fbpx

“อุตสาหกรรมหนังไทยไม่เคยเล่นกันเป็นทีม” หนังไทยในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงโดย อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร

กล่าวกันว่า ท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจและบาดแผลจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 คือขวบปีที่วงการหนังไทยกระโจนออกจากความคุ้นชินแบบเดิม ด้วยภาพยนตร์ที่มีน้ำเสียงและลวดลายต่างไปจากความคุ้นชินของคนดู 

มันเป็นปีที่เรามีหนังหน้าตาสดชื่นอย่าง ‘อันดากับฟ้าใส’ (2540 -หนังเรื่องแรกของ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม), หนังดราม่าวัยรุ่นรวมตัวนักแสดงดังของยุคแบบ ‘ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน’ (2540), ’18 ฝนคนอันตราย’ (2540) และ ‘จักรยานสีแดง’ (2540) หนังรักสดใสที่ทำสถิติมีผู้เข้าชมสูงสุดในวันฉายวันแรกในเวลานั้น กับเพลงจักรยานสีแดงของวงโลโซที่วิทยุทุกคลื่นในไทยพร้อมใจกันเปิด ตลอดจนหนังดราม่า-อาชญากรรม ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’ (2540) หนังเรื่องแรกของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเบอร์ลิน รวมทั้ง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ (2540) หนังแอ็กชันดราม่าของผู้กำกับหนังหน้าใหม่ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ที่ทำเงินไปทั้งสิ้น 75 ล้านบาท

พูดแบบให้เห็นภาพ อุ๋ย-นนทรีย์ ประเดิมการทำหนังเรื่องแรกในชีวิตด้วยการทำรายได้ระดับปรากฏการณ์ แจ้งเกิด เจษฎาภรณ์ ผลดี ในฐานะนักแสดงดาวรุ่ง, ตัวหนังคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ และในอีกสองปีถัดมา เขาตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งด้วย ‘นางนาก’ (2542) ที่ทำเงินไปทั้งสิ้น 149 ล้านบาทจนกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย 

ถ้าไล่ย้อนดูผลงาน ช่วงทศวรรษนั้นนับเป็นช่วงเวลาทองของทั้งนนทรีย์และวงการหนังไทย ไม่เพียงแต่จะเต็มไปด้วยผู้กำกับหน้าใหม่ๆ กระโจนเข้าหาความท้าทายในโลกการทำหนัง หากแต่ดูเหมือนว่าในสนามนี้เองก็ยังเปิดพื้นที่ให้คนได้ลองทำหนังรสชาติใหม่ๆ ออกป้อนตลาดแทบไม่ขาด ยิ่งกับนนทรีย์เอง เขากระโจนจากหนังแอ็กชันไปยังหนังผี ข้ามไปยังอีโรติกอย่าง ‘จัน ดารา’ (2544) แล้วหันมาทำเรื่องเล็กๆ แบบ ‘โอเคเบตง’ (2546)

เรื่องของเรื่องคือ ช่วงเวลาอันแสนจะยูโทเปียของวงการหนังไทยที่ว่ามานี้ จางหายไปในเวลาไม่นานคล้ายพลุที่ระเบิดตัวสว่างไสวบนฟ้ามืดแล้วเลือนไปต่อหน้าต่อตา ทั้งยังไม่มีทีท่าว่าจะหวนกลับมาได้อีกหนโดยง่าย ยิ่งกับโลกที่ผลัดเปลี่ยนรูปแบบการรับชมจากเดิม เรียกร้องความเร็วและการดำเนินเรื่องแบบใหม่ การแข่งขันบีบเค้นแทบจะวันต่อวัน เรียกร้องให้คนทำหนังต้องปรับตัว ปรับตัวและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นอาจตกขบวนหายไปในวันใดวันหนึ่ง

ในขวบปีที่ 26 ของการเป็นคนทำหนังอาชีพ เราชวนอุ๋ย-นนทรีย์ สนทนาถึงการเปลี่ยนแปลงและการยืดอกยอมรับการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้

‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ถูกมองว่าเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ทำให้วงการหนังไทยยุคนั้นคึกคัก คิดว่าเป็นเพราะอะไร 

ผมว่ามันเป็นความแปลกใหม่ด้วย ขนบการทำหนังไทยยุคหนึ่ง เป็นยุคที่เรียกกันว่าทำหนังแบบเดินตามความสำเร็จ สมมติว่าหนังเรื่องไหนประสบความสำเร็จ ก็จะมีฌ็อง (genre) หนังเรื่องนั้นเด่นออกมาเลย อย่างยุคก่อนหน้านั้นเป็นยุคที่เขาเรียกว่ายุคหนังกระโปรงบานขาสั้น พระเอกที่มีชื่อเสียงก็จะเป็นพระเอกที่เป็นนักร้องมาก่อน หนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์, เต๋า-สมชาย เข็มกลัด เป็นต้น ทุกคนเป็นนักร้องวัยรุ่นชื่อดังที่มาเล่นหนังที่เป็นหนังวัยรุ่นทั่วไป ถึงขั้นมีคนขนานนามว่า คนดูหนังไทยคือวัยรุ่น ทุกคนจึงทำหนังที่เกี่ยวกับวัยรุ่นมาตลอด เป็นหนังที่พูดถึงวัยรุ่นทั้งสิ้น ว่าด้วยเรื่องเด็กมัธยม ความรักของเด็กๆ และเมื่อมีคนนิยามว่าคนดูหนังไทยคือวัยรุ่น ทุกคนก็จะทำหนังเพื่อป้อนตลาดนี้ คนที่ไม่ใช่วัยรุ่นหรือคนที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็เลยไม่มีหนังดู แม้กระทั่งผมเอง เราไม่ได้อยากดูหนังวัยรุ่นแล้ว เราอยากดูหนังอื่นๆ ขณะที่ต่างประเทศ เขาก็มีหนังอื่นๆ มากมายให้เราดู แต่พอเป็นหนังไทยก็เป็นหนังหน้าตาแบบนี้ตลอดเวลา เราเลยไม่มีทางเลือกของหนังเลย คนดูไม่มีทางเลือก และเมื่อมีแต่อะไรซ้ำๆ ตลอดเวลา เราก็จะเบื่อไปเอง คนก็ไม่ออกไปดูหนัง

และผมก็บอกกันกับเพื่อนว่าเราอยากดูหนังที่ไม่ใช่หนังวัยรุ่น ต้องทำยังไงดี คำตอบคือก็ต้องทำเอง (หัวเราะ) นี่เรื่องจริงนะครับ คุยกับเพื่อนว่า มาทำหนังที่คนเขาไม่ทำกันเถอะ เราอยากดูหนังที่ไม่ใช่แบบนี้ เลยเกิดโปรเจกต์ทำหนังเองขึ้น 

แต่ว่าโปรเจกต์ ‘นางนาก’ มาก่อน ‘2499’ นะ (ยิ้ม) เราอยากทำ ‘นางนาก’ เป็นเรื่องแรก แต่เพื่อนที่เขียนบทคือคุณ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มาทักว่า เฮ้ย พวกเราแม่งเป็นใครวะ ถึงจะไปเปลี่ยนแปลงเรื่องแม่นากพระโขนงที่ทุกคนรู้จัก มันจะเกินไปหรือเปล่า ใครจะมาดูหนังมึง คือคนเขาเชื่อเรื่องแม่นากพระโขนงของเขามาแบบนั้นมาตลอด คือเชื่อว่าแม่นากต้องผมยาว ต้องเป็นผีดุร้าย แต่ผมมองว่านางนากเป็นคนน่าสงสาร และอยากทำเรื่องความรักของเขา คือจะเล่าเรื่องให้เป็นหนังรักเลย เพื่อนเลยยิ่งบอกว่าไปกันใหญ่แล้วนะ เราต้องใจเย็นๆ กันก่อน ก็เลยหยิบโปรเจ็กต์ ‘2499’ ขึ้นมาก่อน ทำหนังแอ็กชันไป

อีกส่วนที่เรารู้สึกว่าที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือ มันไม่ได้เล่าด้วยขนบของหนังไทยเลย แต่มันเล่าด้วยน้ำเสียงของคนทำหนังโฆษณา

มองว่าหนังมันได้อิทธิพลจากพื้นหลังการเป็นคนทำโฆษณาของคุณมากน้อยแค่ไหน ไวยากรณ์มันต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ ในเวลานั้นอย่างไร

เราใช้วิธีว่า ถ้าเราอยากเห็นหนังอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้สนใจทฤษฎีภาพยนตร์อะไรเลย ‘2499’ จึงต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ ในเวลานั้นโดยสิ้นเชิง เพราะว่าหนังในยุคนั้นเล่าตามลำดับเวลา 1-2-3-4 แต่หนังของเราเล่าด้วยวิธีหลากหลายมาก เช่น ใช้ narrator (ผู้บรรยาย) มาเล่าเรื่อง ใช้ภาพขาว-ดำเล่าเรื่อง หรือตัดต่อข้ามเส้น ทำเอามันเลย (หัวเราะ) 15 ปีที่ทำโฆษณานี่มีพลังเท่าไหร่ มีเทคนิคเท่าไหน ก็ใช้ไปกับ ‘2499 ’ทั้งหมด มันจึงเป็นหนังที่แปลกตาจากหนังเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้นทั้งหมดเลย แปลกตาจนคนรู้สึกว่าหนังมันใหม่ เราเชื่อว่าคนรอสิ่งใหม่ๆ เมื่อมีหนังที่แตกต่างออกมา เป็นหนังวัยรุ่นด้วยนะ เพียงแต่เป็นวัยรุ่นอีกยุคหนึ่งที่มีวิธีคิด วิธีพูดอีกแบบ ความแตกต่างทั้งหมดนี้มันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า

นอกจากปรากฏการณ์หนังไทยคลื่นลูกใหม่แล้ว จำได้ว่าตัวหนังขึ้นพาดหัวหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นด้วย

ตอนหนังออกฉายนี่โดนโจมตีแหลกลาญเลย มาจากกลุ่มที่บอกว่าเขาเป็นคนยุค 2499 จริงๆ คนที่อยู่ในยุคนั้นก็บอกว่าหนังเราไม่จริง ความจริงไม่ได้เป็นแบบนี้เว้ย ซึ่งเราก็บอกว่า ผมไม่ได้ทำเรื่องจริง ผมทำหนัง มันไม่ใช่เรื่องจริงอยู่แล้ว คือถามว่าผมรู้ไหมว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร ผมรู้นะ แต่ไม่ได้อยากเล่าแบบนั้นเพราะมันไม่สนุก หนังเราเลยขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกวัน คือกระเจิดกระเจิงหมด แต่ก็ยิ่งทำให้หนังดังเข้าไปใหญ่ เราเลยขอบคุณมากที่มาฟ้อง มาโจมตีเราเพราะทำให้กระแสหนังมันยิ่งระเบิดตัว 

การโจมตีครั้งนั้นทำให้หนังกลายเป็นกระแสขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทุกวัน ซึ่งสมัยนั้นการขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ถือเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ จนสุดท้ายเราก็ไปขอโทษเขา และสนิทกับกลุ่มพวกเขาเรื่อยมา

ที่บอกว่าคนดูโหยหาความแปลกใหม่แต่วงการหนังไทยมักทำหนังตามแนวนิยม คุณว่าทำไมวงการหนังไทยถึงมักหมกมุ่นอยู่กับวิธีนี้จนไม่เกิดความแปลกใหม่ 

พูดได้อย่างหนึ่งชัดๆ เลยคือต้นตอของประเด็นนี้มาจากการที่ประเทศไทยมีบริษัทผู้สร้างหนังน้อยเกินไป ยิ่งตอนนี้ที่ยังทำหนังอยู่น่าจะมีอยู่ราวๆ ห้าหรือหกบริษัทเท่านั้นเอง ขณะที่เกาหลีใต้นี่มีบริษัทสร้างหนังเป็นพันแห่ง ฉะนั้น รสนิยม ทัศนคติ วิธีคิดจึงหลากหลายกว่า และมีการลงทุนให้หนังหลายแบบ แต่เมื่อเรามีแค่ห้าเจ้า เท่ากับว่า ทั้งประเทศนี้ เรามีคนตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำหนังเรื่องไหนอยู่ห้าคนเอง มันไม่มากพอ 

แล้วการที่เขาบอกว่าจะทำหรือไม่ทำหนังเรื่องนี้หรือไม่ ถามว่าเขาคำนวณจากอะไร บางคนแทบไม่เคยอ่านบทด้วยซ้ำ เช่น บอกไปว่าเรื่องเป็นประมาณไหน มีแอ็กชัน ใครเล่น ทุนเท่าไหร่ เขาก็นั่งดีดลูกคิดว่าจะขายสายได้เท่านี้ ขายโรงหนังได้เท่านี้ ขายต่างประเทศได้เท่านี้ จากนั้นก็มาคิดว่าจะทำหรือไม่ทำหนังเรื่องที่ว่านี่ไหม คือความดีของหนังยังไม่ถูกตัดสินเลยนะ บทก็ยังไม่ถูกเปิดอ่านด้วยซ้ำ การตัดสินจึงอยู่ที่กำไร-ขาดทุนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องศิลปะใดๆ 

ผมเชื่อว่ามีบทหนังที่ดีอีกมากมายที่ยังไม่ถูกสร้าง เพราะโดนตัดสินไปโดยวิธีการเช่นนี้ และปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ เน้นการลงทุนต่ำแล้วเอากำไรให้สูงที่สุด ถ้าเป็นหนังเล็กๆ ที่ผมเคยกำกับอย่าง ‘โอเค เบตง’ เราก็ต้องหาวิธีการพูดให้บริษัททำหนังซื้อ เพราะเราอยากทำหนังอาร์ตบ้าง เป็นหนังที่ต่างจากที่เราเคยทำมาทั้งหมด อย่างไรก็ดี นี่เป็นหนังทุน 23 ล้านนะครับ ขณะที่หนังใหญ่ๆ สมัยนี้ใช้เงิน 10 กว่าล้านบาทเอง จะเห็นว่าวิธีการลงทุนก็ต่างกันแล้ว หนังจึงไม่มีทางไปถึงคุณภาพอีกแบบด้วยทุนเท่านั้นหรอก คุณกำลังเขียนหนังทุน 30 ล้านบาทขณะที่นายทุนให้คุณมา 15 ล้านบาท ถามว่าหนังจะออกมาดีได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้

แต่ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดีวีดีล่มสลายไป การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตทำให้ดีวีดีตายลง เพราะเมื่อก่อนดีวีดีคือแหล่งรายได้ของหนัง ต้นทุนครึ่งหนึ่งของหนังมาจากดีวีดีนะครับ สมมติหนังเรื่องหนึ่งใช้ทุนสร้าง 20 ล้าน เท่ากับว่าเราได้มาแล้ว 10 ล้านบาทและเข้าโรงอีก 10 ล้านบาท แต่เมื่อดีวีดีหายไป ก้อน 10 ล้านจากตรงนั้นก็หายไปด้วย ครึ่งหนึ่งเลยนะ อุตสาหกรรมหนังจะไปต่ออย่างไรได้ มันเลยต้องการเงินทุน ยิ่งสมัยนี้ ค่าเงินยิ่งต่างจากสมัยก่อน แต่กลับกลายเป็นว่าทุนหนังหดน้อยลงไปเรื่อยๆ

พอวงการไม่หลากหลายก็ย่อมกระทบต่อคนทำงานแน่ๆ แต่ถ้าถอยออกมามองภาพใหญ่ คิดว่ามันส่งผลกระทบต่อคนดูมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนเลย คนดูจะรู้สึกเบื่อ คนดูไม่ได้ผิดเลยนะ เราเอาตัวเราเป็นมาตรฐานก็ได้ ว่าถ้าเราไปนั่งดูหนังหนึ่งเรื่อง สองเรื่อง สามเรื่อง ก็เลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว ขณะที่หนังต่างประเทศที่เข้ามาก็มีความหลากหลายโดยที่คนดูก็เสียเงินเท่านั้น

แต่ผมมองว่าเรายังกู้วิกฤตนี้ได้อยู่ คือทำหนังไทยดีๆ ให้คนดูได้ดูติดๆ กันสักสามเรื่อง ให้เขาพูดปากต่อปากว่าหนังไทยมันดีขึ้นแล้วนะๆ เดี๋ยวมันก็กลับมา เหมือนสมัยหนังไทยยุค 2540 สมัยนั้นเป็นเอกก็ทำหนังอย่าง ‘เรื่องตลก 69’ (2542) หรือหนัง ‘สตรีเหล็ก’ (2543) ของ ยงยุทธ ทองกองทุน คุณจะพบว่าหนังไทยหลากหลายมาก ผู้กำกับห้าคนก็มีหนังห้าแบบ ความหลากหลายของภาพยนตร์มันสูง ชอบแบบไหนก็ไปดูแบบนั้น มีตั้งแต่หนังตลกยันหนังอีโรติก อย่าง ‘จัน ดารา’ นี่ก็หนังอีโรติกนะ และมีหนังสำหรับทุกช่วงอายุคนด้วย นี่คือความหลากหลายที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องการมันจึงจะไปได้ ยุคนั้นจึงเป็นยุคที่หนังไทยเฟื่องฟูสุดๆ มันมีหนังทุกรสชาติเลย

คุณว่าเกิดอะไรขึ้นที่ในเมื่อเรามียุคทองแล้ว แต่มันเกิดอะไรขึ้นทำให้เรากลับมาสู่ยุควิกฤตคนทำหนังไทยอีก เราพลาดตรงไหน

ไม่เลย เราไม่ได้พลาดตรงไหน มันคือการเดินรอยตามการทำหนังเรื่องเก่าๆ เช่น ‘นางนาก’ ได้เงิน ก็มีหนังผีออกมาเพียบเลย และในยุคนั้น ทุกคนออกมาทำหนัง เจ้าของฟาร์มกุ้งก็ทำหนัง เจ้าของร้านทองก็ทำหนัง ใครๆ ก็ทำหนัง แต่มันไม่ใช่แค่มีเงินแล้วทำหนังได้ไง มันต้องการความคิดสร้างสรรค์ด้วย ซึ่งเราก็ทำกันได้ในระดับหนึ่ง จนถึงยุคที่ดีวีดีจากไป บรรยากาศที่ว่ามานี้ก็หายไปด้วย เราเลยคิดว่าถ้าเราต้องทนทำในงบประมาณที่ไม่สมจริงกับหนัง เราก็ไม่ทำดีกว่า 

แต่ผมว่ามันเป็นแบบนี้ทุกๆ สิบปีนะ เป็นวัฏจักรนี้

นี่ก็เกินสิบปีแล้ว แปลว่าเราจะกลับมาถึงยุคทองอีกครั้งแล้วหรือเปล่า

(หัวเราะ)

นึกถึงที่หลายคนมองว่า เด็กเรียนภาพยนตร์รุ่นใหม่ๆ นี่จบไปก็ไม่อยากทำหนังแล้ว แต่ไปทำยูทูบ ไปทำคลิป TikTok แทน

ผมเข้าใจปรากฏการณ์นี้นะ และก็มองว่าเด็กๆ เหล่านี้เขาก็ทำหนังอยู่ เขาก็เล่าเรื่อง และผมว่าเขาก็เป็นนักเล่าเรื่องคนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเขาเล่าเรื่องได้สนุก คนก็ดูเขาเยอะ เราเลยรู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับว่าใครถนัดอะไรมากกว่า เคยมีคนที่ทำยูทูบ ทำคลิปลง TikTok ซึ่งหลายคนก็มีทักษะที่ดีมาก มาถามเราว่า เมื่อไหร่ผมจะได้ทำหนังบ้างๆ ผมตอบเขาไปว่า คุณถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้นเถอะ คุณได้เงินด้วยนะ แต่ถ้ามาทำหนังนี่คุณอาจจะเสียเงินเอาได้นะ เขาจำนองรถ ขายรถขายบ้านกันไปเท่าไหร่

อย่างนั้น คุณมองว่าเรามาถึงจุดที่จะกลับมาเป็นยุคทองอีกทีหรือยัง

ยากแล้วล่ะ 

อีกอย่างนะ เราไม่เล่นกันเป็นทีมด้วย สมมติมีบทหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง ทุกคนพร้อมใจกันบอกว่านี่เป็นหนังที่ดี คุณภาพดีแน่ๆ และอยู่ในมือของคนที่มีศักยภาพที่ดีด้วย แต่ต้องใช้ทุนสร้าง 30 ล้านบาท บริษัทที่หนึ่งมีทุนให้ 15 ล้านบาท บริษัทที่สองก็มีทุนให้อีก 15 ล้านบาทเหมือนกัน แทนที่ทั้งสองบริษัทจะจับมือกันเพื่อทำหนังที่ดีหนึ่งเรื่อง พวกเขาก็ไม่จับ ประเทศไทยไม่ทำแบบนั้น ทุกคนไม่อยากร่วมมือกับใคร เราเล่นเป็นทีมไม่เป็น แต่ถ้าพวกเขาเล่นเป็นทีมได้ เขาจะทำให้หนังจากเงิน 30 ล้านนี้ไปได้ไกลมากๆ ขายต่างประเทศได้ด้วย เป็นสถานการณ์ที่ได้กันทั้งสองฝ่าย แต่พวกเขาไม่ทำ และเราพูดเรื่องนี้หลายครั้งด้วยนะ เช่น หนังเรื่องนี้ต้องใช้ทุนสร้าง 100 ล้านบาท คุณมีกันห้าบริษัท ก็รวมตัวหุ้นกันแล้วทำให้หนังเรื่องนี้มันทะลุเพดานไปเลย หนังไทยก็ได้ชื่อ 

ถ้ามองในแง่ว่า เป็นไปได้ไหมที่สตูดิโอก็ไม่กล้าเสี่ยงด้วย

ไม่นะ ผมว่าพวกเขาไม่ร่วมมือกันมากกว่า คนในอุตสาหกรรมหนังไม่ใช่คนที่ร่วมมือกัน อาจไม่ได้มองไกลด้วยมั้ง มองแค่ว่าจะทำแค่นี้ ขายเอากำไรเท่านี้ ทำไมต้องแบ่งให้คนอื่น 

สำหรับผม ทางออกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่ที่รัฐบาล ถ้าเผื่อรัฐบาลเขามองเห็นเรื่องนี้และจริงจังกับมัน ผมว่าเขาทำภาพยนตร์แห่งชาติปีละเรื่องก็พอ อย่างเก่งก็สองเรื่อง สมมติตกเรื่องละ 30 ล้านบาท แปลว่าทั้งปีก็ใช้ทุนราวๆ 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่รัฐเวลาไปต่างประเทศใช้เงินกันมากกว่านี้อีก แล้วถ้าเขาตั้งใจจะทำหนังให้มีคุณภาพจริงๆ ด้วยการเลือกบทดีๆ หาผู้กำกับเก่งๆ มาทำ ควบคุมการผลิตให้ดี แล้วก็อยากให้รัฐบาลเขาลืมไปเลยนะว่าเคยให้ทุนไปทำหนังเรื่องนี้ อย่าไปคิดเอาคืน คิดแค่ว่าจะพาหนังไปให้ไกลที่สุดก็พอ ร่วมมือกันแบบนี้ ผมว่าภาครัฐมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้หนังมันไปพ้นจากวิกฤตศรัทธา

บางคนอาจจะเถียงว่า แต่เราก็มีกระทรวงวัฒนธรรมแล้วไง

ก็เขาไม่ทำไง เราสู้เรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้วนะ บอกรัฐบาลว่าให้ทำภาพยนตร์แห่งชาติเถอะ ควรทำนะ แต่ปัญหาคือเราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยเกินไป พอจะเริ่มอะไรสักอย่าง เหมือนว่าเส้นทางกำลังจะไปได้ดีแล้ว แต่ก็เกิดรัฐประหาร จบ ทุกอย่างล่มสลาย

กลับมาเรื่องหนังของคุณ ถึงที่สุดคุณได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในคนทำหนังหัวขบวนยุค 2540 คุณโตมาในบรรยากาศการดูหนังแบบไหน

ผมได้ดูหนังพากย์แบบนี้ตั้งแต่เด็กเพราะบ้านอยู่ใกล้วัด คนมักเอาหนังมาฉายใกล้ๆ วัดบ่อยๆ ยุคแรกตอนยังเด็กก็เห็นเห็นการพากย์หนังแบบสดๆ เหมือนกัน แล้วเราก็ไม่ค่อยได้ดูหนังหรอก มัวแต่ดูคนพากย์ (หัวเราะ) ดูวิธีเขาทำงาน สมัยก่อน เวลาเขาฉายหนังกัน ฟิล์มก็มีม้วนเดียว วิ่งไปวิ่งมา มันเลยเก่าและเสียหรือไม่ก็ไหม้ เขาก็ต้องตัดฟิล์มทิ้งอยู่เรื่อยๆ เราก็จะไปเก็บฟิล์มเหล่านั้นกลับมาบ้าน เอาไฟฉายส่องแล้วก็นั่งดู มันก็เป็นบรรยากาศที่เรารู้สึกว่ามันดีจังเลย คือแม้เราจะไม่ได้ดูหนังเสียงที่สมบูรณ์พร้อม แต่มันก็เป็นความสนุกของเราในการได้ดูหนังพากย์สด ซึ่งเขาพากย์คนเดียวด้วยนะ ทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย ผู้ร้าย พระเอก คนแก่ จนมายุคต่อมาค่อยเป็นการพากย์สองคน ผู้หญิงหนึ่งผู้ชายหนึ่ง 

เมื่อพ้นจากหนังพากย์ก็เริ่มเป็นหนังเสียง หนังเสียงที่ดังมากๆ สมัยก่อนในไทยที่คนนิยมดูกันคือหนังอินเดียและหนังฮ่องกง แต่ละคืนที่เขาฉายหนังจะมีทีเด็ดตรงที่เขาจะฉายเปิดด้วยหนังไทยแล้วตามด้วยหนังอินเดีย กลไกคือเขาจะดึงคนให้อยู่ดึกๆ เข้าไว้ สุดท้ายก็จะจบด้วยหนังแอ็กชันฮ่องกงที่คนรอดูกัน

การฉายหนังขายยา เป็นการประชาสัมพันธ์บริษัทและโฆษณายา เอาเข้าจริงเขาไม่ได้เน้นการขายมากหรอก วัตถุประสงค์ของการมีรถขายยาคือการโฆษณาขายยา โฆษณาบริษัทและโฆษณายาให้คนรู้จักชื่อเสียง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เน้นขายด้วย เน้นแจก (หัวเราะ) ซื้อขวดหนึ่งแถมอีกขวดหนึ่งเพราะเขาเน้นให้คนรู้จัก เมื่อก่อนนั้นเราไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ จะมีก็แค่หนังขายยาที่ออกเดินทางไปตามที่ไกลๆ ซึ่งไม่มีวิทยุโทรทัศน์ คนจะได้รับข่าวสาร รับการประชาสัมพันธ์บริษัทยากับตัวยาจากช่องทางนี้

มันมีภาพที่เราจำได้แม่นๆ เลยนะ พูดแล้วขนลุก คือสมัยนั้นเขาขายยาถ่ายพยาธิด้วย เอาพยาธิใส่โหลมาตั้งไว้ ผู้ใหญ่ก็จะบอกว่า เด็กๆ มีพยาธิเยอะ คือเราเด็กก็เล่นดินเล่นทราย ยาถ่ายพยาธิจึงขายดีมาก

หนังไทยเรื่องไหนที่คุณได้ดูจากรถขายยา

‘นางพรายตานี’ (2510) เป็นหนังผี 16 มม. 

จริงๆ แล้วหนังคุณมิตร ชัยบัญชา เป็นหนังที่รถขายยาทุกคันต้องมีเอาไว้ฉาย จำเป็นมากนะ เพราะทุกคนรอดูคุณมิตรอย่างเดียว ถ้าไม่มีคุณมิตร ไม่มีคุณเพชรา คนไม่ดูหรอก ดังนั้นหนังของคุณมิตรและคุณเพชราจึงเป็นโปรแกรมเด็ด แต่ก็มีการแข่งขันกันด้วยว่าหนังคุณมิตรแบบไหนที่คนนิยมที่สุด ก็จะมีหนังฌ็องที่คุณมิตรถือผ้าเช็ดหน้า หนังคุณมิตรถือปืน แต่ที่ดังที่สุดคือหนังคุณมิตรใส่หน้ากาก ราคาฟิล์มของหนังทั้งสามอย่างนี้ก็จะต่างกันมหาศาล เพราะหนังคุณมิตรถือผ้าเช็ดหน้าคือหนังเศร้า หนังดราม่า แต่พอเป็นคุณมิตรถือปืน ราคาจะสูงขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าเป็นหนังคุณมิตรใส่หน้ากาก ราคาจะสูงที่สุด เพราะระบบการซื้อขายฟิล์ม 16 มม. นั้นแปลว่า เรามีหนังม้วนเดียว หนังหนึ่งเรื่องก็มีหนึ่งม้วนเท่านั้น เมื่อฉายหนังเรื่องหนึ่งในกรุงเทพฯ จนเสร็จแล้ว ก็เอาไปเร่ฉายโรงหนังต่างจังหวัด แล้วเมื่อเสร็จก็เอาไปเร่เป็นหนังล้อมผ้าเก็บเงิน และสุดท้าย ฟิล์มที่หลงเหลือมาซึ่งแทบจะเรียกว่าเป็นกากฟิล์มอยู่แล้วนั้น ก็จะตกมาถึงหนังขายยา เนื่องจากเขาก็มีต้นทุนของเขา จำเป็นต้องซื้อหนังที่ไม่แพงมากนัก หนังที่ฉายในกลุ่มรถขายยานี่มีหนังคุณมิตรถือปืนสักเรื่องก็หรูแล้ว 

คุณภาพของฟิล์มและคุณภาพของภาพที่หนังขายยาเอามาฉายก็จะเป็นรอยมาก เยิน เพราะมันเป็นด่านสุดท้ายก่อนฟิล์มหนังนั้นจะถูกทิ้ง 

ด้านหนึ่ง หนังเงียบและหนังขายยาน่าจะเป็นภาพสะท้อนความโด่งดังของคุณมิตร ชัยบัญชา ในแบบที่คนรุ่นนี้ไม่น่าจินตนาการได้แล้ว 

โอ้โห (หัวเราะ) คุณมิตรเหมือนดังอยู่คนเดียวเลย หนังเรื่องไหนไม่มีเขาก็ไม่มีคนดู แล้วคุณมิตรนี่เขาไปช่วยหนังหลายเรื่องด้วยนะ ‘นางพรายตานี’ ก็ใช่ เพื่อนคุณมิตรทำหนังแต่ไม่มีคุณมิตร ทุกคนก็บอกว่าหนังเรื่องนี้เจ๊งแน่ๆ และทุนทำหนังก็หมดด้วย คุณมิตรเลยบอกว่า งั้นจะไปเล่นหนังให้สองวัน ไม่ได้เล่นอะไรมากเลย ไม่มีบทด้วยซ้ำ มิตร-เพชราแค่ไปปรากฏตัวในหนังคนละติดคนละหน่อย หนังก็ดังเลย ยุคนั้นเป็นยุคดาราแม่เหล็กจริงๆ 

และถ้าได้ศึกษาประวัติคุณมิตร จะพบว่าเขาเป็นคนที่โคตรหล่อ หล่อมาก เท่มาก แต่ที่น่าประหลาดใจมากๆ คือ ตั้งแต่เขาเข้าวงการ เล่นหนังเรื่องแรกปี 2501-2513 สิบกว่าปีที่ว่านี้ หน้าเขาเปลี่ยนไปตลอดเลย ถ้าเราดูรูปคุณมิตรในทุกๆ ปีที่ผ่านมา หน้าเขาไม่เหมือนกันเลย อาจจะอ้วนอาจจะผอม แล้วเขาเป็นสุภาพบุรุษมาก มีแต่คนรักเขา เพราะเขาเป็นผู้ให้ อย่างเรื่อง ‘นางพรายตานี’ นี่ก็เช่นกัน

อีกอย่าง คุณมิตรเป็นคนคิดไอเดียทำหนังเรื่อง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ (2513) เพราะเขาไปดูหนังเรื่อง The Sound of Music (ค.ศ. 1965) แล้วได้ไอเดียว่า ทำไมเมืองไทยไม่ทำหนังเพลงบ้าง เขาก็คิดพล็อตเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วให้เพื่อนเขาสร้างหนัง โดยตัวเขาแสดงนำ ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ จึงเป็นหนังเพลงเรื่องแรกของประเทศไทย

หนังคุณมิตรที่ผมชอบที่สุดก็ ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ นี่แหละ มันมีเสน่ห์หลายประการ เช่น เพลงในหนังก็เพราะมาก และเป็นเรื่องความรักที่ลูกทุ่งจริงๆ ทั้งมันยังมีความเถิดเทิง มีความไทยๆ น่ารักและจริงใจด้วย 

คุณน่าจะทันช่วงที่คุณมิตรเสียชีวิต จำบรรยากาศได้ไหม 

ออกหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเลย ในยุคนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังสุด ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ซึ่งตอนนั้นยังไม่เกิดเท่าไหร่ พาดหัวตัวใหญ่ว่า “คุณมิตรตายแล้ว” แล้ววางขายเดี๋ยวนั้นเลย ข้างในฉบับก็ไม่ได้มีเนื้ออะไรเพราะยังไม่รู้ข่าว รู้แค่ว่าตายแล้ว และเดลินิวส์ก็เกิดขึ้นมาเพราะข่าวนี้

คนไม่เชื่อว่าคุณมิตรตาย เขารักของเขามากว่าคุณมิตรตายจริงๆ คนไปขอดูศพคุณมิตรซึ่งก็ต้องยกศพขึ้นให้ดู ถ้าจำไม่ผิด คนไปที่วัดเป็นแสนคนเลยนะ 

มองในภาพรวม คุณเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่อยู่กับความเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาโดยตลอด ต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดยังไงบ้าง

ตลอดเวลาการเป็นคนทำหนังของผม ผมเลยไม่เคยหยุดเลย หยุดไม่ได้ ต้องเรียนรู้การเปลี่ยนผ่านจากฟิล์มไปสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านจากโรงภาพยนตร์ไปสู่โทรทัศน์และการสตรีมมิง หรือกระทั่งการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล 

สุดท้าย คิดว่าประเด็นอะไรของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่เป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐควรสนับสนุนหรือช่วยเหลือก่อนเป็นลำดับแรก

การทำภาพยนตร์แห่งชาติสำคัญที่สุด คนดูที่เป็นคนไทยจะเห็นชัดเลยว่า นี่ไง ถ้าคุณตั้งใจและจริงใจจะทำ มันจะเกิดเป็นหนังที่ดีได้ มันทำได้ และอาจทำให้เห็นด้วยว่า ถ้าคุณมีรสนิยมในการคัดเลือกหนัง หรือมีทัศนคติที่ดี ก็ทำหนังที่ดีออกมาได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมว่าวิกฤตศรัทธาของคนดูหนังไทยจะกลับมาอย่างแน่นอน และเมื่อมันดีแล้ว มันจะสร้างชื่อให้ไทยด้วย เพราะมันจะไปเทศกาลหนังมากมายทีเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save