fbpx

จากซินเจียง ถึง SCO ตอนที่ 2: จาก SCO สู่ Global Security Initiatives (GSI)

SCO หรือ Shanghai Cooperation Organisation ซึ่งมีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ‘องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้’ ก่อกำเนิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2001 โดยสมาชิก 6 ประเทศ อันได้แก่ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ด้วยสาเหตุที่จีนต้องการสร้างแนวร่วมเพื่อป้องกันดินแดนส่วนที่เปราะบางที่สุดของประเทศ นั่นคือเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ จากความชั่วร้ายทั้ง 3 ในสายตาพรรคคอมมิวนิสต์จีน นั่นคือการก่อการร้าย (Terrorism) การแบ่งแยกดินแดน (Separatism) และการตีความศาสนาอย่างสุดโต่ง (Extremism)

แต่การเกิดขึ้นอย่างถูกที่ถูกเวลาของ SCO ในช่วงเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเริ่มต้นทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 กลับทำให้สหรัฐฯ มอง SCO ด้วยสายตาสนับสนุน เพราะอย่างน้อยที่สุด สุญญากาศในเอเชียกลางที่ประกอบด้วยประเทศที่มีชื่อลงท้ายด้วย ‘สถาน’ ทั้งหลายก็จะไม่กลายเป็นแหล่งซ่องสุมภัยก่อการร้าย ทำให้บทบาทของสหรัฐที่เน้นเข้าไปควบคุมแทรกแซงกิจการของตะวันออกกลางไม่แพร่ขยายเข้ามาในมุมนี้ของโลก (อ่านเพิ่มเติมใน จากซินเจียง ถึง SCO (ตอนที่ 1): จากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ สู่การก่อกำเนิด)

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงต้นทศวรรษ 2010s ที่จีนเริ่มต้นมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) โดยมีหนึ่งในโครงการสำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ และภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศที่เป็นพื้นที่ปิดไม่มีทางออกทะเล ผ่านการสร้างระเบียงเศรษฐกิจที่เป็นการยกเครื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ระบบถนน ระบบราง ระบบท่อส่งก๊าซและน้ำมัน รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือ ในประเทศปากีสถาน จากเหนือสุดที่มีพรมแดนติดกับจีนทางตะวันตก ลงสู่เมืองท่ากวาดาร์ ปากอ่าวเปอร์เซีย มหาสมุทรอินเดีย ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการลำเลียงพลังงานออกจากภูมิภาคตะวันออกกลางสู่ตลาดโลก China-Pakistan Economic Corridor หรือ CPEC กำลังกลายเป็นความหวังใหม่ของประเทศที่เป็นพันธมิตรในทางการเมืองความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกับสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงสงครามเย็น (แต่กลับไม่เคยได้รับการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่เลยแม้แต่น้อย)

การเป็นพันธมิตรกับจีน และประคับประคองความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของปากีสถาน แต่ถึงอย่างไร ในปี 2017 ปากีสถานก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ SCO อย่างสมบูรณ์ และยังเป็นช่วงเวลาที่พอดีกันกับที่สหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว National Security Strategy (ฉบับแรกในเดือนธันวาคม 2017 และฉบับทบทวนในเดือนตุลาคม 2022) โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวพิจารณาว่า จีนคือภัยคุกคามการดำเนินยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในทุกมิติจากวันนั้นในปี 2017 ไปจนถึงปี 2050 ดังนั้นการสูญเสียปากีสถานให้เข้าไปเป็นพันธมิตรของจีน และเป็นสมาชิกของ SCO ที่มีรัสเซีย ซึ่งเป็นภัยคุกคามสหรัฐรองลงมาจากจีน เป็นสมาชิกด้วย จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาและระมัดระวังในทางยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ

มันยังเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจที่ในปี 2017 เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อรัสเซียเห็นจีนผลักดันให้ปากีสถานเข้าเป็นสมาชิก SCO ก็ทำให้รัสเซียที่เริ่มกังวลในอิทธิพลของตนเองใน SCO ว่าจะตกเป็นรองจีนหรือไม่ รัสเซียจึงดำเนินการเชิญอินเดีย ซึ่งมีความใกล้ชิดมากกับรัสเซียในทางความมั่นคง เข้าเป็นสมาชิก SCO ขณะที่อินเดียกำลังมีปัญหากับจีนในเรื่องเขตแดนในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณที่ราบสูงทิเบต เทือกเขาหิมาลัย ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก

ดังนั้นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ 2 ของ SCO ที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ในระหว่างแกนนำอย่างจีนและรัสเซียเข้าสู่ภาวะระหองระแหง ก่อนที่ยุทธศาสตร์ของทั้งจีนและรัสเซียจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มในการกดดันจีนทางเศรษฐกิจ และเมื่อการสร้างและขยายพันธมิตร NATO กลายเป็นแรงกดดันทางด้านความมั่นคงให้กับรัสเซีย นั่นจึงทำให้รัสเซียและจีนประกาศจับมือกันอีกครั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทศวรรษ 2020s

ในวาระของการพบกันในระดับทวิภาคีท่ามกลางพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ประกาศเเถลงการณ์ร่วมเป็นภาษาอังกฤษความยาวเกือบ 5,400 คำ ว่า “มิตรภาพของทั้งสองประเทศไม่มีขีดจำกัด ไม่มีส่วนใดที่เป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ ในความร่วมมือกัน” (เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียในประเทศยูเครน) ซึ่งนั่นคือการจุดประกายร่วมกันอีกครั้งว่า ในภาวะที่สหรัฐฯ สร้างพันธมิตรในการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีน จีนและรัสเซียเองก็จะสร้างพันธมิตรในการถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ ที่กำลังถดถอยในเชิงดุลอำนาจ

ความร่วมมือ SCO กลายเป็นที่จับตาสูงสุดอีกครั้ง เมื่อมีการยกระดับอิหร่าน จากการเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ให้กลายเป็นสมาชิกเต็มของ SCO โดยอิหร่านนับเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ทั้งในอ่าวเปอร์เซียและในโลกมุสลิม รวมทั้งเป็นหนึ่งในหลายๆ คู่ปรับตลอดกาลของสหรัฐ

การประชุมสุดยอดผู้นำ SCO ที่ผ่านมาในเดือนกันยายน 2022 จึงกลายเป็นการจุดประกายความสนใจให้กับทุกฝ่ายทั่วโลก

ปัจจุบัน SCO ยกระดับเป็นความร่วมมือในทุกมิติของประชาชนมากกว่า 40% ของพลเมืองโลก ไม่ว่าจะเป็นมิติความมั่นคงที่เป็นวัตถุประสงค์แรก สู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางสังคมวัฒนธรรม

ในมิติเศรษฐกิจ มูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของ 8 สมาชิก (ยังไม่นับอิหร่าน) ในปี 2021 มีมูลค่าสูงถึง 23.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP ของสหรัฐอเมริกา และเพื่อเปรียบเทียบกับปี 2001 ที่เริ่มต้นก่อตั้ง SCO ขนาดเศรษฐกิจของ SCO ขยายตัวถึง 13 เท่าในระยะเวลา 20 ปี

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก SCO อยู่ที่ระดับ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าที่พวกเขาค้าขายกันมากที่สุด 3 อันดับแรก คือพลังงาน สินค้าเกษตร และสินแร่ ซึ่งทั้ง 3 รายการคือสินค้าที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องการมากที่สุด ณ ชั่วโมงนี้

และในการประชุม ประธานาธิบดีจีนก็ประกาศจะให้การสนับสนุนสมาชิก SCO ด้วยข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้ อาทิ 1) ความทางการเงินมูลค่า 1.5 พันล้านหยวนกับประเทศในกลุ่ม SCO 2) ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข 3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีบิกดาตาเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และ 4) การเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการพัฒนาคุณภาพด้านความยั่งยืน (Clean and Green Digital BRI) ภายใต้ชื่อใหม่ Global Development Initiative (GDI)

นอกจากนี้ จีนยังมีข้อเสนออีกหนึ่งเรื่องที่น่าจะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องจับตาดูในอนาคต หลังจากที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ไม่รับผิดชอบของสหรัฐฯ จนเกิดเงินเฟ้อขนานใหญ่ทั่วโลก อีกทั้งสหรัฐฯ ยังแก้ปัญหาเงินเฟ้อบนรายจ่ายของทุกประเทศทั่วโลก โดยผู้นำจีนเสนอให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิก SCO จะมีการเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเงิน 3 สกุลหลักที่เรียกกันว่า ‘RRR’ อันได้แก่ Renminbi หรือเงินหยวนของจีน, Ruble ของรัสเซีย และ Rupee ของอินเดีย เพื่อประโยชน์ในการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศสมาชิก ประเทศผู้สังเกตการณ์ และประเทศคู่เจรจาของ SCO ทั้ง 27 ประเทศก็กำลังต้องการกระจายความเสี่ยงในมิติการเงินนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจาสำคัญๆ และว่าที่สมาชิกใหม่ของ SCO อาทิ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ กัมพูชา อัฟกานิสถาน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นาทีนี้ เมื่อจีนเข้าสู่การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 และมีความพยายามที่จะเล่นบทบาทนำในมิติความมั่นคง และมิติเศรษฐกิจ เพิ่มมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก ในเมื่อมหายุทธศาสตร์ BRI ได้รับการยกระดับขึ้นเป็น Global Development Initiative (GDI) และเป็นแกนหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลกผ่านการพัฒนาแล้ว ในมิติความมั่นคง SCO ก็อาจจะกลายเป็นต้นทางยกระดับไปสู่ Global Security Initiative (GSI) ที่จีนกำลังพยายามริเริ่มในการกำหนดนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ในยุค 5 ปีต่อจากนี้ไปก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save