วโลกเหนือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ คือสงครามเย็น ที่ขั้วโลกเหนือกลายเป็นผืนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่พาดตัวขวางสองมหาอำนาจ นั่นคือสหภาพโซเวียตทางทิศตะวันออก และสหรัฐอเมริกาทางทิศตะวันตกของขั้วโลก หากแต่ในห้วงเวลาทศวรรษ 1940s ตอนปลาย จนถึงปี 1991 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ขั้วโลกเหนือก็ยังเป็นพื้นที่ห่างไกล ที่ทุกฝ่ายรับรู้ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติฝักตัวอยู่ในปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก และสินแร่ต่างๆ แต่ด้วยเทคโนโลยี ณ เวลานั้น และเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์รวมทั้งภูมิอากาศ ไม่เอื้อให้ทั้งสองมหาอำนาจขึ้นไปแข่งกันขยายอิทธิพลและแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สมรภูมิแห่งนี้ก็กลายเป็นการแข่งขันกันทุ่มเทเงินทุนและกองกำลังมหาศาลในการตั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศของทั้งฝ่ายโซเวียตและฝ่ายพันธมิตรนาโต (NATO) เพื่อสร้างฐานทัพสำหรับเรือดำน้ำที่จะลงไปสอดแนมใต้มวลน้ำแข็งขนาดมหาศาล และเป็นทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์สำหรับฐานยิงขีปนาวุธ รวมทั้งการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีการสอดแนมก็ถูกพัฒนาขึ้นมาจากทั้งสองฟากเพื่อจับตาเฝ้าระวังการเคลื่อนกำลังของทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ Whiteout แห่งนี้

แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000s รัสเซียกลับมองเห็นความโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่แผ่นน้ำแข็งแห่งนี้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในเส้นทางคมนาคมโลจิสติกส์ ดังนั้นในปี 2007 รัสเซียซึ่งฟื้นตัวขึ้นมาแล้วหลังจากทศวรรษที่สาปสูญตลอดทศวรรษ​ 1990 ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กระทั่งอยู่ภายใต้การปกครองของวลาดีมีร์ ปูติน ก็เริ่มสร้างแสนยานุภาพในพื้นที่ขั้วโลกเหนือโดยการประกาศอ้างสิทธิ์ในเขตที่เชื่อมต่อกับไหล่ทวีปของรัสเซียในบริเวณทะเลอาร์กติก[2] ประกาศเดินหน้ารังวัดสำรวจแผนที่ขั้วโลกเหนือ และพัฒนาเส้นทางการคมนาคาขนส่งสินค้าทางฝั่งตะวันออกของขั้วโลกเหนือที่เรียกว่า The Northern Sea Route ที่จะเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านช่องแคบเบริง (Bering) ที่มีความกว้างเพียง 3.8 กิโลเมตรซึ่งกั้นระหว่างเกาะ Big Diomede แห่งภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียกับเกาะ Little Diomede แห่งดินแดนอะแลสกา (Alaska) ของสหรัฐอเมริกา โดยเส้นทางการเดินเรือดังกล่าวลัดเลาะไปตามชายฝั่งของรัสเซีย ผ่านขั้วโลกเหนือ เพื่อตัดออกสู่ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย และยุโรปทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก กินระยะทางกว่า 4,740 ไมล์ทะเล หรือกว่า 8,780 กิโลเมตร

ในช่วงเวลาแรกที่เริ่มเปิดเส้นทางนี้ การเดินเรือจะทำได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือที่มีระยะเวลาสั้นๆ 2-4 เดือน และต้องมีเรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker ship) เข้าไปทำหน้าที่เปิดเส้นทาง โดยในปี 2016 เส้นทางดังกล่าวมีเรือขนส่งเดินเรือผ่านจำนวน 297 ลำ[3] คำถามสำคัญก็คือ ต้นทุนของการเปิดเส้นทางใหม่นี้คุ้มค่าหรือไม่

คำตอบอยู่ที่การประหยัดระยะเวลาในการเดินเรือ ประหยัดพลังงาน และการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยพบว่าเส้นทาง Northern Sea Route เป็นเส้นทางที่ประหยัดระยะทางในการเดินเรือจากเอเชียตะวันออกสู่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียได้เกือบครึ่งหนึ่งของเส้นทางเดิม โดยหากวัดระยะทางจากท่าเรือเทียนจิน (Tianjin) ในประเทศจีนไปยังท่าเรือรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) ในประเทศเนเธอแลนด์ ที่เส้นทางปกติต้องเดินทางผ่านทะเลจีนตะวันออก – ทะเลจีนใต้ – ช่องแคบมะละกา – อ่าวเบงกอล – ทะเลอาหรับ – คลองสุเอซ – ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน – ช่องแคปยิบรอลตาร์ – มหาสมุทรแอตแลนติก – ช่องแคปอังกฤษ จะมีระยะทางถึง 12,745 ไมล์ทะเล หรือกว่า 23,604 กิโลเมตร และใช้เวลาในราว 35-40 วัน

แต่หากเดินทางจากตำแหน่งเดียวกันผ่านเส้นทาง Northern Sea Route จะใช้ระยะทางเพียงประมาณ 5,770 ไมล์ทะเล หรือ 10,686 กิโลเมตร ซึ่งนั่นหมายถึงการประหยัดระยะเวลา โดยทำให้ระยะเวลาในการขนส่งเหลือเพียง 18-22 วันเท่านั้น นั่นหมายถึงการประหยัดพลังงาน เป็นเส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าผ่านทางและรอคิวที่คลองสุเอซ รวมทั้งปราศจากโจรสลัดทำให้ลดความเสี่ยงได้อย่างมหาศาล ค่าประกันภัย ค่าระวาง และค่าเชื้อเพลิงสามารถลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนสิงหาคม 2017 เป็นครั้งแรกที่เรือบรรทุกน้ำมันของรัสเซียสามารถเดินทางผ่านช่องทางดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรือตัดน้ำแข็ง รวมทั้งมีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2030 เส้นทางการเดินเรือนี้สามารถเดินเรือได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้มวลน้ำแข็งขั้วโลกละลายลงเป็นจำนวนมาก นั่นจึงทำให้ในปี 2020 มีเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 400 ลำ ซึ่งเรือเกินกว่าครึ่งที่ผ่านเส้นทางนี้เป็นเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติ

นอกจากรัสเซียที่เร่งพัฒนาเส้นทางเดินเรือ Northern Sea Route แล้วสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเองก็เร่งพัฒนาเส้นทางการเดินเรือทางชายฝั่งด้านตะวันตกของขั้วโลกเหนือด้วยเช่นกัน โดยเรียกเส้นทางนี้ว่า The Northwest Passage ซึ่งจะมีระยะทางที่ยาวกว่า โดยมีระยะทางประมาณ 5,225 ไมล์ทะเล หรือ 9,676.7 กิโลเมตร

นอกจากรัสเซีย สหรัฐ และแคนาดา แล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้เล่นสำคัญอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกก็ส่ายเรดาร์เข้ามายังพื้นที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยจีนขอเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในสภาอาร์กติกในปี 2013 และความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญมากที่สุดคือการประกาศ China’s Arctic Policy ในปี 2018 โดยสภาแห่งรัฐ (State Council) โดยในเอกสารนโยบายของจีนได้กล่าวถึงบทบาทของจีนสี่ด้าน[4] ได้แก่

1) สำรวจทางวิทยาศาสตร์ และภูมิศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจอาร์กติกอย่างลึกซึ้ง

2) ร่วมแสวงหาแนวทางและเป็นผู้ปกป้องสภาพแวดล้อมของอาร์กติกจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

3) แสดงความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในอาร์กติก โดยจีนออกตัวว่าต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศและมีเหตุผลที่เหมาะสม (In a Lawful and Rational Manner) โดยทรัพยากรในความหมายของจีนไม่ได้กล่าวถึงเพียงสินแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรมประมงเท่านั้น แต่จีนยังกล่าวถึงโอกาสในกาพัฒนาบริการการท่องเที่ยวอีกด้วย

4) จีนแสดงเจตจำนงในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำกับดูแลอาร์กติกและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยอีกโครงการหนึ่งที่จีนดำเนินการไปก่อนหน้าการประกาศนโยบาย China’s Arctic Policy ก็คือการให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกาสร้างเส้นทางการคมนาคมโลจิสติกส์สายใหม่ ที่เรียกว่า Arctic Route of Belt and Road Initiative หรือที่นิยมเรียกด้วยชื่อ Polar Silk Road หรือเส้นทางสายไหมขั้วโลก โดยทางการจีนเริ่มกล่าวถึงโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2017 ก่อนที่เอกสารนโยบายอาร์กติกจะเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2018

สำหรับจีน เส้นทางขนส่งนี้จะมีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์สำหรับจีนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเส้นทางคนส่งหลักที่จีนพึ่งพาสูงมากคือการขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ ช่องแคปมะละกา คลองสุเอซ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากการยั่วยุของทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในขณะนี้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็เป็นเขตอิทธิพลของยุโรปซึ่งก็มีความไม่แน่นอนในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน[5]

ทั้งนี้ต้องอย่าลืมพิจารณาด้วยว่า เพียงไม่กี่วันก่อนการรุกรานของรัสเซียผ่านปฏิบัติการพิเศษทางการทหารเข้าไปในประเทศยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิดฤดูหนาวที่จีนเป็นเจ้าภาพ และทั้งสองผู้นำ ปูติน และสี จิ้นผิง ก็ได้ลงนามใน Joint Statement on the International Relations Entering a New Era and the Global Sustainable Development เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2022 โดยหนึ่งในความร่วมมือระหว่างจีนและรัสเซียคือการพัฒนาเส้นทางการค้า การคมนาคมขนส่งร่วมกันผ่านเส้นทาง Polar Silk Road[6] ซึ่งโครงการนี้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อทั้งจีนและรัสเซียสามารถบรรลุข้อตกลงการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างกันในระยะยาวผ่านการพัฒนาท่อส่งก๊าซ Power of Siberia โดยทั้งสองประเทศตั้งเป้าจะสามารถส่งก๊าซระหว่างกันได้ถึง 3.8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ภายในปี 2025

จากความพยายามของทั้งสองมหาอำนาจ รัสเซียและจีน ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เส้นทางการคมนาคมสายใหม่นี้จะทวีความสำคัญขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ เช่นเดียวกับที่มันเป็นการแสดงให้เห็นเจตจำนงอย่างชัดเจนแล้วว่า จีนและรัสเซียจะจับมือกันในการสำรวจและนำทรัพยากรในบริเวณขั้วโลกเหนือลงมาใช้อย่างแน่นอน ซึ่งแหล่งทรัพยากรดังกล่าวถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยิ่ง โดยมีการคาดการณ์ว่า ขั้วโลกเหนือมีความมั่งคั่งด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีน้ำมันดิบที่ยังไม่ได้ค้นพบประมาณร้อยละ 13 ของโลก และร้อยละ 30 ของก๊าซธรรมชาติทั่วทั้งโลกที่ยังไม่ได้ค้นพบ ดังนั้นความร่วมมือของสองประเทศนี้จะทำให้ทั้งสองครอบครองทรัพยากรสำคัญในทางเศรษฐกิจของโลกได้[7]

ที่มา: Gdański, U., Ekonomiczny, W., & Zagranicznego, I.H. (2019). Challenges and opportunities of the Maritime Silk Road initiative for EU countries. https://www.semanticscholar.org/paper/Challenges-and-opportunities-of-the-Maritime-Silk-Gda%C5%84ski-Ekonomiczny/973d7b2bf56cba8b3241e7260bd936e9d22e404c


[1] Arctic Council (1996) “Ottawa Declaration” https://oaarchive.arctic-council.org/handle/11374/85

[2] Ekaterina Piskunova (2010) “Russia in the Arctic: What’s lurking behind the flag?” International Journal Vol. 65, No. 4, The Arctic is hot, part 1 (Autumn 2010), pp. 851-864 (14 pages) Published By: Sage Publications, Ltd. https://www.jstor.org/stable/25762044

[3] ลงทุนแมน (2021) “เมื่อขั้วโลกเหนือ กำลังท้าทาย คลองสุเอซ” 28 เมษายน 2021 https://www.longtunman.com/29050

[4] State Council Information Office (2018) “China’s Arctic Policy” The State Council Information Office of the People’s Republic of China. January 2018. First Edition. 26 Jan 2018 http://www.scio.gov.cn/zfbps/32832/Document/1618243/1618243.htm

[5] Jane Nakano and William Li (2018) “China Launches the Polar Silk Road” Center of Strategic and International Studies (CSIS) . Published February 2, 2018. https://www.csis.org/analysis/china-launches-polar-silk-road

[6] Office of the President of Russia (2022) “Joint Statement on the International Relations Entering a New Era and the Global Sustainable Development” 4 February 2022.  http://en.kremlin.ru/supplement/5770

[7] Anu Sharma. (2021) “China’s Polar Silk Road: Implications for the Arctic Region” Published Oct. 25, 2021. Journal of Indo-Pacific Affairs. Department of the Air Force. Air University. https://www.airuniversity.af.edu/JIPA/Display/Article/2820750/chinas-polar-silk-road-implications-for-the-arctic-region/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save